วันอังคารที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2564

สารมฺภชาตกํ - ว่าด้วยการพูดดี-พูดชั่ว

สารมฺภชาตกํ - ว่าด้วยการพูดดี-พูดชั่ว

"กลฺยาณิเมว   มุญฺเจยฺย,          น   หิ   มุญฺเจยฺย  ปาปิกํ;

โมกฺโข   กลฺยาณิยา   สาธุ,     มุตฺวา   ตปฺปติ   ปาปิกนฺติ ฯ

บุคคลพึงเปล่งวาจางามเท่านั้น, ไม่พึงเปล่งวาจาชั่วเลย, การเปล่งวาจางามยังประโยชน์ให้สำเร็จ, ผู้เปล่งวาจาชั่วย่อมเดือดร้อน."

สารัมภชาดกอรรถกถา

พระศาสดาเมื่อทรงอาศัยพระนครสาวัตถี ประทับอยู่ณ พระเชตวันมหาวิหารทรงปรารภโอมสวาทสิกขาบท ตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า กลฺยาณเมว มุญฺเจยฺย ดังนี้. 

แม้เรื่องทั้งสอง ก็เป็นเช่นเดียวกับเรื่องที่กล่าวไว้แล้วในนันทวิสาลชาดก (กุรุงควรรคที่ ๓, ชาดกลำดับที่ ๒๘) ในหนหลัง. (แปลกแต่ว่า ) ในชาดกนี้  พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นโคทรงกำลัง ชื่อ สารัมภะ ของพราหมณ์ผู้หนึ่ง ในพระนครตักกสิลา.  พระศาสดาตรัสเรื่องในอดีตนี้แล้วครั้นตรัสรู้พระสัมโพธิญาณแล้ว ตรัสพระคาถานี้ว่า :-  „พึงเปล่งแต่วาจาดี เท่านั้น ไม่พึงเปล่ง วาจาชั่วเลย การเปล่งวาจาดีสำเร็จประโยชน์ได้ เปล่งวาจาชั่ว ย่อมเดือดร้อน.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า  กลฺยาณเมว  มุญฺเจยฺย  ความว่า บุคคลพึงเปล่ง คือพึงแถลงได้แก่ พึงกล่าวถ้อยคำที่พ้นจากโทษ ๔ ชื่อว่าถ้อยคำดีงาม คือไม่มีโทษเท่านั้น.  บทว่า  น  หิ  มุญฺเจยฺย  ปาปิกํ ความว่า ไม่พึงเปล่งคำชั่วคือคำลามกได้แก่ คำอันไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่พอใจของคนอื่น ๆ.  บทว่า  โมกฺโข  กลฺยาณิยา  สาธุ  ความว่า การเปล่งวาจาดีเท่านั้น ยังประโยชน์ให้สำเร็จ คือเป็นความดีงาม เป็นความเจริญในโลกนี้.  บทว่า  มุตฺวา  ตปฺปติ  ปาปิกํ  ความว่า ครั้นเปล่ง คือแถลงได้แก่ กล่าวคำชั่ว คือคำหยาบแล้ว บุคคลนั้นย่อมเดือดร้อน คือเศร้าโศก ลำบาก.

พระศาสดา ทรงนำพระธรรมเทศนานี้มา ด้วยประการฉะนี้ แล้วทรงประชุมชาดกว่า พราหมณ์ในครั้งนั้นได้มาเป็นอานนท์พราหมณีได้เป็นอุบลวรรณา ส่วนโคสารัมภะได้มาเป็นเราตถาคต ฉะนี้แล.

ที่มา : Palipage : Guide to Language - Pali


Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: