“เป็นอยู่ด้วยจิตว่าง” เป็นธรรมะสูงสุด
คอยระวังความคิดนึกอย่าให้ปรุงเป็น“ตัวกู”ขึ้นมา
..“ ตายเสร็จสิ้นแล้วในตัวแต่หัวที ป้องกันอะไรได้หมด, ไม่มีความหมายที่จะทําให้เป็นทุกข์ นี้ก็เป็นพระธรรมสูงสุด, ใช้คําว่า พระธรรม หรือ พระธรรมเจ้าสูงสุด คือการเป็นอยู่ด้วยจิตว่าง ทํางานด้วยจิตว่าง ตายแล้วแต่หัวที นี่ก็สูงสุดฝ่ายธรรมะที่จะไม่ให้เกิดความทุกข์ ฉะนั้น เราสนใจเท่านี้ก็พอ เท่ากับว่าเราสนใจเม็ดทรายเม็ดหนึ่ง ในบรรดาเม็ดทรายหมดทั้งโลก เพราะจุดที่จําเป็นที่มนุษย์ควรจะถึงจะได้นี้มันมีอยู่เท่านี้ เช่นเดียวกับพระพุทธเจ้าว่าใบไม้กํามือเดียว จากใบไม้หมดทั้งป่าก็เหมือนกัน
..ฉะนั้น คําว่า “ธรรม” มันเท่ากับเม็ดทรายจํานวนหมดทั้งโลก, แล้วพระธรรมเจ้าที่จําเป็นแก่เรามันคือเม็ดทรายเม็ดเดียว : “เป็นอยู่โดยไม่มีตัวกู”. เรื่องเถรวาท เรื่องมหายาน มันเรื่องเพ้อเจ้อ มีปัญหาทางปรัชญาอย่างนั้น อย่างนี้ อย่างโน้น ไม่มีที่สิ้นสุด มันเป็นเรื่องเพ้อเจ้อ, ฉะนั้น เลิกมหายาน เลิกเถรวาทออกไป, เหลือแต่ว่า “คอยระวังความคิดนึก อย่าให้ปรุงเป็นตัวกูขึ้นมา” และในที่สุดหลักอันนี้แหละ มันใช้ได้ทั้งมหายาน ใช้ได้ทั้งเถรวาท, และหลักอันนี้แหละ ใช้ได้ทั้งคริสเตียน ทั้งพุทธ ทั้งอิสลาม ทั้งเหลาจื๊อ ทั้งขงจื้อ ใช้ได้หมด. ระวังจิตใจ อย่าให้ปรุงเป็นความหมายมั่นเป็น “ตัวกู - ของกู” ขึ้นมาเท่านี้ แล้วจะไม่ให้เรียกว่าเท่ากับเม็ดทรายเม็ดเดียวในบรรดาเม็ดทรายหมดทั้งโลกอย่างไร.
..เดี๋ยวนี้มันก็บ้าเอง ไปเรียนเถรวาทเสียสัก ๕๐ ปี, ไปเรียนมหายานอีก ๑๐๐ ปี ตายก่อนเลยไม่ต้องรู้ ผมหมายความว่าเรียนเถรวาท ๕๐ ปี ก็ยังไม่จบ, เรียนมหายานอีก ๑๐๐ ปี ก็ไม่จบ เพราะแขนงมันมากกว่า แล้วมันก็ไม่ต้องปฏิบัติว่าอย่าเกิดตัวกู ของกู มันก็ตายเปล่า.
..ฉะนั้น อย่ามีเถรวาท อย่ามีมหายาน, นิวเคลียสมีอยู่อันเดียว ตรงกันหมดทุกศาสนา ทุกๆนิกาย อยู่ที่ว่า “อย่าเกิดตัวกู-ของกู ขึ้นมาในจิต” มันไม่มีปัญหาดอก, ที่ว่าเราจะไม่รู้ธรรมะ ไม่มี, ไม่มีปัญหา มันง่ายเหลือจะง่าย. แต่เราไม่ต้องการสิ่งนี้ เราไปต้องการของเหลือเฟือที่เป็น Over Surplus อะไรนั้นไม่มีที่สิ้นสุด,
ที่จําเป็นแท้ๆ และปฏิบัติได้ด้วยนี้ไม่สนใจ : ทําวิปัสสนาทํากัมมัฏฐานกันเป็นการใหญ่ ก็ไม่รู้ว่าไปไหน, ยิ่งทํายิ่งโง่ ยิ่งทํายิ่งเห็นแก่ตัว เพราะมันทําไปเพื่อสร้างความดีความเด่นให้แก่ตัวจะไปข่มผู้อื่น นี้ก็เรียกว่า “ปฏิบัติธรรมไม่สมควรแก่ธรรม” แล้วมันต้องได้รับผลเป็นความทุกข์ หรือความล้มเหลวละลายไปในที่สุด
..ฉะนั้น ถ้ามีอะไรที่มันจะช่วยทําลายความเห็นแก่ตัว หรือว่ากันไม่ให้เกิดความรู้สึกเป็น “ตัวกู-ของกู” ยกหูซูหางขึ้นมา นั่นถูก, ทําได้ทุกอย่างไม่จําเป็นจะต้องเหมือนกันทุกคน แต่ใจความมันเหมือนกันทุกคน คือ ไม่เกิด“ตัวกู-ของกู”ขึ้นมาได้ ฉะนั้นคุณจะทําอะไรก็ได้ ถ้าวิธีนั้นมันเหมาะกับคนนั้น, มันอาจจะไปแก้ผ้ากลางถนน เป็นพวกชีเปลือยก็ได้ ถ้ามันมีผลทําให้มันหมดตัวกู-ของกูได้. ข้อปฏิบัติส่วนนี้ไม่ต้องเหมือนกัน แต่ผลต้องเหมือนกัน คือ ทําลายความเห็นแก่ตัว ยกตัว อะไรตัว เห็นแก่ตัวนี้, ทําลายตัวกู-ของกูได้ มันก็เข้าถึงธรรมที่เป็นหัวใจของคําว่า“ธรรม”ในทุกความหมาย”
พุทฺธทาสภิกฺขุ
ที่มา : โอวาทธรรมชุดธรรมปาฏิโมกข์ หัวข้อเรื่อง “ธรรม เพียงคำเดียว” เมื่อวันที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๑๒ จากหนังสือชุดธรรมโฆษณ์ เล่มชื่อว่า “ธรรมปาฏิโมกข์ เล่ม ๒” หน้า ๒๖๖-๒๖๗
0 comments: