วันพุธที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2564

มิลินทปัญหา (ตอนที่ ๒๖)

มิลินทปัญหา (ตอนที่ ๒๖) ปัญหาที่ ๔ มัจจุปาสมุตติปัญหา 

พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน พระผู้มีพระภาคทรงภาษิตความข้อนี้ไว้ว่า :- 

น  อนฺตลิกฺเข  น  สมุทฺทมชฺเฌ,   น   ปพฺพตานํ   วิวรํ  ปวิสฺส.  น   วิชฺชตี   โส   ชคติปฺปเทโส.   ยตฺถฏฺฐิโต   มุจฺเจยฺย   มจฺจุปาสา” (ขุน.ธ. ๒๕/๔๑)  บุคคล ผู้เกิดมาแล้ว หนีเข้าไปกลางหาวก็ไม่พ้นจากบ่วงมัจจุ, หนีเข้าไปกลางมหาสมุทรก็ไม่พ้นจากบ่วงมัจจุ, หนีเข้าไปยังซอกเขาก็ไม่พ้นจากบ่วงมัจจุ, เข้าดำรงอยู่ในภูมิประเทศใดแล้วพ้นจากบ่วงมัจจุได้ ภูมิประเทศนั้นหามีไม่

ดังนี้แล้ว ก็ยังทรงแสดงพระปริตทั้งหลายไว้อีก อะไรบ้าง ได้แก่ รัตนสูตร เมตตาสูตร ขันธปริตร โมรปริต ธขัคคปริต อาฏานาฏิยปริตร อังคุลิมาลปริตร พระคุณเจ้านาคเสน ถ้าหากว่าบุคคล แม้ไปในอากาศแล้ว แม้ไปกลางมหาสมุทรแล้ว แม่ไปในปราสาท กุฏิ ที่เร้น ถ้ำ เงื้อมเขา โพรง ซอกเขา ที่ระหว่างภูเขาแล้ว ก็ยังพ้นจากบ่วงมัจจุมิได้ไซร้ ถ้าอย่างนั้น การเจริญพระปริต ก็เป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง ถ้าหากว่าจะมีอันพ้นจากบ่วงมัจจุด้วยการเจริญพระปริตได้จริง ถ้าอย่างนั้น คำที่ตรัสไว้ว่า บุคคลหนีเข้าไปกลางหาวก็ไม่พ้นจากบ่วงมัจจุ ฯลฯ เขาดำรงอยู่ในภูมิประเทศใดแล้วพ้นจากบ่วงมัจจุได้ ภูมิประเทศนั้นหามีไม่ ดังนี้ ก็ต้องเป็นคำพูดที่ไม่ถูกต้อง ปัญหานี้มี ๒ เงื่อน เป็นปมเสียยิ่งกว่าปม ตกถึงแก่ท่านแล้ว ขอท่านจงคลี่คลายปัญหานั้นเถิด

พระนาคเสน, ขอถวายพระพร พระผู้มีพระภาคทรงภาษิตความข้อนี้ว่า บุคคลหนีเข้าไปกลางหาว ฯลฯ พ้นจากบ่วงมัจจุได้ ภูมิประเทศนั้นหามีไม่ ดังนี้ไว้จริง และพระผู้มีพระภาคก็ตรัสพระปริตทั้งหลายไว้จริง แต่ว่า ข้อนั้นตรัสไว้สำหรับบุคคลผู้ยังมีอายุเหลืออยู่ ยังมีวัยสมบูรณ์ ปราศจากกัมมาวรณ์เท่านั้น สำหรับคนสิ้นอายุแล้ว กิจที่ต้องทำ หรือความพยายามเพื่อความดำรงอยู่ (แห่งชีวิต) หามีไม่.  ขอถวายพระพร เปรียบเหมือนว่า ต้นไม้ที่ตายแล้ว แห้งผุแล้ว ไม่มียางแล้ว ชีวิตดับแล้ว ปราศจากอายุสังขารแล้ว เมื่อบุคคลตักน้ำมารดถึงพันหม้อ ก็หากลับสดเขียว หรือผลิตใบแตกหน่อขึ้นมาได้อีกไม่ ฉันใด ขอถวายพระพร สำหรับคนที่สิ้นอายุแล้ว กิจที่ควรทำ หรือความพยายามเพื่อดำรงชีวิตด้วยยา หรือพระปริตร หามีไม่ ฉันนั้น ขอถวายพระพร หยูกยาทั้งหมดในแผ่นดิน ไม่ใช่กิจที่ควรทำสำหรับคนที่สิ้นอายุแล้ว ขอถวายพระพร พระปริตรจะรักษาจะคุ้มครองก็เฉพาะผู้ที่ยังมีอายุเหลืออยู่ ยังมีวัยสมบูรณ์ ปราศจากกัมมาวรณ์ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงพระปริตรไว้ ก็เพื่อประโยชน์แก่คนพวกนั้น.   ขอถวายพระพร เปรียบเหมือนว่า เมื่อข้าวแก่หง่อมแล้ว ต้นข้าวกล้าก็ตายไป ชาวนาพึงกั้นน้ำไม่ให้ไหลเข้าไป ส่วนข้าวกล้าที่ยังอ่อนอยู่ มีวัยสมบูรณ์ ย่อมงอกงามเติบโตได้ด้วยการเพิ่มน้ำให้ ฉันใด สำหรับผู้ที่สิ้นอายุแล้ว ก็เป็นอันต้องยกเว้นต้องบอกปัดการใช้ยา หรือการเจริญพระปริตร ส่วนว่า คนเหล่าใดที่ยังมีอายุเหลืออยู่ ยังมีวัยสมบูรณ์อยู่ พระผู้มีพระภาคตรัสพระปริตและยาไว้ ก็เพื่อประโยชน์แก่คนไทยเหล่านั้น คนเหล่านั้นย่อมเจริญ (ชีวิต) ได้ด้วยการเจริญพระปริตร และการใช้ยา ฉันนั้นเหมือนกัน

พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน ถ้าหากว่า ผู้มีอายุสิ้นแล้ว จะต้องตาย ผู้มีอายุเหลืออยู่ จึงจะยังเป็นอยู่ได้ ไซร้ ถ้าอย่างนั้น พระปริตรและยาก็เป็นของไร้ประโยชน์.  พระนาคเสน, ขอถวายพระพร มหาบพิตร พระองค์เคยทรงทอดพระเนตรเห็นคนที่มีรูปซึ่งพอใช้ยาก็หายจากโรคบ้างหรือไม่.  พระเจ้ามิลินท์, ใช่พระคุณเจ้า ข้าพเจ้าเห็นมาแล้วหลายร้อยคน.   พระนาคเสน, ถ้าอย่างนั้น ที่พระองค์ตรัสว่า พระปริตรและยาเป็นของไร้ประโยชน์ ดังนี้ ก็ย่อมเป็นคำตรัสที่ไม่ถูกต้อง.  พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน การชโลมยา ก็ปรากฏว่าเป็นความพยายามของหมอ เพราะความพยายามนั้น ของหมอเหล่านั้น โรคจึงหายได้.  พระนาคเสน, ขอถวายพระพร บุคคลทั้งหลายเมื่อสวดพระปริตรได้ยินเสียงอยู่ ลิ้นก็แห้งไป หัวใจเพลีย คอระบม ความเจ็บไข้ได้ป่วยทั้งปวงของบุคคลเหล่านั้น ก็สงบไปเพราะการสวดพระปริตรนั้น เสนียดจัญไรทั้งปวง ก็ปราศไปสิ้น.  ขอถวายพระพร พระองค์เคยทรงทอดพระเนตรเห็นมาบ้างหรือไม่ว่า บางคนที่ถูกงูกัด พอใช้บทมนต์ ก็สามารถทำพิษให้ตกไป ทำพิษให้ซึมออกมาได้ สำรอกพิษออกมาได้ทั้งทางเบื้องบนและทางเบื้องล่าง ?

พระเจ้ามิลินท์, ข้าพเจ้าเคยเห็น พระคุณเจ้า ทุกวันนี้ในโลกนี้ก็ยังใช้วิธีรักษาเช่นนั้นกันอยู่.   พระนาคเสน, ขอถวายพระพร ถ้าอย่างนั้น ที่พระองค์ตรัสว่า พระปริตรและยาเป็นของไร้ประโยชน์ ดังนี้ ก็ต้องเป็นคำตรัสที่ไม่ถูกต้อง ขอถวายพระพร งูต้องการจะกัด ก็ไม่อาจจะกัดบุรุษผู้เจริญพระปริตรได้ ยอมอ้าปากไม่ขึ้น พวกโจรก็ไม่อาจเนื้อไม้ค้อนขึ้นทำร้ายได้ พวกโจรเหล่านั้นจะพากันทิ้งไม้ค้อนเสีย แล้วทำความรักให้เกิดขึ้นแทน แม้ช้างดุ พอมาถึงตัวเข้าเท่านั้น ก็เชื่องไปแม้กองไฟใหญ่กำลังลุกโพลงอยู่ รามาถึงตัวเท่านั้น ก็พลันดับไป แม้ยาพิษแรงกล้าที่กลืนกินเข้าไปก็หายไปเหมือนเจอยาแก้พิษ หรือกลับเป็นอาหารแผ่ซ่านไป นักฆ่าคนผู้ต้องการจะกำจัด พอถึงตัวเข้าเท่านั้น ก็ยอมตนเป็นทาสไป แม้เดินเหยียบบ่วง มันก็หาคล้องเอาไม่.  ขอถวายพระพร พระองค์เคยทรงสดับมาบ้างหรือไม่ว่า นกยูงเจริญพระปริตรทุกวัน นายพรานไม่อาจใช้บ่วงดักได้ตลอด ๗๐๐ ปี (ฉบับของไทย ตลอด ๗ ปี)ในวันที่ไม่ได้เจริญพระปริตรวันเดียวเท่านั้น นายพรานจึงใช้บ่วงดักได้

พระเจ้ามิลินท์ ข้าพเจ้าเคยได้ฟัง พระคุณเจ้ากิตติศัพท์เรื่องนั้น แร่ขจรขจายไปในโลก พร้อมทั้งเทวโลก พระนาคเสน ถ้าอย่างนั้น ที่พระองค์ตรัสว่า การเจริญพระปริตร การใช้ยาเป็นของหาประโยชน์ไม่ได้ ดังนี้ ก็เป็นคำตรัสที่ไม่ถูกต้อง.   ขอถวายพระพร พระองค์เคยทรงสดับมาบ้างหรือไม่ว่า มีทานพตนหนึ่ง ซึ่งเมื่อจะรักษาภริยาไว้ให้ดี ก็ใส่ลงไปในหีบแล้วกลืนกินเสีย ใช้ท้องต้องกันไว้ ต่อมามีวิทยาธรตนหนึ่ง เข้าไปทางปากของทานพนั้น แล้วได้อภิรมย์สมสู่กับภริยาของทานพนั้น เวลาที่มานพนั้นชักรู้แล้ว ก็สำรอกหีบออกมาเปิดดู ทันทีที่หีบถูกเปิดออกวิทยาธรก็หลบหนีไปได้ตามต้องการ.  พระเจ้ามิลินท์, ใช่ ข้าพเจ้าเคยฟัง พระคุณเจ้า เรื่องนั้นโด่งดังระบือไปในโลกพร้อมทั้งเทวโลก.   พระนาคเสน, ขอถวายพระพร วิทยาธรตนนั้น ใช้กำลังของพระปริตรไม่ใช่หรือ จึงพ้นจากการจับตัวได้ ?  พระเจ้ามิลินท์, ใช่ พระคุณเจ้า.   พระนาคเสน, ขอถวายพระพร ถ้าอย่างนั้น กำลังแห่งพระปริตรก็มีอยู่ ขอถวายพระพร พระองค์เคยทรงสดับมาบ้างหรือไม่ว่ามีวิทยาธรอีกตนหนึ่งได้สมสู่กับพระมเหสีของพระราชาเมืองพาราณสีภายในเมือง เพราะถูกจับได้ ก็ใช้กำลังมนต์หายตัวไปเสียทันที ?  พระเจ้ามิลินท์, ใช่พระคุณเจ้า ข้าพเจ้าเคยฟัง  พระนาคเสน, ขอถวายพระพร วิทยาธรตนนั้น ใช้กำลังแห่งพระปริตรมิใช่หรือ จึงพ้นจากการจับตัวได้ ?  พระเจ้ามิลินท์, ใช่ พระคุณเจ้า.  พระนาคเสน, ถ้าอย่างนั้น กำลังแห่งพระปริตรก็มีอยู่.  พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน พระปริตรรักษาได้ทุกคนเลยหรือ ?  พระนาคเสน, ขอถวายพระพร ย่อมรักษาได้เป็นเพียงบางคน บางคนก็ไม่อาจรักษาได้.  พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน ถ้าอย่างนั้น พระปริตรก็ไม่ชื่อว่าเป็นของจำปรารถนาสำหรับทุกคน พระนาคเสน, ขอถวายพระพร อาหารย่อมรักษาชีวิตของคนได้ทุกคนหรือหนอ ?  พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้า ย่อมรักษาได้เป็นบางคน บางคนก็ไม่อาจรักษาได้.  พระนาคเสน, เพราะเหตุใดหรือ ?  

พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้า เพราะเหตุว่า บางคนพอกินอาหารนั้นมากเกินไปแล้วก็ตาย เพราะโรคลงท้อง.   พระนาคเสน, ขอถวายพระพร มหาบพิตร ถ้าอย่างนั้น อาหารก็ไม่ชื่อว่ารักษาชีวิตของคนทุกคน.  พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน อาหารย่อมคร่าชีวิตได้เพราะเหตุ ๒ อย่างคือ เพราะบริโภคมากเกินไป ๑, เพราะไฟธาตุย่อยอ่อนกำลังไป ๑ พระคุณเจ้านาคเสน อาหารแม้ปกติให้อายุ แต่เพราะมีวิธีการไม่ดี ย่อมคร่าเอาชีวิตได้.  พระนาคเสน, ขอถวายพระพร อุปมาฉันใด อุปไมยก็ฉันนั้น พระปริตรคุ้มครองรักษาได้ก็แต่บางคน ไม่อาจคุ้มครองรักษาบางคนได้.  ขอถวายพระพร พระปริตรไม่อาจคุ้มครองรักษาได้เพราะเหตุ ๓ ประการคือ  – เพราะกัมมาวรณ์ เครื่องขวางกั้นคือกรรม ๑, – เพราะกิเลสาวรณ์ เครื่องขวางกั้นคือกิเลส ๑, – เพราะความไม่เชื่อถือ ๑

ขอถวายพระพร พระปริตรที่มีปกติตามรักษาสัตว์ทั้งหลาย ย่อมเลิกละการรักษา ก็เพราะเหตุ อย่างใดอย่างหนึ่งในเหตุ ๓ อย่าง ที่ตนได้ก่อไว้ ขอถวายพระพร เปรียบเหมือนว่า มารดาย่อมเลี้ยงดูบุตรตั้งแต่อยู่ในท้อง ให้คลอดออกมาด้วยวิธีการที่เกื้อกูล ให้คลอดออกมาแล้วก็ชำระสิ่งไม่สะอาดแปดเปื้อนน้ำมูกน้ำลาย แล้วลูบไล้ของหอมดีๆ ประเสริฐยอดเยี่ยมให้ ในสมัยต่อมา บุตรคนนั้นเมื่อไปด่าว่า หรือทำร้าย หรือประหารบุตรของคนอื่น คนเหล่านั้นก็โกรธ ช่วยกันฉุดไปในบริษัท จับตัวเขาไว้ นำเข้าไปหาผู้เป็นนาย ถ้าหากบุตรของหญิงคนนั้นเป็นผู้มีความผิดจริง ผู้คนทั้งหลายผู้ฉุดคร่าตัวเขามา (แสดง) แก่เจ้านาย ก็ย่อมใช้ท่อนไม้ ไม้ค้อนเข่า กำปั้น ทำร้ายทุบตี ขอถวายพระพร มหาบพิตร มารดาของเขาจะต้องได้รับการฉุดคร่า การจับตัว การนำเข้าไปหาผู้เป็นนายด้วยหรือไม่ ?

พระเจ้ามิลินท์, ไม่หรอก พระคุณเจ้า.  พระนาคเสน, เพราะเหตุไรหรือ ขอถวายพระพร.  พระเจ้ามิลินท์, เพราะเป็นความผิดของตน (ไม่ใช่ของมารดา)

พระนาคเสน, ขอถวายพระพร อุปมาฉันใด อุปไมยก็ฉันนั้น พระปริตที่ปกติคุ้มครองรักษาสัตว์ทั้งหลาย ย่อมทำความงดเว้น (ไม่คุ้มครองรักษา) ก็เพราะเป็นความผิดของตนเอง (ไม่ใช่ความผิดของพระปริตร).  พระเจ้ามิลินท์, ดีจริง พระคุณเจ้านาคเสน ท่านวินิจฉัยปัญหาได้ดีแล้ว เงื่อนปมเป็นอันท่านทำให้คลี่คลายได้แล้ว ทำที่มืดให้สว่างได้แล้ว เปลื้องข่ายคือทิฏฐิได้แล้ว ท่านเป็นผู้ถึงความยอดเยี่ยมในคณะผู้ประเสริฐทั้งหลาย แล. จบมัจจุปาสมุตติปัญหาที่ ๔

คำอธิบายปัญหาที่ ๔  ปัญหาเกี่ยวกับความพ้นจากบ่วงมัจจุ ชื่อว่า มัจจุปาสมุตติปัญหา

คำว่า บ่วงมัจจุ ความว่า มัจจุคือความตาย เป็นบ่วงคล้องสัตว์ให้ติดอยู่ ไม่ยอมให้พ้นไป ก็สัตว์ทั้งหลายที่พ้นจากความตายแม้สักคนหนึ่ง ก็หามีไม่ เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่า “บ่วงมัจจุ”.  คำว่า พระปริตร ความว่า ชื่อว่า “ปริตร” เพราะมีความหมายว่าป้องกัน ในที่นี้ หมายเอาบทมนต์ที่สวดเพื่อใช้เป็นเครื่องป้องกันภัย.  เมื่อคราวที่เมืองเวสาลีเกิดมีภัยพร้อมเพรียงกันถึง ๓ ประการ คือ  – ทุพภิกขภัย ภัยคือการที่ภิกษาหารหายาก ๑,  – อมนุษย์ภัย ภัยคือการที่ถูกอมนุษย์เบียดเบียน ๑,  – โรคภัย ภัยคือโรค ๑,  นั้น ชาวเมืองล้มตายกันเป็นจำนวนมาก เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จมาถึง ก็รับสั่งเรียกพระอานนท์ ทรงแสดงรัตนสูตร แก่พระอานนท์ ให้พระอานนท์เรียนไว้ให้ดี พระอานนท์เรียนไว้ดีแล้ว ก็ถือบาตรของพระศาสดาซึ่งเต็มด้วยน้ำ เที่ยวเดินสวดรัตนสูตรพร้อมทั้งประพรมน้ำในบาตรไปทั่วเมือง ด้วยอานุภาพแห่งรัตนสูตร พวกอมนุษย์ก็พากันหลีกหนีไปสิ้น โรคภัยไข้เจ็บทั้งหลายก็ปลาสนาการไป พวกชาวเมืองก็ปลอดพ้นจากภัยอีกครั้งหนึ่ง เพราะฉะนั้น รัตนสูตรนี้จึงจัดเป็นพระปริตรอย่างหนึ่ง เนื้อความในรัตนสูตร มีอย่างนี้ว่า :-  

“ยานีธ  ภูตานิ  สมาคตานิ  ภุมฺมานิ  วา  ยานิว  อนฺตลิกฺเข  สพฺเพว  ภูตา  สุมนา  ภวนฺตุ”  (ขุ.สุ. ๒๕/๔๑๓)  หมู่ภูตเหล่าใดที่เป็นภุมมเทวดาก็ดี หมู่ภูตเหล่าใดที่เป็นเทวดาสถิตในอากาศก็ดี ซึ่งมาพร้อมเพียงกันในที่นี้ ขอหมู่ภูตเหล่านั้นทั้งหมดเลยเทียว จงเป็นผู้มีจิตโสมนัส ดังนี้ เป็นต้น อันบัณฑิตพึงทราบความพิศดารตลอดทั้งสูตรเถิด

แม้ เมตตาสูตร ที่มีเนื้อความอย่างนี้ว่า :- “กรณียมตฺถกุสเลน   ยนฺตํ  สนฺตํ   ปทํ   อภิสเมจฺจ   สกฺโก  อุชู   จ   สุหุชู  จ  สูวโจ  จสฺส  มุทุ  อนติมานี”  (ขุ. ขุ. ๒๕/๑๓)  กิจใดอันภิกษุผู้ฉลาดในประโยชน์ ผู้ใกล้จะบรรลุพระนิพพานอยู่ พึงกระทำ ภิกษุผู้สามารถ ผู้ซื่อตรง ซื่อตรงดีนัก ว่าง่าย อ่อนโยน ไม่มีอติมานะ พึงกระทำกิจนั้นได้ ดังนี้เป็นต้น ซึ่งบัณฑิตควรแสวงหาความพิศดาร ซึ่งเป็นพระสูตรที่ภิกษุผู้มีศีล ประพฤติธรรมอยู่ในป่าเรียนจากพระผู้มีพระภาคแล้วนำไปใช้สวดสาธยายเพื่อป้องกันการรบกวนจากเทวดาที่สถิตอยู่ตามต้นไม้ ที่คอยส่งเสียงที่น่ากลัวให้ได้ยินบ้าง แสดงภาพที่น่ากลัวให้เห็นบ้าง เป็นต้น ก็จัดเป็นพระปริตร

ส่วน ขันธปริตร มีเนื้อความปรากฏอยู่ใน ขันธชาดก (ขุ. ชา. ๒๗/๗๔) อย่างนี้ว่า   :- “วิรูปกฺเขหิ  เม  เมตฺตํ, เมตฺตํ  เอราปเถหิ  เม,  ฉพฺยาปุตฺเตหิ  เม  เมตฺตํ,  เมตฺตํ  กณฺหาโคตมเกหิ  จ”  ข้าพเจ้า ขอมีความเป็นมิตรกับพวกนาคสกุลวิรูปักขะด้วย ข้าพเจ้าขอมีความเป็นมิตรกับพวกนาคสกุลเอราปถะด้วย ข้าพเจ้าขอมีความเป็นมิตรกับพวกนาคสกุลฉัพพยาปุตตะด้วย ขอมีความเป็นมิตรกับพวกนาคสกุลกัณหาโคตมะด้วย ดังนี้เป็นต้น อันบัณฑิตพึงดูความพิชฎาในชาดกเรื่องนี้ พร้อมทั้งอรรถกถาเถิด อันภิกษุทั้งหลายผู้ประพฤติธรรมอยู่ในที่สงัดในกาลก่อนเจริญเมตตาจิต สวดสาธยายแล้วก็ใช้เป็นเครื่องป้องกันภัยจากงูพิษทั้งหลายได้ จึงนับว่าเป็นพระปริตรเครื่องป้องกันภัยจากงูพิษทั้งหลายได้

โมรปริตร เป็นเนื้อความใน โมรชาดก (ขุ. ชา. ๒๗/๕๓) ที่พระโพธิสัตว์ เมื่อครั้งที่ทรงเสวยพระชาติเป็นนกยูง ใช้สวดสาธยายเพื่อป้องกันภัยจากบ่วงจากแร้วของนายพราน มีเนื้อความเกี่ยวกับการนอกน้อมพระอาทิตย์ พระพุทธเจ้า พระโพธิญาณ เป็นต้น อย่างนี้ว่า :-  “อุเทตยฺจกฺขุมา   เอกราชา,   หริสฺสวณฺโณ   ปฐวิปฺปภาโส,  ตํ  ตํ  นมสฺสามิ  หริสฺสวณฺณํ  ปฐวิปฺปภาสํ  ตยชฺชคุตฺตา  วิเรมุ  ทิวสํ”  พระอาทิตย์ผู้มีดวงตา เป็นเอกราชา โตขึ้นมาก็มีสีเพียงดังทอง ส่องสว่างไปทั่วพื้นปฐพี เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าขอนอบน้อมพระอาทิตย์ผู้มีสีดังทอง ส่องสว่างไปทั่วปฐพีนั้น ขอพวกข้าพเจ้าทั้งหลาย ได้ท่านคุ้มครองแล้วอยู่เป็นสุขในวันนี้ตลอดทั้งวันเถิด ดังนี้เป็นต้น อันบัณฑิตควรดูความพิสดารทั้งหลายในชาดกเรื่องนี้พร้อมทั้งอรรถกถาเถิด

ส่วน ธชัคคปริต ได้แก่เนื้อความใน ธชัคคสูตร (สํ. ส ๑๕/๓๐๓) ที่ว่าด้วยสงครามระหว่างพวกเทวดากับอสูร ซึ่งท้าวสักกะจอมเทพ ได้รับสั่งกับพวกเทวดาทั้งหลายว่า เมื่อพวกเทวดาเกิดหวาดกลัวขนพองสยองเกล้าขึ้นมา ก็ขอให้มองดูยอดธงของพระองค์ เมื่อมองดูยอดธงของพระองค์แล้ว ความหวาดกลัวขนพองสยองเกล้าจะหายไป ตรัสไว้อย่างนี้ว่า :- “ภูตปุพฺพํ  ภิกฺขเว  เทวาสุรสงฺคาโม”  ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว เทวดาและอสูรทำสงครามกัน ดังนี้เป็นต้น อันบัณฑิตควรดูความทั้งหมดในสูตรนี้

ส่วน อาฏานาฏิยปริต เป็นเนื้อความส่วนหนึ่งใน อาฏานาฏิยสูตร (ที. ปา. ๑๑/๒๑๕) เกี่ยวกับเป็นคำขอนอบน้อมต่อพระพุทธเจ้าทั้งหลาย อย่างนี้ว่า :-  "วิปสฺสิสฺส  นมตฺถุ  จกฺขุมนุตสฺส  สิรีมโต”  ข้าพเจ้าขอนอบน้อมต่อพระวิปัสสีพุทธเจ้า ผู้ทรงมีพระพุทธจักษุ มีพระสิริ เป็นต้น เป็นคำพูดของท้าวเวสวัณหัวหน้ายักษ์ที่ทูลเสนอต่อพระพุทธเจ้า เพื่อทรงอนุญาตให้พระภิกษุผู้ประพฤติธรรมอยู่ในป่า ได้ใช้สวดสาธยายเพื่อป้องกันอันตรายจากพวกยักษ์ (เทวดาอาศัยพื้นดินจำพวกหนึ่ง) ทุศีล ที่อาจจะมาเบียดเบียนข่มเหงเอา

ส่วน อังคุลิมาลปริต มีมาใน อังคุลิมาลสูตร (ม. ม. ๑๓/๔๔๒) เป็นคำพูดของท่านพระองคุลีมาลกล่าวกับหญิงผู้มีครรภ์แก่คลอดยาก อย่างนี้ว่า :-  ดูก่อน น้องหญิง ตั้งแต่เราได้เกิดโดยชาติอริยะแล้ว เราก็ไม่รู้จักจะปลงสัตว์จากชีวิต ด้วยคำสัตย์นี้ ขอท่านจงมีความสวัสดีเถิด ขอครรภ์ของท่านจงมีความสวัสดีเถิด ดังนี้ เมื่อท่านกล่าวคำนี้จบลง หญิงนั้นก็คลอดบุตรได้โดยง่าย ได้โดยทันที จึงเป็นคำพูดที่หญิงมีครรภ์แก่ทั้งหลายนิยมใช้บริกรรม เพื่อสร้างความสวัสดี ขจัดความไม่สวัสดีต่างๆ ในสมัยถึงคราวคลอดบุตร จึงจัดเป็นพระปริตรอย่างหนึ่ง

คำว่า สำหรับบุคคลผู้ยังมีอายุเหลืออยู่ คือสำหรับบุคคลผู้ยังมีอายุกัปเหลืออยู่เพียงพอที่จะดำรงชีวิตของตนต่อไปได้ จนกว่าจะถึงคราวตายไปตามสภาพ.  คำว่า ยังมีวัยสมบูรณ์อยู่ คือยังมีวัยตั้งอยู่ในความเป็นหนุ่มเป็นสาว ไม่ถึงความเป็นคนชรา.  คำว่า ปราศจากกัมมาวรณ์ ความว่า อนันตริยกรรมทั้งหลาย มีการฆ่ามารดาเป็นต้น จัดว่าเป็นอาวรณ์ (เครื่องกั้น) เพราะขัดขวาง กางกั้น การไปสวรรค์และนิพพาน เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า “กัมมาวรณ์” ได้แก่ เป็นผู้ปราศจากคือไม่มีการทำกัมมาวรณ์เหล่านี้ อธิบายว่า พระปริตรเป็นสิ่งมีประโยชน์ ก็สำหรับคนผู้มีอายุเหลืออยู่ มีวัยสมบูรณ์ และปราศจาก กัมมาวรณ์.  คำว่า สำหรับคนที่สิ้นอายุแล้ว คือสำหรับคนที่ใกล้จะสิ้นอายุเต็มทีแล้ว ดำรงชีวิตต่อไปได้ก็เพียงนิดหน่อย ชั่วระยะเวลาเพียง ๒-๓ วันเท่านั้น คนเหล่านี้ ไม่มีกิจที่ต้องทำอะไรๆ หรือ ไม่มีความพยายาม อะไรๆ เพื่อให้ตนดำรงชีวิตอยู่ เพราะเหตุไร เพราะจะเป็นของเหลวเปล่า ไม่อาจให้สำเร็จผลที่ต้องการ.  คำว่า ทานพ เป็นชื่อของยักษ์หรืออสูรจำพวกหนึ่ง.   คำว่า วิทยาธร (ผู้ทรงวิทยาคืออิทธิฤทธิ์) ได้แก่ผู้รู้บทมนต์ที่สวดสาธยายแล้วก็ทำให้เกิดฤทธิ์ตามประสงค์ได้.  คำว่า พระปริตรไม่อาจคุ้มครองได้ เพราะเหตุ ๓ ประการ ความว่า แม้เป็นผู้ที่ยังมีอายุเหลืออยู่ ยังมีวัยสมบูรณ์ พระปริตรก็ไม่อาจคุ้มครองได้ ถ้าหากเป็นผู้ประกอบพร้อมด้วยเหตุ ๓ ประการ อย่างใดอย่างหนึ่ง.  ในบรรดาเห็น ๓ อย่างนั้น กัมมาวรณ์ ได้อธิบายแล้ว ส่วนกิเลสาววรณ์ ได้แก่กิเลสคือนิตยมิจฉาทิฏฐิ (ความเห็นผิดเป็นประการเดียวแน่นอน) ว่า สัตว์จะขาดสูญ ภพใหม่ชาติใหม่มิได้มี เป็นต้น แห่งพวกอุจเฉทวาทะ (วาทะว่าขาดสูญ) อย่างเดียวนี้เท่านั้น มิได้หมายเอากิเลสอย่างอื่นด้วยซึ่งชื่อว่าเป็นอาวรณ์ ตามนัยที่ได้กล่าวแล้วนั่นเทียว.  ส่วนชื่อว่า ความไม่เชื่อถือ ได้แก่ความไม่ปลงใจเชื่อ ความไม่น้อมใจเชื่อ ความไม่ตัดสินใจเชื่อ ความคลางแคลงใจ ไม่มีศรัทธาเชื่อมั่น.  จบคำอธิบายปัญหาที่ ๔.   จบมิลินทปัญหาตอนที่ ๒๖.

บทความส่วนตัวประกอบ เรื่องเกี่ยวกับพระปริตร บันทึกจากคำอธิบาย ของอาจารย์ สมพร ปัญญาธร อาจารย์จากมูลนิธิแนบ มหานีรานนท์ บันทึกโดย ณัฏฐ สุนทรสีมะ

พระปริตร กับ อนันตจักรวาล

ในเรื่อง การเกิดและอวสานของโลก ตามนัยพระอภิธรรม กล่าวว่า “อาณาเขต” หมายถึง เขตแดนที่พระธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะแผ่เข้าไปถึงได้ เป็นเขตที่กำหนดไว้ถึง แสนโกฏิจักรวาล ด้วยอำนาจแห่งพระปริตรทั้งหลาย มีขันธปริตร อาฏานาฏิยปริตร ธชัคคปริตร โมรปริตร รัตนสูตรเหล่านี้ เป็นต้น (ฯลฯ) เมื่อสาธยายแล้ว ย่อมแผ่กว้างขยายไปถึงแสนโกฏิจักรวาล เหตุนี้จึงได้ชื่อว่า “อาณาเขต”  พูดง่ายๆว่า พระปริตรคุ้มครองได้ถึงแสนโกฏิจักรวาล ส่วนคำว่าสาธยายแปลว่า “สวด”

ความที่น่าสนใจคือ พระปริตร

พระปริตร แปลว่า ป้องกัน ในที่นี้หมายถึง บทสวดที่ใช้ป้องกันภัยต่างๆได้ถึงแสนโกฏิจักรวาล ครอบคลุมชาติเขต เช่น อมนุษย์ (ผี) โรคห่า ภาวะข้าวยากหมากแพง การสวดมีหลายแบบอาทิเช่น

ขันธปริตร  ใช้สวดเพื่อผูกมิตรกับพญางู หรือ งู ในเวลาที่ภิกษุอยู่ป่า สมัยพุทธกาลภิกษุ นักบวชนอกศาสนาที่เข้ามาบวชในพุทธศาสนา พวก ชฎิลบูชาไฟ พวกโยคี พวกมุณีทั้งหลาย เขาอาศัยในป่า ไม่มีวัด ไม่มีกุฏิติดแอร์อยู่อาฏานาฏิยปริตร.   หรือ ที่ได้ยินกันบ่อยๆคือ สวดภาณยักษ์ (ภาณยักษ์ คือ ยักษ์ชื่อท้าวเวสสุวรรณ) ตามประวัติเป็นคาถาของท้าวเวสสุวรรณให้กับพระพุทธเจ้า คาถานี้ใช้สวดป้องกันอมนุษย์ หรือ เวลาถูกอมนุษย์เข้าสิง ที่สวดกันในปัจจุบันเป็นอย่างย่อ ในคาถาถากล่าวถึงพระพุทธเจ้า ๒๕ พระองค์

รัตนสูตร ใช้สวดป้องกันภัย ๓ อย่าง คือ อมนุษย์ โรคห่า และ ทุกข์ภัยข้าวยากหมากแพง มีประวัติคือเป็นคาถาที่พระพุทธเจ้า สอนพระอานนท์สวดรัตนสูตร แก่เมืองเวสาลีกำจัดภัยทั้ง ๓ อย่าง คาถานี้เกี่ยวกับ คุณ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ทั้ง ๓ อย่างเหมือนกัน

ธชัคคปริตร  ตามประวัติเป็นคาถาที่ท้าวสักกะพาเทวดาลูกน้องไปรบกับพวกอสูร แล้วลูกน้องสู้ไม่ได้หนีไปที่ดาวดึงส์ ท้าวสักกะจึงทำธงเป็นรูปท้าวสักกะปักลงในดาวดึงส์เพื่อไม่ให้ลูกน้องเกิดความกลัวอสูร มีขวัญและกำลังใจ แต่พระพุทธองค์ชี้ว่าใช้ไม่ได้เพราะตัวท้าวสักกะเองยังมีความกลัวในอัตตภาพ กลัวภัยที่จะมาถึง คาถาจะไปป้องกันอะไรได้ ที่ถูกต้องควรระลึกถึงคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ โดยสรุป คาถานี้ไว้ป้องกันภัยต่างๆ

โมรปริตร  ใช้สวดบ่อยที่นิมนต์พระไปทำบุญบ้าน มีสวด ๒ แบบ ตอนเช้า ชื่อ อุเทตยัญ ตอนบ่ายชื่อ อเปตยัญ คาถามีความหมาย แคล้วคลาด ปราศจากภยันตรายทั้งปวง

อังคุลีมาลปริตร  เป็นคาถาที่พระพุทธเจ้าให้แก่พระองคุลีมาล เมื่อสมัยออกบวช มีแต่ผู้คนขว้างปาสิ่งของ ขณะเดินบิณฑบาต เพราะด้วยความแค้นที่เคยฆ่าคนมามาก มีคำสวดว่า “ตั้งแต่เราเกิดมาในชาติอริยะ เราไม่เคยปลงสัตว์จากชีวิตเลย” คาถานี้ยังใช้สาธยายให้คลอดลูกง่าย ปราศจากอันตราย ได้อีกด้วย (คาถานี้เดิมพระพุทธองค์ใช้คำว่าตั้งแต่ชาตินี้ เราเกิดมา เฉยๆ แต่ องค์คุลีมาลแย้งว่าจะมุสา เพราะตัวเคยฆ่าคนมามาก พระพุทธองค์จึงเปลี่ยนคำสวดให้ใหม่เป็น ตั้งแต่เราเกิดมาเป็น “อริยะ”)

ข้อสังเกต พระพุทธเจ้าแสดงพระปริตรไว้เพื่อสำหรับบุคคลบางคนเท่านั้นเอง. พระปริตรย่อมคุ้มครอง บุคคลทั้ง ๓ พวกดังนี้  ๑.) ผู้ปราศจากกรรมาวร เครื่องกั้นอนันตริยกรรม ปัญจานันตริยกรรม (สังฆเภท มาตุฆาต ปิตุฆาต อรหันตฆาต โลหิตตุปบาท)  ๒.) มีวัยอันสมบูรณ์ คือบุคคลที่ยังอยู่ในวัยที่ไม่มากเกินไป ไม่น้อยเกินไป ประมาณ ๒๐ ถึง ๔๐ ปี  ๓.) ยังมีอายุกัปป์เหลืออยู่ คืออายุไม่เกิน ๗๕ ปี

พระปริตรไม่คุ้มครองบุคคล ๓ จำพวก ดังนี้  ๑.) มีกัมมาวรณ์ คือพวก อนันตริยกรรม  ๒.) ไม่มีศรัทธา หรือ มีศรัทธาแต่ไม่ได้สาธยายทุกวัน คือไม่ได้สวดทุกวัน  ๓.) พวกนิตยมิจฉาทิฏิ (ชั่วกว่าอนันตริยกรรม)

พระปริตรมีข้อจำกัดดังนี้  ๑.) ต้องเรียนภาษาบาลีมาก่อน  ๒.) ต้องถูกอักขระ (ออกเสียง ฐานเสียงถูกต้อง)  ๓.) ต้องรู้ความหมาย (สวดออกไปแต่ไม่รู้ความหมายจะไปคุ้มครองได้อย่างไร)  ๔.) สวดต้องมีวรรคตอนให้ถูกต้องด้วย  ๕.) ต้องสวดหรือสาธยายบ่อยๆ (ในคำบรรยายว่าไว้ว่าต้องสวดทุกวัน)

ผี คือ เปรต เปรตคือบุคคลที่อยู่ในทุคติภูมิ เปรต ถือว่าชั้นเลวกว่าสัตว์เดรฉาน เพราะมองไม่เห็นตัว จะส่งกุศลให้ก็ได้ยาก ตัวเปรตเองก็ทำกุศลได้ยาก สัตว์เดรฉาน บางตัวก็ต้องหากินเอง หากินโดยคร่าชีวิตสัตว์อื่น เช่นสัตว์ในป่า แต่บางตัว เจ้าของเลี้ยงฟูมฟักเหมือนลูกเหมือนหลาน อาบน้ำแต่งตัว ดูแลเอาใจใส่ สัตว์เดรฉานเหล่านี้ถือเป็นพวกพิเศษ คือ ทุคติภูมิโดยอ้อม และถือว่าดีกว่าเปรต

เปรตหรือผีต่ำกว่ามนุษย์มากนัก เปรตมาแสดงตัวให้เห็นก็เพราะมาขอ มันมาขอเพราะชาติที่มีชีวิตอยู่ มันงก ไม่มีการให้ ไม่ยอมทำกุศล ใจไม่เคยมีกุศล มีแต่ห่วงแต่สมบัติ ห่วงลูกห่วงเมียก่อนตาย ตายไปก็เป็นเปรต ดังนั้นจึงไม่มีเหตุใดเลยที่คนเราจะต้องกลัวผี

การสวดไล่ผีที่นิมนต์พระไปที่บ้านความจริงมีข้อจำกัดมากมาย อาธิเช่น  ๑.) พระสมัยใหม่สวดไม่ถูก บาลีผิด ออกเสียงผิด วรรคตอนผิด ไม่รู้ความหมาย ฯลฯ  ๒.) ต้องนิมนต์เชิญพระแถวนั้นมาช่วยกันทำพระปริตรด้วย  ๓.) เวลาสวดต้องไม่เคี้ยวแป้ง  ๔.) ต้องสวดในที่ๆมีหญ้าสดเขียว.  ผี กับ ความมืด เป็นสิ่งที่มนุษย์กลัว ผีมาขอส่วนกุศลก็แผ่ส่วนกุศลให้เขาไป , กลัวความมืด ก็ทำจิตใจให้สว่าง มีธรรมเป็นเครื่องนำทาง.  เวลาคนตายไปเป็นผี เขาไปอยู่ในภพที่ต่ำกว่าเดิม ประกอบกุศลไม่ได้ เขาไม่ได้มาหลอก เขามาขอ จะไล่ผีทำไม เมื่อเขามาขอ

ขอให้ การอ่าน การศึกษา ของทุกท่านตามกุศลเจตนา ได้เป็นพลวปัจจัย เพิ่มพูลกำลังสติ กำลังปัญญา ให้สามารถนำตนให้พ้นจากวัฏฏทุกข์ด้วยเทอญ

ณัฏฐ สุนทรสีมะ

ที่มา : http://dhamma.serichon.us

มิลินทปัญหา (ตอนที่ 50) ,  (ตอนที่ 49) ,  (ตอนที่ 48) ,  (ตอนที่ 47) ,  (ตอนที่ 46) ,  (ตอนที่ 45) ,  (ตอนที่ 44) ,  (ตอนที่ 43) ,  (ตอนที่ 42) ,  (ตอนที่ 41) ,  (ตอนที่ 40) ,  (ตอนที่ 39) ,  (ตอนที่ 38) ,  (ตอนที่ 37) ,  (ตอนที่ 36) ,  (ตอนที่ 35) ,  (ตอนที่ 34) ,  (ตอนที่ 33) ,  (ตอนที่ 32) ,  (ตอนที่ 31) ,  (ตอนที่ 30) ,  (ตอนที่ 29) ,  (ตอนที่ 28) ,  (ตอนที่ 27) ,  (ตอนที่ 26) ,  (ตอนที่ 25) ,  (ตอนที่ 24) ,  (ตอนที่ 23) ,  (ตอนที่ 22) ,  (ตอนที่ 21 ต่อ) ,  (ตอนที่ 21) ,  (ตอนที่ 20) ,  (ตอนที่ 19) ,  (ตอนที่ 18) ,  (ตอนที่ 17) ,  (ตอนที่ 16) ,  (ตอนที่ 15) ,  (ตอนที่ 14) ,  (ตอนที่ 13) ,  (ตอนที่ 12) ,   (ตอนที่ 11) ,  (ตอนที่ 10) ,  (ตอนที่ 9) ,  (ตอนที่ 8) ,  (ตอนที่ 7) ,  (ตอนที่ 6) ,  (ตอนที่ 5) ,  (ตอนที่ 4) ,  (ตอนที่ 3) ,  (ตอนที่ 2) ,  (ตอนที่ 1) ,  ประโยชน์​การอุปมา​อันได้จากการศึกษา​คัมร์ในทางพุทธศาสนา มีคัมภีร์​มิลินท์​ปัญหาเป็นต้น​ ,   มิลินทปัญหา ปัญหาเกี่ยวกับการไม่เคลื่อนไปก็ปฏิสนธิได้  ,  เหตุไร ตรัสให้คฤหัสถ์โสดาบันกราบไหว้ ลุกรับภิกษุสามเณรปุถุชนเล่า?  ,  นิปปปัญจปัญหา ​- ปัญหา​เกี่ยวกับ​ธรรม​ที่ปราศจาก​เหตุ​ให้เนิ่น​ช้าในวัฏฏทุกข์  ,   ถามว่า​ อานิสงส์​การเจริญเมตตา​ ห้ามอันตราย​ต่างๆ​ เหตุไรสุวรรณ​สามผู้เจริญเมตตา​จึงถูกยิงเล่า?



Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: