วันอังคารที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

ว่าด้วยความชนะที่ดี (บัณฑิตจอบกุด)

ว่าด้วยความชนะที่ดี (บัณฑิตจอบกุด)

" น  ตํ  ชิตํ  สาธุ  ชิตํ,  ยํ  ชิตํ  อวชียติ;     ตํ  โข  ชิตํ  สาธุ  ชิตํ,  ยํ  ชิตํ  นาวชียตีติ ฯ  ความชนะใดกลับแพ้ได้ ความชนะนั้นเป็นความชนะไม่ดี, ความชนะใดไม่กลับแพ้ ความชนะนั้นแลเป็นความชนะที่ดี "

กุททาลชาดกอรรถกถา

พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหารทรงปรารภพระจิตหัตถสารีบุตร ตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า น ตํ ชิตํ สาธุ ชิตํ ดังนี้.

ได้ยินว่า พระจิตหัตถสารีบุตร เป็นเด็กที่เกิดในตระกูลผู้หนึ่งในพระนครสาวัตถี อยู่มาวันหนึ่งไถนาแล้ว ขากลับเข้าไปสู่วิหารได้โภชนะประณีตอร่อย มีรสสนิทจากบาตรพระเถระองค์หนึ่ง คิดว่า „ถึงแม้เราจะกระทำงานต่าง ๆ ด้วยมือของตนตลอดคืนตลอดวัน ก็ยังไม่ได้อาหารอร่อยอย่างนี้, แม้เราก็สมควรจะเป็นสมณะ“ ดังนี้.   เขาบวชแล้วอยู่มาได้ประมาณครึ่งเดือนเมื่อไม่ใส่ใจโดยแยบคาย ตกไปในอำนาจกิเลส สึกไป พอลำบาก ด้วยอาหารก็มาบวชอีก เรียนพระอภิธรรม ด้วยอุบายนี้ สึกแล้วบวชถึง ๖ ครั้ง ในความเป็นภิกษุครั้งที่ ๗ เป็นผู้ทรงพระอภิธรรม ๗ พระคัมภีร์ได้บอกธรรมแก่ภิกษุเป็นอันมากบำเพ็ญวิปัสสนาได้บรรลุพระอรหัตถ์แล้ว.  ครั้งนั้น ภิกษุผู้เป็นสหายของท่านพากันเยาะเย้ยว่า „อาวุโส จิตหัตถ์ เดี๋ยวนี้กิเลส. ทั้งหลายของเธอ ไม่เจริญ เหมือนเมื่อก่อนดอกหรือ ?“ ท่านตอบว่า „ผู้มีอายุ ตั้งแต่บัดนี้ไป ผมไม่เหมาะเพื่อความเป็นคฤหัสถ์“   ก็เมื่อท่านบรรลุพระอรหัตอย่างนี้แล้ว เกิดโจทย์กันขึ้น ในธรรมสภาว่า „ผู้มีอายุทั้งหลาย เมื่ออุปนิสัยแห่งพระอรหัตเห็นปานนี้มีอยู่ท่านพระจิตหัตถสารีบุตร ต้องสึกถึง ๖ ครั้งโอ ! ความเป็นปุถุชน มีโทษมาก“ ดังนี้.  

พระศาสดาเสด็จมาแล้วตรัสถามว่า „ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ พวกเธอสนทนากันด้วยเรื่องอะไร ?“ เมื่อภิกษุทั้งหลายกราบทูลให้ทรงทราบแล้ว ตรัสว่า „ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ขึ้นชื่อว่าจิตของปุถุชน เมา ข่มได้ยากคอยไปติดด้วยอำนาจแห่งอารมณ์ ลงติดเสียครั้งหนึ่งแล้ว ก็ไม่อาจปลดเปลื้องได้โดยเร็ว การฝึกฝนจิตเห็นปานนี้ เป็นความดี, จิตที่ฝึกฝนดีแล้วเท่านั้น จะนำประโยชน์เกื้อกูลและความสุขมาให้“ แล้วตรัสพระคาถานี้ว่า :-  „การฝึกฝนจิต ที่ข่มได้ยาก เมา มีปกติ ตกไปตามอารมณ์ที่ปรารถนาเป็นการดี เพราะจิต ที่ฝึกฝนแล้ว ย่อมนำสุขมาให้“. 

ครั้นแล้วตรัสต่อไปว่า „ก็เพราะเหตุที่จิตนั้นข่มได้โดยยากบัณฑิตทั้งหลาย แม้ในกาลก่อน อาศัยจอบเล่มเดียว ไม่อาจทิ้งมันได้ ต้องสึกถึง ๖ ครั้ง ด้วยอำนาจความโลภ ในเพศแห่งบรรพชิตครั้งที่ ๗ ทำฌานให้เกิดขึ้นแล้วจึงข่มความโลภนั้นได้“ ดังนี้แล้ว ทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้ :-   ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี  พระโพธิสัตว์เกิดในตระกูลคนปลูกผัก ถึงความเป็นผู้รู้เดียงสาแล้วได้นามว่ากุททาลบัณฑิตท่านกุททาลบัณฑิต กระทำการฟื้นดินด้วยจอบ เพาะปลูกพืชพันธ์และผัก มีน้ำเต้า ฟักเขียวฟักเหลืองเป็นต้น เก็บผักเหล่านั้นขาย เลี้ยงชีพด้วยการเบียดกรอ.   แท้จริงท่านกุททาลบัณฑิต นอกจากจอบเล่มเดียวเท่านั้น ทรัพย์สมบัติอย่างอื่นไม่เลย. ครั้นวันหนึ่งท่านดำริว่า „จะมีประโยชน์อะไรด้วยการอยู่ครั้งเรือน เราจักบวช“ ดังนี้. ครั้นวันหนึ่งท่านซ่อนจอบนั้นไว้ ในที่ซึ่งมิดชิดแล้วบวชเป็นฤาษี ครั้นหวลนึกถึงจอบเล่มนั้นแล้ว ก็ไม่อาจตัดความโลภเสียได้เลยต้องสึก เพราะอาศัยจอบกุด ๆ เล่มนั้น. 

แม้ครั้งที่ ๒ แม้ครั้งที่ ๓ ก็เป็นอย่างนี้ เก็บจอบนั้นไว้ในที่มิดชิด บวช ๆ สึก ๆรวมได้ถึง ๖ ครั้ง ในครั้งที่ ๗ ได้คิดว่า „เราอาศัยจอบกุด ๆ เล่มนี้ ต้องสึกบ่อยครั้ง คราวนี้เราจักขว้างมันทิ้งเสียในแม่น้ำใหญ่แล้วบวช“ ดังนี้แล้ว เดินไปสู่ฝั่งแม่น้ำ คิดว่า „ถ้าเรายังเห็นที่ตกของมัน ก็จักต้องอยากงมมันขึ้นมาอีก“ แล้วจับจอบที่ด้ามท่านมีกำลังดังช้างสาร สมบูรณ์ด้วยเรี่ยวแรงควงจอบเหนือศีรษะ ๓ รอบ หลับตาขว้างลงไปกลางแม่น้ำแล้วบรรลือเสียงกึกก้อง ๓ ครั้งว่า „เราชนะแล้ว เราชนะแล้ว“.  ในขณะนั้น พระเจ้าพาราณสีทรงปราบปรามปัจจันตชนบทราบคาบแล้ว เสด็จกลับทรงสนานพระเศียรในในแม่น้ำนั้น ประดับพระองค์ด้วยเครื่องอลังการครบเครื่อง เสด็จพระดำเนินโดยพระคชาธารทรงสดับเสียงของพระโพธิสัตว์นั้นทรงระแวงพระทัยว่า „บุรุษผู้นี้กล่าวว่า เราชนะแล้ว ใครเล่าที่เขาชนะจงเรียกเขามาแล้วมีพระดำรัสสั่งให้เรียกมาเฝ้าแล้วมีพระดำรัสถามว่า ดูก่อนบุรุษผู้เจริญ เรากำลังชนะสงคราม กำความมีชัยมาเดี๋ยวนี้ ส่วนท่านเล่าชนะอะไร ?“ 

พระโพธิสัตว์กราบทูลว่า "ข้าแต่มหาราช ถึงพระองค์จะทรงชนะสงครามตั้งร้อยครั้งตั้งพันครั้ง แม้ตั้งแสนครั้ง ก็ยังชื่อว่าชนะไม่เด็ดขาดอยู่นั่นเอง เพราะยังเอาชนะกิเลสทั้งหลายไม่ได้ แต่ข้าพระองค์ข่มกิเลสในภายในไว้ได้ เอาชนะกิเลสทั้งหลายได้“ กราบทูลไปมองดูแม่น้ำไป ยังฌานมีอาโปกสิณเป็นอารมณ์ ให้เกิดขึ้นแล้วนั่งในอากาศด้วยอำนาจของฌานและสมาบัติ เมื่อจะแสดงธรรมถวายพระราชา จึงกล่าวคาถานี้ว่า :- „ความชนะที่บุคคลชนะแล้ว กลับแพ้ได้นั้น มิใช่ความชนะเด็ดขาด (ส่วน) ความชนะ ที่บุคคลชนะแล้ว ไม่กลับแพ้นั้นต่างหาก จึงชื่อว่าเป็นความชนะเด็ดขาด“. 

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า  น ตํ ชิตํ สาธุ ชิตํ ยํ ชิตํ อวชิยฺยติ  ความว่า การปราบปรามปัจจามิตร ราบคาบชนะแว่นแคว้น ตีเอาได้แล้ว ปัจจามิตรเหล่านั้นยังจะตีกลับคืนได้ความชนะนั้นจะชื่อว่าเป็นความชนะเด็ดขาดหาได้ไม่ เพราะเหตุไร ? เพราะยังจะต้องชิงชัยกันบ่อย ๆ.   อีกนัยหนึ่ง ชัยเรียกได้ว่า ความชนะ ชัยที่ได้เพราะรบกับปัจจามิตร ต่อมา เมื่อปัจจามิตรเอาชนะคืนได้ ก็กลับเป็นปราชัย ชัยนั้นไม่ดีไม่งาม เพราะเหตุไร ? เพราะเหตุที่ยังกลับเป็นปราชัยได้อีก.   บทว่า ตํ โข ชิตํ สาธุ ชิตํ ยํ ชิตํ นาวชิยฺยติ ความว่า ส่วนการครอบงำมวลปัจจามิตรไว้ได้แล้วชนะ ปัจจามิตรเหล่านั้นจะกลับชิงชัยไม่ได้อีก ใด ๆก็ดี การได้ชัยชนะครั้งเดียวแล้วไม่กลับเป็นปราชัยไปได้ ใด ๆก็ดี ความชนะนั้น ๆเป็นความชนะเด็ดขาด คือชัยชนะนั้นชื่อว่าดีชื่อว่างาม. เพราะเหตุไร ? เพราะเหตุที่ไม่ต้องชิงชัยกันอีก.  ดูก่อนมหาบพิตร เพราะเหตุนั้น แม้พระองค์จะทรงชนะ ขุนสงคราม ตั้งพันครั้ง ตั้งแสนครั้งก็ยังจะเฉลิมพระนามว่าจอมทัพ หาได้ไม่. เพราะเหตุใด ? เพราะเหตุที่พระองค์ยังทรงชนะกิเลสของพระองค์เองไม่ได้ ส่วนบุคคลใด ชนะกิเลสภายในของตนได้ แม้เพียงครั้งเดียวบุคคลนี้ จัดเป็นจอมทัพผู้เกรียงไกรได้.

พระโพธิสัตว์นั่งในอากาศนั่นแลแสดงธรรมถวายพระราชาด้วยพระพุทธลีลาก็ในความเป็นจอมทัพผู้สูงสุดนั้น มีพระสูตร์เป็นเครื่องสาธกดังนี้ :-  „ผู้ที่ชนะหมู่มนุษย์ในสงคราม ถึงหนึ่ง ล้านคน ยังสู้ผู้ที่ชนะตนเพียงผู้เดียวไม่ได้ ผู้นั้น เป็นจอมทัพสูงสุด โดยแท้“.   ก็เมื่อพระราชาทรงสดับธรรมอยู่นั่นเองทรงละกิเลสได้ด้วยอำนาจ ตทังคปหาน พระทัยน้อมไปในบรรพชา. ถึงพวกหมู่โยธาของพระองค์ ก็พากันละได้เช่นนั้นเหมือนกัน.  พระราชาตรัสถามพระโพธิสัตว์ว่า „บัดนี้พระคุณเจ้าจักไปไหนเล่า ?“ พระโพธิสัตว์กราบทูลว่า „ข้าแต่มหาราช ข้าพระองค์จักเข้าป่าหิมพานต์บวชเป็นฤๅษี“.   พระราชารับสั่งว่า „ถ้าเช่นนั้น แม้ข้าพเจ้าก็จะบรรพชา“ แล้วเสด็จพระราชดำเนินไปพร้อมกับพระโพธิสัตว์. พลนิกายทั้งหมด คือ พราหมณ์คฤหบดีและทวยหาญ ทุกคนประชุมกันในขณะนั้น เป็นมหาสมาคมออกบรรพชา พร้อมกับพระราชาเหมือนกัน. 

ชาวเมืองพาราณสี สดับข่าวว่า „พระราชาของเราทั้งหลายทรงสดับพระธรรมเทศนาของกุททาลบัณฑิตแล้วทรงบ่ายพระพักตร์ มุ่งบรรพชา เสด็จออกทรงผนวชพร้อมด้วยพลนิกาย พวกเราจักทำอะไรกันในเมืองนี้“ ดังนี้แล้ว บรรดาผู้อยู่ในพระนครทั้งนั้นต่างพากันเดินทางออกจากกรุงพาราณสี อันมีปริมณฑลได้๑๒ โยชน์. บริษัทก็ได้มีปริมณฑล ๑๒ โยชน์.  พระโพธสัตว์พาบริษัทนั้นเข้าป่าหิมพานต์. ในขณะนั้นอาสนะที่ประทับนั่งของท้าวสักกเทวราช สำแดงอาการร้อน. ท้าวเธอทรงตรวจดู ทอดพระเนตรเห็นว่า กุททาลบัณฑิต ออกสู่มหาภิเนกษกรมแล้วทรงพระดำริว่า จักเป็นมหาสมาคม ควรที่ท่านจะได้สถานที่อยู่แล้วตรัสเรียกวิสสุกรรมเทพบุตรมา ตรัสสั่งว่า „พ่อวิสสุกรรม กุททาลบัณฑิตกำลังออกสู่มหาภิเนกษกรม ท่านควรจะได้ที่อยู่ท่านจงไปหิมวันตประเทศ เนรมิตอาศรมบทยาว ๓๐ โยชน์ กว้าง ๑๕ โยชน์ ณ ภูมิภาคอันราบรื่น". 

วิสสุกรรมเทพบุตร „รับเทวบัญชาว่า ข้าแต่เทพยเจ้า ข้าพระพุทธเจ้าจะกระทำให้สำเร็จดังเทวบัญชา“ แล้วไปทำตามนั้นนี้เป็นความสังเขปในอธิการนี้. ส่วนความพิสดาร จักปรากฏในหัตถิปาลชาดกแท้จริงเรื่องนี้และเรื่องนั้น เป็นปริเฉทเดียวกันนั่นเอง.  ฝ่ายวิสสุกรรมเทพบุตร เนรมิตบรรณศาลาในอาศรมบทแล้ว ก็ขับไล่ เนื้อ นกและอมนุษย์ที่มีเสียงชั่วร้ายไปเสียแล้วเนรมิต หนทางเดินแคบ ๆ ตามทิสาภาคนั้น ๆเสร็จแล้ว เสด็จกลับไปยังวิมานอันเป็นสถานที่อยู่ของตนทันที. 

ฝ่ายกุททาลบัณฑิต พาบริษัทเข้าสู่ป่าหิมพานต์ ลุถึงอาศรมบทที่ท้าวสักกะทรงประทาน ถือเอาเครื่องบริขารแห่งบรรพชิต ที่วิสสุกรรมเทพบุตรเนรมิตไว้ให้ บวชตนเองก่อนให้บริษัทบวชทีหลัง จัดแจงแบ่งอาศรมบทให้อยู่กันตามสมควรมีพระราชาอีก ๗ พระองค์ สละราชสมบัติ ๗ พระนคร (ติดตามมาทรงผนวชด้วย) อาศรมบท ๓๐ โยชน์ เต็มบริบูรณ์. กุททาลบัณฑิต ทำบริกรรมในกสิณที่เหลือ เจริญพรหมวิหารธรรมบอกกรรมฐานแก่บริษัท. บริษัททั้งปวง ล้วนได้สมาบัติ เจริญพรหมวิหารแล้ว พากันไปสู่พรหมโลกทั่วกัน. ส่วนประชาชนที่บำรุงพระดาบสเหล่านั้นก็ล้วนได้ไปสู่เทวโลก. 

พระบรมศาสดา ก็ตรัสว่า „ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ขึ้นชื่อว่าจิตนี้ ติดด้วยอำนาจของกิเลสแล้ว เป็นธรรมชาติปลดเปลื้องได้ยาก โลภธรรมทั้งหลายที่เกิดแล้ว เป็นสภาวะละได้ยากย่อมกระทำท่านผู้เป็นบัณฑิตเห็นปานฉะนี้ ให้กลายเป็นคนไม่มีความรู้ไปได้ ด้วยประการฉะนี้“   ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้วทรงประกาศสัจจะทั้งหลาย เมื่อจบสัจจะภิกษุทั้งหลายบางพวกได้เป็นพระโสดาบัน บางพวกได้เป็นพระสกทาคามีบางพวกได้เป็นพระอนาคามีบางพวกบรรลุพระอรหัต แม้พระบรมศาสดาทรงสืบอนุสนธิประชุมชาดกว่า „พระราชาในครั้งนั้นได้มาเป็นพระอานนท์ บริษัทในครั้งนั้นได้มาเป็นพุทธบริษัท ส่วนกุททาลกบัณฑิตได้มาเป็นเราตถาคต ฉะนี้แล. 

ที่มา : Palipage : Guide to Language - Pali


Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: