๏ งานรับจ้าง ล้างชาม ก็ตามเถิด หากไม่เกิด โทษทัณฑ์ นั่นสดใส เมื่อได้ช่อง ต้องจำ กระทำไป ได้กำไร ทุกทาง ไม่ว่างงาน ๛
งานที่ไม่มีโทษ ประกอบด้วยลักษณะดังต่อไปนี้ ๑. ไม่ผิดกฏหมาย คือทำให้ถูกต้องตามกฏหมายของบ้านเมือง ๒. ไม่ผิดประเพณี คือแบบแผนที่ปฏิบัติกันมาแต่เดิม ควรดำเนินตาม ๓. ไม่ผิดศีล คือข้อห้ามที่บัญญัติไว้ในศีล ๕ และ ๔. ไม่ผิดธรรม คือหลักธรรมทั้งหลายอาทิเช่น การพนัน การหลอกลวง
ส่วนอาชีพต้องห้ามสำหรับพุทธศาสนิกชนได้แก่ ๑. การค้าอาวุธ ๒. การค้ามนุษย์ ๓. การค้ายาพิษ ๔. การค้ายาเสพย์ติด ๕. การค้าสัตว์เพื่อนำไปฆ่า
ที่มา : http://www.dhammathai.org
มงคลที่ ๑๘ อนวชฺชานิ กมฺมานิ เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ - กรรมอันหาโทษมิได้ เป็นอุดมมงคล
อะนะวัชชะกัมมานิ นามะ อุโปสะถังคะสะมาทานะเวยยาวัจจะกะระณะ อารามะตุวะนะโรปะนะเสกะระณาทีนีติ อิธะ วุตตันตีติ. บัดนี้ จะได้วิสัชนาแก้ไขในอนวัชขกรรม จัดเป็นมงคลที่ ๑๘ ตามพระบาลี อรรถกถาว่า อะนะวัชชะกัมมานิ นามะ เป็นต้น ดำเนินความว่า บุคคลทั้งหลายได้กระทำซึ่งกรรมที่ไำม่มีโทษ จัดเป็นมงคลอันประเสริฐ ในอรรถกถาท่านว่า กรรมที่ไม่มีโทษนั้น คือ รักษาอุโบสถในวัน ๘ ค่ำ ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำก็ดี กระทำความขวนขวายช่วยในการกุศลของผู้อื่นก็ดี ปลูกต้นไม้ที่ทรงดอกออกผลไว้ในอารามก็ดี สร้างพะพานไว้ให้เป็นที่เดินข้ามไปมาก็ดีเหล่านี้ ท่านเรียกว่ากรรมไม่มีโทษ ย่อมให้ผลสำเร็จประโยชน์แก่ตนและคนทั้งปวง
บัดนี้ จะว่าด้วยอุโบสถก่อนว่า ทุวิธัง ลักขะณัง อุโบสถมีลักษณะ ๒ ประการ คือ ปกติอุโบสถ ๑ ปฎิชาครอุโบสถ ๑ เป็น ๒ ดังนี้ ฯ ปกติอุโบสถนั้น คือ คนรักษาเดือนหนึ่ง ๔ ครั้ง หรือ ๘ ครั้งก็ดี จัดเป็นอุโบสถอย่างหนึ่ง ที่รักษาข้างขึ้น ๒ วัน ข้างแรม ๒ วัน คือ วันขึ้น ๘ ค่ำ ขึ้น ๑๕ ค่ำ แรม ๘ ค่ำ แรม ๑๕ ค่ำ จึงเป็น ๔ วัน
ที่รักษาข้างขึ้น ๔ วัน ข้างแรม ๔ วันนั้น คือ วันขึ้น ๕ ค่ำ ขึ้น ๘ ค่ำ ขึ้น ๑๕ ค่ำ แรม ๕ ค่ำ แรม ๘ ค่ำ แรม ๑๔ ค่ำ แรม ๑๕ ค่ำ จึงเป็น ๘ วัน รักษาอย่างนี้เรียกว่า รักษาปกติ ถ้าจะรักษาเป็นปฎิชาครอุโบสถให้รักษาเป็นวันรับวันส่ง. วันองค์อยู่กลาง คือ ข้างขึ้นวัน ๔ ค่ำ ๖ ค่ำ ๗ ค่ำ ๙ ค่ำ เป็น ๕ วัน ข้างแรมวัน ๑ ค่ำ ๔ ค่ำ ๖ ค่ำ ๗ ค่ำ ๙ ค่ำ แรม ๑๑ ค่ำ เรียกว่า ปะฎิชาคะระอุโบสถ. ถ้ารวมทั้งวันรับวันส่งคงเดือนหนึ่งนับวันอุโบสถได้ ๑๙ วัน ถ้าเป็นวันจาตุททสี มีแต่วันรับไม่มีวันส่ง ถ้าเป็นวันปัณณรสี มีแต่วันส่งไม่มีวันรับ ฯ
บัดนี้จักว่าในปาฎิหาริยปักขอุโบสถตามอรรถกถาจารรย์ว่า ปาฎิหาริยะปักโข นามะ อันโตวัสเส เตมาสัง นิพพัทธุโปสะโถ แปลว่า อุโบสถรักษาได้เป็นนิตย์ ในภายในพรรษา สิ้น ๑ เดือน เรียกว่า ปาฎิหาริยปักขอุโบสถ คือรักษาได้ทุกวันสิ้น ๓ เดือน หรือจะรักษาแต่เดือน ๑๑ แรม ๑ ค่ำ ไปจนวันเพ็ญเดือน ๑๒ เป็นเดือน ๑ หรือจะรักษาแต่แรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ไปจนถึงสิ้นเดือน ๑๑ ก็ดี เหล่านี้เรียกว่า ปาฎิหาริกปักขอุโบสถทั้งสิ้น
อนึ่ง วันรักษาอุโบสถ ท่านกำหนดคืนหนึ่งกับวันหนึ่ง ให้พร้อมทั้งองค์ ๘ คือ เว้นจากฆ่าสัตว์เองและให้ผู้อื่นฆ่า ๑. เว้นจากลักทรัพย์ที่เขาหวงแหนด้วยตนเอง และให้ผู้อื่นลัก ๑ เว้นจากเสพเมถุนในทวารมรรคทั้งสาม ๑ เว้นจากพูดปดล่อลวงอำพรางผู้อื่น ๑ เว้นจากดื่มกินซึ่งน้ำเมา คือ สุราเมรัย ๑ เว้นจากบริโภคอาหารตั้งแต่เที่ยงแล้ว ไปจนถึงอรุณวันใหม่ขึ้นมา ๑ เว้นจากดูฟังฟ้อนรำขับร้อง และเครื่องดนตรีมีมโหรีพิณพาทเป็นต้น และประดับตกแต่งกายมีดอกไม้และของหอมเป็นต้น ๑ เว้นจากนั่งนอนเตียงสูงที่นอนใหญ่ภายในยัดด้วยนุ่นและสำลี ๑ รักษาได้ทั้ง ๘ นี้เรียกว่า อุโบสถศีล
ถามว่า ที่รักษาองค์ ๘ ได้จะมีผลอย่างไร แก้ว่า ที่ไม่ฆ่าสัตว์นั้นเป็นหนทางสวรรค์ ถ้าเกิดมาเป็นมนุษย์ก็มีอายุยืนยาวนาน ไม่ตายแต่เด็กแต่หนุ่ม ๑ ไม่ลักทรัพย์เป็นทางสวรรค์ ถ้าเกิดมาเป็นมนุษย์ จะมีทรัพย์ก็ไม่พินาศด้วยไฟไหม้และโจรลักเป็นต้น ไม่เสพเมถุนนั้น ให้เป็นนิสัยแก่นิพพาน คือ จะดับกิเลส ราคะ ความกำหนัดในสันดาน ๑ ไม่พูดปดล่อลวงอำพรางผู้อื่นนั้น ก็เป็นหนทางสวรรค์ ถ้าเกิดมาเป็นมนุษย์ก็จะมีความบริสุทธิ์ไม่มีใครมาล่อลวงให้เสียทรัพย์สมบัติ ไม่ดื่มกินซึ่งน้ำเมา คือ สุราเมรัยนั้น ก็จักเป็นสุคติสวรรค์ ครั้นมาบังเกิดในมนุษย์นี้ก็มีปัญญา ไม่บ้าใบ้เสียจิตผิดมนุษย์ ๑
แต่ไม่กินอาหารในเวลาวิกาล และไม่ดูฟ้อนรำและประดับร่างกาย และไม่นั่งนอนเตียงสูงที่นอนใหญ่ ทั้ง ๓ สิกขาบทนี้ เป็นที่ให้เจริญพรหมจรรย์ คือ เป็นเครื่องกำจัดกิเลส ราคะ โทสะ โมหะ ให้เบาบางจากสันดาน เป็นนิสัยแก่พระนิพพานในอนาคตกาลเบื้องหน้า ถามว่า ที่รักษาไม่ได้จะมีโทษอย่างไร แก้ว่า โทษที่ฆ่าสัตว์ให้ไปเกิดในอบาย ครั้นเกิดมาเป็นมนุษย์ ให้มีอายุสั้นเร็วพลันที่จะตายแต่เด็กแต่หนุ่ม ๑ โทษที่ลักทรัพย์เป็นหนทางอบาย ถ้าเกิดมาเป็นมนุษย์จะยากจนอนาถา มีทรัพย์โภคาก็จะพินาศด้วยไฟไหม้ โจรลักเป็นต้น ๑ โทษที่เสพเมถุนนั้นเป็นข้าศึกแก่พรหมจรรย์ คือ จะไกลจากพระนิพพาน ให้เวียนว่ายอยู่ในวัฏฏสงสารช้านาน ไม่มีกำหนดชาติว่าจะเป็นที่สุด ๑ โทษกล่าวมุสาวาทนั้นเป็นหนทางอบาย ครั้นเกิดมาเป็นมนุษย์ก็ไม่ได้ความบริสุทธิ์ มีแต่คนจะมาล่อลวงให้เสียทรัพย์ข้าวของ และโจทก์ท้วงด้วยความเท็จเอาของที่ต้องห้ามมาลักใส่ให้เกิดความพินาศ ๑ โทษที่กินสุราเมรัยก็ให้ไปอบาย นายนิรยบาลทั้งหลายกรอกด้วยน้ำทองแดง น้ำถึงปากถึงคอ ปากคอก็พังทำลายน้ำถึงท้อง ๆ ก็พังทำลาย ไส้พุงก็ขาดกระจัดกระจาย ตายแล้วก็เป็นขึ้นมาให้เสวยทุกข์ต่อไป ครั้นบังเกิดมาเป็นมนุษย์ก็โง่เขลา ไม่มีปัญญา เป็นใบ้บ้าเสียจริตผิดมนุษย์ทั้งปวง ๑
แต่โทษที่กินอาหารในเวลาวิกาล และโทษที่ดูฟังฟ้อนรำและตกแต่งร่างกาย และโทษนั่งนอนเตียงสูงที่นอนใหญ่ทั้ง ๓ สิกขาบทนี้ ย่อมทำพรหมจรรย์ให้เศร้าหมอง ด้วยราคะความกำหนัดยินดีในรูปเสียงเป็นต้น ไม่ให้ผลไปสู่อบาย เป็นแต่ทำลายพรหมจรรย์. ถามว่า อุโบสถ ๕ นี้ พระพุทธองค์ทรงบัญญัติที่ไหน บัญญัติแก่ใคร แก้ว่า อุโบสถ ๘ นี้ สมเด็จพระพุทธองค์เสด็จประทับอยู่ในบุพพารามวิหาร ใกล้เมืองสาวัตถี อันนางวิสาขาสร้างถวาย เอกะทิวะสัง อยู่มาวันหนึ่ง นางวิสาขาออกไปเฝ้า สมเด็จพระพุทธองค์ทรงตรัสว่า ดูกรนางวิสาขา อัฏฐังคะ สะมันนาคะตัง อุโบสะถัง อุโบสถมีองค์ ๘ ประการ เป็นธรรมเครื่องชำระสันดานของสัตว์ให้บริสุทธิ์ เป็นหนทางพระนิพพาน พระอริยสาวกทั้งหลายย่อมสมาทานรักษาจนสิ้นชีวิต ดุกรนางวิสาขา อุโบสถมีองค์ ๘ นี้มีผลมาก มีอนิสงค์มาก รุ่งเรืองงามไพโรจน์ให้สำเร็จประโยชน์ในโลกนี้และโลกหน้า
ดูกรนาววิสาขา บุคคลใดที่เกิดมาในโลกนี้ หญิงก็ดี ชายก็ดี ได้รักษาอุโบสถ ๘ ประการ เป็นสมถะเครื่องชำระสันดานให้ผ่องใส ระงับกิเลสภายใน คือ ราคะ โทสะ โมหะ ให้เบาบางเป็นหนทางพระนิพพาน แล้วพระองค์จึงตรัสว่า วิสาขา ดูกรนางวิสาขา ผลที่บุคคลรักษาอุโบสถมีองค์ ๘ ให้บริสุทธิ์สิ้นวันหนึ่งคืนหนึ่งนั้น ผลอนิสงมากนักหนา ตถาคตจะเปรียบอุปมาให้ท่านฟัง สมบัติทั้งหลาย มีเงินทอง แก้วแหวน เพชรนิลจินดา ที่มีราคามากหรือหาราคามิได้ ใน ๑๖ พระนครที่เป็นเมืองใหญ่ ๆ สมบัติ ๑๖ พระนครนั้นไซรน้อยนักหนา ไม่เท่าผลส่วนเสี่ยวแห่งอุโบสถที่บุคคลรักษาบริสุทธิ์วันหนึ่งคืนหนึ่ง
ความว่า ผลที่บุคคลรักษาอุโบสถศีลบริสุทธิ์วันหนึ่ง คือหนึ่ง เอามาแบ่งออก ๑๖ ส่วน ยกเสีย ๑๕ ส่วน ยังเหลืออยู่ส่วนที่สุดนั้นยกเอาสมบัติทั้ง ๑๖ พระนครมาเปรียบกับผลอุโบสถ สมบัติทั้ง ๑๖ พระนครต่ำกว่า น้อยกว่านักหนา น้อยกว่าผลที่รักษาอุโบสถส่วนที่สุด เพราะสมบัติมนุษย์ต่ำกว่าสมบัติเทพยดา ผลแห่งบุคคลผู้รักษาอุโบสถเหมือนสมบัติเทพยดา เพราะฉะนั้น บุคคลที่รักษาอุโบสถ จะปรารถนามนุษย์หรือสวรรค์นิพพาน ก็คงจะได้ตามประสงค์ทุกประการ
ที่มา : http://larnbuddhism.com
มงคลที่ 1 , มงคลที่ 2 , มงคลที่ 3, มงคลที่ 4 , มงคลที่ 5 , มงคลที่ 6 , มงคลที่ 7 , มงคลที่ 8 , มงคลที่ 9 , มงคลที่ 10 , มงคลที่ 11 , มงคลที่ 12 , มงคลที่ 13 , มงคลที่ 14 , มงคลที่ 15 , มงคลที่ 16 , มงคลที่ 17 , มงคลที่ 18 , มงคลที่ 19 , มงคลที่ 20 , มงคลที่ 21 , มงคลที่ 22 , มงคลที่ 23 , มงคลที่ 24 , มงคลที่ 25 , มงคลที่ 26 , มงคลที่ 27 , มงคลที่ 28 , มงคลที่ 29 , มงคลที่ 30 , มงคลที่ 31 , มงคลที่ 32 , มงคลที่ 33 , มงคลที่ 34 , มงคลที่ 35 , มงคลที่ 36, มงคลที่ 37, มงคลที่ 38 ฯ
0 comments: