ธุดงค์ ทุกข์ดง
หมดสงสัย
มีพระเถระองค์หนึ่งในครั้งพุทธกาล อยากจะปฏิบัติให้ถูกต้อง อยากจะรู้ว่าอะไรถูกอะไรผิด ให้มันแน่นอนเที่ยวออกไปอยู่องค์เดียว ว่าอยู่หลายองค์มันวุ่นวาย อยู่องค์เดียวทำสมาธิไปเรื่อยๆ สมาธิก็สงบบ้างไม่สงบบ้างเอาแน่นอนไม่ได้ บางทีก็ขี้เกียจ บางทีก็ขยัน เกิดความสงสัยเพราะกำลังหาทางปฏิบัติอยู่
พอดีได้ยินกิตติศัพท์อาจารย์คณาจารย์ที่ปฏิบัติด้วยกันมีมากในสมัยนั้น ได้ยินกิตติศัพท์ว่า พระ ก เป็นอาจารย์สอนปฏิบัติ คนไปฟังธรรมมาก กิตติศัพท์ของท่านว่าปฏิบัติดี ก็มานั่งคิด เออ เผื่อองค์นี้จะถูก ก็ไปฟังท่านเทศน์.ไปปฏิบัติกับท่าน ฟังท่านเทศน์แล้วก็เอามาปฏิบัติอยู่องค์เดียว บางสิ่งก็เหมือนกับตัวเราคิดบ้าง บางอย่างก็ไม่เหมือนกัน ความสงสัยก็เกิดขึ้นเรื่อยไม่หยุด อยู่ไปอีกก็มีอาจารย์ ข ข่าวว่าท่านปฏิบัติดีด้วยเก่งด้วย เกิดความสงสัยก็ไปอีก ไปฟัง ได้ความแล้วก็มาปฏิบัติ เทียบองค์นี้กับองค์นั้น ก็ไม่เหมือนกัน เทียบองค์นั้นกับองค์นั้น ก็ไม่เหมือนกัน กับความคิดของเรานี้ ก็ไม่เหมือนกันอีก แปลกไปเรื่อย ความสงสัยก็ยิ่งมากขึ้น
อยู่ไปได้ข่าวอีก พระ ค อาจารย์ ค เก่งเหมือนกัน เขาร่ำลือมา อดไม่ได้ อยากจะไปอีก ไปปฏิบัติกับท่าน ท่านจะเทศน์ยังไงปฏิบัติยังไง ก็ไป ไปฟังธรรมะท่านเหมือนกันบ้าง ไม่เหมือนกันบ้างเอามาคิด องค์นั้นทำไมทำอย่างนั้น องค์นี้ทำไมทำอย่างนี้ รวมความเห็นของอาจารย์เข้าด้วยกัน แล้วก็มารวมความเห็นของเราไปกันคนละอย่าง เลยไม่เป็นสมาธิ องค์นั้นเป็นยังไง องค์นี้เป็นยังไง ความฟุ้งซ่านยิ่งเกิดขึ้น ก็ยิ่งทำให้หมดกำลัง ไม่สบาย สงสัยไม่หาย
วันหลังมาได้ข่าวว่าพระศาสดาพระโคดมเกิดขึ้นในโลก ยิ่งหนักใหญ่เลยทีนี้ อดไม่ได้อีก ไปอีก ไปกราบท่าน ไปฟังธรรมะท่าน ท่านก็เทศน์ให้ฟัง ท่านว่า ไปทำความเข้าใจกับคนอื่นให้หายความสงสัยนั้นไม่ได้ ยิ่งฟัง ยิ่งสงสัย ยิ่งฟังก็ยิ่งแปลก พระพุทธองค์ท่านตรัสว่าความสงสัย ไม่ใช่ว่าจะให้คนอื่นตัดให้เรา ไม่ใช่คนอื่นจะแก้ความสงสัยให้เรา องค์อื่นก็อธิบายเรื่องความสงสัยเท่านั้นแหละ เราก็จับมาปฏิบัติให้มันรู้เองเห็นเอง ท่านบอกว่า "อยู่ในกายของเรานี้แหละ รูปเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันนี้เป็นอาจารย์ของเรา ให้ความเห็นแก่เราอยู่แล้ว" แต่เราขาดการภาวนา ขาดการพิจารณา
ท่านบอกว่าจะระงับความสงสัยให้พิจารณากายกับใจของตัวเองเท่านั้นแหละ อดีตก็ให้ทิ้ง อนาคตก็ให้ทิ้ง ให้รู้ทิ้ง ให้รู้ รู้แล้วทิ้งไม่ใช่ไม่รู้ รู้ทิ้ง อดีตทำดีมาแล้ว ชั่วมาแล้ว อะไรๆมาแล้ว อดีตที่ผ่านมาแล้วก็ทิ้ง เพราะว่าไม่เกิดประโยชน์อะไร ที่ดีก็ดีแล้ว ผิดก็ผิดแล้ว ถูกก็ถูกแล้ว ปล่อยทิ้งไป อนาคตก็ยังไม่มาถึง อะไรจะเกิดก็ในอนาคต จะดับก็ในอนาคต อันนั้นก็อย่าไปยึดมั่นถือมั่น รู้แล้วก็ทิ้งทิ้งอดีต สิ่งที่เกิดในอดีตก็ดับไปแล้ว เอามาคิดมากทำไม คิดแล้วก็ปล่อยไป ธรรมนั้นเกิดในอดีต เกิดแล้วก็ดับไปแล้วในอดีต ปัจจุบันจะเอามาคิดทำไม รู้แล้วก็ปล่อย ให้รู้ปล่อย ไม่ใช่ไม่ให้คิดเห็นคิดเห็นแล้วก็ปล่อย เพราะมันเสร็จแล้ว อนาคตที่ยังไม่มาถึงนั้นธรรมในอนาคตเกิดในอนาคต อะไรที่เกิดในอนาคตก็จะดับในอนาคตนั้น ให้รู้แล้วปล่อยเสีย อดีตก็เรื่องของไม่เที่ยงเหมือนกัน อนาคตก็ไม่แน่นอนเหมือนกัน ให้รู้แล้วก็ปล่อย เพราะเป็นของไม่แน่นอน ดูปัจจุบันเดี๋ยวนี้ ดูปัจจุบันเราทำอยู่นี่ ท่านอย่าไปดูอื่นไกล
ถูกของเขา-ถูกของเรา
พระพุทธองค์ท่านสอนว่า คนที่ยังเชื่อคนอื่นอยู่นั้น ท่านไม่สรรเสริญ บุคคลยังดีใจเสียใจกับคำคนอื่นที่พูด หรือกระทำ ตรงนั้นพระพุทธเจ้ายังไม่สรรเสริญ เพราะเป็นของของคนอื่นเขา รู้แล้วต้องวาง ถึงแม้จะถูกก็ถูกคนอื่นเขา ถ้าเราไม่เอามาทำให้มันถูกที่ใจเราแล้วความถูกก็ไม่มาถึงเรา ถูกอยู่โน้น อาจารย์นั้นผิดอยู่โน้น ถูกอยู่โน้นไม่มาถูกถึงเรา ถูกก็จริงแต่มันถูกคนอื่น ไม่ถูกเรา หมายความว่าถ้าไม่ปฏิบัติในจิตให้รู้เห็นตามความเป็นจริงแล้ว พระพุทธเจ้าท่านไม่สรรเสริญ
ผมเคยเทศน์บ่อยๆว่า โอปนยิโก น้อมเข้ามา ให้มันรู้ให้มันเห็นให้มันเป็น อย่างเขาว่าถูกแล้วก็เชื่อ ไม่ถูกก็เชื่อ อย่าทำอย่างนั้น ถูกก็ถูกเรื่องคนอื่นเขาพูด เอาเรื่องอันนั้นมาปฏิบัติให้เกิดกับจิตเจ้าของในปัจจุบันนี้ ให้มีพยานในตัวของตัวนี้ ผมเคยพูดให้ท่านฟังเสมอว่าผลไม้นี้เปรี้ยว อย่างนี้ เอาผลไม้นี้ไปทานเสีย เอาไปฉันมันเปรี้ยวนะนี่บางคนก็เชื่อ อย่างท่านก็จะเชื่อว่ามันเปรี้ยว ความเชื่อของท่านน่ะมันเป็นโมฆะ ไม่มีความหมายอะไรมากมาย เพราะที่ท่านว่าเปรี้ยวน่ะท่านเชื่อจากผมพูดว่ามันเปรี้ยว เท่านั้นละ พระพุทธเจ้ายังไม่สรรเสริญแต่เราก็ไม่ทิ้ง เอาไปพิจารณา เอาผลไม้มาฉันดูเสีย เมื่อความเปรี้ยวปรากฏขึ้นมานั้น เรียกว่าเรามีพยานในตัวแล้ว ท่านว่าเปรี้ยว เราเอามาฉันดู ก็เปรี้ยว นี่สองอย่างแล้ว เชื่อแล้วทีนี้ เพราะเรามีพยานท่านครูบาอาจารย์มั่นท่านเรียกว่าเป็น สิขีภูโต อันนี้เป็นพยานในตัวของตัวแล้ว สิ่งที่เรารู้จากคนอื่น ไม่มีใครเป็นพยาน เอาคนอื่นเป็นพยานเท่านั้น อันนี้ให้ห้าสิบเปอร์เซ็นต์เรารู้จากท่านว่าผลไม้นี้เปรี้ยว นี่ได้เพียงห้าสิบเปอร์เซ็นต์ ถ้าเราเอาผลไม้นั้นมาฉันดู เปรี้ยวอีก ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์เลย เพราะคนบอกมาว่าเปรี้ยว เราเอามาฉันดูก็เปรี้ยวอย่างนี้เป็นร้อยเปอร์เซ็นต์เลย เป็น สิขีภูโต ได้พยานกับตัวเกิดขึ้นมาแล้วอย่างนี้
ฉะนั้น จึงว่า โอปนยิโก น้อมเข้ามาให้เป็น ปัจจัตตัง (รู้เฉพาะตัว) เห็นอยู่กับคนอื่น ไม่ใช่เห็น ปัจจัตตัง เห็นนอกปัจจัตตัง ไม่เห็นเฉพาะจิตของเจ้าของ เฉพาะตัวของเรา เห็นจากคนอื่น แต่ก็ไม่ควรประมาท ให้เป็นที่ศึกษาของเรา เป็นข้อศึกษาของเราเหมือนกันคล้ายๆกับว่าเราเห็นในหนังสือ อ่านหนังสือพบ เราก็เชื่อ แต่จิตเรายังไม่เป็น นี่มันก็ยังไม่เกิดประโยชน์เต็มที่ มันเพียงห้าสิบเปอร์เซ็นต์เท่านั้น มาปฏิบัติในจิตของเจ้าของ ให้จิตเราเป็นอย่างนั้น รู้อย่างนั้นเป็นอย่างนั้น อย่างนี้มันจึงเป็นร้อยเปอร์เซ็นต์ ไม่ต้องสงสัยแล้ว ถ้าเรารู้ในตัวของเราเอง มันหายสงสัย มันหมดเลย
ปัจจุบันธรรม
ปัจจุบันธรรม มันจะเป็นอย่างไร แก้มันเดี๋ยวนี้ ปฏิบัติเดี๋ยวนี้ปัจจุบันธรรม เพราะว่าปัจจุบันธรรมคือปัจจุบันนี้ มันเป็นทั้งเหตุทั้งผลปัจจุบันนี้มันตั้งอยู่ในเหตุผล อย่างเราอยู่เดี๋ยวนี้ อดีตเป็นเหตุ ปัจจุ-บันเป็นผล ทุกๆอย่างที่ผ่านมาถึงเดี๋ยวนี้มันมาจากเหตุทั้งนั้น อย่างท่านมาจากกุฏิของท่าน นี่เป็นเหตุ ที่มานั่งอยู่นี่เป็นผล มันเป็นอย่างนี้มันมีเหตุผลอย่างนี้เรื่อยๆไป อดีตเป็นเหตุ ปัจจุบันเป็นผล ปัจจุบันเป็นเหตุ อนาคตเป็นผล ที่เราอยู่เดี๋ยวนี้ก็เป็นเหตุ อดีตเหตุอยู่ในปัจจุบันนี้ก็เป็นผล ผลเดี๋ยวนี้มันก็เป็นเหตุของอนาคตอีก ฉะนั้นพระพุทธเจ้าท่านมองเห็นว่า ทิ้งอดีต แล้วก็ทิ้งอนาคต คำที่พูดว่าทิ้งนี่ไม่ใช่ทิ้งนะ คือมันมาอยู่จุดเดี๋ยวนี้ อดีต อนาคตมันอยู่ที่ปัจจุบันปัจจุบันนี้มันเป็นของผลของอดีต และมันเป็นเหตุของอนาคตต่อไปฉะนั้นทิ้งเหตุและผลมันเสีย เอาปัจจุบันนี้ เมื่อทิ้งมันก็เป็นเหตุผลของมันอยู่แล้ว คำที่พูดว่าทิ้งนั้นก็สักแต่ว่าภาษาพูดเท่านั้นละ แต่ความเป็นจริงนั้น ก็เรียกว่าจุดนี้เป็นจุดครึ่ง มันตั้งอยู่ในเหตุผลอยู่แล้วท่านว่าให้ดูปัจจุบันก็จะเห็นความเกิดดับ เกิดดับ อยู่เสมอเรื่อยๆ
ไม่แน่
ผมเคยพูดบ่อยๆ แต่คนไม่ค่อยใส่ใจ ถ้ามันเกิดขึ้นในปัจจุบันนี้ ผมก็ว่า เออ! อันนี้มันไม่เที่ยง แต่คำนี้คนไม่ค่อยได้ติดตาม อะไรเกิดขึ้นมาผมว่า มันไม่เที่ยง หรือว่ามันไม่แน่ อย่างนี้มันง่ายที่สุดเลยเราไม่ภาวนาไว้ เกิดมันไม่แน่ ไม่เที่ยง ไม่รู้เรื่อง มันก็วุ่นวาย อันที่มันไม่เที่ยงนั่นแหละ มันจะเห็นของเที่ยง อันที่มันไม่แน่แหละ มันจะเห็นของแน่ อย่างนี้พูดให้คนเข้าใจ เขาก็ไม่เข้าใจ ก็เลยวิ่งทางโน้นวิ่งทางนี้อยู่ตลอดเวลา ความเป็นจริงถ้าจะให้ถึงความสงบของมันต้องมาถึงจุดปัจจุบันนี้ อะไรเกิดขึ้นมา สุขทุกข์อะไรเกิดขึ้นมา ก็ว่า มันไม่แน่ ตัวที่ว่าไม่แน่นั่นแหละ คือ ตัวพระพุทธเจ้าแล้วนะนั่น ตัวที่ว่าไม่แน่ คือตัวธรรมะ ตัวธรรมะก็คือตัวพระพุทธเจ้า แต่คนไม่รู้จักเห็นธรรมะอยู่โน้น เห็นพระพุทธเจ้าอยู่นี้ ถ้าจิตใจของเราเห็นของทุกสิ่งทุกอย่างว่าเป็นของไม่แน่ ปัญหาที่เราจะไปยึดมั่นหมายมั่นก็จะค่อยหมดไปๆ จะโดยวิธีอย่างไรมันก็แน่ โดยที่มันเป็นของมันอยู่อย่างนั้นถ้าเรารู้เรื่องอย่างนี้ ใจก็ปล่อยก็วาง ไม่เข้าไปยึดมั่นถือมั่น ตัวอุปาทานนั้นปัญหานั้น ก็หมดไปๆก็เข้าถึงธรรมะเท่านั้นแหละ จะเอาอะไรมายิ่งกว่านั้นไม่มีละ อย่างนั้นธรรมะก็คือพระพุทธเจ้า พระ-พุทธเจ้าก็คือธรรมะ. ที่ผมสอนว่าที่มันไม่แน่ ที่มันไม่เที่ยง อันนี้ก็คือธรรมะ ธรรมะก็คือพระพุทธเจ้านั่นเองแหละ ไม่ใช่อื่นไกลหรอก ที่เราภาวนาพุทโธๆอย่างนี้ก็ให้เห็นเป็นอย่างนี้ พุทโธนั่นคือให้เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาให้เห็นว่า มันไม่เที่ยง ไม่แน่เท่านั้นละ ถ้าเราเห็นชัดเจนอย่างนี้แล้วจิตใจเราก็ปล่อยวาง เห็นความสุขก็ไม่แน่ เห็นความทุกข์ก็ไม่แน่เหมือนกัน ไปโน้นมันจะดีก็ไม่แน่ อยู่นี่มันจะดีก็ไม่แน่เหมือนกันเออ!เห็นมันไม่แน่ทั้งนั้นแหละ อยู่ที่ไหนก็สบาย เวลาเราอยากอยู่นี่เราก็อยู่ก็ไม่มีอะไร อยากจะไปเราก็ไป แต่ความสงสัยเราจะหมดไปอย่างนี้น่ะ หมดไปโดยวิธีที่เราปฏิบัติ คือให้ดูปัจจุบันนี้เท่านั้นละ อย่าไปห่วงอดีต อย่าไปห่วงอนาคต เพราะอดีตก็ผ่านไปแล้ว เรื่องที่เกิดในอดีตก็ดับไปในอดีตแล้ว หมดแล้ว อนาคตเราก็ปล่อย เรื่องที่จะเกิดในอนาคตก็จะดับในอนาคต เราจะไปห่วงใยทำไม ดูปัจจุบันธรรมนี้ว่า มันไม่แน่ มันไม่เที่ยง พุทโธก็รู้ขึ้นมา เจริญขึ้นมา รู้ความเป็นจริงในสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ว่ามันไม่เที่ยง เห็นอยู่ตรงนี้ ทีนี้อาการของสมาธิก็เจริญขึ้นมาได้
สงบจิต-สงบกิเลส
สมาธิ หรือความตั้งใจมั่น หรือความสงบมี ๒ อย่าง ความสงบที่ไปนั่งอยู่ในป่า สงบ หูไม่ได้ยิน ตาไม่ได้เห็น ไม่ใช่ว่าสงบจากกิเลส กิเลสมีอยู่ แต่ในเวลานั้นไม่ขุ่นขึ้นมา อย่างน้ำที่ตกตะกอนอยู่นั่นน่ะ เมื่อยังไม่ขุ่นขึ้นมามันก็ใส เมื่อถูกอะไรมากวน มันก็ขุ่นขึ้นมา ท่านก็เหมือนกัน เมื่อมีเสียง ได้ยินเสียง ได้ดูรูป ได้สัมผัสทางใจเกิดขึ้นมา ที่ไม่ชอบใจมันก็ขุ่นขึ้นมา ถ้าหากว่าไม่มีขึ้นก็สบาย สบายเพราะมีกิเลส อย่างเช่น ถ้าท่านอยากได้เทปอันนี้ ท่านก็เป็นทุกข์ พอไปแสวงหาได้เทปอันนี้มา ท่านก็สบายใช่ไหม สบายได้เทปนี้มาเพื่อไม่สบายนะ นี่นะ เพื่อไม่สบาย แต่ไม่รู้จัก เป็นเพราะว่าได้เทปมาก็สบายแล้ว ยังไม่ได้เทปมาเป็นทุกข์ พอหาเทปมาได้สบาย เมื่อขโมยมาเอาเทปไป ความสบายก็หายไปอีกแล้ว เป็นทุกข์ขึ้นอีกแล้ว มันก็เป็นอยู่อย่างนี้ ไม่ได้เทปก็เป็นทุกข์ ได้เทปมาแล้วก็สบาย พอเทปหายอีกก็ทุกข์เป็นอยู่อย่างนี้ตลอดเวลา นี้เรียกว่าสมาธิในที่สงบมันเป็นอยู่อย่างนั้น ได้เทปมาแล้วก็สบาย สบายเพราะอะไร เพราะได้เทปมาตามใจของเรานี่ สบายแค่นี้ สบายเพราะกิเลสที่ครอบงำเราอยู่ เราไม่รู้เรื่อง นานๆไปขโมยมาเอาเทปไปก็ทุกข์ขึ้นมาอีก
ฉะนั้น สงบอันนี้สงบเรื่องสมาธิชั่วคราว สมถะเราต้องมาพิจารณาเรื่องอันนี้ต่อไป เรื่องต่อไปนี้ได้เทปมาแล้ว ของที่เราได้มานี่แหละ มันจะเสีย มันจะหาย มันจะเสียหายไปเพราะเรามีเทป ถ้าเราไม่มีเทป เราก็ไม่มีอะไรจะหาย เหมือนอย่างกับเกิดมานั่นแหละเมื่อเกิดมาแล้วก็มีตาย ถ้าไม่เกิดมันก็ไม่ตาย คนที่ตายนี่ก็ล้วนแต่คนที่เกิดมาทั้งนั้น คนที่ไม่เกิดก็ไม่เห็นตาย อย่างนี้ ถ้าเราคิดได้เช่นนี้เราได้เทปมา เราก็รู้ว่าเทปนี้ไม่เที่ยง วันหนึ่งมันจะแตก อีกวันหนึ่งมันจะพัง อีกวันหนึ่งขโมยมันจะมาเอาไปก็ได้ ถ้าเราเห็นว่ามันไม่แน่อยู่แล้ว ที่เทปมันจะแตก มันจะพัง ขโมยจะมาเอาไป มันเรื่องของไม่เที่ยงทั้งนั้น ถ้าเราเห็นอย่างนี้เราก็ใช้เทปอันนี้อยู่ได้
เหมือนท่านอย่างนี้ อยากจะค้าขายทางโลก เขาอยากได้เงินธนาคารมาหมุน ท่านก็เป็นทุกข์ นี่ทุกข์ อยากได้เงินเขามา หาเงินหาทองมันยากมันลำบาก ก็เป็นทุกข์เพราะไม่ได้มา อีกวันหนึ่งไปกู้เงินธนาคารเขาให้มา ก็ดีใจ ดีใจไม่กี่ชั่วโมงหรอก ดอกเบี้ยมันก็กินท่านอีกแล้ว นั่งอยู่เฉยๆดอกเบี้ยเขาก็เอาไปกิน แหม! เป็นทุกข์อีกแล้วแน่ะ! ทำไม ไม่ได้เงินมาก็เป็นทุกข์ ได้เงินมาก็นึกว่าสบายแล้ว อยู่ไปอีกวันหนึ่งดอกเบี้ยมันก็เข้ามาอีกแล้ว เป็นทุกข์อีกแล้ว เป็นอยู่อย่างนี้
อันนี้พระพุทธเจ้าท่านจึงสอนว่า ให้เราดูปัจจุบันนี้ เห็นอนิจจังของกายของจิต ของธรรมะที่มันเกิดแล้วดับอยู่แค่นี้เอง มันเป็นของมันอย่างนั้น อย่าไปยึดมั่นถือมั่น ถ้าเราเห็นเช่นนี้ ความสงบก็เกิดขึ้นมา ความสงบคือการปล่อยวาง เกิดขึ้นมาเพราะปัญญาเกิด
อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
ปัญญาเกิดเพราะอะไร เพราะพิจารณาเรื่องอนิจจัง ทุกขังอนัตตา นั้นเป็นสัจจธรรม เห็นความจริงประจักษ์อย่างนั้นในใจ นี่อย่างนั้น เราจะเห็นชัดในใจของเราอยู่อย่างนี้เสมอ อารมณ์เกิดขึ้นมาแล้ว เห็นมันดับไป ดับแล้วเกิดขึ้นมา เกิดแล้วดับไป ถ้าเรามีความยึดมั่นถือมั่น ทุกข์ก็เกิดขึ้นเดี๋ยวนั้น ถ้าเราปล่อยวางไป ทุกข์ก็ไม่เกิดเราเห็นในใจของเราอยู่อย่างนั้น ก็เป็น สิขีภูโต อยู่อย่างนั้นแหละฉะนั้นเราควรเชื่อคนอื่นเพียงห้าสิบเปอร์เซ็นต์
ในคราวหนึ่งพระสารีบุตรท่านฟังธรรมะ พระพุทธเจ้าของเราเทศน์จบแล้ว พระพุทธเจ้าท่านถามว่า "สารีบุตรเชื่อไหม" "ยังไม่เชื่อพระเจ้าข้า" พระพุทธองค์ท่านชอบใจเลยว่า "ดีแล้ว สารีบุตรอย่าเพิ่งเชื่อง่ายๆเลย นักปราชญ์ต้องไปพิจารณาเสียก่อนจึงจะเชื่อได้ สารีบุตรต้องไปพิจารณาเสียก่อน" ถึงแม้ฟังธรรมของพระพุทธองค์ท่านก็ไม่เชื่อไปทุกคำ แต่ท่านก็ไม่ประมาท เอาไปพิจารณา ถ้าการที่ท่านเทศน์มีเหตุผลเกิดขึ้นกับใจของท่าน ใจของท่านเป็นธรรม ธรรมนั้นอยู่ในใจของท่าน มันเป็นอยู่อย่างนั้น พระพุทธองค์ให้เชื่อตรงนั้น เชื่อเพราะคนอื่นก็เห็นด้วย และเราก็เห็นด้วยว่ามันเป็นอยู่อย่างนั้นแน่นอน อย่างนี้
ผลที่สุดก็ให้ดูเท่านั้นแหละ ไม่ต้องดูอื่นไกล ดูปัจจุบัน ดูในจิตของเจ้าของเท่านั้นแหละ วางอดีต หรือวางอนาคต ให้ดูปัจจุบันปัญญาก็เกิดขึ้นตรง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา จะทำอย่างไร เราเดินไปก็ไม่เที่ยง นั่งก็ไม่เที่ยง นอนก็ไม่เที่ยง อะไรๆมันก็เป็นอยู่อย่างนั้นแหละ มันจะเที่ยงก็เที่ยงเพราะว่ามันเป็นอยู่อย่างนี้ ไม่แปรเป็นอย่างอื่น ถ้าความเห็นจบลงตรงนี้ ก็สบายเท่านั้นแหละ
ทุกข์เพราะคิดผิด
จะไปอยู่ยอดเขาจะเห็นว่าสงบเหรอ มันก็สงบชั่วคราวเท่านั้นละเมื่อหิวข้าวมาก็เหนื่อยอีกแล้ว ขาด "วิตามิน" แล้ว คนชาวเขานี่ไม่รู้จักวิตามิน ก็ลงมาอยู่วัดป่าพง อยู่ในกรุงเทพฯ แหม... อาหารมากไปแฮะ วุ่น ลำบาก ไปอยู่ไกลๆดีกว่า ความเป็นจริง คนไปอยู่คนเดียวเป็นทุกข์ก็โง่ อยู่หลายคนเป็นทุกข์ก็โง่ทั้งนั้นแหละ เหมือนขี้ไก่ ขี้ไก่ ถือไปคนเดียวก็เหม็น เอาไปหลายๆคนก็เหม็น ถือไปเรื่อยของเน่าอย่างนี้ อันนี้เรายังคิดผิดอยู่ ถ้าหากว่าเรามีปัญญานะ อยู่หลายคนก็นึกว่ามันไม่มีความสงบ คิดอย่างนี้ก็อาจจะถูกกระมัง แต่ว่าเราจะมีปัญญามากนะ. ผมนี้เกิดปัญญาเพราะมีลูกศิษย์มากๆนี่แหละ แต่ก่อนน้อย พอโยมมามาก คนมามากๆ ลูกศิษย์มากๆ ต่างคนต่างคิด ต่างมีประสบการณ์มาก รวมเข้ามา ความอดทนก็กล้าขึ้น เท่าที่เราอดทนได้เราก็พิจารณาไปเรื่อย มันมีประโยชน์ทั้งนั้นแหละ ถ้าเราไม่รู้เรื่องสิ่งเหล่านี้ก็ไปอยู่คนเดียว ดี! อยู่ไปอีกหน่อยก็เบื่อ อยู่หลายคน ดี!อาหารน้อยๆดี! อาหารมากๆ ดี! อาหารน้อยๆ ไม่ดี! อาหารมากๆไม่ดี! ก็เป็นกันอยู่อย่างนี้ทั้งนั้นแหละ เพราะเรายังตัดสินใจไม่ได้
ถ้าเราเห็นว่ามันไม่แน่นอน มากคนก็ไม่แน่ น้อยคนก็ไม่แน่อย่าไปยึดมั่นถือมั่นเลย มาดูปัจจุบันนี้ ดูร่างกายเรานี้เข้าไป พระพุทธองค์ท่านสอนว่า ให้อยู่ในที่สบาย อาหารสบาย กัลยาณมิตรสบาย ที่อยู่สบาย การที่สบายมันก็หายากนะ ท่านบอกว่าสบายๆไปอยู่ที่ไหนก็ไม่สบาย เช่น วัดนี่สบายไหม อุปัฏฐากที่สบาย เดี๋ยวเขาให้น้ำร้อนน้ำเย็น น้ำตาลทุกวัน พูดดีๆ หวานๆ นั่นโยมอุปัฏฐากบางคนก็ชอบอย่างนั้น แหม! อุปัฏฐากนี่ดีแล้ว สบาย เดี๋ยวก็ตายเท่านั้นแหละ! นี่อย่างนี้ เรื่องสบายของคนมีหลายอย่าง ถ้าเรามีจิตใจรู้จักความพอดีของเรา ไปอยู่ที่ไหนก็สบาย เมื่อจะอยู่ก็อยู่ เมื่อจะไปก็ไป ไม่ห่วงอะไรอย่างนี้ ถ้าเรารู้น้อยมันก็ยาก รู้มากมันก็ลำบากอะไรทั้งหลาย มันก็ไม่สบายละ ไม่สบายก็เรื่องของเขาเป็นอยู่อย่างนี้เราไม่รู้เรื่อง มันก็เดี๋ยวสบาย เดี๋ยวไม่สบายสารพัดอย่าง จะไปหาที่ไหน ท่านพูดถูกแล้ว แต่ว่าจิตเรายังทำไม่ถูก จะไปหาอย่างไหนอย่างองค์นั้นทำสมาธิให้มาก ฉันแล้วหนีไปเลย ทำสมาธิอย่างเดียวทำจริงๆจังๆ หรือจะไม่จริงไม่จังก็ไม่รู้ ถ้าทำจริงจังก็สงบสิ จริงจังทำไมไม่สงบ นี่มันเป็นอยู่อย่างนั้น มันไม่จริงไม่จังนั่นแหละ มันถึงไม่สงบ
ต้องแยบคาย
เรื่องสมาธินั้น อะไรก็ช่างมันเถอะ มันเป็นบทบาทกัน ศีลสมาธิ ปัญญา มันเป็นรากฐานตายตัวอยู่แล้วละ เป็นเครื่องมือของกรรมฐานเท่านั้นแหละ แล้วแต่ใครจะภาวนาค้นคว้าหา มีปัญญามากก็เห็นง่าย ปัญญาน้อยก็ไม่เห็นง่าย ไม่มีปัญญาเลยก็ไม่เห็นเลย ปฏิบัติอย่างเดียวกันก็ไม่เห็นกันเพราะปัญญา จะไปดูครูบาอาจารย์นั้นก็ให้พิจารณาแยบคายออกไป อาจารย์นั้นทำยังไง อาจารย์นี้ทำยังไงก็ดู เท่านั้นแหละ มันเรื่องนอกๆทั้งนั้น ดูกิริยาอาการดูการประพฤติปฏิบัติมันอยู่ข้างนอก ถ้าดูอย่างนี้ความสงสัยก็มีเรื่อยไป เอ๊ะ! ทำไมอาจารย์นั้นทำอย่างนี้ อาจารย์นี้ทำอย่างนี้ เอ๊ะ! ทางนั้นอาจารย์เทศน์มาก เอ๊ะ! ทางนั้นทำไมอาจารย์เทศน์น้อย เอ๊ะ! ทางนั้นอาจารย์ท่านไม่เทศน์เลย เป็นบ้าอยู่อย่างนั้นแหละ เลยเป็นบ้าไปเลย เราก็เอาสิเรา ที่ถูกมันก็อยู่ตามนั้นแหละ มันเป็นสัมมาปฏิปทาของเราอย่างนี้เราดูเป็นตัวอย่างเท่านั้นแหละ เรามาพิจารณาอีกชั้นหนึ่งแล้ว ความสงสัยก็จะหมดไป
อย่าส่งจิตตาม
พระเถระองค์นั้นท่านก็ไม่พิจารณา อดีตก็ช่างมันเถอะ อนาคตก็ช่างมันเถอะ ไม่ส่งจิตไปละ ท่านก็ดูเอาที่มันเกิดขึ้นเดี๋ยวนี้ ดูจิตอันนี้ว่าจะมีอาการเกิดขึ้นยังไงก็ช่าง ท่านจะบอกว่า เออ! อันนี้มันไม่แน่หรอก อันนี้มันไม่เที่ยง สอนมันอยู่อย่างนี้แหละ เดี๋ยวเราก็เห็นธรรมะ
เราไม่ต้องวิ่งตามมันสิ อย่างมันเป็นวงจรนี่ วงจรมันรอบ นี่เป็นตัวจิตของเรา สังสารจักร ตัววัฏฏะมันวงรอบ จะไปวิ่งตามมันได้ไหม มันเร็วเข้าๆ เราจะวิ่งตามมันได้ไหม ลองวิ่งสิ เรายืนอยู่ที่เดียวนี่แหละ วงจรมันจะรอบเอง มันมีตุ๊กตาตัวหนึ่งอยู่นี่ ถ้ามันวิ่งเร็ว...เร็ว...เร็ว...เร็ว...เร็วที่สุด เราจะวิ่งตามมันทันไหม ไม่วิ่งหรอก ยืนอยู่ตรงนี้แหละ ตุ๊กตามันวิ่ง เรายืนอยู่ตรงกลาง เราจะเห็นตุ๊กตาทุกๆครั้งเลย ไม่ต้องวิ่งตามมัน เรายิ่งตะครุบเท่าไร มันยิ่งไม่ทันเท่านั้นแหละ
ธุดงควัตร
เรื่องการไปธุดงค์นี่นะ ทั้งผมสรรเสริญทั้งผมห้ามไว้ แต่ถ้าคนมีปัญญาแล้วก็ไม่มีอะไร ผมเห็นพระองค์หนึ่งท่านสมาทานว่า ท่านไม่ไปละธุดงค์ ธุดงค์ไม่ใช่การไป ท่านคิดง่ายๆ อยู่กับที่นี่แหละธุดงค์ ๓ ข้อน่ะแหละปฏิบัติให้มันเข้มงวดอยู่ตรงนี้ ไม่ต้องสะพายกลด สะพายบาตรให้มันเหนื่อยหรอก นี่ก็ถูกของท่านเหมือนกันนะแต่มันไม่พอใจ ถ้าเราอยากไป ถ้ามันเห็นชัดจริงๆละก็ พูดคำเดียวเท่านั้นมันก็เห็น. อย่างผมเล่าให้ฟัง มีเณรองค์น้อยที่ไปอยู่ป่าช้าน่ะ ไม่เคยไปเลย ไปอยู่องค์เดียว ๖ วัน ๗ วัน อยู่กลางป่าช้าคนเดียว เด็กแท้ๆผมเป็นห่วง ไปถาม ไปดู เห็นไปบิณฑบาตในหมู่บ้านแล้วก็มาฉัน มีแต่หลุมฝังศพทั้งนั้นรอบข้าง เณรก็นอนอยู่อย่างนั้นองค์เดียวตลอดอยู่ที่บ้านกลางนี่ได้ ๗ วันแล้ว ผมไปถามดู ท่าทางก็อยู่สบาย ไปถามว่า "เอ! ไม่กลัวเหรอ" เณรบอก "ไม่กลัว" "ทำไมถึงไม่กลัวนี่" "คิดว่ามันคงไม่มีอะไร!"
เท่านั้นเองมันก็หยุด ไม่ได้ไปคิดอย่างอื่นให้ยุ่งยาก นี่ หายเลยหายกลัว ลองทำแบบนี้ดูซิ ผมว่า การยืน การเดิน การไป การมาการทำกิจธุระเล็กๆน้อยๆ ถ้าเรามีสติเราไม่ปล่อย มันไม่เสื่อมหรอกไม่เสื่อม อาหารมากๆก็เป็นทุกข์ว่าลำบาก ลำบากทำไม เอาชิ้นเดียวเท่านั้น แล้วก็ให้คนอื่นเขาไป จะลำบากมันทำไม ยุ่ง ยุ่งอะไร เอาชิ้นเดียวก็พอ ให้เขาเสีย เราเสียดายมันก็ยากสิ อันนี้ไม่เอา ตักอันนั้นใส่อันนี้ ตักใส่จนไม่อร่อยเท่านั้นละ เลยนึกว่าอาหารมากนักวุ่น วุ่นเอาหลายทำไมล่ะ เราไปวุ่นกับมันนี่ เอาสักชิ้นหนึ่งก็พอแล้ว นี่ไปหาว่าอาหารมากวุ่น มันจะวุ่นอะไรอาหารน่ะ อ้าว! บ้าสิ! จะวุ่นอะไร คนมากๆวุ่น วุ่นอะไร ที่เราทำกันอยู่ทุกวันนี้จะไปทำอะไรมาก ไปบิณฑบาตแล้วก็กลับมาฉัน มีกิจธุระเล็กๆน้อยๆก็ทำ เรามีสติอยู่เราก็ทำเสีย เราไม่ขาด เวลาทำวัตรนี่มันเสื่อมเหรอ ถ้าทำวัตรเสื่อมก็ปฏิบัติไม่ได้เท่านั้นแหละ ก็เราไปกราบไหว้สร้างความดีทั้งนั้น มันจะเสื่อมอะไร จะเห็นว่าไปทำวัตรยุ่ง ไม่ยุ่งหรอก เราน่ะ ถ้าเราคิดให้มันยุ่ง มันก็ยุ่ง ไม่ไปมันก็ยุ่ง
เราต้องคิดอย่างนี้ให้ดีๆเถอะ ทุกคนก็ชอบจะเป็นใหม่ๆ ก็ชอบเป็นอย่างนั้นละ ความเป็นจริงน่ะ เราไปยุ่งกับมัน เราอยู่กับหมู่คณะก็อยู่สิ ใครจะทำอะไรก็ทำไป ผิดบ้าง ถูกบ้าง เราก็อบรมแนะนำกันไปใครไม่อยู่ก็ไป เราอยู่ก็อยู่ มันยิ่งมีประโยชน์ละ พระ ก. พระ ข. พระ ค. พระ ง. ก็ยิ่งเห็น เอ๊! ท่านองค์นี้ท่านอยู่ของท่านยังไงนะ ท่านถึงอยู่ง่ายๆ มันยิ่งเป็นประโยชน์แก่เพื่อนมนุษย์ คนมากๆ อย่างเราเป็นลูกวัดนี่นะมีกิจ ท่านพาพระเณรทำ เราก็ทำเสีย จะเป็นอะไร เมื่อเลิกเราก็หยุด สิ่งที่ถูกต้องเราก็พูดไป สิ่งที่ไม่ถูกไม่ดีเราก็ไม่พูด เก็บเสีย อาหารก็อย่าเอามากเอามายสิ เอามาสักชิ้นสองชิ้นแล้วก็เลิก เห็นมีมาก อันนี้ก็จะเอานิด อันนั้นก็จะเอาหน่อย เอาทุกอย่าง นิมนต์เถอะเจ้าค่ะ นิมนต์เถอะ มันก็ยุ่งเท่านั้นแหละ ก็เราปล่อยมันไปนี่ จะยุ่งทำไมล่ะ อันนี้เราไปยุ่งกับมัน ก็นึกว่าอาหารมันมายุ่งกับเรา คิดกันเสียอย่างนี้ ผมว่ามันสบาย แต่ปัญญาเราน้อยปัญญาเราไม่ถึงต่างหาก
สงบที่ความเห็นชอบ
ถ้าพูดกันจริงๆนะ สำหรับพวกประพฤติปฏิบัติ ถ้าจะให้ผมอยู่วัดบ้านก็ได้ เสกคาถาเข้า "สุทฺธิ อสุทฺธิ ปจฺจตฺตํ ความบริสุทธิ์ ไม่บริสุทธิ์เป็นของเฉพาะตัว" ให้มันไป จะไปทางไหน จะทำยังไง ถ้าถึงคราวที่จำเป็นจะต้องทำอย่างนั้น พระพุทธเจ้าตรัสให้อยู่ในที่สงบ เราก็หาที่สงบเท่าที่เราหาได้ ถ้าหากว่าหาไม่ได้ เรารู้จักความสงบอยู่ที่นี่ก็อยู่ เมื่อเราจะต้องอยู่ก็ให้สงบ อย่าให้เป็นตัณหาสิ ไปก็อย่าให้เป็นตัณหา อยู่ก็อย่าให้เป็นตัณหา ให้รู้เรื่องของมัน แต่สภาวะความเป็นอยู่ของพระเณร ท่านให้อยู่ในที่สงบ บางทีหาที่สงบไม่ได้จะทำยังไง เดี๋ยวก็เป็นบ้าเท่านั้นแหละ จะไปไหน อยู่นี่ อยู่มันตรงนี้แหละ อยู่ให้ได้ ท่านให้รู้กาลรู้เวลาอย่างนี้ แต่ว่าปกติท่านไม่ได้เพ่นพ่านทั่วไป ให้อยู่ในที่สงบ ก็จริงอยู่ ในเมื่อหาที่สงบไม่ได้ เราจะต้องอยู่ที่นี่สักเดือนหรือสิบห้าวันนี่ จะทำยังไง ขาดใจตายเท่านั้นสิ. ให้เรารู้เรื่องอย่างนี้ จะไปเรื่อยๆก็อย่างนั้นแหละ ไปอีกก็อย่างนี้แหละ สงสัยอยู่เรื่อย เดี๋ยวก็เป็นไข้มาเลเรียมาเท่านั้นแหละ เดี๋ยวก็ไปฉีดยาไข้มาเลเรีย เดี๋ยวก็วุ่น ความเป็นจริงนั้นนะ การประพฤติปฏิบัติให้มีความเห็นที่ถูกต้อง ให้เกิดสัมมาทิฏฐิเท่านั้นแหละ ไม่ใช่เรื่องอะไร แต่ว่าเราหาเราพยายามหา มันก็ยากอยู่สักหน่อย เพราะปัญญาไม่มาก ความเข้าใจไม่พอ
หรือว่ายังไง ลองอีกก็ได้ เออ! เบื่อธุดงค์แล้ว อันนี้ก็ไม่แน่ ถ้าผมภาวนานะ แหม! ไม่ไปแล้ว เบื่อ! อันนี้ก็ไม่แน่ ถ้าในใจผมว่าไม่ไปแล้วธุดงค์ เบื่อ ไม่แน่ เดี๋ยวก็อยากไปอีกแล้ว หรือจะไปธุดงค์เรื่อยๆอย่างนี้ไม่มีจุดหมายปลายทาง อันนี้ก็ไม่แน่อีก ต้องภาวนาอย่างนี้ ขัดมันเสีย นี่มันจะไปธุดงค์ ก็แน่ มันจะอยู่ก็แน่ ผิดทั้งนั้นแหละ เอาแต่ที่มันผิดๆทั้งนั้น ไปดูซิ ผมพิจารณาแล้ว ผมพูดง่ายๆฟังดูซิ พิจารณาดูมันเป็นอย่างนั้นจริงๆ มันก็เห็นความจริงของมันเท่านั้นแหละ เมื่อเห็นความจริงแล้วจะทำยังไง มันก็ถูกต้องของมันแล้ว จะทำยังไง จะไปก็ได้ จะอยู่ก็ได้ แต่ให้มีเหตุผล ไม่ใช่ว่าไม่ให้นั่ง ไม่ให้เดินไปไหน ไม่ใช่อย่างนั้น เดินไปให้มันเหนื่อยเถอะ ให้มันเต็มที่เลยให้มันเหนื่อย แต่ก่อนเห็นภูเขา แหม! สบายดีเหลือเกิน เดี๋ยวนี้เห็นภูเขา โอ๊ย! ถอยกลับแล้ว ไม่ไปแล้ว แต่ก่อนเห็นภูเขาสบาย นึกว่าจะอยู่ภูเขาตลอดชีวิตโน่น...
ท่านตรัสว่าให้ดูปัจจุบัน ให้รู้จักปัจจุบันตามเป็นจริง คำพูดท่านพูดไว้ถูกต้องแล้ว แต่เราคิดยังไม่ถูก ต้องความเห็นยังไม่ถูกต้อง มันจึงไม่สบาย ไปลองดูก็ได้ ไปเรื่อยๆอย่างนั้น
การไปธุดงค์นี้นะ ผมไม่อยากห้าม แต่ก็ไม่อยากอนุญาต ฟังออกไหม ผมไม่อยากจะห้าม ไม่อยากอนุญาต แต่พูดอะไรให้ฟัง ไปธุดงค์นี้ให้มันมีประโยชน์ อย่าไปเที่ยวเล่น ทุกวันนี้ผมเห็นว่าไปเที่ยวเล่นกันเสียมากกว่าประโยชน์ ไปก็ให้เป็นธุดงค์ อยู่ก็ให้เป็นธุดงค์เดี๋ยวนี้มันถือการไปเที่ยวเล่นเป็นธุดงค์เสีย โกหกเจ้าของด้วยนั่นแหละ คิดเอาเอง ธุดงค์มีประโยชน์ เอาความหมายว่าเราไปธุดงค์เพื่ออะไร ไปก็ไปเถอะ ผมขอให้มีประโยชน์ก็แล้วกัน จึงจะไม่เสียเวลา พระไปธุดงค์ผมก็ห้ามนะ ถ้าเห็นไม่สมควรไป แต่ว่าไปจริงๆแล้ว ผมก็ไม่ได้ห้าม
แต่เมื่อจะไปก็ถามกันหน่อย ไปอยู่ภูเขาก็ดี ผมเคยสมัยก่อนตอนเช้าตื่นขึ้นมา ทางไปบิณฑบาต โน่น! ต้องข้ามเขาลูกนี้ไป บางวันกลับมาฉันไม่ทัน ถ้าเราคิดทุกวันนี้แล้วนะ ไม่ต้องไปให้มันลำบากลำบนอะไรนั่นนะ เดินไปบิณฑบาตบ้านกลางนี่แล้วก็กลับมาฉัน แล้วก็ทำความเพียรมากดีกว่า ถ้าเราทำให้มันถูกนะ นอกจากว่าเราฉันแล้วนอนเท่านั้นมันก็ไม่ถูก อย่างไปบิณฑบาตตอนเช้า ต้องข้ามเขาลูกหนึ่งก็อุตส่าห์ไป กลับมาบางวันต้องฉันจังหันกลางเขา มันจะไม่ทันถึงที่เมื่อคิดมาเดี๋ยวนี้นะ ผมคิดจะไปทำไม ถ้าเราหาหมู่บ้านสบายๆขนาดนี้ อย่างบ้านกลาง บ้านก่อนี่ ตอนเช้าไปบิณฑบาตแล้วก็มาฉันจะได้พักผ่อน จะได้ทำจิตใจดีกว่า เราฉันเสร็จแล้ว ทางโน้นยังไม่มาฉันบิณฑบาตเลย ข้ามเขาอยู่โน่น คนหนึ่งก็คิดไปอย่างหนึ่ง ให้มันพบทุกข์นั่นแหละ มันจึงจะรู้จักทุกข์ แต่มันมีประโยชน์ ถ้าไปเป็นประโยชน์ผมไม่โทษคนอยู่ ไม่โทษคนไป ไม่สรรเสริญคนอยู่ ไม่สรรเสริญคนไป สรรเสริญที่ "มีความเห็นถูกต้อง" นั่นแหละ อยู่ก็เป็นภาวนา ไปก็เป็นภาวนา ไปเป็นกลุ่มเพื่อน หมู่ไหนก็ไปหมู่นั้น ตามเรื่องตามราวมันไม่ถูกต้อง
หลวงพ่อ: ว่ายังไง เท่าที่เล่าความเห็นมานี่ จะเอายังไงดี จะทำยังไงต่อไปอีก การปฏิบัติน่ะ! พระ ก.: หลวงพ่อครับ อารมณ์กรรมฐานที่ถูกจริต ผมเคยเจริญพุทโธกับอานาปาฯนาน จิตก็ไม่เคยสงบระลึกความตายก็ไม่สงบ ระลึกขันธ์ ๕ ไม่สงบ หมดปัญญา! หลวงพ่อ: วางมัน! หมดปัญญา วางมัน! พระ ก.: เวลานั่งสมาธิ ถ้าได้สงบนิดหน่อย สัญญา เยอะแยะไปหมด จะรบกวน. หลวงพ่อ: นั่นแหละ มันไม่เที่ยง ไม่แน่ ไม่แน่ บอกมันเลย ไม่แน่ ทำไว้ในใจ ทั้งหมดอารมณ์มันไม่แน่ทั้งนั้น ไว้ในใจเลยนะ ทำสมาธิแล้วจิตไม่สงบ ไม่แน่เหมือนกัน จิตนี้สงบแล้วไม่แน่เหมือนกัน เอามันไม่แน่นี่ ไม่ต้องเล่นกับมันทั้งนั้นแหละ อย่าเอาปล่อยวาง สงบก็อย่าไปคิด อย่าไปเอาจริงเอาจังกับมัน.ไม่สงบก็อย่าเอาจริงเอาจังกับมัน วิญญาณัง อนิจจัง เคยอ่านไหม วิญญาณก็ไม่เที่ยง เคยได้อ่านไหม จะไปทำยังไงกับมันล่ะ ฮึ! สงบมันก็ไม่เที่ยง ไม่สงบมันก็ไม่เที่ยง เราจะมีความเห็นยังไงต่อไป เรามีความรู้อยู่อย่างนี้นะ สงบก็ไม่แน่ ไม่สงบก็ไม่แน่ เราจะอยู่ยังไงถ้าจิตเราคิดอย่างนี้ ถ้าเรามีความรู้อยู่อย่างนี้ละ ความสงบมาก็รู้ว่าอันนี้มันไม่แน่ ไม่สงบมา เราก็รู้ว่ามันไม่แน่ ความรู้สึกเราจะอยู่อย่างไร ตรงนั้น รู้ไหม. พระ ก.: ไม่ทราบครับ. หลวงพ่อ: ก็ดูตรงนั้นสิ มันสงบได้กี่วัน ที่ว่านั่งไม่สงบไม่แน่ หรือมันสงบดีจัง ไม่แน่เหมือนกัน เอาสิ! มันจะอยู่ตรงไหน ไล่มันสิ ไล่จี้เข้าไป อยู่ตรงนี้แหละ ไม่ต้องไปไหน เดี๋ยวก็สงบ เท่านั้นแหละ ภาวนาพุทโธก็ไม่สงบ.อานาปานสติก็ไม่สงบ ก็ไปยึด ไม่สงบนั่นแหละ ถ้าเราภาวนาพุทโธ...พุทโธไม่สงบ ไม่แน่เหมือนกัน อานาปานสติไม่สงบ ไม่แน่เหมือนกัน ไม่เล่นกับมันทั้งนั้นแหละ มันสงบก็ไม่เล่นกับมันละ มันหลอกลวงนี่ มีแต่ความ หมายมั่นทั้งนั้นแหละ เราต้องฉลาดกับมันสักนิดหนึ่งสิ ถ้ามันสงบล่ะก็ เออ! ใช่แล้ว ไม่สงบก็ ฮึ! วุ่นวาย จะไปสู้มันได้อะไร มันสงบ รู้ว่ามัน สงบแล้วนะ ไม่แน่! ไม่สงบ ดูมันแล้วไม่สงบก็อย่างนั้นแหละไม่แน่เหมือนกัน ถ้าเรามีความรู้สึกอย่างนี้ มันจะยุบลง เดี๋ยวนั้นเลยแหละ เมื่อเราทวงมัน เมื่อมันไม่สงบ นี่ก็ไม่แน่เหมือนกัน ยุบลงเดี๋ยวนั้นทีเดียวละ เอียง เรือต้องเอียงเลย ลองซิ เราไม่ทันมันนี่ เดี๋ยวเราจะเอาอย่างนั้น ไม่แน่เหมือนกัน ยุบเลย เอ้า! ลองดูซิ ทวงมันเข้าไป นี่ไม่ทวงมันนี่คลำมันไป ให้มันวิ่ง แล้วก็คลำๆมันไปเรื่อยอย่างนั้น ไม่ทวงมัน ใส่มันเข้าไปเลย อย่าให้มันอยู่ แต่เมื่อผมเทศน์ให้ฟังก็ร้อง โอ๊ย! หลวงพ่อนี่เทศน์แต่เรื่องไม่แน่ทั้งนั้นแหละ เดี๋ยวก็เบื่อ ลุกหนี ไปแล้วนะ ไปฟังเทศน์ หลวงพ่อก็เทศน์แต่เรื่องไม่แน่ทั้งนั้นแหละ เบื่อแล้วก็ไปหาให้มันแน่ดูซิ เออ! เดี๋ยวก็กลับมาอีกแล้ว ลองจำไว้ในใจสิ คำผมพูด ไปเถอะไป ถ้าไม่เห็นอย่างผมว่านี่ ไม่สงบเลย ไม่สบาย ไม่มีที่จะอยู่หรอก
ทำสมาธิให้มากน่ะผมก็เห็นด้วยเหมือนกัน เจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ รู้ไหม คำพูดนี้รู้ไหม วิมุตติ แปลว่า การหลุดพ้นจากอาสวะ ๒ อย่าง เจโตวิมุตติ อำนาจของจิตมากที่สุด คือเรื่องสมาธิมาก จึงทำปัญญาเกิดได้ ปัญญาวิมุตติ ทำสมาธิพอเป็นรากฐาน เหมือนต้นไม้นี่เห็นไหม บางชนิดเอาน้ำใส่ มันบานขึ้นมานะ บางต้นเอาน้ำใส่ ตาย ต้องใส่แต่น้อยๆ พอดีๆ เห็นไหมนั่น ต้นสน ต้นฉัตรน่ะ ไปเอาน้ำใส่มากๆ ตายนะ ใส่แต่น้อยๆ ไม่รู้มันเป็นอะไร แต่อย่างต้นนี้ ดูซิ แห้งออกอย่างนี้ มันขึ้นมาได้ยังไง ลองคิดดูซิ มันจะได้น้ำมาจากไหน ใบมันจึงใหญ่จึงโตอย่างนี้ บางต้นต้องใส่น้ำให้มากๆจึงจะได้ใบใหญ่ขนาดนี้ แต่อย่างต้นนี้มันน่าจะตาย อีกอย่างหนึ่งเขาปลูกแขวนเอาไว้ รากมันห้อยลงมากินลม มันน่าจะตายนะ ถ้าเป็นไม้ธรรมดา มันคงแห้งไปหมดแล้ว นี่อีกหน่อยใบมันจะยาวขึ้นมาเรื่อยๆ ไม่มีน้ำนะ น้ำไม่มี เป็นอย่างนี้เห็นไหม นี่ก็เหมือนกัน ธรรมชาติมันเจโตวิมุตติ วิมุตติ แปลว่าการหลุดพ้น ต้องทำกำลังใจให้เข้มแข็ง มีสมาธิมากๆอย่าง หนึ่ง ก็เหมือนกับต้นไม้บางชนิดต้องให้น้ำมากๆ มันจึงจะเจริญขึ้น แต่อีกอย่างหนึ่งไม่ต้องให้น้ำ มาก ให้น้ำมาก ตาย ต้องให้น้ำน้อยๆ เพราะมันเป็นอย่างนั้น มันเจริญของมันได้อย่างนั้น ฉะนั้นท่านจึงตรัสว่า เจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ วิมุตติ การหลุดพ้น การที่จะหลุดพ้นต้องใช้ปัญญาและกำลังจิต จิตกับปัญญาต่างกันไหม
พระ ก.: ไม่ครับ. หลวงพ่อ: ทำไมถึงแยกล่ะ ทำไมถึงแยกเป็นเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ. พระ ก.: เป็นเพียงคำพูดครับ. หลวงพ่อ: นั่นแหละเห็นไหม ไม่อย่างนั้นเราก็ไปเที่ยวแยก เดี๋ยวก็เป็นบ้าเท่านั้นแหละ แต่ว่ามันอิงกันนิดหน่อยนะ จะว่าอันเดียวกันก็ไม่ใช่ คนละอันก็ไม่ใช่ ผมจะตอบอย่างนี้ถูกไหม ผมจะตอบว่าอันเดียวกันก็ไม่ใช่ คนละอย่างก็ไม่ใช่ ผมจะตอบอย่างนี้ เอาไปพิจารณาซิ พูดถึงความเท่าทันนะ ครั้งหนึ่งผมไปพักที่วัดร้างแห่งหนึ่งองค์เดียว มะไฟที่วัดร้างแห่งนั้นเยอะเลย อยากฉันเหลือเกิน ผมก็ไม่ได้ฉัน ความหวาดความกลัวว่ามันเป็นของสงฆ์ มีโยม คนหนึ่งสะพายตะกร้ามาขอ เราไปปักกลดที่นั่น เขาจะคิดว่าเราเป็นเจ้าของหรือยังไงก็ไม่รู้ เขามา ขอ ผมก็คิด เอ! จะให้เขาก็ไม่ได้นะ ครั้นจะไม่ให้เขาก็จะว่าพระหวง มีแต่โทษทั้งนั้น ผมเลยตอบ "โยม อาตมาพักที่วัดนี้ ไม่ใช่อาตมาเป็นเจ้าของนะ ที่โยมขอนี่ ก็เห็นใจอยู่เหมือนกัน อาตมาไม่ห้าม แต่ก็ไม่อนุญาต ฉะนั้น แล้วแต่โยมเถอะ" โอ๋! เขาไม่เอาแฮะ เออ! คำตอบอย่างนี้ก็ดีเหมือนกัน ไม่ห้ามแต่ไม่อนุญาต เราหมด ภาวะเลย พูดไปอย่างนี้ก็มีประโยชน์ มันทันเขาดี! พูดแล้วก็ดี ดีจนกระทั่งทุกวันนี้แหละ บางทีคนพูดแปลกๆ มันก็ไม่กล้าเอา จริตคืออะไร? พระ ก.: จริต เอ้อ! ไม่ทราบจะตอบอย่างไร. หลวงพ่อ: จิตก็อันนี้ จริตก็อันนี้ ปัญญาก็อันนี้ จะทำยังไงล่ะทีนี้ ดูซิ ว่ายังไง ลองดูซิ ราคจริต โทสจริต โมหจริต พุทธจริต จริตก็คือจิตใจของคนเรา ที่มันแอบแฝงในสภาวะอันใดอันหนึ่งมากกว่าเขา เป็นราคะบ้าง โทสะบ้าง ทุกอย่างมันก็เป็นภาษาคำพูดเท่านั้นแหละ แต่มันแยกกันออกไป ได้หกพรรษาแล้วนะ เออ! วิ่งตามมันเห็นจะพอแล้วมั้ง วิ่งมาหลายปีแล้วนี่ มีหลายคนอยากจะไปอยู่องค์เดียว ผมไม่ว่าหรอก อยู่องค์เดียวก็อยู่เถอะ อยู่หลายองค์ก็อยู่ ไม่ผิดหรอกถ้าไม่คิดผิด อยู่องค์เดียวคิดผิดมันก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร ลักษณะที่อยู่ของผู้ปฏิบัติเป็นที่สงบหน่อยนะ แต่ว่าในเมื่อที่สงบระงับเช่นนั้นไม่มี เราก็ตายซิ มันร้อนนี่ อย่าหาทางอะไรให้มันมาก ให้มันย่อเข้ามา ให้มาอยู่ที่จิตใจเจ้าของที่ผมพูดน่ะดูไปนานๆ อย่าไปทิ้ง ให้มีความรู้ เอาไว้ ที่ผมว่า อนิจจัง อนิจจัง ต้องดูไปนานๆเถอะ เดี๋ยวจะเห็นชัดหรอก ผมเคยได้คำพูดจาก อาจารย์องค์หนึ่ง เมื่อครั้งผมภาวนาใหม่ๆ ท่านว่ากรรมฐานนี้ก็ปฏิบัติไปเถอะ อย่าสงสัยมัน อย่างเดียวเท่านั้นแหละ พอแล้ว.
ที่มา : http://www.ajahnchah.org
0 comments: