วันพุธที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2564

"พุทธธรรมกับการพัฒนาชีวิตบุคคล" (ป. อ. ปยุตฺโต)

พุทธธรรมกับการพัฒนาชีวิตบุคคล 1

ขอเจริญพรท่านอาจารย์และอุบาสกอุบาสิกา สาธุชนทุกท่านทุกคน

เมื่อกี้นี้ได้มีพิธีถวายสักการะ ซึ่งอาตมาได้กล่าวว่า ถือเป็นการเริ่มต้นที่ดีงาม และท่านปราโมทย์ก็ได้ปรารภเรื่องนี้ให้รู้ความเป็นมาแล้ว ทีนี้ก็นึกขึ้นได้อีกอย่างว่า นอกจากจะเป็นการเนื่องด้วยการเข้าพรรษา ก็ไปตรงกับที่ท่านปราโมทย์พูดถึงคือ เป็นวันอาสาฬหบูชาด้วย วันอาสาฬหเป็นวันแสดงปฐมเทศนา วันนี้ เริ่มมีรายการสนทนาธรรมหรือแสดงธรรมในระยะเข้าพรรษานี้ นอกจากจะเนื่องด้วยการเข้าพรรษาแล้ว การริเริ่มขึ้นนี้ก็มาตรงกับการแสดงปฐมเทศนาด้วยก็นับว่า ยิ่งเป็นการประจวบที่ดีงาม จะถือเป็นฤกษ์งามยามดีอะไรก็ได้

วันนี้ให้พูดเรื่อง การพัฒนาชีวิต ชื่อเดิมดูเหมือนจะเป็นว่า “พุทธธรรมกับการพัฒนาชีวิต” และคณะผู้จัดนี้ก็ได้เรียกชื่อว่าเป็น “ปาฐกถาพิเศษ” เริ่มต้นนี่ก็ต้องต่อว่าคณะผู้จัดสัมมนาอีกเหมือนเคย คือให้ชื่อการพูดครั้งนี้ใหญ่เกินไปหน่อย อาตมานึกในการที่รับมาพูดว่ามาคุยธรรมกันสักครึ่งชั่วโมงคงพอ แต่รายการนี้จะให้พูดนานสักชั่วโมงครึ่ง แต่เวลาคุยกันไปมันอาจจะยืดไปถึงเวลาที่กำหนดไว้ก็ได้ แต่ให้ตั้งใจไว้ก่อนว่าเรื่องที่พูดนี้เป็นเรื่องไม่ใหญ่โตอะไรนัก เป็นเรื่องที่ค่อนข้างเล็กหน่อย

ในหัวเรื่องนี้ คำสำคัญก็คือคำว่าพัฒนา “พัฒนา” เป็นคำที่สำคัญในสมัยปัจจุบันนี้ ยุคนี้ในแง่หนึ่งเรียกว่าเป็นยุคของการพัฒนา คำว่าพัฒนาในหัวข้อนี้จะเอามาเชื่อมโยงกับพระพุทธศาสนา ก็อยากจะถามก่อนว่า คำว่าพัฒนานี้ในพุทธศาสนามีใช้หรือเปล่า ถ้าจะตอบก็บอกว่ามีเหมือนกัน พัฒนา, วัฒนะ ก็เป็นศัพท์ในทางภาษาบาลี แต่ถึงจะมีก็ไม่ใช่เป็นคำสำคัญ คือว่าไม่ใช่ศัพท์ธรรมะที่เด่น เรียกว่าเดิมนั้นในทางพระพุทธศาสนาไม่ได้ใช้คำว่า พัฒนา เรามาใช้คำว่าพัฒนากันอย่างกว้างขวาง ในสมัยเมื่อไม่นานมานี้เอง ในเมื่อให้มาพูดเรื่อง พุทธธรรมกับการพัฒนาก็จะต้องกลับไปค้นหาหลักในทางพุทธศาสนาว่าในทางพุทธศาสนากล่าวถึงการพัฒนาว่าอย่างไร และศัพท์ที่จะถือว่าตรงกันควรจะเป็นอะไร ถ้าเราไม่ค้นหาศัพท์เราก็อาจจะพูดได้ คือพูดไปว่า เดี๋ยวนี้เรามีการพัฒนาอย่างไร และทางพุทธศาสนาจะว่าอย่างไรกับการพัฒนาในสมัยปัจจุบัน อาจจะพูดกันได้ยาวนานทีเดียว แต่ถ้าให้มั่นลงไปให้กระชับก็ต้องกลับไปค้นหาศัพท์ ที่ใช้อย่างตรงทีเดียวว่าทางพุทธศาสนาใช้อย่างไร ในการค้นหาศัพท์อาตมาคิดว่า ต้องไปมองถึงระบบหรือกระบวนการปฏิบัติของพุทธศาสนาว่าเป็นอย่างไร กระบวนการปฏิบัติในพุทธศาสนาถือเป็นการฝึก เรารู้จักกันดีเรียกว่า “สิกขา” สิกขาเป็นภาษาบาลีตรงกับที่ไทยเราใช้ปัจจุบันว่า ศึกษา ซึ่งเป็นคำที่มาจากสันสกฤต สิกขาแปลว่า ฝึกอบรม คำว่า พัฒนาแปลว่าทำให้เจริญ การทำให้เจริญลักษณะหนึ่ง ก็อยู่ในขบวนการปฏิบัติของพุทธศาสนา แต่ถ้อยคำรู้สึกว่ายังไม่ตรงกัน ถ้าหาต่อๆ ไปอีก ก็มีคำหนึ่งคือคำว่า “ภาวนา” ภาวนาก็เป็นคำที่ใช้มากเหมือนกัน คำว่าภาวนานี้เราแปลกันในภาษาไทยง่ายๆ ว่า “เจริญ” เช่น สมถภาวนา แปลว่าเจริญสมถะ หรือสมาธิภาวนา ก็แปลว่าเจริญสมาธิ วิปัสสนาภาวนา ก็แปลว่า เจริญวิปัสสนา คำว่าพัฒนาก็แปลว่า เจริญหรือทำให้เจริญ ก็รู้สึกว่าไปกันได้ และถ้าว่ากันถึงคำว่าภาวนาก็เป็นข้อธรรมหลักในทางพุทธศาสนาทีเดียว

คำว่าภาวนาที่เราแปลว่าเจริญนี้ เป็นการแปลที่เข้าภาษาไทยเต็มที่และเป็นคำง่ายๆ ที่ใช้กันมาแต่โบราณ คำในสมัยเดิมท่านกินความหมายลึกซึ้งพูดแล้วคงเข้าใจกันดี แต่มาสมัยนี้มันอาจจะใช้ในความหมายที่ลึกซึ้งและกินความกว้างไม่เท่ากันทีเดียว เราก็เลยต้องหันไปดูตัวศัพท์ (เสียเวลาเรื่องศัพท์กันหน่อย อาตมาขอโอกาสว่า เราจะเบื่อหน่ายก็ต้องยอมเสียเวลาเรื่องการพูดความหมายศัพท์อะไรกันเล็กน้อย เป็นเรื่องของภาษา) ไปดูคำว่าภาวนา ก่อนจะแปลว่าเจริญ ภาวนาถ้าแปลตามตัวอักษรแปลว่า “การทำให้เป็นให้มี” หมายความว่าอันไหนที่ไม่เป็นก็ทำให้เป็นขึ้น อันไหนที่ไม่มีก็ทำให้มีขึ้น ซึ่งหมายความเลยไปถึงว่า การทำให้เพิ่มพูนขึ้น ทำให้กล้าแข็งขึ้นอะไรพวกนี้ เราจึงแปลกันอีกความหมายหนึ่งว่าฝึกอบรม คำว่าฝึกอบรมก็ไปใกล้กับความหมายของคำว่าสิกขา เพราะฉะนั้นสิกขากับภาวนา จึงเป็นคำที่ใช้อย่างใกล้เคียงกัน บางทีเหมือนกับแทนกันทีเดียว นี้เป็นการโยงเข้ามาหาตัวหลักใหญ่ในการปฏิบัติทางพุทธศาสนาที่พูดถึงเมื้อกี้ว่าสิกขา

ทีนี้สิกขาเรามีสาม อธิศีลสิกขา อธิจิตสิกขา อธิปัญญาสิกขา สามอย่างนี้เราเรียกง่ายๆ สั้นๆ ว่า ศีล สมาธิ ปัญญา แต่ชื่อเต็มเป็นอธิศีลสิกขา อธิจิตสิกขา อธิปัญญาสิกขา ไปดูทางฝ่ายภาวนา คำที่เราได้ยินบ่อยๆ ก็อาจจะเป็นสมาธิภาวนา หรืออาจจะเป็นสมถภาวนา วิปัสสนาภาวนา สมถภาวนาคือเจริญสมถะหรือฝึกอบรมสมถะ วิปัสสนาภาวนาคือ ฝึกวิปัสสนา เจริญวิปัสสนา แต่มันไม่ได้มีแค่นี้ยังมีชุดอื่นอีก ชุดหนึ่งมี กายภาวนา จิตภาวนา ปัญญาภาวนา อันนี้ชักใกล้เข้ามาแล้วลองเทียบกับชุดสิกขาสาม มีอธิศีลสิกขา ฝ่ายภาวนา เริ่มต้นด้วยกายภาวนา เรื่องกาย กับเรื่องอธิศีล นี่ใกล้กันแล้ว คือเป็นเรื่องด้านกายภายนอกเหมือนกัน อันที่สองอธิจิตสิกขา ทางภาวนาก็มีจิตภาวนา อธิจิตสิกขาก็คือฝึกเรื่องจิตเรื่องสมาธิ จิตภาวนาก็ฝึกอบรมเรื่องจิตเหมือนกันสุดท้ายอธิปัญญาสิกขา ทางฝ่ายนี้ก็มีปัญญาภาวนาเรียกได้ว่าเหมือนกัน อธิปัญญาก็ฝึกปัญญายิ่งขึ้นไป ทางฝ่ายนี้เป็นปัญญาภาวนาฝึกอบรมปัญญาเจริญปัญญา ก็เรียกว่าใกล้กันมากเกือบเหมือนกันเลย.  สิกขา นี่เป็นระบบการฝึกฝนปฏิบัติอย่างที่เราเรียกว่าการศึกษา ส่วนในด้านที่จะพัฒนาบุคคล บุคคลฝึกตัวเองนี้เราเรียกว่าเป็นภาวนา ถ้าแปลให้เหมือนสมัยปัจจุบันที่เขาแปลเป็นภาษาอังกฤษ ลองโยงๆ ไปดูจะตรงกันหรือไม่ก็ลองวิเคราะห์กันทีหลัง เราแปลศึกษาว่า Education และเราแปลภาวนาหรือเจริญว่า Development

หันมาพูดเรื่องภาวนา เป็นอันว่าใกล้กับสิกขาแล้ว แต่เรื่องภาวนายังไม่จบแค่นั้น อาตมาจะแบ่งเป็นชุดต่างๆ แล้วชี้แจงความหมายของศัพท์ต่อไป ท่านมีภาวนาหลายชุด เมื่อกี้อาตมาพูดไปชุดหนึ่ง คือ ชุดกายภาวนา จิตภาวนา ปัญญาภาวนา แต่บางแห่งท่านพูดเพียงสอง คือ กายภาวนา และ จิตภาวนา ที่พูดอย่างนี้มีในบางพระสูตร อาตมาว่าเป็นการเทียบกันกับสมัยก่อน ในเมื่อมีผู้พูดถึงลัทธิอื่นๆ ซึ่งบอกว่ามีการฝึกอบรมกาย กายภาวนา และฝึกอบรมจิต จิตภาวนา เช่นในลัทธินิครนถ์การฝึกกาย หมายถึงการประพฤติวัตรต่างๆ ที่เรียกว่าเป็นอัตตกิลมถานุโยค เป็นการทรมานกาย ส่วนจิตภาวนาก็เป็นแบบของเขา พระพุทธเจ้าตรัสว่า กายภาวนาในพุทธศาสนาไม่ใช่อย่างนั้น จิตภาวนาไม่ใช่อย่างนั้นแล้วบอกใหม่ อันนี้เป็นการพูดโดยเทียบกับลัทธิอื่นๆ ก็มีสองอย่างคือกายภาวนาและจิตภาวนา แต่ในบางแห่งภาวนาจะมีเป็นสี่ อันนี้น่าสนใจ อาตมายกเอามาถือว่าเป็นชุดที่ครบถ้วนที่สุด เป็นเรื่องที่พระพุทธเจ้าตรัสในคำสอนของพระองค์เอง ไม่ได้เทียบกับคำสอนอื่นๆ เมื่อใช้เป็นคุณสมบัติบุคคล ท่านใช้ว่า ภาวิตกาโย ภาวิตสีโล ภาวิตจิตโต ภาวิตปัญโญ คือคำว่าภาวนานี้เวลาใช้เป็นคุณศัพท์มันเป็นภาวิตะ ภาวิตกาโย ผู้มีกายที่เจริญแล้วหรือฝึกอบรมแล้ว ภาวิตสีโล ผู้มีศีลที่ฝึกอบรมแล้วหรือเจริญแล้ว ภาวิตจิตโต ผู้มีจิตเจริญแล้วหรือมีจิตที่ฝึกอบรมแล้ว ภาวิตปัญโญ ผู้มีปัญญาที่เจริญแล้วหรือปัญญาที่ฝึกอบรมแล้ว

ถ้าเป็นคำนาม สี่อันนี้ก็คือ หนึ่งกายภาวนา เป็นคนก็เป็นภาวิตกายะเป็นตัวการกระทำเป็นกายภาวนา สอง คนเป็นภาวิตสีโล ตัวนามการกระทำเป็นศีลภาวนา สาม ภาวิตจิตโตเป็นคุณนามของบุคคล การกระทำก็เป็นจิตภาวนา และภาวิตปัญโญเป็นคุณสมบัติของบุคคล ตัวนามการกระทำก็เป็นปัญญาภาวนา เป็นอันว่าได้ชุดสี่ กายภาวนา ศีลภาวนา จิตภาวนา ปัญญาภาวนา นี้เรียกว่าเป็นการเจริญหรือพัฒนาที่ครบชุดสี่อย่าง แปลง่ายว่า การเจริญกาย เจริญศีล เจริญจิต เจริญปัญญา.  พูดถึงภาวนานี้อาตมาได้เห็นหลักเกี่ยวกับความมุ่งหมายของการศึกษา ในสมัยปัจจุบันนี้เขาพูดถึงความมุ่งหมายของการศึกษาสี่อย่าง เรียกว่า Growth หรือ Development ก็ได้ ตรงกันเลยกับภาวนา ถ้าใช้คำว่า Growth ก็ได้ Growth เป็นสี่ ในการศึกษาสมัยใหม่เขาบอกว่ามี

๑. Physical Growth ความเจริญหรือความงอกงามทางกาย อันนี้จะตรงกับกายภาวนา โดยศัพท์ตรงกันเลยทีเดียว

๒. ของฝรั่งเป็น Social Growth หรือ Social Development ความงอกงามทางสังคม ของบาลีว่า ศีลภาวนา เจริญศีล ศีลคือระเบียบวินัย ความสัมพันธ์ทางสังคม เรื่องการปฏิบัติภายนอก ทางกาย วาจา เรียกว่าความสัมพันธ์ทางสังคม นั่นแหล่ะ ถ้าพูดภาษาสมัยใหม่ ก็ตรงกันอีก

๓. เขาบอกว่า Emotional Growth หรือ Emotional Development ความเจริญงอกงามทางอารมณ์ อารมณ์นี้เป็นศัพท์จากฝรั่ง แต่ก็ไม่หนีไปไหนหรอก ตรงกันคือจิตภาวนานั่นเอง แปลว่า เจริญจิต

๔. สุดท้ายของฝรั่งคือ Intellectual Growth หรือ Intellectual Development ความเจริญงอกงามทางปัญญา ของทางบาลีก็มี ปัญญาภาวนา แปลว่า เจริญปัญญา

แปลกที่ว่าทำไมมาตรงกัน ตรงกันอย่างไม่มีคลาดเคลื่อนเลย แต่แปลกอีกอย่างว่าของทางพระสี่อย่างนี้ไม่ได้พูดถึงกันมาเลย เราไปพูดถึง Growth หรือ Development ๔ อย่างในวงการศึกษาว่า เป็นความมุ่งหมายของการศึกษา ๔ ประการ

ทีนี้ ลองพิจารณาความหมายของภาวนา ๔ แต่ละข้อ

ข้อ ๑. กายภาวนา หรือเจริญกาย หมายถึงพัฒนาความสัมพันธ์ กับสภาพแวดล้อมด้านกายภาพ ท่านอธิบายไว้หลายอย่าง อย่างหนึ่งว่าหมายถึง อินทรียสังวร แปลว่าสำรวมอินทรีย์ ๖ แต่บางแห่งท่านเอาแค่ ๕ ยกเว้น “ใจ” ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย เวลาประสบอารมณ์ต่างๆ คือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ไม่ให้ถูกครอบงำด้วยความยินดียินร้าย นี่เรียกว่าอินทรียสังวร อีกอย่างหนึ่ง บางทีท่านแปลกายภาวนาว่าได้แก่กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ในที่นี้อาตมาแปลว่า เรื่องที่เกี่ยวข้องกับทางกาย ได้แก่พวกการบริโภค การใช้สอยต่างๆ ซึ่งเป็นหลักสำคัญในทางพระพุทธศาสนา สิ่งที่เกี่ยวข้องในการบริโภค หนึ่ง ก็อาหาร เรื่องการกิน สอง เครื่องนุ่งห่มหรือการบริโภคจีวร สาม ก็เสนาสนะ การบริโภคเสนาสนะ คือที่อยู่อาศัย สุดท้าย คิลานเภสัช การใช้การบริโภคยา นี้ก็เป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับกายโดยตรง และจัดอยู่ในศีลชนิดหนึ่งเรียกว่าปัจจัยปัจจเวกขณ หรือปัจจัยสันนิสิต ในกรณีที่ไม่มีศีลมาด้วย กายจะหมายถึงศีลทั้งหมดด้วย แต่เมื่อกายกับศีลมาด้วยกันคู่กันนี้ก็คล้ายๆ กับแบ่งส่วนหนึ่งออกจากศีลให้มีขอบเขตจำกัดแคบลง กายก็จะเป็นศีลส่วนจำเพาะ ซึ่งในกรณีนี้อาตมาถือเอาความหมายว่า สิ่งที่กายเกี่ยวข้องในการบริโภคหรือการกินอยู่เป็นเรื่องของกายภาวนา ถ้าอย่างนี้ก็จะเข้าหลักสำคัญในทางพุทธศาสนาเป็นหลักใหญ่ทีเดียว อาตมาเสนอให้มาช่วยกันศึกษาต่อไป กรณีนี้อาตมา เน้นความหมายไปที่การบริโภค การเจริญกายนี้เน้นการฝึกอบรมในเรื่องการกินอยู่ การเกี่ยวข้องกับปัจจัยสี่ ต่อไปศีล, จิต, ปัญญา ความหมายชัดอยู่แล้ว สมมติว่าตกลงกันได้อย่างนี้ก็เข้าความหมายที่ลึกลงไปได้

สมมติว่าตกลงกันแล้วอย่างนั้น กายภาวนาหรือการเจริญกาย คือการฝึกอบรมเกี่ยวกับการกินอยู่ การบริโภค การพัฒนาด้านกาย ในทางพุทธศาสนา ถือว่าสำคัญมาก เรามีหลักสำคัญในเรื่องนี้เรียก โภชเนมัตตัญญุตา ความรู้จักประมาณในการกิน รู้จักประมาณในการกินคืออะไร ถ้าแปลสมัยนี้โภชเนมัตตัญญุตาก็แปลว่ากินพอดี มัตตัญญุตารู้ประมาณรู้พอดี คำว่า มัตตะ แปลว่า พอดี ประมาณในการกินหรือกินพอดี หมายถึงอยู่ด้วย คือกินอยู่พอดี กินอยู่พอดีคืออะไรอาจจะเป็นเรื่องที่กำลังถกเถียงกัน แต่อาตมาว่าในทางธรรมะไม่มีปัญหาเลย ถ้าจะเอาหลัก ท่านแสดงไว้ชัดพอ โภชเนมัตตัญญุตา กินอยู่พอดีก็ต้องใช้โยนิโสมนสิการ เพราะท่านบอกไว้เลย กินพอดีก็คือ ปฏิสังขา โย…ที่พระท่านจะต้องท่อง ภิกษุพิจารณาโดยแยบคายจึงฉันอาหารบิณฑบาตคือเราไม่ได้ฉันเพื่อสนุกสนานมัวเมาโก้หรูอะไรต่างๆ ไม่ใช่เพื่อบำรุงบำเรอปรนเปรอ แต่เพื่อให้ร่างกายเป็นอยู่ได้เพื่ออนุเคราะห์พรหมจรรย์ เพื่อเป็นอยู่ผาสุก อาตมาแปลว่า เพื่อให้ร่างกายมีสุขภาพดี เพื่อเกื้อหนุนชีวิตที่ดีงามหรือความประพฤติธรรม ให้ทำงานทำกิจของตนไปได้อยู่สุขสบาย นี่เรียกว่าใช้โยนิโสมนสิการ

ในกรณีที่เกี่ยวกับการบริโภคนี้มีหลักโยนิโสมนสิการที่เรียกว่า การพิจารณาคุณค่าแท้คุณค่าเทียม โภชเนมัตตัญญุตา คือใช้โยนิโสมนสิการในการบริโภคให้ได้คุณค่าแท้ ไม่เอาคุณค่าเทียม ในเรื่องอาหารคุณค่าเทียมคือคุณค่าที่ไม่ใช่คุณค่าแท้จริงต่อชีวิต เราเรียกว่าคุณค่าที่สนองตัณหา คุณค่าที่สนองตัณหาคืออะไร ก็คือกินเพียงเพื่ออร่อย กินเพื่อจะอวดมั่งอวดมี กินเพื่อโก้หรูสนุกสนานกินเพื่อมัวเมา นี้เรียกว่าคุณค่าเทียมคุณค่าสนองตัณหา ทีนี้พอมีโยนิโสมนสิการ ก็ใช้ปัญญาพิจารณาว่าอาหารนี้ให้อะไรที่เป็นคุณค่าที่แท้จริงแก่ชีวิต คุณค่าที่จะช่วยให้ร่างกายของเรามีสุขภาพดี กินไม่เกินสมควร ไม่มากไม่น้อยไป ได้คุณค่าประโยชน์ เราเรียกว่าได้คุณค่าแท้ ได้คุณค่าที่สนองปัญญา ที่รู้เข้าใจความจริงประโยชน์ความดีความควร เป็นโยนิโสมนสิการ ถ้าเป็นอย่างนี้เรียกว่ากินถูกต้อง เมื่อกินด้วยใช้ปัญญาอย่างนี้แล้ว มันก็เป็นโภชเนมัตตัญญุตาเองเลยเพราะฉะนั้นกินพอดีก็คือการกินอย่างใช้ปัญญา รู้คุณค่าที่แท้จริง กินเพื่อคุณค่าที่แท้จริงของสิ่งนั้นๆ ในเรื่องเครื่องนุ่งห่มก็เหมือนกัน เราต้องพิจารณาว่าเครื่องนุ่งห่มนี้ มนุษย์เราใช้เพื่ออะไรถ้าหากว่าใช้เพื่อปกปิดร่างกายเพื่อกันหนาวร้อนอะไรต่างๆ อย่างนี้เป็นเรื่องการใช้ปัญญา เป็นโยนิโสมนสิการเรียกว่าคุณค่าแท้ ถ้าหากเราใช้เพื่อจะอวดฐานะมั่งมีเป็นต้น มันก็จะกลายเป็นเรื่องตัณหา เรื่องคุณค่าเทียม ต้องแยกกันได้อย่างนี้

พอใช้โยนิโสมนสิการมันก็เป็นโภชเนมัตตัญญุตาเลย มันอยู่แค่นี้ไม่ต้องไปพูดถึงว่าจะกินน้อยเท่านั้นมากเท่านั้น ในแง่ของปริมาณแท้อาจจะบอกไม่ถูก เป็นเรื่องต้องว่ากันอีกชั้นหนึ่ง เอาหลักกลางก่อนต้องเอาที่คุณค่าของมันก่อนและเรื่องปริมาณมาว่ากันทีหลัง ถ้าเอาปริมาณมาว่าเลยมันคงจะยุ่ง ว่ากินแค่ไหนเรียกว่าพอดี คงจะจำกัดเป็นหลักตายตัวไม่ได้บางทีมันขึ้นกับกาลเทศะความต้องการตามสภาพและขนาดของร่างกายเป็นต้น ปัจจัยประกอบหลายอย่าง ต้องจับหลักอันนี้พระท่านใช้หลักนี้เลยว่าโภชเนมัตตัญญุตา คือปฏิสังขา โย… พิจารณาโดยแยบคายแล้วจึงฉันอาหาร คือฉันเพื่ออย่างนี้ๆ แล้วก็ว่าไป กินอยู่พอดีหลักอยู่ตรงนี้เราจับได้แล้ว เรื่องเสนาสนะที่อยู่อาศัยก็เหมือนกันขยายไปได้ทุกอย่างแม้แต่เทคโนโลยีต่างๆ

ทีนี้ในการพัฒนา อาตมาว่า ชั้นกายภาวนา ฝึกอบรมเจริญกายนี้สำคัญมากในการพัฒนา ถ้าพัฒนาบุคคลไม่ได้แล้ว กระบวนการพัฒนาก็ย่อมผิด การพัฒนาบุคคลนั้นต้องพัฒนาทั้งคนที่ทำงานและพัฒนาคนที่จะอยู่ในถิ่นที่พัฒนา และในการพัฒนาบุคคลนั้น ถ้าหากว่าชั้นที่หนึ่งคือกายภาวนาในแง่นี้ไม่สำเร็จ อาตมาว่าการพัฒนานั้นก็ล้มเหลวแล้ว ถ้าหากว่าการใช้ปัจจัยสี่หรือพวกวัตถุทั้งหลายและการรับความเจริญต่างๆ ทางเทคโนโลยี มุ่งจะเอามาเพื่อสนองตัณหา เพื่อวัตถุประสงค์เพียงจะปรนเปรอบำรุงบำเรอ อวดมั่งอวดมีแข่งขันเป็นต้น การพัฒนานั้นจะต้องเกิดปัญหามาก ล้มเหลว และอาตมามองในแง่ว่าการพัฒนาที่อาจจะเรียกว่าพัฒนาผิดหรือเป็นเพียงการทำให้ทันสมัยแต่ไม่พัฒนานั้น มันเป็นเรื่องที่ผิดมาตั้งแต่กายภาวนาเลย มันพลาดมาแต่ที่นี่เลย ยังไม่ต้องไปพูดถึงศีลภาวนา จิตภาวนา ปัญญาภาวนา มันพลาดเสียแล้วตั้งแต่ต้น

ขอรวบรัดผ่านไปก่อน เรื่องนี้ยังไม่หมดต้องคุยกันอีก ต่อไปเรื่องศีลภาวนา พัฒนาศีล เจริญศีล(ข้อ ๒)เรื่องศีลก็รู้กันอยู่แล้วแต่เรามาขยายความหมายให้คนสมัยปัจจุบันเข้าใจคือ เป็นระเบียบวินัยความสุจริตกาย วาจา และความสัมพันธ์ทางสังคม ศีลนี่มองได้สองด้าน ด้านภายในตัวเอง กับด้านภายนอก ด้านภายในคืออะไร ศีลคือการฝึกกายวาจาให้เดินเข้าสู่ทางที่ถูกต้องปราศจากโทษ เพื่อให้เป็นพื้นฐานในการฝึกอบรมจิตต่อไป ศีลภาวนาเป็นพื้นฐานแก่จิตภาวนา ท่านบอกว่าศีลที่ถูกต้องเป็นไปเพื่อสมาธิถ้าใช้ศัพท์พระก็ว่าสมาธิสังวัตตนิก นี่เป็นเรื่องวัตถุประสงค์ภายในศีลนั้นจะปฏิบัติอย่างไรๆ ถ้าไม่เป็นไปเพื่อสมาธิก็ล้มเหลวหมด ไม่ได้ดูที่การปฏิบัติภายนอกแค่นั้นแค่นี้ แต่ดูที่ว่าบรรลุเป้าหมายหรือไม่ อันนี้เป็นหลักสำคัญ คือมองศีลนี่มองสองแบบ หนึ่งมองในรูปแบบว่าเคร่งครัดเท่าไร เคร่งครัดนี้ก็ถูกต้องในแง่หนึ่ง เพราะมันมีหลักการกฎเกณฑ์ภายนอกที่จะเป็นข้อตกลงสำหรับรู้ร่วมกันว่าเอาแค่ไหน อย่างน้อยรูปแบบมันให้แล้ว รูปแบบนี่เป็นเรื่องสำคัญเหมือนกัน แต่อย่างไรก็ตามรูปแบบยังไม่ใช่เครื่องตัดสินที่แท้จริง ต้องดูว่าเข้าลักษณะสมาธิสังวัตตนิก เป็นไปเพื่อสมาธิหรือไม่ ถ้าไม่มีเป้าหมายนี้อยู่ การปฏิบัติอาจจะเคร่งครัดเลยเถิดไป เป็นไปได้เหมือนกัน อย่างลัทธินิครนถ์ก็ปฏิบัติเคร่งครัดเลยเถิดไป

ทีนี้ศีลในแง่ข้างนอก ศีลมองในแง่ประโยชน์ของสังคม ประโยชน์ทางสังคมเริ่มด้วยอะไร คือการไม่เบียดเบียนกันเป็นอย่างน้อย ศีลนี่มีหลักการด้านนอก อย่างน้อยไม่เบียดเบียนกัน ไม่สร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้อื่น ต่อจากนั้นเป็นศีลที่เกื้อกูลยิ่งขึ้นคือการช่วยเหลือทางสังคม อย่างพระท่านจัดเอาบุญกิริยาวัตถุข้อไวยาวัจจมัยกุศล บุญหรือกุศลที่เกิดจากการขวนขวายช่วยเหลือรับใช้อะไรต่างๆ (ไวยาวัจจะ) อย่างพวกที่ไปทำงานสังคมสงเคราะห์ ทำงานพัฒนา นี่เราถือว่าเป็นพวกทำไวยาวัจจมัยทั้นนั้น ไวยาวัจจะนี้เป็นเรื่องศีลชั้นบวก เรามีศีลที่เรียกว่าศีลชั้นลบคือไม่เบียดเบียนเป็นเกณฑ์อย่างต่ำ ถ้าใครยังไม่ไปทำอื่นก็ขออย่าเบียดเบียน ทีนี้ถ้าทำได้ดีกว่านั้นก็มาถึงขั้นไวยาวัจจมัยเป็นชั้นบวกไปช่วยเหลือ จะเรียกว่ารับใช้หรือบริการหรือจะใช้ศัพท์อะไรก็แล้วแต่ เป็นอันว่าเรื่องศีลนี่สองอย่าง มองข้างในมองข้างนอก ในด้านสังคมความสัมพันธ์ในลักษณะไม่เบียดเบียน ลักษณะช่วยเหลือเกื้อกูลและข้างใน มันจะสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน ถ้าภายนอกดีก็จะช่วยให้จิตใจมีพื้นฐานที่จะทำให้สงบได้ อย่างน้อยสังคมที่สงบร่มเย็นมีสันติก็ทำให้คนมีสภาพแวดล้อมอำนวยแก่การฝึกอบรมทางจิตด้วย หรือตัวเองประพฤติศีลดี จิตตัวเองก็โปร่งเบาอิ่มใจเป็นพื้นที่จะสงบได้ง่าย เหมาะแก่การทำสมาธิ

ขอผ่านไป ข้อที่สาม จิตภาวนา การฝึกอบรมจิตนี้ในขั้นสูง (ที่จริงก็ไม่ใช่สูงหรอกแต่เราใช้ศัพท์ทำให้เกิดความรู้สึกว่าเป็นรูปแบบหรือจำกัด) จิตภาวนาก็เป็นเรื่องสมาธิภาวนา การฝึกบำเพ็ญสมาธิ หรือ สมถภาวนาเจริญสมถะ แต่เดี๋ยวนี้ พอพูดถึงสมถะคนก็ไปนึกว่าหงอยๆ ที่จริงหงอยนี่ตรงกันข้ามกับสมถะ ดีไม่ดีไปเข้าถีนมิทธนิวรณ์ สมถะมีจุดมุ่งหมายเพื่อการกำจัดถีนมิทธะซึ่งเป็นตัวนิวรณ์สำคัญ เป็นปฏิปักษ์แก่สมาธิเป็นปฏิปักษ์แก่สมถะ สมถะนั้นตัวสำคัญคือกำจัดนิวรณ์ กำจัดนิวรณ์ไม่ได้ไม่มีทางได้สมาธิ เป็นเกณฑ์วัดทีเดียวว่าถ้ามีนิวรณ์คือไม่มีสมาธิเพราะฉะนั้นมีความหดหู่ ซึม ท้อแท้คือลักษณะที่ไม่มีทางได้สมาธิ สมาธิต้องกำจัดอันนี้ด้วย เพราะฉะนั้นคนเข้าใจผิดมากมาย เอาสมถะเป็นหงอยไป ไปสร้างความรู้สึกทัศนคติกันอย่างนั้น บางทีคนที่บำเพ็ญเพียรทางจิตก็มีลักษณะสงบแต่ว่าสงบอย่างมีปัญญา สงบอย่างมีลักษณะท่วงทีของตัวเองในทางที่มีคุณภาพ ไม่ใช่สงบแบบหงอยอะไรไปอย่างนั้น ต้องระวังแยกกันให้ดีด้วย เป็นอันว่าฝึกอบรมจิตฝึกอบรมสมาธินี่เป็นพวกเดียวกัน พูดไปแล้วว่า สมาธิให้ความหมายในแง่ลบได้ สมาธิคืออะไรคือการกำจัดนิวรณ์ ถ้าพูดแค่นี้พอเลย กำจัดนิวรณ์ได้ปฏิบัติสมาธิก็สำเร็จ นิวรณ์มีห้า

๑. กามฉันทะ แปลว่า ความพอใจในกาม ความพอใจติดในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสสิ่งปรนเปรอทั้งหลาย คือใฝ่ในสิ่งที่พอใจอยากได้ทั้งหลายนั่นเอง นิวรณ์ห้าอีกชุดหนึ่งท่านใช้บ่อย เริ่มต้นด้วย อภิชฌาไม่ใช่เริ่มด้วยกามฉันท์ แต่ชุดที่เรารู้จักกันมากคือ เริ่มด้วยกามฉันท์นี้อภิชฌานี้เป็นไวพจน์ของกามฉันท์ แต่พูดทั้งสองศัพท์ เราจะเกิดความเข้าใจกว้างขึ้น บาลีหมายถึงอันเดียวกัน อภิชฌาแปลว่าความเพ่งเล็งอยากได้ ใจจ้องจะเอาโน่นเอานี่ คือโลภนั่นเอง โลภอยากได้นั่นได้นี่เป็นตัวนิวรณ์อย่างหนึ่งขัดขวางการทำงานของจิต อย่างน้อยมันทำไม่ให้จิตสงบ เรื่องนี้จะไปสัมพันธ์กับปัญญาภาวนาด้วย จิตจะไม่สงบไม่เป็นสมาธิไม่แน่วแน่ในเรื่องที่คิดพิจารณาเป็นต้น ถ้ามีกามฉันทะโลภอยากได้นั่นได้นี่ จ้องจะเอาโน่นเอานี่วุ่นวายกันอยู่ มันก็ฟุ้งหรือเขวออกไป

๒. พยาบาท คือความคิดที่มีความกระทบกระทั่ง ขัดเคืองแค้นใจไม่พอใจอะไรต่างๆ คิดแง่ร้ายมุ่งจะทำลาย พวกนี้เรียกว่าพยาบาท ทำให้จิตไม่สงบ ในขณะที่ต้องการสมาธิ ถ้าจิตมันร้อนก็ไม่สำเร็จ พยาบาททำให้จิตร้อน ความโกรธทำให้จิตร้อน เมื่อจิตร้อนกระวนกระวายมันก็สงบไม่ได้

๓. ถีนมิทธะ ตัวที่พูดถึงเมื่อกี้ ความหดหู่ ง่วงเหงา เฉาซึม ท่านบอกว่ามันเป็นทางกายกับทางใจ ทางกายคือความง่วงเหงาหาวนอนเป็นมิทธะ คือกายไม่สู้งาน เรียกว่าไม่สู้กิจก็ได้ ในทางจิตคือถีนะ ความหดหู่ ความซึมเศร้าเหงาหงอย สมาธิจะต้องมีลักษณะจิตสดชื่นผ่องใสกระปรี้กระเปร่าด้วย ถีนมิทธะทำให้จิตระย่อท้อถอย ห่อเหี่ยว ไม่ผ่องใส จึงทำให้ไม่เกิดสมาธิ

๔. ต่อไป อุทธัจจกุกกุจจะ แยกเป็นอุทธัจจะ ความฟุ้งซ่านจิตวุ่นวายพล่านไปในเรื่องต่างๆ กุกกุจจะ ความรำคาญใจ ความเดือดร้อนใจ เช่นว่าสิ่งที่ควรจะทำ เราไม่ได้ทำ เรื่องที่ไม่ควรทำเราได้ทำแล้ว นี่เป็นสิ่งที่จะมารบกวนจิตทำให้เป็นสมาธิไม่ได้ สงบไม่ได้ ผ่องใสไม่ได้

๕. สุดท้ายก็วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัย ท่านใช้คำว่าสงสัยในกุศลธรรมในหลักความดีงาม ทำให้ใจไม่สามารถแล่นไปได้แม้แต่ในสิ่งที่ปฏิบัติ สิ่งที่เราทำเราเกิดไม่แน่ใจขึ้นมาว่า มันเป็นสิ่งดีงามมีคุณประโยชน์แท้หรือเปล่า พอเกิดความลังเลสงสัยเช่นนี้จิตก็ไม่สบายแล้วแล่นไปไม่ได้ งานนั้นเดินไม่เรียบคล่อง จิตไม่สามารถจับงานนั้นให้พุ่งไปได้ดี

ห้าอย่างนี้เป็นตัวนิวรณ์ ขัดขวางจิตไม่ให้สงบ ไม่ให้แน่วแน่ ไม่ให้เกิดสมาธิ สมาธิจะต้องกำจัดเจ้าห้าตัวนี้ให้ได้ กำจัดได้เมื่อไรสมาธิเกิดเมื่อนั้น นี่เป็นการมองในแง่ลบ ทีนี้มองในแง่บวกก็มองได้หลายอย่าง ท่านใช้ศัพท์เยอะแยะเหลือเกิน พรรณนาถึงสภาพจิตที่เป็นสมาธิว่าเป็นอย่างนั้นๆ อาตมาจะลองพูดให้สั้นด้วยคำพูดสมัยใหม่ซึ่งอาจจะใช้ว่าสมาธิคือฝึกจิตให้มีคุณภาพจิตดี ให้มีสมรรถภาพจิตดี ให้มีสุขภาพจิตดี จิตมีลักษณะสามอย่างนี่เรียกว่าเป็นจิตที่ได้รับการฝึกอบรมแล้ว เป็นจิตที่มีสมาธิ

จิตมีคุณภาพ คือประกอบด้วยคุณธรรม เช่นมีเมตตากรุณาเป็นต้น จิตมีสมรรถภาพคือจิตที่มั่นคง เข้มแข็งทนทาน ไม่เปราะไม่เสาะเป็นต้น ศัพท์พระท่านใช้คำว่า กรรมนียะ เหมาะแก่การใช้งาน แสดงว่าหลักการของสมาธินี่มุ่งเพื่อจุดหมายขั้นต่อไปคือสำหรับใช้ประโยชน์เป็นเครื่องมืออุปกรณ์ สุดท้ายมี สุขภาพจิต อย่างน้อยก็มีความผ่องใส มีความเบิกบานสดชื่นร่าเริงแจ่มใสนุ่มนวลอะไรพวกนี้เรียกว่า จิตเป็นสมาธิ อย่างไรก็ตามคุณสมบัติเหล่านั้นจะมารวมที่นี่ คือ “เหมาะแก่การใช้งาน” ใช้งานอะไร ท่านบอกว่า ใช้งานข้อสี่ไงเล่า คือปัญญาภาวนา ใช้งานทางปัญญา เอาไปคิดไปใช้ปัญญา เจริญปัญญาต่อไป ฉะนั้นสมาธิท่านจึงบอกว่าเป็นฐานแก่ปัญญา เป็นอันว่าพูดโดยย่อก็เท่านี้ สมาธิในแง่บวก มีคุณภาพประกอบด้วยคุณธรรมต่างๆ มีสมรรถภาพเข้มแข็งเหมาะแก่การใช้งาน มีสุขภาพ เบิกบานผ่องใสมีความสุข

ทีนี้เวลาฝึก ถ้าฝึกเพียงว่าให้จิตมันแน่วแน่อยู่ ก็ใช้วิธีได้เยอะแยะ เช่น กสิณ กสิณมุ่งจะทำให้จิตแน่วแน่มั่นคงอยู่กับอารมณ์หนึ่งเดียวที่กำหนด มุ่งกำจัดความฟุ้งซ่านต่างๆ วิธีฝึกที่เน้นคุณธรรมก็มี ก็มุ่งให้จิตแน่วแน่เหมือนกัน แต่เจริญคุณธรรมไปในตัวด้วย เช่น พรหมวิหารสี่ ซึ่งท่านนิยมเรียกว่า อัปปมัญญา ก็เป็นกรรมฐานฝึกจิตเหมือนกัน เป็นสมถะ ฝึกให้มีเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ถ้าเรามองกว้างๆ เห็นตัวกรรมฐานเราจะเข้าใจสมาธิมากขึ้น ฝึกเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ก็เป็นการฝึกสมาธิ อย่างนี้เป็นต้น

ต่อไป ข้อสุดท้าย ปัญญาภาวนา เจริญภาวนา ถ้าใช้ศัพท์เฉพาะจริงๆ ก็เป็นขั้นวิปัสสนาภาวนา การเจริญวิปัสสนา มุ่งให้รู้แจ้งสภาวะของสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง คือเข้าใจสิ่งทั้งหลายตามสภาวะหรือตามที่มันเป็น สิ่งทั้งหลายเป็นอย่างไร ก็รู้ตามที่มันเป็นอย่างนั้นแค่นั้น เกิดยถาภูตญาณทัศนะ รู้เห็นตามความเป็นจริง ขั้นสูงสุดคือรู้สภาวะของโลกและชีวิตตามเป็นจริง ทำให้จิตหลุดพ้นไปได้ รู้ตามเป็นจริงอย่างไร ท่านขยายว่ารู้ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ทีนี้ต่ำลงมารู้ตามเป็นจริงคือคิดพิจารณามองเห็นตามเป็นจริง เรื่องสำคัญอยู่ที่ว่า คนเรานี่ใช้ปัญญาแต่ไม่เห็นตามความเป็นจริง มันมีตัวตนที่จะทำให้พิจารณาแล้วเห็นคลาดเคลื่อนหรือบิดเบือนไปจากความเป็นจริง เรียกแง่หนึ่งว่าทำให้เกิดมีอคติ คือการพิจารณามองสิ่งทั้งหลายอย่างเอนเอียง ปัญญาภาวนาจะต้องมาแก้อันนี้ การรู้เห็นตามความเป็นจริง จึงเริ่มต้นแต่การพิจารณามองเห็นรับรู้สิ่งทั้งหลายถูกต้องตรงตามที่มันเป็นจริง ไปจนกระทั่งรู้ลักษณะสภาวะทั้งหลายที่เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา จบสุดท้าย

ขั้นที่เราเน้นในที่นี้คงเป็นขั้นต้นคือ ขั้นของการรู้เห็นการพิจารณาสิ่งทั้งหลายถูกต้องตามความเป็นจริง การจะใช้ปัญญาให้ถูกต้องเห็นตรงตามความเป็นจริงก็ไปเข้าหลักที่พูดเมื่อกี้ คือนิวรณ์ที่สัมพันธ์กับสมาธิเป็นตัวที่ถูกสมาธิกำจัด สมาธินั้นทำให้จิตพร้อมที่จะใช้งานทางปัญญา เพราะฉะนั้นนิวรณ์ก็มาสัมพันธ์กับปัญญา เป็นตัวขัดขวางให้ใช้ปัญญาได้ไม่ถูกต้อง เวลาพระพุทธเจ้าตรัสถึงนิวรณ์ทรงเน้นในแง่ปัญญามากกว่าในแง่จิตด้วยซ้ำ ในพระไตรปิฎก นิวรณ์นี้จะมาคู่กับโพชฌงค์เป็นธรรมะฝ่ายปฏิปักษ์ต่อกัน นิวรณ์เป็นฝ่ายอกุศลเป็นตัวปิดบังปัญญาในแง่จิตท่านว่ามันกดทับจิต ครอบงำจิต ทำให้จิตไม่เปิดโล่งคับแคบ ที่ว่าเป็นตัวบังปัญญาตอนนี้สำคัญ ถ้าหากว่ามีนิวรณ์การพิจารณาสิ่งทั้งหลายมันจะไม่ตรงตามความเป็นจริง เริ่มตั้งแต่ถ้ามีความโลภเป็นอภิชฌาเพ่งเล็งอยากได้ผลประโยชน์ การพิจารณาเรื่องต่างๆ ก็เอนเอียงถูกความอยากได้นั้นลากไป ไม่พิจารณาตามเรื่องไม่เป็นอุเบกขา ถ้าในแง่บุคคลก็เกิดความลำเอียง ถ้าในแง่วัตถุก็เป็นเรื่องโลภ ทีนี้ถ้าเกิดพยาบาทมันก็ลำเอียงไปอีกด้านหนึ่ง ไปในแง่โทสาคติลำเอียงเพราะโกรธ ไม่เห็นตามความเป็นจริงเหมือนกัน ถ้ามีถีนมิทธะ จิตห่อเหี่ยวก็เป็นอันว่าใช้ปัญญาไม่ค่อยได้ มันซึมไปปัญญาไม่แล่น อุทธัจจะ กุกกุจจะ ใจฟุ้งซ่านส่ายพล่านอยู่ก็เสียคุณภาพไม่มั่นคงเข้มแข็ง จิตไม่แน่วแน่ไม่พร้อมจะใช้งานต่างๆ วิจิกิจฉา ลังเล ขัดแย้งในใจ ทำให้เข้าสู่เรื่องไม่ได้ เอากันง่ายๆ ว่า นิวรณ์นี่เป็นตัวทำให้คนเราใช้สติปัญญาไม่ได้ถูกต้องตามความเป็นจริง

ทีนี้พูดโยงมาถึงสมัยปัจจุบัน เรื่องนิวรณ์นั้นบางกรณีท่านยอมให้ว่าเป็นเทคนิค คนเรานี่บางทีมันประมาท คนที่มีความสุขอยู่สบายแล้วมักจะประมาท ธรรมะท่านสอนไม่ให้ประมาทแต่คนก็อดประมาทไม่ได้ยามประเทศชาติมีความสงบสุขชาวประชาก็มักประมาท ไม่เอาเรื่องเอาราวไม่ปรับปรุงเตรียมการ ดีไม่ดีก็หันไปมัวเมา เลยมายุ่งอยู่กับการสนุกสนานปรนเปรอนำสังคมไปสู่ความเสื่อม ความสุขเลยกลายเป็นตัวร้ายที่ทำให้เกิดความเสื่อม คนเรามักประมาทด้วยเหตุต่างๆ หลายๆ อย่าง ประเด็นก็คือความประมาทมัวเมาเป็นเรื่องร้ายแรงและขัดขวางการพัฒนา

เมื่อคนเราประมาทด้วยความสุขของตน ก็จะต้องมีการกระตุ้น กระตุ้นให้ไม่ประมาท วิธีกระตุ้นทำได้หลายอย่าง ถ้าผู้กระตุ้นทำในความหมายที่เป็นกุศล บางทีแม้จะใช้สิ่งที่ไม่เป็นกุศลมันก็ช่วยได้เหมือนกัน หลักธรรมบอกว่าอกุศลเป็นปัจจัยแก่กุศลได้ คนในโลกนี้จำนวนมากมีกิเลสชนิดที่ปกป้องตัวเอง ในขณะที่ยังไม่ตรัสรู้ยังไม่บรรลุ กำจัดกิเลสยังไม่ได้ กิเลสชนิดปกป้องตัวเองช่วยคนได้มาก เช่นความกลัว ความกลัวช่วยให้คนพ้นจากภัยอันตรายได้ แม้ว่ามันเป็นสิ่งที่ไม่ปลอดภัยเพราะในหลายกรณีมันทำให้เราแย่ แต่บางกรณีมันช่วย หรืออย่างมานะ คนธรรมดาปุถุชนนี่ มานะช่วยได้มาก แต่มันก็ทำลายเราด้วย อย่างขัตติมานะ ก็ทำให้ต้องเพียรพยายาม ฉันจะต้องทำให้ได้เพราะฉันเป็นกษัตริย์ หรือไม่ต้องถึงกษัตริย์ คนธรรมดาเพราะมานะก็คิดว่าเราอยู่ในฐานะนี้ ฉันเป็นอย่างนี้ชั้นนี้ เห็นคนอื่นในฐานะด้อยกว่า เขาทำอย่างนั้นได้เราทำไม่ได้เราก็แย่ ก็ต้องบีบบังคับตัวเองเร่งรัดตัวเอง กิเลสพวกนี้ช่วยมนุษย์สามัญได้มากมาย เราต้องเห็นคุณค่าของมันบ้าง

โบราณเราเอามานะมาสับสนกับความเพียร อย่างผู้ใหญ่สอนเด็กว่าให้มีมานะพยายาม เอามานะมาคู่กับพยายามก็เพราะอันนี้ เพราะตัวมานะนี่มันเคยช่วยเรา แล้วนานๆ เลยสับสนเอามานะเป็นความเพียรไป แต่มานะเป็นเหตุให้คนเพียรได้ ทั้งที่มันเป็นกิเลส และคนธรรมดานี้ มานะเป็นตัวสำคัญทำให้ทำสิ่งที่ดีงามได้มาก ในทำนองเดียวกันเราอาจปลุกคนทำให้เกิดความโกรธไม่พอใจอะไรต่างๆ ทำให้โลภอยากได้โน่นได้นี่บ้าง แล้วจะได้ให้เขาคิดให้เขาเพียรพยายาม ที่สำคัญคือใช้ความคิด ไม่งั้นธรรมดาไม่คิดนั่งหงอย เพลินสบายประมาท ไม่เอาเรื่องเอาราว พอไปปลุกอย่างนี้แล้วคิดขึ้นมา สนใจเรื่องที่เขาให้คิด แต่อันตรายมาอยู่ตรงนี้ตอนที่ว่าพอถึงจุดควรหยุดไม่หยุด คือตอนที่คิดเขาควรจะระงับโลภะความอยากได้ หรือกามฉันทะ ระงับความโกรธความพยาบาท เพราะตอนใช้ปัญญาต้องบริสุทธิ์จากสิ่งเหล่านี้ พอจะคิดต้องหมดสิ่งเหล่านี้ ไม่มีความลำเอียง มองตามจริง

วิธีการสมัยใหม่ผิดกับพุทธศาสนาตรงนี้ คือไปปลุกให้คนโกรธหรืออยากได้ มันมี ๒ พวกในสมัยปัจจุบัน พวกหนึ่งปลุกให้คนโลภจะได้คิดอยากได้โน่นอยากได้นี่จะได้พัฒนา อีกพวกตรงข้ามปลุกให้โกรธจะได้ตื่นตัวที่จะแก้ไขสิ่งชั่วร้ายในสังคม สองพวกนี้ถ้ามองในแง่พุทธศาสนาเป็นที่สุดสองทาง พุทธศาสนาอาจจะยอมรับตอนต้นว่าปลุกได้ แต่ระวังที่สุดเลยมันจะผิด พอถึงจุดหยุดจะใช้ปัญญาต้องให้เขาพ้นจากสิ่งเหล่านี้ ถ้าไม่พ้นจากสองอันนี้จะคิดลำเอียง แล้วมองไม่เห็นตามเป็นจริง แล้วทีนี้ที่พลาดก็ตรงนี้เองคือ พวกที่ใช้ปัญญาโดยมีโลภะเป็นตัวนำก็จะคิดไปทางหนึ่ง ทำให้พัฒนาผิดพลาดเอาเข้าตัวไป อีกพวกหนึ่งคิดโดยเอาพยาบาทหรือโทสะเป็นตัวนำ ความคิดก็ลำเอียงไปอีกข้างหนึ่ง ทำให้ไม่เห็นตามความเป็นจริง มองอีกฝ่ายหนึ่งร้ายไปหมด คิดทำลายกันต่างๆ ผิดทั้งคู่ ในแง่ของพุทธศาสนาบอกว่าเราอาจจะยอมในแง่อุบายจุดไฟเริ่มได้ แต่พอถึงขั้นใช้ปัญญาแล้ว ต้องปราศจากทั้งฝ่ายโลภะทั้งฝ่ายโทสะ จึงจะมองเห็นตรงทั่วตลอด กำจัดโมหะได้แท้จริง นี้เป็นการพูดโดยย่อ โดยหลักการภาวนาสี่พูดจบแล้ว

เรื่องที่น่าจะพูดอีกก็คือ ในการฝึกอบรมปัญญา หรือปัญญาภาวนาที่ว่าให้รู้เห็นตามความเป็นจริงนั้น พอได้เห็นได้รู้ความเป็นจริงก็เกิดสัมมาทิฏฐิ ขอพูดอย่างย่อว่าตอนต้นเป็นโลกียสัมมาทิฏฐิความเห็นถูกต้องในขั้นที่เป็นโลกียะ คือความเห็นรู้เข้าใจสำนึกในหลักเหตุผล เหตุผลมันมาจากเหตุและผล คือความคิดที่ดำเนินตามแนวเหตุและผล แต่ว่าเหตุผลกับเหตุและผลไม่เหมือนกันนะ ระวังอย่าสับสน “เหตุและผล” ใช้ภาษาอังกฤษว่า Cause and Effect แต่ “เหตุผล” ใช้ภาษาอังกฤษว่า Reason “การคิดเหตุผล” ใช้ว่า Reasoning นี่ยังไม่ถึงขั้นเข้าถึงตัวความจริง แต่เป็นขั้นการคิดที่ตรงตามแนวเหตุและผล หรือจะเรียกอีกอย่างว่าคิดตามแนวของเหตุปัจจัยตามความสัมพันธ์สืบทอดของเหตุปัจจัย นี้เราเรียกว่าคิดอย่างมีเหตุผล แต่มันอาจจะไม่ใช่ตัวความจริง เพราะยังไม่ได้รู้เห็นเหตุและผลเอง ขั้นคิดเหตุผลยังไม่ถึงขั้นรู้เห็นเหตุและผล เป็นขั้นคิดตรงกับความจริงแต่ยังไม่ใช่ขั้นเข้าถึงตัวความจริง แยกตรงนี้ได้ พอรู้เห็นเหตุและผลก็ถึงความจริงเลย แต่คิดสอดคล้องกับเหตุและผลเป็นการคิดอย่างมีเหตุผล ความมีเหตุผลรู้เข้าใจเหตุผลเป็นขั้นโลกียสัมมาทิฏฐิ แต่พอถึงขั้นรู้เห็นเหตุและผลประจักษ์เองก็เป็นโลกุตรสัมมาทิฏฐิถึงจุดหมายของปัญญาภาวนา

เชิงอรรถ

1.  แสดงเมื่อวันอาสาฬหบูชา ๕ กรกฎาคม ๒๕๒๕ ณ อุโบสถวัดทองนพคุณ ตามคำอาราธนาของชมรมพุทธ-ไทยปริทัศน์ พิมพ์ครั้้งแรกใน จดหมายเหตุกลุ่มประสานงานศาสนาเพื่อสังคม ฉบับที่ ๒๒ เดือนกันยายน ๒๕๒๕

ที่มา : https://www.payutto.net/


Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: