มงฺคลชาตกํ - ว่าด้วยถือมงคลตื่นข่าว
"ยสฺส มงฺคลา สมูหตาเส, อุปฺปาตา สุปินา จ ลกฺขณา จ;
โส มงฺคลโทสวีติวตฺโต, ยุคโยคาธิคโต น ชาตุเมตีติ ฯ
ผู้ใดไม่ถือมงคลตื่นข่าว ไม่ถืออุกกาบาต ไม่ถือความฝัน ไม่ถือลักษณะดีหรือชั่ว, ผู้นั้นชื่อว่าล่วงพ้นโทษแห่งการถือมงคลตื่นข่าว ครอบงำกิเลสคือยุคธรรมและธรรมเครื่องประกอบสัตว์ไว้ในภพ ย่อมไม่กลับมาเกิดอีก."
มังคลชาดกอรรถกถา
พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระเวฬุวันมหาวิหารทรงปรารภพราหมณ์ผู้รู้จักลักษณะผ้าสาฎกผู้หนึ่ง ตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า ยสฺส มงฺคลา สมูหตา ดังนี้.
ได้ยินว่า พราหมณ์ชาวพระนครราชคฤห์ผู้หนึ่ง เป็นผู้ถือมงคลตื่นข่าว ไม่เลื่อมใสในพระรัตนตรัย เป็นมิจฉาทิฏฐิมั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก. หนูกัดคู่แห่งผ้าสาฎกที่เขาเก็บไว้ในหีบ ครั้นถึงเวลาที่เขาสนานเกล้ากล่าวว่า „จงนำผ้าสาฎกมา“ คนทั้งหลายจึงบอกการที่หนูกัดผ้าแก่เขา เขาคิดว่า „ด้วยผ้าสาฎกทั้งคู่ที่หนูกัดนี้ จักคงมีในเรือนนี้ละก็ความพินาศ อย่างใหญ่หลวงจักมีเพราะผ้าคู่นี้เป็นอวมงคล เช่นกับตัวกาฬกรรณี ทั้งไม่อาจให้แก่บุตรธิดา หรือทาสกรรมกร เพราะความพินาศอย่างใหญ่หลวงจักต้องมีแก่ผู้ที่รับผ้านี้ไปทุกคน, ต้องให้ทิ้งมันเสียที่ป่าช้าผีดิบ แต่ไม่กล้าให้ในมือพวกทาสเป็นต้นเพราะพวกนั้นน่าจะเกิดโลภในผ้าคู่นี้ ถือเอาไปแล้วถึงความพินาศไปตาม ๆ กันได้ เราจักให้ลูกถือผ้าคู่นั้นไป“ เขาเรียกบุตรมาบอกเรื่องราวนั้นแล้ว ใช้ไปด้วยคำว่า "พ่อคุณ ถึงตัวเจ้าเองก็ต้องไม่เอามือจับมัน จงเอาท่อนไม้คอนไปทิ้งเสียที่ป่าช้าผีดิบอาบน้ำดำเกล้าแล้วมาเถิด.“
แม้พระบรมศาสดาเล่า ในวันนั้น เวลาใกล้รุ่งทรงตรวจพวกเวไนยสัตว์ เห็นอุปนิสัยแห่งโสดาปัตติผลของพ่อลูกคู่นี้ก็เสด็จไปเหมือนพรานเนื้อตามรอยเนื้อฉะนั้นได้ประทับยืน ณประตูป่าช้าผีดิบทรงเปล่งพระพุทธรังษี ๖ ประการอยู่. แม้มาณพรับคำบิดาแล้ว คอนผ้าคู่นั้นด้วยปลายไม้เท้า เหมือนคอนงูเขียว เดินไปถึงประตูป่าช้าผีดิบ. ลำดับนั้น พระศาสดารับสั่งกะเขาว่า „มาณพ เจ้าทำอะไร ?“ มาณพกราบทูลว่า „ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ผ้าคู่นี้ถูกหนูกัด เป็นเช่นเดียวกับตัวกาฬกรรณี, เปรียบด้วยยาพิษที่ร้ายแรง บิดาของข้าพระองค์เกรงว่า เมื่อผู้ทิ้งมันเป็นคนอื่น น่าจะเกิดความโลภขึ้นถือเอาเสีย จึงใช้ข้าพระองค์ ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญข้าพเจ้าเองก็มาด้วยหวังว่า จักทิ้งมันเสีย.“
พระศาสดาตรัสว่า „ถ้าเช่นนั้น ก็จงทิ้งเถิด." มาณพ จึงทิ้งเสีย พระศาสดาตรัสว่า „คราวนี้ ผ้านี้สมควรแก่เราตถาคตดังนี้“ แล้วทรงถือเอาต่อหน้ามาณพนั้นทีเดียว ทั้ง ๆ ที่มาณพนั้นห้ามอยู่ว่า „ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ นั่นเป็นอวมงคลเหมือนตัวกาฬกรรณี อย่าจับ อย่าจับเลย“ พระศาสดาก็ทรงถือเอาผ้าคู่นั้นเสด็จผันพระพักตร์มุ่งหน้าตรงไปพระเวฬุวัน. มาณพรีบไปบอกแก่พราหมณ์ผู้บิดาว่า „คุณพ่อครับ คู่ผ้าสาฎกที่ผมเอาไปทิ้งที่ป่าช้าผีดิบนั้น, พระสมณโคดมตรัสว่า „ควรแก่เรา“, ทั้ง ๆ ที่ผมห้ามปราม ก็ทรงถือเอาแล้วเสด็จไปสู่พระเวฬุวัน.“
พราหมณ์คิว่า „ผ้าคู่นั้น เป็นอวมงคล เป็นเช่นกันตัวกาฬกัณณี, ถึงพระสมณโคดมทรงใช้สอยมัน ก็ต้องย่อยยับ, แม้พระวิหารก็จักพินาศ, ทีนั้นพวกเราจักต้องถูกครหา, เราต้องถวายผ้าสาฎกอื่น ๆ มากผืนแด่พระสมณโคดม, ให้พระองค์ทรงทิ้งผ้านั้นเสีย“ เขาให้คนถือผ้าสาฎกหลายผืน ไปสู่พระวิหารเวฬุวันกับบุตร ถวายบังคมพระศาสดาแล้วยืนอยู่ ณ ส่วนข้างหนึ่ง กราบทูลอย่างนี้ว่า „ข้าแต่พระสมณโคดม ได้ยินว่า พระองค์ทรงถือเอาคู่ผ้าสาฎกในป่าช้าผีดิบ จริงหรือพระเจ้าข้า ?“ ตรัสว่า „จริง พราหมณ์“ กราบทูลว่า „ข้าแต่พระสมณโคดม คู่ผ้าสาฎกนั้นเป็นอวมงคล เมื่อพระองค์ทรงใช้สอยมันจะต้องย่อยยับ ถึงพระวิหารทั้งสิ้นก็จักต้องทำลาย ถ้าผ้านุ่ง ผ้าห่มของพระองค์มีไม่พอ พระองค์โปรดรับผ้าสาฎกเหล่านี้ไว้ ทิ้งคู่ผ้าสาฎกนั้นเสียเถิด.“
ครั้งนั้น พระศาสดาตรัสกะเขาว่า „พราหมณ์ พวกเรามีนามว่าบรรพชิต ผ้าเก่า ๆ ที่เขาทิ้ง หรือตกอยู่ในที่เช่นนั้น คือ ที่ป่าช้าผีดิบ ที่ท้องถนน ที่กองขยะ ที่ท่าอาบน้ำ ที่หนทางหลวง ย้อมควรแก่พวกเรา, ส่วนท่านเองมิใช่แต่จะเพิ่งเป็นคนมีลัทธิอย่างนี้ในบัดนี้เท่านั้น, แม้ในครั้งก่อน ก็เคยมีลัทธิอย่างนี้เหมือนกัน“ เขากราบทูลอาราธนาทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้ :-
ในอดีตกาล พระเจ้ามคธราช ผู้ทรงธรรม เสวยราชสมบัติ ในพระนครราชคฤห์ แคว้นมคธ ครั้งนั้น พระโพธิสัตว์เกิดในสกุลอุทิจจพราหมณ์ สกุลหนึ่ง ถึงความเป็นผู้รู้เดียงวาแล้ว บวชเป็นฤๅษียังอภิญญาและสมาบัติให้เกิดแล้ว พำนักอยู่ในป่าหิมพานต์ในกาลครั้งหนึ่ง ออกจากป่าหิมพานต์ มาถึงพระราชอุทยานในพระนครราชคฤห์ พำนักอยู่ที่นั้น วันที่สองเข้าสู่พระนครเพื่อต้องการภิกขาจาร พระราชาทอดพระเนตรเห็นท่านแล้วรับสั่งให้นิมนต์มา อาราธนาให้นั่งในปราสาท ให้ฉันโภชนาหารแล้วทรงถือเอาปฏิญญา เพื่อการอยู่ในพระอุทยานตลอดไป.
พระโพธิสัตว์ฉันในพระราชนิเวศน์ พักอยู่ในพระราชอุทยานกาลครั้งนั้น ในพระนครราชคฤห์ได้มีพราหมณ์ชื่อว่าทุสสลักขณพราหมณ์ (พราหมณ์ผู้รู้ลักษณะผ้า). เรื่องทั้งปวงตั้งแต่เขาเก็บคู่ผ้าสาฎกไว้ในหีบเป็นต้นไป เช่นเดียวกันกับเรื่องก่อนนั่นแหละ (แปลกแต่ตอนหนึ่ง) เมื่อมาณพไปถึงป่าช้า พระโพธิสัตว์ไปคอยอยู่ก่อนแล้ว นั่งอยู่ที่ประตูป่าช้า เก็บเอาคู่ผ้าที่เขาทิ้งแล้วไปสู่อุทยาน มาณพไปบอกเเก่บิดา. บิดาคิดว่า ดาบสผู้ใกล้ชิดราชสกุล จะพึงฉิบหาย จึงไปสำนักพระโพธิสัตว์กล่าวว่า „ข้าแต่พระดาบส ท่านจงทิ้งผ้าสาฎกที่ท่านถือเอาแล้วเสียเถิดจงอย่าฉิบหายเสียเลย.“ พระดาบสแสดงธรรมแก่พราหมณ์ว่า „ผ้าเก่า ๆ ที่เขาทิ้งไว้ในป่าช้า ควรแก่พวกเรา พวกเรามิใช่พวกถือมงคลตื่นข่าว ขึ้นชื่อว่าการถือมงคลตื่นข่าวนี้ พระพุทธเจ้าพระปัจเจกพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์ทั้งหลาย ไม่สรรเสริญเลย เหตุนั้น บัณฑิตต้องไม่เป็นคนถือมงคลตื่นข่าว.“ พราหมณ์ฟังธรรมแล้วทำลายทิฏฐิเสีย ถึงพระโพธิสัตว์เป็นสรณะแล้ว แม้พระโพธิสัตว์ก็มีฌานมิได้เสื่อมได้เป็นผู้มีพรหมโลกเป็นที่ไปในเบื้องหน้า.
แม้พระบรมศาสดาทรงนำเรื่องอดีตนี้มาแล้ว ทรงเป็นพระพุทธเจ้าตรัสรู้ยิ่งเอง เมื่อจะทรงแสดงธรรมแก่พราหมณ์ตรัสพระคาถานี้ว่า :- „ผู้ใดไม่ถือมงคลตื่นข่าว ไม่ถืออุกกาบาต ไม่ถือความฝัน ไม่ถือลักษณะดีหรือชั่ว ผู้นั้นชื่อว่าล่วงพ้นโทษแห่งการถือมงคลตื่นข่าว ครอบงำกิเลสคือยุคธรรมและธรรมเครื่องประกอบสัตว์ไว้ในภพ ย่อมไม่กลับมาเกิดอีก.“
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ยสฺส มงฺคลา สมูหตา ความว่า มงคลเหล่านี้คือ ทิฏฐิมงคล มงคลที่เกิดเพราะสิ่งที่เห็น ๑ สุตมงคลมงคลที่เกิดเพราะเรื่องที่ฟัง ๑ มุตมงคล มงคลที่เกิดเพราะอารมณ์ที่ได้ทราบ ๑ อันพระอรหันตขีณสพใด ถอนขึ้นได้แล้ว. บทว่า อุปฺปาตา สุปินา จ ลกฺขณา จ ความว่า เรื่องอุบาทที่เป็นเรื่องใหญ่ ๕ ประการเหล่านี้คือ จันทรคราธรูปอย่างนี้จักต้องมีสุริยคราธรูปอย่างนี้จักต้องมีนักษัตคราธรูปอย่างนี้จักต้องมีอุกกาบาตรูปอย่างนี้จักต้องมีลำพู่กันรูปอย่างนี้จักต้องมีอีกทั้งความฝันมีประการต่าง ๆ ลักษณะทั้งหลายมีอาทิอย่างนี้ คือ ลักษณะคนโชคดี ลักษณะคนโชคร้าย ลักษณะหญิง ลักษณะชาย ลักษณะทาส ลักษณะทาสี ลักษณะคามลักษณะศร ลักษณะอาวุธ ลักษณะผ้า เหล่านี้เป็นฐานแห่งทิฏฐิ. ท่านผู้ใดถอนได้หมดแล้ว คือไม่เชื่อถือเอาเป็นมงคล หรืออวมงคลแก่ตน ด้วยเรื่องอุปบาตเป็นต้นเหล่านี้.
บทว่า โส มงฺคลโทสวีติวตฺโต ความว่า ท่านผู้นั้นเป็นภิกษุ ผู้ขีณาสพ ล่วงพ้น ก้าวผ่าน ละเสียได้ซึ่งโทษแห่งมงคลทุกอย่าง. บทว่า ยุคโยคาธิคโต น ชาตุเมติ ความว่า กิเลสที่มารวมกันเป็นคู่ ๆโดยนัยมีอาทิว่า โกธะความโกรธและอุปนาหะความผูกโกรธ มักขะความลบหลู่และปลาสะความตีเสมอดังนี้ชื่อว่ายุคะ. กิเลส ๔ อย่างเหล่านี้คือ กามโยคะ ภวโยคะ ทิฏฐิโยคะอวิชชาโยคะชื่อว่าโยคะ เพราะเป็นเหตุประกอบสัตว์ไว้ในสงสารภิกษุผู้เป็นพระขีณาสพ บรรลุแล้วคือ ครอบงำไว้ได้แล้ว ล่วงพ้นแล้วได้แก่ ผ่านไปแล้วด้วยดี ซึ่งยุคและโยคะ คือทั้งยุคและโยคะเหล่านั้น. บทว่า น ชาตุเมติ ความว่า ท่านผู้นั้นย่อมไม่ถึงคือไม่ต้องมาสู่โลกนี้ ด้วยสามารถแห่งปฏิสนธิใหม่ โดยแน่นอนทีเดียว.
พระบรมศาสดาทรงแสดงธรรมแก่พราหมณ์ด้วยพระคาถานี้ ด้วยประการฉะนี้แล้วทรงประกาศสัจธรรม เมื่อจบสัจจะพราหมณ์กับบุตร ดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล. พระศาสดา ทรงประชุมชาดกว่า บิดาและบุตรในครั้งนั้นได้มาเป็นบิดาและบุตรคู่นี้แหละ ส่วนดาบสได้มาเป็นเราตถาคต ฉะนี้แล.
ที่มา : Palipage : Guide to Language - Pali
0 comments: