มงคลที่ ๓๑ การบำเพ็ญตบะ - ตะโป จะ
๏ พึงบำเพ็ญ ตบะ ละกิเลส อันเป็นเหตุ หักห้าม กามฉันท์ มุ่งทำลาย ถ่ายบาป สาบสูญพันธุ์ เข้าสู่ขั้น สุโข โลกุตตรฌาน ๛
ตบะ โดยความหมายแปลว่า ทำให้ร้อน ไม่ว่าด้วยวิธีใด การบำเพ็ญตบะหมายความถึงการทำให้กิเลส ความรุ่มร้อนต่างๆ หมดไป หรือเบาบางลง ลักษณะการบำเพ็ญตบะมีดังนี้
๑.การมีใจสำรวมในอินทรีย์ทั้ง ๖ (อายตนะภายใน ๖ อย่าง) ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ไม่ให้หลง ติดอยู่กับสัมผัสภายนอกมากเกินไป ไม่ให้กิเลสครอบงำใจเวลาที่รับรู้อารมณ์ผ่านอินทรีย์ทั้ง ๖ (อินทรีย์สังวร)
๒.การประพฤติรักษาพรหมจรรย์ เว้นจากการร่วมประเวณี หรือกามกิจทั้งปวง
๓.การปฏิบัติธรรม คือการรู้และเข้าใจในหลักธรรมเช่นอริยสัจ เป็นต้น ปฏิบัติตนให้อยู่ในศีล และถึงพร้อมด้วยสมาธิ และปัญญา โดยมีจุดหมายสูงสุดที่พระนิพพาน กำจัดกิเลส ละวางทุกสิ่งได้หมดสิ้นด้วยปัญญา
ที่มา : http://www.dhammathai.org
ตโป จ เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ - ความเพียรเป็นเครื่องยังกิเลสให้เร่าร้อน เป็นอุดมมงคล
ตะโป จาติ อินทะริยะสังวะราทิ พรหมะจะริยันติ เมถุนะวิรัตยาทิ อะริยะสัจจานะทัสสะนันติ. บัดนี้ จักได้สัชนาในมงคลที่ ๓๑ ตามพระบาลีและอรรถกถาเรียกว่า ตะโปจาติ อินทะริยะสังวะราทิ แปลว่า บุคคลใดมีความเพียรสำรวมระวังรักษาอินทรีย์เป็นต้น กำจัดเสียซึ่งอกุศล คือ ราคะ โทสะ โมหะ อวิชชา ตัณหา มานะ ทิฎฐิ อุปาทาน ให้หมดน้อยถอยจากสันดาน จัดเป็นมงคลอันประเสริฐ
อธิบายว่า ความเพียรที่จะละกิเลสมีประเภทหลายประการ คือ สำรวมระวังรักษาอินทรีย์ทั้ง ๖ ให้บริบูรณ์ในสันดาน จัดเป็นความเพียรอย่าง ๑
ความประพฤติรักษาพรหมจรรย์นั้น คือ เว้นจากเสพเมถุนสังวาสด้วยอำนาจแห่งราคะความกำหนัด จัดเป็นตโปความเพียรอย่าง ๑ ความเห็นซึ่งมรรคด้วยอำนาจแห่งปัญญา ความตรัสรู้ซึ่งอริยสัจทั้ง ๔ จัดเป็นตโปความเพียรอย่าง ๑ ความที่กระทำให้แจ้งซึ่งนิพพาน อันนักปราชญ์กล่าวว่า พระอรหันต์ จัดเป็นตโปความเพียร ๑ ธรรมทั้ง ๔ ประปการนี้ ท่านเรียกตโป คือ ความเพียรยังกิเลสให้เร่าร้อน. อนึ่ง ขันติความอดใจไม่โกรธ ไม่พยาบาทอาฆาตจองเวรแก่สัตว์ ก็จัดเป็นตโปความเพียรยังกิเลสให้เร่าร้อนผ่อนให้เบาบางลง ๑ การรักษาศีล ๕ ไม่ฆ่าสัตว์ที่มีชีวิต ๑ ไม่ลักทรัพย์ที่เจ้าของหวงแหน ๑ ไม่ล่วงประเวณีในสัตรีที่เขาหวงแหน ๑ ไม่พูดปดล่อลวงอำพรางท่านผู้อื่น ๑ ไม่ดื่มกินซึ่งน้ำเมา คือ สุราเมรัย ๑.
ศีลทั้ง ๕ นี้ จัดเป็นตะโปความเพียร เครื่องกำจัดกิเลสให้เร่าร้อน ๑ การรักษาอุโบสถศีล ๘ ประการ ในวันขึ้น ๙ ค่ำ ๑๕ ค่ำ แรม ๘ ค่ำ ๑๕ ค่ำ เดือนหนึ่ง ๔ ครั้ง จัดเป็นตะโปความเพียรเผากิเลสให้เร่าร้อน ไม่ให้นอนอยู่ในสันดาน ๑
อนึ่ง บริษัททั้ง ๔ คือ ภิกษุ ๑ ภิกษุณี ๑ อุบาสก ๑ อถบาสิกา ๑ มีความศรัทธาเล่าเรียนศึกษาธรรมวินัย ที่เป็นพุทธศาสนาคำสั่งสอนของพระศาสดา ก็จัดเป็นตะโปความเพียรเผากิเลสให้เร่าร้อนจากสันดาน ๑
อนึ่ง บริษัททั้ง ๔ มีความยินดีเจริญพระกรรมฐาน คือ สมถภาวนา วิปัสสนาภาวนา ให้บังเกิดในสันดาน ก็จัดเป็นตะโปควาเพียรเปากิเลสให้เร่าร้อนผ่อนออกจากสันดาน ๑ อนึ่ง ภิกษุ ภิกษุณี มีความยินดีรักษาซึ่งธดุงควัตร เป็นข้อปฎิบัติของบรรพชิตในพระศาสนาก็ดี เหล่านี้ จัดเป็นตะโปความเพียรเผากิเลสให้เหือดแห้งจากสันดาน ๑. อธิบายว่า สังวรทั้ง ๕ คือ สติสังวร ความระวังด้วยสติ อินทรียสังวร ความระวังด้วยอินทรีย์ ๑ สีลสังวร ความระวังด้วยศีล ๑ วิริยสังวร ความระวังด้วยความเพียร ๑ ญาณสังวร ความระวังด้วยปัญญา ๑ สังวรทั้ง ๕ นี้ จัดเป็นตะโปอันใหญ่ เผากิเลสให้เร่าร้อนทั่วไปในทั้งปวง
สติ แปลว่า ความระลึก สังวร แปลว่า ความระวัง กิริยาว่า พระโยคาวจรจะเจริญกรรมฐานภาวนา ก็ต้องอาศัยสติเป็นประธาน หรือจะรักษาในอินทรีย์ทั้ง ๖ ประการ และรักษาศีลทั้ง ๕ ประการ และมีความเจริญซึ่งภาวนากรรมฐาน ก็อาศัยแก่สติทั้งสิ้น ความสำรวมระวังรักษาซึ่งอินทรีย์ทั้ง ๖ คือ จักขุนทรีย์ สำรวมตาทั้งสอง ซ้ายขวา ที่ทัศนาเพ่งแลดูซึ่งรูปที่น่ารักให้เกิดอภิชฌาความโลภ เจตนาความอยากได้ใจยินดี ดังเห็นรูปสตรีให้มีความรักใคร่จนเสื่อมฌาน ดังวัตถุนิทานเรื่องสามเณรไม่ระวังจักษุ เรื่องพญานกยูงทองและเรื่องโลมสกัสสปดาบท ฯลฯ เป็นต้น...
ที่มา : http://larnbuddhism.com
มงคลที่ 1 , มงคลที่ 2 , มงคลที่ 3, มงคลที่ 4 , มงคลที่ 5 , มงคลที่ 6 , มงคลที่ 7 , มงคลที่ 8 , มงคลที่ 9 , มงคลที่ 10 , มงคลที่ 11 , มงคลที่ 12 , มงคลที่ 13 , มงคลที่ 14 , มงคลที่ 15 , มงคลที่ 16 , มงคลที่ 17 , มงคลที่ 18 , มงคลที่ 19 , มงคลที่ 20 , มงคลที่ 21 , มงคลที่ 22 , มงคลที่ 23 , มงคลที่ 24 , มงคลที่ 25 , มงคลที่ 26 , มงคลที่ 27 , มงคลที่ 28 , มงคลที่ 29 , มงคลที่ 30 , มงคลที่ 31 , มงคลที่ 32 , มงคลที่ 33 , มงคลที่ 34 , มงคลที่ 35 , มงคลที่ 36, มงคลที่ 37, มงคลที่ 38 ฯ
0 comments: