“พระอรหันต์” ในความหมายว่า “ผู้หักวงแห่งวัฏฏะได้”
“ความหมายถัดไปที่น่าสนใจอีกความหมายหนึ่ง(ในหลายความหมาย ของคำว่า “พระอรหันต์”) ก็คือ ความหมายที่ว่า “หัก วงแห่งวัฏฏะเสียได้แล้ว”. คําว่า “วัฏฏะ” นี้ก็แปลว่า “วงกลมที่หมุนเวียนอยู่” เรียกว่า “วัฏฏะ” ของที่มันกลมแล้วมันหมุน กําลังหมุนอยู่ เรียกว่า “วัฏฏะ”. ความเชื่อแต่โบราณที่ยังไม่รู้เรื่องทางจิตใจนัก เขาก็อธิบายเป็นว่า เราเวียนว่ายตายเกิด เราเกิดมา แล้ว เราตาย แล้วเราเกิดอีก, เราเกิดมา แล้วเราตาย, แล้วเราเกิดอีก นั้นเรียกว่า “วัฏฏะ” เวียนว่ายแห่งวัฏฏะ, แต่ละวงๆกินเวลาตั้งชาติ สองชาติ สามชาติ
แต่วัฏฏะในทางจิตในทางพุทธศาสนานี้ หมายถึง “วงกลมแห่งกิเลส แห่งกรรม และ แห่งผลกรรม”. เรามีกิเลสความคิดด้วยอวิชชา ไม่รู้ตามที่เป็นจริง ก็คิดไปแบบอวิชชา ก็เป็นกิเลส. นี่เรียกว่า “กิเลส”, แล้วก็เป็นเหตุให้ทํากรรม คือ กระทํากรรมทางกาย หรือ ทางวาจา หรือ ทางจิต อย่างใดอย่างหนึ่งเป็น “กรรม” ลงไป, ครั้นทํากรรมแล้วมันก็เกิดผลแห่งกรรมนั้น เป็น “วิบาก” ขึ้นมา รับวิบากนั้นแล้วมันไม่หยุด มันมีความคิดเนื่องจากวิบากนั้นๆต่อไปอีก ซึ่งยังโง่อย่างเดิม เป็นอวิชชาอย่างเดิม มันก็มีกิเลสอีก, แล้วมันก็ทํากรรมอย่างใดอย่างหนึ่งอีก, ได้รับผลกรรมอีก, ก็มีกิเลสอีก เป็นวงๆอย่างนี้, วงหนึ่งนี้อาจจะมีกี่นาทีก็ได้ หรืออาจจะในหนึ่งนาทีก็ได้, พอมีกิเลสมันก็คิดผิด เป็นมโนกรรมที่เป็นอกุศล, พอมีมโนกรรมที่เป็นอกุศลแล้ว ขณะจิตต่อมามันก็เป็นความเดือดร้อน กระวนกระวาย เหมือนกับตกนรก. นี่จากกิเลส ไปทํากรรม แล้วรับผลกรรม นี่อาจจะเป็นเพียงหนึ่งวินาทีก็ได้ พอโง่คิดผิด ทํามโนกรรมผิด ก็ร้อนเป็นนรกขึ้นมา. นี้เรียกว่า “วนเวียน” อยู่อย่างนี้ “กิเลส กรรม วิบาก, กิเลส กรรม วิบาก” เป็นวงกลมอยู่อย่างนี้
ไม่ต้องไปดูที่อื่น ดูของตนๆด้วยกันจงทุกคน ว่าเรามีกิเลส แล้วกระทําไปตามอํานาจของกิเลส เราก็ได้รับผลของการกระทํา แล้วผลนั้นก็ช่วยให้เกิดกิเลส เพื่อจะสนองตอบต่อไปอีก, มันก็มีกรรม มีผลกรรม กิเลส กรรม ผลกรรม ฯลฯ วันหนึ่งไม่รู้ว่ากี่วง ไม่รู้ว่ากี่สิบวง หรือไม่รู้ว่าที่ร้อยวง. ไม่ต้องรอตายเข้าโลง ข้ามภพ ข้ามชาติ, วัฏฏะสงสาร น่ะ, ในวันหนึ่งเท่านั้นมีนับวงไม่ถ้วนก็ได้, ถ้ามันเป็นคนที่คิดเก่ง, หรืออยู่ในท่ามกลางสิ่งแวดล้อมที่จะทําให้ต้องคิดเก่ง, “วัฏฏสงสาร” นี้เป็นอย่างไรบ้าง น่าพอใจหรือว่าน่าเบื่อหน่าย น่าเกลียดน่าชังสักเท่าไร. ผู้ที่มีความเห็นโดยแท้จริงเท่านั้นแหละที่จะรู้สึกได้จริง เพียงแต่ได้ยินชื่อมันก็เฉยๆ, ได้ยินแต่ชื่อมันไม่รู้จัก ทั้งที่มันมีอยู่ในหัวใจของตนเอง
เอาละ, เป็นอันว่าเดี๋ยวนี้เรารู้จักความที่จิตมันเวียนอยู่ในกองทุกข์ในภายใน อย่างนี้แหละ แล้วเราจะรู้สึกอย่างไร? ถ้าว่า มีใครสักคนหนึ่งซึ่งมันไม่ต้องเป็นอย่างนั้นโดยประการทั้งปวง แล้วเราก็จะนึกชอบใจ “พระอรหันต์” จะชอบพระอรหันต์ จะบูชาพระ อรหันต์ กระทั่งว่าอยากจะมีความเป็นอรหันต์ด้วยตนเองขึ้นมา นี่คือคําว่า “พระอรหันต์” เป็นคําที่มีความหมายสูงสุดอย่างนี้ ไม่ใช่มีความหมายสําหรับเอาไว้ล้อเล่นหรือไม่สนใจ เพราะไม่รู้ว่าเป็นอะไร, พระอรหันต์ในโลกเกิดขึ้นก็ไม่มีประโยชน์อะไรแก่คนชนิดนี้, เรียกว่าเขาอยู่นอกวงของพระอรหันต์เอาเสียทีเดียว
เอาละ, เป็นอันว่าถ้าจะพูดกันโดยทางคําพูด หรือโดย “ศัพทศาสตร์”, พระอรหันต์ ก็คือ ผู้ที่ไม่มีความลับ, มีความเต็มแห่งความเป็นมนุษย์, สมควรที่จะเรียกว่า“มนุษย์โดยสมบูรณ์”, เป็นผู้ไกลจากกิเลส ในความหมายของข้าศึกก็ดี ในความหมายของเศร้าหมองก็ดี ท่านไกลจากกิเลสโดยประการทั้งปวง, ท่านเป็นผู้หักวงกลมแห่งความทุกข์ วงกลมที่หมุนเวียนเป็นความทุกข์ ที่ไม่รู้จักสิ้นสุดนั้นเสียได้, นี่เรียกว่าโดยถ้อยคําที่มีความหมาย มันมีความหมายอย่างนี้”
พุทธทาสภิกขุ
ที่มา : ธรรมบรรยายประจำวันเสาร์ แห่งภาควิสาขบูชา ครั้งที่ ๘ เมื่อวันที่ ๒๖ พฤษภาคม ๒๕๒๗ ณ ลานหินโค้ง หัวข้อเรื่อง “พระอรหันต์ในฐานะผู้ประสบความสำเร็จแห่งพุทธธรรมประยุกต์” จากหนังสือชุดธรรมโฆษณ์ เล่มชื่อว่า “พุทธธรรมประยุกต์” หน้า ๒๑๕ - ๒๑๗
0 comments: