มิลินทปัญหา (ตอนที่ ๒๗) ปัญหาที่ ๕ พุทธลาภันตรายปัญหา
พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน พวกท่านกล่าวกันว่า พระตถาคตทรงเป็นผู้มีปกติได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ คิลานปัจจัยเภสัชชบริขาร (เครื่องบริขารคือยาอันเป็นปัจจัยสำหรับคนไข้) ดังนี้ แต่กล่าวไว้อีกว่า :- "ปญฺจสาลํ พฺราหฺมณคามํ ปิณฺฑาย ปวิสิตฺวา กิญฺจิเทว อลภิตฺวา ยถาโธเตน ปตฺเตน นิกฺขนฺโต." (สํ.ส. ๑๕/๑๕๗ โดยความ) พระตถาคตเสด็จเข้าไปยังหมู่บ้านพราหมณ์ชื่อว่า ปัญจสาละ เพื่อบิณฑบาตไม่ทรงได้อะไรๆ เลย เสด็จออกมาพร้อมกับบาตรเหมือนอย่างบาตรที่ล้างไว้
พระคุณเจ้านาคเสน ถ้าหากว่า พระตถาคตทรงเป็นผู้มีปกติได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ คิลานปัจจัยเภสัชชบริขารจริงแล้วไซร้ ถ้าอย่างนั้น คำที่ว่า พระตถาคตเสด็จเข้าไปยังหมู่บ้านพราหมณ์ ชื่อว่า ปัญจสาละเพื่อบิณฑบาต ไม่ทรงได้อะไรๆ เลย เสด็จออกมาพร้อมกับบาตรเหมือนอย่างบาตรที่ล้างไว้ ดังนี้ ก็ต้องเป็นคำพูดผิด ถ้าหากว่า พระตถาคตเสด็จเข้าไปยังหมู่บ้านพราหมณ์ชื่อว่าปัญจสาละ เพื่อบิณฑบาต ไม่ทรงได้อะไรๆ เลย เสด็จออกมาพร้อมกับบาตรเหมือนอย่างที่บาตรที่ล้างไว้จริง ถ้าอย่างนั้นคำที่ว่า พระตถาคตทรงเป็นผู้มีปกติได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ คิลานปัจจัยเภสัชชบริขาร ดังนี้ ก็ต้องเป็นคำพูดผิด ปัญหาแม้นี้ ก็มี ๒ เงื่อน เป็นปัญหาใหญ่นัก เปลื้องได้ยาก ตกถึงแก่ท่านแล้ว ขอท่านจงคลี่คลายปัญหานั้นเถิด.
พระนาคเสน, ขอถวายพระพร มหาบพิตร พระตถาคตทรงเป็นผู้มีปกติได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ คิลานปัจจัยเภสัชชบริขารจริง ข้อที่เสด็จเข้าไปยังหมู่บ้านพราหมณ์ชื่อปัญจสาละ เพื่อบิณฑบาต ไม่ทรงได้อะไรๆ เลย เสด็จออกมาพร้อมกับบาตรเหมือนอย่างบาตรที่ล้างไว้นั้น เป็นเพราะการกระทำของมารผู้มีบาป
พระเจ้ามิลินท์, ถ้าอย่างนั้นนะ พระคุณเจ้านาคเสน กุศลที่ทรงสั่งสมมาตลอดหลายกัปที่ล่วงพ้นหนทางจะนับได้ จะชื่อว่าสำเร็จแล้วได้กระไร. พระนาคเสน, ขอถวายพระพร กุศลนั้นถูกมารผู้มีบาปผู้เกิดได้ไม่นาน ปิดกั้นเสียด้วยการแผ่กระแสกำลังของอกุศลไป. พระเจ้ามิลินท์ พระคุณเจ้านาคเสน ถ้าอย่างนั้นในเรื่องนั้น ย่อมถึงข้อติเตียนได้ ๒ ฐานะ คือ – อกุศลมีกำลังยิ่งกว่ากุศล ๑, – กำลังมารเป็นกำลังที่ยิ่งกว่าพระกำลังพระพุทธเจ้า ๑. ถ้าจริงอย่างนั้น ปลายต้นไม้ย่อมหนักกว่าโคนต้นไม้ คนชั่วย่อมมีกำลังยิ่งกว่าคนที่เพียบพร้อมด้วยคุณธรรม
พระนาคเสน, ขอถวายพระพร มหาบพิตร อกุศล จะชื่อว่ามีกำลังยิ่งกว่ากุศล เพราะเหตุเพียงเท่านั้นหามิได้ กำลังมาจากชื่อว่าเป็นกำลังที่ยิ่งกว่าพระกำลังพระพุทธเจ้า เพราะเหตุเพียงเท่านั้นก็หาไม่ ก็แต่ว่า ในเรื่องนี้ ควรต้องการเหตุผล ขอถวายพระพร เปรียบเหมือนว่า บุรุษคนหนึ่ง จะน้อมนำเอาน้ำผึ้งบ้าง น้ำตาลงบบ้าง ของกำนัลอย่างอื่นบ้าง ทูลเกล้าถวายแด่พระเจ้าจักรพรรดิ คนเฝ้าประตูวังของพระราชากล่าวกับบุรุษคนนั้นอย่างนี้ว่า นี่แน่ะ นาย เวลานี้ไม่ใช่เวลาที่จะเข้าเฝ้าพระราชา เพราะฉะนั้นจงถือ เอาของกำนัลของนายกลับไปเสียโดยเร็วเถิด ก่อนที่พระราชาจะรับสั่งให้ลงทันฑ์นาย ต่อจากนั้นไป บุรุษผู้นั้นซึ่งสะดุ้งหวาดหวั่นทัณฑภัย ก็คว้าเอาของกำนัลนั้นกลับไปโดยเร็ว ขอถวายพระพร พระเจ้าจักรพรรดิพระองค์นั้น ชื่อว่าทรงเป็นผู้มีพระกำลังทรามยิ่งกว่าคนเฝ้าประตู เพราะเหตุที่เพียงแต่เขาทำให้ทรงเสียของกำนันไปเท่านั้น หรือหนอ หรือเพราะเหตุที่เขาทำให้ไม่ทรงได้รับของกำนัลอะไรๆ สักอย่างหนึ่งเท่านั้น หรือหนอ ? พระเจ้ามิลินท์, หามิได้ พระคุณเจ้า คนเฝ้าประตูผู้นั้น เป็นผู้มีปกติริษยา จึงขัดขวางของกำนัลเสีย ก็บุรุษคนนั้น ย่อมเข้าไปทางประตูอื่น ทูลเกล้าถวายของกำนัล แม้สักแสนเท่าแก่พระราชาได้ แล.
พระนาคเสน, ขอถวายพระพร อุปมาฉันใด อุปไมยก็ฉันนั้นเหมือนกัน มารผู้มีบาปเป็นผู้มีปกติริษยา จึงโดนใจพวกพราหมณ์คฤหบดี ชาวบ้านปัญจสาละเสีย ก็แต่ว่า เทวดาหลายแสนเหล่าอื่น ย่อมถือเอาทิพยโอชะอมตะเข้าไป ด้วยคิดว่า เราจะโปรยปรายไปบนพระกายของพระผู้มีพระภาค ดังนี้ จึงยืนประนมมือนมัสการพระผู้มีพระภาคอยู่. พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน ปัจจัย ๔ เป็นของหาได้ง่ายสำหรับพระผู้มีพระภาค ซึ่งทรงเป็นบุรุษผู้สูงสุดในโลก พระผู้มีพระภาคผู้อันเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายทูลอ้อนวอนแล้ว ย่อมเสวยปัจจัย ๔ ก็แต่ว่า มารมีความประสงค์อันใดอยู่ความประสงค์นั้นก็สำเร็จได้ คือมารนั้นทำอันตรายแก่โภชนาหารของพระผู้มีพระภาคเพียงเท่านั้นนั่นเทียว พระคุณเจ้า ข้าพเจ้ายังตัดความสงสัยในเรื่องนี้ไม่ได้ ข้าพเจ้ายังเกิดความลังเล ยังคอยแต่จะสงสัยในเรื่องนั้นอยู่ ใจของข้าพเจ้าไม่ยอมแล่นดิ่งไปในข้อที่ว่า พระตถาคตทรงเป็นพระอรหันต์สัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้เป็นยอดบุคคลประเสริฐ เป็นยอดในโลกพร้อมเทวดา ผู้เกิดแต่บุญกุศลประเสริฐ ผู้เสมอด้วยบุคคลผู้หาใครเสมอมิได้ ผู้อันใครๆไม่อาจเปรียบเทียบได้ ผู้อันใครๆไม่อาจเปรียบเสมอได้ แล้วก็ยังถูกมารทำเรื่องที่น่าเกลียด ลามก ชั่วช้า ต่ำทราม อนาริยะ วิบัติ คืออันตรายแห่งลาภได้
พระนาคเสน ขอถวายพระพร มหาบพิตร อันตรายมี ๔ อย่างคือ อทิฏฐันตราย ๑, อุททิสสกตันตราย ๑, อุปัฏกขฏันตราย ๑, ปริโภคันตราย ๑. ในอันตราย ๔ อย่างนั้น อทิฏฐันตรายเป็นไฉน ? บุคคลบางคนย่อมทำอันตรายโภชนะที่เขาจัดแจงไว้ โดยไม่เจาะจงบุคคล ยังไม่เห็นตัวผู้รับ โดยกล่าวว่า ประโยชน์อะไรด้วยการเที่ยวให้แก่คนอื่น ดังนี้เป็นต้น อันตรายก็นี้ชื่อว่า อทิฏฐันตราย. อุททิสสกตันตรายเป็นไฉน ? โภชนะที่เขาจัดแจง อุทิศเจาะจงบุคคล (ผู้รับ) บางคนในโลกนี้ มีอยู่ บุคคลบางคนย่อมทำอันตรายแก่ผู้ชนะนั้น ด้วยคำพูดติเตียนบางคำ อันตรายข้อนี้ชื่อว่า อุททิสสกตันตราย. อุปัฏกขฏันตรายเป็นไฉน ? โภชนะที่เขาตระเตรียมไว้อย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งผู้รับยังไม่ได้รับมีอยู่ในโลกนี้ บุคคลบางคนทำอันตราย ทำความคลางแคลงใจให้เกิดขึ้นด้วยคำพูดติเตียน ในโภชนะนั้น มีชื่อว่า อุปัฏกขฏันตราย. ปริโภคันตรายเป็นไฉน ? ในคราวที่มีการบริโภคอย่างใดอย่างหนึ่งอยู่ในโลกนี้ บุคคลบางคนทำอันตรายโดยการใช้คำพูดติเตียน ทำความกลัดกลุ้มใจให้เกิดขึ้น ในการบริโภคนั้น นี้ชื่อว่า ปริโภคันตราย. ขอถวายพระพร มหาบพิตร อันตรายมี ๔ อย่างเหล่านี้ แล
ก็ข้อที่มาผู้มีบาปโดนใจพวกพราหมณ์คฤหบดี ชาวบ้านปัญจสาละ ใด ข้อนั้นจะเป็นอันมาได้ทำอันตรายการบริโภคของพระผู้มีพระภาค ก็หาไม่ จะได้เป็นอันทำอันตรายโภชนะที่เขาเตรียมไว้แล้ว ซึ่งผู้รับยังไม่ได้รับ ก็หาไม่ จะได้เป็นอันทำอันตรายโภชนะที่เขาทำอุทิศเจาะจง บุคคลผู้รับ ก็หาไม่ เพราะยังไม่เห็นพระผู้มีพระภาคผู้ยังไม่เสด็จมา ผู้ยังเสด็จมาไม่ถึง ก็การกระทำของมารข้อนั้น หาได้มีแก่พระผู้มีพระภาคพระองค์เดียวเท่านั้นไม่ แต่ทว่าในสมัยนั้น พวกนิครนถ์ทั้งหลายทั้งปวง ผู้มาถึงแล้ว ก็ไม่ได้โภชนะในวันนั้นด้วย ขอถวายพระพร อาตมาภาพมองไม่เห็นใครในโลกพร้อมทั้งเทวดา พร้อมทั้งมาร พร้อมทั้งพรหม ในหมู่ประชาพร้อมทั้งสมณะและพราหมณ์ พร้อมทั้งเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ที่อาจทำอันตรายโภชนะที่เขาทำอุทิศเจาะจงพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ผู้ชนะที่เขาตระเตรียมไว้สำหรับพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น และการบริโภคของพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นได้เลย ถ้าหากมี บางคนจะพึงทำอันตรายโภชนะที่เขาทำอุทิศเจาะจงพระองค์ ที่เขาเตรียมไว้สำหรับพระองค์ การบริโภคของพระองค์ ศีรษะของผู้นั้นจะพึงแตกเป็น ๑๐๐ เสี่ยง หรือ ๑,๐๐๐ เสี่ยง
ขอถวายพระพร คุณ (ฐานะ) ของพระตถาคต อันใครๆไม่อาจขัดขวางต่างกันได้มี ๔ อย่างเหล่านี้ คุณ ๔ อย่างอะไรบ้าง ? ขอถวายพระพร ลาภ (ปัจจัย ๔) ที่เขาจัด ที่เขาตระเตรียม เจาะจงถวายพระผู้มีพระภาค ใครๆ ก็ไม่อาจทำการขัดขวางได้ ๑, พระรัศมีที่แผ่ไปประมาณ ๑ วา ทั่วพระสรีระของพระผู้มีพระภาค ใครๆ ก็ไม่อาจทำการขัดขวางได้ ๑, พระญาณรัตนะที่รู้ทุกสิ่งทุกอย่างของพระผู้มีพระภาค ใครๆ ก็ไม่อาจทำการขัดขวางได้ ๑, พระชนม์ชีพของพระผู้มีพระภาค ใครๆ ก็ไม่อาจทำการขัดขวางได้ ๑ ขอถวายพระพร มหาบพิตร คุณ ฐานะ ของพระตถาคต อันใครๆ ไม่อาจขัดขวางได้มี ๔ อย่างเหล่านี้ แล ขอถวายพระพร คุณ ๔ ทั้งหมดเหล่านี้มีรสเป็นอันเดียวกัน ไม่มีโรค ไม่กำเริบ อันผู้อื่นโจมตีไม่ได้ เป็นกริยาที่ใครๆ สัมผัสไม่ได้ ขอถวายพระพร มารผู้มีบาป แอบแฝงตัวไม่ให้ใครเห็น จึงเข้าดลใจพวกพราหมณ์คฤหบดี บ้านปัญจสาละได้. ขอถวายพระพร เปรียบเหมือนว่า ที่ประเทศชายแดนของพระราชา พวกโจรต้องแอบแฝงอยู่ตามที่ลุ่มๆดอนๆ ไม่ให้ใครเห็นตัว จึงปล้นคนเดินทางอยู่ได้ ถ้าหากพระราชาทรงรู้เห็นว่ามีโจรพวกนั้นอยู่ พวกโจรเหล่านั้น จะพึงได้รับความสวัสดีอยู่หรือหนอ ?
พระเจ้ามิลินท์, หามิได้ พระคุณเจ้า พระองค์จะรับสั่งให้จับตัวมา ใช้ขวานตัดผ่าเป็น ๑๐๐ เสี่ยง ๑,๐๐๐ เสี่ยง เสียทีเดียว. พระนาคเสน, ขอถวายพระพร อุปมาฉันใด อุปไมยก็ฉันนั้นเหมือนกัน มารผู้มีบาปต้องแอบซ่อนตัวไม่ให้ใครเห็น จึงเข้าสิงใจพราหมณ์คฤหบดี บ้านปัญจสาละได้. ขอถวายพระพร อีกอย่างหนึ่ง เปรียบเหมือนว่า หญิงมีสามีต้องแอบซ่อนตัวไม่ให้ใครเห็น จึงคบหาชายอื่นได้ ฉันใด ขอถวายพระพร มารผู้มีบาปก็ต้องแอบซ่อนตัวไม่ให้ใครเห็นจึงเข้าสิงใจพวกพราหมณ์คฤหบดี บ้านปัญจสาละได้ ฉันนั้นเหมือนกัน มหาบพิตร ถ้าหากว่าหญิงนั้นคบหาชายอื่นต่อหน้าผู้เป็นสามีไซร้ หญิงนั้นจะพึงได้ความสวัสดีอยู่หรือ ?พระเจ้ามิลินท์, หามิได้ พระคุณเจ้า ถ้าว่าผู้เป็นสามีจะพึงเฆี่ยนตีหญิงนั้น หรือว่าฆ่าเสีย หรือว่าปลดเป็นนางทาสี. พระนาคเสน, ขอถวายพระพร อุปมาฉันใด อุปไมยก็ฉันนั้นเหมือนกัน มารผู้มีบาปต้องแอบซ่อนตัวไม่ให้ใครเห็น จึงเข้าสิงใจพวกพราหมณ์คฤหบดี บ้านปัญจสาละได้ ขอถวายพระพร ถ้าหากว่า มารผู้มีบาปพึงทำอันตรายของที่เขาทำเจาะจงพระผู้มีพระภาค ของที่เขาตระเตรียมไว้สำหรับพระผู้มีพระภาค การบริโภคของพระผู้มีพระภาค ไซร้ ศีรษะของมารนั้นก็จะแตกออกเป็น ๑๐๐ เสี่ยง ๑,๐๐๐ เสี่ยง แล. พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน มารผู้มีบาปได้ทำโจรกรรมข้อนี้แล้วอย่างนี้ คือมารผู้มีแบบซ่อนตัวเข้าสินจัยพราหมณ์คฤหบดี บ้านปัญจสาละได้ ถ้าหากว่ามารผู้มีบาปนั้น กระทำอันตรายต่อของที่เขาทำอุทิศเจาะจงพระผู้มีพระภาค การบริโภคของพระผู้มีพระภาค ไซร้ ศีรษะของมันก็จะพึงแตกเป็น ๑๐๐ เสี่ยง ๑,๐๐๐ เสี่ยง หรือร่างกายของมันจะแหลกลาญเหมือนกองแกลบ ดีจริง พระคุณเจ้านาคเสน ข้าพเจ้าขอยอมรับคำตอบที่ท่านกล่าวมานี้. จบพุทธลาภันตราย ปัญหาที่ ๕
คำอธิบายปัญหาที่ ๕
ปัญหาเกี่ยวกับอันตรายแห่งลาภของพระพุทธเจ้าชื่อว่า พุทธลาภันตรายปัญหา. คำว่า เหมือนอย่างบาตรที่ล้างไว้ คือเหมือนอย่างกับเป็นบาตรที่เขาใส่อาหาร บริโภคอาหารหมดสิ้นแล้ว ก็ล้างวางไว้ อธิบายว่าเป็นบาตรเปล่า ไม่มีอาหารอะไรๆ สักหน่อยหนึ่ง แม้เพียงทำให้บาตรแปดเปื้อน. คำว่า กำลังมารเป็นกำลังที่ยิ่งกว่าพระกำลังของพระพุทธเจ้า ความว่า กำลังคืออนุภาพของมาร เป็นกำลังที่ยิ่งกว่าพระกำลังคือพระอานุภาพของพระพุทธเจ้า. คำว่า ด้วยคิดว่า เราจะโปรยปรายไปบนพระกายของพระผู้มีพระภาค ความว่า เทวดาทั้งหลาย เมื่อเห็นว่าพระผู้มีพระภาคมิทรงได้รับภิกษาหารในวันนั้น ก็นำทิพยโอชะเข้าไป ด้วยหมายใจว่าจะโปรยปรายไปบนพระวรกายพระตถาคต เพื่อให้ซึมซาบเข้าไปในพระบริการ พระวรกาย อุปถัมภ์พระวรกายแทนภิกษาหารตามปกติ. คำว่า อันตราย ความว่า ชื่อว่า “อันตราย” เพราะอรรถว่ามาในระหว่าง อธิบาย ว่าขัดขวาง เป็นอุปสรรค พระเถระหมายเอาอันตรายแห่งโภชนะเท่านั้น จึงกล่าวว่า อันตรายมี ๔ อย่าง คือ อทิฏฐันตราย ดังนี้เป็นต้น
ในอันตราย ๔ อย่างนั้นคำว่า อทิฏฐันตราย ได้แก่อันตรายแห่งโภชนะที่เขาจะเตรียมไว้ ยังไม่เห็นตัวผู้รับ ยังไม่ทราบว่าผู้รับเป็นใคร สมณพราหมณ์ผู้ใดมาถึง ก็จะถวายให้มอบให้แก่สมณะพราหมณ์ผู้นั้น ไม่เจาะจงบุคคล บุคคลบางคนทำอันตรายแก่โภชนะ คือทำการขัดขวางไม่ให้โภชนะนั้นตกถึงมือผู้รับ โดยกล่าวแก่ทายกผู้จัะถวายว่า ประโยชน์อะไรแก่การเที่ยวให้แก่คนอื่นเล่า ผู้ไม่ใช้เรี่ยวแรง ไม่ใช้ความพยายามของตนเอง เกียจคร้านในกิจเกี่ยวกับการไถการหว่านเป็นต้น สมควรที่ผู้อื่นจะต้องคอยเลี้ยงดูหรือ อย่างนี้เป็นต้น อันตรายนี้ชื่อว่า อทิฏฐันตราย. คำว่า อุทิสสกตันตราย แปลว่า อันตรายแห่งโภชนะที่เขาจะเตรียมไว้เจาะจงบุคคล ความว่า โภชนะนั้นเป็นผู้ชนะที่เขาตัดเตรียมไว้โดยเจาะจง คือระบุตัวผู้รับว่าจะถวายให้แก่บุคคลผู้นี้ และผู้นี้เท่านั้น บุคคลบางคนทำการขัดขวางไม่ให้ผู้รับผู้นั้นได้โภชนะนั้น ด้วยคำพูดติเตียนผู้รับ เช่นอย่างนี้ว่า ผู้นี้เป็นคนทุศีล ประพฤติเลวทราม ท่านจะให้แก่คนเช่นนี้หรือ ดังนี้เป็นต้น อันตรายนี้ชื่อว่า อุทิสสกตันตราย
คำว่า อุปักขฏันตราย ได้แก่โภชนะที่เขาตระเตรียมไว้ให้ ซึ่งผู้รับมาถึงแล้ว แต่ยังมิได้รับ บุคคลบางคนทำการขัดขวางโภชนะนั้น ด้วยคำพูดติเตียนตามในที่ได้กล่าวแล้ว อันตรายนี้ชื่อว่า อุปักขฏันตราย. คำว่า ปริโภคันตราย แปลว่า อันตรายแห่งการบริโภค ความว่า ผู้รับได้รับโภชนนั้นแล้วกำลังจะบริโภค บุคคลบางคนทำอันตราย คือทำการขัดขวางการบริโภค ด้วยคำพูดตำหนิผู้รับบ้าง ตำหนิโภชนนั้นนั่นแหละบ้าง ตำหนิผู้ให้บ้าง ผู้รับได้ยินแล้วเกิดความเสียใจ ความกลัดกลุ้มใจ ไม่อาจบริโภคโภชนะนั้นได้ อันตรายนี้ชื่อว่า ปริโภคันตราย. คำว่า ก็ข้อที่มารผู้มีบาป ดลใจพวกพราหมณ์คฤหบดี ชาวบ้านปัญจสาละใด ข้อนั้นจะเป็นอันมาได้ทำอันตรายการบริโภคของพระผู้มีพระภาค ก็หาไม่ ดังนี้เป็นต้น มีอรรถาธิบายว่า ในบรรดาอันตราย ๔ อย่าง มารแม้ว่าทำอันตรายได้ ก็ไม่อาจทำอันตราย ๓ อย่าง คือ ปริโภคันตราย อุปักขฏันตราย และ อุทิสสกตันตราย แก่พระผู้มีพระภาคได้ ทำได้เฉพาะ อทิฏฐันตราย เท่านั้น เพราะในสมัยนั้น พวกพราหมณ์คฤหบดีเหล่านั้นจะเตรียมโภชนะไว้ไม่เจาะจงบุคคลผู้รับ ยังไม่ทราบก่อนเลยว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จมา และพระองค์ก็ยังไม่เสด็จมา หรือยังเสด็จมาไม่ถึง. คำว่า พระญาณรัตนะที่รู้ทุกสิ่งทุกอย่าง คือพระสัพพัญญุตญาณที่รู้ทุกสิ่งทุกอย่าง. คำว่า พระชนม์ชีพของพระผู้มีพระภาค ใครๆก็ไม่อาจทำการขัดขวางได้ ความว่า ใครๆไม่อาจทำการขัดขวางคือใช้ศาสตราเป็นต้น บั่นรอน ปลงพระชนม์ชีพของพระผู้มีพระภาคได้. คำว่า มีรสเป็นอันเดียวกัน คือมีสมบัติเกี่ยวกับความเป็นสิ่งที่ใครๆ ขัดขวางมิได้ เสมอเหมือนกัน. คำว่า เป็นกิริยา ที่ใครๆสัมผัสมิได้ คือเป็นกิริยาที่ใครๆ ผู้ไม่ใช่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่อาจสัมผัส แตะต้อง ด้วยอำนาจการเห็นประจักษ์ได้ เพราะเป็นพุทธวิสัย. จบคำอธิบายปัญหาที่ ๕
ปัญหาที่ ๖ อปุญญปัญหา
พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน พวกท่านกล่าวกันว่า ผู้ใดไม่รู้ทำปาณาติบาต ผู้นั้นย่อมได้รับบาปที่มีกำลังแรงกว่าบาปของผู้ไม่รู้ ดังนี้ ส่วนพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ในพระวินัยบัญญัติเป็นอีกอย่างหนึ่งว่า :- " อนาปตฺติ อชานนฺตสฺส" (วิ.มหา.๑/๔๘) เมื่อภิกษุไม่รู้อยู่ ก็ไม่ต้องอาบัติ ดังนี้ พระคุณเจ้านาคเสน ถ้าหากว่าคำว่า บุคคลไม่รู้แล้วทำปาณาติบาต ย่อมได้รับบาปที่มีกำลังแรงกว่า ดังนี้ ถูกต้องจริงแล้วไซร้ ถ้าอย่างนั้น คำที่ตรัสไว้ว่า เมื่อภิกษุไม่รู้อยู่ ก็ไม่ต้องอาบัติ ดังนี้ ก็ต้องผิด ถ้าหากคำว่าที่ตรัสไว้ว่า เมื่อภิกษุไม่รู้อยู่ ก็ไม่ต้องอาบัติ ดังนี้ ถูกต้องจริงแล้วไซร้ ถ้าอย่างนั้น คำที่ตรัสไว้ว่า บุคคลไม่รู้แล้วทำปาณาติบาต ย่อมได้รับบาปที่มีกำลังแรงยิ่งกว่า ดังนี้ ก็ต้องผิด ปัญหานี้มี ๒ เงื่อน เปลื้องได้ยาก ก้าวล่วงได้ยาก ตกถึงแก่ท่านแล้ว ขอท่านจงคลี่คลายปัญหานั้นเถิด
พระนาคเสน, ขอถวายพระพร มหาบพิตร พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า ผู้ใดไม่รู้ทำปาณาติบาต ผู้นั้นย่อมได้รับบาปที่มีกำลังแรงกว่า ดังนี้จริง และพระผู้มีพระภาคก็ยังตรัสไว้อีกในพระวินัยบัญญัติ ว่า เมื่อภิกษุไม่รู้อยู่ ก็ไม่ต้องอาบัติ ดังนี้จริง ในคำที่ตรัสไว้นั้น ยังมีความหมายอย่างอื่นอยู่อีก ความหมายอย่างอื่นอะไร ขอถวายพระพร มหาบพิตร อาบัติประเภทสัญญาวิโมกข์ ก็มีอยู่ อาบัติประเภท โนสัญญาวิโมกข์ ก็มีอยู่ พระผู้มีพระภาคทรงปรารภถึงอาบัติประเภทสัญญาวิโมกข์ ตรัสว่า เมื่อภิกษุไม่รู้อยู่ ก็ไม่ต้องอาบัติ ฉะนี้แล. พระเจ้ามิลินท์, ดีจริงพระคุณเจ้านาคเสน ข้าพเจ้ายอมรับคำพูดที่ท่านกล่าวมาขณะนี้ นี้. จบอปุญญปัญหาที่ ๖
คำอธิบายปัญหาที่ ๖
ปัญหาเกี่ยวกับการทำบาปชื่อว่า อปุญญปัญหา. คำพูดใน ๒ ที่ ๒ แห่ง มีความขัดแย้งกันอยู่อย่างนี้ว่าถ้าหากคำพูดที่ว่า ผู้ใดไม่รู้คือไม่รู้ว่าเป็นบาป ทำบาปคือปาณาติบาต บาปของผู้นั้นย่อมมีกำลังแรงกว่าบาปของผู้ที่ทั้งๆรู้อยู่ว่าเป็นบาปก็ยังกระทำ ดังนี้ เป็นคำจริงไซร้ คำตรัสที่ว่า เมื่อภิกษุไม่รู้อยู่ คือไม่มีจิตคิดล่วงละเมิด แม้ประพฤติอย่างนั้น ก็ไม่ต้องอาบัติ ดังนี้ ก็ย่อมเป็นคำพูดที่ผิด ไม่จริง เพราะไม่เสมอกับคำก่อน เพราะเมื่อไม่รู้อยู่แล้วประพฤติอย่างนั้น ก็ควรเป็นบาปคือเป็นโทษมากกว่า มีความผิดมากกว่า เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็ควรนับว่าเป็นอาบัติเป็นอย่างยิ่ง จะไม่เป็นอาบัติไปได้กระไร หรือถ้ายอมรับว่าไม่เป็นอาบัติ ก็แสดงว่าไม่เป็นความผิด เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็ไม่สมควรกล่าวว่า บาปที่ผู้ไม่รู้ทำ มีกำลังยิ่งกว่าบาปของผู้รู้อยู่แล้วยังทำ. คำว่า อาบัติประเภทสัญญาวิโมกข์ ก็มีอยู่ เป็นต้น ความว่า สจิตตกาบัติ – อาบัติที่มีจิตคิดล่วง, คือเป็นอาบัติเพราะแม้รู้อยู่ว่าเป็นอาบัติ ก็มีจิตคิดล่วง หากไม่รู้ ไม่มีจิตคิดล่วง ก็ไม่เป็นอาบัติ ชื่อว่าสัญญาวิโมกข์ เพราะมีการพ้นได้ด้วยสัญญา คือมีความสำคัญว่าเป็นอาบัติ หรือไม่เป็นอาบัตินั่นแหละ อจิตตกาบัติ – อาบัติที่ไม่มีจิตคิดล่วง คือแม้ไม่รู้ไม่มีจิตคิดล่วง ก็เป็นอาบัติ ชื่อว่า โนสัญญาวิโมกข์ (ไม่ใช่สัญญาวิโมกข์) จบคำอธิบายปัญหาที่ ๖
ปัญหาที่ ๗ ภิกขุสังฆปริหรณปัญหา
พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน พระผู้มีพระภาคตรัสความข้อนี้ไว้ว่า :- "ตถาคตสฺส โข อานนฺท น เอวํ โหติ อหํ โข ภิกฺขุสงฺฆํ ปริหริสฺสามีติ วา มมุทฺเทสิโก ภิกฺขุสงฺโฆติ วา." (ที.มหา. ๑๐/๑๒๐) ดูก่อน อานนท์ ตถาคตไม่เกิดความคิดอย่างนี้ว่า เราจะบริหาร (ปกครอง, ดูแล) ภิกษุสงฆ์ หรืออย่างนี้ว่า ภิกษุสงฆ์จะเป็นผู้ที่มีเราเป็นผู้ชี้แนะดังนี้ แต่เมื่อจะแสดงพระคุณที่มีอยู่ของพระผู้มีพระภาคเมตไตรย กลับตรัสเป็นอีกอย่างหนึ่งว่า :- "โส อเนกสหสฺตํ ภิกฺขุสงฺฆํ ปริหริสฺสติ, เสยฺยถาปิ อหํ เอตรหิ อเนกสตํ ภิกฺขุสงฆํ ปริหริสฺสติ." (ที.ปา. ๑๑/๘๓) พระผู้มีพระภาคเมตไตรยนั้น จะบริหารภิกษุสงฆ์จำนวนหลายพัน เหมือนอย่างที่เราบริหารภิกษุสงฆ์จำนวนหลายร้อยอยู่ในปัจจุบัน ดังนี้ พระคุณเจ้านาคเสน ถ้าหากพระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า ดูก่อน อานนท์ เราไม่เกิดความคิดอย่างนี้ว่า เราจะบริหารภิกษุสงฆ์ หรืออย่างนี้ว่า ภิกษุสงฆ์จะเป็นผู้ที่มีเราเป็นผู้ชี้แนะ ดังนี้ จริงไซร้ ถ้าอย่างนั้น คำที่ตรัสไว้ว่า เราจะบริหารภิกษุสงฆ์จำนวนหลายร้อย ดังนี้ ก็ต้องผิด ถ้าหากพระตถาคตตรัสไว้ว่า พระผู้มีพระภาคเมตไตรยนั้นจะบริหารภิกษุสงฆ์จำนวนหลายพัน เหมือนอย่างเราบริหารภิกษุสงฆ์จำนวนหลายร้อยอยู่ในปัจจุบันนี้ ดังนี้ จริงไซร้ ถ้าอย่างนั้นคำที่ตรัสไว้ว่า ดูก่อนอานนท์ เราไม่เกิดความคิดอย่างนี้ว่า เราจะบริหารภิกษุสงฆ์ รู้อย่างนี้ว่า ภิกษุสงฆ์จะเป็นผู้ที่มีเราเป็นผู้ชี้แนะ ดังนี้ ก็ต้องผิด ปัญหาแม้นี้ ก็มี ๒ เงื่อน ตกถึงแก่ท่านแล้ว ขอท่านจงคลี่คลายปัญหานั้นเถิด
พระนาคเสน, ขอถวายพระพร มหาบพิตร พระผู้มีพระภาคทรงภาษิตความข้อนี้ไว้ว่า ดูก่อน อานนท์ เราไม่เกิดความคิดอย่างนี้ว่า เราจะบริหารภิกษุสงฆ์ หรืออย่างนี้ว่า ภิกษุสงฆ์จะเป็นผู้ที่มีเราเป็นผู้ชี้แนะ ดังนี้ จริง และเมื่อจะแสดงพระคุณที่มีอยู่ของพระผู้มีพระภาคเมตไตรย ก็ตรัสไว้อีกว่า พระผู้มีพระภาคเมตไตรยนั้น จะบริหารภิกษุสงฆ์จำนวนหลายพันเหมือนอย่างที่เราบริหารภิกษุสงฆ์จำนวนหลายร้อยอยู่ในปัจจุบันนี้ ดังนี้ จริง ขอถวายพระพร มหาบพิตร ในปัญหาข้อนี้ อรรถหนึ่งในปัญหาข้อนี้ เป็นอรรถที่มีส่วนเหลือ อีกอรรถหนึ่งไม่มีส่วนเหลือ (สิ้นเชิง) ขอถวายพระพร พระตถาคตมิได้ทรงเป็นผู้คอยติดตามบริษัท แต่ว่าบริษัท เป็นผู้คอยติดตามพระตถาคต มหาบพิตร ที่กล่าวว่า เรา ว่า ของเรา นี้ เป็นเพียงสมมุติ หาใช่ปรมัตถ์ ไม่ ขอถวายพระพร พระตถาคตทรงปราศจากความรัก ปราศจากความเสน่หา พระตถาคตไม่ทรงมีการถือเอาว่า ของเรา แต่ว่าทรงเป็นผู้ที่สัตว์ทั้งหลายได้อาศัยพึ่งพิง. ขอถวายพระพร เปรียบเหมือนว่า แผ่นดินเป็นที่ตั้ง เป็นที่พำนักแห่งสัตว์ทั้งหลายอยู่บนพื้นดิน สัตว์ทั้งหลายล้วนแต่อยู่บนพื้นดิน แต่แผ่นดินใหญ่ก็หายได้แยแสว่า สัตว์เหล่านี้ของเรา ดังนี้ไม่ ฉันใด ขอถวายพระพร พระตถาคตทรงเป็นที่พึ่งที่พำนักแห่งสัตว์ทั้งหลาย และสัตว์ทั้งหลายก็พึ่งพระตถาคต แต่พระตถาคตหาทรงแยแสว่า สัตว์เหล่านี้ ของเรา ดังนี้ไม่ ฉันนั้น ขอถวายพระพร อีกอย่างหนึ่ง เปรียบเหมือนว่า เมฆฝนห่าใหญ่ เมื่อตกลงมาก็ย่อมมอบความเจริญงอกงามให้แก่ต้นไม้ ต้นหญ้า และมนุษย์ทั้งหลาย คอยตามรักษาให้เป็นไปสืบต่อ ก็สัตว์เหล่านี้ล้วนเป็นอยู่ได้ด้วยฝน แต่ว่าเมฆฝนห่าใหญ่ก็หาได้แยแสว่า สัตว์เหล่านี้ ของเรา ดังนี้ไม่ฉันใด ขอถวายพระพร พระตถาคตก็ทรงทำกุศลธรรมให้เกิดแก่สัตว์ทั้งหลาย ทรงคอยตามรักษา ก็สัตว์ทั้งหลายล้วนเป็นอยู่ได้ด้วยพระศาสดา แต่พระตถาคตหาทรงแยแสว่า สัตว์เหล่านี้ ของเรา ดังนี้ไม่ ฉันนั้นเหมือนกัน ข้อนั้นเป็นเพราะเหตุไร เพราะทรงละอัตตานุทิฏฐิได้แล้ว
พระเจ้ามิลินท์, ดีจริง พระคุณเจ้านาคเสน ท่านเปลื้องปัญหาด้วยดี ด้วยเหตุผลหลายอย่าง ท่านได้ทำปัญหาที่ลึกซึ้งให้ตื้นได้ ทำลายเงื่อนผมได้ ทำข้อที่ยุ่งเหยิงให้หมดยุ่งเหยิงได้ ทำที่มืดให้เป็นที่สว่างได้ ทำร้ายพระปรปวาทะได้ ท่านได้ทำดวงตาให้เกิดแก่ภิกษุผู้เป็นบุตรของพระผู้ชนะมารทั้งหลายแล้ว. จบภิกขุสังฆปริหรณปัญหาที่ ๗
คำอธิบายปัญหาที่ ๗
ปัญหาเกี่ยวกับการบริหารภิกษุสงฆ์แห่งพระผู้มีพระภาคชื่อว่า ภิกขุสังฆปริหรณปัญหา. ในคำเหล่านั้น คำว่า อรรถหนึ่งเป็นอรรถที่มีส่วนเหลือ คือเนื้อความที่ ๒ ที่ว่า พระผู้มีพระภาคเมตไตรยนั้น จะบริหารภิกษุสงฆ์จำนวนหลายพัน เหมือนอย่างที่เราบริหารภิกษุสงฆ์หลายร้อยอยู่ในบัดนี้ ดังนี้ นี้ ชื่อว่าเป็นอรรถที่มีส่วนเหลือ คือมีส่วนที่เกิน ที่พ้นไปจากสภาวธรรม เป็นพิเศษเหลืออยู่ คือว่า แม้ทรงละอัตตานุทิฐิที่สร้างความสำคัญว่าเป็นเราได้แล้ว ก็ยังทรงกระทำเหมือนกับว่ายังทรงมีอยู่ โดยการที่ตรัสสักแต่เป็นโวหารว่า เราบริหาร ดังนี้ ซึ่งเนื้อความนี้เป็นส่วนที่เหลืออยู่ นอกเหนือไปจากสภาวธรรม. คำว่า อรรถหนึ่งไม่มีส่วนเหลือ คือเนื้อความแรกที่ว่า ดูก่อน อานนท์ ตถาคตไม่มีความคิดอย่างนี้ว่า เราจะบริหารภิกษุสงฆ์ ดังนี้เป็นต้น นี้ ชื่อว่าเป็นอรรถที่ไม่มีส่วนเหลือ เพราะพระผู้มีพระภาคไม่ทรงมีอัตตานุทิฏฐิที่สร้างความสำคัญว่าเป็นเรา จึงตรัสว่า คาถาคตไม่มีความคิดว่า เราจะบริหาร เพราะเมื่อความจริงโดยปรมัตถ์ มีเพียงสภาวธรรมที่เป็นไปตามปัจจัยเท่านั้น อย่างนี้แล้ว ผู้ละอัตตานุทิฏฐิได้แล้ว ย่อมไม่เกิดความคิด ไม่เกิดความยึดมั่นว่า เราจะบริหาร เพราะไม่มีเรา ซึ่งเป็นผู้บริหาร เพราะฉะนั้น จึงเป็นเนื้อความที่หาส่วนเหลือไม่ได้ ความว่าเจาะจงแสดงให้ทราบว่ามีแต่สภาวธรรม. จบคำอธิบายปัญหาที่ ๗. จบมิลินทปัญหาตอนที่ ๒๗
ขอให้ การอ่าน การศึกษา ของทุกท่านตามกุศลเจตนา ได้เป็นพลวปัจจัย เพิ่มพูลกำลังสติ กำลังปัญญา ให้สามารถนำตนให้พ้นจากวัฏฏทุกข์ด้วยเทอญ
ณัฏฐ สุนทรสีมะ
ที่มา : http://dhamma.serichon.us/
มิลินทปัญหา (ตอนที่ 50) , (ตอนที่ 49) , (ตอนที่ 48) , (ตอนที่ 47) , (ตอนที่ 46) , (ตอนที่ 45) , (ตอนที่ 44) , (ตอนที่ 43) , (ตอนที่ 42) , (ตอนที่ 41) , (ตอนที่ 40) , (ตอนที่ 39) , (ตอนที่ 38) , (ตอนที่ 37) , (ตอนที่ 36) , (ตอนที่ 35) , (ตอนที่ 34) , (ตอนที่ 33) , (ตอนที่ 32) , (ตอนที่ 31) , (ตอนที่ 30) , (ตอนที่ 29) , (ตอนที่ 28) , (ตอนที่ 27) , (ตอนที่ 26) , (ตอนที่ 25) , (ตอนที่ 24) , (ตอนที่ 23) , (ตอนที่ 22) , (ตอนที่ 21 ต่อ) , (ตอนที่ 21) , (ตอนที่ 20) , (ตอนที่ 19) , (ตอนที่ 18) , (ตอนที่ 17) , (ตอนที่ 16) , (ตอนที่ 15) , (ตอนที่ 14) , (ตอนที่ 13) , (ตอนที่ 12) , (ตอนที่ 11) , (ตอนที่ 10) , (ตอนที่ 9) , (ตอนที่ 8) , (ตอนที่ 7) , (ตอนที่ 6) , (ตอนที่ 5) , (ตอนที่ 4) , (ตอนที่ 3) , (ตอนที่ 2) , (ตอนที่ 1) , ประโยชน์การอุปมาอันได้จากการศึกษาคัมร์ในทางพุทธศาสนา มีคัมภีร์มิลินท์ปัญหาเป็นต้น , มิลินทปัญหา ปัญหาเกี่ยวกับการไม่เคลื่อนไปก็ปฏิสนธิได้ , เหตุไร ตรัสให้คฤหัสถ์โสดาบันกราบไหว้ ลุกรับภิกษุสามเณรปุถุชนเล่า? , นิปปปัญจปัญหา - ปัญหาเกี่ยวกับธรรมที่ปราศจากเหตุให้เนิ่นช้าในวัฏฏทุกข์ , ถามว่า อานิสงส์การเจริญเมตตา ห้ามอันตรายต่างๆ เหตุไรสุวรรณสามผู้เจริญเมตตาจึงถูกยิงเล่า?
0 comments: