คนสำคัญที่สังคมลืมสร้าง
เรามักจะเข้าใจกันว่า สังคมต้องการคนเก่ง คนมีสติปัญญาปราดเปรื่อง รอบรู้ในสรรพวิทยาการแขนงต่างๆ สามารถประดิษฐ์คิดค้นสิ่งต่างๆ หรือคิดหาวิธีการต่างๆ ในการพัฒนาบ้านเมืองได้อย่างล้ำเลิศ สามารถบริหารจัดการกิจการได้อย่างเชี่ยวชาญช่ำชอง แล้วเราก็ลงทุนแสวงหาหรือตั้งหน้าตั้งตาสร้างคนชนิดเช่นนั้นขึ้นมาเป็นการใหญ่
สรุปว่า เราเชื่อว่าจะพัฒนาบ้านเมืองไปได้ต้องใช้คนเก่งคนมีความสามารถ การศึกษาของเราจึงมุ่งสร้างคนเก่งคนมีความสามารถ แต่ข้อเท็จจริงที่เราเห็นกันอยู่ตำตาก็คือ เราต้องใช้งบประมาณไปเป็นอันมากเพื่อการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นจากคนที่สร้างปัญหาด้านต่างๆ ให้สังคม. ถ้าเทียบให้เห็นภาพ ก็เหมือนเรามีกำลังในการรุดเดินหน้าอยู่ ๑๐๐ เต็ม แต่แล้วก็ต้องแบ่งกำลังไปแก้ปัญหาเสีย ๕๐ เหลือกำลังเดินหน้าแค่ ๕๐ แทนที่จะเดินหน้าได้เต็ม ๑๐๐
เราลดคนที่สร้างปัญหาลงได้มากเท่าไร ก็จะมีกำลังเพื่อเดินรุดหน้าได้มากขึ้นเท่านั้น หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง ถ้าเราสร้างคนที่ไม่สร้างปัญหาให้สังคมได้มากขึ้นเท่าไร ก็จะลดภาระในการแก้ปัญหาได้มากขึ้นเท่านั้น ซึ่งก็เท่ากับมีกำลังเพื่อเดินรุดหน้าได้มากขึ้นเท่านั้นนั่นเอง แต่น่าประหลาดที่เราให้ความสำคัญน้อยที่สุดแก่การสร้างคนที่ไม่สร้างปัญหาให้สังคม นั่นคือเรามองข้ามความสำคัญของการสร้างคนที่ไม่สร้างปัญหาให้สังคมแทบจะโดยสิ้นเชิง
พระพุทธศาสนาเป็นกลไกหรือเครื่องมือที่สำคัญอย่างยิ่งในการสร้างคนที่ไม่สร้างปัญหาให้สังคม
จุดที่อาจพิจารณาเป็นข้อพิสูจน์ให้เห็นได้ง่ายที่สุดก็คือความจริงที่ว่า-คนที่ได้รับการอบรมสั่งสอนไปจากวัดเป็นกลุ่มคนที่ทำชั่วได้ยากกว่าคนทั่วไป ไม่ได้แปลว่าคนที่ได้รับการอบรมสั่งสอนไปจากวัดทำชั่วไม่เป็น ทำเป็นทำได้ แต่ทำได้ยาก ดังนั้น จึงเป็นกลุ่มที่ก่อปัญหาให้แก่สังคมน้อยที่สุด เป็นกลุ่มที่สังคมแทบจะไม่ต้องเสียพลังเพื่อเอามาแก้ปัญหาใดๆ เลย
แต่เป็นกลุ่มคนที่รัฐแทบจะไม่ได้ให้ความสำคัญใดๆ เลย กล่าวได้ว่า ไม่ได้อยู่ในแผนการสร้าง ส่งเสริม หรือสนับสนุนใดๆ ทั้งสิ้น ซึ่งต่างจากคนเก่งและคนมีความสามารถที่บ้านเมืองเราลงทุนในการสร้าง การส่งเสริม และการสนับสนุนในด้านต่างๆ เป็นมูลค่ามหาศาล
แน่นอน ที่ว่า “คนที่ได้รับการอบรมสั่งสอนไปจากวัดเป็นกลุ่มคนที่ก่อปัญหาให้แก่สังคมน้อยที่สุด” คำกล่าวนี้ย่อมท้าทายต่อการแย้งค้าน นั่นแหละที่เราควรจะหยิบยกขึ้นมา “ถก” กันว่าจริงหรือไม่จริง
ญาติมิตรท่านใดจะรับลูกประเด็นนี้ และเอาไปต่อยอดความคิด - เรียนเชิญด้วยความเคารพครับ
นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย
๑ มิถุนายน ๒๕๖๔
๑๔:๕๖
ที่มา : ทองย้อย แสงสินชัย
0 comments: