มงคลที่ ๒๙ การได้เห็นสมณะ - สะมะณานัญจะ ทัสสะนัง
๏ การพบเห็น สมณะ ผู้สงบ แล้วนอบนบ ถามไถ่ ไตรสิกขา หมั่นฝึกหัด ทุกวัน ด้วยปัญญา ย่อมชักพา จิตตรง มงคลมี ๛
คำว่าสมณะแปลตรงตัวได้ว่า ผู้สงบ (หมายถึงผู้อยู่ในสมณเพศ) ท่านว่าคุณสมบัติของสมณะต้องประกอบไปด้วย ๓ อย่างคือ ๑. ต้องสงบกาย คือมีความสำรวมในการกระทำทุกอย่าง รวมถึงกิริยา มรรยาท ตามหลักศีลธรรม ๒. ต้องสงบวาจา คือการพูดจาให้อยู่ในกรอบของความพอดี มีความสุภาพสงบเสงี่ยมในคำพูดและภาษาที่ใช้ เป็นไปตามข้อปฏิบัติ ประเพณี ๓. ต้องสงบใจ คือการทำใจให้สงบปราศจากกิเลสครอบงำ ไม่ว่าจะเป็น โลภ โกรธ หลง หรือความพยาบาทใดๆ ตั้งมั่นอยู่ในสมาธิภาวนา
การได้เห็นสมณะมีอยู่ดังนี้คือ ๑. เห็นด้วยตา ความหมายก็ตรงตัวคือการเห็นจากการสัมผัสด้วยสายตาของตนเอง แล้วมีความประทับใจในความสำรวมในกาย ๒. เห็นด้วยใจ เนื่องจากความสำรวมกาย วาจา ใจของสมณะจะช่วยโนัมน้าวจิตใจของเราให้โอนอ่อนผ่อนตาม และรับฟังหลักคำสอนด้วยใจที่ยินดี ซึ่งนั่นก็หมายถึงการเปิดใจเราให้สมณะได้ชี้นำนั่นเอง ๓. เห็นด้วยปัญญา หมายความถึงการรู้โดยการใช้ปัญญาใคร่ครวญ พิจารณาในการสัมผัส และเข้าถึงและรับรู้ถึงคำสอนของสมณะผู้นั้น และรู้ว่าท่านเป็นผู้ตั้งมั่นอยู่ในศีลธรรมอย่างแท้จริง
เมื่อเห็นแล้วก็ต้องทำอย่างนี้คือ ๑. ต้องเข้าไปหา คือเข้าไปขอคำแนะนำ ชี้แนะจากท่าน หรือให้ความเคารพท่าน ๒. ต้องเข้าไปบำรุงช่วยเหลือ คือการช่วยเหลือท่านในโอกาสอันควร เพื่อแบ่งเบาภาระของท่าน ๓. ต้องเข้าไปฟัง คือการรับฟังคุณธรรม หลักคำสอนของท่านมาไว้เป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาชีวิต ๔. หมั่นระลึกถึงท่าน คือการระลึกถึงความดีที่ท่านมีแล้วนำมาเป็นตัวอย่างกับตัวเราเอง ๕. รับฟังรับปฏิบัติ คือการรับคำแนะนำของท่านมาปฏิบัติทำตามเพื่อให้เกิดผล ครั้นเมื่อติดขัดก็ใคร่แก้ไขเพื่อให้รู้จริงเห็นจริงตามนั้น
ที่มา : http://www.dhammathai.org
สมณานญฺจ ทสฺสนํ เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ - การเห็นสมณะทั้งหลาย เป็นอุดมมงคล
สะมะณานัญจะ ทัสสะนัง นามะ อุปะสังกะมะนุฏฐานานุสสะ ระณะสะวะนะทัสสะนันติ. บัดนี้ จักแสดงในมงคลที่ ๒๙ ตามบาลี อรรถกถาว่า สมณานัญจะ ทัสสะนัง แปลความว่า การเห็นซึ่งสมณะทั้งหลาย ผู้มีสันดานอันระงับจากกิเลสด้วยจักษุ คือ ตาหรือด้วยปัญญา คือ ใจ จัดเป็นมงคลอันประเสริืฐโดยวิเศษ เหตุจะนำมาด้วยใจศรัทธาเลื่อใส
อธิบายว่า ความเห็น มี ๒ อย่าง คือ เห็นด้วยตาที่แลเห็น ๑ เห็นด้วยใจที่อาศัยปัญญา ๑ ความเห็นด้วยตาเป็นทางกามาวจร ความเห็นด้วยปัญญาเป็นทางโลกุดร ความเห็นด้วยตาหรือวัตถุที่ควรจะเลื่อมใส คือ เพศบรรพชา มีภิกษุสามเณรเป็นต้น จัดเป็นมงคลความเจริญตาเจริญใจ อีกอย่างหนึ่ง ได้เห็นผู้ปฎิบัติ กาย วาจา ใจ ให้บริสุทธิ์ ด้วยศีล สมาธิ ปัญญา น่าเลื่อมใสจะเป็นหญิงหรือชาย คฤหัสถ์หรือบรรพชิต มีฤๅษีดาบสเป็นต้น ก็จัดเป็นมงคลความเจริญได้
อนึ่ง เข้าไปอุปัฏฐากปฎิบัติแก่ท่านผู้มีศีลมีคุณอันงาม คือ สมณะพราหมณ์ที่มีกิเลสอันระงับจากสันดานก็ดี การที่ได้เห็นได้ฟังได้ระลึกถึงท่านผู้สิ้นกิเลส ทั้ง ๓ นี้ จัดเป็นมงคลความเจริญตาเจริญใจให้ความศรัทธาเลื่อมใสในศีลคุณ จัดเป็นมงคลหนทางสุคติโลกสวรรค์ทั้งสิ้น อนึ่งการเห็นท่านผู้สิ้นกิเลส เป็นเหตุให้มีนิสัยแก่พระนิพพานในอนาคตกาลเบื้องหน้า ดังเช่นนิทานเรื่องนกเค้า เรื่องพราหมณ์ชาวเมืองปาตลีบุตรและเรื่องพรานสุนัขชื่อโกกะ ฯลฯ เป็นต้น...
ที่มา : http://larnbuddhism.com
มงคลที่ 1 , มงคลที่ 2 , มงคลที่ 3, มงคลที่ 4 , มงคลที่ 5 , มงคลที่ 6 , มงคลที่ 7 , มงคลที่ 8 , มงคลที่ 9 , มงคลที่ 10 , มงคลที่ 11 , มงคลที่ 12 , มงคลที่ 13 , มงคลที่ 14 , มงคลที่ 15 , มงคลที่ 16 , มงคลที่ 17 , มงคลที่ 18 , มงคลที่ 19 , มงคลที่ 20 , มงคลที่ 21 , มงคลที่ 22 , มงคลที่ 23 , มงคลที่ 24 , มงคลที่ 25 , มงคลที่ 26 , มงคลที่ 27 , มงคลที่ 28 , มงคลที่ 29 , มงคลที่ 30 , มงคลที่ 31 , มงคลที่ 32 , มงคลที่ 33 , มงคลที่ 34 , มงคลที่ 35 , มงคลที่ 36, มงคลที่ 37, มงคลที่ 38 ฯ
0 comments: