วันเสาร์ที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2564

กึปกฺกชาตกํ - ว่าด้วยโทษของกาม

กึปกฺกชาตกํ - ว่าด้วยโทษของกาม

"อายตึ โทสํ นาญฺญาย,    โย กาเม ปฏิเสวติ;

วิปากนฺเต หนนฺติ นํ,      กึปกฺกมิว ภกฺขิตนฺติ ฯ

ผู้ใดไม่รู้โทษในอนาคต มัวเสพกามอยู่, กามเหล่านั้นจะต้องล้างผลาญผู้นั้นในเวลาให้ผล เหมือนผลแห่งต้นกิมปักกพฤกษ์ ทำให้คนผู้ที่บริโภคตายฉะนั้น."

กิมปักกชาดกอรรถกถา

พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหารทรงปรารภภิกษุผู้กระพันแล้วรูปหนึ่ง ตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า อายตึ โทสํ นาญฺญาย ดังนี้. 

ได้ยินว่า กุลบุตรผู้หนึ่ง บวชถวายชีวิตในพระพุทธศาสนาวันหนึ่งเที่ยวบิณฑบาตในพระนครสาวัตถี เห็นหญิงนางหนึ่งแต่งกายหมดจดงดงาม เกิดกระสัน ครั้งนั้น อาจารย์แลอุปัชฌาย์พาเธอมายังสำนักของพระบรมคาสดา. 

พระบรมศาสดาตรัสถามว่า „ดูก่อนภิกษุ จริงหรือที่ว่า เธอกระสัน“ เมื่อเธอกราบทูลว่า „จริง พระเจ้าข้า“ ตรัสว่า „ดูก่อนภิกษุ ขึ้นชื่อว่าเบ็ญจกามคุณเหล่านี้น่ารื่นรมย์ในเวลาบริโภค, ขึ้นชื่อว่าการบริโภคเบ็ญจกามคุณเหล่านั้นย่อมเปรียบได้กับการบริโภค ผลกิมปักกะ (ผลไม้มีพิษ ชนิดหนึ่ง ลูกเท่าผลมะม่วง) เพราะเป็นตัวให้เกิดปฏิสนธิในนรกเป็นต้น ที่ได้ชื่อว่าผลกิมปักกะ สมบูรณ์ด้วยสี กลิ่นและรสแต่กินเข้าไปแล้ว กัดไส้ ทำไห้ถึงสิ้นชีวิต, ในครั้งก่อนคนเป็นอันมาก ไม่เห็นโทษของมัน ติดใจในสี กลิ่นและรส ต่างบริโภคผลนั้น พากันถึงสิ้นชีวิต“ อันภิกษุทั้งหลายเหล่านั้นกราบทูลอาราธนาทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้ :- 

ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติ อยู่ในกรุงพาราณสี พระโพธิสัตว์เป็นนายกองเกวียน คุมกองเกวียน ๕๐๐ เล่ม เดินทางไปสู่ชายแดนไกล ๆ ถึงปากดง เรียกประชุมคนทั้งหลายตักเตือนว่า „ในดงนี้มีต้นไม้ที่ชื่อต้นไม้มีพิษ ไม่ถามเราก่อนแล้ว อย่ากินผลาผลที่ไม่เคยกินมาก่อนเป็นอันขาด“ 

ฝูงชนเดินทางล่วงเข้าสู่ดงได้เห็นต้นกิมปักกะ (ต้นไม้มีผลเป็นพิษชนิดหนึ่ง ลูกเท่าผลมะม่วง) ต้นหนึ่ง มีกิ่งโน้มลงเพราะหนักผลลำต้น กิ่งและใบของมัน คล้ายกับต้นมะม่วง ทั้งสัณฐาน สีกลิ่นและรส.  บรรดาชนเหล่านั้น บางพวกติดใจในสัณฐานสีกลิ่นและรส พากันกินผลไม้ ด้วยสำคัญว่า ผลมะม่วง, บางพวกก็ว่า ต้องถามนายกองเกวียนก่อนแล้วจึงจักกิน ถือยืนรออยู่. 

ครั้นพระโพธิสัตว์มาถึงที่นั้น ก็ร้องบอกพวกที่ถือยืนรอนั้นให้ทิ้งผลไม้เสีย บอกให้พวกที่พากันกินเข้าไปแล้วทำการสำรอกแล้วให้ยาพวกนั้นกิน พวกเหล่านั้นบางคนก็หาย, แต่พวกที่กินเข้าไปก่อนพวกทีเดียว พากันสิ้นชีวิต.  ฝ่ายพระโพธิสัตว์ เดินทาง ถึงสถานที่ต้องการจะไปโดยสวัสดีได้ลาภแล้วกลับมาถึงสถานที่ของตนดังเดิม กระทำบุญมีให้ทานเป็นต้นแล้วไปตามยถากรรม.  พระศาสดาตรัสเรื่องนั้นแล้ว ตรัสพระคาถานี้ว่า :- „ผู้ใดไม่รู้โทษในอนาคต มัวเสพกามอยู่ ผลที่สุดกามเหล่านั้นก็จะกำจัดบุคคลนั้นเสีย เหมือนผลกิมปักกะ กำจัดผู้กินให้ถึงตายฉะนั้น.“

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อายตึ โทสํ นาญฺญาย ความว่า ไม่รู้คือไม่ทราบถึงโทษในกาลภายหน้า.  บทว่า โย กาเม ปฏิเสวติ ความว่า บุคคลใดส้องเสพวัตถุกามและกิเลสกาม.  บทว่า วิปากนฺเต หนนฺตี นํ ความว่า กามเหล่านั้นจะยังบุรุษนั้น ผู้เกิดแล้วในนรกเป็นต้น ในที่สุด, กล่าวคือวิบากของตนให้พัวพันอยู่ด้วยทุกข์มีปราการต่าง ๆชื่อว่าย่อมกำจัดเขาเสีย. กำจัดอย่างไร ? อย่างเดียวกับผลกิมปักกะ ที่บุคคลบริโภคแล้วฉะนั้นอธิบายว่า อุปมาเหมือนผลกิมปักกะ น่าชอบใจ เพราะถึงพร้อมด้วยสี กลิ่นและรสในเวลาบริโภค ทำให้คนที่ไม่เห็นโทษในอนาคต กินแล้วถึงความสิ้นชีวิตไปตาม ๆ กัน ฉันใด กามทั้งหลายแม้จะน่าชอบใจในเวลาบริโภค ก็จะกำจัดเขาเสียในเวลาให้ผลฉันนั้น. 

พระบรมศาสดาทรงแสดงธรรมตามอนุสนธิแล้วทรงประกาศสัจธรรม ภิกษุผู้กระสัน บรรลุโสดาปัตติผล บริษัทที่เหลือ บางพวกเป็นพระโสดาบัน บางพวกเป็นพระสกทาคามีบางพวกเป็นพระอนาคามีบางพวกได้เป็นพระอรหันต์.  พระศาสดา ทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้วทรงประชุมชาดกว่า บริษัทในครั้งนั้นได้มาเป็นพุทธบริษัท ส่วนนายกองเกวียนได้มาเป็นเราตถาคต ฉะนี้แล.

ที่มา : Palipage : Guide to Language - Pali


Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: