“ในปัจจุบัน คำบางคำก็กำลังจะมีความหมายเพี้ยนไป ยกตัวอย่าง คำที่กำลังพูดถึงกันบ่อยๆ ก็คือ คำว่า “ปฏิบัติธรรม” เดี๋ยวนี้เราเข้าใจคำว่า “ปฏิบัติธรรม” อย่างไร? คนจำนวนมากทีเดียวจะเข้าใจคำว่าปฏิบัติธรรม หรือพูดถึงคำว่าปฏิบัติธรรม ในความหมายว่าเป็นการปลีกตัวเข้าวัด หรือต้องไปในป่า และไปอยู่เงียบๆ สักระยะหนึ่ง ไปนั่งสมาธิ ไปทำกรรมฐาน ไปบำเพ็ญเพียรทางจิตใจเป็นพิเศษ ไปอยู่ในที่วิเวกห่างไกลจากผู้คน ออกจากสังคมไป จึงเรียกกันว่า “ปฏิบัติธรรม”
ถ้าเราเข้าใจกันอย่างนี้ ซึ่งเดี๋ยวนี้ก็เข้าใจกันอย่างนั้นมากแล้ว ก็แสดงว่า เดี๋ยวนี้คำว่า “ปฏิบัติธรรม” ก็เป็นคำหนึ่งที่กำลังมีความหมายเพี้ยนไป และเป็นเครื่องแสดงด้วยว่า วัฒนธรรมของไทยในปัจจุบันมีอะไรๆ ที่กำลังผันแปรไปอีก
คำว่า “ปฏิบัติธรรม” นี้คืออะไร? ปฏิบัติธรรม ก็คือการนำเอาธรรมมาใช้มาปฏิบัติ เรามาทำงาน ถ้าทำงานด้วยใจรักงานก็เรียกว่ามี “ฉันทะ” ทำงานด้วยความขยันหมั่นเพียร ก็เรียกว่ามี “วิริยะ” ทำงานด้วยความเอาใจใส่ รับผิดชอบ ก็เรียกว่ามี “จิตตะ” ทำงานด้วยการใช้ปัญญาไตร่ตรอง ใคร่ครวญ หาทางแก้ไขตรวจสอบ ทำให้งานดียิ่งขึ้น พิจารณาข้อยิ่งข้อหย่อนในการงานนั้น มีการตรวจตราวัดผลต่างๆ ก็เรียกว่ามี “วิมังสา” ถ้าทำครบ ๔ อย่างนี้ ก็เรียกว่า ทำงานด้วย “อิทธิบาท ๔”
“อิทธิบาท ๔” ก็เป็นหลักธรรมสำคัญหมวดหนึ่ง เมื่อทำงานด้วยอิทธิบาท ๔ ก็คือ การปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน หลายท่านในที่นี้ก็มีรถยนต์ เมื่อขับรถไปในท้องถนนนั้น ถ้าเราขับด้วยความมีสติ ระมัดระวัง มีความไม่ประมาท รักษากฎจราจร อยู่ในระเบียบข้อบังคับและขับด้วยความสุภาพ อย่างนี้ก็เรียกว่าปฏิบัติธรรม แน่นอนไม่มีพลาดเลย แม้แต่จะกินอาหาร ถ้ากินอย่างรู้จักประมาณ มุ่งส่งเสริมคุณภาพชีวิต ไม่ฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือย ไม่ลุ่มหลงมัวเมา ไม่ตะกละมูมมาม ก็เป็นการปฏิบัติธรรม
แต่คนปัจจุบันไม่ค่อยมองถึงการปฏิบัติธรรมในความหมายอย่างนี้ แม้แต่เพียงเรานั่งอยู่เฉยๆ เราตั้งจิตคิดนึกจะทำความดี ตั้งใจจะทำความดีต่อผู้อื่น ปรารถนาดีหวังดีต่อเขา เพียงเท่านี้ก็เป็นการปฏิบัติธรรมอยู่แล้ว แต่ปัจจุบันนี้ เราเอาคำว่าปฏิบัติธรรมไปใช้ในความหมายที่แคบลงๆ จนกระทั่งมีความหมายเฉพาะ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าพิจารณาและระมัดระวังกัน”
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ( ป. อ. ปยุตฺโต )
ที่มา : จากปาฐกถาธรรม ในวันสถาปนาคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ครบ ๓๐ ปี เมื่อ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๓๐ พิมพ์เป็นหนังสือชื่อ “ธรรมกับการศึกษาของไทย” พิมพ์ครั้งที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๓๘ บทความข้างต้นอยู่ในหัวข้อเรื่อง “ความหลงตัวเอง : ความยึดติดในวัฒนธรรมของตน” หน้า ๒๒-๒๓
0 comments: