วันเสาร์ที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

เรื่อง“สมาธิ”นี้ ต้องระวัง! สำคัญ ถ้าไม่เข้าใจตามหลักการของพระพุทธศาสนาอาจจะเขวได้

เรื่อง“สมาธิ”นี้ ต้องระวัง ! สำคัญ ถ้าไม่เข้าใจตามหลักการของพระพุทธศาสนาอาจจะเขวได้

..“ไตรสิกขา” เป็นระบบที่รวมองค์ธรรมต่างๆมากมายเข้ามาสัมพันธ์กัน เพื่อจะเดินหน้าไปสู่จุดหมาย ดังนั้น องค์ธรรมทุกอย่างในไตรสิกขาซึ่งเป็นข้อย่อยๆนี้ จะต้องสัมพันธ์กัน ในลักษณะที่ส่งผลต่อกัน เป็นปัจจัยส่งต่อแก่ข้ออื่นๆต่อไป ..ข้อธรรมทั้งหลายในพระพุทธศาสนา ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการแห่งไตรสิกขา ซึ่งเป็นระบบสัมพันธ์แห่งองค์ธรรมที่เป็นปัจจัยหนุนเนื่องต่อกันไปสู่จุดหมาย เพราะฉะนั้น องค์ธรรมทุกข้อจะต้องมีความหมายในเชิงเป็นปัจจัยหนุนเนื่องส่งต่อแก่ข้ออื่น

..ถ้าปฏิบัติธรรมแล้วล่องลอยอยู่ หรือทำให้อยู่กับที่ แสดงว่าผิด อันนี้คือหลักใหญ่ที่ใช้วินิจฉัย เพราะธรรมทุกข้อไม่พ้นไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ..ไม่ว่าท่านจะเอาหลักธรรมข้อไหนมา จะเอาเมตตา กรุณา สติ สมาธิ ข้อไหนก็ตาม ทุกข้ออยู่ในไตรสิกขาหมด เมื่อมันอยู่ในไตรสิกขา มันก็อยู่ในระบบ มันก็อยู่ในกระบวนการคืบหน้า ที่ต้องเดินไปสู่จุดหมายเดียวกัน ทุกข้อจึงต้องส่งผลต่อกันในลักษณะใดลักษณะหนึ่ง ถ้าปฏิบัติธรรมข้อใดแล้ว ทำให้หยุด ทำให้ล่องลอยไร้จุดหมาย ก็แสดงว่าผิด ..ถ้าเราปฏิบัติสมาธิแล้ว กลายเป็นเครื่องกล่อม ทำให้เพลินสงบอยู่ ก็หยุด แสดงว่ามันด้วน ไม่ส่งผลต่อกระบวนการไตรสิกขา ไม่เดินหน้าก็ผิด ถ้าปฏิบัติถูก ต้องส่งผลในไตรสิกขา

สมาธิเป็นปัจจัยแก่อะไร? 

..ว่าโดยหลักใหญ่ สมาธิเป็นปัจจัยแก่ “ปัญญา” เพราะสมาธิทำให้จิตสงบ ใส และมีกำลัง ภาวะที่จิตสงบก็ดี ใสก็ดี มีกำลังก็ดี คือจิตพร้อมที่จะทำงาน ลักษณะสำคัญของจิตที่เป็นสมาธิ ท่านเรียกว่าเป็น “กัมมนิยัง” หรือ “กรรมนีย์” อันนี้แหละเป็นคุณสมบัติที่พระพุทธเจ้าทรงประสงค์ให้เราต้องการ พอจิตเป็นสมาธิปุ๊บ ก็เป็น “กัมมนิยัง” ทันที

..“กัมมนิยัง” หรือ กรรมนีย์ แปลว่า เหมาะแก่การใช้งาน จึงต้องเอาไปใช้ อย่าไปหยุดอยู่ #ถ้าจิตเป็นสมาธิแล้วหยุดสบายก็แสดงว่าพลาดแล้ว พระพุทธเจ้าต้องการให้เอาจิตที่เป็นกรรมนีย์นี้ไปใช้งาน ไม่ใช่ให้มานอนเสวยสุขอยู่เฉยๆ ใช้งานอะไร? ในไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา สมาธิซึ่งเป็นองค์ที่ ๒ ส่งผลหนุนเนื่องให้เกิดปัญญา ก็เอาไปใช้งานทางปัญญา นี่คือประโยชน์ข้อที่ ๒ ที่บอกว่าเป็นคุณลักษณะของจิตที่สำคัญ คือทำให้จิตใส ไม่มีอะไรมารบกวน ทำให้ใช้งานในทางปัญญาได้เต็มที่

..ปัญญานั้น ต้องอาศัยจิตเป็นที่ทำงาน ดังนั้น ยิ่งเรื่องละเอียดอ่อนลึกซึ้งเท่าไร การที่จะคิดพิจารณาให้รู้ให้เข้าใจก็ยิ่งต้องการจิตที่แน่วแน่เท่านั้น ถ้าเรื่องไม่ละเอียดอ่อน ไม่ลึกซึ้ง เราก็ไม่ต้องใช้สมาธิมาก แม้แต่จะทำงานทำการหรือฟังครูอาจารย์สอนบรรยาย ถ้าเราไม่มีสมาธิบ้างเลย ก็ไม่รู้เรื่อง ปัญญาไม่เกิด เพราะฉะนั้น ปัญญาจะออกโรงมาทำงานได้ ต้องอาศัยจิตที่เป็นสมาธิมากบ้างน้อยบ้าง ตามแต่เรื่องนั้นจะละเอียดลึกซึ้งแค่ไหน

..ตกลงว่า พระพุทธศาสนาบอกให้รู้ว่า สิ่งที่เราต้องการจากสมาธินี้ คือ การมีสมาธิที่ทำให้จิตพร้อมที่จะใช้งาน และงานสำคัญที่ต้องการใช้คือ “ปัญญา” ที่จะรู้เข้าใจความจริงของสิ่งทั้งหลาย จนกระทั่งเข้าถึงความจริงของธรรมชาติ ..ความรู้เข้าใจธรรมชาติของสิ่งทั้งหลายว่าเป็นอย่างไร รู้สิ่งทั้งหลายตามที่มันเป็นจริง นี้เป็นสิ่งที่ต้องการ ถ้าไม่รู้ถึงขั้นนี้แล้วกิเลสไม่หมด ฉะนั้น จึงต้องให้เชื่อมต่อระหว่างสมาธิกับปัญญา

..ตอนนี้ ที่พูดมาก็เพื่อให้เห็นว่า เรื่องสมาธินี้ต้องระวังเหมือนกัน ถ้าไม่เข้าใจหลักการของพระพุทธศาสนาให้ชัดก็อาจจะเขวได้ เพราะคุณประโยชน์ ๓ ประการนี้มีช่องทางการใช้ต่างกันออกไป  ..ตอนนี้ขอสรุปขั้นหนึ่งก่อนว่า คุณสมบัติหรือคุณประโยชน์ของสมาธิที่สำคัญ ๓ ประการ คือ  

๑.   สมาธิทำให้จิตแน่วแน่เกิดพลัง ซึ่งอาจจะนำไปใช้ในเรื่องของฤทธิ์ เรื่องของปาฏิหาริย์ เป็นพลังจิต      ๒. สมาธิทำให้จิตใส ทำให้มองอะไรชัดเจน เกื้อกูลโดยตรงต่อการใช้ปัญญา    ๓. สมาธิทำให้จิตสงบ ไร้สิ่งรบกวน ทำให้เกิดความสุข

..เวลานี้สังคมมีปัญหาทางจิตใจมาก เพราะพิษภัยของวัตถุนิยม และสภาพความเจริญที่วุ่นวายและกดดันของสังคม คนจึงไปหวังประโยชน์ข้อที่ ๓ จากสมาธิมาก ซึ่งยังไม่ใช่จุดหมายของพระพุทธศาสนา ..ขอให้จำหลักการสำคัญของพระพุทธศาสนาว่า  

..ถ้าปฏิบัติธรรมอะไรแล้ว ทำให้เกิดความประมาท ก็ผิด.  ถ้าปฏิบัติธรรมอะไรแล้ว ไม่ส่งผลให้ก้าวต่อไปในระบบแห่งกระบวนการของไตรสิกขา ไม่เคลื่อนสู่จุดหมาย ก็ผิด ต้องระวังให้ดี”

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ( ป. อ. ปยุตฺโต )

ที่มา : ปาฐกถาธรรม แสดงที่ วัดธัมมาราม นครชิคาโก สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ ๕ พฤษภาคม ๒๕๓๙


Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: