มงคลที่ ๑๕ การให้ทาน - ทานัญจะ
๏ ควรบำเพ็ญ ซึ่งทาน คือการให้ ท่านว่าไว้ สวยงาม สามสถาน หนึ่งให้ของ สองธรรมะ ชนะมาร อภัยทาน ที่สาม งามเหลือเกิน ๛
การให้ทาน คือการให้ที่ไม่หวังผลตอบแทนโดยหมายให้ผู้ได้รับได้พ้นจากทุกข์ แบ่งออกเป็น ๓ อย่างได้แก่ ๑. อามิสทาน คือการให้วัตถุ สิ่งของ หรือเงินเป็นทาน ๒. ธรรมทาน คือการสอนให้ธรรมะเป็นความรู้เป็นทาน ๓. อภัยทาน คือการให้อภัยในสิ่งที่คนอื่นทำไม่ดีกับเรา ไม่จองเวร หรือพยาบาทกัน
การให้ทานที่ถือว่าเป็นความดี และได้บุญมากนั้นจะประกอบด้วยปัจจัย ๓ ประการอันได้แก่ ๑. วัตถุบริสุทธิ์ คือเป็นของที่ได้มาโดยสุจริต ไม่ได้ไปยักยอกมา โกงมา หรือได้มาด้วยวิธีแยบยล ๒. เจตนาบริสุทธิ์ คือมีจิตยินดี ผ่องใสเบิกบาน ไม่รู้สึกเสียดายสิ่งที่ให้ ตั้งแต่ก่อนให้ ขณะให้ และหลังให้ ๓. บุคคลบริสุทธิ์ คือให้กับผู้รับที่มีศีลธรรม ตัวผู้ให้เองก็ต้องมีศีลที่บริสุทธิ์
การให้ทานที่ถือว่าไม่ดี และยังอาจเป็นบาปกรรมถึงเราทางอ้อมอีกด้วยได้แก่ ๑. ให้สุรา ยาเสพย์ติด เป็นต้น (ถ้าเขาเมาแล้วขับรถชนตาย เราก็มีส่วนบาปด้วย) ๒. ให้อาวุธ (ถ้าอาวุธนั้นถูกเอาไปใช้ประหัตประหาร บาปก็มาถึงเราด้วย) ๓. ให้มหรสพ คือการบันเทิงทุกรูปแบบ ๔. ให้สัตว์เพศตรงข้ามเพื่อผสมพันธุ์ อันนี้รวมถึงการจัดหาสาวๆ ไปบำเรอผู้มีอำนาจหรือผู้น้อยด้วยเป็นต้น ๕. ให้ภาพลามก หรือสิ่งพิมพ์ลามก เพราะทำให้เกิดความกำหนัด เกิดกามกำเริบ (เมื่อดูแล้วเกิดไปฉุดคร่า ข่มขืนใคร บาปก็ตกทอดมาถึงเราด้วย)
ที่มา : http://www.dhammathai.org
ทานญฺจ เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ - การให้ เป็นอุดมมงคล
ณ บัดนี้ จักได้วิสัชนาในมงคลที่ ๑๕ ตามพระบาลี และอรรถกถาดำเนินความว่า ทานัง นามะ ตีณิ ลักขณานิ เป็นต้น อธิบายความว่า ทานการให้มีลักษณะ ๓ ประการ คือ จาคเจตนาทาน ๑ วิรัตติทาน ๑ ไทยธรรมทาน ๑ เป็น ๓ ประการดังนี้
จากเจตนาทานนั้น ได้แก่บุคคลที่มีศรัทธาเลื่อมใสคิดจะให้ซึ่งทาน ๑ วิรัตติทานนั้น ได้แกบุคคลที่มีหิริโอตตัปปะ ละเว้นในเบญจเวรทั้ง ๕ คือ ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์เป็นต้น ๑
ไทยธรรมทานนั้น ได้แก่บุคคลมีศรัทธา ให้ข้าวน้ำ ผ้านุ่ง ผ้าห่มเป็นต้น ๑ ทานทั้ง ๓ ประการที่บังเกิดขึ้นในสันดานมนุษย์ทั้งปวงนั้น อาศัยปัญญาสัมมาทิฏฐิเป็นต้นเหตุนั้นอย่างหนึ่ง อีกอย่างหนึ่งท่านว่า อาศัยอโลภะ ความไม่โลภเป็นต้นเหตุนั้นอย่างหนึ่ง
อธิบายว่า บุคคลที่มีปัญญาพิจารณาเห็นบาปบุญคุณและโทษ ประโยชน์และไม่ใช่ประโยชน์ในเบื้องหน้า คือ เห็นว่าให้ทานรักษาศีลเป็นต้น ได้บุญได้กุศลก่อน นำมาซึ่งความสุข อย่างนี้เรียกว่า ปัญญาสัมมาทิฏฐิ บุคคลมาเห็นว่า บาปมี คือ ฆ่าสัตว์ลักทรัพย์ เป็นต้น ย่อมให้ผลเป็นทุกข์ อย่างนี้เรียกว่า ปัญญาสัมมาทิฏฐิ บุคคลอาศัยปัญญาสัมมาทิฏฐิ ๑ และอาศัยความไม่โลภเจตนา ๑ เหตุทั้ง ๒ นี้มีแล้ว จึงจะคิดบริจากทาน ทานจะมีผลมากอาศัยเจตนาทั้ง ๓ คือ ปุพพเจตนา มีจิตเลื่อมใสคิดจะให้ซึ่งทานมีน้ำเป็นต้น ๑ มุญจะนะเจตนา มีความเลื่อมใสเมื่อขณะให้ทาน ๑ อะปะราปะระเจตะนา มีความเลื่อมใสในเมื่อให้ทานแล้ว ๑ ทั้ง ๓ นี้เรียกว่าสัปปทา ฯ
วัตถุสัปมทานั้น คือ ไม่ลักฉ้อล่อลวงทรัพย์เขามาทำบุญ ทายกผู้ให้ทานมีองค์ ๒ คือ เจตนาสัมปทา ๑ วัตถุสัมปทา ๑
ปฎิคาหกผู้รับทานมีองค์ ๒ คือ ผลสัมปทา เป็นพระอรหันต์ ๑ คุณาติเรกสัมปทา ออกจากสมาบัติ ๑
ทานพร้อมไปด้วยองค์ ๔ คือ ผู้ให้ ๒ ผู้รับ ๒ ย่อมมีผลในชาตินี้ ถ้าไม่พร้อมด้วยองค์ ๔ ย่อมให้ผลในชาติหน้า อีกอย่างหนึ่งท่านว่า ทานพร้อมด้วยองค์ ๖ มีผลมาก คือ เจตนาให้ทานเป็นปุคคลิก ๓ เจตนาให้ทานเป็นสงฆ์ ๓ เป็น ๖ ดังนี้
ทานการให้มี ๒ คือ ปฎิปุคคลิกทาน ให้ทานตามชอบใจของตน ๑ สังฆทาน ถวายเป็นสงฆ์ ๑ ปาฎิปุคคลิกทานมี ๑๔ คือ ให้ทานแก่สัตว์ดิรัจฉาน ๑ ให้ทานแก่คนไม่มีศีล ๑ ให้แก่คนมีศีล ๑ ให้แก่ฤๅษีดาบส ๑ ให้แก่พระอริยเจ้า ๑๐ จำพวก มีพระโสดาบันเป็นต้น มีพระพุทธเจ้าเป็นที่สุด เป็น ๑๔ ดังนี้
ปาฎิปุคคลิกทานจะมีผลมากต้องพร้อมด้วยองค์ ๖ คือ ทายกประกอบด้วยเจตนาทั้ง ๓ ปฎิคาหกผู้รับไม่มีราคะ ๑ ไม่มีโทสะ ๑ ไม่มีโมหะ ๑ เป็น ๓ หรือมีความเพียรจะละราคะ โทสะ โมหะก็ดี สังฆทานการถวายเป็นสงฆ์มี ๓ อย่าง คือถวายแก่ภิกษุสงฆ์และภิกษุณีสงฆ์ มีองค์พระพุทธเจ้าเป็นประทาน ๑ ถวายทานแก่ภิกษุสงฆ์ทั้งสองฝ่าย ๑ ถวายทานแก่ภิกษุสงฆ์พวกเดียว ๑ ถวายทานแก่ภิกษุณีสงฆ์พวกเดียว ๑ ขอภิกษุสงฆ์ภิกษุณีสงฆ์ ๑ รูป ๒ รูป ๓ รูป ๑ ขอภิกษุสงฆ์ ๑ รูป ๒ รูป ๓ รูป ๑ ขอภิกษุณีสงฆ์ ๑ รูป ๒ รูป ๓ รูป เป็น ๗ ดังนี้
อนึ่ง บุคคลที่จะถวายสังฆทานนั้น ให้ตั้งจิตอุทิศเฉพาะต่อพระอริยเจ้าอย่าตั้งจิตอุทิศแก่ ภิกษุปุถุชน อนึ่ง ขอสงฆ์แล้ว จะได้พระเถระมาก็ดี จะได้ภิกษุหนุ่มและสามเณรมาก็ดี อย่าดีใจอย่าเสียใจทำใจให้เป็นกลาง ๆ ถ้าดีใจหรือเสียใจก็จะไม่เป็นสังฆทาน ด้วยสังฆทานมีผลมาก สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรัสไว้ในทักขิณาวิภังคสูตร แก่พระอานนท์ พระองค์ทรงปรารภพระนางมหาปชาบดีโคตมีเรื่องการถวายผ้าจีวรสาฏก....
ที่มา : http://larnbuddhism.com
มงคลที่ 1 , มงคลที่ 2 , มงคลที่ 3, มงคลที่ 4 , มงคลที่ 5 , มงคลที่ 6 , มงคลที่ 7 , มงคลที่ 8 , มงคลที่ 9 , มงคลที่ 10 , มงคลที่ 11 , มงคลที่ 12 , มงคลที่ 13 , มงคลที่ 14 , มงคลที่ 15 , มงคลที่ 16 , มงคลที่ 17 , มงคลที่ 18 , มงคลที่ 19 , มงคลที่ 20 , มงคลที่ 21 , มงคลที่ 22 , มงคลที่ 23 , มงคลที่ 24 , มงคลที่ 25 , มงคลที่ 26 , มงคลที่ 27 , มงคลที่ 28 , มงคลที่ 29 , มงคลที่ 30 , มงคลที่ 31 , มงคลที่ 32 , มงคลที่ 33 , มงคลที่ 34 , มงคลที่ 35 , มงคลที่ 36, มงคลที่ 37, มงคลที่ 38 ฯ
0 comments: