วันจันทร์ที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2564

เกิดก่อนในทางธรรม

เกิดก่อนในทางธรรม

[ณ บริเวณต้นสะเดา ใกล้เมืองเวรัญชา เวรัญชพราหมณ์ได้เข้าไปหาพระพุทธเจ้า]

ว:  ท่านพระโคดม ข้าทราบมาว่าท่านไม่ไหว้ ไม่ลุกยืนรับพราหมณ์ผู้ใหญ่ ผู้อาวุโส และข้าก็เห็นว่าท่านไม่ไหว้จริงดังเขาว่า ซึ่งไม่สมควรเลย

พระพุทธเจ้า: พราหมณ์ เราไม่เห็นใครในโลกนี้ ในโลกของเทวดา หรือในโลกของมาร ที่เราควรไหว้หรือลุกขึ้นยืนต้อนรับ

เปรียบเหมือนไข่ไก่หลายๆฟองที่แม่ไก่กกอยู่ ถ้ามีลูกไก่ตัวไหนเจาะเปลือกออกมาก่อนตัวอื่น ลูกไก่ที่เหลือควรเรียกตัวที่ออกมาก่อนว่าพี่หรือน้อง?

ว:  ควรเรียกว่าพี่ เพราะมันแก่กว่าตัวอื่น

พ:  เราก็เป็นอย่างนั้นแหละ เมื่อคนตกอยู่ในอวิชชา (การมองไม่เห็นความจริง) คือถูกเปลือกไข่หุ้มไว้ เราผู้เดียวที่สามารถเจาะเปลือกอวิชชาออกมาและตรัสรู้ได้ ด้วยความเพียร ไม่ย่อท้อ มีสติมั่น และมีกายใจที่สงบ

ที่มา: เรียบเรียงจากพระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย เล่มที่ 1 (พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ภาค 1 เล่ม 1 เวรัญชกัณฑ์), 2559, น.1-5




อะไรเป็นแก่นสารในพระพุทธศาสนา

อะไรเป็นแก่นสารในพระพุทธศาสนา

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เชตวนาราม ใกล้กรุงสาวัตถี มีพราหมณ์ผู้หนึ่งชื่อ ปิงคลโกจฉะ เข้าไปเฝ้า เมื่อได้กล่าวทักทายปราศรัยพอสมควรแล้ว พราหมณ์นั้น จึงกราบทูลว่า

"พระโคดมผู้เจริญ สมณพราหมณ์ที่เป็นเจ้าหมู่เจ้าคณะเป็นคณาจารย์ มีคนรู้จักมาก มีเกียรติยศเป็นเจ้าลัทธิ อันชนหมู่มากเข้าใจกันว่าเป็นคนดี เช่น ปูรณะ กัสสป, มักขละ โคสาล, อชิตะ เกสกัมพล, ปกุธะ กัจจายนะ, สัญชัย เวลัฏฐบุตร, และ นิครนถนาฏบุตร(๑) สมณพราหมณ์ทั้งหมดนั้น รู้แจ้งเห็นจริงตามปฏิญญาของตน หรือว่าไม่รู้แจ้งเห็นจริงเลย หรือบางพวกรู้ บางพวกไม่รู้"

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า "อย่าเลย พราหมณ์ ข้อที่สมณพราหมณ์ทั้งหมดนั้น รู้แจ้งเห็นจริงตามปฏิญญาของตน หรือไม่รู้แจ้งเห็นจริงเลยเป็นต้นนั้น ขอจงยกไว้ เราจักแสดงธรรมแก่ท่าน ท่านจงตั้งใจฟังให้ดีเถิด"

เมื่อพราหมณ์ทูลรับคำแล้ว 

พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า "ดูก่อนพราหมณ์ มีข้ออุปมาว่า บุรุษผู้ต้องการแก่นไม้ แสวงหาแก่นไม้ เที่ยวเสาะหากแก่นไม้อยู่ เมื่อมีต้นไม้ใหญ่มีแก่นยืนต้นอยู่ ละเลยแก่น, กะพี้, เปลือก, และสะเก็ดไม้เสีย ตัดเอากิ่งและใบไม้ไปด้วยสำคัญว่าเป็นแก่น คนที่รู้เรื่องดีเห็นเข้า ก็จะพึงกล่าวว่า บุรุษผู้เจริญนี้ ไม่รู้จักแก่น ไม่รู้จักกะพี้, เปลือก, สะเก็ด, กิ่งและใบไม้ เมื่อต้องการแก่นไม้ จึงละเลยแก่นเป็นต้น ตัดเอาแต่กิ่งและใบไม้ไปด้วยสำคัญว่าเป็นแก่น ทั้งจะไม่ได้รับประโยชน์จากกิ่งและใบไม้นั้นด้วย"

"มีอุปมาอื่นอีก บุรุษต้องการแก่นไม้ แต่ถากสะเก็ดไม้ไป ด้วยสำคัญว่าเป็นแก่น หรือถากเปลือกไปด้วยสำคัญว่าเป็นแก่น หรือถากกะพี้ไม้ไป ด้วยสำคัญว่าเป็นแก่น ก็จพึงถูกหาว่า ไม่รู้จักแก่นไม้เป็นต้น และไม่ได้รับประโยชน์จากสิ่งที่ถากไปนั้นเช่นเดียวกัน"

"อีกอุปมาหนึ่ง บุรุษต้องการแก่นไม้ ก็ตัดเอาแต่แก่นไป ด้วยรู้จักแก่นไม้ คนที่รู้เรื่องดีเห็นเข้าก็จะพึงกล่าวว่า บุรุษผู้เจริญนี้ รู้จักแก่น กะพี้ เปลือก สะเก็ด กิ่งและใบไม้ ต้องแก่นไม้ก็ตัดเอาแต่แก่นไป ด้วยรู้จักแก่นไม้ ทั้งจะได้รับประโยชน์จากแก่นไม้นั้นด้วย"

"ดูก่อนพราหมณ์ ข้ออุปไมยก็ฉันเดียวกันนั่นแหละ คือกุลบุตรบางคนในศาสนานี้ มีศรัทธาออกบวชไม่ครองเรือน ด้วยคิดว่า เราเป็นผู้อันความเกิด ความแก่ ความตาย ความโศก ความคร่ำครวญ ความไม่สบายกาย ไม่สบายใจ และความคับแค้นใจ เข้าถึง(๒) ตัวแล้ว อันความทุกข์เข้าถึงตัวแล้ว มีความทุกข์เป็นที่ไปในเบื้องหน้า ไฉนหนอการทำที่สุดแห่งทุกข์(๓) ทั้งหมดนี้จะปรากฏ ผู้นั้นออกบวชแล้ว ลาภสักการะและชื่อเสียงเกิดขึ้น ก็อิ่มใจ เต็มความปรารถนาด้วยลาภสักการะและชื่อเสียงนั้น ยกตนเอง ข่มผู้อื่น เพราะลาภสักการะและชื่อเสียงนั้น ว่าเราเป็นผู้มีลาภ สักการะ ชื่อเสียง ส่วนภิกษุอื่น ๆ เหล่านั้นไม่มีใครรู้จักเป็นผู้มีศักดาน้อย คุณธรรมอื่น ๆ ที่ยิ่งกว่า ประณีตกว่าลาภ สักการะ และชื่อเสียง ก็ไม่ปลูกความพอใจ ไม่พยายามเพื่อทำให้แจ้งซึ่งคุณธรรมนั้น ๆ เป็นผู้มีความประพฤติย่อหย่อนหละหลวม"

"ดูก่อนพราหมณ์ เรากล่าวบุคคลนี้ ว่าเปรียบเหมือน ผู้ต้องการแก่นไม้ แต่ละเลยแก่น, กะพี้, เปลือก, และสะเก็ดเสีย ตัดเอากิ่งและใบไป ด้วยสำคัญว่าเป็นแก่นฉะนั้น"

"อนึ่ง บุคคลบางคนออกบวช มีลาภสักการะชื่อเสียงเกิดขึ้น แต่ก็ไม่อิ่มใจ ไม่เต็มปรารถนาด้วย ลาภสักการะชื่อเสียงนั้น ไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่นเพราะสิ่งนั้น ทั้งยังปลูกความพอใจ พยายามเพื่อทำให้แจ้งซึ่งคุณธรรมที่ยิ่งกว่า ประณีตกว่าลาภสักการะชื่อเสียงนั้น ไม่มีความประพฤติย่อหย่อนหละหลวม ผู้นั้นได้ความสมบูรณ์ด้วยศีล ก็อิ่มใจ เต็มปรารถนาด้วยสีลสัมปทา (ความสมบูรณ์ด้วยศีล) นั้น ยกตนเอง ข่มผู้อื่นเพราะสีลสัมปทานั้นว่า เราเป็นผู้มีศีล มีกัลยาณธรรม ส่วนภิกษุอื่น ๆ เหล่านี้ เป็นผู้ทุศีล มีธรรมอันเลว คุณธรรมอื่น ๆ ที่ยิ่งกว่า ประณีตกว่าสีลสัมปทา ก็ไม่ปลูกความพอใจ ไม่พยายามเพื่อทำให้แจ้งซึ่งคุณธรรมนั้น ๆ เป็นผู้มีความประพฤติย่อหย่อนหละหลวม ดูก่อนพราหมณ์ เรากล่าวบุคคลนี้ ว่าเปรียบเหมือนผู้ต้องการแก่นไม้ แต่ละเลยแก่น กะพี้ และเปลือกเสีย ถากเอาสะเก็ดไป ด้วยสำคัญว่าเป็นแก่นฉะนั้น"

"อนึ่ง บุคคลบางคนออกบวช มีลาภสักการะชื่อเสียงเกิดขึ้น ก็ไม่อิ่มใจ ไม่เต็มปรารถนาด้วยลาภสักการะชื่อเสียงนั้น ประพฤติสมบูรณ์ด้วยศีล ก็อิ่มใจ แต่ยังไม่เต็มปรารถนาด้วยสีลสัมปทา (ความสมบูรณ์ด้วยศีล) นั้น ไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่นเป็นต้นเพราะสีลสัมปทานั้น คุณธรรมอื่น ๆ ที่ยิ่งกว่า ประณีตกว่าสีลสัมปทานั้น ก็ปลูกความพอใจ พยายามเพื่อทำให้แจ้งซึ่งคุณธรรมนั้น ๆ ไม่มีความประพฤติยอ่หย่อนหละหลวม ผู้นั้นได้ความสมบูรณ์ด้วยสมาธิ (ความตั้งมั่นหรือความสงบแห่งจิต) ก็อิ่มใจ เต็มปรารถนาด้วยสมาธิสัมปทา (ความสมบูรณ์ด้วยสมาธิ) นั้น ยกตนเอง ข่มผู้อื่นเพราะสมาธิสัมปปทานั้นว่า เราเป็นผู้ตั้งมั่น มีจิตมีอารมณ์เป็นหนึ่ง ส่วนภิกษุอื่น ๆ เหล่านี้ เป็นผู้ไม่ตั้งมั่น มีจิตหมุนไปผิดแล้ว คุณธรรมอื่น ๆ ที่ยิ่งกว่า ประณีตกว่า สมาธิสัมปทานั้น ก็ไม่ปลูกความพอใจ ไม่พยายามเพื่อทำให้แจ้งซึ่งคุณธรรมนั้น ๆ เป็นผู้มีความประพฤติหย่อนหละหลวม ดูก่อนพราหมณ์ เรากล่าวบุคคลนี้ ว่าเปรียบเหมือนผู้ต้องการแก่นไม้ แต่ละเลยแก่นและกะพี้เสีย ถากเอาเปลือกไป ด้วยสำคัญว่าเป็นแก่นฉะนั้น"

"อนึ่ง บุคคลบางคนออกบวช มีลาภสักการะชื่อเสียงเกิดขึ้น ก็ไม่อิ่มใจ ไม่เต็มปรารถนาด้วยลาภสักการะชื่อเสียงนั้น ได้ความสมบูรณ์ด้วยศีล ก็อิ่มใจ แต่ไม่เต็มปรารถนาด้วยสีลสัมปทา (ความสมบูรณ์ด้วยศีล) นั้น ได้ความสมบูรณ์ด้วยสมาธิ ก็อิ่มใจ แต่ไม่เต็มปรารถนาด้วยสมาธินั้น ไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่นเพราะสมาธิสัมปทานั้น คุณธรรมอื่น ๆ ที่ยิ่งกว่า ประณีตกว่าสมาธิสัมปทา ก็ปลูกความพอใจ พยายามเพื่อทำให้แจ้ง ซึ่งคุณธรรมนั้น ๆ ไม่เป็นผู้มีความประพฤติยอ่หย่อนหละหลวม ผู้นั้นได้ญาณทัสสนะ (ความเห็นด้วยญาณหรือปัญญา) ก็อิ่มใจ เต็มปรารถนาด้วยญาณทัสสนะ หรือปัญญานั้น ยกตนเอง ข่มผู้อื่นเพราะญาณทัสสนะนั้น ว่าเราอยู่อย่างรู้เห็น ส่วนภิกษุอื่น ๆ เหล่านี้ อยู่อย่างไม่รู้เห็น คุณธรรมอื่น ๆ ที่ยิ่งกว่าประณีตกว่าญาณทัสสนะ ก็ไม่ปลูกความพอใจ ไม่พยายามเพื่อทำให้แจ้งซึ่งคุณธรรมนั้น ๆ เป็นผู้มีความประพฤติย่อหย่อนหละหลวม ดูก่อนพราหมณ์ เรากล่าวบุคคลนี้ ว่าเปรียบเหมือนผู้ต้องการแก่นไม้ แต่ละเลยแก่นเสียถากเอากะพี้ไป ด้วยสำคัญว่าเป็นแก่นฉะนั้น"

"อนึ่ง บุคคลบางคนอออกบวช มีลาภสักการะชื่อเสียงเกิดขึ้น ก็ไม่อิ่มใจ ไม่เต็มปรารถนาด้วยลาภสักการะชื่อเสียงนั้น ได้ความสมบูรณ์ด้วยศีล ก็อิ่มใจ แต่ไม่เต็มปรารถนาด้วยสีลสัมปทา (ความสมบูรณ์ด้วยศีล) นั้น ได้ความสมบูรณ์ด้วยสมาธิ ก็อิ่มใจแต่ไม่เต็มปรารถนาด้วยสมาธิสัมปทา (ความสมบูรณ์ด้วยสมาธิ) นั้น ได้ญาณทัสสนะ (หรือปัญญา) ก็อิ่มใจ แต่ไม่เต็มปราถรนาด้วยญาณทัสสนะนั้น ไม่ยกตน ข่มผู้อื่นเพราะญาณทัสสะนั้น คุณธรรมอื่น ๆ ที่ยิ่งกว่า ประณีตกว่าญาณทัสสนะ ก็ปลูกความพอใจ พยายามเพื่อทำให้แจ้ง ซึ่งคุณธรรมนั้น ๆ ไม่มีความประพฤติย่อหย่อนหละหลวม ดูก่อนพราหมณ์ ธรรมอะไรบ้าง ที่ยิ่งกว่า ประณีตกว่าญาณทัสสนะ ดูก่อนพราหมณ์ ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้เข้าปฐมฌาน(๔) (ฌานที่ ๑) เข้าทุติยฌาน (ฌานที่ ๒) เข้าตติยฌาน (ฌานที่ ๓) เข้าจตุตถฌาน (ฌานที่ ๔) เข้าอากาสานัญจายตนะ (อรูปฌาน กำหนดอากาศไม่มีที่สิ้นสุดเป็นอารมณ์) เข้าวิญญาณัญจายตนะ (อรูปฌาน กำหนดวิญญาณไม่มีที่สิ้นสุดเป็นอารมณ์) เข้าอากิญจัญญายตนะ (อรูปฌาน กำหนดว่าไม่มีอะไรแม้แต่นิดหน่อย) เข้าเนวสัญญานาสัญญายตนะ (อรูปฌาน ที่มีสัญญาความจำได้หมายรู้ ก็ไม่ใช่ ไม่มีสัญญา ก็ไม่ใช่) เข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ (สมาบัติชั้นสูงสุดในพระพุทธศาสนา ซึ่งเมื่อเข้าแล้วทำให้ดับสัญญาความจำได้หมายรู้ และเวทนาความเสวยอารมณ์สุขทุกข์ หรือไม่ทุกข์ ไม่สุขได้) อาสวะของภิกษุนั้นสิ้นไปแล้ว เพราะเห็นด้วยปัญญา คุณธรรมเหล่านี้แล ที่ยิ่งกว่า ประณีตกว่าญาณทัสสนะ ดูก่อนพราหมณ์ เรากล่าวบุคคลนี้ ว่าเปรียบเหมือนผู้ต้องการแก่นไม้ ก็ตัดเอาแต่แก่นไม้ไปฉะนั้น"

"ด้วยประการฉะนี้แหละพราหมณ์ พรหมจรรย์นี้ มิใช่มีลาภสักการะชื่อเสียงเป็นอานิสงส์ มิใช่มีความสมบูรณ์ด้วยศีลเป็นอานิสงส์ มิใช่มีความสมบูรณ์ด้วยสมาธิเป็นอานิสงส์ มิใช่มีญาณทัสสนะเป็นอานิสงส์ แต่ความหลุดพ้นแห่งใจอันไม่กลับกำเริบอันใด พรหมจรรย์นี้ มีความหลุดพ้นแห่งใจอันไม่กลับกำเริบนั้นแหละเป็นที่ต้องการ นั้นเป็นแก่นสาร นั้นเป็นที่สุดโดยรอบ"

เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้ ปิงคลโกจฉพราหมณ์กราบทูลสรรเสริญพระธรรมเทศนา แสดงตนเป็นอุบาสกถึงพระรัตนตรัยตลอดชีวิต.

จูฬสาโรปมสูตร ๑๒/๓๗๔

สรุปความ

๑.  ลาภสักการะชื่อเสียง เปรียบเหมือนกิ่งไม้ใบไม้        ๒.  ความสมบูรณ์ด้วยศีล เปรียบเหมือนสะเก็ดไม้     ๓.  ความสมบูรณ์ด้วยสมาธิ เปรียบเหมือนเปลือกไม้       ๔.  ญาณทัสสนะ หรือปัญญา เปรียบเหมือนกะพี้ไม้    ๕.  ความหลุดพ้นแห่งใจอันไม่กลับกำเริบ ซึ่งใช้คำภาษาบาลี  "อกุปฺปา เจโตวิมุตฺติ"  เปรียบเหมือนแก่นไม้

(๑.) พราหมณ์ปิงคลโกจฉะถามถึงครูทั้งหกซึ่งเป็นเจ้าลัทธิมีชื่อเสียงในครั้งนั้น แต่พระพุทธเจ้าไม่ทรงวิพากษ์วิจารณ์ จึงทรงแสดงธรรมให้ฟังตามที่ทรงเห็นว่าจะเป็นประโยชน์กว่าการวิพากษ์วิจารณ์คนอื่น

(๒.) คำว่า เข้าถึงตัว แปลจากคำว่า โอติณฺโณ ซึ่งโดยพยัญชนะ แปลว่า ก้าวลง

(๓.) คำว่า การทำที่สุดแห่งทุกข์ เป็นสำนวนบาลี หมายถึงกำจัดทุกข์ได้หมด สำนวนบาลีนี้พอดีตรงกับสำนวนภาษาอังกฤษว่า to put an end to suffering

(๔.) ในการแปลตอนนี้ ได้แปลลัดแต่ใจความของเรื่องว่า เข้าฌานที่ ๑ ที่ ๒ เป็นต้น เพราะรายละเอียดของแต่ฌานมีแล้วในที่อื่น 

ที่มา: http://www.larnbuddhism.com/tripitaka/interest/part1.html


ความสุขที่เกิดจากปัญญา เป็นความสุขที่สมบูรณ์ เป็นชีวิตที่สมบูรณ์

ความสุขที่เกิดจากปัญญา เป็นความสุขที่สมบูรณ์ เป็นชีวิตที่สมบูรณ์

ความสุขที่เกิดจากปัญญา ก็คือความรู้เท่าทันสังขาร รู้โลก และชีวิต ตามเป็นจริง รู้เท่าทันอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

ความสุขทั้งหลายนี้ ในที่สุด จะเป็นสุขจากการเสพวัตถุก็ตาม สุขในการอยู่กับธรรมชาติก็ตาม และแม้แต่สุขจากการทำความดีต่างๆ นี้ ล้วนแต่เป็นความสุขที่ยังต้องอิงอาศัย คือต้องอาศัยวัตถุ หรือปัจจัยภายนอก ขึ้นต่อสิ่งหรือบุคคลอื่น

เมื่อความสุขของเราอาศัยวัตถุ เราก็ฝากความสุขไว้กับวัตถุ ถ้าขาดวัตถุนั้นเราก็ขาดความสุข

ตอนแรกเราบอกว่าถ้าเรามีวัตถุนั้นเราจะมีความสุข ต่อมาเราเพลินไป ความสุขของเราก็ต้องอาศัยวัตถุนั้น ต้องขึ้นต่อมัน พอขาดวัตถุนั้นเราสุขไม่ได้ และกลายเป็นทุกข์ด้วย แย่ลงกว่าเก่า    อันนี้พระพุทธเจ้าตรัสให้ระวัง เพราะจะเป็นการสูญเสียอิสรภาพ ทำอย่างไรเราจะรักษาฐานเดิมไว้ได้ คือ เรามีวัตถุนั้นเราก็มีความสุข แต่ถ้าไม่มีเราก็สุขได้ ถ้าอย่างนี้ก็แสดงว่า เรายังตั้งหลักอยู่ได้ และยังมีอิสรภาพอยู่

เมื่อเราทำความดี เราก็มีสิทธิที่จะได้รับความสุขจากการทำความดีนั้น เช่น ด้วยศรัทธา ด้วยเมตตา ด้วยจาคะ เราบำเพ็ญประโยชน์ทำบุญทำกุศลแล้ว เราก็มีสิทธิ์ที่จะได้ความสุขจากบุญกุศลเหล่านั้น แต่มันก็ยังเป็นความสุขที่"อิงอาศัย" คือเราจะต้องอาศัยการระลึกถึงความดีหรือบุญถึงกุศลนั้นอยู่

ถ้าเป็นความสุขที่อิงอาศัย มันก็ยังเป็นสิ่งที่อยู่นอกตัว ไม่เป็นเนื้อเป็นตัวของเราเอง ทำอย่างไรเราจะมีความสุขที่ไม่ต้องขึ้นกับสิ่งอื่น  ถ้าความสุขนั้นยังต้องขึ้นอยู่กับสิ่งอื่น มันก็ผันแปรได้ และตัวเราก็ไม่เป็นอิสระ เพราะสิ่งนั้นตกอยู่ใต้กฎธรรมชาติ เป็นไปตามอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มันสามารถกลับย้อนมาทำพิษแก่เราได้

สิ่งภายนอกที่เราอาศัยนั้นมันไม่ได้อยู่กับตัวข้างในเรา ไม่เป็นของเราแท้จริง เมื่อเราฝากความสุขไว้กับมัน ถ้ามันมีอันเป็นอะไรไป เราก็ทุกข์.   ความดีก็เหมือนกัน เมื่อเรามีความสุขเพราะอาศัยมัน ถ้าความดีนั้นเราไปทำแล้วคนอื่นไม่เห็นหรือไม่ชื่นชม บางทีใจเราก็หม่นหมองไปด้วย จึงเรียกว่าเป็นความสุขที่ยังอิงอาศัยอยู่

เพราะฉะนั้นเราจึงต้องก้าวต่อไป สู่การมีปัญญารู้ความจริงของสิ่งทั้งหลาย รู้ว่าธรรมดาของสิ่งทั้งหลายก็เป็นอย่างนี้ ไม่ว่าอะไรที่เป็นสังขาร จะเป็นรูปธรรม หรือนามธรรม เป็นความชั่ว หรือความดี เป็นวัตถุ หรือเป็นเรื่องของจิตใจ มันก็เป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ทั้งนั้น

เมื่อรู้ความจริงแล้ว ก็จะเข้าถึงเท่าทันกระแสของธรรมชาติ เรียกว่า กระแสเหตุปัจจัย ปัญญาของเราก็เข้าไปรู้ทันกระแสเหตุปัจจัยนี้ พอปัญญารู้เท่าทันมันแล้ว เราก็วางใจได้ รู้สึกเบาสบาย เราก็รู้แต่เพียงตามเป็นจริงว่า เวลานี้สิ่งนี้มันเป็นอย่างนี้ มันก็เป็นไปตามเหตุปัจจัยของมัน

เมื่อรู้ทันแล้ว สิ่งนั้นก็ไม่ย้อนมาทำพิษแก่จิตใจของเรา "จิตใจของเราก็เป็นอิสระ" ตอนนี้ก็จะมาถึงขั้นสุดท้ายที่ว่า สิ่งทั้งหลายที่เป็นสังขาร มันเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มันก็เป็นทุกข์ไปตามธรรมชาติของมัน ตามสภาวะ เรารู้เห็นความจริงของมัน แต่เราไม่พลอยเป็นทุกข์ไปด้วย

ความสุขที่สมบูรณ์ และ ชีวิตที่สมบูรณ์

สิ่งทั้งหลายที่เป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มีความเปลี่ยนแปลงเป็นไปต่างๆ มันก็ต้องเป็นอย่างนั้นเป็นธรรมดา เพราะมันอยู่ในกฎธรรมชาติอย่างนั้น ไม่มีใครไปแก้ไขได้

แต่ที่มันเป็นปัญหา ก็เพราะว่า ในเวลาที่มันแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไปตามกฎธรรมชาตินั้น มันพลอยมาเบียดเบียนจิตใจของเราด้วย เพราะอะไร เพราะเรายื่นแหย่ใจของเราเข้าไปใต้อิทธิพลความผันผวนปรวนแปรของธรรมชาตินั้นด้วย ดังนั้น เมื่อสิ่งเหล่านั้นปรวนแปรไปอย่างไร ใจของเราก็พลอยปรวนแปรไปอย่างนั้นด้วย เมื่อมันมีอันเป็นไปใจของเราก็ถูกบีบคั้นไม่สบาย

แต่พอเรารู้เท่าทันถึงธรรมดาแล้ว กฎธรรมชาติก็เป็นกฎธรรมชาติ สิ่งทั้งหลายที่เป็นธรรมชาติ ก็เป็นไปตามกฎธรรมชาติ ทำไมเราจะต้องเอาใจของเราไปให้กฎธรรมชาติบีบคั้นด้วย เราก็วางใจของเราได้ ความทุกข์ที่มีในธรรมชาติ ก็เป็นของธรรมชาติไป ใจของเราไม่ต้องเป็นทุกข์ไปด้วย

ตอนนี้แหละ ที่ท่านเรียกว่า “มีจิตใจเป็นอิสระ” จนกระทั่งว่า..แม้แต่ทุกข์ที่มีในกฎของธรรมชาติ ก็ไม่สามารถมาเบียดเบียนบีบคั้นใจเราได้ เป็นอิสรภาพแท้จริง ที่ท่านเรียกว่า “วิมุตติ”

เมื่อพัฒนามาถึงขั้นนี้ เราก็จะแยกได้ระหว่างการปฏิบัติต่อสิ่งทั้งหลายภายนอก กับ การเป็นอยู่ของชีวิตจิตใจภายในของเรา กล่าวคือ...  สำหรับสิ่งทั้งหลายภายนอก ก็ยกให้เป็นภาระของ “ ปัญญา ” ที่จะศึกษาและกระทำไปให้ทันกันถึงกันกับกระบวนการแห่ง เหตุ-ปัจจัย ของธรรมชาติให้ได้ผลดีที่สุด  ส่วนภายในจิตใจ ก็คงอยู่ “เป็นอิสระ” พร้อมด้วยความสุข

ความสุขจาก..ความเป็นอิสระ ถึงวิมุตติ ที่มีปัญญารู้เท่าทันพร้อมอยู่นี้ เป็นความสุขที่สำคัญ

พอถึงสุขขั้นนี้แล้ว เราก็ไม่ต้องไปพึ่งอาศัยสิ่งอื่นอีกต่อไป ไม่ว่าจะเป็นรูปธรรมหรือนามธรรม มันจะกลายเป็นความสุขที่เต็มอยู่ในใจของเราเลย และเป็นสุขที่มีประจำอยู่ตลอดทุกเวลา เป็นปัจจุบัน

ความสุขที่เรานึกถึงหรือใฝ่ฝันกันอยู่นี้(ทุกวันนี้) มักเป็นความสุขที่อยู่ในอนาคต คือเป็นความสุขที่หวังอยู่ข้างหน้า และอิงอาศัยสิ่งอื่น แต่พอมีปัญญารู้เท่าทันความจริงแล้ว จะเกิดความสุขที่อยู่ในตัวเป็นประจำ และมีอยู่ตลอดทุกเวลา เป็นปัจจุบันทุกขณะ กลายเป็นว่าความสุขเป็นเนื้อเป็นตัว เป็นชีวิตจิตใจของเราเอง

พอถึงตอนนี้ ก็ไม่ต้องหาความสุขอะไรอีก ถ้ามีอะไรมาเสริมให้ความสุขเพิ่มขึ้น เราก็มีความสุขที่เป็น “ส่วนแถม” และเราก็มีสิทธิ์เลือกตามสบายว่า..จะเอาความสุขนั้นหรือไม่ ไม่มีปัญหา และเมื่อสุขแถมนั้นไม่มี ก็ไม่เป็นไร เราก็สุขอยู่ตลอดเวลา.  

ตอนนี้ท่านเรียกว่า ไม่มีอะไรต้องทำเพื่อตัวเองอีก พลังงานชีวิตที่เหลืออยู่ ก็ยกให้เป็นประโยชน์แก่โลกไป  นี่แหละ เป็น “สุขที่สมบูรณ์” และก็เป็น “ชีวิตที่สมบูรณ์” ด้วย.

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

ที่มา : ธรรมนิพนธ์ “ความสุขที่สมบูรณ์”


วันอาทิตย์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2564

สิงฺคาลชาตกํ - ว่าด้วยการทำโดยไม่พิจารณา

สิงฺคาลชาตกํ - ว่าด้วยการทำโดยไม่พิจารณา

"อสเมกฺขิตกมฺมนฺตํ,   ตุริตาภินิปาตินํ;   สานิ  กมฺมานิ  ตปฺเปนฺติ,  อุณฺหํวชฺโฌหิตํ  มุเข ฯ    การงานเหล่านั้น ย่อมเผาบุคคลผู้มีการงานอันไม่ได้พิจารณาแล้ว รีบร้อนจะทำให้สำเร็จ เหมือนกับของร้อนที่บุคคลไม่พิจารณาก่อนแล้ว ใส่เข้าไปในปาก ฉะนั้น."

"สีโห   จ   สีหนาเทน,    ททฺทรํ   อภินาทยิ;       สุตฺวา   สีหสฺส   นิคฺโฆสํ,     สิงฺคาโล   ททฺทเร   วสํ;   ภีโต   สนฺตาสมาปาทิ,   หทยญฺจสฺส   อปฺผลีติ ฯ      อนึ่ง ราชสีห์ได้แผดสีหนาทที่ภูเขาเงิน สุนัขจิ้งจอกอยู่ในภูเขาเงินได้ฟังราชสีห์แผดเสียงก็กลัวตาย หวาดกลัว หัวใจแตกตาย."

อรรถกถาสิคาลชาดกที่ ๒

พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ กูฏาคารศาลาทรงปรารถนาบุตรช่างกัลบกคนหนึ่ง ซึ่งอยู่เมืองเวสาลีแล้วตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า  อสเมกฺขิตกมฺมนฺตํ  ดังนี้

ได้ยินว่า บิดาของเราเป็นผู้มีศรัทธาเลื่อมใสถึงไตรสรณาคมน์ สมาทานศีล ๕ กระทำกิจทุกอย่างเป็นต้นว่า ปลงพระมัสสุ แต่งพระเกศา ตั้งกระดานสะกาแด่พระราชา พระมเหสีพระราชกุมารและพระราชกุมารี ยังกาลเวลาให้ล่วงไปด้วยการฟังธรรมของพระศาสดาเนือง ๆ.

วันหนึ่งบิดาไปทำงาน ในราชนิเวศน์ พาบุตรของตนไปด้วย. บุตรนั้น เห็นนางกุมาริกาแห่งเจ้าลิจฉวีองค์หนึ่ง ในราชนิเวศน์นั้น ประดับประดาด้วยเครื่องอลังการ เปรียบด้วยนางเทพอัปสร มีจิตปฏิพัทธ์ ครั้นออกจากราชนิเวศน์กับบิดาแล้วคิดว่า „เมื่อเราได้นางกุมาริกานี้จึงจักมีชีวิตอยู่ เมื่อไม่ได้เราจักตายเสียในที่นี้แหละ“ จึงอดอาหารนอนซมเซาอยู่บนเตียง.

ลำดับนั้น บิดาเข้าไปหาบุตรปลอบโยนว่า „ลูกเอ๋ย ลูกอย่าทำความพอใจยินดีในสิ่งที่ไม่สมควรเลย ลูกเป็นคนมีกำเนิดต่ำต้อย เป็นลูกช่างกัลบก ส่วนกุมาริกาของเจ้าลิจฉวี เป็นธิดากษัตริย์ สมบูรณ์ด้วยชาติ นางไม่สมควรแก่เจ้าดอก พ่อจักนำกุมาริกาอื่นที่เหมาะสมด้วยชาติแลโคตรมาให้ลูก.“ บุตรมิได้เชื่อถ้อยคำของบิดา.

ต่อมา ญาติและมิตรสหาย คือ มารดา พี่ชาย น้องสาว น้า อา ทั้งหมด ประชุมกันชี้แจงก็ไม่อาจให้ยินยอมได้. เขาผอมซูบซีดนอนตายอยู่บนเตียงนั่นเอง บิดาของเขาครั้นทำฌาปนกิจเสร็จแล้ว เมื่อความโศกสร่างลงคิดว่า „เราจักถวายบังคมพระศาสดาจึงถือของหอม ดอกไม้เป็นต้นและเครื่องลูบไล้เป็นอันมาก ไปป่ามหาวัน บูชาพระศาสดาถวายบังคมแล้วนั่งณ ส่วนข้างหนึ่ง

เมื่อพระศาสดาตรัสถามว่า „อุบาสก เพราะอะไรท่านจึงไม่ปรากฏตลอดวัน“ เขาได้กราบทูลความนั้นให้ทรงทราบพระศาสดาตรัสว่า „อุบาสก บุตรของท่านเกิดพอใจยินดีในสิ่งอันไม่สมควรแล้วถึงความพินาศ มิใช่ในบัดนี้เท่านั้น แม้เมื่อก่อน บุตรของท่านก็ถึงความพินาศมาแล้ว“ เมื่อเขาทูลอาราธนาจึงทรงนำเรื่องในอดีตมา :-

ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัต เสวยราชสมบัติในกรุงพาราณสี   พระโพธิสัตว์อุบัติในกำเนิดราชสีห์ ณ ป่าหิมพานต์. ราชสีห์นั้นมีน้องชายหก มีน้องหญิงหนึ่ง. ทั้งหมดอาศัยอยู่ ณ ถ้ำทอง. อนึ่ง ที่รชฏบรรพตไม่ไกลจากถ้ำนั้นมีถ้ำผลึกอยู่ถ้ำหนึ่ง. ที่ถ้ำผลึกนั้นมีสุนัขจิ้งจอกตัวหนึ่งอาศัยอยู่.

ครั้นต่อมา พ่อแม่ของราชสีห์ทั้งหลายได้ตายลง. ราชสีห์ผู้พี่เหล่านั้นจึงให้นางราชสีห์ผู้น้องอยู่ในถ้ำทองแล้วออกหาอาหาร นำเนื้อมาให้น้อง. สุนัขจิ้งจอกเห็นนางราชสีห์นั้นได้มีจิตปฏิพัทธ์. แต่เมื่อพ่อแม่ของนางราชสีห์ยังไม่ตาย สุนัขจิ้งจอกจึงไม่ได้โอกาส.

ในเวลาที่ราชสีห์พี่น้องทั้ง ๗ ออกไปหาอาหาร สุนัขจิ้งจอกจึงลงจากถ้ำแก้วผลึกไปยังประตูถ้ำทองกล่าววาจามีเลศนัย อันประกอบด้วยโลกามิส เฉพาะหน้านางราชสีห์ว่า „นี่แน่ะแม่ราชสีห์น้อย เรามีสี่เท้า แม้เจ้าก็มีสี่เท้า เจ้าจงเป็นภรรยาของเราเถิด เราจักเป็นสามีของเจ้า เราทั้งสองจักสมสู่อยู่ร่วมกันอย่างบันเทิงใจ ตั้งแต่นี้ไปเจ้าจงร่วมกับเราด้วยอำนาจกิเลส.“

นางราชสีห์ฟังคำของสุนัขจิ้งจอกแล้วคิดว่า „เจ้าสุนัขจิ้งจอกนี้ เป็นสัตว์เลวทรามน่าขยะแขยง คล้ายตัวจัณฑาลในระหว่างสัตว์สี่เท้าทั้งหลาย พวกเราเท่ากับราชตระกูลชั้นสูง สุนัขจิ้งจอกนี้พูดจาไม่งดงาม ไม่เหมาะสมกับเรา เราฟังถ้อยคำชนิดนี้แล้ว จะมีชีวิตอยู่ไปทำไม เราจักกลั้นใจตายเสีย“

ครั้นแล้วนางราชสีห์ ฉุกคิดขึ้นว่า „เราตายอย่างนี้ไม่สมควร รอให้พวกพี่ของเรากลับมาเสียก่อน เราเล่าเรื่องให้พี่ ๆฟังแล้วจึงจะตาย.“  ฝ่ายสุนัขจิ้งจอก ครั้นไม่ได้คำตอบจากนางราชีสีห์ คิดว่า นางไม่เยื่อใยในเราเสียแล้ว เสียใจกลับเข้าไปนอนในถ้ำแก้วผลึก.  ราชีสีห์ตัวหนึ่งฆ่ากระบือและช้างเป็นต้น ตัวใดตัวหนึ่งกัดกินเนื้อและนำส่วนหนึ่งมาให้นางราชสีห์ผู้น้องกล่าวว่า „น้องเคี้ยวกินเนื้อเสียเถิด." นางราชสีห์ตอบว่า „พี่ ฉันไม่กินดอกฉันจะตายละ."

ราชสีห์ถามว่า „ทำไมเล่าน้อง?.“ นางได้เล่าเรื่องทั้งหมดให้ราชีสีห์ผู้พี่ฟัง. ราชสีห์ถามว่า „เดี๋ยวนี้สุนัขจิ้งจอกมันอยู่ที่ไหนเล่า?“ นางราชีสีห์สำคัญสุนัขจิ้งจอกซึ่งนอนอยู่ในถ้ำแก้วผลึกว่า นอนอยู่ ในกลางแจ้ง จึงตอบว่า „พี่ไม่เห็นหรือ สุนัขจิ้งจอกนี้นอนอยู่กลางแจ้งใกล้เขารชฏบรรพต.“  ลูกราชสีห์ไม่รู้ว่า มันนอนในถ้ำแก้วผลึก สำคัญว่า มันนอนในกลางแจ้ง คิดว่า „จักฆ่ามันเสีย“ จึงวิ่งไปโดยกำลังเร็วของราชสีห์ ชนเอาถ้ำแก้วผลึกหัวใจวาย. ลูกราชสีห์นั้น หัวใจวายถึงแก่ความตาย ล้มลงที่เชิงเขานั้นเอง.

ต่อมา ราชสีห์อีกตัวหนึ่งมา. นางราชสีห์ก็บอกเรื่องราวแก่ราชสีห์เหมือนอย่างเดิม. แม้ราชสีห์นั้นก็ทำอย่างเดียวกันนั้นถึงแก่ความตายล้มลงที่เชิงเขา.  เมื่อพี่ทั้งหกตายหมด ราชสีห์โพธิสัตว์กลับมาภายหลัง. นางราชสีห์ก็เล่าเรื่องให้ราชสีห์โพธิสัตว์ฟัง เมื่อราชสีห์โพธิสัตว์ถามว่า „เดี๋ยวนี้สุนัขจิ้งจอกนั้นอยู่ที่ไหน?“ นางก็บอกว่า „มันนอนที่กลางแจ้งใกล้ยอดเขารชฏบรรพต.“

ราชสีห์โพธิสัตว์คิดว่า "ธรรมดาสุนัขจิ้งจอกทั้งหลายไม่มีที่อาศัยในกลางแจ้ง มันต้องนอนอยู่ในถ้ำแก้วผลึกเป็นแน่.“ ราชสีห์โพธิสัตว์จึงเดินไปยังเชิงภูเขา เห็นพวกน้อง ๆตายหมด หกตัว จึงกล่าวว่า „ราชสีห์เหล่านี้คงจะไม่รู้ว่า สุนัขจิ้งจอกนอนในถ้ำแก้วผลึก เพราะไม่มีปัญญาตรวจสอบ เพราะความที่ตัวโง่จึงชนถ้ำตาย, ขึ้นชื่อว่าการงานของผู้ไม่พิจารณาแล้ว รีบทำย่อมเป็นอย่างนี้แหละ“ แล้วกล่าวคาถาแรกว่า :- 

 „การงานเหล่านั้นย่อมเผาบุคคลผู้มีการงานอันมิได้พิจารณาแล้ว รีบร้อนจะทำให้สำเร็จ เหมือนกับของร้อนที่บุคคลไม่พิจารณาก่อนแล้ว ใส่เข้าไปในปาก ฉะนั้น.“

ในบทเหล่านั้น บทว่า  อสเมกฺขิตกมฺมนฺตํ  ตุริตาภินิปาตินํ  ความว่า บุคคลใดประสงค์จะทำการงานใด มิได้พิจารณาคือมิได้สอบสวนโทษในการงานนั้น รีบร้อนตกลง ผลุนผลันปฏิบัติ เพื่อรีบทำการงานนั้น การงานทั้งหลายเช่นนั้นย่อมเผาผลาญบุคคลผู้นั้น ผู้มิได้พิจารณาการงานรีบร้อนทำให้สำเร็จ คือทำให้เศร้าโศก ทำให้ลำบาก.

ถามว่า เหมือนอะไร?. ตอบว่า เหมือนของร้อนที่ใส่เข้าไปในปากฉะนั้น อธิบายว่า เหมือนผู้จะบริโภคไม่ได้พิจารณาว่า ของนี้เย็น ของนี้ร้อน ใส่ คือ วางของที่กลืนอันร้อนลงไปในปากย่อมลวกปากบ้าง คอบ้าง ท้อง บ้างทำให้เศร้าโศก ทำให้ลำบาก ฉันใด การงานทั้งหลายเหล่านั้นก็ฉันนั้นย่อมเผาบุคคลเช่นนั้น.

ราชสีห์โพธิสัตว์นั้น ครั้นกล่าวคาถานี้แล้วจึงพูดว่า „น้อง ๆ ของเราไม่ฉลาดในอุบาย คิดว่า จักฆ่าสุนัขจิ้งจอก รีบร้อนผลุนผลันไปตัวเองจึงตาย ส่วนเราจักไม่ทำอย่างนั้น จักฉีกอกสุนัขจิ้งจอก ซึ่งนอนสะดุ้งอยู่ในถ้ำแก้วผลึกให้จงได้.“

ราชสีห์โพธิสัตว์สังเกตทางขึ้นลงของสุนัขจิ้งจอกเสร็จแล้วจึงมุ่งหน้าไปทางนั้น บันลือสีหนาทสามครั้ง. อากาศกับผืนแผ่นดินได้มีเสียงกึกก้องเป็นอันเดียวกัน. หัวใจสุนัขจิ้งจอกซึ่งนอนหวาดสะดุ้งอยู่ในถ้ำแก้วผลึก ก็แตกทำลาย. สุนัขจิ้งจอกถึงแก่ความตายในที่นั้นเอง.  พระศาสดาตรัสว่า „สุนัขจิ้งจอกตัวนั้นได้ยินราชสีห์แผด เสียงอย่างนี้แล้วถึงแก่ความตาย“ เมื่อพระองค์ตรัสรู้แล้วจึงตรัสคาถาที่สอง ว่า :-

 „อนึ่ง ราชสีห์ได้แผดสีหนาทที่ภูเขาเงิน สุนัขจิ้งจอกอยู่ในภูเขาเงินได้ฟังราชสีห์แผดเสียงก็กลัวตาย หวาดกลัว หัวแตกตาย.“

ในบทเหล่านั้น บทว่า  สีโห  ได้แก่ ราชสีห์ ๔ จำพวก คือติณราชสีห์ ปัณฑุราชสีห์ กาฬราชสีห์ ไกรสรราชสีห์ (มีมือและเท้าแดง). ในราชสีห์เหล่านั้นในที่นี้ประสงค์เอาไกรสรราชสีห์.   บทว่า  ทฺทรํ  อภินาทยิ  ความว่า ไกรสรราชสีห์นั้นบันลือสีหนาทน่ากลัวดุจสำเนียงอสนิบาตฟาดลงสักร้อยครั้งคือได้กระทำรชฏบรรพตให้มีเสียงกึกก้องเป็นอันเดียวกัน.  บทว่า  ททฺทเร  วสํ  ได้แก่ สุนัขจิ้งจอกซึ่งอาศัยอยู่ในรชฏบรรพตติดกับถ้ำแก้วผลึก.  บทว่า  ภีโต  สนฺตาสมาปาทิ  ความว่า สุนัขจิ้งจอกกลัวตาย ถึงความหวาดสะดุ้ง.  บทว่า  หทยญฺจสฺส  อปฺผลิ  ความว่า หัวใจของสุนัขจิ้งจอกนั้นแตกเพราะความกลัว.

ราชสีห์โพธิสัตว์ ครั้นให้สุนัขจิ้งจอกถึงแก่ความตายแล้วจึงปกคลุมพวกน้อง ๆ ไว้ในที่แห่งหนึ่งแล้วแจ้งการตายของราชสีห์เหล่านั้นให้นางราชสีห์ผู้น้องรู้ ปลอบน้องอยู่อาศัยในถ้ำทองจนสิ้นชีพแล้วก็ไปตามยถากรรม.

„พระศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้วจึงทรงประกาศสัจธรรมประชุมชาดก. ในเวลาจบสัจธรรมอุบาสกตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล สุนัขจิ้งจอกในครั้งนั้นได้เป็นบุตรช่างกัลบกในบัดนี้. นางราชสีห์ได้เป็นกุมาริกาแห่งเจ้าลิจฉวี น้อง ๆทั้งหกได้เป็นพระเถระรูปใดรูปหนึ่ง ส่วนราชสีห์พี่ใหญ่ได้เป็นเราตถาคตนี้แล. จบอรรถกถาสิคาลชาดกที่ ๒

ที่มา : Palipage: Guide to Language - Pali




ว่าด้วยภิกษุควรละเว้น (สิ่งที่ควรละเว้น) เพื่ออยู่ในโลกโดยชอบ

ว่าด้วยภิกษุควรละเว้น (สิ่งที่ควรละเว้น) เพื่ออยู่ในโลกโดยชอบ

ในสัมมาปริพพาชนียสูตรมีคำถามว่า “ภิกษุนั้นบรรเทากามทั้งหลาย ออกจากเรือน (มาบวช) แล้ว พึงละเว้นอยู่ในโลกโดยชอบได้อย่างไร”

หนึ่งในคำตอบที่พระผู้มีพระภาคตรัสตอบมีดังนี้คือ

“ภิกษุละสิ่งอันเป็นที่รักและไม่เป็นที่รักแล้วไม่ถือมั่น ผู้ไม่มีตัณหาและทิฏฐิอาศัยในภพไหนๆ หลุดพ้นแล้วจากธรรมเป็นที่ตั้งแห่งสังโยชน์ ชื่อว่า ละเว้นอยู่ในโลกได้โดยชอบ” ดังนี้เป็นต้น

อธิบาย

ในพระคาถานั้น “สิ่งอันเป็นที่รักและไม่เป็นที่รัก” มี ๒ อย่าง คือ  ๑. สัตว์  ๒. สังขาร 

คำว่า “สังขาร” คือตัวตน, ร่างกาย, สิ่งที่ประกอบสิ่งของที่ใช้และปรุงแต่งขึ้นเป็นร่างกายและจิตใจรวมกัน, ในสัตว์และสังขารนั้นภิกษุไม่ควรยึดถือด้วยอุปาทาน ๔ คือ

๑. กามุปาทาน ความยึดมั่นในกาม คือรูป เสียง กลิ่น รส และโผฏฐัพพะ ที่น่าใคร่น่าพอใจ   ๒. ทิฏฐุปาทาน ความยึดมั่นในทิฏฐิหรือทฤษฎี คือความเห็น ลัทธิ หรือหลักคำสอนต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องการเมือง และเรื่องที่เป็นโลกวัชชะ   

๓. สีลัพพตุปาทาน ความยึดมั่นในศีลและพรต คือ หลักความประพฤติ ข้อปฏิบัติ แบบแผน ระเบียบ วิธี ขนบธรรมเนียมประเพณี   ๔. อัตตวาทุปาทาน ความยึดมั่นในวาทะว่ามีตัวตน คือความถือหรือสำคัญหมายอยู่ในภายในว่า “มีตัวตน” ที่จะได้ ที่จะเป็น

ในพระคาถานี้พระพุทธองค์ทรงสอน 

(๑) ให้ละราคะและโทสะด้วยการละความยึดมั่นในกามคุณ ๕ ทั้งที่เป็นอิฏฐารมณ์และอนิฏฐารมณ์ 

(๒) ให้ละการยึดถือในความเห็น ลัทธิ เรื่องการเมือง และเรื่องที่เป็นโลกวัชชะเป็นต้น เพราะเป็นเหตุแห่งความทะเลาะวิวาท เพราะเราต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน

(๓) ให้ละอกุศลที่เหลือและวัตถุอันเป็นที่ตั้งแห่งอกุศล ด้วยการรักษาศีลเจริญภาวนาเพื่อความหลุดพ้นจากวัฏทุกข์ ดังนี้

สาระธรรมจากสัมมาปริพพาชนียสูตร

พระมหาวัชระ เชยรัมย์ (ติกฺขญาโณ)

29/8/64




ราโชวาทชาตกํ - ว่าด้วยวิธีชนะ

ราโชวาทชาตกํ - ว่าด้วยวิธีชนะ

"ทฬฺหํ  ทฬฺหสฺส  ขิปติ,    พลฺลิโก  มุทุนา  มุทุํ;      สาธุมฺปิ  สาธุนา  เชติ,  อสาธุมฺปิ  อสาธุนา;    เอตาทิโส  อยํ  ราชา,  มคฺคา  อุยฺยาหิ  สารถิ ฯ    พระเจ้าพัลลิกราชทรงแข็งต่อผู้ที่แข็ง, ทรงชำนะคนอ่อนด้วยความอ่อนทรงชำนะคนดีด้วยความดี, ทรงชำนะคนไม่ดีด้วยความไม่ดี, พระราชาพระองค์นี้ เป็นเช่นนี้, ดูกรนายสารถี ท่านจงหลีกทางถวายพระราชาของเราเถิด."

"อกฺโกเธน  ชิเน  โกธํ,  อสาธุํ  สาธุนา  ชิเน;   ชิเน  กทริยํ  ทาเนน,  สจฺเจนาลิกวาทินํ;    เอตาทิโส  อยํ ราชา,  มคฺคา  อุยฺยาหิ  สารถีติ ฯ    พระเจ้าพาราณสีทรงชำนะคนโกรธด้วยความไม่โกรธ, ทรงชำนะคนไม่ดีด้วยความดี, ทรงชำนะคนตระหนี่ด้วยการให้, ทรงชำนะคนพูดเหลาะแหละด้วยคำสัตย์, พระราชาพระองค์นี้ เป็นเช่นนี้ ดูกรนายสารถี ท่านจงหลีกทางถวายพระราชาของเราเถิด."

อรรถกถาราโชววาทชาดกที่ ๑ 

พระศาสดาเมื่อทรงประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวันทรงปรารภโอวาทของพระราชา ตรัสพระธรรมเทศนานี้มีคำเริ่มต้นว่า  ทฬฺหํ  ทฬฺหสฺส  ขิปติ  ดังนี้.

โอวาทของพระราชานั้นจักมีแจ้งใน  เตสกุณชาดก (ชา.๒.๑๗.๑ จัตตาลีสนิปาต). ในวันหนึ่งพระเจ้าโกศลทรงวินิจฉัยคดีเรื่องหนึ่ง ซึ่งวินิจฉัยไว้ไม่ดีมีอคติ เสร็จแล้วเสวยพระกระยาหารเช้า ทั้ง ๆ ที่มีพระหัตถ์ เปียก เสด็จขึ้นทรงราชรถที่จัดไว้เรียบร้อยแล้ว เสด็จไปเฝ้าพระศาสดาทรงหมอบลงแทบพระบาทอันมีสิริดุจดอกปทุมบานถวายบังคมพระศาสดาประทับนั่ง ณ ที่สมควรส่วนข้างหนึ่ง.

ลำดับนั้น พระศาสดาได้ตรัสปฏิสันถารกะพระเจ้าโกศลว่า „ขอต้อนรับมหาบพิตร พระองค์เสด็จมาจากไหนแต่ยังวัน?“ พระเจ้าโกศลกราบทูลว่า „ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ วันนี้ข้าพระองค์วินิจฉัยคดีเรื่องหนึ่งซึ่งวินิจฉัยไว้ไม่ดี จึงไม่มีโอกาส บัดนี้ พิจารณาคดีนั้นเสร็จแล้วจึงบริโภคอาหารทั้ง ๆ ที่มือยังเปียก มาเฝ้าพระองค์นี่แหละพระเจ้าข้า.“

พระศาสดาตรัสว่า „ขอถวายพระพร ชื่อว่าการวินิจฉัยโดยทำนองคลองธรรมเป็นความดี เป็นทางสวรรค์แท้, ก็ข้อที่มหาบพิตรได้โอวาทจากสำนักของผู้เป็นสัพพัญญูเช่นตถาคต ทรงวินิจฉัยคดีโดยทำนองคลองธรรมนี้ไม่อัศจรรย์เลย, การที่พระราชาทั้งหลายในกาลก่อนทรงสดับโอวาทของเหล่าบัณฑิต ทั้งที่ไม่ใช่สัพพัญญูแล้วทรงวินิจฉัยคดีโดยทำนองคลองธรรม เว้นอคติสี่อย่าง บำเพ็ญทศพิธราชธรรม ไม่ให้เสื่อมเสีย เสวยราชสมบัติโดยธรรม บำเพ็ญทางสวรรค์ เสด็จไปแล้วนี่แหละน่าอัศจรรย์“ พระเจ้าโกศลกราบทูลอาราธนา พระองค์จึงทรงนำเรื่องในอดีตมาเล่าถวายว่า :-

ในอดีต ครั้งเมื่อพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี  พระโพธิสัตว์ทรงถือปฏิสนธิ ในพระครรภ์ของพระอัครมเหสีของพระราชานั้นได้รับการบริหารพระครรภ์ เป็นอย่างดีทรงประสูติจากพระครรภ์ของพระมารดา โดยสวัสดิภาพ.  ในวันขนานพระนาม พระชนกชนนีได้ทรงตั้งพระนามของพระโพธิสัตว์ว่า พรหมทัตกุมาร. พรหมทัตกุมารนั้นได้เจริญวัยขึ้นโดยลำดับ เมื่อพระชนม์ได้ ๑๖ พรรษา เสด็จไปเมืองตักกศิลาทรงสำเร็จศิลปศาตร์ทุกแขนง เมื่อพระชนกสวรรคตทรงดำรงอยู่ในราชสมบัติ ครอบครองราชสมบัติโดยทำนองคลองธรรมทรงวินิจฉัยคดีไม่ล่วงอคติ มีฉันทาคติเป็นต้น.

เมื่อพระองค์เสวยราชสมบัติโดยธรรมอย่างนี้ มีพวกอำมาตย์ต่างก็วินิจฉัยคดีโดยธรรมเหมือนกัน. เมื่อคดีทั้งหลายได้รับการวินิจฉัยโดยธรรม จึงไม่มีคดีโกงเกิดขึ้นเพราะไม่มีคดีโกงเหล่านั้นการร้องทุกข์ ณ พระลานหลวง เพื่อให้เกิดคดีก็หมดไป.  พวกอำมาตย์นั่งบนบัลลังก์วินิจฉัยตลอดวันไม่เห็นใคร มาเพื่อให้วินิจฉัยคดี ต่างก็ลุกกลับไป. สถานที่วินิจฉัยคดีก็ถูกทอดทิ้ง.

พระโพธิสัตว์ทรงดำริว่า เมื่อเราครองราชสมบัติโดยธรรมไม่มีผู้คนมาให้วินิจฉัยคดี ไม่มีผู้มาร้องทุกข์ สถานที่วินิจฉัยคดี ก็ถูกทอดทิ้ง. บัดนี้ เราควรตรวจสอบโทษของตน ครั้นเรารู้ว่า นี่เป็นโทษของเรา จักละโทษนั้นเสียประพฤติในสิ่งที่เป็นคุณเท่านั้น.

จำเดิมแต่นั้นมา พระโพธิสัตว์ก็ทรงสำรวจดูว่า จะมีใคร ๆ พูดถึงโทษของเราบ้างหนอ ครั้นไม่ทรงเห็นใคร ๆ กล่าวถึงโทษ ในระหว่างข้าราชบริพารภายในทรงสดับแต่คำสรรเสริญ คุณของพระองค์ถ่ายเดียวทรงดำริว่า ชะรอยชนเหล่านี้เพราะกลัวเราจึงไม่กล่าวถึงโทษ กล่าวแต่คุณเท่านั้น จึงทรงสอบข้าราชบริพารภายนอก แม้ในหมู่ข้าราชบริพารเหล่านั้นก็ไม่ทรงเห็น จึงทรงสอบชาวเมืองภายในพระนครทรงสอบชาวบ้านที่ทวารทั้งสี่นอกพระนคร แม้ในที่นั้นก็มิได้ทรงเห็นใครๆ กล่าวถึงโทษทรงสดับแต่คำสรรเสริญของพระองค์ถ่ายเดียว

จึงทรงดำริว่า เราจักตรวจสอบชาวชนบททรงมอบราชสมบัติให้เหล่าอำมาตย์ เสด็จขึ้นรถไปกับสารถีเท่านั้น ทรงปลอมพระองค์ไม่ให้ใครรู้จัก เสด็จออกจากพระนคร พยายามสอบสวนชาวชนบท จนเสด็จถึงภูมิประเทศชายแดน ก็มิได้ทรงเห็นใคร ๆ กล่าวถึงโทษทรงสดับแต่คำสรรเสริญพระคุณ จึงทรงบ่ายพระพักตร์สู่พระนคร เสด็จกลับตามทางหลวงจากเขตชายแดน.

ในเวลานั้น แม้พระเจ้าโกศลพระนามว่าพัลลิกะ ก็ทรงครอบครองราชสมบัติโดยธรรมทรงตรวจสอบหาโทษในบรรดาข้าราชบริพารภายในเป็นต้น มิได้ทรงเห็นใคร ๆ กล่าวถึงโทษเลยทรงสดับแต่คำสรรเสริญพระคุณของพระองค์เหมือนกันจึงทรงตรวจสอบชาวชนบทได้เสด็จถึงประเทศนั้น.

กษัตริย์ทั้งสองได้ปะจันหน้ากันที่ทางเกวียนอันราบลุ่มแห่งหนึ่ง ไม่มีทางที่รถจะหลีกกันได้.  สารถีของพระเจ้าพัลลิกะจึงพูดกะสารถีของพระเจ้าพาราณสีว่า „จงหลีกรถของท่าน“ สารถีของพระเจ้าพาราณสีก็ตอบว่า „พ่อมหาจำเริญ ขอให้ท่านหลีกรถของท่านเถิด บนรถนี้มีพระเจ้าพรหมทัตมหาราช ผู้ครอบครองราชสมบัติในกรุงพาราณสีประทับนั่งอยู่“

สารถีอีกฝ่ายหนึ่งก็พูดว่า „พ่อมหาจำเริญ บนรถนี้พระเจ้าพัลลิกะมหาราชผู้ครอบครองราชสมบัติแคว้นโกศลก็ประทับนั่งอยู่, ขอท่านได้โปรดหลีกรถของท่านแล้วให้โอกาสแก่รถของพระราชาของเราเถิด“   สารถีของพระเจ้าพาราณสีดำริว่า แม้ผู้ที่นั่งอยู่ในรถนี้ก็เป็นพระราชาเหมือนกัน เราจะควรทำอย่างไรดีหนอ นึกขึ้นได้ว่า มีอุบายอย่างหนึ่ง เราจักถามถึงวัยให้รถของพระราชาหนุ่มหลีกไปแล้วให้พระราชทานโอกาสแก่พระราชาแก่ ครั้นตกลงใจแล้วจึงถามถึงวัยของพระเจ้าโกศลกะสารถีแล้วกำหนดไว้ครั้นทราบว่า พระราชาทั้งสองมีวัยเท่ากัน จึงถามถึงปริมาณราชสมบัติ กำลัง ทรัพย์ ยศ ชาติ โคตร ตระกูล ประเทศ

ครั้นทราบว่า ทั้งสองฝ่ายเป็นผู้ครอบครองรัชสีมาประมาณฝ่ายละสามร้อยโยชน์ มีกำลัง ทรัพย์ ยศ ชาติ โคตร ตระกูลและประเทศเท่ากันแล้ว  คิดต่อไปว่า "เราจักให้โอกาสแก่ผู้มีศีล" จึงถามว่า „พ่อมหาจำเริญ ศีลและมารยาทแห่งพระราชาของท่านเป็นอย่างไร?“ เมื่อเขาประกาศสิ่งที่เป็นโทษแห่งพระราชาของตน โดยนึกว่า เป็นคุณ จึงกล่าวคาถาแรกว่า :-

„พระเจ้าพัลลิกราชทรงชนะคนกระด้าง ด้วยความกระด้าง, ทรงชนะคนอ่อนโดยด้วยความอ่อนโยน, ทรงชนะคนดีด้วยความดี, ทรงชนะคนไม่ดีด้วยความไม่ดี, พระราชาพระองค์นี้เป็นเช่นนั้น, ดูก่อนสารถีท่านจงหลีกทางถวายพระราชาของเราเถิด.“

ในบทเหล่านั้น บทว่า  ทฬฺหํ  ทฬฺหสฺส  ขิปติ  ความว่า สารถีของพระเจ้าพัลลิกะชี้แจงว่า ผู้ใดเป็นคนกระด้าง มีกำลังควรชนะด้วยการประหารหรือด้วยวาจาอันกระด้าง ก็ใช้การประหารหรือวาจาอันกระด้างต่อผู้นั้น พระเจ้าพัลลิกะทรงใช้ความกระด้างชนะผู้นั้นอย่างนี้.  บทว่า  พลฺลิโก  เป็นชื่อของพระราชาพระองค์นั้น.  บทว่า  มุทุนา  มุทุํ  ความว่า พระเจ้าพัลลิกะทรงใช้ความอ่อนโยนชนะบุคคลอ่อนโยน ด้วยอุบายอันอ่อนโยน.   บทว่า  สาธุมฺปิ  สาธุนา  เชติ  อสาธุมฺปิ  อสาธุนา  ความว่า สารถีของพระเจ้าพัลลิกะชี้แจงต่อไปว่า ชนเหล่าใดเป็นคนดี คือเป็นสัตบุรุษ พระองค์ทรงใช้ความดีชนะชนเหล่านั้นด้วยอุบายอันดี. ส่วนชนเหล่าใดเป็นคนไม่ดี พระองค์ก็ทรงใช้ความไม่ดีชนะชนเหล่านั้นด้วยอุบายที่ไม่ดีเหมือนกัน.  บทว่า  เอตาทิโส  อยํ  ราชา  ความว่า พระเจ้าโกศลของพวกเราทรงประกอบด้วยศีลและมารยาทเห็นปานนี้.   บทว่า  มคฺคา  อุยฺยาหิ  สารถิ  ความว่า สารถีของพระเจ้าพัลลิกะพูดว่า ขอท่านจงหลีกรถของตนจากทางไปเสีย คือจงไปนอกทาง ให้ทางแก่พระราชาของพวกเรา.

ลำดับนั้น สารถีของพระเจ้าพาราณสี กล่าวกะสารถีของพระเจ้าพัลลิกะว่า "ท่านกล่าวถึงพระคุณของพระราชาของท่านหรือ" เมื่อเขาตอบว่า "ใช่แล้ว" สารถีของพระเจ้าพาราณสีจึงกล่าวต่อไปว่า "ผิว่า เหล่านี้เป็นพระคุณ สิ่งที่เป็นโทษจะมีเพียงไหน?" สารถีของพระเจ้าพัลลิกะกล่าวว่า "เหล่านี้เป็นโทษก็ตามเถิด, แต่พระราชาของท่านมีพระคุณเช่นไรเล่า" สารถีของพระเจ้าพาราณสีกล่าวว่า "ถ้าเช่นนั้นท่านจงฟัง" แล้วกล่าวคาถาที่สอง ว่า :-

„พระเจ้าพาราณสีทรงชนะคนโกรธด้วยความไม่โกรธ, ทรงชนะคนไม่ดีด้วยความดี, ทรงชนะคนตระหนี่ด้วยการให้, ทรงชนะคนพูดเหลาะแหละด้วยคำสัตย์, พระราชาพระองค์นี้เป็นเช่นนั้น, ดูก่อนสารถีท่านจงหลีกทางถวายพระราชา ของเราเถิด.“

ในบทเหล่านั้น บทว่า  เอตาทิโส  ความว่า พระราชาทรงประกอบด้วยคุณเหล่านี้ที่กล่าวไว้โดยนัยมีอาทิว่า พึงชนะคนโกรธด้วยความไม่โกรธ ดังนี้ อธิบายว่า พระราชาพระองค์นี้พระองค์เองไม่โกรธทรงชนะบุคคลผู้โกรธด้วยความไม่โกรธพระองค์เองเป็นคนดีทรงชนะคนไม่ดีด้วยความดี พระองค์เองเป็นผู้ทรงบริจาคทรงชนะคนตระหนี่เหนียวแน่นด้วยการบริจาคพระองค์เองตรัสความจริงทรงชนะคนพูดเหลาะแหละด้วยคำจริง.   บทว่า  มคฺคา อุยฺยาหิ  ความว่า สารถีของพระเจ้าพาราณสีกล่าวว่า ท่านสารถีผู้เป็นสหาย ขอได้โปรดหลีกจากทาง จงให้ทางแก่พระราชาของพวกเราผู้ประกอบด้วยคุณ คือศีลและมารยาทมีอย่างนี้ พระราชาของพวกเราสมควรแก่ทางดำเนิน.

เมื่อสารถีของพระเจ้าพาราณสีกล่าวอย่างนี้แล้ว พระเจ้าพัลลิกะและสารถีทั้งสองก็เสด็จและลงจากรถปลดม้าถอยรถถวายทางแด่พระเจ้าพาราณสี.  พระเจ้าพาราณสี ถวายโอวาทแด่พระเจ้าพัลลิกะว่า „ธรรมดาพระราชาควรทรงกระทำอย่างนี้ ๆ“ แล้วเสด็จไปกรุงพาราณสีทรงกระทำบุญมีทานเป็นต้นทรงเพิ่มพูนทางสวรรค์ในเวลาสุดสิ้นพระชนม์.

แม้พระเจ้าพัลลิกะก็ทรงรับพระโอวาท ของพระเจ้าพาราณสีทรงสอบสวนชาวชนบท เสด็จไปทั่วพระนคร ไม่เห็นมีผู้กล่าวโทษของพระองค์ จึงกระทำบุญมีทานเป็นต้นทรงเพิ่มพูนทางสวรรค์ ในเวลาสุดสิ้นพระชนม์.

พระศาสดา ทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาเพื่อทรงถวายโอวาทแด่พระเจ้าโกศลแล้วทรงประชุมชาดก นายสารถีของพระเจ้าพัลลิกะ ครั้งนั้นได้เป็นพระโมคคัลลานะ พระเจ้าพัลลิกะได้เป็นพระอานนท์ สารถีของพระเจ้าพาราณสีได้เป็นพระสาริบุตร ส่วนพระราชาคือ ตถาคตเอง. จบอรรถกถาราโชวาทชาดกที่ ๑

CR: หมายเหตุ ข้อมูลที่มา ภาษาบาฬี จากเว็บไซต์ tipitaka.org คำแปลจาก ฉบับมหิดล, ฉบับสยามรัฐ, ฉบับมหาเถรสมาคม เป็นต้น, ส่วนอรรถกถาแปลโดยมากจากฉบับมหาจุฬาฯ.


ควรเปิดใจรับฟังคำว่ากล่าวตักเตือนได้

ควรเปิดใจรับฟังคำว่ากล่าวตักเตือนได้

[ณ วัดโฆสิตาราม ใกล้กรุงโกสัมพี ภิกษุได้เตือนพระฉันนะที่ประพฤติไม่เหมาะสม แต่พระฉันนะโต้กลับว่าพวกท่านเป็นใครมาว่าเรา เราต่างหากที่จะว่ากล่าวท่านได้ ด้วยเพราะถือตัวว่าเป็นคนตามพระพุทธเจ้าสมัยที่ยังเป็นเจ้าชายสิทธิทัตถะออกบวชพร้อมม้ากัณฐกะ เหล่าภิกษุจึงไปเล่าให้พระพุทธเจ้าฟัง]

พระพุทธเจ้า:  ฉันนะ ได้ข่าวว่าเธอไม่ยอมให้ภิกษุว่ากล่าวตักเตือน จริงหรือเปล่า?

ฉ:  จริงท่าน

พระพุทธเจ้า:  การกระทำของเธอไม่เหมาะไม่ควร ใช้ไม่ได้ ทำไมไม่ยอมให้ภิกษุว่ากล่าวตักเตือนเมื่อเธอทำตัวไม่ดี เธอทำให้คนเขาเสื่อมศรัทธา

ภิกษุทั้งหลาย อย่าได้ทำตัวให้เป็นคนที่ใครๆว่ากล่าวตักเตือนไม่ได้ เพราะหมู่คณะจะเจริญได้ ก็ด้วยการว่ากล่าวตักเตือนซึ่งกันและกัน

ที่มา: เรียบเรียงจากพระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย เล่มที่ 3 (พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ภาค 1 เล่ม 3 และภาค 2 เล่ม 1 เตรสกัณฑ์), 2559, น.565-568



เป็นไปตามกรรม

เป็นไปตามกรรม

[ณ วิหารเชตวัน กรุงสาวัตถี สุภมาณพโตเทยยบุตรถามพระพุทธเจ้าว่า อะไรเป็นเหตุให้บางคนเกิดมาดี บางคนเกิดมาไม่ดี]

สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตน เป็นผู้สร้างกรรม (มีกรรมเป็นทายาท) เป็นผู้รับผลของกรรม (มีกรรมเป็นกำเนิด) มีกรรมเป็นที่พึ่ง กรรมจะจำแนกสัตว์ให้ดีหรือเลว

คนที่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ตายไปจะไปนรก แต่ถ้าได้มาเกิดเป็นมนุษย์ จะอายุสั้น  

คนที่เบียดเบียนรังแกสัตว์...จะมีโรคมาก   คนขี้โกรธ...จะมีผิวพรรณไม่ดี  คนขี้อิจฉา...จะมีศักดิ์น้อย   คนที่ไม่ทำบุญแก่พระหรือนักบวช...จะมีทรัพย์น้อย   คนกระด้างเย่อหยิ่ง...จะมีสกุลต่ำ   คนที่ไม่ใฝ่ศึกษาธรรมะ...จะมีปัญญาน้อย...

ที่มา: เรียบเรียงจากพระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย เล่มที่ 23 (พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ ภาค 3 เล่ม 2 จูฬกัมมวิภังคสูตร), 2559, น.232-240

The Law Of Karma






คน 4 แบบ

คน 4 แบบ

[ณ วัดเชตวัน ใกล้กรุงสาวัตถี พระพุทธเจ้าบอกพระเจ้าปเสนทิโกศลว่าในโลกนี้มีคน 4 แบบ คือ ผู้มืดมามืดไป ผู้มืดมาสว่างไป ผู้สว่างมามืดไป และผู้สว่างมาสว่างไป]

มืดมามืดไป คือ เกิดมาขัดสน ผิวพรรณไม่น่าดู เจ็บป่วยบ่อย แล้วยังไม่ใฝ่ธรรมะ (ไม่มีศรัทธา) คิดชั่วคิดผิด ด่าทอพระ พราหมณ์ หรือขอทาน ตระหนี่ไม่เอื้อเฟื้อ ตายไปก็ไปนรก

มืดมาสว่างไป คือ เกิดมาขัดสน ผิวพรรณไม่น่าดู เจ็บป่วยบ่อย แต่ใฝ่ธรรมะ (มีศรัทธา) คิดดีคิดถูก มีใจสงบ ทำดีต่อพระ พราหมณ์ หรือขอทาน เอื้อเฟื้อให้ทาน ตายไปก็ไปสวรรค์

สว่างมามืดไป คือ เกิดมามั่งมี ผิวพรรณน่าดู ข้าวของมากมาย แต่ไม่ใฝ่ธรรมะ คิดชั่วคิดผิด ด่าทอพระ พราหมณ์ หรือขอทาน ตระหนี่ไม่เอื้อเฟื้อ ตายไปก็ไปนรก

สว่างมาสว่างไป คือ เกิดมามั่งมี ผิวพรรณน่าดู ข้าวของมากมาย แล้วยังใฝ่ธรรมะ คิดดีคิดถูก มีใจสงบ ทำดีต่อพระ พราหมณ์ หรือขอทาน เอื้อเฟื้อให้ทาน ตายไปก็ไปสวรรค์...

ที่มา: เรียบเรียงจากพระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย เล่มที่ 24 (พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค ภาค 1 เล่ม 1 ปุคคลสูตร), 2559, น.404-408





วันเสาร์ที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2564

“ธรรมฝ่ายขาว”

“ธรรมฝ่ายขาว”

พระผู้มีพระภาคตรัสพระสูตรนี้ไว้ว่า “ภิกษุทั้งหลาย สุกกธรรม ๒ ประการนี้ ย่อมคุ้มครองโลก,  สุกกธรรม ๒ ประการ อะไรบ้าง คือ  ๑.หิริ  ๒.โอตตัปปะ” ดังนี้เป็นอาทิ

อธิบาย

คำว่า “สุกกธรรม” หมายถึงกุศลธรรม คือธรรมที่เป็นฝ่ายขาว หรือธรรมบริสุทธิ์ เพราะเป็นไปเพื่อความผ่องแผ้วอย่างยิ่ง และเพราะเมื่อธรรมฝ่ายขาวเกิดขึ้นในจิตใจแล้ว จิตจึงประภัสสรบริสุทธิ์

คำว่า “หิริ” ได้แก่ความละอาย หมายถึงความละอายต่ออกุศลธรรม  คำว่า “โอตตัปปะ” ได้แก่ความเกรงกลัว หมายถึงความกลัวต่ออกุศลธรรม

บุคคลผู้ละอายด้วยสิ่งที่ควรละอาย คือละอายต่อความเกิดขึ้นแห่งอกุศลธรรมอันลามก ท่านเรียกว่า “ผู้มีหิริ”  บุคคลผู้กลัวด้วยสิ่งที่ควรกลัว คือกลัวต่อความเกิดขึ้นแห่งอกุศลธรรมอันลามก ท่านเรียกว่า “ผู้มีโอตตัปปะ”

หิริเกิดขึ้นในภายในจิตใจตน โอตตัปปะเกิดขึ้นในภายนอก,   หิริถือตนเป็นใหญ่ โอตตัปปะถือโลกเป็นใหญ่,  หิริตั้งอยู่ในความละอายเป็นสภาพ โอตตัปปะตั้งอยู่ในความกลัวเป็นสภาพ,   หิริมีลักษณะยำเกรง โอตตัปปะมีลักษณะเห็นภัยอันเป็นโทษที่น่ากลัว

หิริเกิดขึ้นในภายในย่อมเกิดด้วยเหตุ ๔ อย่าง คือ นึกถึงชาติตระกูล นึกถึงวัย นึกถึงความเป็นผู้กล้า (กำลังของตน) นึกถึงความเป็นผู้คงแก่เรียน (ความรู้ความสามารถของตน) เมื่อพิจารณาถึงชาติตระกูลเป็นต้นของตนแล้วก็ละอายไม่กล้ากระทำกรรมชั่ว

ส่วนโอตตัปปะเกิดขึ้นในภายนอก เมื่อบุคคลนึกอยู่ว่า “หากเราจักทำกรรมชั่ว เราจักได้รับความติเตียนในบริษัท ๔ และวิญญูชนทั้งหลายจักติเตียนเรา เหมือนชาวเมืองรังเกียจของสกปรก เราถูกเขากำจัดเสียแล้ว จักเป็นอยู่ได้อย่างไร” ดังนี้เป็นอาทิ

เพราะฉะนั้น บุคคลผู้มีความละอายและเกรงกลัวต่อบาป จะละอกุศล เจริญกุศล ละสิ่งมีโทษ เจริญสิ่งไม่มีโทษ ย่อมรักษาตนให้บริสุทธิ์ได้ หิริและโอตตัปปะจึงเป็นธรรมฝ่ายขาวย่อมคุ้มครองโลก ด้วยประการฉะนี้.

สาระธรรมจากสุกกธัมมสูตร

พระมหาวัชระ เชยรัมย์ (ติกฺขญาโณ)

28/8/64








อย่าเอาความไม่ยึดมั่น หรือความปล่อยวาง มาเป็นข้ออ้างที่จะปล่อยปละละเลย


 “อย่าเอาความไม่ยึดมั่น หรือความปล่อยวาง มาเป็นข้ออ้างที่จะปล่อยปละละเลย

ที่เห็นง่ายๆ ก็คือ คนที่เอาความไม่ยึดมั่น ขึ้นมายึดไว้ แล้วไม่ทําอะไร ไม่เอาอะไร แล้วก็บอกว่าฉันไม่ยึดมั่น แต่เขาไม่รู้ตัว ว่าเขาทําไปตามความไม่ยึดมั่นที่เอามายึดไว้

คือ เป็นเพียงความยึดมั่นในความไม่ยึดมั่นเท่านั้น เป็นความยึดมั่นซ้อนเข้าไปอีก ความไม่ยึดมั่นที่แท้นั้นเป็นไปเองด้วยปัญญา ไม่ต้องเอาความไม่ยึดมั่นขึ้นมายึดไว้

เพราะฉะนั้น อย่าปล่อยวางเพียงด้วยความไม่ยึดมั่นที่ยึดถือเอาไว้ และอย่าเอาความปล่อยวางมาเป็นข้ออ้างที่จะปล่อยปละละเลย เพราะอันนั้นไม่ใช่ความปล่อยวางอะไรเลย แต่เป็นความประมาทแท้ๆ

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

ที่มา : จากหนังสือรวมสารธรรมคำสอน "สุขง่าย ทุกข์ยาก" หน้า ๕๓

ระวัง! ยึดมั่น ในความไม่ยึดมั่น  ความไม่ยึดมั่นที่แท้นั้น เกิดจากปัญญา ที่รู้ความจริง

บางคนไปฟังพระเทศน์ว่า สิ่งทั้งหลายไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา จะไปยึดมั่นถือมั่นไม่ได้ ถ้าไปยึดมั่นถือมั่นแล้ว มันเปลี่ยนแปลงไป เราก็จะเกิดความทุกข์บีบคั้นจิตใจ ฟังแล้วก็ชอบใจ เห็นว่าเป็นความจริงอย่างนั้น และคิดว่าจะต้องเอาไปปฏิบัติ บอกว่า ต่อไปนี้เราจะไม่ยึดมั่นถือมั่นอะไรแล้ว

กลับไปบ้านก็ไม่เอาเรื่องเอาราวอะไรทั้งนั้น บอกว่า ฉันไม่ยึดมั่นถือมั่น ไปๆ มาๆ ก็ทํานองว่า ลูกก็ไม่ใช่ของเรา ภรรยาก็ไม่ใช่ของเรา เงินทอง บ้านช่อง ก็ไม่ใช่ของเรา ฯลฯ

บอกว่าไม่ยึดมั่น แต่เจอความยึดมั่นอย่างหนักเข้าไปแล้ว โดยไม่รู้ตัว 

นี่ก็คือ “ความยึดมั่น ในความไม่ยึดมั่น” เพราะว่า ความไม่ยึดมั่นที่เขาอ้างนั้น เกิดจาก “สัญญา” (ข้อที่กําหนดหมายจําไว้) ซึ่งรับเอามาถือตาม แล้วก็ยึดมั่นว่าฉันจะไม่ยึดมั่น เท่านั้นเอง

คนที่เอาความไม่ยึดมั่นขึ้นมายึดไว้ แล้วไม่ทําอะไร ไม่เอาอะไร แล้วก็บอกว่าฉันไม่ยึดมั่นนั้น เขาไม่รู้ตัวว่าเขาทําไปตามความไม่ยึดมั่นที่เอามายึดไว้ คือ เป็นเพียงความยึดมั่นในการ ยึดถือความไม่ยึดมั่นนั้น เป็นความยึดมั่นซ้อนเข้าไปอีก แถมยังตกลงไปในความประมาทอีกด้วย  ความไม่ยึดมั่นที่แท้นั้น เป็นไปเองด้วยปัญญา ไม่ต้องเอาความไม่ยึดมั่นขึ้นมายึดไว้ ถ้า“ไม่ยึดมั่น”เป็นอย่างว่าเมื่อกี้ ก็จะเจอพวกไม่ยึดมั่นแปลกๆ อีกเยอะ

อีกรายหนึ่งบอกว่า หลวงพ่อของเขามีคนอุปฐากมากมาย มีหญิงสาวคอยดูแลนวดให้ด้วย ท่านเป็นพระอริยะ ท่านหมดกิเลสแล้ว ท่านจะทําอะไรก็ได้ เพราะท่านไม่ยึดมั่นถือมั่น  ญาติโยมหลายท่านฟังแล้วว่า น่าจะจริงนะ เพราะพระอรหันต์ท่านไม่ยึดมั่นถือมั่น จะไปเอาอะไรกับสิ่งเหล่านี้ ซึ่งไม่จริงแท้แน่นอน เป็นของสมมติ เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา  

ที่นี้ อีกพวกหนึ่งก็บอกว่า อะไรๆก็เป็นอนัตตา ไม่มีตัวตน คนก็เป็นเพียงขันธ์ ๕ มาประกอบกันเข้า ไม่มีอะไรจะพึงยึดถือ ไม่มี นาย ก. ไม่มี นาง ข. เมื่อไม่ยึดมั่นถือมั่นแล้ว จะฆ่าจะฟันใครก็ไม่บาป  กรณีเหล่านี้ เป็นตัวอย่างของการที่ผู้มีกิเลส ยกเอา“สภาวธรรม” นี้มาเป็นข้ออ้าง สําหรับการกระทําด้วยความยึดมั่นถือมั่นของตน

อย่างในกรณีหลังนี้ ถ้าไม่มีความยึดมั่นในคนที่จะถูกฆ่า ถ้าไม่มีเจตนายึดมั่นที่เจาะจงมุ่งร้ายต่อเป้าของการกระทํา จะมีการยกศัสตราวุธขึ้นฟันแทงพุ่งเข้าใส่ได้อย่างไร อันนี้เป็นการกระทําด้วยความยึดมั่นถือมั่นอย่างรุนแรงเลยทีเดียว

ความไม่ยึดมั่นที่แท้นั้นเกิดจากปัญญา ที่รู้ความจริง อย่างพระอรหันต์ที่ท่านไม่ยึดมั่นนั้น ท่านมีจิตใจเป็นอิสระ แต่ในการดําเนินชีวิตทั่วไป ที่เรียกว่าอยู่ในโลกอยู่ในสังคม ท่านว่าไปตามความจริงของสมมติ และ ปฏิบัติไปตามเหตุตามผล

สําหรับปุถุชน ความไม่ยึดมั่นถือมั่นเป็นได้แค่เครื่องฝึกตนเท่านั้น เพราะความไม่ยึดมั่นของปุถุชนที่เอามาปฏิบัตินั้น ไม่ใช่ความไม่ยึดมั่นที่แท้จริง มันเป็นเพียงความไม่ยึดมั่นที่รับมาด้วยสัญญา ไม่ใช่เกิดจากปัญญา คือเอาความจําหมายในความไม่ยึดมั่นนี้มาจับยึดเข้าไว้อีกทีหนึ่ง จึงเป็นความยึดมั่นในความไม่ยึดมั่น

ถ้าเป็นปุถุชน ก็ทําได้แค่นี้ หรือแค่ฝึก

ดังนั้น สําหรับคนทั่วไป ถ้าจะไม่ยึดมั่น จึงต้องระวัง ถ้าจะให้ ค่อนข้างปลอดภัย ก็ตระหนักใจว่า “เราฝึกตนในความไม่ยึดมั่น

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

ที่มา : หนังสือ “มองธรรมถูกทาง มีสุขทุกที่” พิมพ์ครั้งที่ ๓๙ ปี พ.ศ. ๒๕๕๘ หน้า ๕๕-๕๖


วันศุกร์ที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2564

จักกวัตติสูตรศึกษา (๒๐)

จักกวัตติสูตรศึกษา (๒๐)

อวสาน

เมื่อมนุษย์กลับมีอายุขัยเพิ่มขึ้นถึงแปดหมื่นปี จักกวัตติสูตรบรรยายความต่อไปว่า :-

อสีติวสฺสสหสฺสายุเกสุ   ภิกฺขเว   มนุสฺเสสุ  อยํ  ชมฺพุทีโป  อวีจิ  มญฺเญ  ผุโฏ  ภวิสฺสติ  มนุสฺเสหิ  เสยฺยถาปิ  นฬวนํ  วา  สรวนํ  วา ฯ   ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในเมื่อมนุษย์มีอายุแปดหมื่นปี ชมพูทวีปนี้จักเป็นดังว่าอเวจี (ที่มีสัตว์นรกมากมาย) คือยัดเยียดไปด้วยผู้คนทั้งหลายปานว่าป่าไม้อ้อหรือป่าไม้แขมฉะนั้น

อยํ  พาราณสี  เกตุมตี  นาม  ราชธานี  ภวิสฺสติ  อิทฺธา  เจว  ผีตา  จ  พหุชนา  จ  อากิณฺณมนุสฺสา  จ  สุภิกฺขา  จ ฯ   เมืองพาราณสีนี้จักเป็นราชธานีมีนามว่าเกตุมดี เป็นเมืองที่มั่งคั่งและรุ่งเรื่อง มีพลเมืองมาก มีผู้คนคับคั่ง และมีอาหารสมบูรณ์

อิมสฺมึ  ชมฺพุทีเป  จตุราสีตินครสหสฺสานิ  ภวิสฺสนฺติ  เกตุมติราชธานีปมุขานิ ฯ   ในชมพูทวีปนี้จักมีเมืองแปดหมื่นสี่พันเมือง มีเกตุมดีราชธานีเป็นเมืองหลวง

เกตุมตีราชธานิยา  สงฺโข  นาม  ราชา  อุปฺปชฺชิสฺสติ  จกฺกวตฺติ  ธมฺมิโก  ธมฺมราชา  จาตุรนฺโต  วิชิตาวี  ชนปทฏฺฐาวริยปฺปตฺโต  สตฺตรตนสมนฺนาคโต ...  จักมีพระเจ้าจักรพรรดิทรงพระนามว่าพระเจ้าสังขะอุบัติขึ้น ณ เมืองเกตุมดีราชธานี เป็นผู้ทรงธรรม เป็นพระราชาโดยธรรม เป็นใหญ่ในแผ่นดิน มีมหาสมุทร ๔ เป็นขอบเขต ทรงชนะแล้ว มีราชอาณาจักรมั่นคง สมบูรณ์ด้วยแก้ว ๗ ประการ ...

อสีติวสฺสสหสฺสายุเกสุ  ภิกฺขเว  มนุสฺเสสุ  เมตฺเตยฺโย  นาม  ภควา  โลเก  อุปฺปชฺชิสฺ ... เสยฺยถาปาหเมตรหิ  โลเก  อุปฺปนฺโน ...  ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในเมื่อมนุษย์อายุแปดหมื่น พระผู้มีพระภาคทรงพระนามว่าเมตไตรยจักเสด็จอุบัติขึ้นในโลก ... เหมือนเราตถาคตผู้อุบัติขึ้นแล้วในโลกในบัดนี้ 

ที่มา: จักกวัตติสูตร ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค พระไตรปิฎกเล่ม ๑๑ ข้อ ๔๘

สรุปความตอนจบพระสูตรว่า เมื่อมนุษย์มีอายุขัยแปดหมื่นปีก็จะมีผู้นำมนุษย์ที่มีคุณธรรมคุณสมบัติถึงขั้นที่เป็นพระเจ้าจักรพรรดิเกิดขึ้นในโลกอีกวาระหนึ่ง ก็คือสังคมมนุษย์เริ่มยุคสมัยรุ่งเรืองกันใหม่   และพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่าเมตไตรย-คือที่เราเรียกรู้กันว่า “พระศรีอารย์”-ก็จะเสด็จอุบัติขึ้นในโลก-เหมือนพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่าโคดมที่เสด็จอุบัติขึ้นในยุคสมัยของเรานี้  พระเจ้าสังขะจักรพรรดิราชนั้นครองราชสมบัติสมควรแก่กาลแล้วก็ทรงออกผนวชในพระพุทธศาสนา และได้สำเร็จธรรมเป็นพระอรหันต์ 

น่าสังเกตว่า ตั้งแต่มนุษย์มีอายุขัยแปดหมื่นปีในอดีตกาลนานไกลครั้งกระโน้นจนถึงมนุษย์มีอายุขัยร้อยปีในปัจจุบันวันนี้ พระสูตรไม่ได้เอ่ยถึงเลยว่ามีพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้ในช่วงเวลาไหนบ้างหรือเปล่า  แต่ข้อเท็จจริงที่ปรากฏแล้วก็คือ ช่วงเวลาที่มนุษย์มีอายุขัยร้อยปี มีพระพุทธเจ้าโคดมมาตรัสรู้ ในพระสูตรมิได้เอ่ยถึง แต่ข้อเท็จจริงเป็นดังนั้น  ถ้าใช้แนวคิดเดียวกันนี้ ก็ดูเหมือนจะอนุมานได้ว่า จากอายุขัยร้อยปีในบัดนี้ถอยหลังไปกว่าจะถึงอายุขัยแปดหมื่นปี น่าจะมีพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้บ้างแล้ว?   ในภัทรกัป-คือช่วงเวลาที่กำลังเป็นไปอยู่ในบัดนี้-ท่านว่ามีพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้ ๕ พระองค์ คือ พระกกุสันธะ พระโกนาคมนะ พระกัสสปะ พระโคตมะ และพระเมตเตยยะ

คัมภีร์พุทธวงศ์แสดงรายละเอียดว่าด้วยพระชนมายุของพระพุทธเจ้า ๔ พระองค์ไว้ว่า

พระกกุสันธะมีพระชนมายุสี่หมื่นปี,   พระโกนาคมนะมีพระชนมายุสามหมื่นปี,  พระกัสสปะมีพระชนมายุสองหมื่นปี,  พระโคตมะมีพระชนมายุร้อยปี,  ส่วนพระเมตเตยยะในจักกวัตติสูตรนี้บอกว่าจักเสด็จอุบัติขึ้นในสมัยที่มนุษย์มีอายุขัยแปดหมื่นปี

ข้อมูลที่ต้องชัดเจนก่อนก็คือ พระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์มาตรัสรู้ห่างกันกี่ปี

ข้อสมมุติฐาน (เพราะยังไม่ได้ตรวจสอบข้อมูล):

(๑) จากอายุขัยแปดหมื่นปีลงมาต่ำสุดอายุขัยสิบปี แล้วขึ้นไปจนถึงอายุขัยแปดหมื่นปีอีกครั้งหนึ่ง : มีพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้ ๑ พระองค์ 

หรือ -- (๒) จากอายุขัยแปดหมื่นปีลงมาต่ำสุดอายุขัยสิบปี แล้วขึ้นไปจนถึงอายุขัยแปดหมื่นปีอีกครั้งหนึ่ง : มีพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้หลายพระองค์ 

ดูในจักกวัตติสูตรนี้เอง จากอายุขัยแปดหมื่นปีลงมาต่ำสุดอายุขัยสิบปี ไม่มีเอ่ยถึงว่ามีพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้เลย แต่ข้อเท็จจริงมี ๑ พระองค์ คือพระโคตมะมาตรัสรู้เมื่อมนุษย์มีอายุขัยร้อยปี  และจากจักกวัตติสูตรนี้เอง จากอายุขัยสิบปีขึ้นไปจนถึงอายุขัยแปดหมื่นปี ในระหว่างนี้ก็ไม่มีเอ่ยถึงว่ามีพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้เลย ไปมีเอาในช่วงเวลาอายุขัยสูงสุดคือแปดหมื่นปี พระเมตเตยยะมาตรัสรู้

จึงน่าจะสรุปได้ว่า วงรอบที่จะมีพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้ก็คือ จากอายุขัยแปดหมื่นปีลงมาต่ำสุดอายุขัยสิบปี แล้วขึ้นไปจนถึงอายุขัยแปดหมื่นอีกครั้งหนึ่ง ช่วงเวลาระหว่างนี้แหละจะมีพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้ ๑ พระองค์ จะมาตรัสรู้ในช่วงเวลาไหนก็ดูที่พระชนมายุของพระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์

ดังนั้น ตามความในจักกวัตติสูตรที่กล่าวความตั้งแต่มนุษย์มีอายุขัยแปดหมื่นปีลงมาต่ำสุดอายุขัยสิบปี แล้วขึ้นไปจนถึงอายุขัยแปดหมื่นอีกครั้งหนึ่ง จึงมีพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้พระองค์เดียว คือพระโคตมะ หรือพระพุทธโคดมที่พวกเรากำลังอยู่ในศาสนาของพระองค์ ณ กาลบัดนี้  และดังนั้น ที่ความในจักกวัตติสูตรบอกว่ามนุษย์เริ่มทำชั่วอย่างแรกคืออทินนาทาน และทำชั่วอย่างอื่นๆ สะสมเรื่อยมาจนถึงมนุษย์หมดความเคารพนับถือพ่อแม่ครูบาอาจารย์ญาติผู้ใหญ่ในตระกูล สภาพเหล่านี้จึงเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่โลกยังไม่มีพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้

อุปมาเหมือนสระน้ำที่มีจอกแหนปิดบังผิวน้ำอยู่เต็มสระ พระพุทธเจ้ามาตรัสรู้พระองค์หนึ่งก็เหมือนทุ่มหินลงไปก้อนหนึ่ง หน้าผิวน้ำบริเวณนั้นก็ปลอดจากจอกแหนไปชั่วขณะหนึ่ง พอหมดแรงกระเพื่อม จอกแหนก็เคลื่อนเข้าปิดบังผิวน้ำไว้ตามเดิม  

มนุษยชาติถูกสรรพกิเลสครอบงำจิตใจตลอดเวลาก็มีอุปมาฉันนั้น

พระผู้มีพระภาคตรัสในที่สุดว่า :-

อตฺตทีปา  ภิกฺขเว  วิหรถ  อตฺตสรณา  อนญฺญสรณา  ธมฺมทีปา  ธมฺมสรณา  อนญฺญสรณา ฯ   ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงมีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่งเถิด อย่ามีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งเลย จงมีธรรมเป็นเกาะ มีธรรมเป็นสรณะเถิด อย่ามีสิ่งอื่นเป็นสรณะอยู่เลย

ที่มา: จักกวัตติสูตร ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค พระไตรปิฎกเล่ม ๑๑ ข้อ ๔๙

โลกจะเจริญหรือโลกจะเสื่อมก็เป็นไปตามเหตุตามปัจจัย หน้าที่ของเราคือรู้ทันโลก เมื่อรู้ทันแล้ว จะวิ่งตามโลกหรือจะเดินตามธรรม ก็จงพิจารณาเอา  จะเป็นกับมันหรือจะไม่เอากับมัน ก็จงพิจารณาเอา  และจากนี้ไปจนกว่าจะถึงเวลานั้น จะทำอย่างไรกันก็จงพิจารณาเอา

ถ้าไม่ปรารถนาจะไปเจอสภาพเสื่อมสุดของมนุษยชาติ ก็ต้องพยายามสลัดออกจากวงเวียนเกิด-ตายนี้ให้ได้   แต่ถ้ายังเวียนตายเวียนเกิด ก็จงเชื่อเถิดว่าจะต้องเจอกับมันแน่นอน จะเจอแบบรู้ทันมันหรือแบบเป็นไปกับมัน ก็ขึ้นอยู่กับตัวเราเลือกเอง  อนึ่ง เรามักตั้งความปรารถนากันว่าขอให้ได้ไปเกิดในศาสนาของพระศรีอริยเมตไตรย 

พระพุทธองค์ก็ตรัสไว้แล้วว่า พระเมตไตรยก็ตรัสสอนพระธรรมเหมือนกับที่พระพุทธองค์ตรัสสอนในบัดนี้นี่แหละ   และ ณ เวลาบัดนี้ พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าพระองค์นี้ก็ยังปรากฏอยู่ หนทางดำเนินเพื่อนำไปสู่ความไม่ต้องเวียนตายเวียนเกิดก็ยังมีผู้รู้เห็นชัดเจนอยู่ 

ทำไมเราจึงไม่ปฏิบัติดำเนินกันเสียตั้งแต่เวลานี้  ทำไมจะต้องรอไปจนถึงศาสนาของพระเมตไตรย   แล้วแน่ใจหรือว่า ถ้ายังประมาทกันอยู่อย่างนี้เราจะรอดสันดอน-คือสัตถันดรกัปหรือยุคมิคสัญญี-ไปถึงศาสนาของพระเมตไตรยได้?

จักกวัตติสูตรศึกษาอวสานเพียงเท่านี้

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย๒๗ สิงหาคม ๒๕๖๔,  ๑๘:๐๙

จักกวัตติสูตรศึกษา (๒๐)จักกวัตติสูตรศึกษา (๑๙)จักกวัตติสูตรศึกษา (๑๘),  จักกวัตติสูตรศึกษา (๑๗)จักกวัตติสูตรศึกษา (๑๖)จักกวัตติสูตรศึกษา (๑๕),  จักกวัตติสูตรศึกษา (๑๔)จักกวัตติสูตรศึกษา (๑๓)จักกวัตติสูตรศึกษา (๑๒)จักกวัตติสูตรศึกษา (๑๑)จักกวัตติสูตรศึกษา (๑๐)จักกวัตติสูตรศึกษา (๙)จักกวัตติสูตรศึกษา (๐๘)จักกวัตติสูตรศึกษา (๐๗)จักกวัตติสูตรศึกษา (๐๖)จักกวัตติสูตรศึกษา (๐๕), จักกวัตติสูตรศึกษา (๐๔)จักกวัตติสูตรศึกษา (๐๓)จักกวัตติสูตรศึกษา (๐๒)จักกวัตติสูตรศึกษา (๐๑)