ภีมเสนชาตกํ - ว่าด้วยคำแรกกับคำหลังไม่สมกัน
"ยํ เต ปวิกตฺถิตํ ปุเร, อถ เต ปูติสรา สชนฺติ ปจฺฉา; อุภยํ น สเมติ ภีมเสน, ยุทฺธกถา จ อิทญฺจ เต วิหญฺญนฺติ ฯ เมื่อก่อนนี้ ท่านพูดอวดเรา แต่ภายหลังเหตุไรท่านจึงถ่ายอุจจาระออกเล่า? ดูกรภีมเสน คำทั้ง ๒ ย่อมไม่สมกัน คือ คำที่พูดถึงการรบและบัดนี้, ท่านเดือดร้อนใจอยู่."
ภีมเสนชาดกอรรถกถา
พระบรมศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหารทรงปรารภภิกษุผู้มักโอ้อวดรูปหนึ่ง ตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า ยนฺเต ปวิกตฺถิตํ ปุเร ดังนี้.
ได้ยินว่า ภิกษุรูปหนึ่ง เที่ยวคุยโอ่ เย้ยหยัน หลอกลวงในกลุ่มภิกษุทั้งที่เป็นเถระ ทั้งที่เป็นนวกะและที่เป็นมัชฌิมะด้วยอำนาจสมบัติ มีชาติเป็นต้นว่า ผู้มีอายุทั้งหลาย ! ว่าถึงชาติกันละก็ไม่มีทางที่จะเสมอด้วยชาติของเรา, ว่าถึงโคตรก็ไม่มีที่จะเสมอด้วยโคตรของเรา พวกเราเกิดในตระกูลมหากษัตริย์ขึ้นชื่อเห็นปานนี้ ผู้ที่จะได้ชื่อว่าทัดเทียมกับเรา โดยโคตรหรือด้วยทรัพย์ หรือด้วยถิ่นฐานของตระกูล ไม่มีเลย, ทองเงินเป็นต้น ของพวกเรามีจนหาที่สุดมิได้ เพียงแต่พวกทาสกรรมกรของพวกเรา ก็พากันกินข้าวสุกที่เป็นเนื้อข้าวสาลี นุ่งผ้าที่มาจากแคว้นกาสีเป็นต้น ผัดเครื่องลูบไล้ที่มาแต่แคว้นกาสี เพราะเป็นบรรพชิตดอกเดี๋ยวนี้พวกเราถึงบริโภคโภชนะเศร้าหมองครองจีวรเลว ๆอย่างนี้.“
ครั้งนั้น ภิกษุรูปหนึ่ง สอบสวนถิ่นฐานแห่งตระกูลของเธอได้แน่นอน ก็กล่าวความที่เธอคุยโอ้อวดนั้นแก่พวกภิกษุ พวกภิกษุประชุมกันในธรรมสภา พากันพูดถึงโทษมิใช่คุณของเธอว่า „ผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุโน้นบวชแล้วในพระศาสนา อันจะนำออกจากทุกข์ได้เห็นปานฉะนี้ ยังจะเที่ยวคุยโอ่เย้ยหยัน หลอกลวงอยู่ได้“ พระบรมศาสดาเสด็จมาตรัสถามว่า „ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัดนี้พวกเธอประชุมสนทนากันด้วยเรื่องอะไรเล่า ?“ เมื่อภิกษุทั้งหลายกราบทูลให้ทรงทราบแล้ว ตรัสว่า „ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้น ที่ภิกษุนั้นเที่ยวคุยโอ่ถึงในครั้งก่อน ก็เคยเที่ยวคุยโอ่ เย้ยหยัน หลอกลวงมาแล้ว“ ดังนี้แล้ว ทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้ :- ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี #พระโพธิสัตว์บังเกิดในสกุลอุทิจจพราหมณ์ในนิคมคามตำบลหนึ่ง เจริญวัยแล้วเล่าเรียนไตรเพท อันเป็นที่ตั้งแห่งวิชชา ๑๘ ประการ ในสำนักอาจารย์ทิศาปาโมกข์ณ เมืองตักกสิลา ถึงความสำเร็จศิลปะทุกประการได้นามว่า จูฬธนุคคหบัณฑิต. พระโพธิสัตว์นั้น ออกจากตักกสิลานคร เสาะแสวงหา ศิลปะในลัทธิสมัยทุกอย่าง ลุถึงมหิสกรัฐ ก็ในชาดกนี้ นัยว่า พระโพธิสัตว์มีร่างกายเตี้ยอยู่หน่อย ท่าทางเหมือนค่อม, พระโพธิสัตว์ดำริว่า „ถ้าเราจักเฝ้าพระราชาองค์ใดองค์หนึ่ง ท้าวเธอจักกล่าวว่า เจ้ามีร่างกายเตี้ยอย่างนี้ จักทำราชการได้หรือ? อย่ากระนั้นเลยเราหาคนที่สมบูรณ์ด้วยความสูง ความล่ำสันรูปงามสักคนหนึ่งทำเป็นโล่ห์แล้วก็เลี้ยงชีวิตอยู่หลังฉากของคนผู้นั้น“ คิดแล้วก็เที่ยวเสาะหาชายที่มีรูปร่างอย่างนั้น ไปถึงที่ทอหูกของช่างหูกผู้หนึ่งชื่อว่าภีมเสน ทำปฏิสันถารกับเขา พลางถามว่า „สหายเธอชื่อไร ?“ เขาตอบว่า „ฉันชื่อภีมเสน.“
จูฬ. „ก็เธอเป็นผู้มีรูปงาม สมประกอบทุกอย่างอย่างนี้จะกระทำงานเลว ๆ ต่ำ ๆ นี้ทำไม ?" ภีมเสน. „ฉันไม่อาจอยู่เฉย ๆ ได้ (โดยไม่ทำงาน)“ จูฬ. "สหายเอ๋ย อย่าทำงานนี้เลย, ในชมพูทวีปทั้งสิ้นจะหานายขมังธนูที่พอจะทัดเทียมกับฉันไม่มีเลย, แต่ถ้าเราเข้าเฝ้าพระราชาองค์ไหน ท้าวเธอน่าจะกริ้วฉันได้ว่า เจ้านี่เตี้ย ๆอย่างนี้จะทำราชการได้อย่างไรกัน, เธอพึงไปเฝ้าพระราชากราบทูลว่า „ข้าพระองค์เป็นนายขมังธนู“ ดังนี้ พระราชาจักพระราชทานบำเหน็จให้เธอแล้ว พระราชทานเบี้ยเลี้ยงเนือง ๆ, ฉันจะคอยทำงานที่เกิดขึ้นแก่เธอ, ขออาศัยดำรงชีพอยู่เบื้องหลังเงาของเธอ, ด้วยวิธีอย่างนี้เราทั้งสองคนก็จักเป็นสุขท่านจงทำตามคำของเรา“ ภีมเสนตกลงรับคำ.
จูฬธนุคคหบัณฑิตจึงพาเขาไป พระนครพาราณสี กระทำตนเองเป็นผู้ปรนนิบัติ ยกเขาขึ้นหน้าหยุดยืนที่ประตูพระราชฐาน ให้กราบทูลพระราชา ครั้นได้รับพระบรมราชานุญาตว่า „พากันมาเถิดแล้ว“ ทั้งสองคนก็เข้าไปถวายบังคมพระราชาแล้วยืนอยู่ ครั้นมีพระราชดำรัสว่า „เจ้าทั้งสองพากันมาทำไม“ ภีมเสนจึงกราบทูลว่า "ข้าพระองค์เป็นนายขมังธนู ทั่วพื้นชมพูทวีป จะหานายขมังธนูที่ทัดเทียมกับข้าพระองค์ไม่มีเลย.“ รับสั่งถามว่า „ดูก่อนพนายเจ้าได้อะไรถึงจักบำรุงเรา ?“ กราบทูลว่า "เมื่อได้พระราชทรัพย์พันกระษาปณ์ทุก ๆ กึ่งเดือน จึงจะขอเข้ารับราชการ พระเจ้าข้า.“ รับสั่งถามว่า „ก็บุรุษนี้เล่าเป็นอะไรของเจ้า ?“ กราบทูลว่า „เป็นผู้ปรนนิบัติ พระเจ้าข้า.“ รับสั่งว่า „ดีละ จงบำรุงเราเถิด.“ จำเดิมแต่นั้น ภีมเสนก็เข้ารับราชการ แต่ราชกิจที่เกิดขึ้นแล้ว พระโพธิสัตว์จักทำแต่ผู้เดียว.
ก็โดยสมัยนั้น ที่แคว้นกาสี ณ ป่าแห่งหนึ่ง มีเสือร้ายสะกัดทางสัญจรของพวกมนุษย์ จับเอาพวกมนุษย์ไปกินเสียเป็นอันมาก. ชาวเมืองพากันกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระราชา. พระราชารับสั่งให้ภีมเสนเข้าเฝ้า ตรัสถามว่า „พ่อคุณพ่ออาจจักจับเสือตัวนี้ได้ไหม ?“ ภีมเสนกราบทูลว่า "ขอเดชะข้าพระองค์ไม่อาจจับเสือได้ จะได้ชื่อว่านายขมังธนูได้อย่างไร ?“ พระราชาพระราชทานรางวัลแก่เขาแล้วทรงส่งไป เขาไปถึง เรือนบอกแก่พระโพธิสัตว์. พระโพธิสัตว์กล่าวว่า „ดีแล้ว เพื่อนไปเถิด.“ ภีมเสนถามว่า „ก็ท่านเล่าไม่ไปหรือ ?“ พระโพธิสัตว์ตอบว่า „ฉันไม่ไปดอกแต่จักบอกอุบายให้“ ภีมเสนกล่าวว่า „จงบอกเถิดเพื่อน.“
พระโพธิสัตว์กล่าวว่า „ท่านอย่ารีบไปที่อยู่ของเสือลำพังผู้เดียวเป็นอันขาด, แต่ต้องประชุมชาวชนบทเกณฑ์ให้ถือธนูไปสักพันหรือสองพันแล้วไปที่เสืออยู่นั้น พอรู้ว่า เสือมันลุกขึ้น ต้องรีบหนีเข้าพุ่มไม้พุ่มหนึ่งนอนหมอบ, ส่วนพวกชนบทจะพากันรุมตีเสือจนจับได้ ครั้นพวกนั้นจับเสือได้แล้วท่านต้องเอาฟันกัดเถาวัลย์เส้นหนึ่ง จับปลายเดินไปที่นั้น ถึงที่ ใกล้ ๆเสือตายแล้วพึงกล่าวว่า „พ่อคุณเอ๋ย ใครทำให้เสือตัวนี้ตายเสียเล่า?, เราคิดว่า จักผูกเสือด้วยเถาวัลย์ เหมือนเขาผูกวัวจูงไปสู่ราชสำนักให้จงได้ เข้าไปสู่พุ่มไม้เพื่อหาเถาวัลย์ เมื่อเรายังไม่ทันได้นำเถาวัลย์มา ใครฆ่าเสือตัวนี้ให้ตายเสียเล่า?, เมื่อเป็นเช่นนี้ ชาวชนบทเหล่านั้นต้องสะดุ้งกลัวกล่าวว่า „เจ้านายขอรับ โปรดอย่ากราบทูลพระราชาเลย“ จักพากันให้ทรัพย์มากเสือก็จักเป็นอันแกคนเดียวจับได้ ทั้งยังจักได้ทรัพย์เป็นอันมากจากสำนักพระราชาอีกด้วย“, ภีมเสนรับคำว่า „ดีจริง ๆ“ แล้วไปจับเสือ ตามแนวที่พระโพธิสัตว์แนะให้นั่นแหละ ทำป่าให้ปลอดภัยแล้ว มีมหาชนห้อมล้อมมาสู่พระนครพาราณสี เข้าเฝ้าพระราชากราบทูลว่า „ขอเดชะ ข้าพระองค์จับเสือได้แล้ว ทำป่าให้ปลอดภัยแล้ว" พระราชาทรงยินดี พระราชทานทรัพย์ให้มากมาย.
ครั้นต่อมา ในวันรุ่งขึ้น พวกชาวเมืองพากันมากราบทูลว่า „กระบือดุ สะกัดทางแห่งหนึ่ง“ พระราชาก็ส่งภีมเสนไป โดยทำนองเดียวกัน เขาก็จับกระบือแม้นั้นมาได้ ด้วยคำแนะนำที่พระโพธิสัตว์บอกให้ เหมือนกับตอนจับเสือฉะนั้น. พระราชาก็ได้พระราชทานทรัพย์ให้เป็นอันมากอีก. เกิดมีอิสสริยยศใหญ่ยิ่ง เขาเริ่มมัวเมาด้วยความมัวเมาในความใหญ่โต กระทำการดูหมิ่นพระโพธิสัตว์มิได้เชื่อถือถ้อยคำของพระโพธิสัตว์ กล่าวคำหยาบคายสามหาวเป็นต้นว่า „เราไม่ได้อาศัยท่านเลี้ยงชีพดอกท่านคนเดียวเท่านั้นหรือที่เป็นลูกผู้ชาย.“ ครั้นอยู่ต่อมา ไม่กี่วัน พระราชาประเทศใกล้เคียงพระองค์หนึ่ง ยกทัพมาล้อมประชิดพระนครพาราณสีไว้ พลางส่งพระราชสาสน์ถวายพระราชาว่า „พระองค์จักยอมถวายราชสมบัติแก่หม่อมฉัน หรือว่า จักรบ.“ พระราชาทรงส่งภีมเสนออกไปว่า „เจ้าจงออกรบ“ เขาสอดสวมเครื่องรบครบครัน ครองเพศเป็นพระราชา นั่งเหนือหลังช้างอันผูกเครื่องเรียบร้อย. แม้พระโพธิสัตว์ก็สอดสวมเครื่องรบพร้อมสรรพ นั่งกำกับมาท้ายที่นั่งของภีมเสนนั่นเอง เพราะกลัวเขาจะตาย.
พญาช้างห้อมล้อมด้วยมหาชน เคลื่อนขบวนออกโดยประตูพระนคร ลุถึงสนามรบภีมเสนพอได้ฟังเสียงกลองรบเท่านั้น ก็เริ่มสั่นสะท้าน พระโพธิสัตว์คิดว่า „น่ากลัวภีมเสนจักตกหลังช้างตายเสียในบัดดล“ จึงเอาเชือกรัดภีมเสนเข้าไว้แน่น เพื่อไม่ให้ตกช้าง. ภีมเสน ครั้นเห็นสนามรบแล้วยิ่งกลัวตายเป็นกำลัง ถึงกับอุจจาระปัสสาวะราดรดหลังช้าง. พระโพธิสัตว์กล่าวว่า „ภีมเสนเอยการกระทำในตอนหลัง ช่างไม่สมกับคำพูดครั้งก่อน ๆ ของท่านเสียเลย ครั้งก่อนดูท่านใหญ่โตราวกับผู้เจนสงคราม เดี๋ยวนี้สิประทุษร้ายหลังช้างเสียแล้ว“ กล่าวคาถานี้ ใจ ความว่า :- „ภีมเสนเอย ที่ท่านคุยโอ่ไว้แต่ก่อนแล้ว ภายหลังกลับปล่อยอุจจาระไหลออกมา คำคุย ถึงการรบ กับความกระสับกระส่ายของท่านดูช่างไม่สมกันเลย.“
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ยนฺเต ปวิกตฺถิตํ ปุเร ความว่า คำใด คือคำที่ท่านโอ้อวดกล่าวคำข่มไว้แต่ก่อนว่า แกคนเดียวหรือที่เป็นลูกผู้ชาย ข้าไม่ใช่ลูกผู้ชายหรือ แม้ถึงข้าก็เป็นทหารชำนาญศึก ดังนี้นี้เป็นคำก่อนหนึ่งละ. บทว่า อถ เต ปูติสรา สชํ ความว่า ครั้นภายหลัง กระแสมูตรและคูถ อันได้นามว่ากระแสเน่า เพราะมันเป็นของเน่าด้วยเป็นของไหลได้ด้วยเหล่านี้นั้น ไหลเลอะเทอะออกมา. บทว่า ปจฺฉา ได้แก่ ในเวลาต่อมา จากที่คุยอวดไว้ก่อนนั้นอธิบายว่า ในบัดนี้ คือที่ สนามรบนี้. บทว่า อุภยํ น สเมติ ภีมเสน ความว่า ดูก่อนภีมเสนคำทั้งสองนี้ ดูช่างไม่สมกันเลย. คำไหนบ้าง ? คือคำที่คุยโอ่ถึงการรบ กับความกระสับกระส่ายของท่านนี้. มีอธิบายว่าได้แก่ คำที่กล่าวถึงการรบที่พูดไว้ครั้งก่อนกับความกระสับกระส่าย ความลำบาก คือความคับแค้นถึงกับปล่อยคูถและมูตรราดรดหลังช้างไม่สมกันเลย.
พระโพธิสัตว์ ตำหนิเขาอย่างนี้แล้ว ปลอบว่า „อย่ากลัวเลย เพื่อนเอ๋ย เมื่อเรายังอยู่ จะเดือดร้อนไปใย“ ดังนี้แล้ว ให้ภีมเสนลงเสียจากหลังช้างกล่าวว่า „จงไปอาบน้ำเถิด“ ส่งกลับไปดำริว่า „วันนี้เราควรแสดงตนแล้วไสช้างเข้าสู่สนามรบ" บรรลือสีหนาท โจมตีกองพลแตก ให้ล้อมจับเป็นพระราชาผู้เป็นศัตรูไว้ได้แล้วไปเฝ้าพระเจ้าพาราณสี. พระราชาทรงยินดี พระราชทานยศใหญ่แก่พระโพธิสัตว์. จำเดิมแต่นั้นมานามว่าจูฬธนุคคหบัณฑิต ก็กระฉ่อนไปในชมพูทวีปทั้งสิ้น.
พระโพธิสัตว์ได้ให้บำเหน็จแก่ภีมเสนแล้วส่งกลับถิ่นฐานเดิม กระทำบุญมีให้ทานเป็นต้นแล้วก็ไปตามยถากรรม. พระบรมศาสดาจึงตรัสว่า „ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้น ที่ภิกษุนี้คุยโอ้อวด แม้ในกาลก่อนก็ได้คุยโอ้อวดแล้วเหมือนกัน“ ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้วทรงสืบอนุสนธิประชุมชาดกว่า ภีมเสนในครั้งนั้นได้มาเป็นภิกษุผู้มักโอ้อวด ส่วนจูฬธนุคคหบัณฑิตได้มาเป็นเราตถาคตฉะนี้แล. จบอรรถกถาภีมเสนชาดกที่ ๑๐. จบวรุณวรรคที่ ๘
CR: หมายเหตุ ข้อมูลที่มา ภาษาบาฬี จากเว็บไซต์ tipitaka.org คำแปลจาก ฉบับมหิดล, ฉบับสยามรัฐ, ฉบับมหาเถรสมาคม เป็นต้น, ส่วนอรรถกถาแปลโดยมากจากฉบับมหาจุฬาฯ.
ที่มา : Palipage : Guide to Language - Pali
0 comments: