วันเสาร์ที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2564

“จิต”นั่นเอง! ที่กำลังถูกอะไรห่อหุ้มอยู่ จงพรากจิตออกมาเสียจากเครื่องห่อหุ้มทั้งปวง

“จิต”นั่นเอง! ที่กำลังถูกอะไรห่อหุ้มอยู่ จงพรากจิตออกมาเสียจากเครื่องห่อหุ้มทั้งปวง

“จงเพ่งกำลังความคิดทั้งหมด ตรงไปยังความหลุดพ้นของจิต ซึ่งกำลังถูกทรมานอยู่ด้วยการหุ้มห่อ...ไม่ต้องเป็นห่วงเรื่องว่าจะไม่มี“ตัวเรา” คือ นึกว่ายอมขาดทุน ยอมเสียสละ ไม่ต้องมี“ตัวเรา”สำหรับจะเอานั่นเอานี่ ได้รับสิ่งนั้นสิ่งนี้ โดยตัดใจเสียว่า“ตัวตน” เท่าที่มีอยู่จริงๆในเวลานี้ ก็ทนไม่ไหวแล้ว. เพียงเท่านี้ก็เหลือที่จะแบกจะทนทานได้แล้ว.

จงค้นจนกว่าจะพบความจริงที่ว่า เมื่อดูกันเข้าจริงๆ ก็เห็นมีแต่“จิต”นั่นเอง ที่กำลังถูกอะไรห่อหุ้ม ทำให้เกิดทุกข์ทรมานขึ้น.  ถ้าเอาสิ่งที่ครอบงำจิตออกไปเสียได้ มันก็จะเป็นอิสระเอง ภาวะของความทุกข์ก็ไม่มีที่จิตอีกต่อไป.  ไม่ต้องมี“ตัวเรา”อะไรที่ไหนเลย ความพ้นทุกข์อย่างเด็ดขาดก็มีได้โดยสมบูรณ์....การทำอย่างนี้จะเป็นการเร็วมาก เป็นการเคลื่อนไปโดยเร็ว อาจจะทันกับเวลา ๑๐ ปี ๒๐ ปี ๓๐ ปี ที่พวกเราในที่นี้จะต้องตายก็ได้...

ความมุ่งหมายของพุทธศาสนา สอนให้มนุษย์มีใจสูงถึงขั้น “เหนือโลก” หรือ หลุดพ้นจากเครื่องพัวพันทั้งปวง ซึ่งเป็นเหตุให้พุทธศาสนามีระดับสูงกว่าศาสนาอื่น อันมีความสูงเพียงขั้นศีลธรรม ฉะนั้น ความปรารถนาในการ “พรากจิตออกมาเสียจากเครื่องห่อหุ้มทั้งปวง” จึงเป็นความปรารถนาที่บริสุทธิ์ตามหลักแห่งพุทธศาสนา   การตัดลัดเพ่งตรงไปยังภาวะที่ “ปราศจากความยึดถือของจิต” เช่นนี้ ย่อมจะพบความจริงได้ง่ายและเร็วกว่าที่จะมาตั้งพิธีใหญ่โต ตั้งต้นไล่กันไปตั้งแต่ ศีล สมาธิ ปัญญา ซึ่งจาระไนได้เป็นร้อยๆ พันๆ ชนิด... พุทธศาสนาอย่างเก่าแท้ ซึ่งมีแต่สอนให้ชำระจิตให้หมดจดจากสิ่งห่อหุ้มเป็นข้อสำคัญ และอย่างเดียวเท่านั้น ซึ่งเป็นลักษณะพิเศษเฉพาะของพุทธศาสนา ที่ผิดแผกไปจากศาสนาอื่นๆในโลก 

ฉะนั้น ถ้าเราพบวิธีที่ว่า ทำอย่างไรความยึดถือว่า “ตัวตน” (ตัวกู-ของกู) จะหมดไปได้แล้ว นั่นก็คือ วิธีลัดสั้นที่สุด

พุทธทาสภิกขุ

ที่มา : ปาฐกถาธรรม หัวข้อ “ภูเขาแห่งวิถีพุทธธรรม” เมื่อวันที่ ๕ มิถุนายน ๒๔๙๑ ที่ พุทธสมาคมแห่งประเทศไทย


“ไม่มีอะไรนอกไปจาก“จิต” ในบรรดาสิ่งที่เรียกว่า“โลก”นี้ เพราะ“จิต”เท่านั้น ที่จะรู้สึกต่อสิ่งนั้น แล้วสิ่งนั้น มันรู้สึกทาง“จิต” ไม่มีอะไรที่จะรู้สึกได้นอกจากทาง“จิต” เขาจึงพูดอย่างรวบรัดทั้งหมดโดยสิ้นเชิงว่า “ไม่มีอะไรในโลกนี้ นอกจากสิ่งที่“จิต”รู้ ถ้าไม่มี“จิต”เสียอย่างเดียว “โลก”นี้ก็ไม่มี.”

พุทธทาสภิกขุ 

ที่มา : ธรรมบรรยาย“สติปัฏฐาน ๔ ประยุกต์” เมื่อ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๑๙

“จิต” และ “สติ”

“จิต” เปรียบดุจดังลูกฟักแห้ง ที่ลอยไหลไปตามกระแสน้ำ การสกัดกั้นจิตมิให้ไหลไปในเรื่องที่เป็นอกุศลธรรม และ ดำรงรักษาจิตไว้ในกุศลธรรม นี่แหละ! เป็นลักษณะของ “สติ”  แม้การเพิกถอนจิตเสียจากสิ่งที่เป็นพิษภัย และน้อมนำจิตให้หันเหไปสู่ความดีงาม นี้ก็เป็นธรรมชาติของ “สติ” เหมือนกัน

“สติ” จึงจัดเป็น “อารักขธรรม” ชนิดหนึ่งด้วย  แม้ “อปมาทธรรม”(ความไม่ประมาท) ก็เป็นอีกชื่อหนึ่งของ “สติ” เช่นกัน” 

พระเรรุกาเน จันทวิมละ, พระมหาเถระนักปราชญ์เอกร่วมสมัย ของ ศรีลังกา 

ไม่ศึกษาที่“จิต” ไปหลงเคร่ง กลัวนรก เห่อสวรรค์ เลยไม่พบ “ธรรมะหัวใจพุทธศาสนา” “พระพุทธเจ้าท่านสอนว่า ให้ศึกษาตรงที่“จิต” หรือที่ตัวจิต หรือให้มองดูจิต ให้เฝ้าระวังจิต  สิ่งเหล่านี้ พวกปริยัติไม่เคยทำ เพราะทำไม่เป็น ฝ่ายผู้ที่ปฏิบัติก็มักจะไปทำอย่างอื่นตามๆเขาไป หลงระบอบอย่างอื่น แบบแผนอย่างอื่น ระบบอย่างอื่น (ซึ่งไม่ใช่ที่จิต) ก็เลยไม่เข้าถึงจุดอันนี้ได้สักที

โดยเหตุดังกล่าวจะเห็นว่า ทั้งที่เรียนปริยัติก็มาก เป็นนักปฏิบัติก็มาก มานานแล้วก็ไม่เข้าถึงจุดสักที สู้ใครสักคนหนึ่งที่มาบวชไม่รู้อะไร แต่มานั่งเฝ้าระวังจิต สังเกตจิต ศึกษาจิต ว่ามันเป็นอย่างไร เปลี่ยนแปลงอย่างไร ทำไมเป็นอย่างนี้อยู่แท้ๆ เดี๋ยวก็เปลี่ยนไปอย่างโน้นไปได้... มันเป็นเรื่องที่มองดูแล้วก็น่าสังเวช หรือน่าเศร้า.  พวกปริยัติก็หลงปริยัติ พวกปฏิบัติก็หลงปฏิบัติไปในเรื่องเคร่งครัดอย่างหลับหูหลับตา ไปสนใจเคร่งครัดในสิ่งที่เป็นเปลือกเป็นฝอยอย่างหลับหูหลับตา ก็มี... 

เพราะฉะนั้น บางคนเกิดมาแล้วบวชเรียนจนตลอดชีวิต ก็ไม่เคยพบกับเรื่อง“จิต” ไม่เคยพบกับเรื่องหัวใจของพุทธศาสนาเลย พบแต่อย่างอื่น ซึ่งมีหลายๆอย่าง แล้วก็ยึดมั่นถือมั่นอย่างใดอย่างหนึ่ง เคร่งครัดไปจนตายก็ได้แค่นั้น ได้เท่านั้นเอง ทั้งไม่รู้จักด้วยซ้ำไป ว่าความเคร่งของตัวนั้นคืออะไร? หรือความไม่เคร่งของผู้อื่นนั้นคืออะไร? และก็เลยไม่รู้ว่าธรรมะแท้จริงนั้นไม่ได้เกี่ยวกับเคร่งหรือไม่เคร่ง เลยไปหลงเรื่องเคร่งกับเรื่องไม่เคร่ง ก็เลยไม่ใช่ธรรมะที่แท้จริง...

คนบางพวกกลัวนรก แล้วเห่อสวรรค์ บางคนก็กลัวบาป แล้วก็เห่อบุญ อย่างนี้ยิ่งทำไปยิ่งไกลต่อธรรมะ...ไปเข้าใจธรรมะเป็นบาปเป็นบุญไป ก็พบแต่ธรรมะชนิดนั้น ธรรมะที่เรียกว่าปรุงแต่ง เป็นความคิดปรุงแต่ง เป็นธรรมะปรุงแต่ง ธรรมะแท้จริงเลยไม่ได้พบ ไปอบรมสั่งสอนหรือแวดล้อมกันอยู่แต่ให้กลัวบาป จนหมดความรู้สึก แล้วก็เห่อบุญ หวังบุญ จนหมดความรู้สึกอย่างอื่น ก็ได้เท่านั้นเอง จนตายก็ได้เท่านั้น ไม่ได้เข้าถึงธรรมะแท้...

ฉะนั้น เพื่อประหยัดเวลา เราจึงมีแนวอันใหม่ ว่ามีชีวิตอยู่โดยไม่มีความรู้สึกเป็น “ตัวกู ของกู” อย่าให้เป็นที่ตั้งของบุญหรือบาป ดีหรือชั่ว สุขหรือทุกข์ อะไรอย่างนี้ เพื่อประหยัดเวลา”

พุทธทาสภิกขุ

ที่มา : ธรรมบรรยาย หัวข้อเรื่อง “อยู่ที่สวนโมกข์นี้ทำอะไร” เมื่อวันที่ ๓ ตุลาคม ๒๕๑๐ จากหนังสือชุดธรรมโฆษณ์ เล่มชื่อว่า “ธรรมปาฏิโมกข์ เล่ม ๑” หน้า ๑๕๓-๑๕๔

ท. ส. ปญฺญาวุฑฺโฒ – รวบรวม


Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: