วันศุกร์ที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2564

อตฺถสฺสทฺวารชาตกํ - ทวารแห่งประโยชน์ ๖ ประการ

อตฺถสฺสทฺวารชาตกํ - ทวารแห่งประโยชน์ ๖ ประการ

"อาโรคฺยมิจฺเฉ ปรมญฺจ ลาภํ,      สีลญฺจ วุทฺธานุมตํ สุตญฺจ;

ธมฺมานุวตฺตี จ อลีนตา จ,             อตฺถสฺส ทฺวารา ปมุขา ฉเฬเตติ ฯ   

บุคคลควรปรารถนาลาภอย่างเยี่ยม คือ ความไม่มีโรค ๑ ศีล ๑ ความรู้ของท่านผู้รู้ทั้งหลาย ๑ การสดับฟัง ๑ ความประพฤติตามธรรม ๑ ความไม่ท้อถอย ๑ คุณธรรม ๖ ประการนี้ เป็นประตู เป็นประธานแห่งประโยชน์."

อัตถัสสทวารชาดกอรรถกถา

พระบรมศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหารทรงปรารภกุลบุตรผู้ฉลาดในประโยชน์คนหนึ่ง ตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า  อาโรคฺยมิจฺเฉ  ปรมญฺจ  ลาภํ  ดังนี้. 

มีเรื่องย่อ ๆว่า ในพระนครสาวัตถี บุตรของท่านเศรษฐีผู้มีสมบัติมากคนหนึ่ง เกิดมาได้ ๗ ขวบ เป็นผู้มีปัญญาฉลาดในประโยชน์.    วันหนึ่งเขาเข้าไปหาท่านบิดา ถามถึงเรื่องที่ชื่อว่าปัญหาอันเป็นประตูแห่งประโยชน์. ท่านเศรษฐีผู้บิดาไม่ทราบปัญหานั้นจึงได้เกิดปริวิตกว่า „ปัญหานี้สุขุมยิ่งนัก เว้นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสียแล้ว ผู้อื่นในโลกสันนิวาสที่กำหนดด้วยภวัคคพรหม เป็นส่วนสุดเบื้องบนและด้วยอเวจี เป็นส่วนสุดเบื้องต่ำ ที่ชื่อว่าสามารถเพื่อจะแก้ปัญหานี้ได้ไม่มีเลย.“ 

ท่านจึงพาบุตรให้ถือดอกไม้ของหอมและเครื่องลูบไล้เป็นอันมาก ไปสู่พระเชตวันวิหารบูชาพระศาสดาแล้วถวายบังคม นั่ง ณ ส่วนข้างหนึ่ง กราบทูลความข้อนี้กะพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า „ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เด็กนี้มีปัญญาฉลาดในประโยชน์ ถามปัญหาประตูแห่งประโยชน์กะข้าพระองค์ ข้าพระองค์ไม่ทราบปัญหานั้น จึงมาสู่สำนักของพระองค์ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ตัวข้าพระองค์ขอโอกาส ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าโปรดกล่าวแก้ปัญหานั้นเถิด พระเจ้าข้า.“   พระศาสดาตรัสว่า „ดูก่อนอุบาสก แม้ในกาลก่อน เราก็ถูกเด็กนี้ถามปัญหานั้นแล้วและเราก็กล่าวแก้ปัญหานั้นกะเขาแล้ว ในครั้งนั้น เด็กนี้รู้ปัญหานั้น แต่บัดนี้เขากำหนดไม่ได้ เพราะถือความสิ้นไปแห่งภพ (ติดต่อกัน)“ ท่านเศรษฐีกราบทูลอาราธนาทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้ :- 

ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี #พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นเศรษฐีมีสมบัติมาก ครั้งนั้น บุตรของท่านเกิดมาได้ ๗ ขวบ เป็นผู้มีปัญญาฉลาดในประโยชน์ วันหนึ่งเข้าไปหาบิดา ถามปัญหาเรื่องประตูประโยชน์ว่า „ข้าแต่ท่านบิดา อะไรชื่อว่าประตูแห่งประโยชน์?“   ครั้งนั้น บิดาของเขา เมื่อจะกล่าวแก้ปัญหานั้น กล่าวคาถานี้ว่า :-   „บุคคลควรปรารถนาลาภอย่างยิ่ง คือ ความไม่มีโรค ๑ ศีล ๑ ความคล้อยตามผู้รู้ ๑ การสดับตรับฟัง ๑ ความประพฤติตามธรรม ๑ ความไม่ท้อถอย ๑ คุณธรรม ๖ ประการนี้ เป็นประตูด่านแรกแห่งประโยชน์“. 

บรรดาบทเหล่านั้น จ อักษรในบทว่า อาโรคฺยมิจฺเฉ ปรมญฺจ ลาภํ เป็นเพียงนิบาต.  พระโพธิสัตว์เมื่อจะแสดงความนี้ว่า พ่อคุณก่อนอื่นทีเดียว พึงปรารถนาลาภยอดเยี่ยม กล่าวคือความไม่มีโรค จึงกล่าวอย่างนี้. ที่ชื่อว่าความเป็นผู้ไม่มีโรค ในบาทคาถาว่า อาโรคฺยมิจฺเฉปรมญฺจ ลาภํ นั้น. ได้แก่ อาการที่ไม่มีสภาวะเสียดแทง ไม่มีอาการกระวนกระวายแห่งร่างกายและจิตใจ.  เพราะว่า เมื่อร่างกายยังถูกเสียดแทง กระวนกระวายอยู่ บุคคลย่อมไม่สามารถจะยังลาภที่ยังไม่ได้ให้เกิดขึ้น ที่ได้ไว้แล้วก็ไม่อาจที่จะใช้สอยแต่เมื่อไม่กระวนกระวาย ย่อมสามารถบันดาลให้เกิดได้ทั้งสองสถาน.  อนึ่ง เมื่อจิตใจเดือดร้อนเพราะอุปกิเลสอยู่ คนก็ไม่อาจเหมือนกับที่จะก่อลาภ คือคุณพิเศษ มีฌานเป็นต้น ที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น ที่ได้ไว้แล้ว ก็อาจจะชมเชยด้วยสามารถแห่งสมาบัติอีกได้ เมื่อโรคนี้ยังมีอยู่ แม้ลาภที่ยังไม่ได้ก็เป็นอันไม่ได้ แม้ที่ได้แล้วก็ไร้ประโยชน์ แต่เมื่อโรคนี้ไม่มีแม้ลาภที่ยังไม่ได้ ก็จะต้องได้แม้ที่ได้แล้วก็ย่อมอำนวยประโยชน์ เหตุนั้น ความไม่มีโรค จึงชื่อว่าเป็นลาภอย่างยิ่ง จำต้องปรารถนาความไม่มีโรคนั้นก่อนอื่นทั้งหมดนี้เป็นประตูเอกแห่งประโยชน์ ทั้งหมดนี้เป็นอรรถาธิบายในข้อนั้น 

บทว่า สีลญฺจ ได้แก่ อาจารศีล คือระเบียบในส่วนที่เป็นมารยาท.  พระโพธิสัตว์แสดงถึงจารีตของชาวโลก ด้วยบทนี้.  บทว่า พุทฺธานุมตํ ได้แก่ ความคล้อยตามบัณฑิตผู้เจริญด้วยคุณทั้งหลาย พระโพธิสัตว์แสดงโอวาทของครูทั้งหลาย ผู้สมบูรณ์ด้วยความรู้ ด้วยบทนี้.  บทว่า สุตญฺจ คือการฟังที่อิงเหตุ พระโพธิสัตว์แสดงพาหุสัจจะความเป็นผู้คงแก่เรียน อันอาศัยในในโลกนี้ ด้วยบทนี้.  บทว่า ธมฺมานุวตฺตี จ ได้แก่ การคล้อยตามสุจริตธรรมมีอย่าง ๓. พระโพธิสัตว์แสดงการเว้นทุจริตธรรมแล้วประพฤติสุจริตธรรม ด้วยบทนี้.  บทว่า อลีนตา จ ได้แก่ ความที่จิตไม่หดหู่ไม่ตกต่ำ. พระโพธิสัตว์แสดงความที่จิตเป็นสภาพประณีตและเป็นสภาพสูงยิ่งอย่างไม่เสื่อมคลายด้วยบทนี้.  บทว่า อตฺถสฺส ทฺวารา ปมุขา ฉเฬเต ความว่า ความเจริญชื่อว่าประโยชน์๑ ธรรมทั้ง ๖ ประการเหล่านี้เป็นประตู เป็นอุบาย คือเป็นทางบรรลุด่านแรกคือสูงสุด แห่งประโยชน์ทั้งที่เป็นโลกิยะ ทั้งที่เป็นโลกุตตระ กล่าวคือความเจริญ. 

พระโพธิสัตว์กล่าวแก้ปัญหาประตูแห่งประโยชน์แก่บุตรด้วยประการฉะนี้. ตั้งแต่นั้นมา เขาก็ประพฤติในธรรม ๖ ประการนั้น.  พระโพธิสัตว์บำเพ็ญบุญมีทานเป็นต้นแล้วก็ไปตามยถากรรม. พระศาสดา ทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ประชุมชาดกว่า บุตรในครั้งนั้นได้มาเป็นบุตรคนปัจจุบัน ส่วนมหาเศรษฐีได้มาเป็นเราตถาคต ฉะนี้แล.

ที่มา : Palipage : Guide to Language - Pali

Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: