วันเสาร์ที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

ความหมายของคําว่า “พระ” กับ “มาร”

ความหมายของคําว่า “พระ” กับ “มาร”

..“ ในชั้นแรก เราจะพูดกันโดยตัวพยัญชนะ หรือตัวหนังสือก่อนว่า คําว่า “พระ”นี้ แปลว่า ดี หรือว่า ประเสริฐ, ส่วนคําว่า “มาร” มันก็แปลว่า สิ่งที่ทําลายล้าง, มาร ถือกันว่ามาจากคําว่า ความตาย, มารคือสิ่งที่ทําให้ตาย, ผู้ประหาร. แต่แท้ที่จริงนั้น เรื่องประหารเสียให้ตายนี้ไม่น่ากลัวอะไร ที่ลําบากมากก็คือ มาทําให้เกิดเป็นอุปสรรค, คือทําให้ประโยชน์ของบุคคลนั้นตายไป โดยที่บุคคลนั้นไม่ต้องตาย บุคคลนั้นมันยังอยู่ แต่เมื่อประโยชน์หรือความดีของเขาถูกประหารให้ตายไปเสีย เขาก็มีอาการเหมือนกับคนบ้า หรือว่าได้เป็นบ้าไปจริงๆ มันเป็นเรื่องละเอียดอยู่มาก ขอให้สังเกตดูให้ดี

..นี้เมื่อกล่าวตามตัวหนังสือ “พระ” ก็แปลว่า สิ่งที่ดีที่ประเสริฐ, มาร ก็คือ สิ่งที่ทําลายล้าง หรืออุปสรรคของสิ่งที่มนุษย์ปรารถนา; ว่าโดยอรรถะโดยความหมายก็พูดได้ตรงๆว่า มาร คือสิ่งที่เป็นอุปสรรค, โดยพฤตินัยก็คือสิ่งที่มีอยู่ทั่วๆไปในชีวิตประจําวัน, เรารู้จักกันแต่เรื่องมารที่เกี่ยวกับพระพุทธเจ้าเสียเป็นส่วนใหญ่ ส่วนมารที่เกี่ยวกับตัวเองนั้นไม่ได้สนใจ หรือเกือบจะไม่รู้จัก

..มารผจญพระพุทธเจ้าหลายครั้ง หรือหลายสิบครั้ง และครั้งที่รู้จักกันมากที่สุด ก็คือ ครั้งที่จะออกบวช และในขณะที่จะตรัสรู้ เมื่อคืนที่จะออกบวชตามตํานานก็ว่า มีพญามารมาสกัดหน้าห้ามไว้ว่า อย่าไปบวช ; เพราะว่าจะได้เป็นจักรพรรดิครองโลก ในทิศทั้งปวงอยู่ในไม่กี่วันนี้แล้ว; พระพุทธเจ้าก็ยังไม่เชื่อและออกไปจนได้ และเมื่อขณะที่จะตรัสรู้ก็ได้ผจญกับมารอันใหญ่หลวง ที่เรียกว่า ผจญมารแล้วชนะมาร ตามตํานานนั้นก็ว่าเป็นมารที่มาจากสวรรค์ชั้นสูงสุดของ กามาวจร คือ “สวรรค์ชั้น ปรนิมมิตวสวัตตี” ที่เป็นเรื่องสูงสุดของกามารมณ์ โดยความหมายจากตัวหนังสือก็มีว่าอย่างนี้

..แต่โดยความหมายในภาษาธรรม มันยังมีลึกไปกว่านี้ ซึ่งมีผู้วินิจฉัยกันว่า “ความคิดนึกรู้สึกประเภทฝ่ายต่ำ” ฝ่ายที่จะดึงไปหาความต่ำนั้นเอง เรียกว่า “มาร”; เช่นว่ากําลังออกบวชก็มีมารมาห้ามว่าอย่าออกบวช. นี่ก็คือความรู้สึกที่ลังเลสักขณะหนึ่งเพียงครั้งเดียว ว่าอยู่เป็นจักรพรรดิอาจจะดีกว่า, หรือว่าเมื่อครั้งที่จะตรัสรู้อยู่หยกๆแล้ว ก็ยังมีมารชั้นปรนิมมิตวสวัตตี ซึ่งมีอํานาจมาก ดูได้จากรูปภาพที่เขาเขียนหรือบรรยายสําหรับมารในชั้นนี้ ว่าขี่ช้างที่ดุร้าย มีพลกายมากมายทุกอย่างที่มารบกวนพระองค์ นี้ในความหมายในภาษาธรรม ก็หมายถึงความหวนระลึกถึงความสุขสูงสุดที่สัตว์ในโลกนี้จะได้รับจากกามารมณ์ แม้จะเป็นความลังเล ความหวนระลึกนึกถึงสักแวบหนึ่งเท่านั้น ก็ยังถือว่าเป็นมารได้

..มารนี้ คือความรู้สึกประเภทที่ตรงกันข้าม ที่อาจจะเกิดขึ้นมาแม้สักแวบหนึ่ง เพื่อต่อต้านความรู้สึกที่เป็นความประสงค์มุ่งหมายอันแท้จริง ตามตํานานในภาษาคนก็เขียนให้เป็นยักษ์เป็นมาร มาผจญพระพุทธเจ้า; แต่ความหมายในทางภาษาธรรมนั้น คือความรู้สึกในภายใน ; จะเล่ามันก็ค่อนข้างจะยืดยาว”

พุทธทาสภิกขุ , ที่มา : ธรรมบรรยายประจำวันเสาร์ แห่งภาคอาสาฬหบูชา ครั้งที่ ๕ หัวข้อเรื่อง “พระ กับ มาร คือใคร?” บรรยายเมื่อวันที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๒๑ จากหนังสือชุดธรรมโฆษณ์ เล่มชื่อว่า “ใครคือใคร” หน้า ๑๔๓-๑๔๕


Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: