วันอังคารที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

อิลฺลิสชาตกํ​ - ว่าด้วยคนมีรูปร่างเหมือนกัน

อิลฺลิสชาตกํ​ - ว่าด้วยคนมีรูปร่างเหมือนกัน

อุโภ ขญฺชา อุโภ กุณี, อุโภ วิสมจกฺขุกา;    อุภินฺนํ ปิฬกา ชาตา, นาหํ ปสฺสามิ อิลฺลิสนฺติ ฯ  คนทั้ง ๒ คน เป็นคนกระจอก, คนค่อม ตาเหล่ เกิดต่อมที่ศีรษะ  ข้าพระบาทไม่รู้ว่าคนไหนเป็นอิลลีสเศรษฐี? "

อิลลีสชาดกอรรถกถา

พระบรมศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหารทรงปรารภเศรษฐีชื่อ มัจฉริโกสิยะ ตรัสพระธรรมเทศนานี้มีคำเริ่มต้นว่า อุโภ ขญฺชา ดังนี้. 

ได้ยินว่า ไม่ห่างพระนครราชคฤห์ มีนิคมชื่อว่าสักกระในนิคมนั้น มีเศรษฐีผู้หนึ่งชื่อว่ามัจฉริโกสิยะ มีสมบัติ ๘๐ โกฏิ อยู่อาศัย. ท่านเศรษฐีนั้นแม้เอายอดหญ้าจุ่มน้ำมันให้ทานแก่คนเหล่าอื่นสักหยดเดียวก็ไม่มีทั้งตนเองก็ไม่ยอมบริโภค ด้วยประการฉะนี้ สมบัติของเขาไม่อำนวยประโยชน์แก่บุตรและภรรยาเป็นต้น ทั้งแก่สมณพราหมณ์ ตั้งอยู่อย่างไม่ได้แตะต้องใช้สอย เหมือนสระโบกขรณีที่รากษสคุ้มครองฉะนั้น. วันหนึ่ง พระบรมศาสดาเสด็จออกจากมหากรุณาสมาบัติ ในเวลาใกล้รุ่งทรงตรวจดูหมู่สัตว์ที่เป็นเผ่าพันธ์แห่งผู้พอจะทรงแนะนำให้ตรัสรู้ได้ ทั่วโลกธาตุทั้งสิ้นได้ทอดพระเนตรเห็นอุปนิสัยแห่งโสดาปัตติผลของท่านเศรษฐีพร้อมด้วยภรรยาอันอยู่ไกลถึง ๔๕ โยชน์. 

เมื่อวันก่อนจากวันนั้นท่านเศรษฐีได้ไปสู่พระราชวังเข้าเฝ้าพระราชา ขณะเดินมาเห็นชาวชนบทผู้หนึ่ง หิวหนัก กำลังกัดกินขนมเบื้องผสมถั่วกุมมาส เกิดความอยากในขนมนั้น ไปถึงเรือนของตนแล้วดำริว่า „ถ้าเราบอกว่า อยากกินขนมเบื้อง คนเป็นอันมากก็จักอยากกินกับเรา เมื่อเป็นเช่นนี้ สิ่งของเป็นต้นว่า ข้าวสาร เนยใส น้ำอ้อย ของเราจักต้องสิ้นเปลืองไปเป็นอันมาก เราจักไม่บอกใคร ๆ แล้ว“ สู้อดกลั้นความอยากไว้ เที่ยวไป.  ครั้นนานหนักเข้าท่านชักจะผอมเหลืองตัวสะพรั่งด้วยเส้นเอ็น ทีนั้นก็ไม่อาจทนอยากอยู่ได้ จึงเข้านอนซุกบนเตียงน้อย แม้ถึงอย่างนั้นแล้ว ก็ยังไม่ยอมเอ่ยอะไรแก่ใคร ๆ เพราะกลัวเสียทรัพย์. ฝ่ายภรรยาจึงเข้าไปหาท่านลูบหลังพลางถามว่า „ท่านเจ้าขา ท่านไม่สบายหรือ ?“ เศรษฐี. „ฉันไม่เจ็บ ไม่ไข้ ไม่เป็นอะไรดอก.“ 

ภรรยา. „พระราชาทรงกริ้วท่านหรือ ?“  เศรษฐี. „ถึงพระราชาก็มิได้ทรงกริ้วฉัน.“  ภรรยา. „เมื่อเป็นเช่นนั้น จะมีลูกชาย ลูกหญิงเป็นต้นหรือบริวารมีทาสและกรรมกรเป็นต้น พากันทำอะไร ๆที่ไม่ พอใจท่านหรือ ?"  เศรษฐี. „แม้เรื่องอย่างนี้ก็ไม่มีแก่เรา.“  ภรรยา. „ท่านคงนึกอยากจะกินอะไรบ้าง กระมัง ?“  เศรษฐี พอภรรยาพูดอย่างนี้ ก็ไม่ยอมเอ่ยอะไร ๆ นอนนิ่งเงียบทีเดียว เพราะกลัวเสียทรัพย์ ทีนั้นภรรยาจึงกล่าวกะท่านเศรษฐีว่า "ท่านเจ้าขอบอกเถิดท่านนึกอยากกินอะไร ?“ ท่านเศรษฐีทำท่าทีกล้ำกลืนถ้อยคำแล้วกล่าวว่า „จ้ะ ฉันนึกอยากอยู่อย่างหนึ่ง.“  ภรรยา. „อะไรเจ้าคะ ที่ท่านนึกอยาก ?“  เศรษฐี. „ฉันอยากกินขนมเบื้อง.“  ภรรยา. "เมื่อเป็นเช่นนั้น ทำไมไม่บอกเล่าคะท่านเป็นคนจนหรือเจ้าคะ คราวนี้ ดิฉันจะทอดขนมเบื้องให้พอแจกชาวสักกระนิคมให้ทั่วถึง.“ เศรษฐี. "เจ้าเอ่ยถึงพวกนั้นทำไม พวกเขาทำงานของตนแล้ว ก็จักทำกินกันเอง.“  ภรรยา. „ถ้าเช่นนั้นก็ทอดพอแจกพวกตรอกเดียวกันนะคะ ?“  เศรษฐี. „ฉันรู้ละว่า เจ้านะมีทรัพย์มาก.“  ภรรยา. „ถ้าเช่นนั้น ก็ทอดพอแจกกันระหว่างลูกเมียในเรือนเท่านั้น ก็แล้วกันนะเจ้าคะ ?“  เศรษฐี. „ท่านไปยุ่งกับพวกนั้นทำไม ?“  ภรรยา. „ถ้าเช่นนั้นก็ทอดพอรับประทานกันระหว่างท่านกับดิฉัน นะเจ้าคะ ?“  เศรษฐี. „ท่านจะมาเกี่ยวด้วยทำไม ?“  ภรรยา. „ถ้าเช่นนั้น ก็ทอดพอท่านรับประทานคนเดียวก็แล้วกัน.“  เศรษฐี. „เมื่อทอดที่นี่ คนเป็นอันมากจักพากันมุงดู เจ้าจงขนข้าวสารที่แหลก ๆ เว้นข้าวที่เป็นตัวเสีย ทั้งเตาและกระเบื้องทอด ก็ขนไปด้วยถือเอานมสด เนยใส น้ำผึ้ง น้ำอ้อย อย่างละนิดละหน่อย ขึ้นสู่พื้นโถงบนปราสาทชั้นที่ ๗ แล้วทอดเถิด ฉันคนเดียวเท่านั้น จักนั่งกินที่นั่น.“ 

ภรรยา รับคำแล้ว ให้คนขนสิ่งของที่ต้องใช้ขึ้นปราสาทไล่ทาสีลง ให้เชิญท่านเศรษฐีขึ้นไป. เศรษฐีปิดประตูชั้นแรกขัดลิ่มสลักทุกแห่งขึ้นสู่พื้นปราสาทชั้น ๗ แม้ในชั้นก็ปิดประตูเสียด้วยแล้วนั่งคอย ฝ่ายภรรยาของท่านเศรษฐี จัดแจงก่อไฟใส่เตา ยกกระเบื้องขึ้นตั้ง เริ่มจะทอดขนม. 

ลำดับนั้น พระบรมศาสดาตรัสเรียกพระมหาโมคคัลลานะแต่เช้าตรู่ ตรัสว่า „โมคคัลลานะ เศรษฐีตระหนี่ในสักกระนิคมไม่ห่างไกลพระนครราชคฤห์ผู้นี้, ดำริว่า „เราจักกินขนมเบื้องกลัวคนอื่น ๆ จะเห็น, ให้ภรรยาทอดขนมเบื้องที่พื้นชั้นบนแห่งปราสาท ๗ ชั้น, ท่านจงไปที่นั่น ทรมานเศรษฐี ทำให้หมดพยศแล้วให้สามีภรรยาทั้งคู่ ขนขนม นมเนย น้ำผึ้ง น้ำอ้อย พามาสู่พระเชตวัน ด้วยกำลังของตนเถิด, วันนี้ตถาคตกับภิกษุ ๕๐๐ จักนั่งคอยในวิหาร จักกระทำภัตตกิจด้วยขนมนั้นแหละ.“

พระเถระเจ้าทูลรับสนองพระดำรัสของพระศาสดาว่า „ดีแล้ว พระเจ้าข้า“ ไปสู่นิคมด้วยกำลังฤทธิ์ในทันใดนั้นเอง ครองสบงจีวรเรียบร้อยยืนอยู่ในอากาศตรงช่องหน้าต่าง ปานประหนึ่งรูปที่ทำด้วยแก้วมณีมาลอยอยู่ฉะนั้น.    เพราะเห็นพระเถระเจ้าเข้าเท่านั้นท่านมหาเศรษฐีหัวใจสั่น. เศรษฐีดำริว่า „เพราะกลัวมนุษย์ประเภทนี้ นี่แหละ เราถึงต้องมาที่นี่, แต่ท่านผู้นี้ยังมาที่ช่องหน้าต่างจนได้“ มองไม่เห็นสิ่งที่พอจะถือเอาได้ ก็เปล่งเสียงตฏะ ตฏะ ออกมา ด้วยความแค้น เหมือนเอาก้อนเกลือใส่ไปในกองไฟ แตกเพียะพะอยู่ฉะนั้นแล้วกล่าวอย่างนี้ว่า „ดูก่อนสมณะท่านยืนอยู่ในอากาศจักได้อะไร ถึงจะเดินไปเดินมาแสดงรอยเท้าในอากาศอันหารอยมิได้ ก็จักยังไม่ได้อยู่นั่นเอง.“

พระเถระก็เดินจงกรมไปมาอยู่ ณ ที่นั้นเอง. เศรษฐีกล่าวว่า "ท่านจงกรมอยู่จักได้อะไร ถึงจะนั่งขัดสมาธิในอากาศ ก็จักไม่ได้อะไรเลย.“  พระเถระเจ้าคู้บัลลังก์นั่งแล้ว. ครั้งนั้น เศรษฐีกล่าวกะพระเถระว่า „นั่งแล้วจักได้อะไร ถึงจะมายืนอยู่ที่ธรณีหน้าต่างก็จักไม่ได้เลย.“ พระเถระได้มายืนอยู่ที่ธรณี. ครั้งนั้น เศรษฐีพูดกะท่านว่า „ถึงยืนที่ธรณีแล้วก็จักได้อะไร ต่อให้บังหวลควันก็จักไม่ได้อะไร.“  พระเถระจึงบังหวลควัน ปราสาททั้งนั้น เป็นควันพุ่งไปทั่ว. เกิดเป็นดุจเวลาเอาเข็มแทงนัยน์ตาท่านเศรษฐีท่านเศรษฐีไม่กล้ากล่าวว่า ถึงจะให้ไฟลุก ก็คงจะไม่ได้ เพราะกลัวไฟจะไหม้บ้าน ดำริว่า "สมณะรูปนี้ เกาะเกี่ยวเหนียวแน่นไม่ได้คงไม่ยอมไป“ จึงบอกภรรยาว่า „ดูก่อนนางผู้เจริญ เจ้าจงทอดขนมเล็ก ๆ ชิ้นหนึ่ง ให้สมณะแล้วส่งท่านไปเสียเถิด.“ 

นางตักแป้งหน่อยเดียวเท่านั้นใส่ลงในถาดกระเบื้อง เป็นขนมโตเต็มถาดหมด พองหนาปรากฏอยู่. เศรษฐีเห็นขนมนั้นแล้วพูดว่า „เจ้าคงใส่แป้งมากเป็นแน่“ แล้วเอามุมทัพพีนั่นแหละตักแป้งหน่อยหนึ่งใส่ลงไปเองทีเดียว ขนมกลับใหญ่กว่า อันก่อนไม่ว่า จะทอดอันใด ๆ อันนั้น ๆเป็นต้องใหญ่ ๆ ทั้งนั้น.  เศรษฐีชักเหนื่อย จึงบอกภรรยาว่า „นางเอ๋ย เจ้าจงให้ขนมแก่สมณะรูปนี้ไปชิ้นหนึ่งเถิด.“ เมื่อนางหยิบขนมชิ้นหนึ่งออกจากกระเช้าขนมทุกชิ้น ติดเป็นแผ่นเดียวกันไปหมด.  นางบอกกะเศรษฐีว่า „ท่านเจ้าคะ ขนมทั้งหมดติดเป็นแผ่นเดียวกันเสียแล้ว ดิฉันไม่อาจจะแยกได้.“ ท่านเศรษฐีกล่าวว่า „ฉันทำเอง" ก็ไม่อาจแยกออกได้เมื่อท่านเศรษฐีพยายามปลุกปล้ำแยกขนมอยู่นั่นแล เหงื่อไหลโทรมร่างกาย ความอยากก็หายไป.  ลำดับนั้น ท่านเศรษฐีจึงพูด กับภรรยาว่า „นี่แน่ะนางผู้เจริญ เราไม่ต้องการขนมเเล้วละเธอจงถวายแก่ภิกษุนี้ทั้งกระเช้าทีเดียวเถิด.“ นางจึงหิ้วกระเช้าเข้าไปหาพระเถระ. แล้วถวายขนมทั้งหมดแด่พระเถระเจ้า.

พระเถระเจ้าเมื่อแสดงธรรมแก่คนทั้งสอง ก็กล่าวถึงคุณของพระรัตนะทั้ง ๓ แล้วชี้แจงผลของการให้ทานเป็นต้นว่า „ทานที่บุคคลให้แล้วมีผล การบูชามีผล แจ่มแจ้งประดุจแสดงให้ เห็นดวงจันทร์วันเพ็ญ บนพื้นนภากาศ ฉะนั้น.“  ครั้นฟังธรรมแล้วมหาเศรษฐี มีจิตผ่องใสกล่าวว่า „ข้าแต่พระคุณเจ้าผู้เจริญนิมนต์นั่งบนบัลลังก์นี้ ฉันขนมเถิดขอรับ.“  พระเถระเจ้ากล่าวว่า „ท่านมหาเศรษฐี พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า ตถาคตจักฉันขนม ประทับนั่งในพระวิหารกับภิกษุ ๕๐๐ รูป เมื่อท่านพอใจ จงให้ภรรยาถือขนมและนมเป็นต้น เราจักไปสู่สำนักพระศาสดา“, ท่านเศรษฐีถามว่า „ข้าแต่พระคุณเจ้าผู้เจริญ เดี๋ยวนี้พระศาสดาพระองค์นั้นประทับอยู่ที่ไหนเล่าขอรับ ?“ พระเถระเจ้าตอบว่า „พระองค์ประทับ ณ พระมหาวิหารเชตวัน ห่างจากที่นี่ ๔๕โยชน์.“ 

ท่านเศรษฐีกล่าวว่า „ข้าแต่พระคุณเจ้าผู้เจริญ เราจักไปไกลถึงเพียงนี้ โดยไม่ให้ล่วงเวลาภัตได้อย่างไรเล่าขอรับ ?“ พระเถระเจ้ากล่าวว่า „ดูก่อนมหาเศรษฐี เมื่อท่านมีความพอใจเราจะพาท่านไปด้วยกำลังฤทธิ์ของตน หัวบันไดที่ปราสาทของท่านจักปรากฏ ณ ที่ตั้งของตนทีเดียว แต่ที่สุดแห่งบันได จักอยู่ซุ้มพระทวารแห่งพระวิหารเชตวัน เราจักพาท่านไปพระวิหารเชตวัน ด้วยระยะเวลาเพียงเท่ากาลที่ลงจากปราสาทชั้นบนมาสู่ปราสาทชั้นล่าง.“ ท่านเศรษฐีรับคำว่า „ดีแล้วขอรับท่านผู้เจริญ.“

พระเถระเจ้าก็อธิษฐานว่า „ศีรษะบันไดจงอยู่ที่เดิม เชิงบันไดจงมีที่ซุ้มพระทวารพระวิหารเขตวันเถิด.“ การก็ได้เป็นดังคำอธิษฐานของพระเถระเจ้านั่นแหละ ด้วยอาการอย่างนี้ พระเถระเจ้า พาท่านเศรษฐีกับภรรยาลุถึงพระวิหารเชตวันเร็วกว่า เวลาลงจากปราสาทชั้นบน ถึงปราสาทชั้นล่างเสียอีก. 

ท่านเศรษฐีและภรรยาแม้ทั้งคู่เข้าเฝ้าพระศาสดากราบทูลภัตตกาลพระศาสดาเสด็จเข้าสู่โรงฉัน ประทับนั่งเหนือพระบวรพุทธาอาสน์ที่จัดไว้พร้อมกับภิกษุสงฆ์ท่านเศรษฐีได้ถวายน้ำทักษิโณทกแด่พระสงฆ์ มีพระพุทธองค์เป็นประมุข ภรรยาของท่านเศรษฐีก็ใส่ขนมในบาตรของพระตถาคต.

พระศาสดาทรงรับขนมพอแก่พระประสงค์ของพระองค์. แม้ภิกษุ ๕๐๐ รูปก็รับเช่นนั้นเหมือนกัน. ถึงท่านเศรษฐีก็เดินถวาย นมสด เนยใสน้ำผึ้ง น้ำอ้อยและน้ำตาลกรวดเป็นต้น.  พระศาสดากับภิกษุ ๕๐๐ รูปกระทำภัตกิจเสร็จแล้ว. ท่านมหาเศรษฐีกับภรรยาเล่าก็รับประทานขนมพอแก่ความต้องการ ความสิ้นสุดของขนมทั้งหลาย ไม่ปรากฏเลย แม้ถวายแจกจ่ายแก่พวกภิกษุและคนกินเดนในวิหารทั้งสิ้นแล้ว ความหมดสิ้นก็ยังไม่ปรากฏอยู่นั่นเอง. 

ท่านเศรษฐีและภรรยาพากันกราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขนมยังไม่หมดเลยพระเจ้าข้า. พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ถ้าเช่นนั้นท่านจงเททิ้งเสียที่ซุ้มประตูพระวิหารเชตวันเถิด สองสามีภรรยาก็ขนไปทิ้ง ในที่เป็นเงื้อมไม่ห่างซุ้มประตู ที่นั้นจึงปรากฏชื่อว่าเงื้อมขนมเบื้อง ต่อมา จนถึงทุกวันนี้.   มหาเศรษฐีกับภรรยาพากันเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้ายืนอยู่ ณ ที่ควรข้างหนึ่ง. พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงกระทำ อนุโมทนา ในเวลาจบอนุโมทนา เศรษฐีและภรรยาแม้ทั้งสองคนก็ดำรงในพระโสดาปัตติผล พากันถวายบังคมพระบรมศาสดาก้าวขึ้นบันไดสถิตในปราสาทของตน นั่นเอง. 

จำเดิมแต่นั้นมาท่านมหาเศรษฐีก็บริจาคทรัพย์ ๘๐ โกฏิ ในพระพุทธศาสนานั่นแล. วันรุ่งขึ้น เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จเที่ยวบิณฑบาต ในพระนครสาวัตถีแล้วเสด็จมาสู่พระวิหารเชตวัน ประทานสุคโตวาทแก่พวกภิกษุแล้วเสด็จเข้าพระคันธกุฎีทรงหลีกเร้น.  ครั้นเวลาเย็น ภิกษุประชุมกันในธรรมสภา นั่งกล่าวถึงคุณกถาของพระเถระเจ้าอยู่ว่า ก่อนผู้มีอายุทั้งหลาย จงดูอานุภาพของพระมหาโมคคัลลานเถรเจ้าเถิดท่านมิได้ทำลายศรัทธา มิได้แตะต้องโภคทรัพย์ ทรมานเศรษฐี ผู้ตระหนี่ครู่เดียวเท่านั้นก็ทำให้หายพยศได้ ให้ถือขนมชวนมาพระเชตวัน เฝ้าพระศาสดาให้ดำรงในโสดาปัตติผล โอ พระเถระเจ้ามีอานุภาพมาก.

พระศาสดาเสด็จมาตรัสถามว่า „ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอนั่งประชุมสนทนากันด้วยเรื่องอะไร?“ เมื่อภิกษุทั้งหลายกราบทูลให้ทรงทราบแล้ว ตรัสว่า „ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรมดาภิกษุ ผู้ทรมานสกุล ไม่ต้องเบียดเบียนสกุลให้ลำบาก พึงเป็นเหมือนภมรเคล้าเอาเกษรดอกไม้ เข้าไปใกล้แล้วให้เขารู้พระพุทธคุณ“  เมื่อจะทรงสรรเสริญพระเถระเจ้า ตรัสพระคาถาในธรรมบทนี้ว่า :-  „ภมรมิให้ดอกไม้เสียสีและเสื่อมกลิ่น เคล้าเอาแต่รสแล้วบินไป แม้ฉันใด มุนี พึงเที่ยว ไปในบ้าน ฉันนั้น“ ดังนี้. 

เพื่อจะประกาศคุณของพระเถระเจ้าให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป จึงตรัสว่า „ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้น ที่มัจฉริยเศรษฐี ถูกโมคคัลลานะทรมาน แม้ในครั้งก่อน โมคคัลลานะก็เคยทรมานเขา ให้รู้ความสัมพันธ์แห่งกรรมและผลแห่งกรรมมาแล้วเหมือนกัน“ แล้วทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้ :-   ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในกรุง พาราณสี เศรษฐี ชื่ออิลลีสะ มีทรัพย์ ๘๐ โกฏิ ประกอบด้วยบุรุษโทษหลายสถาน เป็นคนกระจอกง่อย ตาเหล่ ไม่มีศรัทธาไม่เลื่อมใส ตระหนี่ ไม่ให้แก่คนอื่นและไม่บริโภคด้วยตนเองได้มีในพระนครพาราณสี เรือนของเศรษฐีนั้นได้เป็นเหมือนสระโบกขรณี ที่รากษสยึดครอง แต่มารดาบิดาของท่านเศรษฐีเป็นผู้ให้ทาน เป็นทานบดีมา ๗ ชั่วตระกูล.   ครั้นอิลลีสะนั้นได้ตำแหน่งเศรษฐีก็ทำลายสกุลวงษ์เสีย เผาโรงทาน เฆี่ยนขับไล่พวกยาจก เก็บแต่ทรัพย์เท่านั้น วันหนึ่งอิลลีสะนั้นไปเฝ้าพระราชาขณะเดินมาเรือนของตน เห็นคนบ้านนอกผู้หนึ่ง เหน็ดเหนื่อย จากการเดินทาง ถือขวดเหล้ามาขวดหนึ่ง นั่งบนตั่งน้อย รินเหล้าใส่จอกสำหรับดื่มสุรารสเปรี้ยวแล้วดื่มอยู่ แกล้มด้วยแกงอ่อมใส่ปลาร้า นึกอยากดื่มบ้าง คิดว่า ถ้าเราจักดื่มสุรา เมื่อกำลังดื่ม คนเป็นอันมากก็จักอยากดื่มบ้าง ความสิ้นเปลืองทรัพย์ ก็จักมีแก่เราด้วยอาการอย่างนี้. 

เศรษฐีอิลลีสะนั้น อดกลั้นความอยากไว้ ครั้นเวลาผ่านไป ไม่อาจอดกลั้นได้เลยเป็นคนตัวเหลืองเนื้อตัวสะพรั่งไปด้วยเส้นเอ็น เหมือนใบฝ้ายที่แก่แล้ว.  ครั้นวันหนึ่ง จึงเข้าห้องนอน เข้าไปซุกอยู่ที่เตียงน้อย ภรรยาเข้าไปลูบหลัง พลางถามว่า นายท่านไม่สบายเป็นอะไรหรือ ? ถ้อยคำทั้งหมด พึงทราบโดยทำนองที่กล่าวแล้วในหนหลังนั่นแล.  เมื่อภรรยากล่าวว่า „ถ้าเช่นนั้น ดิฉันจะปรุงสุราให้พอแก่ท่านผู้เดียวเท่านั้น.“ เศรษฐีดำริว่า „เมื่อปรุงสุราในเรือน คนเป็นอันมากจักต้องมุงมอง ให้ไปซื้อมาจากร้านตลาดแต่ไม่อาจนั่งดื่มในที่นี้ได้จึงให้เงินไปประมาณมาสกหนึ่ง ให้ไปซื้อเหล้ามาจากตลาดขวด หนึ่ง ให้บ่าวถือออกไปจากเมือง ถึงฝั่งแม่น้ำ หลบเขาสู่พุ่มไม้พุ่มหนึ่ง ให้บ่าววางขวดเหล้าไว้แล้วกล่าวว่า เจ้าไปเถิด ให้บ่าวไปนั่งเสียไกล รินเหล้าใส่จอกเริ่มดื่มสุรา. 

ส่วนบิดาของเศรษฐี อิลลีสะนั้น เกิดเป็นท้าวสักกะในเทวโลก เพราะทำบุญทั้งหลายมีให้ทานเป็นต้น ขณะนั้นท้าวเธอดำริว่า „ทานของเรายังเป็นไปอยู่หรือไม่หนอ ครั้นเห็นทานไม่เป็นไปและเห็นบุตรทำลายสกุลวงษ์เสีย เผาโรงทาน ขับไล่พวกจายก ตั้งอยู่ในความตระหนี่ กำลังเข้าพุ่มไม้ดื่มเหล้าเพียงผู้เดียว เพราะกลัวว่า จักต้องให้แก่คนอื่น ๆ ทรงพระดำริว่า เราต้องไปขนาบทรมาน อิลลีสะนั้น ให้รู้ความสัมพันธ์แห่งกรรมและผลแห่งกรรมแล้วให้บำเพ็ญทาน ทำให้เขาเหมาะสมที่จะเกิดในเทวโลก“ ดังนี้แล้ว เสด็จลงมาสู่ถิ่นมนุษย์ทรงเนรมิต อัตภาพเป็นคนกระจอกง่อยและตาเหล่ เช่นเดียวกับเศรษฐีอิลลีสะ เข้าไปสู่พระนครพาราณสีหยุด ณ ทวารพระราชนิเวศน์ให้กราบทูลการที่ตนมา เมื่อได้รับพระบรมราชานุญาตว่า จงเข้ามาเถิด จึงเข้าไปถวายบังคมพระราชาแล้วยืนอยู่.

พระราชามีพระดำรัสถามว่า „ดูก่อนท่านมหาเศรษฐี เหตุไฉนท่านจึงมาผิดเวลาเล่า ?“ กราบทูลว่า „ขอเดชะใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทปกเกล้าข้าพระพุทธเจ้ามาโดยประสงค์ว่า ในเรือนของข้าพระพุทธเจ้ามีทรัพย์อยู่ประมาณ ๘๐ โกฏิ ขอพระองค์ได้โปรดให้ขนมาเข้าท้องพระคลังของพระองค์เถิด.“  พระราชารับสั่งว่า „อย่าเลยท่านมหาเศรษฐี ทรัพย์ในวังของเรา มีมากกว่า ทรัพย์ของท่าน.“ เขากราบทูลว่า „ขอเดชะ ถ้าพระองค์ไม่ต้องพระประสงค์ ข้าพระองค์จะจ่ายทรัพย์ให้ทานตามความพอใจ พระเจ้าข้า.“  พระราชารับสั่งว่า ให้เถิดท่านเศรษฐี. เขารับพระบรมราชานุญาตแล้วถวายบังคมพระราชา ออกไปสู่เรือนของอิลลีสเศรษฐี. พวกมนุษย์ผู้เป็นอุปัฏฐากทุกคนก็พากันแวดล้อม แม้คนหนึ่งที่จะสามารถรู้ว่า ท่านผู้นี้มิใช่อิลลีสเศรษฐี ไม่มีเลย. 

ครั้นท้าวสักกเทวราช เข้าสู่เรือนแล้ว ยืนที่ธรณีด้านในเรียกนายประตูมาสั่งว่า ผู้อื่นคนใดมีรูปคล้ายเราจะเข้ามาด้วยกล่าวว่า นี่เรือนของเรา พวกเจ้าพึงเฆี่ยนหลังคนนั้นแล้วไล่ ไปเสียแล้วขึ้นสู่ปราสาทนั่งเหนืออาสนะอันโออ่า ให้เชิญภรรยาท่านเศรษฐีมาหาแสดงอาการอย่างท่านเศรษฐีไม่มีผิดกล่าวว่า นางผู้เจริญเราให้ทานกันเถิด. ภรรยา บุตร ธิดาและทาสกรรมกรได้ยินถ้อยคำของท้าวเธอนั้นแล้ว พากันกล่าวว่า ตลอดกาลนานเห็นปานนี้ ความคิดที่จะให้ทานไม่มีเลย แต่วันนี้ดื่มสุราแล้ว เกิดใจดีอยากให้ทานเป็นแน่.   ทีนั้น ภรรยาท่านเศรษฐีจงกล่าวว่า „ท่านเจ้าคะ เชิญท่านให้ตามพอใจเถิด.“ ท้าวเธอกล่าวว่า „ถ้าเช่นนั้น เธอจงเรียกคนตีกลองมา ให้นำกลองไปเที่ยวตีประกาศทั่วพระนครว่า ผู้ที่ต้องการเงินทอง แก้วมณีและมุกดาเป็นต้น จงพากันไปสู่เรือนของอิลลีสเศรษฐี“ คนตีกลองได้กระทำอย่างนั้นแล้ว มหาชนต่างพากันถือภาชนะมีกระเช้ากระทอเป็นต้น ไปชุมนุมกันที่ประตูเรือน.   ท้าวสักกะทรงให้เปิดห้องอันเต็มไปด้วยรัตนะ ๗ ประการหลายห้องกล่าวว่า „เราขอให้แก่พวกท่านพวกท่านจงพากันขนเอาไปจนพอต้องการเถิด“ มหาชนพากันขนทรัพย์ออกไปกองไว้ที่พื้นโถง บรรจุลงภาชนะที่นำมาจนเต็มแล้วจึงพากันไป. 

ฝ่ายมนุษย์ชาวชนบทคนหนึ่ง เทียมโคคู่ของอิลลีสเศรษฐีที่รถของท่านนั่นแหละ บรรทุกเต็มไปด้วยรัตนะ ๗ ประการออกจากพระนครเดินไปตามทางหลวง ขับรถไปไม่ห่างพุ่มไม้นั้นขับไปพลาง กล่าวถึงคุณของท่านเศรษฐีไปพลางว่า „เจ้าพ่อคุณเอ๋ยท่านอิลลีสเศรษฐี จงมีชีวิตอยู่ถึงร้อยปีเถิด คราวนี้เรา ไม่ต้องทำการงานเลี้ยงชีพไปจนตลอดชีวิตแล้ว เพราะอาศัยท่านรถนี่ก็ของท่านโคคู่ก็เป็นของท่านเหมือนกัน แก้ว ๗ ประการก็ในเรือนของท่านมารดาเล่าก็มิได้ให้ บิดาก็มิได้ให้ เราได้เพราะอาศัยท่านแท้ ๆ".   อิลลีสเศรษฐี ฟังเสียงนั้นแล้ว เกิดกลัวหวาดผวาฉุกใจคิดว่า „คนผู้นี้เอาชื่อของเรามากล่าวอ้างถึงเรื่องนี้ ๆ พระราชาพระราชทานทรัพย์ของเราแก่ชาวโลกเสียละกระมังหนอ ? „ โผล่ออกจากพุ่มไม้ จำโคและรถได้ กล่าวตวาดว่า „เฮ้ยไอ้บ่าวชาติชั่ว โคก็ของกู รถก็ของกู“ พลางวิ่งไปจับโคที่สายตะพาย คหบดีก็ลงจากรถกล่าวว่า „เฮ้ย ! ไอ้บ่าวชั่วท่านอิลลีสเศรษฐีให้ทานแก่คนทั้งเมือง มึงเป็นอะไรเล่า“ พลางวิ่งไปหาทุบที่ต้นคอ เหมือนฟ้าฟาดแล้วดึงรถมาขับต่อไป ฝ่ายท่านอิลลีสเศรษฐีลุกขึ้นงันงก ปัดฝุ่นแล้ววิ่งไปยึดรถไว้อีก. 

คหบดีก็ลงจากรถ จิกผมให้ก้มลงถองด้วยศอก จับคอเหวี่ยงไปทางที่มาแล้วก็หลีกไป พอโดนเข้าอย่างนี้ ความเมาสุราของท่านเศรษฐีก็หายเป็นปลิดทิ้ง. งก ๆ เงิ่น ๆ เดินไปที่ประตูนิเวศน์อย่างรวดเร็ว เห็นมหาชนพากันขนทรัพย์ไป ก็ตะโกนว่า „พ่อคุณนี่มันเรื่องอะไรกัน พระราชารับสั่งให้มารุมปล้นทรัพย์ของข้าหรือไร ?“ แล้วไปจับคนนั้น ๆไว้ คนที่ถูกจับก็ช่วยกันประหารจนล้มลงใกล้เท้านั่นเอง.   เศรษฐีเจ็บปวดหนัก มุ่งจะเข้าเรือนพวกเฝ้าประตูพากันร้องว่า „เฮ้ย ไอ้คฤหบดีตัวร้าย มึงจะเข้าไปไหน ?“ พลางหวดด้วยเรียวไผ่ จับคอไสออกไป.   เศรษฐีคิดว่า „คราวนี้เว้นพระราชาแคว้น ใครอื่นที่จะเป็นที่พำนักของเราไม่มี“ แล้วไปสู่ราชสำนัก กราบทูลว่า „ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพพระองค์สั่งให้คนปล้นเรือนของข้าพระองค์หรือพระเจ้าข้า ?" 

พระราชารับสั่งว่า „ท่านเศรษฐี เราไม่ได้ให้ปล้น, ท่านนั่นแหละมาหาเราบอกว่า ถ้าพระองค์ไม่ทรงรับไว้ ข้าพระองค์จักให้ทรัพย์ของข้าพระองค์เป็นทาน ให้คนเที่ยวตีกลองป่าวร้องในพระนครแล้วได้ให้ทานมิใช่หรือ ?"   เขากราบทูลว่า "ขอเดชะข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ ข้าพระองค์มิได้มาสู่สำนักของพระองค์เลย พระองค์ไม่ทรงทราบความที่ข้าพระองค์เป็นคนตระหนี่ หรือพระเจ้าข้า ข้าพระองค์ไม่ยอมให้แม้หยดน้ำมันด้วยปลายหญ้าแก่ใคร ๆ ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ ขอได้ทรงพระกรุณาโปรดเรียกคนที่ให้ทานนั้นมาทรงพิจารณาเถิด พระเจ้าข้า“. 

พระราชารับสั่งให้เรียกท้าวสักกะมา ความแปลกกันของคนทั้งสอง พระราชาก็ทรงทราบไม่ได้เลย พวกอำมาตย์ก็ไม่ทราบท่านเศรษฐีผู้ตระหนี่กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพพระองค์ทรงจำไม่ได้หรือ พระเจ้าข้า ข้าพระองค์เป็นเศรษฐีคนนี้มิใช่เศรษฐี.“  พระราชารับสั่งว่า „เราจำไม่ได้ ยังมีใครที่พอจะจำท่านได้บ้างเล่า ?“ กราบทูลว่า „ภรรยาของข้าพระองค์ซิพระเจ้าข้า.“ มีพระกระแสรับสั่งให้ภรรยาเข้าเฝ้าแล้วตรัสถามว่า „สามีของเธอคนไหน ?“ นางกราบทูลว่า „คนนี้พระเจ้าข้า“ แล้วได้ยืนใกล้ท้าวสักกะนั่นเอง ,  เรียกบุตรบิดา ทาส กรรมกร มาถาม ทุกคนพากันยืนในสำนักของท้าวสักกะทั้งนั้น. 

ท่านเศรษฐีกลับคิดได้ว่า „ที่ศีรษะของเรามีปุ่มอยู่ ผมปิดไว้มิดชิด มีแต่ช่างกัลบกคนเดียวเท่านั้นที่รู้ปุ่มนั้น ต้องกราบทูลให้เรียกช่างกัลบกมา.“ คิดดังนี้แล้ว จึงกราบทูลว่า „ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพช่างกัลบกคงจำข้าพระองค์ได้ โปรดทรงพระกรุณาเรียกเขามาเถิด พระเจ้าข้า.“   ก็ในครั้งนั้น พระโพธิสัตว์ได้เป็นช่างกัลบกของท่านอิลลีสเศรษฐี พระราชามีพระกระแสรับสั่งให้เรียกท่านมาตรัสถามว่า „จำอิลลีสเศรษฐีได้ไหม ?“ ช่างกัลบกกราบทูลว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ ข้าพระองค์ตรวจดูศีรษะแล้วคงจำได้พระเจ้าข้า.“ ตรัสว่า "ถ้าเช่นนั้นท่านจงตรวจดู ศีรษะของคนทั้งสองเถิด.“ ทันใดนั้นท้าวสักกะก็บันดาลให้เกิดปุ่มขึ้นที่ศีรษะ.   พระโพธิสัตว์ตรวจดูศีรษะแม้ของคนทั้งสองก็เห็นปุ่ม (เหมือนกัน) จึงกราบทูลว่า "ข้าแต่มหาราชเจ้า ที่ ศีรษะของตนทั้งสอง ต่างมีปุ่มอยู่เหมือนกันในท่านทั้งสองนี้, ข้าพระองค์มิอาจจำได้ ถึงความเป็นตัวอิลลีสะสักคนเดียว“ แล้วกล่าวคาถานี้ว่า :-  „คนทั้งสอง เป็นคนกระจอก คนทั้งสอง เป็นคนค่อม คนทั้งสองมีนัยน์ตาเหล่ คนทั้งสองมีปุ่มเกิดที่ศีรษะ ข้าพระองค์ชี้ตัวอิลลีสะไม่ได้.“

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อุโภ ได้แก่ ชนแม้ทั้งสอง.  บทว่า ขญฺชา ได้แก่ มีเท้ากุด.  บทว่า กุณี ได้แก่ มีมือหงิก.  บทว่า วิสมจกฺขุกา ได้แก่ มีดวงตาไม่เสมอกัน อธิบายว่า มีตาเหล่.   บทว่า ปีฬกา ความว่า ที่ศีรษะแม้ของคนทั้งสองมีปุ่มเกิดขึ้นแล้วสองปุ่ม มีสัณฐานอย่างเดียวกัน อยู่ตำแหน่งเดียวกัน.   บทว่า นาหํ ปสฺสามิ ความว่า ช่างกัลบกทูลว่า ในท่านทั้งสองนี้ ข้าพระองค์ไม่ประจักษ์ว่า คนไหนเป็นอิลลีสะ คือไม่รู้ชัดความเป็นอิลลีสเศรษฐี แม้ของคน ๆหนึ่งท่านเศรษฐี ฟังคำของพระโพธิสัตว์แล้วเท่านั้น ตัวสั่นงันงก ไม่อาจตั้งสติไว้ได้ เพราะความโลภในทรัพย์ ล้มลงตรงนั้นเอง. 

ในขณะนั้น ท้าวสักกะกล่าวว่า "ดูก่อนมหาราช เราไม่ใช่อิลลีสะดอกเราเป็นท้าวสักกะ“ แล้วได้ประทับยืนอยู่ในอากาศด้วยท่าทางอันสง่า.   พวกอำมาตย์ ช่วยลูบหน้าท่านอิลลีสเศรษฐีแล้วราดด้วยน้ำ อิลลีสเศรษฐีรีบลุกขึ้นยืนไหว้ท้าวสักกะเทวราช.   ทันใดนั้น ท้าวสักกะกล่าวกะท่านเศรษฐีว่า „ก่อนอิลลีสะ ทรัพย์นี้เป็นของเรา ไม่ใช่ของท่านเพราะเราเป็นบิดาของท่านท่านเป็นบุตรของเรา เราทำบุญมีให้ทานเป็นต้น ถึงความเป็นท้าวสักกะ แต่เธอตัดวงษ์ของเราขาดสิ้น เป็นผู้ไม่ยอมให้ทาน ตั้งอยู่ในความตระหนี่ เผาโรงทาน ขับไล่พวกยาจก เอาแต่สั่งสมทรัพย์ บริโภคเองก็ไม่ยอมบริโภค ให้คนอื่นก็ไม่ให้ ทำตนเหมือนรากษสหวงสระน้ำ ถ้าเธอกลับสร้างโรงทานให้เป็นปกติแล้วให้ทานนั่นเป็นความฉลาด หากไม่ให้ทาน เราจักทำทรัพย์ของเธอให้อันตรธานไปจนหมดแล้วจักตีศีรษะด้วยอินทวัชระนี้ ให้สิ้นชีวิต“. 

อิลลีสเศรษฐีถูกคุกคามด้วยมหาภัยได้ให้ปฏิญญาว่า „ตั้งแต่บัดนี้ข้าพเจ้าจักให้ทาน.“  ท้าวสักกะรับปฏิญญาณของท่านเศรษฐีแล้ว ประทับนั่งในอากาศนั่นแลแสดงธรรม ชักนำให้เศรษฐีดำรงในศีลแล้วเสด็จไปสู่สถานของท้าวเธอ. แม้อิลลีสเศรษฐี ก็กระทำบุญให้ทานเป็นต้นได้เป็นผู้มีสวรรค์เป็นที่ไปในภายหน้า.

พระศาสดา จึงตรัสว่า „ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้น ที่โมคคัลลานะทรมานเศรษฐีตระหนี่ ถึงในครั้งก่อนก็ทรมานมาแล้วเหมือนกัน" ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้วทรงสืบอนุสนธิ ประชุมชาดกว่า อิลลีสเศรษฐีในครั้งนั้นได้มาเป็นเศรษฐีผู้มีความตระหนี่ในครั้งนี้ ท้าวสักกเทวราชได้มาเป็นโมคคัลลานะ พระราชาได้มาเป็นอานนท์ ส่วนช่างกัลบกได้มาเป็นเราตถาคต ฉะนี้แล.

ที่มา : Palipage : Guide to Language - Pali



Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: