ความตายคือคติธรรมแห่งชีวิต และการบำเพ็ญกุศลเพื่อรำลึกถึงผู้ล่วงลับไปแล้ว
ปุญฺญเมว โส สิกฺเขยฺย อายตคฺคํ สุขุทฺริยํ, ทานญฺจ สมจริยญฺจ เมตฺตจิตฺตญฺจ ภาวเยติ ฯ
ณ โอกาสนี้ อาตมภาพจะแสดงพระธรรมเทศนาในปุญญกถา เพื่ออนุโมทนากุศลบุญราศีในการที่คณะท่านเจ้าภาพได้บำเพ็ญกุศลทักขิณานุปทาน เพื่ออุทิศแด่ท่านผู้ล่วงลับไปแล้ว วันนี้จะได้มีพิธีฌาปนกิจ. คณะท่านเจ้าภาพ อันมีครอบครัวและญาติมิตรที่เคารพนับถือ ได้มาร่วมกันจัดงานทำบุญโดยตลอดมาแต่เบื้องต้น ท่านที่เคารพนับถือทั้งหลายนั้นได้มาร่วมพิธีกัน เป็นการให้กำลังกายบ้าง กำลังใจบ้าง หรือทั้งกำลังกายทั้งกำลังใจบ้าง ทำให้งานบำเพ็ญกุศลทักขิณานุปทานนี้ดำเนินมาด้วยดี
ประเพณีที่เป็นบุญเป็นกุศล
การบำเพ็ญกุศลครั้งนี้ มองในรูปที่ปรากฏทั่วไป ย่อมเห็นกันว่าเป็นการปฏิบัติตามประเพณีของชาวไทยผู้นับถือพระพุทธศาสนา คือถือเป็นหลักปฏิบัติสืบต่อกันมาเป็นเวลายาวนานแล้ว อันนี้นับเป็นส่วนของประเพณี. แต่ถ้ามองลึกลงไป ประเพณีนี้ยังมีสิ่งที่เป็นรากฐานอันมีความหมายลึกซึ้งในทางนามธรรม กล่าวคือเป็นพิธีเป็นประเพณีที่อิงอยู่กับหลักคำสอนในพระพุทธศาสนา เป็นการดำเนินตามหลักธรรมของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ได้ตรัสสั่งสอนพุทธศาสนิกชนทั้งหลายไว้ ให้ทำสิ่งที่เป็นบุญเป็นกุศลตามหลักพระพุทธศาสนานั้น ชาวพุทธเมื่อมีเหตุการณ์อันใดอันหนึ่งเกิดขึ้น จะปรารภเหตุการณ์นั้น แล้วทำสิ่งที่เป็นบุญเป็นกุศล เป็นความดีงาม
ประโยชน์ของประเพณีงานศพ
ในเรื่องของความตายนี้ก็เช่นเดียวกัน เป็นเหตุการณ์สำคัญอย่างหนึ่งของชีวิต แต่ลำพังเรื่องการตายอย่างเดียวนั้น ก็เป็นเรื่องของท่านผู้เกิดมาแล้วก็จากไปตามคติธรรมดา และเมื่อจากไปก็เป็นการล่วงลับไม่หวนกลับมาอีก ไม่ว่าเราจะเรียกร้องอย่างไรก็ไม่สำเร็จ ทำอย่างไรๆ ก็ไม่มีผล แต่พุทธศาสนิกชนนั้น ปรารภความตายอย่างนี้แล้วก็ทำสิ่งที่ดีงามเป็นบุญเป็นกุศล ซึ่งได้ผลเป็นประโยชน์เกิดขึ้น กล่าวคือ
ประการที่หนึ่ง ก็ได้อุทิศกุศลนั้นแก่ท่านผู้ล่วงลับไปแล้วด้วย
ประการที่สอง ผู้ที่เป็นพี่น้องและมิตรสหายเป็นต้น ก็จะได้บำเพ็ญคุณธรรมกล่าวคือกตัญญูกตเวทิตาธรรม แสดงความรำลึกถึง และตอบแทนพระคุณของท่านผู้ล่วงลับไปแล้ว ซึ่งเป็นญาติและมิตรสหายของตน. นอกจากนี้ ในส่วนตัวของผู้ที่ทำบุญนั้นเอง ก็เป็นการสร้างความเจริญงอกงามในทางบุญทางกุศล สะสมบุญคือความดีไว้ในชีวิตของตนให้มากขึ้นด้วย
การทำบุญเกี่ยวกับความตาย
ว่าที่จริงแล้ว การปรารภเหตุการณ์คือความตายแล้วกระทำบุญนั้น มีทางทำได้หลายประการด้วยกัน ในทางพระพุทธศาสนา ท่านกล่าวถึงบุญไว้ต่างๆ มากมายเหลือเกิน แต่เมื่อสรุปแล้วก็มีสามอย่าง คือ หนึ่ง ทาน การให้ การบริจาค, สอง ศีล ความประพฤติดี ประพฤติชอบทางกาย วาจา สาม ภาวนา การฝึกอบรมจิตใจ ความฝึกอบรมเจริญปัญญา. รวมเป็นสามประการ ในการบำเพ็ญกุศล เพื่อรำลึกถึงผู้ล่วงลับไปแล้วนั้น สามารถที่จะทำบุญให้เกิดขึ้นได้ทั้งสามหมวด สามประเภทเหล่านี้
การทำทาน
ในประการที่หนึ่ง คือส่วนที่เป็น ‘ทาน’ นั้น เป็นส่วนเบื้องต้น ที่เห็นได้ง่าย ปรากฏรายรอบทางวัตถุ คือ เมื่อปรารภถึงท่านผู้ถึงแก่กรรมไปแล้ว เจ้าภาพก็พากันทำบุญทำกุศล นิมนต์พระสงฆ์มาถวายภัตตาหาร ถวายเครื่องไทยธรรมต่างๆ อันนี้ก็เป็นส่วนเบื้องต้น เป็นพิธีกรรมส่วนสามัญที่กระทำกัน ซึ่งเป็นการอุทิศกุศลแก่ท่านผู้ล่วงลับไปแล้ว และเป็นการเกื้อกูลต่อพระศาสนา ให้กำลังแก่พระสงฆ์ผู้ปฏิบัติศาสนกิจ แต่ทานนั้นมิใช่หยุดเพียงเท่านี้ ท่านผู้มีความดำริชอบประกอบด้วยปัญญา พิจารณาเห็นเรื่องของชีวิต มาปรารภถึงความตายว่า คติธรรมดาของชีวิตคนก็คือ การเกิด แก่ เจ็บ และก็ตาย อย่างที่กล่าวกันว่าคนทั้งหลายนั้น “มาก็มาแต่ตัว ไปก็ไปได้แต่ตัว”. สิ่งทั้งหลายที่เราเรียกว่าเป็นสมบัติพัสถานซึ่งได้รวบรวมสั่งสมเอาไว้นั้น จะมีมากมายเท่าใด ก็ไม่สามารถติดตามไปได้. เมื่อพิจารณาเห็นอย่างนี้แล้วก็เป็นเหตุให้สามารถบรรเทาโลภะ คือ ความโลภ ความยึดติด ความอยากได้ในสิ่งทั้งหลายให้น้อยลง. เมื่อบรรเทาความโลภให้น้อยลงพร้อมทั้งมัจฉริยะ คือความตระหนี่ ที่เป็นตัวเนื่องอยู่กับความโลภในทรัพย์สมบัติแล้ว ก็จะทำให้สามารถบำเพ็ญทาน คือ การให้ การบริจาค เพื่อช่วยเหลือสงเคราะห์บ้าง บูชาคุณความดีของบุคคลที่มีคุณความดีบ้าง ทำทรัพย์สมบัตินั้นให้เป็นประโยชน์ จะนำมาใช้สอยเลี้ยงดูบุคคลในความรับผิดชอบก็ได้ บำเพ็ญประโยชน์ต่างๆ ก็ได้ ทรัพย์นั้นก็มีประโยชน์มากขึ้น. ทั้งหมดนี้ก็เป็นส่วนของทาน ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นได้จากการปรารภ ถึงคติชีวิตในส่วนที่เป็นความตาย
การรักษาศีล
ในประการที่สองคือ ‘ศีล’ เราอาจจะปรารภถึงความตายดังที่กล่าวเมื่อกี้นี้ว่า คนเรานั้นเกิดมาก็มาแต่ตัว ไปก็ไปแต่ตัว นอกจากนั้น ก็ยังไม่ละทิ้งอะไรไว้ด้วย จะว่าละทิ้งก็ละทิ้งเพียงร่างกาย ซึ่งร่างกายนั้นก็ไม่คงอยู่ถาวร เพียงไม่กี่วันร่างกายนั้นก็เน่าเปื่อยผุพังไป กลายเป็นอย่างที่เรียกกันว่า ‘ธาตุสี่’ แยกเป็น ดิน น้ำ ลม ไฟ กระจัดกระจายไป กล่าวได้ว่าไม่มีอะไรเหลือหรออยู่เป็นรูปร่าง เป็นบุคคล อันนี้เป็นสภาพภายนอก เป็นเรื่องทางวัตถุ ทางรูปกาย ไปแต่ตัว มาแต่ตัว แล้วก็ไม่เหลือทิ้งอะไรไว้ แต่ถ้ามองลึกซึ้งลงไปอีก ก็จะเห็นว่าความจริงนั้น ยังมีอะไรที่ทิ้งไว้และก็ยังมีอะไรที่ตามไปอีก. จะมองเห็นได้ตามคำสอนของพระศาสนาว่า มาแต่ตัวไปแต่ตัวนั้น ก็ยังมีสิ่งที่ตามไปได้อย่างหนึ่งและเมื่อมามันก็มาด้วย สิ่งนั้นก็คือ ‘กรรมดีและกรรมชั่ว’ นั่นเอง เป็นสิ่งที่มาพร้อมกับเรา และเสร็จแล้วมันก็ตามตัวเราไปด้วย ถ้าเป็น ‘กรรมดี’ ก็เป็นบุญเป็นกุศล หรือเป็น ‘บุญกรรม’ ซึ่งจะเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลายสืบต่อไป
ดังพุทธพจน์ที่ว่า :- ปุญฺญานิ ปรโลกสฺมึ ปติฏฺฐา โหนฺติ ปาณินํ. แปลว่า บุญเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลายในปรโลก อันนี้เป็นส่วนที่ติดตามไป
ในฝ่ายละทิ้งก็เช่นเดียวกัน คนที่ละโลกนี้ไปแล้วนั้น ยังละทิ้งสิ่งหนึ่งไว้เบื้องหลัง ก็คือความดีความชั่วที่ได้ทำไว้ สิ่งใดที่ได้ทำไว้แล้วก็ยังจารึกอยู่ บางอย่างก็ออกผลเป็นวัตถุ. เช่นว่า ท่านผู้มีใจบุญใจกุศล ได้สร้างสิ่งที่เป็นสาธารณประโยชน์ไว้ สิ่งนั้นก็เป็นหลักฐานแสดงความดียั่งยืนอยู่หรือที่เป็นนามธรรม ได้ทำความดีเกื้อกูลอุปการะไว้กับผู้อื่น เริ่มต้นตั้งแต่บุตรหลานเป็นต้นไป ความดีนั้นก็ฝังอยู่จารึกอยู่ในดวงจิตดวงใจของบุตรหลานและท่านที่ได้รับคุณประโยชน์ อันนี้ก็เป็นสิ่งที่ทิ้งไว้. รวมความว่า สิ่งที่ติดตามไปก็ดี สิ่งที่ละทิ้งไว้ก็ดี ก็ได้แก่ความดีความชั่ว ผู้มีปัญญามาพิจารณาเห็นหลักดังที่กล่าวมาแล้วนี้ จึงคิดว่าควรจะดำรงชีวิตของตนให้อยู่ในแนวทางที่ดีงาม เพื่อว่าเมื่อถึงเวลาจากโลกนี้ไป ก็จะได้มีกรรมดีติดตัวไปและเหลือละทิ้งไว้ซึ่งความดีนั้น อันเป็นประโยชน์แก่คนเบื้องหลังให้คนที่อยู่เบื้องหลังได้จดจำรำลึกถึงในทางที่ดีงาม ยกย่องนับถือเป็นบุคคลที่น่าเคารพบูชากันสืบต่อไป
ทำกรรมดีด้วยการรักษาศีล
การที่จะกระทำกรรมดีอย่างนี้ก็คือการดำเนินชีวิตให้อยู่ในคลองธรรม ได้แก่เป็นผู้มีศีล ดำรงอยู่ในศีลทั้งหลาย ตั้งต้นแต่ศีลห้า คือ :- งดเว้นจากการฆ่าสัตว์ เบียดเบียนสังหารชีวิตผู้อื่น ที่เรียกว่า ‘ปาณาติบาต’ งดเว้นจากการล่วงละเมิดในทรัพย์สินผู้อื่น จากการลักขโมยแย่งชิง ที่เรียกว่า ‘อทินนาทาน’ งดเว้นจากการประพฤติผิดทางเพศ ที่เรียกว่า ‘กาเมสุมิจฉาจาร งดเว้นจากการเบียดเบียนผู้อื่นด้วยวาจา คือการกล่าวเท็จ ทำลายประโยชน์ของเขา ที่เรียกว่า ‘มุสาวาท’ และงดเว้นจากการดื่มเครื่องดองของเมาที่เป็นเหตุให้หลงลืมเสียสติ เป็นที่ตั้งแห่งความประมาท ที่เรียกว่า ‘สุราเมระยะมัชชะปะมาทัฏฐานะ’
ดังนี้ เป็นหลักสำคัญในฝ่ายหลีกพ้นความเสื่อม นอกจากนี้ ก็ดำเนินชีวิตในทางเกื้อกูลในการที่จะอยู่ร่วมกันด้วยดี ทำให้สังคมนี้ มีความสงบสุข อย่างนี้ก็เป็นคติอย่างหนึ่ง ที่เราสามารถปรารภเรื่องความตายแล้ว จะทำให้เกิดประโยชน์แก่ชีวิตของตนและของผู้อื่นได้ ซึ่งเป็นด้านที่เรียกว่าศีล คือความประพฤติดีงาม หรือความประพฤติชอบทางกาย ทางวาจา และขั้นต่อไปในการปรารภถึงความตายนั้น ก็จะสามารถทำบุญขั้นสูงขึ้นไปอีกเรียกว่า ‘ภาวนา’
การภาวนา
ภาวนา ก็คือการฝึกอบรมจิตใจ และฝึกอบรมปัญญา คือ ทำจิตใจของเรานี้ให้มีความสงบ ปราศจากกิเลสเครื่องมัวหมอง ให้มีความสุข ให้ผ่องใส ตลอดจนกระทั่งให้เจริญด้วยคุณธรรม ความดีงามต่างๆ และเจริญด้วยปัญญาที่รู้เท่าทันความจริงของสิ่งทั้งหลาย. ตัวอย่างที่เห็นง่ายๆ ตามคำสอนของพระพุทธเจ้าที่เกี่ยวกับเรื่องของความตายอันเป็นส่วนภาวนานั้น ก็คือหลักที่เรียกว่า ‘มรณสติ’ แปลว่า สติระลึกถึงความตาย. การระลึกถึงความตายนั้น เป็นวิธีฝึกอบรมจิตใจอย่างหนึ่ง แต่จะต้องทำความเข้าใจให้ถูกต้อง ที่ว่าระลึกถึงความตายแล้วจะทำจิตใจของตนให้เจริญงอกงามนั้น จะต้องระลึกโดยถูกต้องด้วย บางคนระลึกถึงความตายแล้วก็ไม่สบายใจ มีความหวาดกลัว จิตใจฟุ้งซ่าน กระวนกระวาย อย่างนี้เรียกว่าระลึกไม่ถูกหลัก ระลึกแล้วก็เกิดโทษ. การระลึกให้ถูกต้องนั้น ก็คือการระลึกอย่างรู้เข้าใจคติธรรมดา พิจารณาให้เห็นว่า ชีวิตของคนเราทั้งหลายนั้น เกิดมาแล้วดำรงอยู่ ในที่สุดก็ต้องจากไปด้วยความตาย มองเห็นอยู่โดยมีประจักษ์หลักฐานมากมาย อันนี้เป็นธรรมดาของชีวิต เมื่อเป็นธรรมดาของชีวิตแล้วเราก็จะต้องย. นอกจากนั้น ตามคติพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนไว้ว่า คนเรานี้ที่เกิดมาได้มาพบปะกันบ้าง ต้องมาพบปะกันบ้างนั้น ต่างคนต่างก็จะต้องแยกย้ายกันไปในที่สุด เรามีเวลาที่จะอยู่ด้วยกันถึงจะนานหลายปีหลายสิบปี แต่ถ้าว่ากันจริงๆ แล้ว เวลานั้นก็ไม่ยาวนานนัก แต่ในเวลาที่ไม่ยาวนานนี้เอง คนเราเพราะอาศัยอำนาจกิเลส ก็เบียดเบียนแก่งแย่งแข่งขันแย่งชิงกันต่างๆ นานา. ถ้าเรารู้คติธรรมดาของชีวิตอย่างที่กล่าวมาแล้ว ว่าเราอยู่กันไปไม่ช้าไม่นานก็ต้องแยกย้ายกันไปทั้งหมดนี้ เราก็ควรจะอยู่ด้วยความเมตตาปรานี เอื้อเฟื้อเกื้อกูลต่อกัน.
ท่านว่าในเวลาที่ผู้ใดผู้หนึ่งถึงแก่กรรมจากไป เราควรจะรู้เท่าทันว่าอันนั้นเป็นธรรมดา เมื่อถึงเวลาของท่าน ท่านก็ต้องจากไป และก็ทำใจได้ ไม่มัวเศร้าโศกอยู่ถึงท่านผู้ล่วงลับ แต่ควรหันกลับมาพิจารณานึกถึงคนที่อยู่ร่วมกันนี่แหละ ว่าอย่ามัวไปเศร้าโศกถึงท่านผู้ล่วงลับไปเลย เรามาอยู่ร่วมกันในหมู่ผู้ที่ยังเหลืออยู่นี่แหละ ด้วยความเมตตาปรานีให้มีความสุขเถิด แล้วเมื่อถึงเวลาจากไปจะได้ไม่ต้องเศร้าโศกละห้อยหา จะได้สบายใจว่า เมื่อยามอยู่เราก็อยู่กันด้วยดีแล้ว ไม่ใช่รอแต่ว่าถึงเวลาจากไปก็เศร้าโศกกันที ตอนที่อยู่กลับละเลย ไม่ได้คำนึงพิจารณา. เพราะฉะนั้น ตอนที่อยู่นี่แหละเป็นตอนสำคัญ ท่านจึงว่าอย่ามัวเศร้าโศกถึงผู้ที่จากไปแล้ว ให้มีความเมตตาปรานีเกื้อกูลกันในหมู่ผู้ที่ยังอยู่นี้ นี้ก็เป็นคติอันหนึ่งที่เกิดขึ้นได้จากการพิจารณาหลักที่เรียกว่า ‘มรณสติ’ ดังที่ได้กล่าวมา อันนี้เป็นประโยชน์ในส่วนที่เรียกว่า ‘จิตตภาวนา’ คือ การฝึกอบรมจิตของตน ผู้ที่พิจารณาถึงความตายด้วยความรู้เท่าทันและนำจิตไปได้ถูกทางอย่างนี้ ก็จะทำให้จิตใจสงบ ไม่ฟุ้งซ่านกระวนกระวาย ไม่มีความหวาดกลัว นอกจากนั้น จิตยังจะเจริญก้าวหน้างอกงามในทางคุณธรรมความดี เช่น มีกุศลเจตนาตั้งใจว่า ต่อไปนี้เราจะประพฤติดีงาม จะไม่ประมาท จะมีเมตตาไมตรีจิตต่อเพื่อนมนุษย์เป็นต้น เป็นคุณเป็นประโยชน์ทั้งแก่ตนและแก่ผู้อื่น
นอกจากนี้แล้ว ถ้าหากว่ามีปัญญา รู้เท่าทันความจริงสูงยิ่งขึ้นไปอีก จนกระทั่งเห็นเรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เห็นความไม่เที่ยงแท้ ความดำรงคงทนอยู่ไม่ได้ และความมิใช่เป็นตัวตน ถ้าเข้าใจถึงขั้นนี้แล้วก็เป็นหลักที่เรียกว่า ‘ไตรลักษณ์’ อาจจะทำให้จิตใจของผู้นั้น มีความหลุดพ้นเป็นอิสระ ปลอดโปร่งผ่องใสได้อย่างแท้จริง เพราะเป็นจิตที่รู้เท่าทันธรรมดาของสิ่งทั้งหลาย ถ้ารู้ถึงขั้นนี้แล้ว และรู้ทะลุปรุโปร่งเข้าใจแจ้งในชีวิต ก็จะถึงกับบรรลุความสิ้นอาสวะ เป็นพระอรหันต์ก็ได้. เพราะฉะนั้นการพิจารณาปรารภความตายนั้น จึงสามารถนำมาใช้ทำประโยชน์ได้ทุกขั้นตอน ดังที่อาตมภาพกล่าวมา ตั้งต้นแต่การบำเพ็ญทาน อันเป็นเรื่องทางด้านกาย ทางด้านวัตถุ ที่ปรากฏภายนอก ตลอดจนกระทั่งให้เจริญงอกงามในทางจิตปัญญา จนกระทั่งบรรลุอรหัตตผลก็ได้ บรรลุพระนิพพานก็ได้ โดยนัยดังที่อาตมภาพได้แสดงพระธรรมเทศนามา
ณ บัดนี้ คณะท่านเจ้าภาพได้ปรารภมรณกรรมของท่านผู้ล่วงลับ และมีจิตใจประกอบด้วยคุณธรรมต่างๆ ตามฐานะหน้าที่ของตน มีความกตัญญูกตเวทีบ้าง มีญาติธรรมบ้าง สังคหธรรมบ้าง ได้มาร่วมบำเพ็ญบุญบำเพ็ญกุศลด้วยกัน เมื่อท่านผู้ล่วงลับได้รู้ได้เข้าใจหยั่งเห็นถึงบุญกุศลความดีงามต่างๆ ที่คณะเจ้าภาพได้บำเพ็ญในโอกาสนี้ ท่านก็ย่อมมีจิตยินดีอนุโมทนา. การอนุโมทนาของท่านผู้ล่วงลับไปแล้ว ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้บุญนั้นสำเร็จผล เมื่อเข้าใจหลักเช่นนี้แล้ว ท่านผู้ยังมีชีวิตอยู่ ซึ่งเป็นผู้บำเพ็ญกุศลนั้น ก็จะต้องทำจิตใจของตนเองให้เป็นบุญเป็นกุศลด้วยเช่นกัน เพราะว่าด้วยจิตใจที่เป็นบุญเป็นกุศลนี่แหละ จะเป็นเครื่องช่วยทำให้ท่านผู้จากไป มีความอนุโมทนาได้ ยิ่งเรามีจิตใจเป็นบุญเป็นกุศลมากเท่าไร ทางฝ่ายผู้ล่วงลับไปก็ยิ่งสามารถปลาบปลื้มอนุโมทนาได้มากขึ้นเพียงนั้น. เพราะฉะนั้น ถ้าเราได้ปรารภถึงมรณกรรม คือความตายแล้วบำเพ็ญบุญตามที่อาตมภาพได้กล่าวมา เป็นส่วนทานบ้าง เป็นส่วนศีลความประพฤติดีงามบ้าง เป็นส่วนภาวนาทำจิตใจของตนเองให้สงบ ผ่องใสบ้าง ทั้งหมดนี่แหละยิ่งเป็นบุญเป็นกุศลมากเท่าไรก็เป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่ผู้ตายผู้ล่วงลับ และแก่ตนเองมากขึ้นเท่านั้น
เพราะฉะนั้น ในโอกาสนี้จึงเป็นช่วงเวลาที่ท่านเจ้าภาพตลอดถึงญาติมิตรผู้ที่มีความหวังดีทั้งหลาย จะพึงสำรวมจิตใจให้สงบผ่องใส และรำลึกถึงว่า กิจที่ตนควรจะทำเพื่อท่านผู้ล่วงลับจากไป อันเป็นหน้าที่นั้น ตนได้กระทำแล้ว การรำลึกว่าสิ่งที่ตนควรทำได้ทำแล้ว ก็เป็นเหตุประการหนึ่งที่จะทำให้จิตใจของเราสงบผ่องใส หายความโศกเศร้าไปได้ และในส่วนที่เกี่ยวกับตนเอง เราก็ได้ทำจิตใจของเราให้เป็นจิตใจที่ดีงาม ระลึกถึงแต่สิ่งที่เป็นคุณธรรม ตั้งใจในการที่จะดำเนินชีวิตให้ดีงามยิ่งขึ้นสืบต่อไป. ด้วยบุญด้วยกุศลเหล่านี้ รำลึกด้วยจิตใจที่เป็นหนึ่งเป็นอันเดียวกัน ทุกคนที่มานี้มีจิตใจรวมกันเป็นเอกฉันท์ในการที่จะอุทิศกุศล แด่ท่านผู้ล่วงลับไปแล้ว เมื่อรำลึกเช่นนี้แล้วก็ตั้งใจแผ่จิตอุทิศกุศลให้แก่ท่าน ก็จะสำเร็จเป็นปัตติทานมัยบุญกิริยา และในส่วนของท่านผู้ล่วงลับก็เป็นปัตตานุโมทนามัยสืบต่อไป. ในวาระนี้ อาตมภาพได้แสดงพระธรรมเทศนาใน ปุญญกถา แสดงเรื่อง ‘บุญ’ โดยปรารภเรื่อง ‘คติธรรมดาแห่งชีวิตคือความตาย’ อันจะทำให้เกิดประโยชน์เป็นบุญ ความเจริญงอกงามในความดี ก็พอสมควรแก่เวลา ต่อแต่นี้ไปขอเชิญคณะท่านเจ้าภาพ จงได้ตั้งใจกรวดน้ำอุทิศกุศลส่งไปให้แก่ผู้ตาย ดังพระบาลีอนุโมทนาที่อาตมภาพจะได้กล่าวต่อไป. แสดงพระธรรมเทศนาพอสมควรแก่เวลา ยุติลงแต่เพียงเท่านี้ เอวังก็มี ด้วยประการฉะนี้.
ที่มา : https://www.payutto.net
0 comments: