วันศุกร์ที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

มงคลที่ ๓๒ พฺรหฺมจริยญฺจ เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ - ความประพฤติธรรมอันประเสริฐ เป็นอุดมมงคล

มงคลที่ ๓๒ การประพฤติพรหมจรรย์ - พรัหมะจะริยัญ จะ

๏ เร่งประพฤติ พรหมจรรย์ อันประเสริฐ์ เพื่อให้เกิด สุขล้วน โดยถ้วนถี่ ตั้งแต่ทาน ถึงสิกขา บรรดามี สมบูรณ์ดี พรหมจรรย์ ย่อมมั่นคง ๛

คำว่าพรหมจรรย์หมายความถึง การบวชซึ่งละเว้นเมถุน การครองชีวิตที่ปราศจากเมถุน การประพฤติธรรมอันประเสริฐ ท่านว่าลักษณะของธรรมที่ถือว่าเป็นการประพฤติพรหมจรรย์นั้น (ไม่ใช่ว่าต้องบวชเป็นพระ) มีอยู่ดังนี้คือ

๑. ให้ทาน บริจาคทานไม่ว่าจะเป็นทรัพย์ สิ่งของ เงินทอง หรือปัญญา     ๒. ช่วยเหลือผู้อื่นในกิจการงานที่ชอบ ที่ถูกที่ควร (เวยยาวัจจมัย)      ๓. รักษาศีล ๕ คือไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักขโมย ไม่ทำผิดในกาม ไม่พูดปด ไม่ดื่มน้ำเมา (เบญจศีล)     ๔. มีเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขากับคนที่เราต้องพบปะด้วยทุกคน (อัปปมัญญา)   ๕. งดเว้นจากการเสพกาม (เมถุนวิรัติ)     ๖. ยินดีในคู่ของตน คือการมีสามีหรือภรรยาคนเดียว (สทารสันโดษ)   ๗. เพียรพยายามที่จะละความชั่ว ไม่ท้อถอยในความบากบั่น (วิริยะ)     ๘. รักษาซึ่งศีล ๘ คือ ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักขโมย ไม่ร่วมประเวณี ไม่พูดปด ไม่ดื่มน้ำเมา ไม่บริโภคอาหารตั้งแต่เที่ยงวันเป็นต้นไป ไม่ฟ้อนรำ ขับร้อง บรรเลงดนตรี ดูการละเล่น ใช้ของหอมหรือเครื่องประดับ ไม่นอนบนที่สูงใหญ่ หรูหรา (อุโบสถ)     ๙. ใช้ปัญญาเห็นแจ้งใน ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค (อริยธรรม)    ๑๐. ศึกษาปฏิบัติในศีล สมาธิ ปัญญา ให้รู้แจ้งเห็นจริง (สิกขา)

* ขออธิบายเพิ่มเติมว่าข้อ ๕ ที่บอกว่าให้งดเว้นการเสพกาม แต่ข้อ ๖ ให้ยินดีในคู่ของตนนั้น เพราะว่าการประพฤติพรหมจรรย์ในที่นี้หมายถึง บุคคลทั่วไปที่อาจมีครอบครัวแล้ว ก็ประพฤติพรหมจรรย์ได้โดยการงดเว้นการร่วมประเวณี เช่นในวันสำคัญๆ เป็นต้น 

ที่มา : http://www.dhammathai.org

พฺรหฺมจริยญฺจ เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ - ความประพฤติธรรมอันประเสริฐ เป็นอุดมมงคล

พรฺหมมะจะริยัง  นามะ  ทานะเวยยาวัจจะปัญจะสีละอัปปะมัญญา  เมถุนะวิระติ   สันโต   วิริยะอุโปสะถังถังคะริยะมัคคะสาสะวะนะวะเสนะ ทะสะวิธัง โหตีติ.

บัดนี้ จักได้วิสัชนาในมงคลที่ ๓๒ ตามพระบาลี อรรถกถาว่า พรหมมะจะริยัง แปลว่า ความประพฤติอันประเสริฐ อธิบายว่า บุคคลใดเป็นผู้ประพฤติตนให้เป็นคนประเสริฐ เรียกว่า พรหหมจรรย์ บุคคลพระพฤติพรหมจรรย์ เป็นมงคลอันประเสริฐ.  พรหมจรรย์มี ๑๐ อย่าง คือ การให้ข้าวน้ำเป็นต้นนั้น คือ ให้ตามกาลหรือเป็นให้เป็นนิตย์แก่มนุษย์และสัตว์ดิรัจฉาน หรือให้เมื่อบริโภคอาหารแก่มนษย์และสัตว์ดิรัจฉาน ในน้ำบนบกเป็นปกติ จัดเป็นพรหมจรรย์ ๑

รักษาศีล ๕ คือ ไม่ฆ่าสัตว์เป็นให้ตาย และไม่ใช่ให้ผู้ใดผู้็้หนึ่งฆ่า ๑ ไม่ลักไม่ฉ้อข้าวของที่เขารักษาและไม่ใช้ให้ผู้อื่นลักฉ้อ ๑ ไม่ล่วงประเวณีในสตรีที่เขาหวง ๑ ไม่พูดปดล่อลวงอำพรางผู้อื่น ๑ ไม่ดื่มกินน้ำเมา คือสุราเมรัย ๑ การงดเว้นบาปทั้ง ๕ จัดเป็นพรหมจรรย์ที่ ๒

การช่วยทำกุศลของบุุคลอื่นด้วยความแช่มชื่นโสมนัส จัดเป็นพรหมจรรย์ที่ ๓

การเจริญเมตตากรุณามุทิตาอุเบกขา ไม่โกรธ ไม่พยาบาทแช่งด่า ไม่เบียดเบียนให้สัตว์ได้รับความลำบาก จัดเป็นพรหมจรรย์ที่ ๔ ไม่เสพเมถุนด้วยกามราคะ ความกำหนัดยินดีด้วยสามีภรรยา จัดเป็นพรหมจรรย์ที่ ๕.  ความสันโดษมักน้อยในวัตถุกาม คือ ข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ และกิเลสกาม รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ย่อมมีผัวเดียวเมียเดียวไม่มีสอง จัดเป็นพรหมจรรย์ที่ ๖.  เป็นผู้มีความเพียรกล้าแข็ง ไม่ย่อท้อต่อกองการกุศลต่าง ๆ ว่ายากลำบากมีหนาวและมีร้อนเป็นต้น จัดเป็นพรหมจรรย์ที่ ๗

การรักษาอุโบสถศีลวันขึ้น ๘ ค่ำ ๑๕ ค่ำ แรม ๘ ค่ำ ๑๕ ค่ำ จัดเป็นพรหมจรรย์ที่ ๘.  ปัญญาพิจารณาเห็นในอริยสัจ ๔ คือ ทุกข์สัจจะ ๑ สมุทัยสัจจะ ๑ นิโรธสัจจะ ๑ มรรคสัจจะ ๑ เรียกว่า มรรคพรหมจรรย์ที่ ๙

ธรรมข้อปฎิบัติ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา เรียกว่า ศาสนาพรหมจรรย์ที่ ๑๐ พรหมจรรย์ทั้ง ๑๐ นี้ บุคคลใดยินดีรักษาได้แต่อันใดอันหนึ่งแล้ว ย่อมจะเป็นที่พึ่งของบุคคลผู้นั้นในทางสวรรค์และทางพระนิพพาน จัดเป็นมงคลอันประเสริฐ เป็นบ่อเกิดแห่งบุญสัมปทา ด้วยสมเด็จพระศาสดาทรงตรัสเทศนาในเมถุนวิรัติ การละเว้นเสพเมถุนว่า ภิกขะเว ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลใดละเสียซึ่งเมถุนสังวาสด้วยอำนาจแห่งฌานโลกีย์ ไม่ให้ราคะความกำหนัดครอบงำในสันดาน ครั้นทำลายสังขารก็ได้ไปบังเกิดในพรหมโลก ครั้นจุติจากพรหมโลกแล้ว ลงมาเกิดเป็นมนุษย์จะมีจิตอันบริสุทธิ์ไม่ยินดี ในเมถุนสังวาสด้วยอำนาจทาน ดังวัตถุนิทานเรื่องปิปผลิกับนางภัททกาปิลานี และเรื่องภิกษุ ๖๐ รูป เป็นต้น... 

ที่มา : http://larnbuddhism.com

มงคลที่ 1 , มงคลที่ 2 , มงคลที่ 3มงคลที่ 4 , มงคลที่ 5 , มงคลที่ 6 , มงคลที่ 7 มงคลที่ 8 , มงคลที่ 9 , มงคลที่ 10 , มงคลที่ 11 , มงคลที่ 12 , มงคลที่ 13 , มงคลที่ 14 , มงคลที่ 15 , มงคลที่ 16 , มงคลที่ 17 , มงคลที่ 18 มงคลที่ 19 , มงคลที่ 20 , มงคลที่ 21 , มงคลที่ 22 , มงคลที่ 23 , มงคลที่ 24 มงคลที่ 25 , มงคลที่ 26 , มงคลที่ 27 , มงคลที่ 28 , มงคลที่ 29 , มงคลที่ 30 , มงคลที่ 31 , มงคลที่ 32 , มงคลที่ 33 มงคลที่ 34 , มงคลที่ 35 , มงคลที่ 36มงคลที่ 37มงคลที่ 38 ฯ




Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: