วันอาทิตย์ที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

ขรสฺสรชาตกํ - ว่าด้วยบุตรที่มารดาละทิ้ง

ขรสฺสรชาตกํ - ว่าด้วยบุตรที่มารดาละทิ้ง

"ยโต วิลุตฺตา จ หตา จ คาโว,   ทฑฺฒานิ เคหานิ ชโน จ นีโต;    อถาคมา ปุตฺตหตาย ปุตฺโต, ขรสฺสรํ ฑิณฺฑิมํ  วาทยนฺโตติ ฯ  เมื่อใดพวกโจรปล้น และฆ่าวัวกิน เผาบ้าน และจับคนไปเป็นเชลย,  เมื่อนั้น บุตรที่มารดาละทิ้งแล้ว จึงมาตีกลองเสียงดัง"

ขรัสสรชาดกอรรถกถา

พระบรมศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหารทรงปรารภอำมาตย์ผู้หนึ่ง ตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า ยโต วิลุตฺตา จ หตา จ คาโว ดังนี้.

ได้ยินว่า อำมาตย์ผู้หนึ่งของพระเจ้าโกศล ยังพระราชาให้โปรดปรานแล้วได้กำลังในปัจจันตคาม ไปร่วมกับพวกโจรกล่าวว่า „เราจักพาพวกมนุษย์เข้าป่า พวกเจ้าปล้นบ้านแล้วแบ่งให้เราครึ่งหนึ่ง“ ดังนี้แล้ว เรียกพวกมนุษย์ให้ประชุมกันแล้วพาเข้าป่าไปเสียก่อน เมื่อพวกโจรพากันมาจับแม่โคฆ่ากินเนื้อปล้นบ้านเรือนพากันไปแล้ว มีมหาชนแวดล้อมกลับเข้าบ้านในเวลาเย็น, ไม่ช้าไม่นาน การกระทำของเขาก็ปรากฏ, พวกมนุษย์ พากันกราบทูลพระราชา.

พระราชารับสั่งเรียกเขามาแล้วให้กำหนดโทษทรงลงพระอาญา สมควรแก่โทษานุโทษ ส่งนายอำเภอผู้อื่นไปแทนแล้วเสด็จไปพระเชตวัน ถวายบังคมพระตถาคต กราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า „ดูก่อนมหาบพิตร มิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้นที่อำมาตย์ผู้นั้น มีปกติประพฤติอย่างนี้ ถึงในกาลก่อนก็มีปกติประพฤติอย่างนี้เหมือนกัน“  อันพระเจ้าโกศลกราบทูลอาราธนาทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้ :-  ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสีทรงพระกรุณาพระราชทานปัจจันตคามแก่อำมาตย์ผู้หนึ่ง. 

เรื่องต่อไปทั้งหมด ก็เป็นเช่นเดียวกับเรื่องก่อนทั้งหมด ในครั้งนั้น พระโพธิสัตว์ท่องเที่ยวไปในปัจจันตคามเพื่อการค้าพำนักอาศัยอยู่ในหมู่บ้านนั้น พระโพธิสัตว์นั้น เมื่อนายอำเภอผู้นั้น ตีกลองอึกทึกมากับมหาชนผู้ห้อมล้อมในตอนเย็น จึงกล่าวว่า „นายอำเภอผู้ร้ายคนนี้รวมหัวกันกับพวกโจรให้ปล้นชาวบ้าน, ครั้นพวกโจรพากันหนีเข้าดงไปแล้ว คราวนี้สิ มีกลองตีเดินมาทำเหมือนคนสงบเสงี่ยม“ แล้วกล่าวคาถานี้ว่า :-  „เมื่อใดชาวบ้านถูกปล้นเรียบร้อยแล้ว ฝูงโคถูกเชือดแล้ว เรือนทั้งหลายถูกไฟเผาวอดไปแล้ว ผู้คนถูกต้อนไปแล้ว, เมื่อนั่นบุตรที่มารดา ละทิ้งแล้วจึงมาตีกลองเสียงอึกทึก.“ 

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ยโต แปลในกาลใด.  บทว่า วิลุตฺตา จ หตา จ ความว่า พวกโจรพากันปล้นฆ่า เชือดฝูงโค เพื่อกินเนื้อ.  บทว่า คาโว ได้แก่ ฝูงโค.  บทว่า ทฑฺฒานิ ความจุดไฟเผาเรือนให้ไหม้.  บทว่า ชโน จ นีโต จับคนนำไปเป็นเชลย.  บทว่า ปุตฺตหตาย ปุตฺโต ได้แก่ ลูกของหญิงที่มารดาละทิ้งแล้ว อธิบายว่าได้แก่ คนหน้าด้าน. เพราะว่า คนที่ปราศจากหิริโอตตัปปะแล้วชื่อว่าย่อมไม่มีแม่ ด้วยเหตุนี้ ถึงแม้ว่า แม่ยังมีชีวิตอยู่ เขาก็ไม่ตั้งอยู่ในฐานะเป็นลูก เพราะฉะนั้น เขาย่อมได้ชื่อว่าเป็นลูกของหญิงที่มารดาทอดทิ้ง.   บทว่า ขรสฺสรํ ได้แก่ เสียงครึกโครม.  บทว่า เทณฺฑิมํ ได้แก่ ตีกลอง.

พระโพธิสัตว์ บริภาษเขาด้วยคาถานี้ ด้วยประการฉะนี้ กรรมนั้นของเขาปรากฏต่อกาลไม่ช้าเลย. ครั้งนั้น พระราชาทรงลงพระอาญาแก่เขา สมควรแก่โทษานุโทษ.  พระบรมศาสดา ตรัสว่า „ดูก่อนมหาบพิตร มิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้น ที่อำมาตย์ผู้นั้น มีปกติประพฤติอย่างนี้ แม้ในครั้งก่อนก็ได้มีความประพฤติชั่วมาแล้วเหมือนกัน“ ครั้นทรงนำพระธรรม เทศนานี้มาแล้วทรงสืบอนุสนธิประชุมชาดกว่า อำมาตย์ในครั้งนั้นได้มาเป็นอำมาตย์ในครั้งนี้ ส่วนบัณฑิตผู้ยกคาถาขึ้นกล่าวได้มาเป็นเราตถาคต ฉะนี้แล.

ที่มา : Palipage : Guide to Language - Pali



Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: