วันอังคารที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

ว่าด้วยการทำไม่ถูกขั้นตอน

ว่าด้วยการทำไม่ถูกขั้นตอน

"โย  ปุพฺเพ  กรณียานิ,  ปจฺฉา  โส  กาตุมิจฺฉติ;  วรุณกฏฺฐ  ภญฺโชว,  ส  ปจฺฉา  มนุตปฺปตีติ ฯ   ผู้ใดปรารถนาจะทำกิจที่ควรทำก่อน ในภายหลัง, ผู้นั้นย่อมเดือดร้อนในภายหลัง เหมือนมาณพหักไม้กุ่ม ฉะนั้น"

วรุณชาดกอรรถกถา

พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหารทรงปรารภพระติสสเถระ บุตรกุฏุมพี ตรัสพระธรรมเทศนานี้มีคำเริ่มต้นว่า โย ปุพฺเพ กรณียานิ ดังนี้.

ได้ยินว่า ในวันหนึ่ง กุลบุตรชาวเมืองสาวัตถี เป็นสหายกันประมาณ ๓๐ คน ถือของหอม ดอกไม้และผ้าเป็นต้น คิดกันว่า „พวกเราจักฟังพระธรรมเทศนาของพระศาสดา“ อันมหาชนห้อมล้อม พากันไปสู่วิหารเชตวัน นั่งพักในโรงชื่อนาคมาฬกะและวิสาลมาฬกะเป็นต้น พอเวลาเย็นเมื่อพระศาสดาเสด็จออกจากพระคันธกุฎี อันอบแล้วด้วยกลิ่นหอม เสด็จดำเนินไปสู่ธรรมสภา ประทับนั่งเหนือพุทธอาสน์ อันตกแต่งแล้วจึงพากันไปสู่ธรรมสภาพร้อมด้วยบริวาร บูชาพระศาสดาด้วยของหอมและดอกไม้ ถวายบังคมแทบบาทยุคล อันประดับด้วยจักร์ทรงพระสิริเสมอด้วยดอกบัวบานแล้วนั่งฟังพระธรรมอยู่ ณ ส่วนข้างหนึ่ง. พวกเขาพากันปริวิตกว่า „เราทั้งหลายต้องบวช ถึงจะรู้ทั่วถึงธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงแล้วได้กว้างขวาง“ ในเวลาที่พระตถาคตเสด็จออกจากธรรมสภา พวกกุลบุตรเหล่านั้นก็พากันเข้าไปเฝ้าถวายบังคมทูลขอบรรพชา.

พระศาสดาทรงประทานบรรพชาแก่พวกเขา. พวกเขากระทำให้อาจารย์และอุปัชฌาย์โปรดปรานแล้วได้อุปสมบท อยู่ในสำนักของอาจารย์และอุปัชฌาย์ ๕ พรรษา ท่องมาติกา ทั้ง ๒ คล่องแคล่วรู้สิ่งที่เป็นกัปปิยะและอกัปปิยะ เรียนอนุโมทนา ๓ เย็นย้อมจีวรแล้วกราบลาอาจารย์และอุปัชฌาย์ว่า „พวกกระผมจักบำเพ็ญสมณธรรม“ แล้วพากันเข้าเฝ้าพระศาสดาถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่สมควรส่วนข้างหนึ่ง กราบทูลวิงวอนว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกข้าพระองค์เอือมระอาในภพทั้งหลาย กลัวแต่ความเกิด ความแก่ ความเจ็บและความตาย ขอพระองค์จงตรัสบอกพระกรรมฐาน เพื่อปลดเปลื้องตนจากสังสารทุกข์แก่ข้าพระองค์ทั้งหลายเหล่านั้นเถิด พระเจ้าข้า“.

พระศาสดาทรงทราบสัปปายะ จึงตรัสบอกพระกรรมฐานข้อหนึ่ง ในกรรมฐาน ๓๘ ประการแก่ภิกษุเหล่านั้น. ภิกษุเหล่านั้นเรียนพระกรรมฐานในสำนักของพระศาสดาแล้ว ถวายบังคมพระศาสดากระทำปทักษิณไปสู่บริเวณ อำลาอาจารย์และพระอุปัชฌาย์ ถือเอาบาตรและจีวรออกจากวิหารไปด้วยตั้งใจว่า พวกเราจักบำเพ็ญสมณธรรม.   ครั้งนั้น ในระหว่างภิกษุเหล่านั้นมีภิกษุรูปหนึ่ง โดยชื่อเรียกกันว่า กฏุมพิกปุตตติสเถระ เป็นผู้เกียจคร้าน มีความเพียรทราม ติดรสอาหาร เธอคิดอย่างนี้ว่า „เราจักไม่สามารถเพื่ออยู่ในป่า ไม่อาจจะยังอัตภาพให้เป็นไปด้วยการเที่ยวภิกษาจารการไปป่าไม่เกิดประโยชน์อะไรแก่เราเลย, เราจักกลับ" เธอทอดทิ้งความเพียรเพียรเสียแล้ว เดินตามภิกษุเหล่านั้นไปหน่อยหนึ่งแล้วกลับเสีย. 

ฝ่ายภิกษุเหล่านั้นพากันจาริกไปในแคว้นโกศลถึงหมู่บ้านชายแดนตำบลหนึ่ง ก็เข้าอาศัยหมู่บ้านนั้นจำพรรษาอยู่ที่ชายป่าแห่งหนึ่ง เป็นผู้ไม่ประมาทเพียรพยายามอยู่ตลอดระยะกาลภายในไตรมาส ถือเอาห้องวิปัสสนา ยังปฐพีให้บรรลือลั่น บรรลุพระอรหัตต์แล้ว พอออกพรรษา ปวารณาแล้วปรึกษากันว่า „จักกราบทูลคุณที่ตนได้บรรลุแล้ว แด่พระศาสดา“ จึงพากันออกจากปัจจันตคาม ถึงพระเชตวันมหาวิหารโดยลำดับ เก็บบาตรและจีวรเรียบร้อยแล้ว ก็เข้าพบอาจารย์และพระอุปัชฌาย์ปรารถนาจะเฝ้าพระตถาคตเจ้า พากันไปยังสำนักของพระศาสดาถวายบังคมแล้วนั่งเฝ้าอยู่ พระศาสดาได้ทรงกระทำปฏิสันถาร ด้วยพระดำรัสอันไพเราะ กับภิกษุเหล่านั้น. ภิกษุเหล่านั้นได้รับปฏิสันถารแล้วจึงกราบทูลที่ตนได้แล้วแด่พระตถาคต.

พระศาสดาทรงสรรเสริญภิกษุเหล่านั้น, พระกุฏุมพิกปุตตติสสเถระ เห็นพระศาสดาตรัสสรรเสริญคุณของภิกษุเหล่านั้น, แม้ตนเองก็ประสงค์จะบำเพ็ญสมณธรรมบ้าง. ฝ่ายภิกษุทั้งหลายแม้เหล่านั้นกราบทูลลาพระศาสดาว่า „ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญพวกข้าพระองค์จักไปอยู่ที่ชายป่านั้น“ พระศาสดาทรงอนุญาตแล้ว. พวกภิกษุเหล่านั้นถวายบังคมพระศาสดาแล้วได้พากันไปสู่บริเวณ.  ครั้งนั้น พระกุฏุมพิกปุตตติสสเถระนั้นบำเพ็ญเพียรจัด ในระหว่างเวลารัตติกาล บำเพ็ญสมณธรรมโดยรีบเร่งเกินไป พอถึงเวลาระยะมัชฌิมยาม ทั้ง ๆ ที่ยืนพิงแผ่นกระดานสำหรับพัก หลับไป กลิ้งตกลงมา กระดูกขาของท่านแตก. เกิด เวทนามากมาย. เมื่อภิกษุเหล่านั้นต้องช่วยปฏิบัติเธอ การเดินทางก็ชะงัก 

ครั้งนั้น พระศาสดาตรัสถามภิกษุเหล่านั้นผู้พากันมาในเวลาเป็นที่บำรุงว่า „ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอบอกลาเมื่อวานว่า จักพากันไปในวันพรุ่งนี้ มิใช่หรือ ?“  ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า „เช่นนั้น พระเจ้าข้า, ก็แต่ว่า ท่านติสสเถระบุตรกุฏุมพี สหายของข้าพระองค์ทั้งหลาย การทำสมณธรรมอย่างรีบเร่ง ในเวลามิใช่กาล ถูกความง่วงครอบงำ กลิ้งตกลงไป กระดูกขาแตก เพราะเธอเป็นเหตุ พวกข้าพระองค์จึงจำต้องงดการเดินทาง“ 

พระศาสดาตรัสว่า „ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้น ที่ภิกษุนี้ รีบเร่งกระทำความเพียรในเวลามิใช่กาล เพราะความที่ตนเป็นผู้มีความเพียรย่อหย่อน จึงกระทำอันตรายการเดินทางของพวกเธอ, แม้ในครั้งก่อน ภิกษุนี้ก็ได้ทำอันตรายการเดินทางของพวกเธอมาแล้วเหมือนกัน“ ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลอาราธนา จึงทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้ :-  ในอดีตกาล พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นอาจารย์ทิศาปาโมกข์ ให้มาณพ ๕๐๐ คน เล่าเรียนศิลปะอยู่ในเมืองตักกสิลาแคว้นคันธาระ ครั้นวันหนึ่งมาณพเหล่านั้นพากันไปป่าเพื่อหาฟืน รวบรวมฟืนไว้ ในระหว่างมาณพเหล่านั้นมีมาณพผู้เกียจคร้านอยู่คนหนึ่ง เห็นต้นกุ่มใหญ่สำคัญว่า ต้นไม้นี้เป็นต้นไม้แห้ง คิดว่า "นอนเสียชั่วครูหนึ่งก่อนก็ได้ ทีหลังค่อยขึ้นต้นหักฟืนทิ้งลงหอบเอาไป" จึงปูลาดผ้าห่มลงนอนกรนหลับสนิทส่วนมาณพนอกนี้ พากันผูกฟืนเป็นมัด ๆ แล้วแบกไป เอาเท้ากระทืบมาณพนั้นที่หลังปลุกให้ตื่นแล้วพากันไป มาณพผู้เกียจคร้าน ลุกขึ้นขยี้ตา จนหายง่วงแล้ว ก็ปืนขึ้นต้นกุ่ม จับกิ่งเหนี่ยวมาตรงหน้าตน พอหักแล้ว ปลายไม้ที่ลัดขึ้นก็ดีดเอานัยน์ตาของตนแตกไป เอามือข้างหนึ่งปิดตาไว้ ข้างหนึ่งหักฟืนสด ๆลงจากต้น มัดเป็นมัดแบกไปโดยเร็ว เอาไปทิ้งทับบนฟืนที่พวกมาณพเหล่านั้นกองกันไว้อีกด้วย. ก็ในวันนั้น ตระกูลหนึ่ง จากบ้านในชนบท นิมนต์อาจารย์ไว้ว่า "พรุ่งนี้ พวกกระผมจักกระทำการสวดมนต์พราหมณ์". 

อาจารย์จึงกล่าวกะพวกมาณพว่า "พ่อทั้งหลาย พรุ่งนี้ต้องไปถึงหมู่บ้านตำบลหนึ่ง แต่พวกเธอไม่ได้กินอาหารก่อน จักไม่อาจไปได้ ต้องให้เขาต้มข้าวแต่เช้าตรู่ไปที่นั่น ถือเอาส่วนที่ตนจะต้องได้รับและส่วนที่ถึงแก่เราแล้วรีบพากันมาเถิด".  พวกมาณพเหล่านั้นปลุกทาสีให้ลุกขึ้นต้มข้าวต้มแต่เช้าตรู่ สั่งว่า "เจ้าจงรีบต้มข้าวต้มให้แก่พวกเราโดยเร็ว". ทาสีนั้นไปหอบฟืนก็หอบเอาฟืนไม้กุ่มสดไป แม้จะใช้ปากเป่าลมบ่อย ๆก็ไม่อาจให้ไฟลุกได้ จนดวงอาทิตย์ขึ้น. พวกมาณพเห็นว่า "สายนักแล้ว บัดนี้ พวกเราไม่อาจจะไปได้" จึงพากันไปสำนักท่านอาจารย์. ท่านอาจารย์ถามว่า "พ่อเอ๋ย พวกเจ้าไม่ได้ไปกันดอกหรือ ?" พวกมาณพตอบว่า "ครับท่านอาจารย์ พวกกระผมไม่ได้ไป" อาจารย์ถามว่า "เพราะเหตุไร ?" จึงตอบว่า "มาณพเกียจคร้านโน่น ไปป่าเพื่อหาฟืนกับพวกผม ไปนอนหลับเสียที่โคนกุ่ม ทีหลังจึงรีบขึ้นไป ไม้สลัดเอาตาแตก หอบเอาไม้สด ๆ มาโยนไว้ข้างบนฟืนที่พวกผมหามา คนต้มข้าว ขนเอาฟืนสด ๆ นั้นไปด้วยสำคัญว่า เป็นฟืนแห้ง จนดวงอาทิตย์ขึ้นสูงก็ไม่อาจก่อไฟให้ลุกได้ ด้วยเหตุนี้จึงเป็นอุปสรรคต่อการเดินทาง" 

ท่านอาจารย์ฟังสิ่งที่มาณพกระทำผิดพลาดแล้วกล่าวว่า "ความเสื่อมเสียเห็นปานนี้ย่อมมีได้ เพราะอาศัยกรรมของพวกอันธพาล" แล้วกล่าวคาถานี้ว่า :-  „กิจที่จะต้องรีบกระทำก่อน ผู้ใดใคร่จะกระทำภายหลัง, ผู้นั้นย่อมเดือดร้อนในภายหลัง เหมือนมาณพหักไม้กุ่ม เดือดร้อนอยู่ฉะนี้“.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ส ปจฺฉา อนุตปฺปติ ความว่า บุคคลผู้ใดผู้หนึ่ง ไม่พิจารณาให้ถ่องแท้ว่า กิจนี้ต้องทำก่อนกิจนี้ต้องทำภายหลัง เอากิจที่ต้องทำก่อน คือกรรมที่ต้องกระทำทีแรกนั่นแหละ มากระทำในภายหลัง บุคคลนั้น เป็นพาลบุคคลย่อมเดือดร้อน คือโศกเศร้า ร่ำไห้ในภายหลัง เหมือนมาณพของพวกเราผู้หักไม้กุ่มผู้นี้.  พระโพธิสัตว์ กล่าวเหตุนี้แก่เหล่าอันเตวาสิก ด้วยประการฉะนี้แล้วกระทำบุญมีทานเป็นต้น ในสุดท้ายแห่งชีวิต ก็ไปตามครรลองของกรรม. 

พระบรมศาสดา ก็ตรัสว่า „ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้น ที่ภิกษุนี้กระทำอันตรายต่อการเดินทางของพวกเธอ แม้ในครั้งก่อนก็ได้กระทำแล้วเหมือนกัน“ ดังนี้ทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้วทรงสืบอนุสนธิ ประชุมชาดกว่า „มาณพผู้ถึงแก่นัยน์ตาแตกในครั้งนั้นได้มาเป็นภิกษุผู้กระดูกขาแตกในบัดนี้ มาณพที่เหลือมาเป็นพุทธบริษัท ส่วนพราหมณ์ผู้อาจารย์ได้มาเป็นเราตถาคต ฉะนี้แล“.

ที่มา : Palipage : Guide to Language - Pali



Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: