วันอังคารที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

มงคลที่ ๒๖ กาเลน ธมฺมสวนํ เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ - การฟังธรรมตามกาล เป็นอุดมมงคล

มงคลที่ ๒๖ การฟังธรรมตามกาล - กาเลนะ ธัมมัสสะวะนัง

๏ การฟังธรรม ตามกาล ผ่านมาถึง  ควรคำนึง นิ่งนั่ง ฟังขยัน  ย่อมจะเกิด ปัญญา สารพัน  ตั้งใจมั่น ฟังดี นี่สมควร ๛

เมื่อมีโอกาส เวลา หรือตามวันสำคัญต่างๆ ก็ควรต้องไปฟังธรรมบ้าง เพื่อสดับตรับฟัง สิ่งที่เป็นประโยชน์ในหลักธรรมนั้นๆ และนำมาใช้กับชีวิตเรา เพื่อปรับปรุงให้ดีขึ้น.  ท่านว่าเวลาที่ควรไปฟังธรรมนั้นมีดังนี้คือ

๑. วันธรรมสวนะ ก็คือวันพระ หรือวันที่สำคัญทางศาสนา  ๒. เมื่อมีผู้มาแสดงธรรม ก็อย่างเช่น การฟังธรรมตามวิทยุ การที่มีพระมาแสดงธรรมตามสถานที่ต่างๆ หรือการอ่านจากสื่อต่างๆ  ๓. เมื่อมีโอกาสอันสมควร อาทิเช่นในวันอาทิตย์เมื่อมีเวลาว่าง หรือในงานมงคล งานบวช งานกฐิน งานวัดเป็นต้น

คุณสมบัติของผู้ฟังธรรมที่ดีควรต้องมีดังนี้คือ  ๑. ไม่ดูแคลนในหัวข้อธรรมว่าง่ายเกินไป  ๒. ไม่ดูแคลนในความรู้ความสามารถของผู้แสดงธรรม  ๓. ไม่ดูแคลนในตัวเองว่าโง่ ไม่สามารถเข้าใจได้   ๔. มีความตั้งใจในการฟังธรรม และนำไปพิจารณา   ๕. นำเอาธรรมนั้นๆ ไปปฏิบัติให้เกิดผล

ที่มา : http://www.dhammathai.org

กาเลน ธมฺมสวนํ  เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ - การฟังธรรมตามกาล เป็นอุดมมงคล

กาเลนะ  ธัมมัสสะวะนัง  นามะ  ยัสสะมิง  กาเล  โหติ  อุทธัจจะสะหะคะตัง  จิตตัง  โหติ  กามะวิตักกาทีนัง วา  อัญญะตะเรนะ  อะภิภูตันติ.   บัดนี้ จักได้วิสัชนาในมงคลที่ ๒๖ ตามพระบาลีและอรรถกถาว่า กาเลนะ ธัมมัสสะวะนัง แปลว่า บุคคลใดได้ฟังธรรมเทศนาของพระสัมมาสัมะพุทธเจ้าเนือง ๆ ตามกาล จัดว่ามงคลอันประเสริฐ.  การฟังธรรมนั้น คือ วันขึ้น ๘ ค่ำ ขึ้น ๑๕ ค่ำ แรม ๘ ค่ำ แรม ๑๕ ค่ำ เดือนหนึ่ง ๔ วัน หรือเดือนหนึ่ง ๘ วัน คือ วันขึ้น ๔ ค่ำ ขึ้น ๘ ค่ำ ขึ้น ๑๔ ค่ำ ขึ้น ๑๕ ค่ำ แรม ๕ ค่ำ แรม ๘ ค่ำ แรม ๑ ค่ำ แรม ๑๕ ค่ำ เดือนหนึ่ง ๘ วัน ฟังธรรม

ถามว่า การฟังธรรมนั้นเืพื่อประโยชน์อะไร แก้ว่า เพื่อประโยชน์จะให้เกิดความศรัทธาเลื่อมใสในคุณพระรัตนตรัย ๑ เพื่อจะให้เกิดความสังเวชสลดใจในสังขาร ๑ ความศรัทธาและความสังเวชทั้ง ๒ นี้ ท่านเรียกว่า เป็นบุญ เป็นกุศล เป็นเครื่องชำระจิตของสัตว์ทั้งหลายให้บริสุทธิ์พ้นจากอบายความเศร้าหมองในใจ

ถามว่า ความเศร้าหมองในใจได้แก่อะไร แก้ว่า ได้แก่กามวิตก ๑ วิหังสาวิตก ๑ พยาบาทวิตก ๑ ทั้ง ๓ นี้ เกิดแต่อกุศลมูล คือ โลภะ โทสะ โมหะ ทำจิตใจให้เศร้าหมอง จึงได้ฟังธรรม เพื่อกำจัดวิตกทั้ง ๓ มีกามวิตกนั้น คือ ความตรึกตรองในกามคุณทั้ง ๕ คือ รูปดี เสียงดี กลิ่นดี รสดี สัมผัสดี ให้เกิดความโสมนัสยินดีรักใคร่ เกิดกามฉันทราคะหากครอบงำทำจิตให้เศร้าหมอง กามคุณมี ๒ คือ กิเลสกาม ได้แก่รูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัส ๑ พัศดุกาม ได้แก่ เงินททองข้าวของเครื่องใช้สอย ๑ ความตรึกตรองอยู่ในกามคุณทั้ง ๒ นี้ เรียกว่ากามวิตก ทำให้จิตเศร้าหมอง ๑ วิหิงสาวิตกนั้น ได้แก่ความตรึกตรองที่จะเบียดเบียนสัตว์ทั้งหลายให้ได้รับความลำบาก หรือให้ปราศจากลาภยศความสรรเสริญ วิหิงสาวิตกนี้ ก็ทำให้จิตเศร้าหมอง ๑

พยาบาทวิตกนั้นได้แก่ ความตรึกตรองที่จะทำให้สัตว์ทั้งหลายเสียหายด้วยกาย จึงคิดฆ่าและแช่งด่า พยาบาทวิตกก็ทำให้จิตเศร้าหมอง ๑ ความวิตกทั้ง ๓ กามวิตกมีสัตว์และสังขารเป็นอารมณ์ วิหิงสาวิตกมีสัตว์เป็นอารมณ์อย่างเดียวพยาบาทวิตกมีสัตว์บ้าง มีสังขารเป็นอารมณ์.  การฟังธรรมเป็นเครื่องระงับวิตกทั้ง ๓ มีกามวิตกเป็นต้น และเป็นเหตุให้เกิดศรัทธาความเลื่อมใสในคุณพระรัตนตรัยและทาน ศีล ภาวนา และให้เกิดความสังเวชสลดใจในสังขารและอกุศลกรรม ที่จะชักนำสัตว์ให้ไปสู่อบายทาง ๔ มีนรก เป็นต้น และให้เกิดหิริ ความละอายบาป โอตตัปปะ ความสะดุ้งกลัวต่อบาป ก็อาศัยแก่การฟังธรรม

การฟังธรรมจะนำมาซึ่งคุณ ๕ ประการ คือ ธรรมอันใดที่ตนยังไม่เคยฟังก็จะได้ฟัง ๑ หรือธรรมที่ตนได้เคยฟังแล้วมาได้ฟังเข้าอีกจะมีปัญญารู้ธรรมจำได้ ๑ หรือมีความสงสัย ครั้นมาฟังธรรมก็สิ้นความสงสัยในสันดาน ๑ จะทำความเห็นให้ตรงต่อพระศาสนา ๑ จิตจะเห็นซึ่งพระธรรมว่าเป็นของส่องสว่างให้ทางปัญญา ๑ เป็น ๕ ดังนี้

ยังมีอานิสงส์แห่งการฟังธรรมอีก ๔ คือ จะยังพระพุทธศาสนาให้รุ่งเรืองเจริญไปข้างหน้าช้านาน ๑ ตายแล้วจักไปสู่สุคติ คือ มนุษย์และสวรรค์ชั้น ฉกามา ๑ จะได้ตรัสรู้มรรคและผล ๑ จะเป็นพหูสูตรรู้พระธรรมมาก ๑ รวมเป็น ๔ อนึ่ง การฟังพระธรรม ย่อมให้เกิดเป็นนิสัยแก่ผู้ฟังทั้งมนุษย์และเทวดา และสัตว์ดิรัจฉาน ดังวัตถุนิทานเรื่องแม่ไก่ฟังธรรม-เรื่องงูเหลือม-ค้างคาว๕๐๐ – ฯลฯ เป็นต้น.. 

ที่มา : http://larnbuddhism.com 

มงคลที่ 1 , มงคลที่ 2 , มงคลที่ 3มงคลที่ 4 , มงคลที่ 5 , มงคลที่ 6 , มงคลที่ 7 มงคลที่ 8 , มงคลที่ 9 , มงคลที่ 10 , มงคลที่ 11 , มงคลที่ 12 , มงคลที่ 13 , มงคลที่ 14 , มงคลที่ 15 , มงคลที่ 16 , มงคลที่ 17 , มงคลที่ 18 มงคลที่ 19 , มงคลที่ 20 , มงคลที่ 21 , มงคลที่ 22 , มงคลที่ 23 , มงคลที่ 24 มงคลที่ 25 , มงคลที่ 26 , มงคลที่ 27 , มงคลที่ 28 , มงคลที่ 29 , มงคลที่ 30 , มงคลที่ 31 , มงคลที่ 32 , มงคลที่ 33 มงคลที่ 34 , มงคลที่ 35 , มงคลที่ 36มงคลที่ 37มงคลที่ 38 ฯ


Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: