วันเสาร์ที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

มงคลที่ ๑๖ ธมฺมจริยา เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ - การประพฤติธรรม เป็นอุดมมงคล

มงคลที่ ๑๖ การประพฤติธรรม - ธัมมะจะริยา จะ

๏ การประพฤติ ตามธรรม คำพระสอน ไม่เดือดร้อน ถอนทุกข์ ยามฉุกเฉิน คนรักธรรม ธรรมรักษ์คน ผลเจริญ นั่งยืนเดิน นอนสุข ทุกข์ไม่มี ๛

การประพฤติธรรม ก็คือการปฏิบัติให้เป็นไป แบ่งออกได้เป็น ๓ อันได้แก่ 

กายสุจริต คือ ๑. การไม่ฆ่าสัตว์ หมายรวมหมดตั้งแต่สัตว์เล็กสัตว์ใหญ่ และมนุษย์ ๒. การไม่ลักทรัพย์ หมายรวมถึงการคอรัปชั่น ไปหลอกลวง ปล้นจี้ชาวบ้านด้วย  ๓. การไม่ประพฤติผิดในกาม หมายรวมถึงการคบชู้ นอกใจภรรยา และการข่มขืนด้วย

วจีสุจริต คือ  . การไม่พูดเท็จ คือการพูดแต่ความจริง ไม่หลอกลวง ๒. การไม่พูดคำหยาบ คือคำที่ฟังแล้วไม่รื่นหู เกิดความรู้สึกไม่สบายใจรวมหมด ๓. การไม่พูดจาส่อเสียด การนินทาว่าร้าย  ๔. การไม่พูดเพ้อเจ้อเหลวไหล คือการพูดที่ไม่เป็นสาระ หาประโยชน์อันใดมิได้

มโนสุจริต คือ ๑. การไม่โลภอยากได้ของผู้อื่น คือการนึกอยากได้ของเขามาเป็นของเรา  ๒. การไม่คิดพยาบาทปองร้ายผู้อื่น คือการนึกอยากให้คนอื่นประสพเคราะห์กรรม คิดจะทำร้ายผู้อื่น  ๓. การเห็นชอบ คือมีความเชื่อความเข้าใจในความเป็นจริง ความถูกต้อง ตามหลักคำสอนตามแนวทางพระพุทธศาสนา 

ที่มา : http://www.dhammathai.org 

ธมฺมจริยา เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ - การประพฤติธรรม เป็นอุดมมงคล

เย ชะนา ธัมมะจะริยา สะมะจะริยาติ กาเยนะ สุจะริตัง วาจายะ สุจะริตัง มะนะสา สุจะริตัง จะ ยันตีติ.

ณ บัดนี้ จักได้วิสัชนาในมงคลที่ ๑๖ ตามพระบาลี และอรรถกถาดำเนินความว่า ชนทั้งหลายใดประพฤติซึ่งธรรมความชอบ ประกอบด้วยสุจริตอยู่เนืองนิตย์มิได้ขาด จัดเป็นมงคลอันประเสริฐ

ความประเสริฐนั้นมีอยู่ ๑๐ คือ กายสุจริต ๓ วจีสุจริต ๔ มโนสุจริต ๓ เป็น ๑๐ เรียกว่า กุศลกรรมบถ เป็นหนทางที่เกิดที่ไหลมาแห่งกุศล อีกอย่างหนึ่ง บุคคลประพฤติซึ่งกรรมบถสุจริตทั้งหลาย จึงจัดเป็นธรรมที่จะไม่นำสตว์ไปสู่อบาย เพราะฉะนั้นความสุจริตทั้ั้งหลาย จึงจัดเป็นธรรมที่จะนำสัตว์สู่สุคติ คือ มนุษย์และสวรรค์เป็นเบื้องหน้า ฯ  บัดนี้ จักได้วิสัชนาซึ่งธรรมสุจริตทั้งหลาย คือ 

กายสุจริต ๓ โดยบาลีว่า ปาณาติปาตา เวระมะณี ความวิรัติเจตนาเว้นจากบาปทางกาย คือ ไม่ฆ่าสัตว์ทั้งหลายที่มีชีวิตให้ตายด้วยกาย วาจา ด้วยมีความเมตตาและขันติ ๑  อะทินนาทานา เวระมะณี ความวิรัติเจตนา ละเว้นจากบาปทางกาย คือ ไม่ลักฉ่อข้าวของที่เจ้าของเขาไม่ให้ ด้วยกายและวาจา ด้วยความละละอายบาปกลัวบาป ๑  กาเมสุมิจฉาจารา เวระมะณี ความวิรัติเจตนาละเว้นจากบาปทางกาย คือ บุรุษไม่ล่วงประเวณีในสตรีที่มีคนหวงแหนรักษา สตรีไม่นอกใจสามีไปคบบุรุษอื่น ๑

วจีสุจริต ๓ คือ มุสสาวาทา เวระมะณี ความวิรัติเจตนาละเว้นจากบาปทางกาย คือ ไ่ม่พูดปดล่อลวงอำพางท่านผู้อื่น ๑  ปิสุณายะ วาจายะ เวระมะณี ความวิรัติเจตนา ละเว้นจากบาปทางวาจา คือ ไม่พูดส่อเสียดยุยงให้ผู้อื่นแตกร้าวจากกันด้วยความอิจฉา ๑  ผะรุสายะ วาจายะ เวระมะณี ความวิรัติเจตนาจากบาปทางกาย คือ ไม่กล่าวคำหยาบช้าด่าชาติตระกูลผู้อื่น ๑  สัมผัปปะลาปะ เวระมะณี ความวิรัติ เจตนางดเว้นจากบาปทางวาจา คือ ไม่กล่าวคำหาประโยชน์มิได้ ในชาตินี้และชาติหน้า ๑

มโนกรรม ๓ คือ อะนะภิชฌา ไม่มีจิตโลภเจตนาคิดเพ่งเล็งจะลักข้าวของ ๆ ผู้อื่นมาเป็นของตน ๑ อัพพะยาปาโท ไม่มีจิตโกรธพยาบาท อาฆาตผูกเวรแก่สัตว์ทั้งหลายทั้งปวง ๑  สัมมาทิฏฐิโก จิตคิดเห็นชอบประกอบในทางธรรม คือ กัมมัสสกตาญาณปัญญา พิจารณาเห็นว่าสัตว์ทั้งหลายที่เกิดมา อาศัยซึ่งกรรมคือกุศลและอกุศล ตกแต่งให้ผลซึ่งความดีความชั่วตามตัวของสัตว์ทั้งหลายที่กระทำไว้ ถ้าสัตว์ทั้งหลายทำกุศลให้ผลเป็นสุข ถ้าสัตว์ทั้งหลายทำอกุศลให้ผลเป็นทุกข์ ตามยถากรรมที่สัตว์ทั้งหลายได้กระทำไว้ หรือปัญญาพิจารณาเห็นว่า ทำบุญได้บุญ ทำบาปได้บาป โลกนี้มี โลกหน้ามี สวรรค์มี นรกมี บุญมี บาปมี ทำบุญให้ผลเป็นสุข ทำบาปให้ผลเป็นทุกข์ ตามยถากรรม คุณบิดามารดามี คุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์มี ความเห็นอย่างนี้ เรียกว่าปัญญาสัมมาทิฏฐิเป็นโลกีย์ ฯ

อนึ่ง พิจารณาให้พระไตรลักษณ์ ได้เห็นแจ้งประจักษ์ในขันธ์ทั้ง ๕ คือ รูป ๑ เวทนา ๑ สัญญา ๑ สังขาร ๑ วิญญาณ ๑ ด้วยอาการเป็น ๓ คือ ขันธ์ ๕ เป็นอนิจจัง ไม่เที่ยง มีความปรวนแปรยักย้ายกลับกลายเป็นอย่างอื่น ๆ ไป ๑ ขันธ์ ๕ เป็นทุกข์ทนไม่ได้ด้วยโรคภัยเข้าบีบคั้น ให้ปัญขันธ์แตกทำลายไป ทนอยู่ไม่ได้ด้วยกองทุกข์ ๑ ขันธ์ ๕ เป็นอนัตตาไม่ใช่ตัวตน เป็นของเกิดขึ้น ตั้งอยู่ดับไป ไม่ใช่ของใคร ห้ามไว้ไม่ได้ตามความปราถนา ๑ ปัญญาพิจารณาเห็นพระไตรลักษณ์ ทั้ง ๓ และเห็นพระิอริยสัจทั้ง ๔ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค เห็นแจ้งประจักษ์จนละสักกายทิฏฐิขาดจากสันดาน ท่านเรียกว่า โลกุตตรปัญญา สัมมาทิฏฐิ ฯ

อนึ่ง บุคคลทั้งหลายที่อยากได้มรรค ผล นิพพาน จงรักษาซึ่งกุศลกรรมบถทั้ง ๑๐ ประการ ให้สมบูรณ์ในสันดาน คงจะถึงมรรค ผลนิพพานเป็นแท้ ด้วยมโนกรรมสัมมาทิฏฐิ ท่านจัดไว้เป็น ๒ อย่าง คือ สัมมาทิโฐิเป็นโลกีย์ ๑ สัมมาทิฏฐิเป็นโลกุดร ๑ เมื่อบุคคลรักษาได้ในสัมมาทิฏฐิโลกีย์ ก็จะได้ศึ่งสุคติ คือ มนุษย์และสวรรค์ ถ้ารักษาได้ในสัมมาทิฏฐิโลกุดร ก็จะได้ซึ่งมรรค ผล นิพพาน

อนึ่ง บคคลรักษาในกรรมบถใน ๑๐ ประการ ให้บริบูรณ์ในสันดาน ถึงยังไม่ได้มรรค ผล นิพพาน ก็จะมีอานิสงส์ใหญ่ไพศาล ให้มีอายุยืนยาวนานถึง ๑๐๐ ปี ถ้ายังไม่ถึง ๑๐๐ ปี ก็ยังไม่ตาย ดังนิทานเรื่อง พราหมณ์ผู้รักษากรรมบถ ๑๐ เป็นต้น ... 

ที่มา : http://larnbuddhism.com

มงคลที่ 1 , มงคลที่ 2 , มงคลที่ 3มงคลที่ 4 , มงคลที่ 5 , มงคลที่ 6 , มงคลที่ 7 มงคลที่ 8 , มงคลที่ 9 , มงคลที่ 10 , มงคลที่ 11 , มงคลที่ 12 , มงคลที่ 13 , มงคลที่ 14 , มงคลที่ 15 , มงคลที่ 16 , มงคลที่ 17 , มงคลที่ 18 มงคลที่ 19 , มงคลที่ 20 , มงคลที่ 21 , มงคลที่ 22 , มงคลที่ 23 , มงคลที่ 24 มงคลที่ 25 , มงคลที่ 26 , มงคลที่ 27 , มงคลที่ 28 , มงคลที่ 29 , มงคลที่ 30 , มงคลที่ 31 , มงคลที่ 32 , มงคลที่ 33 มงคลที่ 34 , มงคลที่ 35 , มงคลที่ 36มงคลที่ 37มงคลที่ 38 ฯ

Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: