วันศุกร์ที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2564

เครื่องอยู่ของบรรพชิต

เครื่องอยู่ของบรรพชิต

การฉันต้องให้มันสำรวม อย่าให้มีเสียงดังให้มันกระเทือนหูทายก เดี๋ยวทายกก็จะเอามาเพิ่มเข้าไปอีก นี่มันเป็นอย่างนี้ เรียกว่าฉันขอดบาตร คือเกลาบาตร ขูดบาตรให้มันมีเสียง ต้นบัญญัติดูเหมือนจะเป็นอย่างนั้น ตามที่ผมจำๆมาตามบัญญัติ ไม่ใช่ว่าฉันหมดตามเป็นจริง ฉันหมดนี่มันรู้จักประมาณ นี่มันไม่มีอะไร รู้จักประมาณคือฉันหมด ไม่เรียกว่าฉันขอดบาตร ฉันให้มันมีเสียงดัง เพื่อให้มันกระเทือนหูทายก เดี๋ยวทายกก็เอามาเพิ่มอีก มันก็ได้แกงอีกเท่านั้นแหละ นั่นมันมีความหมายอย่างนั้น นั่นเรียกว่า ฉันขอดบาตร.   อย่าฉันแต่ยอดลงไป ถ้าเราไม่ฉันจากยอดลงไป เราจะทำอย่างไร ก้นมันก็อยู่ข้างล่าง ยอดมันก็อยู่ข้างบนหรือเราจะคว่ำบาตรลงฉันหรือไงอย่างนี้ คืออย่าฉันตั้งแต่ยอดลงไป อันนี้ก็หมายความว่าเจาะเป็นรูลงไปตรงกลางท่านว่าอย่าฉันแต่ยอดลงไป ในความเป็นจริงที่ถูกแล้วก็คือ ฉันให้มันเสมอลงไป อย่างข้าวเจ้าที่เราฉันนี้ก็กวาดให้มันราบ ฉันให้มันเสมอลงไป นี่ตอบคำที่ว่าฉันแต่ยอดลงไป ถ้าเราไม่ฉันข้างบนลงไป เราจะทำอย่างไร นี่ความหมายมันเป็นอย่างนี้.   ดังนั้นการขบฉันนี้ เสขิยวัตรนี้มันก็มีประโยชน์มากเหมือนกันก่อนจะฉันนั้นท่านจึงให้รู้ว่าบัดนี้เราจะฉัน ในใจของเราต้องมีวัตรในการฉัน เราต้องน้อมรำลึกถึงพระวินัย ฉันในบาตร หรืออย่าฉันให้เมล็ดข้าวตกลงในบาตร อย่างนี้เป็นต้น.  

ในความเป็นจริงเมล็ดข้าวที่เข้าไปในปากเรานั้น มันถูกอามิสแล้วมันก็หล่นลง แล้วมันขาดลงไป แสดงว่ามันขาดออกจากกัน ท่านว่ามันผิด อย่างเหงื่อเราไหลปุดลงไปนี่ อันนี้มันไม่เนื่องกัน ถ้าเราจับบาตรแล้วเหงื่อมันไหลซึมลงไปตามนี้ เนื่องกันไปกับบาตรอย่างนี้อันนี้ท่านไม่เรียกว่ามันตกลงในบาตร คือเอาขณะนี้ ที่ขาดลงมา จากที่ขาดลงมา มันก็เป็นการขาดประเคน หรือว่าเรามีขนมอยู่ในบาตร มีข้าวอยู่ในบาตร เราบอกว่า เณร...จงเอาขนมสัก ๒ ก้อน หรือเอาข้าวสักกำหนึ่ง เณรเขาก็เอา เมื่อเขายกขึ้น ที่อยู่ในกำมือเป็นของที่ให้เขาแล้ว ที่มันหล่นลงมาเป็นต้น ยังเป็นปัญหาอยู่อย่างนี้ ถ้าหากว่าเราคิดแล้วก็เป็นของเคร่งหรือตึงอะไรไปอย่างนี้ แต่ว่าในสิกขาบททั้งหลายเหล่านี้ ถ้าหากว่าเราสำรวมอยู่ พยายามอยู่ก็ไม่เป็นอาบัติ เราเอื้อเฟื้ออยู่ สำรวมอยู่

ดังนั้น การฉันนี้มันจึงเป็นวัตรที่สำคัญ ระวัง เมื่อเราจะฉัน เราก็ต้องนึกถึงการฉัน ฉันคำใหญ่ ฉันคำโต ฉันขอดบาตร ฉันดังจิ๊บๆจุ๊บๆอะไรต่างๆเหล่านี้ มันเป็นเบ็ดเตล็ดต่างๆ แต่ว่าก็อย่าไปปล่อยมันนะ อันนี้นะ อย่าไปวางอะไรมัน ต้องมองดูมันให้ดี การฉันครั้งแรกนี้ ท่านจึงเอาของลงในบาตรให้เรียบร้อย อย่ารีบ ดูจิตเราเสียก่อน ให้มันรู้ทั่วถึงด้วย ในเวลาเราฉันอย่างนี้ ให้จิตสงบเสียก่อนถ้ามันอยากจะฉันเร็วๆก็พยายามให้มันช้าๆ ให้มันอยู่ได้เป็นปกติ แล้วเราก็ค่อยฉันของเราไป เรียกว่า สังวร สำรวม ระวัง ถ้าหากว่าเราปล่อยมันเลย มันก็ไม่ได้ ไม่มีการสังวร สำรวม ระวัง.  อะไรก็ช่างมันเถอะ พระวินัยเล็กๆน้อยๆ นี่มันมีพิษเหมือนกันคือ มันผิดนั่นเองแหละ ไม่ใช่อื่นไกล มันอยู่ที่สติ เราเป็นคนมีสติอยู่มีสัมปชัญญะอยู่ รู้อยู่ เห็นอยู่ เมื่อเราจะทำอะไร เราก็ต้องรู้อยู่ เห็นอยู่ เมื่อเรามีความรู้ชัดเจนอยู่ เป็นต้น มันก็รู้จักความผิดถูก หรือหากว่าเรายังไม่รู้จักความผิดก็สงสัย ตรงนี้มันไม่งาม ตรงนี้ไม่ค่อยดีสิ่งที่จิตใจเราว่าไม่ค่อยดีไม่ค่อยงามนั้นแหละ มันไม่ควรแล้ว

ถ้าหากว่าเราตั้งใจฉันนะ มันก็ดี ฉันมีสติ มีความระมัดระวังการฉันการเคี้ยว การจับอะไรต่ออะไร อย่างวางอะไรลงในกระโถนนี่มันเพล้ง...เพล้ง เมล็ดน้อยหน่าหรือเมล็ดมะขาม หรือเมล็ดอะไรทั้งหลายนี่ อันนี้มันไม่มีอะไรหรอก แต่ว่าสติเรามันไม่ค่อยมี มันไม่สังวร สำรวม คือ ท่านต้องการให้มันเงียบ ในความสงบนี่ การเคี้ยวการขบฉันนี่ รู้จัก มันดังเกินไปไหม มันมีเสียงเกินไปไหม มันรีบเกินไปไหม มันอะไรเกินไปไหม นี่ ถ้าเรามีสติอยู่ในตัวของเรานี่ มันก็มีระเบียบเรียบร้อย.  ดังนั้น ท่านจึงว่าฉันจังหันนั่น ท่านไม่ให้ไปมองดูบาตรของคนอื่น ให้มองดูในบาตรของตน บางทีมันก็ไปเพ่งโทษคนอื่นเสียอะไรต่ออะไรมันหลายอย่างในเวลานั้น คือไม่เห็นจิตของเจ้าของ.   ดังนั้น พระวินัยนี้ก็รวมเข้ากับธรรมะ พระวินัยที่ให้สังวรสำรวมนี้ก็ให้เกิดธรรมะ มันก็เป็นศีลนั่นเอง เป็นเครื่องควบคุมเรา ท่านอาจารย์มั่นสมัยนั้น ท่านไม่ใช้ช้อน มันเป็นของแข็ง ตักบาตรมันดังอย่างหนึ่งท่านเอาลง เมื่อเอาช้อนเข้าในปากแล้ว เอามือยัดเข้าไปในปากอย่างนั้น แต่สมัยนี้ก็ยังมีคนถืออยู่ รักษาข้อวัตรอยู่ แต่เขามีช้อนก็เมื่อเวลาที่สำคัญ ต้องมีความระมัดระวัง อะไรก็ช่างมันเถิด อันนี้เรามารวมถึงว่าผู้ปฏิบัติ เมื่อพูดถึงการปฏิบัตินี้ มันรวมเป็นธรรม.  ปฏิบัติธรรมมันรวมพระวินัย มันรวมธรรมะเข้าด้วยกัน เป็นข้อปฏิบัติเรียกว่าการปฏิบัติธรรม พระพุทธเจ้าก็บรรลุซึ่งธรรมะ ไม่ได้ยินท่านว่าบรรลุซึ่งพระวินัย บรรลุซึ่งธรรมะที่มารวมกันแล้ว เราจึงเรียกว่าเป็นการปฏิบัติธรรม

ทีนี้ท่านสอนว่า ธรรมเหล่าใดเป็นไปเพื่อความกำหนัดย้อมใจอย่างนี้เป็นต้น ธรรมนั้นคืออะไร

เราจะมีความรู้สึกทางจมูกก็ดี รู้สึกทางตาก็ดี รู้สึกทางหูก็ดีรู้สึกทางร่างกายก็ดี รู้สึกทางจิตก็ดี คำที่ว่าธรรมเหล่าใดนั้น หมายเอาสภาวะสัมผัสถูกต้องในอายตนะของเรา เช่นว่า มีรูปสวยๆ เรามองดูแล้ว มันกำหนัด มันย้อมใจ มีความกำหนัดมันก็ย้อมใจ อย่างเราใช้บริขารสวยๆงาม อย่างนี้เป็นต้น มันให้เกิดความกำหนัด มันย้อมใจ มันย้อมใจของเราขึ้นไปๆเรื่อยๆ มันเป็นเหตุให้เราลืมตัวของเราก็ได้ ท่านจึงให้พิจารณา จีวรก็ดี สังฆาฏิก็ดี บริขารทั้งปวงนี้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ เภสัช นี้น่ะ เมื่อรวมเข้ามานี้ มันปฏิบัติอยู่ตรงนี้ ท่านจึงให้พิจารณาปัจจัยทั้งสี่นี้.  ปัจจัยทั้งสี่นี้ เมื่อหยิบจีวรขึ้นมาท่านก็ต้องให้พิจารณา เมื่อฉันอาหารบิณฑบาตก็ต้องพิจารณาเสนาสนะ ที่อยู่ที่อาศัยท่านก็ให้พิจารณา ยาบำบัดโรคท่านก็ให้พิจารณา นี่รวมแล้วมันเป็นปัจจัยสี่ทำไมท่านจึงให้พิจารณา อะไรมันเป็นเหตุให้มีความกำหนัดมีความย้อมใจขึ้น จะเป็นวัตถุก็ตาม จะเป็นนามธรรมก็ตาม ย้อมใจให้เราโลภ ย้อมใจให้เรากำหนัด ย้อมใจให้เราโกรธ ย้อมใจให้เราสารพัดอย่างละ ไม่ปกติเสียแล้ว ทุกอารมณ์มันเป็นอย่างนั้น นี่เรียกว่าการย้อมใจ เรียกว่าเป็นธรรมทั้งหมด จะเป็นวัตถุก็เป็นธรรม จะเป็นนามธรรม มันก็เป็นธรรม ขอแต่ว่าอะไรนั้นมันมาทำให้ความกำหนัดย้อมใจเกิดขึ้น อันนั้นเราก็ต้องระวัง มันต้องระวัง

ธรรมอะไรเป็นไปเพื่อความประกอบทุกข์ ประกอบไว้ซึ่งทุกข์คือไม่ปล่อยทุกข์ อะไรที่มันเป็นเหตุให้ทุกข์เกิดอยู่ แล้วเราก็ไม่ปล่อยทุกข์ เราก็สะสมมันขึ้น จะเป็นวัตถุก็ตาม จะเป็นความรู้สึกนึกคิดก็ตาม นี่มันสั่งสมไว้ซึ่งทุกข์.  ธรรมเหล่าใดเป็นไปเพื่อความอยากใหญ่ใฝ่สูง เป็นไปเพื่อความไม่สันโดษยินดีในของที่มีอยู่ อย่างนี้ เป็นไปเพื่อความเลี้ยงอันยากเป็นไปเพื่อความเกียจคร้าน เป็นไปเพื่อความคลุกคลีหมู่คณะทั้งหลายเหล่านี้ ท่านตรัสเป็นส่วนหนึ่งว่า อันนี้ไม่ใช่ธรรมและไม่ใช่วินัย ไม่ใช่สัตถุสาสน์ คำสั่งสอนของพระศาสดาของเรา ตรงกันข้ามนั้น ท่านว่าอันนั้นเป็นธรรมคำสอน สัตถุสาสน์คำสอนของพระพุทธเจ้าของเรานี้อย่างนี้

ธรรมทั้งหลายเหล่านี้ ถ้าเราสังวรสำรวมมันจะเกิดอยู่ทุกวิถีทางมันจะเป็นธรรมะ เป็นคุรุธรรม มันหนัก นี่เรียกว่าปฏิบัติธรรมะ ถ้ารู้อย่างละเอียดอย่างนี้ มันก็รู้จักธรรมะ มันมากที่สุดละ ไม่จนธรรมะได้พิจารณา.  ฉะนั้น ข้อวัตรปฏิบัตินี้ เพื่อให้เข้าไปรู้ไปเห็นสิ่งทั้งหลายเหล่านั้น มันก็เป็นคล้ายๆพื้นฐาน อย่างเราจะปลูกอาคารสักหลังหนึ่งมันมีข้างบนสองชั้นสามชั้น มันก็อยู่ข้างบนโน่น แต่พื้นฐานก็คือตัววางรากฐานนี้เอง มันจะทรงตัวมันอยู่ได้ก็เพราะรากฐานของมันมั่นคง

การประพฤติปฏิบัตินี่มันรกรุงรังเหลือเกินที่ธรรมะมันจะอยู่ฉะนั้นเราจึงพยายามถอนอะไรออก ที่มันรกรุงรังน่ะถอนมันออก อย่างความกำหนัดย้อมใจ อย่างความเกียจคร้าน อย่างความอยากใหญ่ใฝ่สูง เป็นต้น ใครมีปัญญามากเท่าไร การปฏิบัติก็ยิ่งกว้างออกไป ก็ยิ่งละเอียดออกไป.   การปฏิบัติธรรมนี้ ท่านมารวมเข้ากันเสียเป็นพระธรรมวินัยรวมกันทั้งสองอย่าง เป็นพระธรรมวินัย เป็นข้อปฏิบัติเพื่อให้บรรลุซึ่งธรรม บรรลุซึ่งสันติธรรมคือความสงบระงับ ดังนั้น ข้อปฏิบัติของผู้ปฏิบัตินี้มันถึงมาก แต่ว่ามันก็ไม่มีอะไรยุ่งยาก ถ้าเรามีสติเต็มเปี่ยมแล้ว.  สติที่จะเต็มเปี่ยมนี้ก็เรียกว่าเราจะต้องพยายาม จะต้องฝึกเรื่อยๆ เช่น ผมเคยพูดให้ฟังว่า เราจะลงมาทำวัตร ลงโบสถ์ เข้ามานี่เราต้องกราบ มาองค์เดียวก็ตามเถอะ มาทำอะไรก็กราบพระ เมื่อเสร็จแล้วจะกลับกุฏิก็กราบพระ เมื่อเราออกไปถึงกุฏิแล้ว เราขึ้นไปบนกุฏิแล้วก็นั่งกราบพระ ฝึกเสียก่อน ฝึกให้มากๆ บางคนก็รำคาญใจ ฮึ...ลุกขึ้นก็กราบ นั่งก็กราบ อะไรก็กราบ สารพัดอย่างล่ะ อย่างนี้ฝึกสติของเราให้มันมีสติจนให้มันชำนาญ ให้มันชำนาญในสิ่งทั้งหลายดังนี้.  สตินี้มันคือความระลึกได้อยู่เสมอ มีสติก็มีสัมปชัญญะ เริ่มจากจิตของเรานี่เอง ทำให้มันชำนาญ บางคนก็คิดว่า มันป่ามันเถื่อนถือมั่นถือรั้นถือขลังอะไรไปอย่างนี้ก็มี คิดอย่างนี้ก็มี แต่ว่าทางก้าวของมันก็ต้องไปอย่างนี้ ตั้งแต่น้อยไปหาโตขึ้นมา จะต้องทำอย่างนี้

เรื่องพระวินัย เรื่องพระธรรม มันก็มีความสงสัย ถ้าเราปฏิบัติมันก็สงสัย สงสัยก็ช่างมันเถอะ สงสัยก็ทำไป พยายามทำไป คือว่าเราทำที่ไหนมันก็มีความแลาดอยู่ที่นั้น ทำด้วยการพินิจ ทำด้วยการพิจารณา เราทำตรงนี้เราก็ต้องพิจารณาอยู่ตรงนี้ ความฉลาดมันก็เกิดขึ้นมาเรื่อยๆไป คือ เหมือนกันกับเราได้ฟังธรรมะ ได้เรียนมาก ได้ฟังมาก เป็นพาหุสัจจะ.  ได้ฟัง มันได้ค้นคว้าในใจของมัน นี่เรียกว่าเรากำลังศึกษา มันเป็นเสขจิต มันจะต้องศึกษาอยู่ก่อน ก่อนที่มันจะรู้แล้วมันก็เป็นอเสขจิต นี่รู้เรื่องของมันแล้ว ไม่ต้องศึกษาแล้ว อย่างนี้.  ไม่อย่างนั้นเราอย่าไปถือว่าเราได้เรียนมามาก เราได้รู้มามากเราอย่าไปถืออย่างนั้น.   ถือว่าใครเป็นคนหลงล่ะ เท่านี้แหละ ถือว่าใครมันเป็นคนหลงกัน คนที่เรียนมากๆ หรือคนที่ไม่ได้เรียนเลย อย่างนี้ให้เราคิดให้มันดีๆ คนที่หลงน่ะ เรียนมากๆมันก็หลงกันได้ ไม่เรียนมันหลงก็ได้อย่างคนเราเกิดมา ตั้งแต่เล็กๆจนแก่ จะว่าเราเก่งก็ไม่ได้ เก่งเพราะอะไร เก่งเพราะเราเกิดมานานอย่างนี้ก็ไม่ได้

ไม่ไปที่ไหนทั้งนั้นแหละ สัจจธรรมไม่วิ่งไปตรงไหนแหละ มันอยู่คงที่ของมัน ท่านจึงเรียกว่าสัจจะ ความเป็นจริง สัจจะความจริงคือไม่เคลื่อนจากที่มัน เราจึงน้อมใจเราเข้าไปถึงสัจจธรรม จนกว่าสัจจธรรมมันจะตั้งอยู่ในจิตของเรา ไม่เคลื่อนที่ มันไม่ตามกระแสใจของคน มันไม่ตามความรู้สึกนึกคิดของคน ความรู้สึกนึกคิดเป็นความรู้สึกนึกคิดอันหนึ่ง สัจจธรรมนั้นก็เป็นอย่างหนึ่ง ถ้าเรามีความรู้สึกนึกคิดที่เป็นสัจจธรรม มันก็เป็นสัจจธรรม ถ้าเรามีความรู้สึกนึกคิดแหวกแนวออกไป แต่เราเข้าใจว่ามันถูก อันนั้นมันก็ไม่เป็นสัจจธรรม.  ได้ความว่า ที่เรามาปฏิบัติกันทุกคนนี้ เรายังไม่รู้ตามเป็นจริงฉะนั้น การฟังการเรียนท่านจึงให้พิจารณา อันนี้ท่านพูดมันผิดอย่างนี้เราก็ฟังมันผิด อันนี้ท่านพูดไปมันถูก อันนี้เท่ากับว่าท่านว่าถูก อย่าเพิ่งไปย้ำว่ามันถูกมันผิดในการฟังเลย คนฟังก็สักแต่ว่าเราฟังไป มันไม่จบตรงนี้ มันไปจบที่การรู้ขึ้นมาเอง มันวินิจฉัยเกิดความรู้ขึ้นมาเองในจิตที่ผ่องใสเมื่อไร มันจึงจะรู้จักที่นี้

ดังนั้น ทุกคนที่เรามาปฏิบัตินี้ก็มารับฟัง อันนั้นมันถูก อันนี้มันผิด พระพุทธเจ้าท่านก็ยังไม่ได้สอนอย่างนั้น ท่านให้ฟัง เราฟังสิ่งที่มันผิดนั้นมันก็ไม่ผิดอะไร เราฟังสิ่งที่มันถูกนั้นมันก็ไม่แปลกอะไรเป็นคนฟัง เอาความรู้ซึ่งมันเกิดขึ้นในจิตของเรา.   ฉะนั้น ท่านจึงตัดมันเสียว่า อันนี้ก็อย่าไปหมายมั่นมัน อะไรทุกอย่างมันเกิดขึ้นมาก็เรียกว่า เออ...อันนี้เราคิดว่ามันไม่ถูก อันนี้เราคิดว่ามันผิด อันนี้เราคิดว่ามันดี เดี๋ยวเราก็ไปยึดดี แล้วก็ไปยึดสิ่งที่ไม่ดี แล้วก็ไปยึดสิ่งที่มันผิด.  แม้เราไปยึดสิ่งที่มันถูกนะ อะไรทุกอย่าง ถ้าเราเข้าไปยึดมันโดยไม่มีปัญญานั้น มันผิดหมดละ ให้เข้าใจอย่างนี้ เราเข้าไปยึดมั่นถือมั่นมันโดยที่ไม่มีปัญญา ไม่มีเงื่อนไข อย่างนี้มันก็ผิด.   ถึงแม้มันถูกอยู่ ความถูกนั้นมันก็ไม่ผิด มันผิดอยู่ที่การที่เราเข้าไปยึด ไปยึดความถูก ไปยึดความผิด เช่นเราเป็นผู้ปฏิบัติ ของคนอื่นมันผิด ของเรามันถูก อย่างนี้เป็นต้น

เห็นของเราถูก เห็นคนอื่นผิดอย่างนี้ ถ้ามันเป็นก็ให้เป็นอาการอย่าไปเอาความแน่นอนกับมัน อย่าไปยืนยันกับมันมาก จะได้ความยืนยันมาก ก็คือเรียกว่า มันยังไม่แน่นอนนั่นเอง เราปล่อย มิได้สงสัยในสิ่งทั้งหลายเหล่านั้น มันรู้อยู่ในนั้น อันนี้คือการปฏิบัติ เพราะอย่างนั้น การปฏิบัตินี้มันถึงต้องพยายาม ค่อยๆทำ ค่อยๆคิด ค่อยๆพิจารณาเอา รุนแรงมันก็ไม่ได้.   เมื่อไปถึงที่ไหนก็ตามเถอะ ถ้าเราไปดูสถานที่ต่างๆในวัดเราก็ตาม นอกวัดเราก็ตาม อะไรก็ตาม หนังสืออะไรนั้นที่เขียนขึ้นมาก็ตามเถอะ โดยมากก็อ้างว่าอันนี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งนั้นแหละ แต่พระพุทธเจ้าเราก็ไม่เห็น คำสอนของท่านเราก็ไม่รู้อย่างนั้นท่านจึงสอนไว้ว่า อย่าไปเชื่อในสิ่งที่เขาว่ามันถูก อย่าไปเชื่อในสิ่งที่เขาว่ามันผิด ตรงนั้นคนไปมากมันถูก ตรงนั้นไม่มีคนไป ตรงนั้นปฏิบัติไม่ถูก อะไรทั้งหลายเหล่านี้ คือความเป็นจริงนั้นก็เป็นอย่างนั้นแหละท่านว่าอย่าไปยึดเอาทางเดียว เป็นกามสุขัลลิกานุโยโค ก็ดีอัตตกิลม-ถานุโยโค ก็ดี ถ้ามันเกิดขึ้นมานั้น ท่านไม่ได้ยึดมันคือท่านให้รู้มัน.  ถ้าไปยึดความสุขนั้นมันก็ผิดละ มันเป็นกามไปเสีย ถ้าไปยึดทุกข์มันก็ผิดอีกแหละ ความเป็นจริงเรื่องสุขหรือเรื่องทุกข์นี้ เป็นเรื่องจะให้เราพิจารณาปล่อยวาง อย่าไปหมายมั่นมัน อันนี้มันผิด ผิดแล้วก็แล้วไป อันนี้มันถูก ถูกแล้วก็แล้วไป อย่าไปยึดมั่นถือมั่นมันให้เรารู้

แต่เบื้องแรก เบื้องแรกจริงๆนะ คนเรามันก็ต้องยึด ถ้าจะให้ปล่อยเลย ให้วางเสีย มันก็วางไม่ได้ วางอะไร ความยึดเราไม่มีนี่อย่างเรามีวัตถุในมือของเราอย่างนี้ ท่านว่าเอามันทิ้งเสีย คนนั้นมันก็รู้ว่าทิ้งก็ได้ เพราะมันมีของที่จะทิ้งในมือของเรา ถ้าเราไม่มีอะไรจะทิ้งท่านว่าให้ทิ้งเสียก็ไม่มีที่จะทิ้ง อะไรในมือเราไม่มี คือ ของมันไม่มี.  ผมเคยเล่าให้ฟัง มันชัดดี วันนั้นผมเคยเล่าว่า นักปฏิบัติสองคนเถียงกัน นั่งประชุมกันอยู่อย่างนี้ มีลมอย่างหนึ่ง กับมีธงอย่างหนึ่ง ธงมันก็ไหวตัวไปมาอยู่เรื่อย ต่างคนต่างก็ดูอยู่ คนหนึ่งก็ถามว่า ธงไหวตัวเพราะอะไร อีกคนหนึ่งก็ตอบว่า เพราะลม คนที่สองก็ว่าไม่ใช่ เป็นเพราะธงมันมี นี่เอาสิ มันมาตรงไหนล่ะ

ถ้าลมไม่มี ธงก็ไม่ไหวตัวไม่แกว่ง มันจึงเกิดความรู้สึกว่า คนหนึ่งว่า ที่ธงมันจะแกว่งไปแกว่งมาเป็นเพราะลม ไม่ใช่ คนที่สองว่ามันเป็นเพราะมีธง คนหนึ่งว่ามันเป็นเพราะมีลมมาพัดมัน คนหนึ่งว่าไม่ใช่ มันเป็นเพราะธง นี่ก็เถียงกันอยู่อย่างนี้ล่ะ มันเหตุผลอย่างนี้เรื่อยไป ถ้าไม่มีธง มันก็ไม่แกว่ง ถ้ามีธง ไม่มีลม มันก็ไม่กวัดแกว่งมันก็ติดกันอยู่ตรงนี้.  นี่ถ้าเรามองเห็นง่ายๆ มันก็เป็นแต่ธงกับลมเท่านั้นแหละ มันจึงแกว่ง เมื่อมันแกว่ง แล้วก็เกิดปัญหาขึ้นมา นี่ คนหนึ่งว่าเป็นเพราะมีลม คนหนึ่งว่าเป็นเพราะมีธง.   ผู้ฉลาดท่านว่า ท่านทั้งสองมันทุกข์ทั้งนั้นแหละ ถ้าท่านไปติดอยู่ในแง่นี้ ท่านก็ทุกข์ทั้งนั้นแหละ ไม่มีทางพ้น แต่ถ้าหากว่าท่านรู้สึกว่า ธงก็ไม่มี ลมก็ไม่มี แล้วมันก็หมดเรื่อง ปัญหามันก็จางไปปัญหามันก็หมดไป ก็เพราะว่าธงนั่นก็สมมติขึ้นมาให้มันมีเป็นธง ลมนั้นก็สมมติขึ้นมาให้มันเป็นลม มันเป็นเรื่องสมมติ มันก็ติดสมมติกันอยู่อย่างนั้นแหละ ไม่มีทางที่จะไป เมื่อรู้จักการปล่อยวาง ธงมันก็ไม่มี ลมมันก็ไม่มี มันเรื่องสมมติทั้งนั้น มันก็หมดปัญหา มันก็ไม่เกิดขึ้นมา อันนี้ก็น่าเอาไปวิจัย น่าเอาไปพิจารณา

เราผู้ศึกษาอยู่นี่ก็เหมือนกัน กำลังมาปฏิบัตินี้ ปฏิบัติให้มันถูกเดี๋ยวนี้เราไม่รู้จักว่า มันถูกมันผิด ผิดเราก็ไม่รู้จัก ถูกก็ไม่รู้จัก มันไม่รู้จักผิด ไม่รู้จักถูกตามความเป็นจริงคือสัจจธรรม.ดังนั้นพระพุทธ-เจ้าท่านจึงว่า อย่าไปยึดมัน ถูกก็เป็นฐานสมมติของเขา ผิดก็เป็นฐานสมมติทั้งนั้น อย่าไปหมายมั่นมัน เราว่าตรงนี้มันถูก เขาว่าผิด เป็นต้น พูดกันคำสองคำเราก็เลิก เรื่องมันก็หมด เขาว่าอันนั้นไม่ถูกเราว่าถูกก็พูดกันคำสองคำ ไม่ต่อมันก็หมด นี่ เรื่องมันจบลงอย่างนั้น.  ถ้าคนหนึ่งไปยันว่าถูก คนหนึ่งไปยันว่าผิด ไม่ลงกันมันก็ทะเลาะกันเท่านั้น ยิ่งผิดใหญ่เลย พูดถึงเรื่องจิตมันเป็นอย่างนั้น เรื่องธรรมะจริงๆ คือปฏิบัติไปจนถึงว่ามันไม่มีปฏิบัติ จนถึงว่ามันถึงความปล่อยวาง.   ผู้ปฏิบัติมันก็แสดงกายแสดงวาจาของมันในที่นั่นแหละ เพราะว่ากายกับจิตนี้มันเป็นของสืบเนื่องกัน อย่างหน้าตา อวัยวะ กิริยาท่าทางของคนพ้นทุกข์ มันเป็นอย่างไร มันก็พอมองเห็นได้ ดังนั้น ผู้ปฏิบัติแล้ว จึงมีความยิ้มแย้มแจ่มใส จึงมีความซาบซึ้ง เพราะอะไรเพราะท่านไม่ยึดในสิ่งทั้งหลายเหล่านั้น จิตใจก็เป็นปกติ หน้าตาก็เป็นปกติ ไม่แสดงอะไรออกจากปกติทั้งนั้น จิตใจมันเป็นอยู่อย่างนั้น

ผมเคยพูดว่า การปฏิบัติของพวกเราทั้งหลายนั้นน่ะ สมัยนี้มันก็ยิ่งมีมาก หลายอย่างหลายประการ ยิ่งทำให้พวกเราทั้งหลายวุ่นวายกันมาก เช่นว่าวัดหนองป่าพงเรานี้ปฏิบัติอย่างนี้ บางคนก็ไม่ชอบบางคนก็ชอบ นี่มันเป็นอย่างนี้ บางคนมันก็เป็นธงนั่นแหละ บางคนมันก็เป็นเพราะมีลมอย่างนี้ สิ่งทั้งหลายเหล่านี้มันจึงเป็นเครื่องวินิจฉัยด้วยตนเอง ธรรมเหล่านี้ท่านเรียกว่าเป็นปัจจัตตัง รู้เฉพาะตัวของเราเฉพาะความเป็นจริงของเรา มันเกิดขึ้นอย่างไร มันรู้ได้เฉพาะเจ้าของ.  ที่ยั่วยวนก็คือ อารมณ์ จริงๆอารมณ์นั้นมันไม่ยั่วยวนหรอกแต่มันยั่วยวนก็ยั่วยวนให้ความฉลาดเราเกิด มันปลุกให้เราศึกษาอารมณ์ ให้ศึกษาอารมณ์ก็คือศึกษาโลก เมื่อศึกษาโลก รู้จักโลกแล้วก็คือรู้จักสุขรู้จักทุกข์ ความสุขความทุกข์มันก็โลกนั่นเอง เมื่อเข้าใจโลกแล้วก็ถึงซึ่งความสบาย มันจึงเกิดความสุข มันจึงเกิดความทุกข์

ธรรมที่ปฏิบัตินี้ พระพุทธเจ้าว่าให้ยึดสุข เบื้องแรกให้ยึดสุขยึดเรื่อยไปเถอะสุข แต่ยึดด้วยปัญญาของมัน ยึดไปเรื่อยๆ แม้ว่ามันจะมีทุกข์เกิดขึ้นมา ถึงมันหนักเราก็ไม่ยอมปล่อยมัน ไม่ยอมวางมันเพราะอะไร เพราะเราคิดว่าของนี้มันดี ของนี้มันถูกอย่างนี้ ยึดเรื่อยไป ถ้าเขาว่าอันนี้ไม่ดีเราก็ไปทุกข์ อันนี้ไม่ถูกเราก็ไปทุกข์ มันก็ตั้งมานะให้เกิดขึ้นมาตรงนั้นอีกแหละ.   ดังนั้นอารมณ์ที่มันกระทบอยู่ทุกวันนี้ ถ้าเราพิจารณาซ้ำเข้าไปมันเป็นบุญคุณที่สุด ที่จะปลุกตัวของเราให้ตื่นขึ้นมาดูอะไรต่างๆ ให้มันซาบซึ้งต่อไป ให้มันรู้เรื่องมัน ที่เราไม่สบายก็เพราะว่าเราอยากให้มันเป็นอย่างนั้น ไม่อยากให้เป็นอย่างนี้ คำที่ว่าไม่อยากนั่นแหละคืออยาก ที่ว่าไม่อยากให้เป็นอย่างนี้ เราไม่ชอบ นี่คืออยากล่ะ ไม่อยากน่ะมันกลับเป็นอยาก เป็นกิเลส มันเป็นตัณหา อย่างเราเบื่อมัน ไม่อยากรู้มัน ไม่อยากเห็นมัน นี่ก็นึกว่าเราเบื่อ มันจึงเพิ่มความกำหนัดขึ้น เพิ่มความหลงขึ้นเท่าตัว มันอย่างนี้

คำว่า ความอยาก หรือความไม่อยาก สองอย่างนี้มันเป็นภาษาทำให้คนรู้สึกเท่านั้นแหละ ถ้าพูดถึงธรรมะที่พระองค์ท่านตรัสแล้วจริงๆนั้นมันก็เท่าๆกัน ความอยากนี้มันเป็นโทษ เหมือนกันกับที่ว่าความไม่อยาก นี้ก็เป็นโทษ ที่ว่าไม่อยากหรืออยากนี้ มันอยากด้วยความโง่ ไม่อยากก็ไม่อยากด้วยความโง่ คือมันผิดน่ะ เป็นทุกข์.    เราจะไปวางของทั้งหลายเหล่านี้ที่ปฏิบัติไปนี้ มันถึงมองไม่ออกมันไปยึดถือมั่นถือรั้นอยู่ไม่หยุดนั่นแหละ มันก็เลยเกิดทุกข์ขึ้นมาได้ความเป็นจริงนั้น สิ่งที่มันถูกหรือสิ่งที่มันผิด สิ่งที่มันสุขมันทุกข์นั้นไม่ใช่สิ่งที่สงบนะ.  อย่างเราเห็นว่า แหม! มันสุขใจ มันสบายเหลือเกิน อย่างนี้เป็นต้น ที่มันสุขหรือทุกข์นั้น ไม่ใช่ทางที่สงบนะ ไม่ใช่ที่สงบ มันมีสุขปนอยู่นั่น มันมีทุกข์ปนอยู่นั่น แต่ว่ามันถูกอะไร มันถูกเด็กๆที่ปฏิบัติใหม่ๆ มันสุข คือมันเอาอกเอาใจ มันมีศรัทธาเกิดขึ้นที่จะปฏิบัติ มันมีความอยากที่จะปฏิบัติต่อไป มันมีกำลัง มีกำลังมันไม่สุขเฉยๆ มันไม่ทุกข์เฉยๆ มันเข้าไปยึดมั่นถือมั่นเสียด้วยอย่างนี้.   สุขที่พระพุทธเจ้าท่านสอน ทุกข์ที่พระพุทธเจ้าท่านสอนนั้นท่านพูดเป็นอาการของมันเท่านั้น ลักษณะนั้นมันเป็นอย่างนั้น อาการมันเป็นอย่างนั้นเฉยๆ สักแต่ว่าอารมณ์มันวูบขึ้นมา ทีเดียวเท่านั้นมันก็หายไป ก็ไม่มีอะไร ตัวสุขนั้นมันก็ไม่มี ตัวทุกข์นั้นมันก็ไม่มี

ถ้าเราไม่ยึดมั่นถือมั่น มันก็มีขึ้นมาตรงนั้น เดี๋ยวนั้น เช่นว่าเราได้ยินเสียงอย่างนี้เป็นต้น พอเสียงมันดัง อย่างที่ว่าเราวางอะไรลงพื้นนี้ มันเสียงดังเป๊ะ ยังไม่เกิดอะไรขึ้นมา มีแต่เสียงเป๊ะเท่านั้นน่ะ ไม่มีอะไรมีแต่เสียงเฉยๆ ก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้นมา ยังไม่เป็นอะไร ต่อไปถ้าเราคิดว่า เอ หรือตุ๊กแกมันหล่นลงพื้น ต่อไปนะ เราก็กลัวเท่านั้นแหละ หรืองูมันตกลงตรงนี้ มันหล่นตรงนี้ มันก็กลัวเท่านั้นแหละ.  ทีหนึ่งมันกระทบเฉยๆแต่ทีสองน่ะมันต่อไปแล้ว งูหรือตุ๊กแกหรืออะไรทั้งหลายต่อไป

เสียงก็เหมือนกัน พอได้ยินปุ๊บ แค่นี้มันก็มีเสียงเท่านั้น ไม่ได้มีอะไรต่อไป ต่ออีก พอกระทบมันก็จะเกิดอีกต่อหนึ่งนะ นี่เสียงผู้หญิงนี่หรือเสียงผู้ชาย มันต่อไป ความเป็นจริงเสียงครั้งแรก มันไม่เป็นใคร มันมีสัมผัสเฉยๆ เท่านั้นแหละ พอมีเสียงพั่บขึ้นมาเท่านั้นแหละ เออ...ผู้ชายหรือผู้หญิงๆมันไม่ว่าหรอก มันมีแค่เสียงเฉยๆพอต่อไปนี้ เออ...เสียงผู้หญิงนี่ พอใจว่าเสียงผู้หญิงเป็นต้น มันก็มีความรู้สึกที่ว่าเป็นผู้หญิง มันเป็นปฏิปักษ์กันกับผู้ชาย และเมื่อคิดต่อเรื่อยๆไป มันเป็นอายตนะอย่างนั้น ถ้าหากว่าเราเข้าใจในตัวของเราเข้าใจในจิตของเจ้าของนะ มันก็ง่ายขึ้น ความเป็นจริงมันคนละครั้ง คนละคราว มันไม่ติดๆกัน มันคนละอย่าง.   ดังนั้นการปฏิบัตินี้ท่านว่า ให้มีสติ เราก็ไม่ค่อยเข้าใจนัก ให้มีสัมปชัญญะก็ไม่ค่อยเข้าใจนัก ความเป็นจริงตัวสตินี่ ตัวสัมปชัญญะนี่คือให้ระลึกได้ ทำให้มันรู้ตัว สองอย่างนี้มันเป็นพื้นอยู่แล้ว ถ้ามีสิ่งทั้งสองอย่างนี้เป็นธรรมสองอย่าง สติสัมปชัญญะ สตินี้ก็แปลว่าระลึกได้ สัมปชัญญะก็แปลว่ากลัว เมื่อเกิดสองอย่างนี้ มันจะไปดึงเอาปัญญามา วิ่งเข้ามาดูสิ รู้ไหม กลัวไหม หรือไม่กลัวไหม อะไรไหมมันจะรู้แจ้ง เพราะปัญญากระทบเข้ามาอีก ดึงเข้ามาดูอย่างนี้ อันนี้พูดถึงอาการจิต มันก็ต้องเป็นไปอย่างนี้ มันต่อไต่ไปอย่างนี้

เพราะฉะนั้น เมื่อเราตั้งใจปฏิบัตินั้น สิ่งที่เราทำอยู่ทุกวันนี้ให้มันมีสติ ให้มันมีสัมปชัญญะ ให้มันมีปัญญา ให้มันรู้รอบอยู่เสมอสำรวมระวังให้มันเกิดขึ้นมา เช่นว่าการบริโภคอาหาร อาหารทั้งหลายเหล่านี้มันเป็นของสะอาดอยู่ ไม่ใช่มันเป็นของสกปรกมาตั้งแต่เดิมของมัน การห่มผ้า ผ้าจีวรผืนนี้เราใช้ไป ต่อไปมันสกปรก ไม่ใช่ว่ามันสกปรกมาแต่เดิมของมัน อะไรทั้งหมดที่เราใช้กันอยู่นี้แหละ มันสกปรก มันคร่ำมันคร่า อันนี้มันเป็นขึ้นมาใหม่ เพราะเอามันมาใช้อย่างจีวรนี่ จีวรที่มันสดใสนี่ มันไม่สกปรกหรอก แต่เมื่อมันมาถูกกายของเรา มันจึงสกปรก นี่มันก็แก้ทิฏฐิความเห็นของเราสิ.    ถ้าหากว่ากายเรามันสวยมันงามนี่ ผ้าที่สะอาดอยู่มาถูกเข้า ทำไมมันถึงสกปรก มันส่อให้เห็นอย่างนั้น สิ่งทั้งหลายมันก็ตามไปเรื่อยๆ เช่นอาหารการขบฉัน อย่างที่เราสวดกันอยู่ทุกวันนี้ สวดชัดทั้งนั้นแหละ อาหารนี้มันไม่ใช่เป็นของสกปรกมาแต่เดิมมันนะ เมื่อมาถูกเข้าในกายอันไม่สวย มันเลยสกปรกไปเสีย พูดง่ายๆคือมูตรหรือคูถเรานี่เอง.  มูตร คูถ มันเป็นของสะอาดทั้งนั้นแหละ อย่างน้ำที่เราฉันเราดื่มไปนี่ น้ำในขวดนี่ มันเป็นของที่สะอาด เมื่อเราดื่มเข้าไปแล้วน่ะออกมามันเป็นปัสสาวะ เหม็น ความเหม็นเช่นนี้ ไม่ใช่ว่ามันเหม็นมาแต่เดิมมันนะ มันเข้าไปในท้องเราแล้วออกมามันถึงเหม็น แสดงว่าน้ำนี้มันมาสกปรกเมื่อมันมาถูกร่างกายของเรานี่เอง ไม่ใช่ว่ามันสกปรกมาแต่ก่อน

อาหารการขบฉันเรานี้ก็เหมือนกัน มันเป็นของเอร็ดอร่อย มันเป็นของที่สะอาดมาอย่างนี้ แต่ว่าเมื่อเข้ามาถูกในร่างกายของเราแล้วนะเอาออกมาแล้วทีนี้ ปิดจมูกเสียแล้ว มองดูก็ไม่ได้ อะไรมันก็ไม่ได้เพราะอะไร อาหารนี้มันสกปรกเมื่ออยู่ในกายเรานี้เท่านั้น แต่ก่อนมันไม่สกปรก มันมาสกปรกที่มาถูกกายเราเข้าเท่านี้ มันก็เกิดเป็นของสกปรก อันนี้มันคือความจริง คือมันชัดเข้าไปอีกทีหนึ่ง.  นี่ถ้าเราคิดดูสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ เสนาสนะที่เราอยู่นี้ ให้มันคุ้มฟ้าคุ้มฝน ไม่เอาอะไรให้มันเกินไปกว่านั้นมากมาย ถ้าเราได้อยู่สิ่งที่มันดีก็ดี ที่เขาสมมติว่ามันดีมันร้าย ก็เอาคุ้มฟ้าคุ้มฝนนั่นแหละ เป็นประมาณของมัน อยู่ก็ให้สบาย ให้สงบ ไม่ได้ติด

ยาก็เหมือนกัน ยาบำบัดโรค อันนี้มันก็เป็นปัจจัยที่พวกเราทั้งหลายจะอาศัยกันในยามเจ็บไข้ได้ป่วย เพื่อไม่ให้โรคเบียดเบียนเพื่อจะได้มีโอกาสทำความเพียรเต็มที่ ไม่ให้มันมากกว่านั้น ปัจจัยที่พวกเราทั้งหลายจะอาศัย คือจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ เภสัช นี่ ท่านได้พูดเท่านี้ ที่เราปฏิบัติกันนี่น่ะ ให้มันอยู่เถอะ เรื่องจีวร ก็ให้รู้จักรักษาผ้า รู้จักสบง รู้จักจีวร รู้จักประมาณ อย่าให้มันมากเกินไปอย่าให้มันน้อยเกินไป ให้มันรู้จัก คือท่านไม่ให้ติดนั่นแหละ ไม่ให้ติดในสิ่งทั้งหลายเหล่านี้.   เรื่องของสมณะนี้ไม่ใช่เรื่องมาก เรื่องจีวร บิณฑบาต เสนาสนะเภสัช ท่านจึงให้ดูอยู่นี้ เพื่อให้เห็นของทั้งหลายเหล่านี้ชัดเข้าไป แล้วก็น้อมเข้ามาเป็น โอปนยิกธรรม น้อมเข้ามาในตัวของเรา มีอะไรไหมดูทีละชิ้น จะเห็นของไม่ค่อยสวย เห็นของไม่งดงาม เห็นของเหม็นสาบเหม็นคาว ทุกอย่างอย่างนี้ เราพยายามคิดไปอย่างนี้ เราพยายามน้อมไปอย่างนี้.   เมื่อเราพิจารณาสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ติดต่อกัน ของทั้งหลายเหล่านี้ก็หมดราคา ไม่สวยไม่งาม ไม่กำหนัด ไม่รักใคร่ หยิบขึ้นมาก็เรียกว่ามันรู้มันเห็นสักแต่ว่าเท่านั้นแหละ ตัณหามันก็ไม่เกิด อุปาทานมันก็ไม่เกิด มีความเห็นว่ามันเป็นอย่างนี้เอง จุดรวมคือท่านให้รู้เท่าสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ เพื่อเราจะวางได้ ปล่อยได้ รู้แล้วมันวางได้ เช่นว่าเราไม่รู้จัก เรากำงูอยู่อย่างนี้ เราสำคัญว่างูเป็นสัตว์อื่น เป็นสัตว์ที่เราเอาไปทำอาหารได้ และก็สำคัญว่ามันไม่มีพิษอะไร มันก็ไม่กลัว เพราะไม่รู้จักมัน เพราะไม่เห็นมัน

ถ้าเรามารู้มาเห็นตามความเป็นจริงของมัน เราจะเกิดกลัวขึ้นมาเดี๋ยวนั้น สกลร่างกายของเรานี้ก็เหมือนกัน หรือความยึดมั่นถือมั่นนี่ก็เหมือนกัน ถ้าเราไม่เห็นโทษ ก็ยึดอยู่นั่นแหละ มันปล่อยไม่ได้ มันวางไม่ได้ มันก็เป็นเรื่องอย่างนี้.   การพิจารณาเรื่องอาหาร ที่เราเองเป็นที่พึ่งอาศัยมันอยู่นี่ ก็เพื่อให้รู้จักว่ามันเป็นอย่างนั้น มันไม่มากไปกว่านั้น ทีนี้เมื่อเรารู้เห็นตามความเป็นจริงไปเช่นนั้น มันก็เป็นสัจจธรรม เมื่อมันเป็นสัจจธรรมมันก็ไม่แปรเปลี่ยน ถึงแม้มันแปรเปลี่ยน มันก็เป็นสัจจธรรมอย่างนี้เช่นว่า อนิจจัง มันไม่เที่ยง มันแปร มันไม่เที่ยง มันก็เป็นสัจจธรรมอยู่นั่นแหละ เรื่องที่มันแปรเปลี่ยนไปนั่น เป็นต้น มันเป็นของมันอยู่อย่างนั้น มันก็เป็นสัจจธรรมเหมือนกัน มันคงที่ของมันอยู่อย่างนั้น.   แต่ว่าข้อปฏิบัติทั้งหลายเหล่านี้ เราพึงเสียสละทิฏฐิ คือความเห็นของเรา ความเห็นของเรากับความยึดมั่นถือมั่นของเรา ถ้าเรามาเห็นว่าอันนี้มันเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เมื่อไรเป็นต้น ความยึดมั่นถือมั่นที่มันยึดสม่ำเสมอเรื่อยๆมา ถ้าเราเห็นว่าของอันนี้มันไม่มีราคามันไม่ใช่ของจริง มันเป็นเรื่องของสมมติ มันก็วาง

อารมณ์ที่มันมากระทบทางตาก็ดี ทางหูก็ดี ทางจมูกก็ดี ทางลิ้นก็ดี ทางกายก็ดี ทางจิตก็ดี มันก็เหมือนคนภายนอก คนภายนอกมันเป็นตัวเป็นตน เป็นรูปธรรม แต่เมื่อเราไปพบเข้า เสร็จแล้วกลับให้มันเปลี่ยนเข้าไปเป็นนามธรรมติดอยู่ในใจของเรา

ถ้าเรารู้จักอารมณ์ภายใน มันก็รู้จักอารมณ์ภายนอก รู้จักอารมณ์ภายนอก มันก็รู้จักอารมณ์ภายใน ที่ท่านกล่าวว่า อชฺฌตฺตา ธมฺมา พหิทฺธา ธมฺมา ภายในมันก็เป็นอย่างนี้ ภายนอกมันก็เป็นอย่างนั้น ทั้งภายนอกภายในเอามาปนกันเข้าอีก มันก็เป็นอยู่อย่างนั้นถ้ามันเห็นชัดขึ้นเมื่อไร ก็เป็นความเห็นชัดในธรรมะ ไม่ใช่ว่านั่งอยู่มันเห็นชัด ยืนมันเห็นชัด นอนมันเห็นชัด อะไรก็ช่างไม่เกี่ยวกับอิริยาบถมันจะยืนอยู่ก็ตาม จะเดินก็ตาม จะนั่งก็ตาม จะนอนก็ตาม ฉะนั้นท่านจึงว่าทำจิตให้มันสม่ำเสมอกับอิริยาบถ ทำอิริยาบถให้มันเสมอการยืน การเดิน การนั่ง การนอน เรียกว่าอิริยาบถ.   ผู้ที่มีความรู้สึกควบคุมอิริยาบถ การยืน การเดิน การนั่ง การนอน ถ้ามันยืนอยู่ เมื่อเราสัมผัสกระทบอารมณ์ขึ้นมา มันก็มีความรู้สึกอย่างนั้น คือว่ามันเป็นของไม่เที่ยง ไม่แน่นอน มีกลิ่นก็ช่างมีรสก็ช่าง มีโผฏฐัพพะก็ตาม มีธรรมารมณ์อะไรก็ช่างมันเถิด เราจะยืนอยู่มันก็เห็นอย่างนั้น เราจะนั่งอยู่มันก็เห็นอย่างนั้น เราจะนอนอยู่มันก็เห็นอย่างนั้น มันเห็นอยู่อย่างนั้น นี่ก็เรียกว่า มันเป็นหนึ่ง มันเห็นชัด

ถ้าเห็นสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ การตรัสรู้ธรรมะ การรู้เห็นธรรมะนี่พระพุทธเจ้าจึงว่าไม่แน่นอน บางองค์ก็ยืน บางองค์ก็นอน ฉะนั้นท่านจึงทำสตินี้ให้มันมีอยู่เสมอ บางองค์ฉันจังหันอยู่เท่านั้นแหละ.   ผมว่าถ้ากำหนดฉันจังหันเท่านั้นแหละ กำหนดดีๆ ผมว่ามันเกิดความรู้หลายประการทีเดียวละ เราเพ่งลงในอาหาร เรานั่งพิจารณาโดยฉันแล้วกำหนด รู้จักทั้งอาหารที่จะกำหนดว่าไม่ถูกกับร่างกายเรานี้ด้วยและรู้จักประมาณ มันก็รู้จักชัดเจน รู้ซึ่งอาหารก็รู้จัก นี่เรียกว่ากำหนดอาหาร.   รู้ความเป็นจริงนั้น อาหารก็เรียกว่าเป็นโทษอันหนึ่ง แต่มันก็เป็นประโยชน์อันหนึ่ง สำหรับให้คนนั้น มันป่วย ไม่สบายก็เพราะอาหาร ถ้าเรารู้จักอาหารตามเป็นจริงแล้ว มันก็เกิดประโยชน์ อย่างคนเสียท้องเสียไส้ อะไรต่างๆนี้ ถ้าเรากำหนดอาหารมาแล้ว มันจะรู้จักว่าของนี้มันแสดงตั้งแต่มันเข้าไปในปากของเราตั้งแต่ครั้งแรก ถ้าเรากำหนดเข้าไปถึงที่แล้ว มันจะรู้จักทีเดียวละ มันจะถอนออก มันจะรู้จัก

ดังนั้นการกำหนดอาหารนี้ มันจึงเป็นยา เป็นยาอันหนึ่ง ให้พินิจพิจารณาอย่างนั้นแล้ว มันถึงเกิดปัญญา ถ้าเราดู เรามองดูในบาตร เราเพ่งดูในบาตรอย่างที่พระพุทธองค์ท่านว่า เมื่อฉันบิณฑบาตให้มองแต่ในบาตร อย่ามองดูบาตรผู้อื่นเพื่อหวังจะยกโทษ อย่าให้เมล็ดข้าวตกลงในบาตร อย่าให้เมล็ดข้าวตกลงในที่นั้นๆ นี่มันจะรู้เห็นหมดครับ ถ้าเรากำหนดลงไปเดี๋ยวนั้น อะไรมันเสียหายไม่ดีในลักษณะอันนี้ ถ้าเรามีสติอยู่เท่านั้นแหละ มันต้องคุ้มพระวินัย มันต้องมี มันต้องรู้จัก มีสัมปชัญญะอยู่มันก็กลัวอยู่เท่านั้นละ เมื่อสิ่งทั้งหลายเหล่านี้มีอยู่ ปัญญาก็มาช่วย มันต้องเกิดปัญญาเกิดขึ้นมามันเป็นเช่นนั้น มันก็เลยสงบระงับไปในตัวของมัน

การนั่งอยู่ก็ดี..การยืนอยู่ก็ดี.การเดินก็ดี การนอนก็ดี อิริยาบถทั้งสี่นี้ให้มันมีความรู้ชัดอย่างเดียวกัน คือมันสม่ำเสมอ ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่นว่า แมว เรามองเห็นแมวที่นี่ เรานั่งอยู่ เห็นก็เป็นแมว ถ้าเรายืนขึ้นมองก็เป็นแมวอยู่ ถ้าเรานอนมองไปก็เห็นเป็นแมวอยู่ ถ้าเราวิ่งไปเราก็เห็นเป็นแมวอยู่ จะยืน จะเดิน จะนั่ง จะนอน ไม่มีเปลี่ยนเป็นแมวทั้งนั้น อย่างนี้เรียกว่ามันไม่เปลี่ยนแปลง อิริยาบถเหล่านี้มันเสมอ มันเห็นอารมณ์นั่นชัดอยู่.    ไม่ใช่ว่าอิริยาบถเสมอก็นั่งให้มันเสมอยืน ยืนให้มันเสมอนั่งไม่ใช่เวลาอย่างนั้น มันใช้ความรู้สึก รู้สึกอย่างว่าเรานั่งอยู่ เราก็เห็นมันเป็นแมวอย่างนี้ เรายืนขึ้นก็มีความรู้สึกว่ามันเป็นแมว เรานอนลงก็เห็นว่ามันเป็นแมว มันเป็นแมวอยู่เท่านั้นละ มันไม่เปลี่ยนแปลงล่ะ นี่ที่ว่าอิริยาบถเสมอ นั่นคือความรู้สึกอย่างนี้ มันไม่เปลี่ยนแปลง ก็เพราะว่ามันเป็นแมวจริงๆ นี่มันจึงไม่เปลี่ยน ไม่ใช่ว่านั่งอยู่เป็นแมวลุกขึ้นมันเป็นสุนัข เดินไปมันก็เป็นสุกร อะไรไปอย่างนั้น ไม่ใช่อย่างนั้น มันคงที่ คือมันชัด อย่างนี้เรียกว่า อิริยาบถมันเสมอ

บางคนก็ไปจัดว่า การภาวนานั้นยืนก็ให้เท่ากันกับนั่ง นั่งก็ให้เท่ากับนอน นอนให้เท่ากันกับเดิน อันนี้ก็ทำได้อยู่ แต่ทำได้ชั่วคราวเต็มที ถ้าหากพูดถึงความรู้สึกจริงๆแล้ว มันจะต้องอิริยาบถเสมอกันคือ ความรู้สึกมันเสมอกัน ถ้าเรารู้จักอารมณ์ที่มันเสมอกันนะ เราจะไม่ว่ากลางวัน หรือจะว่ากลางคืน กระทบอะไร เป็นต้น จิตของเราจะมีหลักอยู่อย่างนั้น มันไม่ซ้ำเติมอะไรทั้งหลายทั้งนั้นล่ะ เรียกว่าเป็นปกติ จิตมันเป็นปกติ เรียกว่า ปกติจิต มันเป็นปกติจิต.   ในความเป็นจริง ท่านกล่าวไว้ว่า จิตไม่ค่อยเป็นปกติอยู่อย่างนี้แต่ว่าเมื่อมันจะผิดปกตินั้น ก็เพราะว่าเสียงมากระทบ กลิ่นมากระทบรสมากระทบ โผฏฐัพพะมากระทบ มันก็เปลี่ยน เปลี่ยนไปทำไม เพราะมันหลงอารมณ์ มันหลงไปตามรูป ตามเสียง ตามกลิ่น ตามรสมันหลงไปอย่างนั้น มันก็เปลี่ยนสิ มันเปลี่ยนไปตามอารมณ์นั่นแหละนี่คือจิตมันไม่รู้จัก คือจิตมันประกอบด้วยความโลภ โกรธ หลง อยู่นี่ มันก็ต้องเปลี่ยน เปลี่ยนไปตามนั้น ตามรูป ตามเสียง ตามกลิ่น ตามรส.   ทีนี้ไม่ใช่ว่ารูปมันให้เปลี่ยนไป ความรู้สึกเราเองนั้นพาให้เปลี่ยนไป อันนี้เราชอบ มันก็เปลี่ยนไปอย่างหนึ่ง อันนี้เราไม่ชอบ มันก็เปลี่ยนไปอีกอย่างหนึ่ง ความเป็นจริงสิ่งทั้งหลายก็เป็นปกติของมันดังนั้นโลกนี่พระพุทธเจ้าท่านจึงสอนไว้ว่า โลกวิทู ให้รู้แจ้งโลก รู้แจ้งโลก ก็คือ รู้แจ้งซึ่งอารมณ์นั่นแหละ อารมณ์ก็เหมือนกับโลก โลกมันก็เหมือนอารมณ์ ถ้าเรารู้อารมณ์เราก็รู้โลกอันนี้อย่างแจ่มใส ถ้าเราไม่รู้จักอารมณ์ เราก็ไม่รู้โลกอย่างแจ่มใส

พระพุทธเจ้าท่านเห็น ท่านจึงตรัสรู้เป็นโลกวิทู ผู้รู้แจ้งซึ่งโลกพระพุทธเจ้าท่านก็ตรัสรู้อยู่ในโลกนี้แหละ ตรัสรู้อยู่ในรูปนี่ ในเสียงนี่ในกลิ่น ในรส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์นี่ ไม่ใช่ว่าท่านหนีไปที่ไหนหรอก ท่านเห็นสิ่งเหล่านี้มันชัด อารมณ์ทุกอย่างมันก็สม่ำเสมอของมัน ที่เราว่ามันดีมันชั่ว มันสุขมันทุกข์ ก็เพราะความรู้สึกของเราเท่านั้นแหละ อันนั้นมันก็เป็นธรรมดาอยู่ เป็นปกติของโลก นี้จิตใจของเราไม่ได้โทษอะไรทั้งนั้นแหละ ไม่ได้โทษ

นอกจากนั้นก็ย้อนมาในตัวของเรา เช่นว่า เราเกิดมาแล้ว มันแก่ มันเจ็บ มันตาย อย่างนี้เป็นต้น ถ้าเราไม่รู้จักก็น้อยใจ ดีใจเสียใจ อะไรทั้งหลายเหล่านี้ ในรูปในนามนี้ ในความเป็นจริงสิ่งทั้งหลายเหล่านี้เขาเป็นอย่างนี้ของเขาเองมาแล้ว ไม่ใช่ว่าเขาเพิ่งเป็นเดี๋ยวนี้.  เรามาพบในเวลานี้ก็ดูเหมือนว่ามันเป็นอย่างนี้ โลกเขาเป็นมาอย่างนี้แต่ไหนแต่ไรมา มันเป็นเองอย่างนี้ ไม่ใช่ว่ามันเป็นอย่างอื่น ที่มันจะเปลี่ยนแปลงไปนี้ก็เพราะจิตของเรานั่นเอง ไปหมายมั่นในสิ่งทั้งหลายเหล่านั้นมันจึงเกิดความดีใจขึ้น มันจึงเกิดความเสียใจขึ้นเท่านั้นอันนี้มันก็ไม่มีอะไร ที่เราปฏิบัตินี้ก็ไม่ต้องหมาย อันนี้มันซึ้งมันลึก.   ที่เราปฏิบัติกันทุกวันนี้ ก็ให้รู้จักอยู่ในขอบเขตของเรา ที่เรามาปฏิบัตินี้ มันอยากจะได้ตามปรารถนาของเราทุกประการนั่น มันก็ไม่ได้เพราะมันเป็นอย่างนั้น นี้เรียกว่าการปฏิบัติ ให้เห็นชัดเจน.   อยากจะเห็นสิ่งทั้งหลายเหล่านั้นก็ให้เห็นตัวของเรา จะยืนให้มีสติ จะนั่งให้มีสติ จะนอนให้มีสติ พูดไปถึงไหน ก็เรื่อยไป ท่านก็ย้ำอยู่ตรงนี้ล่ะ เพราะมันเป็นรากฐานอยู่ตรงนี้.   อย่างที่ผมเคยพูดว่า อยู่ด้วยกันมากๆ อย่างนี้ก็เหมือนอยู่คนๆเดียว เราจะมองได้ง่ายๆ ถ้ามันรักคนนี้ นี่มันก็เริ่มจะผิดแล้ว ในใจเราเราก็รู้ว่ามันผิดแล้ว มันเกลียดคนโน้น นี่เราก็รู้ว่ามันเริ่มจะผิดแล้วเพราะท่านสอนว่าไม่ให้รักใคร ไม่ให้เกลียดใคร มันจะเกลียด มันจะรักใคร มันเป็นอาการเท่านั้นแหละ มันอยู่นอกใจของเรา ไม่อยู่ในใจของเราอย่างนี้ พูดอย่างหนึ่ง ใจมันก็เป็นอย่างหนึ่ง

ดังนั้นพระพุทธเจ้าท่านจึงตรัสว่า อาโลโก อาโลโก มันสว่างอยู่ทั้งกลางวันกลางคืน ธรรมของพระพุทธเจ้า อาการของธรรมทั้งหลายมันเป็นอาการอยู่ สว่างไสวอยู่ตลอดเวลา แต่บางทีเราก็ทุกข์ใจ บางทีเราก็สุขใจ บางทีเราก็ดีใจ บางทีเราก็เสียใจ ไม่ใช่เป็นเพราะสิ่งทั้งหลายเหล่านั้น มันเป็นเพราะความเห็นผิดของเรานี่เอง มันถึงเป็นอย่างนั้น.  ฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงให้ โอปนยิโก ให้น้อมเข้ามา อย่าน้อมออกไป ให้น้อมเข้ามา น้อมเข้ามา มาใส่ตัวของเรานี้ เพื่อจะเห็นชัดๆมันมีฐาน พยานอยู่ที่ตรงนี้ เมื่อปฏิบัติใหม่ๆ พูดอย่างนี้มันก็ไม่รู้จักหรอก มันไม่รู้จัก มันจะรู้จักเมื่อไร รู้จักเมื่อเราปฏิบัติไปนั่นแหละเพราะสิ่งทั้งหลายเหล่านี้มันเกิดจากการปฏิบัติ ที่วันนี้เรียกว่า การพูดกันมันเป็นอย่างหนึ่ง การพูด มันได้ยินเสียงมาถึงหูเรา เมื่อไรถึงใจจึงพิจารณา เอาไปพิจารณา ไปปฏิบัติ อย่างนี้มันจะค่อยๆเกิดขึ้น คนมีปัญญามาก มันก็เกิดขึ้นเร็ว คนมีปัญญาน้อย มันก็เกิดขึ้นช้า ไม่มีปัญญาเลย มันก็ไม่เกิด มันเป็นเสียอย่างนั้น

การนั่งสมาธิ ก็อย่าไปว่าอะไรมันเลย การนั่งสมาธินี่ สมาธิคือความตั้งใจมั่น เราถอนกลับมานี่ สมาธิคือความตั้งใจมั่น ถ้าเรามั่นใจในข้อปฏิบัติเราอย่างนี้ มันก็เป็นสมาธิส่วนหนึ่ง แต่ว่ามันยังไม่เป็นผลคือมันยังเป็นดอก ออกจากดอกมันก็เป็นผล มันก็เป็นผลเล็ก มันก็เป็นผลใหญ่เรื่อยๆ ของมันไปอย่างนั้น.  สิ่งที่เป็นปัจจัยนิสัยของคนนี่มันไม่เหมือนกัน สิ่งที่มันฝังอยู่นี่เรายังไม่เห็นมัน เช่นผลมะม่วง เม็ดมะม่วง เม็ดขนุนนี้ เราไม่รู้จักมันนะ วันนี้เราได้ฉันขนุน เอายวงขนุนมาฉันนะ หยิบเม็ดมันขึ้นมาอันนั้นล่ะคือเราแบกต้นขนุนอยู่แล้ว แต่เราไม่รู้จัก เอามะม่วงขึ้นมาฉันสักใบหนึ่ง หยิบเม็ดมันขึ้นมา อันนั้นคือเราแบกต้นมะม่วงอยู่ทั้งต้น เราไม่รู้เรื่องของเรา เอาเม็ดทุเรียนจับขึ้นมาฉัน นั่นคือเราแบกต้นทุเรียนอยู่ทั้งต้น แบกแต่ก็ไม่รู้จัก มันไม่ชัด.   

หยิบเม็ดขนุนขึ้นมาน่ะ หยิบต้นขนุนทั้งต้นขึ้นมา แต่เวลานั้นมันยังไม่เห็นหรอก จะเอาไปทุบดู มันก็ไม่เห็นต้นมัน คือมันละเอียดมันเป็นจุล มีจุลที่ละเอียดๆนั่นแหละ จะว่าต้นมันอยู่ตรงไหน ใบอยู่ตรงไหน ดอกมันอยู่ที่ตรงไหน กิ่งมันอยู่ที่ตรงไหน ไม่ได้ ไม่เห็นถ้าไม่เห็น เราก็รู้สึกว่าไม่มีต้นไม้ ไม่มีอะไร คือมันยังไม่ถูกส่วนของมัน ถ้าเราเอาเม็ดมันไปฝังลงในดินสิ มันจะงอกขึ้นมา ต้นก็จะเกิดขึ้นมา ใบก็จะเกิดขึ้นมา กิ่งมันก็จะเกิดขึ้นมา ต่อไปมันโตขึ้น ดอกมันจะเกิดขึ้นมา ผลเล็กมันจะเกิดขึ้นมา ผลโตมันจะเกิดขึ้นมา ผลที่สุกๆมันจะเกิดขึ้นมาอย่างนั้น แต่ว่าเมื่อมันยังเป็นเม็ดอยู่เช่นนี้ เราชี้มันไม่ถูก คนจึงไม่สนใจความเป็นจริง ถ้านักปฏิบัติเรานี่ หยิบมะม่วงขึ้นมาสักลูกหนึ่ง คือเราแบกต้นมะม่วงอยู่แล้ว ถ้าเรารู้จักอย่างนี้มันก็สบายสิ เมื่อเกิดทุกข์ขึ้นมา มันก็ตายแล้ว อย่างเราหยิบขนุนขึ้นมาฉัน มะม่วงขึ้นมาฉันเราก็เห็นอะไรมันบังอยู่ รสหวานมัน รสมันมัน รสเปรี้ยวมัน เราไม่มองไปถึงต้นมะม่วงอยู่ในนี้ มองว่าอันนี้มันหวานดีนะ อันนี้มันอร่อยเท่านั้นล่ะ กั้นไว้ สิ่งทั้งหลายนี้มันกั้นไว้ ไม่เห็นต้นมะม่วงในเม็ดมะม่วง ไม่เห็นต้นขนุนในเม็ดขนุน

เรานี้ก็เหมือนกันฉันนั้น เราทับอยู่ นั่งทับอยู่ซึ่งธรรมะ นอนก็ทับอยู่ซึ่งธรรมะ เดินไปก็เหยียบธรรมะทุกก้าว แต่เราก็ไม่รู้ว่าเราเหยียบธรรมะ เรียกว่าปฏิบัติธรรมะ ธรรมมันอยู่ที่ไหน อย่างนี้เป็นต้น อย่างเราจับเม็ดมะม่วงขึ้นมา ต้นมะม่วงอยู่ที่ไหน เห็นโน่นต้นใหญ่ๆโน่น ความเป็นจริงต้นที่เราหยิบอยู่นี้ไม่เห็น ทำไม มันยังไม่สมดุลของมัน เพ่งกำหนดพิจารณา เอาให้มันเห็นถึงใจ รู้แจ้งซึ่งอารมณ์ รู้โลกอย่างแจ้งชัดเป็นโลกวิทู 

ที่มา : http://www.ajahnchah.org


Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: