สีลวีมํสกชาตกํ - ว่าด้วยผู้มีศีล
"สีลํ กิเรว กลฺยาณํ, สีลํ โลเก อนุตฺตรํ;
ปสฺส โฆรวิโส นาโค, สีลวาติ น หญฺญตีติ ฯ
ได้ยินว่าศีลเป็นคุณชาติงามเป็นเยี่ยมในโลก, เชิญดู, งูใหญ่มีพิษร้ายแรง เป็นสัตว์มีศีล เหตุนั้น จึงไม่เบียดเบียนใคร."
สีลวีมังสนชาดกอรรถกถา
พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหารทรงปรารภพราหมณ์ผู้ทดลองศีลหนึ่ง ตรัสพระธรรมเทศนานี้มีคำเริ่มต้นว่า สีลํ กิเรว กลฺยาณํ ดังนี้.
ดังได้สดับมา พราหมณ์นั้นอาศัยพระเจ้าโกศลเลี้ยงชีวิต เป็นผู้ถึงไตรสรณาคมน์ มีศีล ๕ ไม่ขาด ถึงฝั่งแห่งไตรเพท, พระราชาทรงพระดำริว่า พราหมณ์ผู้นี้มีศีล ดังนี้แล้ว ทรงยกย่องเขาอย่างยิ่ง, เขาคิดว่า „พระราชานี้ทรงยกย่องเรายิ่งกว่า พราหมณ์อื่น ๆ ทรงเห็นเราเหมือนผู้ควรเคารพอย่างยิ่ง พระองค์ทรงกระทำการยกย่องนี้ เพราะอาศัยชาติสมบัติ โคตรสมบัติ กุลสมบัติ ปเทสสมบัติและศิลปสมบัติของเรา หรืออย่างไร? หรือว่า ทรงอาศัยศีลสมบัติของเรา เราจักทดลองดูก่อน“ วันหนึ่งท่านไป สู่ที่เฝ้า เมื่อจะกลับบ้านได้หยิบเหรียญกษาปณ์ ๑ อันไปจากแผงของเหรัญญิกคนหนึ่ง โดยมิได้บอกกล่าวเลย.
ครั้งนั้น เหรัญญิกมิได้พูดอะไรกับท่านเพราะความเคารพในพราหมณ์คงนั่งเฉย, รุ่งขึ้นหยิบไปสองเหรียญ เหรัญญิกคงนิ่งเฉยเหมือนกัน, ในวันที่ สาม คว้าไปเต็มกำเลย ครั้งนั้น เหรัญญิกก็พูดกับท่านว่า „วันนี้เป็นวันที่สามที่ท่านฉกชิงเอาทรัพย์สินของพระราชาไป“ พลางตะโกนบอก ๓ ครั้งว่า „เราจับโจรฉกชิงทรัพย์สินของพระราชาไว้ได้แล้ว“ ครั้งนั้น มนุษย์ทั้งหลายต่างวิ่งมาคนละทิศทาง รุมพูด กะพราหมณ์ว่า „ท่านแสร้งประพฤติเหมือนผู้มีศีลมานานจนป่านนี้“ ดังนี้แล้ว ต่างก็ติเตียน สองสามที จับมัดไปแสดงแก่พระราชา.
พระราชาทรงร้อนพระทัย ตรัสว่า „ดูก่อนท่านพราหมณ์เหตุไรเล่าท่านจึงทำกรรมของผู้ทุศีลเช่นนี้“ แล้วตรัสว่า "พวกเจ้าไปเถิด จงลงพระราชอาญาแก่พราหมณ์.“ พราหมณ์กราบทูลว่า „ข้าแต่มหาราชเจ้า ข้าพระองค์มิใช่โจรดอกพระเจ้าข้า“ พระราชารับสั่งถามว่า „เมื่อเป็นเช่นนั้น เหตุไรท่านจึงหยิบเหรียญกษาปณ์ไปจากแผงแห่งพระราชทรัพย์เล่า ?“
พราหมณ์กราบทูลว่า „ขอเดชะ ที่ข้าพระองค์กระทำไป ในเมื่อพระองค์ทรงยกย่องข้าพระองค์อย่างยิ่งเช่นนี้นั้น ก็เพื่อจะทดลองว่า พระราชาทรงยกย่องเรายิ่งนัก เหตุทรงอาศัยสมบัติมีชาติเป็นต้นหรืออย่างไรหรือว่า ทรงอาศัยศีล, ก็และบัดนี้ ข้าพระองค์ทรงทราบโดยแน่นอนแล้ว เพราะที่ทรงพระกรุณาโปรดให้ลงพระราชอาญาแก่ข้าพระองค์บัดนี้ เป็นข้อเทียบได้ว่า ความยกย่องที่พระองค์ทรงทำแก่ข้าพระองค์นั้น อาศัยศีลอย่างเดียว มิได้ทรงกระทำเพราะอาศัยสมบัติมีชาติเป็นต้นเลย“
แล้วกราบทูลต่อไปว่า „ข้าพระองค์นั้นได้ตกลงใจได้ด้วยเหตุนี้ว่า ในโลกนี้ ศีลเท่านั้นสูงสุด ศีลเป็นประมุข ก็เมื่อข้าพระองค์จะกระทำให้สมควรแก่ศีลนี้ ยังดำรงตนอยู่ในเรือน บริโภคกิเลสอยู่ จักไม่อาจกระทำได้, วันนี้แหละข้าพระองค์จักไปสู่พระวิหารเชตวัน บรรพชาในสำนักพระศาสดา, ได้โปรดทรงพระกรุณาพระราชทานการบรรพชาแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด พระเจ้าข้า“ ครั้นขอพระบรมราชานุญาตได้แล้ว ก็ออกเดินมุ่งหน้าไปพระเชตวันมหาวิหาร.
ครั้งนั้น หมู่ญาติและพวกพ้องที่สนิทสนม พากันห้อมล้อม เมื่อไม่อาจทัดทานท่านได้ จึงพากันกลับไป. พราหมณ์ไปสู่สำนักของพระศาสดาทูลขอบรรพชาครั้นได้บรรพชาและอุปสมบทแล้ว ก็ไม่ทอดทิ้งพระกรรมฐานเจริญวิปัสสนา บรรลุพระอรหัตผล เข้าเฝ้าพระบรมศาสดากราบทูลพยากรณ์พระอรหัตผลว่า „ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บรรพชาของข้าพระองค์ถึงที่สุดแล้ว“
คำพยากรณ์พระอรหัตผลนั้นของท่านปรากฏในภิกษุสงฆ์แล้ว อยู่มาวันหนึ่งพวกภิกษุประชุมกันในธรรมสภา นั่งสนทนาถึงคุณของท่านว่า „ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พราหมณ์ผู้อุปัฏฐากพระราชาชื่อโน้น ทดลองศีลของตนแล้ว กราบทูลลาพระราชาบรรพชา ดำรงอยู่ในพระอรหัตผลแล้ว“
พระศาสดาเสด็จมาตรัสถามว่า „ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอประชุมสนทนากันด้วยเรื่องอะไร ?“ เมื่อภิกษุทั้งหลาย กราบทูลให้ทรงทราบแล้ว ตรัสว่า „ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้น ที่พราหมณ์ผู้นี้ ทดลองศีลของตนแล้วบวช กระทำที่พึ่งแก่ตนได้, ถึงในกาลก่อนบัณฑิตทั้งหลาย ก็เคยทดลองศีลของตนแล้วบวช การทำที่พึ่งแก่ตนมาแล้วเหมือนกัน" อันภิกษุ เหล่านั้นกราบทูลอาราธนาแล้วทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธกดังต่อไปนี้ :-
ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี พระโพธิสัตว์ได้เป็นปุโรหิตของพระเจ้าพรหมทัต พระองค์นั้น เป็นผู้มีจิตใจน้อมไปในทาน มีศีลเป็นอัธยาศัยถือศีล ๕ ไม่ขาด พระราชาทรงยกย่องท่านยิ่งกว่า พราหมณ์ที่เหลือ เรื่องทั้งหมดก็เช่นเดียวกับเรื่องแรกนั้นแหละ, แปลกแต่ว่า เมื่อพระโพธิสัตว์ถูกเขามัดนำตัวไปสู่สำนักพระราชา พวกหมองูกำลังบังคับงูให้เล่นอยู่ที่ระหว่างถนน พากันจับงูที่หาง จับที่คอเอางูพันคอ. พระโพธิสัตว์เห็นพวกนั้นแล้วกล่าวว่า „พ่อคุณทั้งหลายเจ้าอย่าจับงูนี้ที่หาง อย่าจับที่คอ อย่าเอาไปพันคอ เพราะงูนี้กัดแล้ว ก็ต้องถึงสิ้นชีวิต“ พวกหมองูกล่าวว่า "ท่านพราหมณ์งูนี้มีศีลสมบูรณ์ด้วยมารยาท มิใช่เป็นผู้ทุศีลอย่างเช่นท่าน, ส่วนท่านสิ เป็นผู้หาอาจาระมิได้ เพราะความเป็นผู้ทุศีล ถูกหาว่า เป็นโจรฉกชิงพระราชทรัพย์ กำลังถูกมัดนำตัวไป“
พราหมณ์ได้คิดว่า „แม้พวกงูที่ไม่กัดใคร ไม่เบียดเบียนใครก็ได้ชื่อว่ามีศีลได้, จะป่วยกล่าวไปใยถึงพวกที่เป็นมนุษย์ในโลกนี้ ศีลเท่านั้นที่ชื่อว่าสูงสุด สิ่งอื่นที่จะยิ่งไปกว่า ศีลนั้นไม่มี.“ ครั้นมนุษย์นำตัวไปแสดงแด่พระราชาแล้ว พระราชาตรัสถามว่า „พ่อคุณนี้เรื่องอะไรกัน ?“ พวกราชบุรุษกราบทูลว่า "ขอเดชะ โจรฉกชิงพระราชทรัพย์ พระเจ้าข้า" รับสั่งว่า "ถ้าเช่นนั้น พวกเจ้าจงกระทำตามพระราชอาญาแก่เขาเถิด“
พราหมณ์กราบทูลว่า „ข้าแต่มหาราช ข้าพระองค์มิใช่โจรดอกพระเจ้าข้า.“ เมื่อรับสั่งว่า „เมื่อเป็นเช่นนั้น ทำไมถึงได้หยิบเอาเหรียญกษาปณ์ไปเล่า ?“ จึงกราบทูลเรื่องราวทั้งมวล โดยนัยที่มีในเรื่องก่อนนั่นเอง, แล้วกราบทูลว่า „ด้วยเหตุนี้ ข้าพระองค์นั้นตกลงใจแล้วว่า ในโลกนี้ศีลเท่านั้นสูงสุด ศีลเป็นประธาน“
แล้วกราบทูลว่า „ข้อนี้ยกไว้ก่อนเถิดพระเจ้าข้า แม้แต่อสรพิษไม่กัดใคร ไม่เบียดเบียนใครยังได้ชื่อเสียงว่า มีศีลได้เลย แม้เพราะเหตุนี้ ศีลเท่านั้นสูงสุด ศีลประเสริฐ“ เมื่อจะสรรเสริญศีล กล่าวคาถานี้ว่า :- „ได้ยินว่า ศีลเป็นคุณชาติงามเป็นเยี่ยม ในโลก จงดูงูใหญ่ มีพิษร้ายแรง เป็นสัตว์มีศีล เหตุนั้น จึงไม่เบียดเบียนใคร.“
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สีลํ กิเรว ได้แก่ ศีลคือมารยาทกล่าวคือ ความไม่ล่วงละเมิดนั่นเอง. บทว่า กิร ความว่า พระโพธิสัตว์กล่าวตามที่ได้ยินมา. บทว่า กลฺยาณํ แปลว่า งาม ประเสริฐ. บทว่า อนุตฺตรํ ความว่า ยอดเยี่ยม คือให้คุณได้ทุกอย่าง. บทว่า ปสฺส ได้แก่ กล่าวมุ่งถึงเหตุเฉพาะเท่าที่ตนเห็น. บทว่า สีลวาติ น หญฺญติ ความว่า งูแม้มีพิษร้ายแรงยังได้รับการสรรเสริญว่า มีศีล ด้วยเหตุเพียงไม่กัดใคร ไม่เบียดเบียนใคร ย่อมไม่ถูกใครทำร้าย คือไม่ถูกใครฆ่า แม้ด้วยเหตุดังกล่าวมานี้ ศีลนั่นแล จึงชื่อว่าสูงสุด.
พระโพธิสัตว์แสดงธรรมถวายพระราชา ด้วยคาถานี้ด้วยประการฉะนี้ ละกามทั้งหลาย บวชเป็นฤาษี เข้าป่าหิมพานต์ทำอภิญญา ๕ สมาบัติ ๘ ให้เกิดแล้วได้มีพรหมโลกเป็นที่ไปในเบื้องหน้า. พระศาสดา ทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้วทรงประชุมชาดกว่า พระราชาในครั้งนั้นได้มาเป็นอานนท์ บริษัทได้มาเป็นพุทธบริษัท ส่วนปุโรหิตได้มาเป็นเราตถาคต ฉะนี้แล.
ที่มา : Palipage : Guide to Language - Pali
0 comments: