วันพุธที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

มงคลที่ ๓๐ กาเลน ธมฺมสากจฺฉา เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ - การสนทนาธรรมตามกาล เป็นอุดมมงคล

มงคลที่ ๓๐ การสนทนาธรรมตามกาล - กาเลนะ ธัมมะสากัจฉา

๏ ยามหดหู่ ฟุ้งซ่าน กาลสงสัย เป็นสมัย ไต่ถาม ตามเหตุผล  เพื่อบรรเทา คลี่คลาย หายกังวล  ควรจะสน- ทนาธรรม ตามที่ควร ๛

การได้สนทนากันเรื่องธรรม ทำให้ขยายขอบเขตการเรียนรู้ แลกเปลี่ยนความรู้ และได้รู้ในสิ่งใหม่ๆ ที่เราอาจนึกไม่ถึง หรือเป็นการเผื่อแผ่ความรู้ที่เรามีให้แก่ผู้อื่นได้ทราบด้วย.  ก่อนที่เราจะสนทนาธรรม ควรต้องพิจารณาและคำนึงถึงสิ่งต่อไปนี้คือ   ๑. ต้องรู้เรื่องที่จะพูดดี   ๒. ต้องพูดเรื่องจริง มีประโยชน์  ๓. ต้องเป็นคำพูดที่ไพเราะ   ๔. ต้องพูดด้วยความเมตตา  ๕. ต้องไม่พูดจาโอ้อวด หรือยกตนข่มท่าน

ข้อปฏิบัติเมื่อมีการสนทนาธรรม   ๑. มีศีลธรรม คือการเป็นผู้ที่รักษาศีล ๕ หรือศีล ๘ เป็นนิจศีลอยู่แล้ว การเป็นผู้ปฏิบัติถือเป็นหน้าที่ขั้นต้นในการเป็นพุทธศาสนิกชนที่ดี   ๒. มีสมาธิดี คือการมีจิตใจจดจ่ออยู่กับเรื่องที่สนทนา ไม่ว่อกแวก พร้อมทั้งเป็นผู้ที่หมั่นเจริญสมาธิภาวนาด้วย   ๓. แต่งกายสุภาพ คือการแต่งตัวให้เหมาะสมกับยุคสมัย อยู่ในกรอบประเพณีของสังคมแวดล้อม ณ ที่นั้นๆ ถูกกาลเทศะ    ๔. มีกิริยาสุภาพ คือมีความสุภาพในท่วงท่าไม่ว่าจะเดิน นั่ง ยืน หรือการกระทำใดๆ การที่มีกิริยางดงาม สุภาพย่อมโน้มน้าวจิดใจผู้พบเห็นให้เกิดความประทับใจที่ดี   ๕. ใช้วาจาสุภาพ คือการใช้ถ้อยคำที่สุภาพในการสนทนา ไม่ใช้คำหยาบคาย หรือก้าวร้าว  ๖. ไม่กล่าวค้านพระพุทธพจน์ คือการไม่นำเอาคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้ามาเป็นข้อสงสัย หรือกล่าวค้าน เพราะสิ่งที่กล่าวไว้ในพระพุทธพจน์ย่อมเป็นความจริงตลอดกาล  ๗. ไม่ออกนอกประเด็นที่ตั้งไว้ คือการพูดให้อยู่ในหัวข้อที่ตั้งไว้ ไม่พูดแบบน้ำท่วมทุ่งผักบุ้งโหรงเหรง   ๘. ไม่พูดนานจนน่าเบื่อ  คือการเลือกเวลาที่เหมาะสมตามสถานการณ์ เนื่องจากเรื่องบางเรื่องอาจไม่จำเป็นต้องขยายความมากเกินไป

ที่มา : http://www.dhammathai.org

กาเลน ธมฺมสากจฺฉา เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ - การสนทนาธรรมตามกาล เป็นอุดมมงคล

กาเลนะ   ธัมมะสากัจฉา   นามะ   จะตุปะริสา   ปะริยาปุณาติ   ธัมมัญจะ   วินะยัญจะ   ปัญญัตตัง   สัตถารากาเลนะ ภาสิตันติ.    บัดนี้ จักได้วิสัชนาในมงคลที่ ๓๐ ตามบาลีและอรรถกถาว่า กาเลนะ ธัมมะสากัจฉา แปลว่า บริษัททั้ง ๔ คือ   ภิกษุ ๑   ภิกษุณี ๑   อุบาสก ๑   อุบาสิกา ๑  บริษัททั้ง ๔ นี้ มีศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ได้เล่าเรียนศึกษาซึ่งพระธรรมและพระวินัย ที่พระบรมศาสดาทรงบัญยัติแต่งตั้งไว้.  เมื่อเล่าเรียนศึกษาได้แล้ว ก็พากันมาพูดจาสู่กันฟังในท่ามกลางหมู่บริษัทที่ประชุมนั้น ด้วยธรรมที่เป็นกุศลและอกุศล ในเวลากลางวันและกลางคืนเป็นต้น เีรียกว่า กาเลนะ ธัมมะสากัจฉา เป็นมงคลอันประเสริฐ

การสนทนาธรรมตามกาลเป็นอุดมมงคล ในเรื่องนี้ท่านกล่าวว่า ภิกษุผู้   ทรงพระสูตร ๒ รูปสนทนาพระสูตรกัน ภิกษุ ๒ รูปผู้ทรงพระวินัย สนทนาพระวินัยกัน ภิกษุ ๒ รูปผู้ทรงพระอภิธรรม   สนทนาพระอภิธรรมกัน ภิกษุผู้กล่าวชาดก สนทนาชาดกกัน ภิกษุผู้สนใจศึกษาอรรถกถา ก็สนทนาอรรถกถากัน   เพื่อชำระจิตที่ถูกความหดหู่ ความฟุ้งซ่าน หรือความสงสัยครอบงำ ในเวลาพลบค่ำ หรือในเวลาย่ำรุ่ง การสนทนา   ธรรมตามกาล ตามเวลา อย่างนี้ชื่อว่า การสนทนาธรรมตามกาล ก็การสนทนาธรรมตามกาลนี้ นอกจากจะช่วย   บรรเทาความหดหู่ ฟุ้งซ่าน ความสงสัย เป็นต้นแล้ว ยังเป็นเหตุให้ได้รับคุณทั้งหลายมีความฉลาดในปริยัติธรรม เป็นต้น

ผู้ที่สนทนาธรรมตามกาลย่อมได้อานิสงส์ ๕ ประการคือ  ๑. เป็นที่ยกย่องของพระศาสดา   ๒. ย่อมเข้าใจเนื้อความของธรรมนั้นๆ   ๓. ย่อมแทงตลอดเนื้อความอันลึกซึ้งด้วยปัญญา  ๔. ย่อมได้รับคำสรรเสริญจากเพื่อนพรหมจรรย์  ๕. ย่อมปรารภความเพียร เพื่อทำให้แจ้งซึ่งธรรมที่ยังไม่แจ้ง สำหรับผู้ที่จบกิจพรหมจรรย์ ย่อม.   ประกอบธรรมเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน (คือเข้าฌานหรือผลสมาบัติ ) ด้วยเหตุนี้การสนทนาธรรมตามกาลจึงเป็นอุดมมงคล 

ที่มา : http://larnbuddhism.com

มงคลที่ 1 , มงคลที่ 2 , มงคลที่ 3มงคลที่ 4 , มงคลที่ 5 , มงคลที่ 6 , มงคลที่ 7 มงคลที่ 8 , มงคลที่ 9 , มงคลที่ 10 , มงคลที่ 11 , มงคลที่ 12 , มงคลที่ 13 , มงคลที่ 14 , มงคลที่ 15 , มงคลที่ 16 , มงคลที่ 17 , มงคลที่ 18 มงคลที่ 19 , มงคลที่ 20 , มงคลที่ 21 , มงคลที่ 22 , มงคลที่ 23 , มงคลที่ 24 มงคลที่ 25 , มงคลที่ 26 , มงคลที่ 27 , มงคลที่ 28 , มงคลที่ 29 , มงคลที่ 30 , มงคลที่ 31 , มงคลที่ 32 , มงคลที่ 33 มงคลที่ 34 , มงคลที่ 35 , มงคลที่ 36มงคลที่ 37มงคลที่ 38 ฯ


Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: