วันพุธที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2564

“ตายก่อนตาย” ดับ “ตัวกู ของกู”เสียได้ เหลืออยู่แต่ธรรมชาติที่บริสุทธิ์ ที่ไม่รู้จักตาย

“ตายก่อนตาย” ดับ “ตัวกู ของกู”เสียได้ เหลืออยู่แต่ธรรมชาติที่บริสุทธิ์ ที่ไม่รู้จักตาย

“คําว่า ตาย ในที่นี้หมายถึงตายอีกชนิดหนึ่ง คือตายโดยที่ร่างกายไม่ต้องตาย ชีวิตยังไม่แตกดับ แต่ก็ตาย : หมายถึงตายอีกชนิดหนึ่ง คือตายโดยที่ร่างกายไม่ต้องตาย ชีวิตยังไม่แตกดับ แต่ก็ตาย หมายถึง “ตัวกู ของกู” ตายหมด

ในคําโบราณที่พูดไว้ว่า “นิพพานนั้นคือตายเสียก่อนตาย หรือ ตายเสียก่อนแต่ร่างกายตาย” นี้อะไรตาย? ก็คือ กิเลสที่เป็นเหตุให้รู้สึกว่ามี “ตัวกู ของกู” นั่นแหละตาย กิเลสนี้ต้องตายเสร็จก่อนร่างกายตาย จึงจะเรียกว่า “นิพพาน” นี้เป็นสิ่งที่ควรจดจําไว้ด้วยว่า “ดีอยู่ที่ละ พระอยู่ที่จริง นิพพานอยู่ที่ตายเสียก่อนตาย” เพียงเท่านี้ก็จะทําให้เห็นว่ามีการพูดที่สับสน คราวหนึ่งคนหนึ่งสอนว่า ให้ตายเสียก่อนตาย คราวหนึ่งนี้มีผู้ที่สอนว่า จงทําไม่ให้รู้จักตาย ที่แท้มันเป็นคําพูดที่ถูกด้วยกันทั้งนั้น เพราะมีความหมายมุ่งไปอย่างหนึ่งๆ รวมความแล้วคือ “ดับ ตัวกู ของกู เสียได้” ไม่มีความยึดมั่น ตัวกู ของกู เหลืออยู่นั่นแหละคือใจความของการปฏิบัติ ดับตัวกูเสียได้คือตาย ฆ่าตัวกู ทําลายตัวกู ให้หมดเสีย อย่างนี้เรียกว่าทําให้มันตายไปเสีย

ทีนี้ ไม่ตาย ก็หมายความว่า “ตัวกู ของกู” ไม่มีแล้ว ก็เหลืออยู่แต่ธรรมะที่บริสุทธิ์ ธรรมชาติที่บริสุทธิ์ที่ไม่รู้จักตาย คือ นิพพาน คือธรรมชาติที่ไม่รู้จักตาย เข้าใจเสียให้ดีจะได้ไม่มีอะไรกีดขวางกัน พูดว่าจงตายเสียให้เสร็จสิ้นในตัวเสียแต่ทีแรก ก็หมายความว่า อย่ามีความรู้สึกว่า “ตัวกู ของกู” มาเสียแต่ทีแรกให้ตลอดเวลาไปเลย นี้เรียกว่า “ตัวกู ของกู” มันตาย ไม่มีส่วนเหลือตั้งแต่ที่แรกหรือตลอดเวลา

ถ้า “ตัวกู ของกู” มันตายเสียแล้วตั้งแต่ที่แรก ก็เหลืออยู่แต่ธรรมชาติที่บริสุทธิ์ ปรากฏออกมาแก่ความรู้สึกเป็นธรรมชาติที่ไม่รู้จักตาย เพราะมันไม่มี ตัวกู ของกู มันจึงไม่รู้จักเกิด ไม่รู้จักแก่ ไม่รู้จักเจ็บ ไม่รู้จักตาย เพราะว่า ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย อะไรเหล่านี้มันอยู่ที่ ตัวกู ของกู ทั้งนั้น จริงอยู่ที่สังขารที่เข้าไปยึดมั่นถือมั่นว่าตัวกู และตัวกูเกิด แก่ เจ็บ ตาย ทีนี้ถ้าเราไม่ยึดถือว่าสังขาร ว่าเป็นตัวกู ของกู มันก็เป็นการเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติ ไม่เรียกว่าเกิด แก่ เจ็บ ตาย เพราะว่าเอาความหมายคําว่า “ตัวกู ของกู” ออกไปเสีย ไม่มีเหลืออยู่ ความเกิด แก่ เจ็บ ตาย ก็สูญเสียความหมายไปด้วย เรียกว่า ไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย นี่มันผลัดกันพูดคนละทีหรือคนละแนวอย่างนี้

ระวังอย่าให้สับสนสําหรับคําพูดเพียงคําเดียวว่า “ตาย” กับคําว่า “ไม่ตาย”

พุทธทาสภิกขุ

ที่มา : ธรรมบรรยายหัวข้อเรื่อง ตายเสร็จสิ้นแล้วในตัวแต่หัวที เมื่อวันที่ ๒๘ สิงหาคม ๒๕๑๒ จากหนังสือ ตายก่อนตาย หน้า ๔๑-๔๓

ไขปริศนาธรรม “ตายเสียก่อนตาย”

“การปฏิบัติธรรมทั้งหลายเรียกว่า “อุบาย” ทั้งนั้น อย่างง่าย อย่างยาก อย่างไหน ก็ต้องเรียกว่าอุบายทั้งนั้น อุบายเป็นวิธีที่จะเข้าถึงสิ่งใดสิ่งหนึ่งในลักษณะที่ไม่ยากลำบากเกินไป แล้วก็สำเร็จตามความประสงค์ ดังนั้นคำว่า “อุบาย” ในภาษาธรรมะแท้ๆ ก็จะต้องตรงกับคำว่า “เทคนิค” เป็นต้น แห่งสมัยนี้.   เรามีเทคนิคก็เพื่อให้ทำได้ง่าย ทำได้สำเร็จ แล้วก็ทำได้โดยที่เป็นที่น่าพอใจ ไม่หมดเปลือง ไม่ลงทุนมาก อะไรทำนองนี้ จะเรียกว่า “อุบาย” ก็ได้ เรียก “เคล็ด” ก็ได้.  คุณตา คุณยายทั้งหลาย ที่ไม่รู้หนังสือ ก็จำเป็นต้องใช้วิธีที่เรียกว่า “เคล็ด” หรือ “อุบาย” โดยเฉพาะ นี่คือ “ปรมัตถปฏิปทา” ของคุณตาคุณยาย หรือคนทำนองนี้ โดยที่ไม่ต้องเกี่ยวกับปริยัติเลย เหมาะสำหรับคนที่ไม่อาจจะเรียนปริยัติโดยเฉพาะ นี่อย่างหนึ่ง....

ตายเสียก่อนตายเข้าโลง นั้น คือตายอย่างไร? ก็คงจะคิดต่อไปถึงว่า..ต้องทำอะไรอย่างหนึ่งซึ่งมีความหมายเหมือนกับคนตายแล้ว แต่ว่าร่างกายไม่ต้องตาย และยังจะไม่มีความทุกข์อะไรด้วย และเมื่อ “ตัวเรา” ไม่มีแล้ว ส่วนที่เหลืออยู่มันก็ต้องทำประโยชน์แก่ผู้อื่นเท่านั้น นี่แหละ ! “ตายเสียก่อนตาย”....

ในเมื่อเรายังมี ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ที่รู้สึกอะไรได้อยู่ ก็เลยเปรียบเทียบไปในแง่ที่ว่า คนที่มีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ รับสัมผัสอะไรมา แล้วก็เอามาคิดนึกเป็นเรื่องกิเลส ตัณหา เป็น “ตัวกู ของกู” นี้ นี่คือมันเกิดอยู่ทุกครั้งที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ได้รับสัมผัสอะไร มันจึงได้โง่ไป ฉะนั้น ถ้าอย่าให้ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี้มันโง่ไป ก็จะไม่เกิดเป็นกิเลส ตัณหา เป็น “ตัวกู-ของกู” สำหรับจะมีความทุกข์ นี้ก็พอจะเรียกได้ว่าเป็นการ “ตายเสียก่อนตาย” พอได้เค้าเงื่อนอย่างนี้แล้ว ก็พยายามรักษาไว้ให้ชัดเจนมากขึ้น ก้าวหน้ามากขึ้น.   การอยู่ด้วยปริศนาเพียงว่า “ตายเสียก่อนตาย” นี้คือไม่ต้องเรียนปริยัติ ไม่ต้องลำบากในเรื่องการพูดจา ไต่ถาม หรือว่าอะไรให้มันมากมาย....

ขอสารภาพที่นี่ เดี๋ยวนี้ ว่าอาตมาเองก็ได้รับเกียรติ รับสมญาว่าเป็น “นักปริยัติ” แต่แล้วก็โง่ไม่ได้รับประโยชน์ที่น่าพอใจจากปริยัติเหล่านั้น แต่ได้รับประโยชน์จากปริศนาที่ว่า “ตายเสียก่อนตาย” นี่แหละมากกว่า ฉะนั้น ข้อที่ว่า ปริศนาของยายแก่ มีประโยชน์กับนักปริยัติที่มีความรู้ท่วมหัวเอาตัวไม่รอดนั้น ก็ได้แก่ข้อนี้เอง.   ขอให้จำไว้อย่างนี้ว่า “ตายเสียก่อนตาย” สองสามพยางค์เท่านั้น จะเป็น “ปรมัตถปฏิปทา” ที่ไม่เนื่องกันกับปริยัติแต่ประการใด เพราะต้องเอาความรู้ในใจล้วนๆ มาเป็นคำตอบ”

พุทธทาสภิกขุ

ที่มา : ธรรมบรรยายหัวข้อเรื่อง “ปรมัตถปฏิปทาที่ไม่เกี่ยวกับปริยัติ” เมื่อวันที่ ๖ สิงหาคม ๒๕๑๕ จากหนังสือชุดธรรมโฆษณ์ เล่ม “ปฏิปทาปริทรรศน์” 

ท. ส. ปัญญาวุฑโฒ - รวบรวม



Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: