ความเท็จ กับ ความจริง จะอยู่ในจิตใจดวงเดียวกันของบุคคลคนหนึ่งในขณะเดียวกันไม่ได้
“ความจริง กับ ความเท็จ เป็นข้าศึกกันอยู่ในตัวเองแล้ว เรากำลังถูกครอบงำอยู่ด้วยความเท็จของโลก เพราะเราหลงไปจับฉวยเอาโลกในด้านเท็จเอง. ถ้าเราไปคว้าเอาโลกในด้านความจริงเข้าได้เมื่อใดความเท็จก็หายวับไป เหมือนคนที่ตั้งใจปลอมตัวมาหลอกลวงอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่เขารู้ทันเสีย.
นักเรียนเรียนวิทยาศาสตร์มิใช่เพื่อค้นหาเหตุผลเพื่อพิสูจน์ความเหลวแหลกของวิชาไสยศาสตร์ แต่เรียนเพื่อเข้าถึงความจริงทั่วไป แต่ในที่สุดก็พบความเหลวแหลกของศาสตร์อันเป็นมายาเหล่านั้นได้เอง ทั้งนี้ ก็เป็นเพราะความเท็จกับความจริงจะอยู่ในจิตใจดวงเดียวกันของบุคคลคนหนึ่งในขณะเดียวกันไม่ได้ และอันนี้เป็นกฎทางจิตวิทยาหรือกฎธรรมดาของจิต. เมื่อสิ่งหนึ่งเข้ามา สิ่งที่ตรงกันข้ามจะต้องออกไปโดยที่ไม่ต้องมีการพยายามหรือขอร้อง
ยกตัวอย่างเช่น เราเดินไปในที่มืด ได้รับสัมผัสชนิดถูกสับเข้าที่เท้าโดยแรง เลือดไหลซิบ ร้องเอะอะขึ้น มีผู้ร้องบอกว่าที่ตรงนั้นมีงู ซึ่งเขาได้เห็นเองเมื่อเย็นนี้ ความเจ็บปวดอันมีลักษณะของการถูกงูกัดได้เกิดขึ้น เป็นทุกขเวทนาอย่างแรงกล้า น้ำตาไหล เหงื่อตก ครั้นมีคนอีกคนหนึ่งมาช่วยเหลือ และเอาไฟมาส่องดู และได้พบสิ่งนั้น กลายเป็นเพียงวัตถุมีคม ชนิดที่กระดกได้เร็วในตัวเอง (เช่นกะลามะพร้าวที่แตกเป็นวงโค้งมีปลายแหลมทั้งสองข้าง) ชนิดหนึ่งสับเอาเท้า มีรอยประกอบกันพอดี ไม่ใช่งูกัด. ความเชื่อและความรู้สึกที่ว่าถูกงูกัดก็หายวับไปราวกะปลิดทิ้ง ความรู้สึกที่ว่าไม่ได้ถูกงูกัดหรือกระทั่งความขบขันจะเกิดขึ้นเองทันทีโดยไม่ต้องพยายามหรือของร้อง.
หรือไม่ถึงอย่างนั้น เช่นเดินไปมืดๆเหยียบเอาเชือกเข้าด้วยอุปาทานที่สำคัญว่างู ก็สะดุ้งกลัวกระโดดโหยงไปยืนตัวสั่นระริกอยู่ ต่อเมื่อได้ไฟมาส่องดูเห็นเป็นเชือก ความขบขันก็จะเกิดขึ้นแทนความกลัวที่ได้หายวับไป.
โลกนี้จะเป็นเชือกและเป็นงูพร้อมกันในคราวเดียวไม่ได้
ทั้งนี้ แสดงให้เห็นว่า ความเข้าใจว่างู กับ ความรู้สึกว่าไม่ใช่งู จะอยู่พร้อมกันในใจไม่ได้ ทั้งที่เรื่องจริงหรือของจริงเป็นอันเดียวกัน ได้แก่เชือกเส้นเดียวนั้น. มันอาจให้ผลในทางใจแก่เรา ในฐานเป็นงูก็ได้หรือเป็นเชือกก็ได้. และมีลักษณะสำคัญที่น่ากำหนดอยู่ตรงที่ว่า เมื่อใดความเท็จเข้ามาแทนที่อยู่ ความจริงก็ไม่แสดงตัวออกมา.
โลก หรือ โลกิยธรรม ก็ฉันนั้น จะให้ผลเป็นงูหรือเป็นเชือกได้ทั้งสองอย่าง แล้วแต่ว่าเราจะมองเห็นมันในด้านสามัญญลักษณะ หรือมองเห็นแต่ในด้านมายา ซึ่งเป็นผิวนอกอันฉาบไว้ ซึ่งเราเรียกว่าตัวโลกเอง เมื่อใดเห็นสามัญญลักษณะ เมื่อนั้นย่อมไม่เห็นโลก. เมื่อใดเห็นโลก เมื่อนั้นไม่เห็นสามัญญลักษณะ ทั้งที่สามัญญลักษณะก็อยู่ที่โลกนั่นเอง
นี่ย่อมแสดงว่า สิ่งที่ตำตาเราท่านอยู่ทุกเมื่อนั้น ยังมิใช่ลักษณะอันแท้จริงของโลก. จากโลกนั่นเองเราจะต้องมองให้เห็น“สิ่ง”อีกสิ่งหนึ่ง ซึ่งเมื่อเรามองเห็นแล้ว จะไม่เห็นโลกนั่นอีกเลย....”
พุทธทาสภิกขุ
ที่มา : ปาฐกถาเรื่อง “วิถีแห่งการเข้าถึงพุทธธรรม” ณ พุทธสมาคม กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๑๓ กรกฎาคม ๒๔๘๓ จากหนังสือชุดธรรมโฆษณ์ เล่ม “ชุมนุมปาฐกถาชุด พุทธธรรม” หน้า ๒๓-๒๕
0 comments: