โรคเนื่องด้วย “ไสยศาสตร์” โรคโง่ทางจิต
“ยังมีอีกพวกหนึ่ง เป็นโรคเนื่องด้วยไสยศาสตร์ โรคโง่ทางจิต เรียกว่า “ไสยศาสตร์” เคยอธิบายมามากแล้วคําว่าไสยศาสตร์ แต่สรุปความอีกทีว่า คําว่า ไสยะ เสยฺย นั้นแปลว่า ดีกว่า หรือแปลว่า หลับ, เรื่องไสยศาสตร์นี้มันดีกว่าไม่มีความรู้อะไรเสียเลย มีไสยศาสตร์สําหรับดีกว่าที่จะไม่รู้อะไรเสียเลย แต่มันเป็นศาสตร์ของคนหลับ, คนหลับในที่นี้ก็คือ “คนโง่” เป็นโรคของคนหลับ คือ คนโง่ เพียงแต่ว่าดีกว่าไม่มีอะไรเสียเลย มันก็หลอกตัวเองให้หลง หรือว่าอย่างจะยินดีมีความสุข ก็เป็นอย่างหลอกตัวเอง ผลที่ได้มาจากไสยศาสตร์นั้น บางทีก็หลอกคนโง่ให้ชอบใจให้สบายใจได้พักๆหนึ่งเหมือนกัน จึงเรียกว่าดีกว่าไม่มีอะไรเสียเลย แต่มันก็ยังเป็นโรคของคนหลับ...
..เขามักจะชอบสิ่งแปลกประหลาด มหัศจรรย์ เข้าใจไม่ได้ แล้วก็เชื่อว่าดี, เรื่องไสยศาสตร์นั้นเป็นเรื่องที่พิสูจน์ไม่ได้ ต้องขอให้เชื่ออย่างเหมาๆกันว่าดี แล้วมันมีหลักว่า “พึ่งผู้อื่น” ถ้าเป็นไสยศาสตร์แล้วก็ พึ่งผีสาง เทวดา ต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ ภูเขาศักดิ์สิทธิ์ แม้แต่จอมปลวกก็ยังพลอยศักดิ์สิทธิ์ นี่มืดหรือหลับสักเท่าไร ขอให้ลองคิดดู ถ้าเป็นพุทธศาสตร์ต้อง “พึ่งตัวเอง” ไสยศาสตร์พึ่งผู้อื่น พุทธศาสตร์พึ่งตัวเอง ถ้าเธอจะทําให้ถูกเรื่องของ“พุทธบริษัท” ต้องคิดพึ่งตัวเอง
อย่างเอาพระพุทธรูปมาแขวนไว้ที่คอ พระเครื่องมาแขวนไว้ที่คอ ไม่ใช่ให้พระเครื่องช่วย แต่เอามาแขวนไว้กันลืมว่า “เธอต้องช่วยตัวเอง”, เอาพระเครื่องมาแขวนไว้ที่คอเพื่อกันลืมว่า เธอต้องช่วยตัวเอง แต่ถ้าให้พระพุทธรูปหรือพระเครื่องช่วยแล้วเป็นไสยศาสตร์ ไม่ใช่พุทธศาสตร์ นี่ขอให้เข้าใจเสียด้วย ถ้าไปกราบพระในโบสถ์ว่าให้พระช่วย ถ้าอย่างนี้เป็นไสยศาสตร์ ถ้าไปกราบพระในโบสถ์โดยระลึกว่าพระพุทธเจ้าช่วยตัวเอง แล้วสอนให้เราช่วยตัวเองได้ด้วย อย่างนี้เป็นพุทธศาสตร์,
จงจําเป็นหลักไว้ว่า ถ้าไสยศาสตร์มันให้ผู้อื่นช่วย, ถ้าเป็นพุทธศาสตร์ช่วยตัวเอง เมื่อเราอยากจะเป็นพุทธบริษัท ต้องคํานึงถึงข้อนี้ คือถือพุทธศาสตร์ อย่าไปถือไสยศาสตร์ ศาสตร์ของคนหลับ เพียงแต่ว่าดีกว่าไม่มีนิดหนึ่งเท่านั้นแหละ ถ้าเป็นพุทธศาสตร์แล้วมันก็ช่วยตัวเอง มันศักดิ์สิทธิ์อยู่ที่การช่วยตัวเอง ไม่ต้องให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์อื่นไหนมาช่วย ให้มันศักดิ์สิทธิ์อยู่ในตัวเอง คือการประพฤติกระทําที่ดี นี้เรียกว่าเป็นพุทธศาสตร์,
พุทธบริษัทที่แท้จริง คือพวกเรานี้ จะต้องนิยมความสูงในทางวิญญาณ ในทางสติปัญญา, อย่าให้ตกต่ำลงไปในความมืดความบอดเช่นนั้น นิยมความจริงของธรรมชาติ รู้สึกอยู่ด้วยจิตจริงๆในความรู้สึก, ไม่ต้องเหมา ไม่ต้องคาดคะเน ไม่ต้องเชื่ออย่างงมงาย. เรามุ่งหมายความสะอาด ความสว่าง ความสงบ เห็นชัดอยู่แก่ใจ : ความสะอาดแห่งจิตใจ ความสว่างแจ่มแจ้งแห่งจิตใจ ความสงบเย็นแห่งจิตใจ นี่หามาให้ได้ ก็เป็นแสงสว่างในทางวิญญาณ”
พุทธทาสภิกขุ
ที่มา : ธรรมบรรยายประจำวันเสาร์ แห่งภาคอาสาฬหบูชา ครั้งที่ ๒ ชุด “ฟ้าสางระหว่าง ๕๐ ปี” บรรยายเมื่อวันที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๒๖ จากหนังสือชุดธรรมโฆษณ์ เล่มชื่อว่า “ฟ้าสางระหว่าง ๕๐ ปี ที่มีสวนโมกข์ ตอน ๒” หน้า ๓๘-๓๙
0 comments: