ผู้ไม่รู้ “อริยสัจ ๔” ชื่อว่าตกอยู่ในหลุมเพลิงอยู่เป็นนิจ
พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า... “ภิกษุทั้งหลาย! บุคคลเหล่าใด จะเป็นสมณะหรือพราหมณ์ก็ตาม เมื่อไม่รู้อยู่ตามเป็นจริงว่า “ นี้เป็นทุกข์, นี้เป็นเหตุให้เกิดทุกข์, นี้เป็นความดับไม่เหลือของทุกข์, และ นี้เป็นทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือของทุกข์” ดังนี้, เขาเหล่านั้นย่อมยินดีต่อสิ่งอันเป็นปัจจัยปรุงแต่ง ที่เป็นไปพร้อมเพื่อความเกิด เป็นต้น, เขาผู้ยินดีแล้วย่อมก่อสร้างปัจจัยนั้นๆขึ้น(เพื่อตัวเอง), ครั้นก่อสร้างแล้ว ก็เร่าร้อนอยู่เพราะความแผดเผาของความเกิด ความแก่ ความตาย ความโศก ความร่ำไรรำพัน ความทุกข์กาย ความทุกข์ใจ และความคับใจ.
..ภิกษุทั้งหลาย! บุคคลเหล่านั้น เรากล่าวว่าเขาไม่พ้นไปจากทุกข์ คือ ความเกิด เป็นต้น ไปได้เลย.
..ภิกษุทั้งหลาย! ส่วนบุคคลเหล่าใดจะเป็นสมณะหรือพรามหมณ์ก็ตาม เมื่อรู้ชัดตามเป็นจริงว่า “นี้เป็นทุกข์, นี้เป็นเหตุให้เกิดทุกข์, นี้เป็นความดับไม่เหลือแห่งทุกข์,และ นี้เป็นทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์”, ดังนี้; บุคคลเหล่านั้นย่อมไม่ยินดีต่อสิ่งอันเป็นปัจจัยปรุงแต่ง ที่เป็นไปพร้อมเพื่อ ความเกิด เป็นต้น, เขาผู้ไม่ยินดีแล้วย่อมไม่ก่อสร้างปัจจัยนั้นๆขึ้น(เพื่อตัวเอง), ครั้นไม่ก่อสร้างแล้วก็ไม่เร่าร้อนอยู่ เพราะความแผดเผาของ ความเกิด ความแก่ ความตาย ความโศก ความร่ำไรรำพัน ความทุกข์กาย ความทุกข์ใจ และ ความคับแค้นใจ. บุคคลเหล่านั้นย่อมหลุดพ้นไปจาก ความเกิด ความแก่ ความตาย ความโศก ความร่ำไรรำพัน ความทุกข์กาย ความทุกข์ใจ และความคับแค้นใจ. เรากล่าวว่า เขาหลุดพ้นไปได้จากทุกข์ ดังนี้.
..ภิกษุทั้งหลาย ! เพราะเหตุนั้น ในเรื่องนี้ เธอพึงประกอบโยคกรรมอันเป็นเครื่องกระทำให้รู้ว่า “ทุกข์ เป็นอย่างนี้, เหตุเกิดขึ้นแห่งทุกข์ เป็นอย่างนี้, ความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ เป็นอย่างนี้, ทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ เป็นอย่างนี้.” ดังนี้.
พระบาลีไตรปิฎก, มหาวาร. สํ. ๑๙/๕๖๓/๑๗๓๓-๑๗๓๔ สำนวนแปลของ พุทธทาสภิกขุ ใน “อริยสัจจากพระโอษฐ์ ภาคต้น”
หมายเหตุ : คำว่า “โยคะ” นี้ มีอยู่ ๒ ความหมาย คือ ๑. เป็นชื่อของกิเลส คือ กามโยคะ ภวโยคะ ทิฏฐิโยคะ อวิชชาโยคะ ๒. เป็นชื่อของความเพียรทางจิต คือ การทำความเพียรเพื่อให้รู้ว่า ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค เป็นอย่างไร
คำว่า “รู้ทุกข์” นั้น เป็นกิจในอริยสัจ ๔ ( ข้อแรก )
กิจในอริยสัจ ๔ คือ หน้าที่อันจะพึงทำต่อ อริยสัจ ๔ แต่ละอย่าง หรือ ข้อที่จะต้องปฏิบัติให้ถูกต้องและเสร็จสิ้นในอริยสัจ ๔ แต่ละอย่างจึงจะได้ชื่อว่า “รู้อริยสัจ” มีดังนี้ ๑. ปริญญา การกำหนดรู้ เป็นกิจในทุกข์ ตามหลักว่า ทุกฺขํ อริยสจฺจํ ปริญฺเญยฺยํ ทุกข์ควรกำหนดรู้ ๒. ปหานะ การละ เป็นกิจในสมุทัย ตามหลักว่า ทุกฺขสมุทโย อริยสจฺจํ ปหาตพฺพํ สมุทัย(ตัณหา)ควรละ ๓. สัจฉิกิริยา การทำให้แจ้ง เป็นกิจในนิโรธ ตามหลักว่า ทุกฺขนิโรโธ อริยสจฺจํ สจฺฉิกาตพฺพํ นิโรธ(วิมุตติ,นิพพาน)ควรทำให้แจ้ง ๔. ภาวนา การเจริญ เป็นกิจในมรรค ตามหลักว่า ทุกฺขนิโรธคามินี ปฏิปทา อริยสจฺจํ ภาเวตพฺพํ มรรค(อริยมรรคมีองค์๘)ควรเจริญ
..ในการแสดงอริยสัจก็ดี ในการปฏิบัติธรรมตามหลักอริยสัจก็ดี จะต้องให้อริยสัจแต่ละข้อสัมพันธ์ตรงกันกับกิจแต่ละอย่าง จึงจะเป็นการแสดงและเป็นการปฏิบัติโดยชอบ
ที่มา : วินย. ๔/๑๕/๒๐ ; สํ.ม.๑๙/๑๖๖๖/๕๒๙
การ “รู้ทุกข์” ในกิจอริยสัจ ๔ ข้อแรก ในการปฏิบัติจริงนั้น ต้องอาศัยความรู้ หรือ ญาณ ที่เรียกว่า กิจญาณ (คำบาลีคือ กิจฺจญาณ) ซึ่งเป็นหนึ่งใน “ญาณ ๓” หรือที่เรียกชื่อเต็มว่า “ญาณทัสสนะ”. อริยสัจ ๔ เป็นธรรมที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายทุกพระองค์ทรงยกขึ้นแสดงเองโดยไม่ต้องมีผู้ทูลถาม ..ในพระไตรปิฎกกล่าวไว้ว่า อริยสัจ ๔ เป็น “สามุกกังสิกาธรรมเทศนา” แปลว่า พระธรรมเทศนาที่สูงส่ง หรือที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงเชิดชู หรือเป็นพระธรรมเทศนาที่พระพุทธเจ้าทรงยกขึ้นแสดงเอง ไม่เหมือนเรื่องอื่นๆ ที่มักตรัสถึงต่อเมื่อมีผู้ทูลถามและสนทนาเกี่ยวข้องไปถึง ( ที่มา : องฺ. อฏฐก. ๒๓/๑๑๑/๒๑๓ )
ฐานะและความสำคัญของ อริยสัจ ๔ พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า...
..“ภิกษุทั้งหลาย ! การรู้การเห็นของเราตามเป็นจริง ครบ ๓ ปริวัฏ ๑๒ อาการ ในอริยสัจ ๔ เหล่านี้ ยังไม่บริสุทธิ์แจ่มชัด ตราบใด ตราบนั้น เราก็ยังปฏิญาณไม่ได้ว่า เราบรรลุอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ...” ( ที่มา : สํ. ม. ๑๙/๑๖๗๐/๕๓๐ )
ตราบใดที่ยังไม่รู้แจ้งใน อริยสัจ ๔ ตราบนั้นก็ยังต้องท่องเที่ยวไปในวัฏสงสาร
“ภิกษุทั้งหลาย ! เพราะไม่ตรัสรู้ ไม่เข้าใจอริยสัจ ๔ ทั้งเราและเธอ จึงได้วิ่งแล่นเร่ร่อนไป(ในชาติทั้งหลาย) สิ้นกาลนานอย่างนี้” ( ที่มา : ที. ม. ๑๐/๘๖/๑๐๗ )
ดับไฟที่กำลังไหม้ศีรษะอยู่ กับ ทำความพยายามเพื่อรู้แจ้ง อริยสัจ ๔ อย่างไหนเร่งด่วนกว่ากัน?
(พระพุทธองค์) “ภิกษุทั้งหลาย เมื่อผ้าถูกไฟไหม้หรือศีรษะถูกไฟไหม้ ควรทำอย่างไร?”
(ภิกษุทั้งหลาย) “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อผ้าถูกไฟไหม้หรือศีรษะถูกไฟไหม้ ควรทำความพอใจ ความพยายาม ความอุตสาหะและขะมักเขม้น ความไม่ท้อถอย สติและสัมปชัญญะให้มีประมาณยิ่ง เพื่อดับไฟที่ไหม้ผ้าหรือไฟที่ไหม้ศีรษะนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
(พระพุทธองค์) “ภิกษุทั้งหลาย ควรวางเฉย ไม่ควรใส่ใจถึงผ้าที่ถูกไฟไหม้หรือศีรษะที่ถูกไฟไหม้ ควรทำความพอใจ ความพยายาม ความอุตสาหะ ความขะมักเขม้น ความไม่ท้อถอย สติและสัมปชัญญะให้มีประมาณยิ่ง เพื่อรู้แจ้งอริยสัจ ๔ ประการ ที่ยังไม่รู้แจ้งตามความเป็นจริง”
เจลสูตร, พระไตรปิฎกภาษาไทย, สงฺ. ม. ๑๙/๑๑๐๔/๖๑๕
ท. ส. ปัญญาวุฑโฒ – รวบรวม
0 comments: