วันศุกร์ที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

มงคลที่ ๒๒ คารโว จ เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ - ความเคารพ เป็นอุดมมงคล

มงคลที่ ๒๒ มีความเคารพ - คาระโว จะ

๏ ความเคารพ นับถือ คือเสน่ห์ ไม่โลเล เหมือนลิง วิ่งหลอกหลอน ทั้งต่อหน้า ลับหลัง พึงสังวร  ย่อมงามงอน สวยสง่า ราคาแพง ๛

ท่านได้กล่าวว่าสิ่งที่ควรเคารพมีอยู่ดังนี้   ๑. พระพุทธเจ้า  ๒. พระธรรม  ๓. พระสงฆ์  ๔. การศึกษา  ๕. ความไม่ประมาท คือการดำเนินตามหลักธรรมคำสอนพระพุทธศาสนาอื่นๆ ด้วยความเคารพ  ๖. การสนทนาปราศรัย คือการต้อนรับอาคันตุกะผู้มาเยือนด้วยความเคารพ 

ที่มา : http://www.dhammathai.org 

คารโว จ เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ - ความเคารพ เป็นอุดมมงคล

คาระโว  จะ  นามะ  กะตะโม  คาระโว  พุทธะคาระวะตา  ธัมมะคาระวะตา  สังฆะคาระวะตา  อาทะโย  คาระวะตา  โหตีติ.  บัดนี้ จักได้วิสัชนาใน คาระโว จัดเป็นมงคลที่ ๒๒ ตามพระบาลี อรรถกถาว่า คาระโว จะ แปลว่า บุคคลผู้ใดมีความเคารพกราบไหว้บูชาด้วยกาย วาจา ใจ จัดเป็นมงคลความเจริญอันประเสริฐ

ถามว่า ให้ความเคารพกราบไหว้ในที่ไหน แก้ว่า ให้เคารพกราบไหว้ในที่ื ๗ ประการ พุทธะ คาระวะตา ให้เคารพในพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐ ๑ ธัมมะ คาระวะตา ให้เคารพในพระธรรมอันประเสริฐ ๑ สังฆะคาระวะตา ให้เคารพในพระสงฆ์อันประเสริฐ ๑ สิกขาคาระวะตา ให้เคารพในสิกขาบท คือ ศีล ๑ สมาธิคาระวะตา ให้เคารพในสมาธิภาวนา ๑ อัปปะมาทะคาระวะตา ให้เคารพในความไม่ประมาท ๑

ปะฎิสันถาระวะคาระวะตา ให้เคารพในปฎิสันถารการต้อนรับ ๑ เป็น ๗ ประการ และเคารพในบิดามารดาอุปัชฌาย์อาจารย์ และปู่ ย่า ตา ยาย พี่หญิงพี่ชายลุงป้าน้าอาว์ผู้เฒ่าที่มีอายุ เคารพในท่านเหล่านี้ ก็จัดเรียกว่า คาระโว ความเคารพมี ๓ กายปฌาม ความเคารพด้วยกาย วจีปฌามความเคารพด้วยวาจา ๑ มโนปฌาม ความเคารพด้วยใจ ๑ เคารพในพระพุทธเจ้าด้วยกายนั้น คือ เห็นท่านแล้วย่อมก็ยอบย่อกายถวายนมัสการลงกราบด้วยองค์ ๕ คือ เข่าทั้ง ๒ มือทั้ง ๒ หน้าผาก ๑ ให้จรดพื้น.  ถ้าเป็นภิกษุสามเณรให้ลดผ้าเฉียงอังสะและลดร่มถอดรองเท้า ถ้าคลุมศีรษะมา ให้ลดผ้าคลุมศรีษะในที่ ๑๒ ศอก ถ้าอยู่ในที่ต้องไปสู่ที่อุปัฏฐาก ถ้าพระองค์นิพพานแล้วได้เห็นพระเจดีย์และไม้โพธิและพระพุทธรูป ก็ให้เคารพเหมือนอย่างนั้นเถิด เคารพพระพุทธด้วยวาจานั้น คือ เห็นพระองค์แล้วก็กล่าวสรรเสริญพระคุณมี อะระหัง เป็นต้น หรืออยู่ในที่เฉพาะหน้าก็ไม่พูดจาหัวเราะเฮฮาให้มีเสียงดังเป็นต้น เมื่อเห็นพระเจดีย์และพระพุทธรูปก็ให้ทำเหมือนดังนั้นเถิด

เคารพพระพุทธเจ้าด้วยใจนั้น จะเห็นก็ดี ไม่เห็นก็มี ให้น้อมจิตไปถึงคุณของท่านมี อะระหัง เป็นต้น ทุกอิริยาบถทั้ง ๔ เคารพในพระธรรมด้วยกาย ก็คล้ายกับเคารพในพระพุทธเจ้า แปลกแต่ที่อยู่ใกล้ไม่ไปฟังธรรมเป็น อะคาระโว ไม่เคารพในพระธรรม เคารพในพระธรรมด้วยวาจานั้น.  ถ้าเป็นคฤหัสถ์การฟังธรรมเป็นใหญ่ ถ้าเป็นภิกษุสามเณรควรเล่าเรียนศึกษาท่องบ่นสาธยายและฟังธรรมเป็นใหญ่ ถ้าจะฟังธรรมอย่าพูดเจรจาให้เสียงดัง ที่กล่าวมานี้ถ้าทำไม่ได้เป็น อะคาระโว ฯ เคารพในพระธรรมด้วยใจนั้น ให้ระลึกถึงคุณพระธรรม คือ พระสูตร ๑ พระวินัย ๑ พระปรมัตถ์ ๑ ทั้ง ๓ นี้เรียกว่า พระปริยัติธรรม สำหรับเล่าเรียนศึกษาให้รู้ข้อปฎิบัติ ให้ระลึกถึงพระธรรม ข้อปฎิบัติ คือ ศีล ๑ สมาํธิ ๑ ปัญญา ๑ ให้ระลึกถึงพระปฎิเวธธรรม คือ มรรคผลเป็นธรรมวิเศษที่ตัดกิเลสให้ขาดจากสันดาน พระธรรมเป็นเครื่องนำสัตว์ให้พ้นทุกข์ ฯ

เคารพสงฆ์ด้วยกายนั้น เมื่อเห็นพระสงฆ์ก็ยกมือไหว้นมัสการ หรือไปถึงวัดอาวาสวิหารและสีมา ให้ถอดรองเท้าและลดร่ม อย่าห่มผ้าสองบ่า อย่าคลุมศีรษะเข้ามาในอาราม เคารพในพระสงฆ์ด้วยวาจานั้น คือ เห็นพระสงฆ์แล้ว ก็กล่าวสรรเสริฐคุณพระสงฆ์ มี สุปะฎิปันโน เป็นต้น จนถึง ปุญญักเขตตัง เป็นที่สุด และอย่าพูดให้พระสงฆ์เดือนร้อนใจด้วยคำหยาบ และคำยุยงพระสงฆ์เป็นต้น

เคารพพระสงฆ์ด้วยใจนั้น คือ จะเห็นพระสงฆ์หรือไม่เห็นก็ตาม ให้มีีจิตน้อมนึกถึงคุณพระสงฆ์ สุปะฎิปันโน เป็นต้น ดังกล่าวมานั้น ความว่า บุคคลใดวันหนึ่งล่วงไปไม่ได้ระลึกถึงคุณพระรัตนตรัย จัดเป็นอะคาระโวด้วย เป็นคนประมาทด้วย สิกขาคาระวะตา ให้เคารพในสิกขาบท ในศีล ๕ ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ ให้บริสุทธิ์มิให้เศร้าหมองขาดทำลายตามภูมิคฤหัสถ์และภิกษุสามเณร ถ้าไม่รักษาให้บริสุทธิ์แล้ว ก็จัดเป็นคนประมาท เป็น อะคาระโวด้วย สมาธิคาระวะตา ให้เคารพในสมาธินั้น คือ ให้เจริญพระกรรมฐาน คือ สมถภาวนา ๔๐ มีพุทธานุสสติเป็นต้น จนถึงสมาธิ สุข เอกัคคะตา แล้วจงรักษาไว้อย่าให้เสื่อมไป อัปปมาทคาระวะตา ให้เคารพในความไม่ประมาทนั้น คือ ให้มีสติระลึกในสติปัฏฐานทั้ง ๔ มีระลึกถึงภายในภายนอก ๑

ระลึกถึงเวทนาภายในภายนอก ๑ ระลึกถึงจิตในภายในภายนอก ๑ ระลึกถึงธรรม คือ ขันธ์ ๕ อายตนะ ๖ ธาตุ ๖ อินทรีย์ที่เป็นภายในภายนอก ๑ ปฎิสันถารคาระวะตา ให้เคารพในการต้อนรับนั้น คือ ธัมมะปะฎิสันถาโร การต้อนรับด้วยธรรม ๑ อามิสปะฎิสันถาโร การต้อนรับด้วยอามิส ๑ ต้อนรับด้วยธรรมนั้น คือ แสดงซึ่งธรรมวินัยได้ฟังให้ได้สติปัญญาและศรัทธาความเลื่อมใส อามิสปฎิสันถารนั้น คือ ต้อนรับด้วยอามิส มีข้าวน้ำและหมากพลูเป็นต้น

อธิบายว่า ความเคารพทั้ง ๗ ประการนี้ ยังมีผู้ปฎิบัติให้บริบูรณ์อยู่เพียงใด พระพุทธศาสนาก็ตั้งอยู่เพียงนั้น ถ้าความเคารพทั้ง ๗ เสื่อมแล้ว พระศาสนาก็เสื่อมไปไม่ตั้งอยู่ได้ในโลก.  อนึ่ง บุคคลใดมีความยกย่องปฎิบัติรักษาไว้ซึ่งความเคารพทั้ง ๗ ประการ ผู้นั้นชื่อว่า ยกย่องพระพุทธศาสนา ด้วยสมเด็จพระศาสดาได้ตรัสแก่พระอานนท์ว่า ดูก่อนอานนท์ บริษัททั้ง ๔ ประการนี้ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ยังมีรักษาอยู่ในความเคารพทั้ง ๗ ประการนี้ มีประมาณเท่าใด พระศาสนาของตถาคตก็ตั้งอยู่นานมีประมาณเท่านั้น ไม่เสื่อมสิ้นไป ถ้าบริษัททั้ง ๔ ไม่รักษาซึ่งความเคารพทั้ง ๗ ไว้ได้

ศาสนาของตถาคตก็เสื่อมไปไม่ตั้งอยู่นาน ความว่า ศาสนาจะเสื่อมก็เสื่อมด้วยบริษัททั้ง ๔ ไม่มีความยินดีที่จะปฎิบัติศาสนา คือเล่าเรียนศึกษาพระพุทธวจนะ บาลี อรรถกถา ไม่รักษาสิกขาบท พระศาสนาจึงเสื่อมถอยน้อยหมดลงไป ใครจะมาทำให้ศาสนาเสื่อมไม่ได้ ศาสนาจะเสื่อมไปก็ด้วยบริษัททั้ง ๔ เปรียบเหมือนพญาราชสีห์ตายแล้ว สัตว์อื่นไม่อาจกินเนื้อราชสีห์ได้ เว้นไว้แต่หนอนที่เกิดขึ้นในตัวราชสีห์ หนอนนั้นอาจกินเนื้อเส้นเอ็นราชสีห์ได้ เว้นไว้แต่หนอนที่เกิดขึ้นในตัวราชสีห์ หนอนนั้นอาจกินเนื้อเส้นเอ็นราชสีห์ให้หมดสิ้นไปฉันใดก็ดี บริษัททั้ง ๔ ก็อาจทำให้ศาสนาเสื่อมไปฉันนั้น

บัดนี้จักว่าด้วยคนที่ควรจะเคารพ ๓ จำพวก คือ อายุวุฑโฒ คนมีอายุมากกว่าตน ๆ ควรจะเคารพกราบไหว้ยำเกรง ๑ คุณะวุฑโฒ คนมีคุณ คือ พระสงฆ์สามเณรเป็นต้น ถึงจะอ่อนกว่าตนก็ควรเคารพกราบไหว้บูชา ๑ ปุญญะวุฑโฒ คนมีบุญ คือ ขุนนางเจ้านาย ถึงจะอ่อนกว่าก็ควรไหว้ แต่จะไหว้คนเหล่านี้ให้คิดถึงธรรม ๕ อย่าง คือ ศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ ปัญญา ๑ ธรรมทั้ง ๕ นี้ ให้สัตว์เกิดในตระกูลสูง ความเคารพนี้เป็นที่ยินดีรักใคร่ ให้เกิดสามัคคีพร้อมเพียงกัน ไม่เป็นข้าศึกให้แตกร้าวจากกัน และเป็นหนทางสวรรค์ไปสู่เทวโลก เหมือนครั้งพระโพธิสัตว์บังเกิดเป็นนกกระทาเป็นต้น... 

ที่มา : http://larnbuddhism.com

มงคลที่ 1 , มงคลที่ 2 , มงคลที่ 3มงคลที่ 4 , มงคลที่ 5 , มงคลที่ 6 , มงคลที่ 7 มงคลที่ 8 , มงคลที่ 9 , มงคลที่ 10 , มงคลที่ 11 , มงคลที่ 12 , มงคลที่ 13 , มงคลที่ 14 , มงคลที่ 15 , มงคลที่ 16 , มงคลที่ 17 , มงคลที่ 18 มงคลที่ 19 , มงคลที่ 20 , มงคลที่ 21 , มงคลที่ 22 , มงคลที่ 23 , มงคลที่ 24 มงคลที่ 25 , มงคลที่ 26 , มงคลที่ 27 , มงคลที่ 28 , มงคลที่ 29 , มงคลที่ 30 , มงคลที่ 31 , มงคลที่ 32 , มงคลที่ 33 มงคลที่ 34 , มงคลที่ 35 , มงคลที่ 36มงคลที่ 37มงคลที่ 38 ฯ


Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: