วันอังคารที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2564

มิลินทปัญหา (ตอนที่ ๒๙)

มิลินทปัญหา (ตอนที่ ๒๙) ปัญหาที่ ๓ วัตถุคุยหนิทัสสนปัญหา

พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน พระตถาคตทรงภาษิตความข้อนั้นไว้ว่า :- 

“กาเยน สํวโร สาธุ, สาธุ วาจาย สํวโร,   มนสา สํวโร สาธุ, สาธุ สพฺพตฺถ สํวโร.” (ขุน.ธ. ๒๕/๘๗)  "ความสำรวมทางกาย เป็นเหตุทำประโยชน์ให้สำเร็จ, ความสำรวมทางวาจา เป็นเหตุทำประโยชน์ให้สำเร็จ, ความจำรวมทั้งใจ เป็นเหตุทำประโยชน์ให้สำเร็จ, ความสำรวมทางทวารทั้งปวง เป็นเหตุทำประโยชน์ให้สำเร็จ ดังนี้"

และยังมีคำกล่าวไว้อีกว่า พระตถาคตประทับท่ามกลางบริษัท ๔ ทรงแสดงพระวัตถุคุยหะ (ของลับ) อันซ่อนอยู่ในฝักแก่เสลพราหมณ์ เบื้องหน้าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย (ม.ม. ๑๓/๕๐๔) ดังนี้พระคุณเจ้านาคเสน ถ้าหากพระผู้มีพระภาคตรัสว่า ความสำรวมทางกาย เป็นเหตุทำประโยชน์ให้สำเร็จ ดังนี้จริงไซร้ ถ้าอย่างนั้น คำที่ว่า ทรงแสดงพระวัตถุคุยหะอันซ่อนอยู่ในฝักแก่เสลพราหมณ์ ดังนี้ ก็ย่อมเป็นคำที่ไม่ถูกต้อง ถ้าหากว่าทรงแสดงพระวัตถุคุยหะอันซ่อนอยู่ในฝักแก่เสลพราหมณ์ จริงไซร้ ถ้าอย่างนั้น คำที่ว่า ความสำรวมทางกายเป็นเหตุทำประโยชน์ให้สำเร็จ ดังนี้ ก็ย่อมเป็นคำที่ไม่ถูกต้อง ปัญหาแม้ข้อนี้มี ๒ เงื่อน ตกถึงแก่ท่านแล้วขอท่านจงคลี่คลายปัญหานั้นเถิด

พระนาคเสน, ขอถวายพระพร มหาบพิตร พระผู้มีพระภาคทรงภาษิตความข้อนี้ว่า ความสำรวมทางกายเป็นเหตุทำประโยชน์ให้สำเร็จ ดังนี้ จริง และทรงแสดง พระวัตถุคุยหะอันซ่อนอยู่ในฝักแก่เสลพราหมณ์ จริง ขอถวายพระพร ผู้ใดเกิดความสงสัยในองค์พระตถาคต พระผู้มีพระภาคก็จะทรงใช้พระฤทธิ์แสดงพระกาย (อื่น) อันมีส่วนเหมือนกับพระกาย (จริง) นั้น แก่ผู้นั้น เพื่อให้เขาได้รู้ (ได้หายสงสัย) เขาผู้เดียวนั้นเท่านั้น ย่อมเห็นปาฏิหาริย์ข้อนั้น

พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน ข้อที่ท่านกล่าวว่าเขาผู้อยู่ท่ามกลางบริษัท คนเดียวเท่านั้น ได้เห็นพระคุยหะนั้น คนที่เหลือซึ่งก็อยู่ ณ สถานที่นั้นเหมือนกันกลับไม่เห็น ดังนี้ ใครเล่าจะเชื่อถือได้ ในเรื่องนั้น ขอเชิญท่านจงชี้ถึงเหตุผลแก่ข้าพเจ้าเถิด ขอจงทำให้ข้าพเจ้าเข้าใจด้วยเหตุผลเถิด.  พระนาคเสน, ขอถวายพระพร พระองค์เคยทรงทอดพระเนตรเห็นคนเจ็บป่วยบางคนที่เกลื่อนกล่นด้วยญาติมิตรหรือไม่ ? พระเจ้ามิลินท์, ข้าพเจ้าเคยเห็น พระคุณเจ้า.  พระนาคเสน, ขอถวายพระพร บุรุษผู้นั้นได้เสวยทุกเวทนาใด พวกบริษัทเหล่านั้นได้เห็นทุกขเวทนานั้นหรือไม่.  พระเจ้ามิลินท์, ไม่เห็นหรอก พระคุณเจ้า บุรุษผู้นั้นย่อมเสวยทุกขเวทนาเฉพาะตนคนเดียวเท่านั้น.  พระนาคเสน, ขอถวายพระพร อุปมาฉันใด อุปไมยก็ฉันนั้นเหมือนกัน ผู้ใดเกิดความสงสัยในองค์พระตถาคต พระตถาคตก็จะทรงใช้พระฤทธิ์แสดงพระกาย (อื่น) อันมีส่วนเหมือนพระกาย (จริง) นั้น แก่ผู้นั้น เพื่อให้เขาได้รู้ (ได้หายสงสัย) เขาผู้เดียวเท่านั้นย่อมเห็นปาฏิหาริย์ข้อนั้น.  ขอถวายพระพร อีกอย่างหนึ่ง เปรียบเหมือนว่า ภูตเข้าสิงบุรุษคนหนึ่งเท่านั้น ขอถวายพระพร พวกบริษัททั้งหลายนั้น ได้เห็นการมาของภูตตนนั้นด้วยหรือ ?  พระเจ้ามิลินท์, หามิได้พระคุณเจ้า บุรุษผู้ลำบากอยู่คนเดียวนั้นเท่านั้น ย่อมเห็นการมาของภูตตนนั้น.  พระนาคเสน, ขอถวายพระพร อุปมาฉันใด อุปไมยก็ฉันนั้นเหมือนกัน ผู้ใดเกิดความสงสัยในพระตถาคต พระตถาคตก็จะทรงใช้พระฤทธิ์แสดงพระกาย อื่น อันมีส่วนเหมือนกับพระกาย จริง นั้นแก่ผู้นั้น เพื่อให้เขาได้รู้ ได้หายสงสัย เขาผู้เดียวเท่านั้น ย่อมเห็นปาฏิหาริย์ข้อนั้น.  พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน ข้อที่ทรงแสดงสิ่งที่ใครๆ แม้จะคนหนึ่งไม่อาจแสดงได้ จัดว่าเป็นอันพระผู้มีพระภาคได้ทรงกระทำสิ่งที่ทำได้ยาก

พระนาคเสน, ขอถวายพระพร พระผู้มีพระภาคมิได้ทรงแสดงพระคุยหะ (ของจริง) หรอก ทว่าทรงใช้ฤทธิ์แสดง เพียงพระฉายา.  พระเจ้ามิลินท์ พระคุณเจ้า เมื่อเขาได้เห็นพระฉายาแล้ว ก็นับว่าเป็นอันได้เห็นพระคุยหะจริงนั่นแหละ เพราะพอเห็นแล้วก็ปลงใจได้ (สิ้นสงสัย).  พระนาคเสน, ขอถวายพระพร พระตถาคตทรงกระทำสิ่งที่ทำได้ยากอย่างหนึ่ง คือการที่ทรงโปรดสัตว์ผู้อาจโปรดให้รู้ได้ ให้ได้รู้ ขอถวายพระพร ถ้าหากว่าพระตถาคตทรงเลิกละการกระทำ การโปรดสัตว์ให้รู้ สัตว์ทั้งหลายก็ไม่อาจจะรู้ได้ ขอถวายพระพร ก็เพราะเหตุที่พระตถาคตทรงเป็นผู้รู้จักวิธีการที่จะโปรดสัตว์ผู้อาจโปรดให้รู้ได้ ให้ได้รู้ สัตว์ทั้งหลายผู้อาจโปรดให้รู้ได้ ย่อมรู้ได้ด้วยวิธีการใดๆ ก็ทรงใช้วิธีการนั้นๆ โปรดสัตว์ผู้อาจโปรดให้รู้ได้ ให้ได้รู้.  ขอถวายพระพร เปรียบเหมือนว่า คนเจ็บป่วยจะเป็นผู้หายจากโรคได้ด้วยยาใดๆ ศัลยแพทย์ก็ใช้ยานั้นๆ รักษาคนเจ็บป่วย ทำให้อาเจียนออกมา ทำให้ถ่ายออกมา ใช้ทาส่วนที่ต้องทา ใช้อบส่วนที่ต้องอบ ฉันใด ขอถวายพระพร สัตว์ทั้งหลายผู้อาจโปรดให้รู้ได้ ย่อมรู้ได้ด้วยวิธีการใดๆ พระตถาคต ก็ทรงใช้วิธีการนั้นๆ โปรดให้รู้ ฉันนั้นเหมือนกัน

ขอถวายพระพร อีกอย่างหนึ่ง เปรียบเหมือนว่า หญิงผู้มีครรภ์หลง (ผิดปกติ) จำต้องให้หมอได้เห็นของลับ อันเป็นของไม่ควรเห็น ฉันใด ขอถวายพระพร พระตถาคตก็ทรงใช้พระฤทธิ์ให้เขาเห็นพระคุยหะอันเป็นของไม่ควรเห็น ซึ่งเป็นเพียงพระฉายา เพื่อที่จะโปรดสัตว์ผู้อาจโปรดให้รู้ได้ ให้ได้รู้ ฉันนั้นเหมือนกัน ขอถวายพระพร มุ่งถึงบุคคลแล้ว โอกาสที่ชื่อว่าไม่สมควรแสดงหามีไม่ ขอถวายพระพร ถ้าหากว่าบางคนต้องเห็นพระหทัย (หัวใจ) ของพระตถาคตเสียก่อน จึงจะตรัสรู้ได้ พระผู้มีพระภาคก็จะทรงแสดงพระหทัย แม้แก่บุคคลนั้น มหาบพิตร พระตถาคตทรงเป็นผู้รู้จักวิธีการ ทรงเป็นผู้ฉลาดในพระเทศนา.  ขอถวายพระพร (ขุ.อุ. ๒๕/๑๓๖) พระผู้มีพระภาคทรงทราบถึงความที่พระนันทเถระยังไม่หลุดพ้นแล้ว จึงทรงนำพระเถระนั้นไปสู่เทวภพ ให้เห็นพวกนางเทพกัญญาทั้งหลาย ด้วยทรงดำริว่า ด้วยวิธีนี้ กุลบุตรผู้นี้จะตรัสรู้ได้ ดังนี้ มิใช่หรือ ซึ่งกุลบุตรผู้นั้นก็ได้ตรัสรู้แล้วด้วยวิธีนั้นจริง ขอถวายพระพร พระตถาคตผู้ทรงตำหนิติเตียนของสวยงามโดยปริยายเป็นอันมาก ทรงรังเกียจอยู่อย่างนี้ ก็ยังโปรดให้เห็นพวกนางฟ้าผู้มีเท้าแดงอ่อนอย่างเท้านกพิราบ เพราะเหตุที่จะโปรดให้พระเถระนั้นได้ตรัสรู้ พระตถาคตทรงเป็นผู้รู้จักวิธีการ ฉลาดในพระเทศนา แม้อย่างนี้

ขอถวายพระพร ยังมีอีกเรื่องหนึ่ง เมื่อพระจูฬปันถกเถระ ถูกพระพี่ชายขับไล่ ก็เป็นทุกข์ เสียใจอยู่ ก็เสด็จเข้าไปหาแล้วทรงมอบผ้าเนื้อละเอียดผืนหนึ่งให้ไป ด้วยทรงดำริว่า กุลบุตรผู้นี้ จะตรัสรู้ได้ด้วยวิธีนี้ ดังนี้ ซึ่งกุลบุตรผู้นั้นได้บรรลุ วสีภาวะในศาสนาของพระชินวรพุทธเจ้า ด้วยวิธีการนั้นจริง ขอถวายพระพร มหาบพิตร พระตถาคตทรงเป็นผู้รู้จักวิธีการ ฉลาดในพระเทศนา แม้อย่างนี้.  ขอถวายพระพร ยังมีอีกเรื่องหนึ่ง พระตถาคต เมื่อทรงถูก โมฆราชพราหมณ์ ถามปัญหาที่ ๓ ก็ไม่ทรงเฉลย ด้วยทรงดำริว่า มานะของกุลบุตรผู้นี้ จะสงบได้ ด้วยวิธีการอย่างนี้ ดังนี้ ซึ่งมานะของกุลบุตรผู้นั้น ก็ได้สงบแล้ว ด้วยวิธีนั้นจริง พราหมณ์ผู้สงบมานะได้แล้วนั้น ได้บรรลุวสีภาวะในอภิญญา ๖ ขอถวายพระพร พระตถาคตทรงเป็นผู้รู้จักวิธีการ ฉลาดในพระเทศนาแม้อย่างนี้

พระเจ้ามิลินท์, ดีจริง พระคุณเจ้านาคเสน ท่านได้คลี่คลายปัญหาด้วยเหตุผลหลายอย่างดีแล้ว ถางรกชัฏแล้ว ทำที่มืดให้เป็นที่สว่างได้แล้ว ทำลายเงื่อนปมได้แล้ว หักล้างปรปวาทะได้แล้ว ได้มอบดวงตาให้แก่พระชินบุตรทั้งหลายแล้ว ทำพวกเดียรถีย์ทั้งหลายให้สิ้นปฏิภาณแล้ว ท่านเป็นผู้องอาจอย่างยิ่งในหมู่คณะผู้ประเสริฐ.  จบวัตถุคุยหนิทัสสนปัญหาที่ ๓

คำอธิบายปัญหาที่ ๓

ปัญหาเกี่ยวกับการแสดงพระวัตถุคุยหะ (ของลับ, องคชาต) ชื่อว่า วัตถุคุยหนิทัสสนปัญหา.  คำพูด ๒ ที่ ๒ แห่ง มีความขัดแย้งกันอยู่อย่างนี้ คือถ้าหากพระผู้มีพระภาคตรัสสรรเสริญความสำรวมทางกาย ว่าเป็นเหตุทำประโยชน์ให้สำเร็จ จริงไซร้ คำว่า ทรงแสดงพระวัตถุคุยหะแก่เสลพราหมณ์ ก็ย่อมเป็นคำพูดที่ไม่จริง เพราะเป็นการกระทำที่นับว่าเป็นความไม่สำรวมทางกายเป็นอย่างยิ่ง แม้ในทางกลับกันก็อย่างนี้ รวมความว่า หากยอมรับคำหนึ่งว่าถูกต้อง อีกคำหนึ่งซึ่งมีเนื้อความขัดแย้งกัน ก็ย่อมไม่ถูกต้อง.  ในคำว่า ทรงแสดงว่าวัตถุคุยหะ อันซ่อนอยู่ในฝัก แก่เสลพราหมณ์ นี้ มีความเป็นมาใน เสลสูตร ตัวย่ออย่างนี้ว่า  

เมื่อเสลพราหมณ์ผู้มีความรู้ในลักษณะของท่านผู้เป็นมหาบุรุษ ได้เห็นพระมหาปุริสลักษณะทั้งหลายของพระผู้มีพระภาคแล้ว ก็ยังคลางแคลง สงสัยในมหาปุริสลักษณะ ๒ ประการ ที่ตนยังไม่เห็น คือพระวัตถุคุยหะที่ซ่อนอยู่ในฝัก และในพระชิวหาที่กว้างยาว จึงยังไม่อาจน้อมใจเลื่อมใส ว่าทรงเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจริง พระองค์ทรงเห็นแก่ประโยชน์ของเสลพราหมณ์ ทรงประสงค์จะตัดความแคลงใจ สงสัยของพราหมณ์ เพื่อพราหมณ์จะได้เกิดศรัทธา ขอบวชพระพฤติธรรมในสำนักของพระองค์ แล้วจะสำเร็จเป็นพระอรหันต์ในอัตภาพนี้ต่อไป ต่อกาลไม่นาน จึงทรงใช้พระฤทธิ์ทำพระวัตถุคุยหะอันซ่อนอยู่ในฝักให้พราหมณ์ ได้เห็นประจักษ์ และทรงแลบพระชิวหาไปจรดถึงพระกรรณทั้ง ๒ ข้าง พราหมณ์ได้เห็นแล้ว ก็หมดความสงสัย มีศรัทธาทูลขอบวช บวชแล้วก็รีบออกจากหมู่ ไปแต่ผู้เดียว มีความเพียร มีความไม่ประมาท ในที่สุดก็สำเร็จเป็นพระอรหันต์

คำว่า ทรงใช้พระฤทธิ์แสดงพระกาย (อื่น) อันมีส่วนเหมือนพระกาย (จริง) คือทรงชัยพระอธิฐานอิทธิ สร้างพระกายอื่น อันนับว่าเป็นพระกายเนรมิต อันมีส่วนเหมือนพระกายจริงทุกอย่าง เว้นไว้แต่ ในพระกายเนรมิตนั้น เปิดเผยพระวัตถุคุยหะอันซ่อนอยู่ในฝัก ให้ปรากฏแก่สายตา พราหมณ์ เท่านั้น เพราะเหตุนั้นนั่นแหละ พระเถระจึงกล่าวว่า ทรงใช้พระฤทธิ์แสดงเพียงพระฉายา ดังนี้ ก็คำว่า ฉายา ในที่นี้ พระเถระกล่าวหมายเอารูปนิมิตนั่นแหละ

เรื่อง ของพระนันทเถระ ปรากฏอยู่ใน นันทสูตร ขอนำมาแสดงเพียงย่อๆ อย่างนี้ว่า

เมื่อพระนันทเถระผู้กำลังอยู่ในระหว่างทำพิธีวิวาห์กับสาวงามประจำชนบทคนหนึ่ง ถูกพระตถาคตทรงถามถึงการบวช ก็ได้ติดตามพระตถาคตไปบวชด้วยความเกรงพระทัย ไม่อาจทูลปฏิเสธได้ เมื่อได้บวชแล้ว ก็ไม่มีอันได้ประพฤติธรรม เพราะมีใจหมกมุ่นเสียดาย คิดถึงอยู่แต่นางงามประจำชนบทนั้นเท่านั้น ใจกระสันใคร่จะลาสิกขาอยู่ทุกๆวัน พระศาสดาทรงทราบแล้ว ก็ทรงนำพระนันทะเสด็จไปสู่เทวภพชั้นดาวดึงส์ เพื่อให้เห็นเหล่านางฟ้าผู้สวยงามเกินความงามของหญิงมนุษย์ พระนันทะเห็นเหล่านางฟ้าสวยงามยิ่งนักเหล่านั้นแล้ว ก็คลายความเยื่อใยในนางงามประจำชนบทผู้นั้นไปได้ ประสงค์จะได้นางฟ้า เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงยืนยันรับประกันว่า หากพระนันทะยังบวชประพฤติธรรมอยู่ ก็จะได้นางฟ้าทั้งหลายเป็นบริวารแน่นอน พระนันทะก็เกิดความยินดีที่จะอยู่ประพฤติธรรมต่อไป ภิกษุทั้งหลายทราบเรื่องเข้า ก็กล่าวล้อเลียนว่าพระนันทะประพฤติพรหมจรรย์ เพราะเห็นแก่นางฟ้า โดยมีพระผู้มีพระภาคทรงเป็นนายประกัน พระเถระครั้งได้ยินเข้า ก็เกิดความละอายใจจึงหลีกออกจากหมู่ไปแต่ผู้เดียว มีความเพียร มีความไม่ประมาท ประพฤติพรหมจรรย์อยู่ได้ไม่นาน ก็สำเร็จเป็นพระอรหันต์

ส่วนเรื่องของ พระจูฬปันถก จะขอยกจากที่ท่านเล่าไว้ในอรรถกถาธรรมบทมาแสดงเป็นความย่อสักตอนหนึ่ง

มีเรื่องว่า ท่านได้สละเพศฆราวาสตามพระมหาปันถกผู้พี่ชาย ซึ่งในเวลานั้นได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว พี่ชายให้ท่านเรียนปริยัติ เวลาล่วงไปถึง ๔ เดือนแล้ว แม้เพียงคาถาเดียว ท่านก็ไม่อาจจะจดจำได้ พระมหาปันถกคิดว่าพระน้องชายเป็นคนอาภัพ ไม่อาจทำที่พึ่งในพระศาสนานี้ได้ จึงขับไล่ให้ออกไปเสียจากวิหาร ท่านจูฬปันถกยังอาลัยในเพศบรรพชิต ไม่ต้องการกลับไปเป็นคฤหัสถ์ แต่ก็จำต้องกลับไป ท่านออกจากวิหารไปแต่เช้าตรู่วันรุ่งขึ้น ในวันนั้น พระศาสดาทรงตรวจสอบสัตว์โลก ทรงทราบความเป็นไปเรื่องนี้แล้ว ก็เสด็จมารออยู่ก่อนที่ซุ้มประตูทางจะไปบ้าน ทรงปลอบโยนพระจูฬปันถก ทำท่านให้ยินดีอยู่ในเพศบรรพชิตนี้ต่อไป ทรงใช้พระฤทธิ์เนรมิตผ้าขาวสะอาดขึ้นมาผืนหนึ่ง แล้วส่งมอบให้พระจูฬปันถก ใช้ลูบคลำประกอบการสาธยายว่า  “รโชหรณํ รโชหรณํ. ผ้าเช็ดธุลี ผ้าเช็ดธุลี

ดังนี้ ไปเรื่อยๆ แล้วเสด็จหลีกไป พระจูฬปันถก ครั้นกระทำไปตามที่ทรงแนะนำ ผ้าขาวสะอาดนั้นก็กลายเป็นผ้าเปื้อนหมองไป เพราะเหงื่อไคลจากมือของท่าน พระจูฬปันถกเห็นแล้วก็เกิดความสลดใจว่าผ้าขาวสะอาดดีอยู่แท้ๆ ผืนนี้ กลับกลายเป็นผ้าเปื้อนสกปรกไป เพราะอาศัยอัตภาพนี้นั่นเทียว อัตภาพนี้ไม่มีสาระ สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ ท่านเริ่มเจริญวิปัสสนาพิจารณาอัตภาพไป พระศาสดาทรงเปล่งพระโอภาส ทำพระรูปกายให้ปรากฏเบื้องหน้าท่าน แล้วตรัสพระคาถาว่า  “ราโค  รโช,  น  จ  ปน  เรณุ  วุจฺจติ”   เป็นต้น เมื่อพระคาถาจบลง ท่านจูฬปันถกก็ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ พร้อมได้ปฏิสัมภิทา ๔ และอภิญญาทั้งหลาย

เรื่องของ โมฆราชมานพ ปรากฏอยู่ใน สุตตนิบาต และใน จูฬนิทเทศ มีเนื้อความย่อๆว่า

เมื่อพาวรีพราหมณ์ทราบข่าวว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอุบัติขึ้นในโลกแล้ว ประสงค์จะทดสอบ จึงส่งพราหมณ์มานพ ๑๖ คนซึ่งเป็นลูกศิษย์ ไปเฝ้าเพื่อทดสอบ โดยการตั้งปัญหาเพื่อถามตอบกันทางใจ พราหมณ์มานพทั้ง ๑๖ คนนั้น ครั้นได้เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคแล้ว ก็ตั้งปัญหาทูลถาม แม้ทูลถามปัญหาถึง ๒ ครั้งแล้ว พระองค์ก็ไม่ตรัสตอบ เพราะทรงประสงค์รอคอยความแก่กล้าแห่งอินทรีย์ ในระหว่างที่ทรงเฉลยปัญหาของพราหมณ์มานพผู้อื่น และเพื่อลดมานะความหยิ่งว่าตนเป็นผู้มีความรู้ มีปัญญามากของท่านโมฆราชด้วย ในระหว่างที่ทรงเฉลยปัญหาของพราหมณ์มานพทั้งหลาย จับตั้งแต่ปัญหาของท่านอชิตะไป ท่านโมฆราชได้ฟังอยู่ด้วย ก็เกิดปิติ เกิดความบันเทิงในธรรม เกิดความรู้ เกิดปัญญา ได้ความแก่กล้าแห่งอินทรีย์ มีมานะลดน้อยถอยลงไป เมื่อทูลถามปัญหาของตนอีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่ทรงเฉลยปัญหาของ โปสกลมานพ ซึ่งเป็นคนที่ ๑๔ จบลง คราวนี้พระองค์ทรงเฉลยแก่โมฆราชมาณพนั้น พระผู้มีพระภาคทรงเฉลยปัญหาที่พรามหณ์มานพผู้นี้ทูลถามว่า มัจจุราช ความตาย จะมองไม่เห็นตัว บุคคลผู้มองโลกอยู่ อย่างไร ดังนี้ อย่างนี้ว่า 

“สุญฺญโต โลกํ อเวกฺขสฺสุ โมฆราช สทา สโต,   อตฺตานุทิฏฺฐึ อูหจฺจ เอวํ มจฺจุตโร สิยา,  เอวํ โลกํ อเวกฺขนฺตํ มจฺจุราชา น ปสฺสติ” (ขุ.สุ. ๒๕/๕๙๑) ดูก่อน โมฆราช ขอเธอจงเป็นผู้มีสติพิจารณาโลก โดยความเป็นของว่างเปล่า ตลอดกาลทุกเมื่อเถิด เธอจะพึงเป็นผู้ถอนอัตตานุทิฐิ ข้ามพ้นความตายได้ ก็โดยประการอย่างนี้ มัจจุราช ย่อมมองไม่เห็นบุคคลผู้มองเห็นโลกอย่างนี้ ดังนี้.  จบคำอธิบายปัญหาที่ ๓

ปัญหาที่ ๔ ผรุสวาจาภาวปัญหา

พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน พระธรรมเทศนาบดีสารีบุตรเถระได้ภาษิตความข้อนี้ไว้ว่า  “ปริสุทฺธวจีสมาโร อาวุโส ตถาตโต, นตฺถิ ตถาคตสฺส วจีทุจฺจริตํ, ยํ ตถาคโต รกฺฺเขยฺย มา เม อิทํ ปโร อญฺญาสิ. (ที.ปา. ๑๑/๒๔๕)  ท่านผู้มีอายุทั้งหลายพระตถาคตทรงเป็นผู้มีพระวจีสมาจารบริสุทธิ์ วจีทุจริตที่พระตถาคตต้องรักษาไว้ (ปิดบังไว้) ว่า ขอคนอื่นอย่าได้รู้ถึงทุจริตข้อนี้ของเรา ดังนี้ ย่อมไม่มีแก่พระตถาคต

แต่ยังมีกล่าวไว้อีกว่า พระตถาคตผู้จะทรงบัญญัติสิกขาบท ข้อปาราชิก ในเพราะความผิดพลาดของพระสุทินนกลันทบุตรเถระ ทรงมีพระผรุสวาจา เปล่งคำว่า โมฆบุรุษ ด้วยคำว่าโมฆบุรุษ นั้น เป็นเหตุให้พระเถระนั้นร้องไห้ เดือดร้อน ด้วยอำนาจแห่งความละอายจิต ไม่อาจแทงตลอดพระอริยมรรคได้ พระคุณเจ้านาคเสน ถ้าหากว่า พระตถาคตทรงเป็นผู้มีพระวจีสมาจารบริสุทธิ์ ทุจริตไม่มีแก่พระตถาคต จริงไซร้ ถ้าอย่างนั้น คำที่ว่า ทรงเปล่งพระวาจาคำว่า โมฆบุรุษ ในเพราะความผิดพลาดของพระสุทินนกลันทบุตรเถระ ดังนี้ก็ต้องเป็นคำพูดที่ผิด ถ้าหากว่า พระผู้มีพระภาคทรงเปล่งวาจาคำว่า โมฆบุรุษ ในเพราะความผิดพลาดของพระสุทินนกลันทบุตรเถระ จริงไซร้ ถ้าอย่างนั้นคำว่า พระตถาคตทรงเป็นผู้มีวจีสมาจารบริสุทธิ์ วจีทุจริตไม่มีแก่พระตถาคต ดังนี้ ก็ย่อมเป็นคำพูดที่ผิด ปัญหาแม้ข้อนี้ ก็มี ๒ เงื่อน ตกถึงแก่ท่านแล้ว ขอท่านจงคลี่คลายปัญหานั้นเถิด

พระนาคเสน, ขอถวายพระพร มหาบพิตร ท่านพระธรรมเสนาบดีสารีบุตรเถระได้ภาษิตความข้อนี้ไว้ว่า ท่านผู้มีอายุทั้งหลายพระตถาคตทรงเป็นผู้มีพระวจีสมาจารบริสุทธิ์ วจีทุจริตที่พระตถาคตต้องรักษาไว้ (ปิดบังไว้) ว่า ขอคนอื่นอย่าได้รู้ถึงทุจริตข้อนี้ของเรา ดังนี้ ย่อมไม่มีแก่พระตถาคต ดังนี้ จริง และมีคำกล่าวว่า พระผู้มีพระภาค ผู้จะทรงบัญญัติสิกขาบท ข้อปาราชิก ในเพราะความผิดพลาดของพระสุทินนกลันทบุตรเถระ ได้ทรง เปล่งคำว่า โมฆบุรุษ ดังนี้ จริง แต่ว่าข้อนั้นทรงเปล่งด้วยพระจิตที่ไม่ประทุษร้าย ด้วยหาความแข่งดีไม่ได้ ด้วยลักษณะตามที่เป็นจริง ก็ลักษณะตามที่เป็นจริงในเรื่องนั้นคืออะไรเล่า ขอถวายพระพร บุคคลใดหาการตรัสรู้สัจจะ ๔ ในอัตภาพนี้ไม่ได้ ความเป็นบุรุษของบุคคลนั้น ก็เป็นโมฆะ เกิดเป็นอีกอย่างหนึ่งจากอีกอย่างหนึ่ง เพราะเหตุนั้น จึงเรียกเขาว่า “โมฆบุรุษ” ขอถวายพระพร ก็เป็นอันพระผู้มีพระภาคทรงเปล่งพระวาจาที่เป็นจริงต่อท่านสุทินนกลันทบุตร ไม่ใช่วาจาที่ไม่เป็นจริง.    พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน ผู้ใดกล่าวคำด่าว่าเขา แม้เป็นเรื่องจริง ข้าพเจ้าจะสั่งให้เขาปรับสินไหม ให้ลงทัณฑ์ต่อผู้นั้น ข้อที่ตัวเขานั้น อาศัยเรื่องจริง เพลงโวหารด่าแต่ละคำ ก็จัดว่าเป็นคนผิดนั่นแหละ

พระนาคเสน, ขอถวายพระพร มีบ้างไหม เรื่องที่พระองค์เคยทรงสดับมาว่า คนมีความผิดก็ควรได้รับการกราบไหว้หรือการลุกรับ หรือการสักการะบูชา หรือการมอบรางวัล ?  พระเจ้ามิลินท์, ไม่มี พระคุณเจ้า คนทำความผิดในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เพราะเหตุใดเหตุหนึ่ง ย่อมเป็นผู้ควรจะด่าว่าควรกำหราบ อาจต้องตัดศีรษะเขา ฆ่าบ้าง จองจำบ้าง เผาให้ตายบ้าง.  พระนาคเสน, ขอถวายพระพร ถ้าอย่างนั้น พระผู้มีพระภาคได้ทรงทำกิจที่ควรทำแล้ว ไม่ใช่ทรงทำกิจที่ไม่ควรทำ.  พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน พระตถาคตทรงทำสิ่งที่ควรทำ ก็น่าจะทรงทำโดยเหมาะ โดยควร พระคุณเจ้านาคเสน ชาวโลกพร้อมทั้งเทวดา ย่อมเกรงกลัว ย่อมละอายต่อพระตถาคต แม้โดยเพียงแต่ได้ยิน (พระนาม) เท่านั้น ได้เห็นก็ยิ่งกลัว ได้เข้าไปเฝ้า ได้นั่งใกล้ก็กลัวยิ่งกว่านั้น.  พระนาคเสน, ขอถวายพระพร คนเราเมื่อในร่างกายเกิดมีโทษ (โรค) กำเริบขึ้น หมอจะให้แต่ยาบรรดาที่น่ากินทั้งนั้นหรือ ?  พระเจ้ามิลินท์, หาไม่ได้ก็คุณเจ้า หมอจะให้ยาที่ล้วนแต่ขมขื่น

พระนาคเสน, ขอถวายพระพร อุปมาฉันใด อุปไมยก็ฉันนั้นเหมือนกัน พระตถาคตก็ทรงมอบคำอนุศาสน์ เพื่อสงบความเจ็บป่วยคือกิเลสทั้งปวง ขอถวายพระพร พระวาจาของพระตถาคต แม้ว่าหยาบ ก็กระทำสัตว์ทั้งหลายให้รักใคร่ได้ ทำให้เป็นคนอ่อนโยนได้ ขอถวายพระพร เปรียบเหมือนว่าน้ำร้อน ย่อมทำบางสิ่งบางอย่างที่อาจหลอมเหลว ให้หลอมเหลวได้ ทำให้อ่อนตัวได้ ฉันใด พระวาจาของพระตถาคต แม้ว่าหยาบ ก็ย่อมเป็นพระวาจาที่มีประโยชน์ เป็นไปพร้อมกับพระมหากรุณาฉันนั้นเหมือนกัน ขอถวายพระพร เปรียบเหมือนว่า คำพูดของบิดา แม้ว่าหยาบ ย่อมเป็นคำพูดที่มีประโยชน์สำหรับบุตรทั้งหลาย ย่อมเป็นไปพร้อมกับความกรุณา ฉันใด ขอถวายพระพร พระวาจาของพระตถาคตแม้ว่าหยาบ ก็ย่อมเป็นพระวาจาที่เป็นประโยชน์ เป็นไปพร้อมกับพระมหากรุณา ฉันนั้นเหมือนกัน ขอถวายพระพร พระวาจาของพระตถาคต แม้ว่าหยาบ ก็เป็นพระวาจาที่เป็นเหตุละกิเลสของสัตว์ทั้งหลาย ขอถวายพระพร เปรียบเหมือนว่า น้ำมูตรโค แม้มีกลิ่นเหม็นที่สัตว์ได้ดื่มแล้ว, ยา แม้หารสชาติไม่ได้ ที่สัตว์ได้กินแล้ว ย่อมจำกัดความเจ็บป่วยของสัตว์ทั้งหลายได้ฉันใด ขอถวายพระพร พระวาจาของพระตถาคต แม้ว่าหยาบ ก็เป็นพระวาจาที่มีประโยชน์ เป็นไปพร้อมกับพระมหากรุณา ฉันนั้นเหมือนกัน ขอถวายพระพร เปรียบเหมือนว่า นุ่น แม้ว่าเป็นกองใหญ่ ตกถูกร่างกายใคร ก็ไม่สร้างความเจ็บปวด ฉันใด ขอถวายพระพร พระวาจาของพระตถาคต แม้ว่าหยาบ ก็ไม่ทำความทุกข์ให้เกิดแก่ใครๆ ฉันนั้น

พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน ท่านได้วินิจฉัยปัญหาดีแล้วด้วยเหตุผลเป็นอันมาก ดีล่ะพระคุณเจ้านาคเสน ข้าพเจ้าขอยอมรับคำพูดตามประการที่ท่านกล่าวมานี้.  จบ ผรุสวาจาภาวปัญหาที่ ๔

คำอธิบายปัญหาที่ ๔

ปัญหาที่เกี่ยวกับความเป็นผู้มีผรุสวาจา วาจาหยาบช้า ชื่อว่า ผรุสวาจาภาวปัญหา.  คำว่า ทรงเป็นผู้มีพระวจีสมาจารบริสุทธิ์ ความว่า ความประพฤติชอบทางวาจา ชื่อว่า “วจีสมาจาร” ได้แก่การเปล่งวาจาชอบ พระผู้มีพระภาคทรงเป็นผู้มีพระวจีสมาจารนั้นบริสุทธิ์ คือทรงเปล่งพระวาจาอย่างไม่อาศัยความยินดีและยินร้าย เป็นพระวาจาที่หาข้อติเตียนไม่ได้.   คำว่า ในเพราะความผิดพลาดของพระสุทินนกลัทบุตร คือในเพราะความประพฤติผิดพลาด น่าติเตียน คือการเสพเมถุนธรรมของพระสุทินนกลันทบุตร อันเป็นเหตุให้ทรงปรารภเรื่องนี้ บัญญัติสิกขาบทปาราชิกข้อแรก ที่ว่าด้วยการห้ามพระภิกษุเสพเมถุนธรรม.  คำว่า โมฆบุรุษ แปลว่า บุรุษผู้เหลวเปล่า ความว่า บุรุษผู้ไม่อาจทำประโยชน์อะไรๆ ให้สำเร็จได้ โดยเฉพาะประโยชน์อย่างยิ่ง คือพระนิพพาน.   แง่ปมของปัญหาที่ขัดแย้งกัน มีอยู่อย่างนี้ คือ ถ้าหากว่า พระผู้มีพระภาคทรงเป็นผู้มีพระวจีสมาจารบริสุทธิ์ จริง ก็ไม่น่าจะทรงเปล่งคำว่า โมฆบุรุษ เพราะเป็นวจีทุจริตข้อผุรุสวาจาเป็นคำหยาบช้าที่ผู้ฟังฟังแล้วย่อมเกิดความทุกข์ ความเดือดร้อนใจ ถ้าหากว่า ทรงเปล่งคำว่า โมฆะบุรุษ จริง ก็ไม่น่าจะนับว่าทรงเป็นผู้มีพระวจีสมาจารบริสุทธิ์ เพราะผู้มีพระวจีสมาจารบริสุทธิ์จริง ย่อมไม่เปล่งคำที่เป็นวจีทุจริตทั้งหลาย อันรวมทั้งผรุสวาจา เห็นป่านฉะนี้.   คำว่า เกิดเป็นอย่างหนึ่งจากอีกอย่างหนึ่ง คือ เกิดเป็นบุรุษอีกอย่างหนึ่ง อีกพวกหนึ่งต่างหากจากบุรุษผู้ที่สามารถทำประโยชน์ให้สำเร็จได้.   ความว่า การที่ทรงเปล่งพระวาจาว่า โมฆบุรุษ นี้ แม้ว่าเป็นคำหยาบ ก็สักว่าเป็นโวหารที่ไม่น่าฟัง ไม่น่าเจริญหูเท่านั้น มิได้เป็นคำหยาบเพราะทรงมีพระทัยหยาบ โดยเกี่ยวกับทรงมีความมุ่งร้ายต่อพระสุทินนกลันทบุตรอยู่ก่อน ที่แท้แล้ว ทรงเปล่งออกมาด้วยน้ำพระทัยที่ประกอบด้วยพระมหากรุณา หวังประโยชน์เกื้อกูลแก่ท่านพระสุทินนกลันทบุตรนั้นนั่นแหละ เพราะฉะนั้นจึงไม่อาจนับว่าเป็นวจีทุจริตได้เลยโดยประการทั้งปวง.  จบคำอธิบายปัญหาที่ ๔.   จบมิลินทปัญหาตอนที่ ๒๙

ขอให้ การอ่าน การศึกษา ของทุกท่านตามกุศลเจตนา ได้เป็นพลวปัจจัย เพิ่มพูลกำลังสติ กำลังปัญญา ให้สามารถนำตนให้พ้นจากวัฏฏทุกข์ด้วยเทอญ

ณัฏฐ สุนทรสีมะ

ที่มา : http://dhamma.serichon.us/

มิลินทปัญหา (ตอนที่ 50) ,  (ตอนที่ 49) ,  (ตอนที่ 48) ,  (ตอนที่ 47) ,  (ตอนที่ 46) ,  (ตอนที่ 45) ,  (ตอนที่ 44) ,  (ตอนที่ 43) ,  (ตอนที่ 42) ,  (ตอนที่ 41) ,  (ตอนที่ 40) ,  (ตอนที่ 39) ,  (ตอนที่ 38) ,  (ตอนที่ 37) ,  (ตอนที่ 36) ,  (ตอนที่ 35) ,  (ตอนที่ 34) ,  (ตอนที่ 33) ,  (ตอนที่ 32) ,  (ตอนที่ 31) ,  (ตอนที่ 30) ,  (ตอนที่ 29) ,  (ตอนที่ 28) ,  (ตอนที่ 27) ,  (ตอนที่ 26) ,  (ตอนที่ 25) ,  (ตอนที่ 24) ,  (ตอนที่ 23) ,  (ตอนที่ 22) ,  (ตอนที่ 21 ต่อ) ,  (ตอนที่ 21) ,  (ตอนที่ 20) ,  (ตอนที่ 19) ,  (ตอนที่ 18) ,  (ตอนที่ 17) ,  (ตอนที่ 16) ,  (ตอนที่ 15) ,  (ตอนที่ 14) ,  (ตอนที่ 13) ,  (ตอนที่ 12) ,   (ตอนที่ 11) ,  (ตอนที่ 10) ,  (ตอนที่ 9) ,  (ตอนที่ 8) ,  (ตอนที่ 7) ,  (ตอนที่ 6) ,  (ตอนที่ 5) ,  (ตอนที่ 4) ,  (ตอนที่ 3) ,  (ตอนที่ 2) ,  (ตอนที่ 1) ,  ประโยชน์​การอุปมา​อันได้จากการศึกษา​คัมร์ในทางพุทธศาสนา มีคัมภีร์​มิลินท์​ปัญหาเป็นต้น​ ,   มิลินทปัญหา ปัญหาเกี่ยวกับการไม่เคลื่อนไปก็ปฏิสนธิได้  ,  เหตุไร ตรัสให้คฤหัสถ์โสดาบันกราบไหว้ ลุกรับภิกษุสามเณรปุถุชนเล่า?  ,  นิปปปัญจปัญหา ​- ปัญหา​เกี่ยวกับ​ธรรม​ที่ปราศจาก​เหตุ​ให้เนิ่น​ช้าในวัฏฏทุกข์  ,   ถามว่า​ อานิสงส์​การเจริญเมตตา​ ห้ามอันตราย​ต่างๆ​ เหตุไรสุวรรณ​สามผู้เจริญเมตตา​จึงถูกยิงเล่า?


Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: