วันอาทิตย์ที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

"ระลึกถึงความตาย และวิธีปฏิบัติให้ถูกต้องต่อความตาย" (พระพรหมคุณาภรณ์)

"ระลึกถึงความตาย และวิธีปฏิบัติให้ถูกต้องต่อความตาย" (พระพรหมคุณาภรณ์)

ระลึกถึงความตาย และวิธีปฏิบัติให้ถูกต้องต่อความตาย  พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)  วัดญาณเวศกวัน ต.บางกระทึก อ.สามพราน จ.นครปฐม

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺสฯ

น  เหว  ติฏฺฐํ  นาสีนํ  สยานํ  ปตฺถคุํ   ตสฺมา  อิธ  ชีวิตเสเส  กิจฺจกโร  สิยา  นโร  น  จ  มชฺเชติ.

ณ บัดนี้ อาตมาภาพจักแสดงพระธรรมเทศนา ประดับสติปัญญาของท่านสาธุชนทั้งหลาย เพื่ออุทิศกุศลแก่ท่านผู้ได้ล่วงลับไปแล้ว นับการเวลาผ่านโดยลำดับ

การบำเพ็ญกุศลตามประเพณี

อันการบำเพ็ญกุศลเช่นนี้ นับว่าเป็นการอนุวัตรตามประเพณีเนื่องด้วยพระพุทธศาสนาซึ่งปฏิบัติสืบต่อกันมา โดยทั่วไปถือว่าเป็นการประกาศคุณความดีของบุคคลทั้ง ๒ ฝ่าย ที่มีความสัมพันธ์ต่อกัน กล่าวคือท่านผู้ล่วงลับไปแล้วฝ่ายหนึ่ง และท่านที่ยังดำรงชีวิตอยู่และมาเป็นเจ้าภาพอีกฝ่ายหนึ่ง.  ในส่วนของท่านผู้ล่วงลับไปแล้ว การประกอบพิธีนี้เป็นการประกาศถึงความดีของท่าน ว่าท่านได้เคยกระทำความดีงาม มีอุปการคุณแก่ท่านที่ดำรงชีวิตอยู่ โดยเฉพาะแก่ท่านผู้เป็นเจ้าภาพนั้น จึงเป็นเหตุให้ระลึกถึงคุณความดีนั้นหรืออุปการคุณนั้น แล้วขวนขวายกระทำกิจต่าง ๆ อันพึงกระทำเพื่อระลึกถึงท่าน อุทิศส่วนกุศลให้ท่าน ตามประเพณีนิยมที่ได้สืบกันมาในสังคมและตามหลักของพระศาสนา.  ส่วนในฝ่ายของเจ้าภาพที่ได้มาประกอบพิธีนี้ ก็เป็นการประกาศถึงความดีของท่าน ว่าเป็นผู้มีกตัญญูเวทิตาธรรม เมื่อท่านผู้มีอุปการคุณซึ่งได้ทำความดีแก่ตนไว้ ได้ล่วงลับไปแล้ว ก็มิได้นิ่งอยู่เฉย ได้ขวนขวายกระทำกิจที่ควรทำ มีความรำลึกถึงท่านและพยายามแสดงตอบแทน ในเมื่อไม่สามารถจะกระทำได้ด้วยประการอื่น เพราะท่านผู้มีพระคุณได้ล่วงลับไปแล้ว ก็กระทำโดยวิธีการอุทิศส่วนกุศลตามประเพณีนิยมที่ต้องด้วยหลักพระพุทธศาสนา

การบำเพ็ญกุศลเป็นโอกาสที่จะได้กระทำความดีงาม

แต่ทั้งนี้ก็มิใช่เป็นเพียงการแสดงความสัมพันธ์และความดีต่อกัน ระหว่างเจ้าภาพกับท่านผู้ล่วงลับไปเท่านั้น การที่พุทธศาสนิกชนแต่โบราณมาได้ตั้งหลักให้มีพิธีกรรมเช่นนี้ขึ้น ก็ย่อมมุ่งหมายเพื่อให้เป็นโอกาสที่จะได้กระทำความดีงาม ทำสิ่งที่เป็นประโยชน์เป็นกุศลยิ่ง ๆ ขึ้นไปด้วย จุดมุ่งหมายสำคัญของพิธีนั้นก็อยู่ ณ ที่นี้ คือได้อาศัยโอกาสเช่นนี้ กระทำสิ่งที่ดีงามเป็นคุณเป็นประโยชน์แก่ตัวเจ้าภาพเอง และเป็นคุณประโยชน์แก่สาธุชนทั้งหลายที่ได้เกี่ยวข้องมาร่วมพิธีด้วย สำหรับท่านที่ได้ล่วงลับไปแล้วนั้น ก็จะได้รับการอุทิศกุศลตามความเชื่อในพุทธศาสนาและประเพณี ให้ท่านได้รับผลแห่งบุญกุศลที่เจ้าภาพได้บำเพ็ญเพื่อประโยชน์สุขของท่านในภพสืบต่อไป ส่วนทางเจ้าภาพก็ได้ประกอบการบุญการกุศล ได้เป็นโอกาสที่ญาติมิตรผู้หวังดีทั้งหลาย จะได้มาทำบุญทำกุศลร่วมกันงอกงามในคุณความดียิ่ง ๆ ขึ้นไป

ความตายเป็นสิ่งที่ไม่น่าพึงใจ

ในทางพุทธศาสนานั้น ท่านให้หาโอกาสทุกอย่างที่จะกระทำสิ่งที่ดีงาม คือเมื่อมีเหตุการณ์อันน่าพึงใจก็ตาม ไม่น่าพึงใจก็ตาม เกิดขึ้น พุทธศาสนิกชนจะได้ใช้โอกาสนี้ ทำให้เกิดเป็นประโยชน์เป็นกุศลมากยิ่ง ๆ ขึ้นไป สำหรับในกรณีนี้ ความตายเป็นสิ่งที่ไม่น่าพึงใจ จัดว่าเป็นส่วนอนิฏฐารมณ์ เป็นการพลัดพรากจากกัน แต่ว่าวิสัยของพุทธศาสนิกชนแล้ว แม้จะประสบกับสิ่งที่เป็นอารมณ์อันไม่น่าพึงใจ มีเหตุการณ์อันทำให้เกิดความทุกข์ความโศกเศร้า แต่ก็ใช้เหตุการณ์ที่โศกเศร้านี้แหละทำสิ่งที่เป็นกุศล เป็นคุณประโยชน์ยิ่งขึ้นทั้งแก่ตนเองและแก่ผู้อื่น ตนเองก็ได้บำเพ็ญกุศลทำความดีในทานศีลภาวนามากยิ่งขึ้น ได้ช่วยบำเพ็ญประโยชน์บำรุงพระศาสนา จัดพิธีต่าง ๆ อันเป็นประโยชน์ ที่จะช่วยให้ท่านผู้มาร่วมพิธีบำเพ็ญกุศลได้รับความเจริญงอกงาม ฝึกฝนอบรมสติปัญญาของตนเอง ดังเช่นที่ได้มีพระธรรมเทศนาเช่นนี้ ก็นับได้ว่าเป็นการนำเอาโอกาสหรือเหตุการณ์นั้นมาใช้ให้เป็นประโยชน์อย่างหนึ่ง

ดูความตายเป็นเรื่องธรรมดาของชีวิต

ที่กล่าวเมื่อกี้นี้ว่าความตายเป็นสิ่งที่ไม่น่าพึงใจ อันนี้ก็เป็นการกล่าวตามวิสัยของปุถุชนทั้งหลาย คือมนุษย์ปุถุชนนั้น ย่อมวัดสิ่งทั้งหลายไปตามความถูกใจไม่ถูกใจของตนเอง ความตายนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ถูกใจ เราก็ไม่ชอบ ส่วนสิ่งใดที่เราถูกใจ เราก็ชอบ เราก็อยากให้เกิดให้มีขึ้น แต่ถ้ากล่าวตามเหตุผลที่แท้จริงแล้ว เรื่องความตายนี้ท่านก็จัดอยู่ในคติของธรรมดา คือเป็นเรื่องธรรมดาอย่างหนึ่ง มีเกิดก็ต้องมีตาย คือเกิดมาแล้วก็ต้องตาย หรือที่ตายก็เพราะได้เกิดมาแล้ว ความเกิดกับความตายนั้นเป็นของคู่กัน จะเลือกเอาเพียงอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้ และเป็นไปตามกระบวนการเหตุผลหรือเป็นไปตามเหตุปัจจัย มีเกิดก็มีดับ หรือว่าสิ่งทั้งหลายมีความเกิดในเบื้องต้น มีความเปลี่ยนแปลงแตกสลายไปในที่สุด แต่กระนั้นก็ตามปุถุชนทั้งหลายก็ย่อมปรารถนาในส่วนที่ตนถูกใจ อยากจะเลือกเอาอย่างเดียว คือตามปรกติจะชอบพูดถึงความเกิด เมื่อมีความเกิดขึ้นก็มักจะกล่าวหรือยินดีพูดถึงด้วยความชอบใจ มีความลิงโลดตื่นเต้นกันต่าง ๆ แต่ส่วนความตายนั้นไม่อยากพูดถึงไม่อยากฟังตลอดจนแม้แต่นึกถึงก็ไม่อยาก อันนี้ตรงข้ามกับในทางธรรม

ความตายเป็นเครื่องเตือนสติแก่มนุษย์ปุถุชน

ในทางธรรมนั้นท่านกลับชอบพูดถึงความตาย ท่านไม่ชอบพูดถึงความเกิดที่คนทั้งหลายชอบหรือปรารถนา เพราะว่าความตายท่านพูดขึ้นมาแล้วก็เป็นเครื่องเตือนสติแก่มนุษย์ปุถุชนทั้งหลาย ให้ได้ความคิดในธรรมะ แม้ในโอกาสใดท่านจะพูดถึงความเกิดบ้าง ท่านก็จะพูดในแง่ที่สัมพันธ์กับความตาย เป็นเครื่องเตือนสติเช่นเดียวกัน บางครั้งท่นถึงกับพูดว่า ถ้าจะกลัวตายก็ควรจะกลัวเกิด เพราะว่าในเมื่อเกิดขึ้นมาก็ต้องตาย ในเมื่อไม่อยากตายก็ต้องไม่อยากเกิด การที่พูดอย่างนี้ก็เป็นวิธีการของท่าน ในการที่จะให้เป็นอนุสติเตือนใจมนุษย์ทั้งหลาย เพื่อจะให้ประพฤติดีปฏิบัติชอบ เพราะว่ามนุษย์ทั้งหลาย เมื่อนึกถึงความเกิดแล้วก็มีความดีใจ ก็อาจจะเกิดความมัวเมาประมาท แทนที่จะคิดเร่งขวนขวายในการทำกิจหน้าที่ความดีงามต่าง ๆ ก็อาจจะหันไปเพลิดเพลินสนุกสนาน หาแต่ความสุขความปรนเปรอตนเอง และก้ไม่อยากนึกถึงความตาย เพราะจิตใจสลดหดหู่ และทำให้เกิดความท้อแท้ อันนี้ในทางธรรมถือเป็นการปฏิบัติไม่ถูกต้อง ทางหลักธรรมท่านจึงสอนให้ระลึกถึงความตาย ทั้งนี้ก็เป็นการพูดทวนกระแสจิตของมนุษย์ แต่มุ่งเพื่อประโยชน์แก่มนุษย์นั่นเอง มุ่งจะให้ยอมรับความจริง และเผชิญหน้าความจริง และแนะวิธีปฏิบัติให้ถูกต้องคือมิใช่กล่าวเพียงระลึกถึงความตาย แต่ท่านให้ระลึกถึงความตายแล้วแนะวิธีปฏิบัติที่ถูกต้องต่อความตายด้วย

วิธีปฏิบัติที่ถูกต้องต่อความตาย

มนุษย์ปุถุชนนึกถึงความตายอย่างไม่ถูกต้องอย่างไร และในทางพระศาสนาสอนหรือแนะนำให้ปฏิบัติให้ถูกต้องอย่างไร มนุษย์นึกถึงความตายอย่างไม่ถูกต้องคือ มีความหวาดหวั่นพรั่นกลัว มีความสลดหดหู่ท้อแท้ หรือจะขยายให้พิสดารต่อไปอีก ก็สัมพันธ์กับบุคคลที่ตายนั้นที่ตนระลึกถึง ถ้าหากระลึกถึงความตายของบุคคลที่ตนเกลียดชัดหรือไม่พอใจ บุคคลที่เป็นศัตรู มนุษย์ปุถุชนก็จะมีความดีใจ แต่ถ้าหากว่าบุคคลที่ตายนั้นไม่เกี่ยวข้องกับตนเอง เป็นบุคคลทั่ว ๆ ไป ก็จะระลึกถึงด้วยความเฉย หรือถ้าจะระลึกถึงตัวความตายนั้น ก็จะมีความหวาดหวั่นพรั่นใจหวาดเสียวหรือมีความสลดหดหู่ท้อแท้ รวมความว่า จิตมนุษย์ปุถุชนไม่สามารถตั้งอยู่ในความดีงามที่แท้จริงได้ แต่เอนเอียงไปในด้านต่าง ๆ ถึงแม้ถ้าไม่เกี่ยวกับบุคคลอื่น นึกถึงความตายของตนเอง ก็จะมีความหวาดกลัว ความหดหู่ท้อแท้ ดังได้กล่าวมาแล้ว

ระลึกถึงความตายจิตไม่ประมาท

ส่วนในทางพระศาสนานั้น ท่านสอนให้ระลึกถึงความตายเพื่อเป็นเครื่องกระตุ้นเตือนใจตนเอง ว่าความตายนั้นเป็นเรื่องธรรมดาของชีวิต มันจะต้องเกิดมีขึ้น เป็นเรื่องสืบต่อไปจากความเกิด ในเมื่อมันเป็นเรื่องธรรมดาก็ไม่ต้องไปกลัว แต่มีข้อที่น่าพิจารณาว่า ความตายนั้นซึ่งเป็นของแน่นอน แต่จะมาถึงเมื่อไรไม่แน่ ชีวิตของคนเราอาจจะสั้นหรืออาจจะยาวไม่มีเครื่องกำหนดให้มองเห็นได้ชัดเจน เพราะฉะนั้น จึงความใช้เป็นเครื่องเร่งเร้าตนเองให้มีความไม่ประมาท กล่าวคือ ชีวิตนี้มีกิจหน้าที่อะไร ก็ควรเร่งรัดจัดทำ ชีวิตของตนจะมีค่าและความดีงามอย่างไร ก็ควรเร่งขวนขวายประกอบกรรมที่จะให้เป็นอย่างนั้น ให้ชีวิตของตนมีคุณค่า ให้อยู่อย่างมีประโยชน์ และตายไปก็มีคุณค่าเหลือทิ้งไว้ เป็นประโยชน์แก่คนอื่นภายหลังด้วย อันนี้เป็นคำสอนทางพระพุทธศาสนา สำหรับให้ระลึกถึงความตาย

พิจารณาความตายเพื่อให้รู้ความเป็นจริงของชีวิต

ส่วนในอีกขั้นหนึ่งซึ่งเป็นขั้นสูงขึ้นไป ท่านก็สอนให้พิจารณาถึงความตายนั้น ในฐานะเป็นคติธรรมดาดังได้กล่าวแล้ว แต่ความหมายของคติธรรมดา คือให้รู้ความเป็นจริงของชีวิต ว่ามีการเริ่มต้นและสิ้นสุด เพื่อจิตใจจะได้ไม่ถูกครอบงำบีบคั้น ด้วยความทุกข์จากความพลัดพราก จากการที่นึกถึงความตายของตนเอง เป็นต้น คือรู้เท่าทันความเป็นไปของธรรมดา แล้วก็มีจิตใจสบายดำรงอยู่ในปกติได้เสมอ รำลึกถึงความตายด้วยความไม่หวาดหวั่น และเป็นอยู่ด้วยปัญญา คือการทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยความรู้และเข้าใจธรรมดานั้น หมายความว่า อยู่ด้วยความรู้เหตุผล อะไรเป็นสิ่งควรทำก็กระทำไป อะไรเป็นสิ่งที่เป็นปัญหา ควรแก้ไข ก็กระทำไปตามเหตุปัจจัย อันนี้ก็เป็นคำสอนขั้นสูงขึ้นไปในทางพระศาสนา

ขั้นตอนการปฏิบัติของมนุษย์ต่อเรื่องความตาย

สรุปว่าท่าทีการปฏิบัติของมนุษย์ต่อเรื่องความตายนี้ แสดงถึงความเจริญงอกงามแห่งจิตใจของมนุษย์เป็น ๓ ขั้นด้วยกัน คือ  ขั้นที่ ๑ มนุษย์ปุถุชนทั่วไป ท่านว่าเป็นปุถุชนที่ยังมิได้สดับ คือยังไม่มีการศึกษา ก็จะระลึกถึงความตายด้วยความหวาดหวั่นพรั่นกลัว เศร้าหดหู่ท้อแท้ ระย่อท้อถอย.  ขั้นที่ ๒ สูงขึ้นไป เป็นอริยสาวกผู้มีการศึกษา ได้สดับแล้ว ก็ระลึกถึงความตายโดยเป็นอนุสติ สำหรับตักเตือนใจไม่ให้ประมาท เร่งขวนขวายปฏิบัติ ประกอบหน้าที่ คุณงามความดีให้ชีวิตนี้มีประโยชน์ มีคุณค่า.  ขั้นที่ ๓ คือให้รู้เท่าทันความตาย ซึ่งมีคติเนื่องในธรรมดา จะได้มีชีวิตที่ปราศจากความทุกข์ ไม่ถูกบีบคั้นด้วยความรู้สึกหวาดหวั่นพรั่นกลัวต่อความพลัดพรากเป็นต้น มีใจปลอดโปร่งโล่งสบาย และเป็นอยู่ด้วยปัญญาที่กระทำการไปตามเหตุผล ด้วยความรู้เท่าทันเหตุปัจจัย

เรื่องท่าทีปฏิบัติเช่นนี้ มิใช่เฉพาะต่อความตายเท่านั้น แม้แต่เรื่องทั่ว ๆ ไป มนุษย์ก็จะปฏิบัติด้วยท่าที ๓ ประการเหล่านี้ แต่ข้อสังเกตน่าจะกล่าวถึงในที่นี้ก็คือ ในประการที่ ๒ ซึ่งในที่นี้กล่าวถึงคำสอนในทางพระศาสนา ว่าให้มนุษย์ขวนขวายเร่งกระทำการต่าง ๆ โดยนำเอาการระลึกถึงความตายนั้นมาเป็นเครื่องเร่งเร้า.  มนุษย์ทั่วไป ในการดำเนินชีวิตประจำวันนั้น ก็อาศัยสิ่งต่าง ๆ เป็นเครื่องเร่งเร้าตัวเองในการกระทำการต่าง ๆ อยู่ตลอดเวลา แต่ว่าเครื่องเร่งเร้าของมนุษย์นั้นมิใช่เป็นเรื่องคุณธรรมหรืออนุสติ อย่างเช่นในทางพระพุทธศาสนาสอนไว้ หรือมีบ้างก็ปนกันไปกับเครื่องเร้าอย่างอื่น.  เครื่องเร้าอย่างอื่นที่มีอยู่มาก เป็นไปโดยปกติธรรมดานี้มีอะไร เครื่องเร่งเร้าโดยทั่วไปนั้นก็ได้แก่สิ่งบีบคั้น คือความทุกข์และกิเลสที่อยู่ภายในจิตใจ คือมนุษย์นั้น ที่จะกระทำการต่าง ๆ มีความพยายามอะไรโดยมากนั้น ต้องมีเครื่องเร่งเร้าขึ้นมา แต่เครื่องเร่งเร้านั้นคือเครื่องบีบคั้นนั้นเอง คือมนุษย์ถูกบีบคั้นก็ดิ้นรนขวนขวายทำการต่าง ๆ โดยมากไม่สามารถกระทำการต่าง ๆ เพียงด้วยความรู้ความเข้าใจด้วยปัญญารู้เหตุรู้ผลเท่านั้น แต่ต้องอาศัยสิ่งบีบคั้นเข้ามาเช่น มีความกลัว หรือมีปัญหาเข้ามาเร่งรัดตนเอง โดยเฉพาะก็คือเรื่องกิเลสภายในจิตใจ กิเลสก็คือความโลภ ความอยากได้ ก็เป็นเครื่องเร่งเร้าบีบคั้นในใจให้กระทำการต่าง ๆ หรือเพราะโทสะ ความโกรธ ความชิงชัง ความต้องการทำลาย ความขัดเคือง ความขัดแย้ง อย่างใดอย่างหนึ่งก็เป็นเหตุเร่งเร้าบีบคั้นในใจ ให้กระทำการเพียรพยายามดิ้นรนขวนขวายและโมหะแสดงออกมาในรูปของความกลัว ความหวาดระแวงเป็นต้น ก็เป็นเครื่องบีบคั้น ทำให้ดินรนขวนขวายทำการต่าง ๆ

ชนิดแห่งความประมาท

อันนี้เป็นเรื่องของมนุษย์ปุถุชนที่เป็นไปโดยมาก แต่ถ้าหากว่าไม่มีกิเลสมาเป็นเครื่องเร่งเร้า ไม่มีเครื่องบีบคั้นมาบีบรัดตนเองแล้ว ปุถุชนก็มักจะตกอยู่ในความนิ่งเฉยเฉื่อยชา ไม่ขวนขวายกระทำการต่าง ๆ การที่อยู่ในความนิ่งเฉย ไม่ประกอบกิจที่ควรทำ ไม่ละเว้นสิ่งที่ไม่ควรกระทำนี้ คือลักษณะที่ท่านเรียกว่าความประมาท รวมความว่าเพราะอำนาจกิเลส จึงทำให้มนุษย์ดิ้นรนขวนขวายทำการต่าง ๆ แต่ในเมื่อไม่มีกิเลสที่บีบคั้น มนุษย์ก็ตกอยู่ในความประมาท ซึ่งก็คืออยู่ในอำนาจของกิเลสเช่นเดียวกัน แต่กิเลสในที่นี้หมายถึงความติดในความสุข ความเพลิดเพลินที่มีอยู่สบายแล้วก็เลยไม่ดิ้นรนกระทำการที่ควรทำ เพราะฉะนั้นตกลงว่า ถ้าเป็นปุถุชนโดยสมบูรณ์แล้วก็จะอยู่ด้วยกิเลส ทำการขวนขวายต่าง ๆ ก็ด้วยกิเลส อยู่เฉย ๆ ก็ด้วยกิเลส ซึ่งมีศัพท์เฉพาะเรียกว่า ความประมาท นี้เป็นขั้นหนึ่ง

เพียรพยายามด้วยคุณธรรม

ในทางธรรมะต้องการให้มนุษย์ดิ้นรนขวนขวายด้วยอำนาจ คุณธรรมให้พยายามนำคุณธรรมเข้ามาแทน เข้ามาเป็นเครื่องเร่งเร้ากระตุ้น เช่น เอาความสำนึก เอาศรัทธา ความกรุณาอย่างเช่น การระลึกถึงความตายที่ท่านเรียกว่ามรณานุสติ เป็นต้น มาเป็นเครื่องกระตุ้นเร่งเร้าใจให้ขวนขวายกระทำการต่าง ๆ มิใช่กระทำด้วยโลภะ โทสะ โมหะ และแม้ไม่มีความทุกข์ ไม่มีกิเลสเข้ามาบีบคั้น ก็ให้สามารถขวนขวายทำสิ่งที่ดีงาม อันเป็นการกระทำได้ด้วยคุณธรรมของตนเอง คือมีความไม่ประมาทได้เสมอ เพราะฉะนั้น ลักษณะที่ต่างกันในการขวนขวายกระทำความเพียรของปุถุชน กับการปฏิบัติตามคำสอนในทางพระศาสนาก็คือ ฝ่ายหนึ่งนั้นดิ้นรนขวนขวายด้วยอำนาจของกิเลส ส่วนในทางธรรม ให้ดิ้นรนขวนขวายเพียรพยายามด้วยอำนาจคุณธรรม นี้เป็นขั้นสอง คืออาศัยการกระตุ้นเตือนเร่งเร้า

คติเกี่ยวกับการรู้เท่าทันธรรมดา

สูงขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง ก็คือขั้นรู้เท่าทันธรรมดา เรื่องคติเกี่ยวกับการรู้เท่าทันธรรมดานี้ เมื่อนำมาสั่งสอนแก่ปุถุชนก็ก่อปัญหาขึ้นได้อีก คือมนุษย์ปุถุชนนั้น พอจะเห็น พอจะเชื่อ เข้าใจเรื่องความเป็นไปตามธรรมดาได้ พอมองเห็นธรรมดาก็ปรับใจตนเองได้ ใจก็สบาย ที่เคยมีความทุกข์อะไรต่อมิอะไรต่าง ๆ เช่น ความพลัดพรากจากคนหรือของซึ่งเป็นที่รัก ความประสบกับสิ่งที่ไม่เป็นที่รัก ปรารถนาแล้วไม่สมหวังต่าง ๆ ที่เคยทำให้ตนเองมีความทุกข์ เป็นเครื่องบีบคั้นให้ดิ้นรนขวนขวายพยายามนั้น พอได้รับคำสอนทางพระศาสนาให้รู้เท่าทันธรรมดาแล้วก็เลยเชื่อ มองเห็นตามก็เลยปรับใจได้ สบายใจ พอสบายใจก็เรียกว่าทุกข์น้อยลงหรือหมดทุกข์ แต่ปัญหาของปุถุชนก็ตามมาอีก ปุถุชนจะไม่ได้อยู่เพียงนั้น พอปรับใจได้ แล้วสบายใจก็หยุด ไม่ดิ้นรนขวนขวายที่จะกระทำกิจที่ควรทำ กลับอยู่นิ่งเฉยเสีย ปัญหาที่แท้จริงก็ไม่ได้แก้ไข ต้นตอของปัญหาที่แท้จริงก็มิได้ขวนขวายจะศึกษาให้รู้และเข้าใจ เพื่อจะแก้ไขให้เรียบร้อย ตกลงก็เกิดเป็นโทษได้อีก เพราะฉะนั้น เรื่องของมนุษย์ปุถุชนแล้ว แม้ได้รับคำสอนในทางธรรม ก็เป็นปัญหาเกิดขึ้นได้เหมือนกัน ถ้าไม่รู้จักคอยฝึกพยายามที่จะดำรงตนอยู่ในความไม่ประมาทอยู่เสมอ. ในที่นี้ มีข้อที่ควรกล่าวแทรกเข้ามาเป็น ๒ เรื่อง คือเรื่องการปรับและการเฉย

การปรับตัวเอง การปรับมี ๒ อย่าง คือ ปรับภายนอก กับปรับภายใน ปรับภายนอก หมายความว่า สิ่งทั้งหลายที่เกิดเป็นปัญหาวุ่นวายภายนอก แล้วเราจัดการแก้ไขให้เรียบร้อย ให้สงบลงได้ก็เรียกว่าปรับภายนอก. อีกอย่างหนึ่งคือ ใจของตนเองที่วุ่นวายเกิดความทุกข์ความเดือดร้อน ปรับใจของตนเองได้ด้วยความรู้ความเห็นธรรมดา เรียกว่าการปรับใจหรือการปรับภายใจ.  มนุษย์ปุถุชนทั่วไปจะมุ่งไปที่การปรับภายนอก อะไร ๆ ก็พยายามจะไปแก้ภายนอกให้เข้ากับที่ตนเองต้องการ เสร็จแล้วระหว่างนั้นก็เกิดความทุกข์ ความเดือนร้อนมาก เพราะสิ่งทั้งหลายไม่เป็นไปตามใจตัวเอง ที่นี้ พอได้รับคำสอนทางธรรมก็รู้จักหันเข้ามาปรับภายใน คือปรับใจของตนเองได้ ข้างนอกจะเป็นอย่างไรใจก็พอมีความสุข แต่ว่าหากไม่รู้จักความพอดีสมดุล ก็เกิดปัญหาได้ทั้งสองอย่าง คือปรับแต่ภายนอกภายในไม่ปรับก็มีความทุกข์มาก ถ้าปรับแต่ภายในใจ พอมีความสุข ส่วนข้างนอกไม่ได้แก้ไขให้เรียบร้อยก็เกิดปัญหาต่อไป เรื่องของปุถุชนก็มักจะวนเวียนอยู่สองประการนี้ นี่คือเรื่องของการปรับ เพราะฉะนั้น จะต้องหาความพอดีในระหว่างการปรับสองอย่าง ถ้ากล่าวโดยทั่วไปก็ต้องปรับทั้งสอง

การเฉยของมนุษย์

เรื่องความเฉย ได้กล่าวว่า บุคคลเมื่อปรับใจตนเองได้ หรือสิ่งต่าง ๆ เป็นไปโดยเรียบร้อยไม่วุ่นวายก็เฉย ความนิ่งเฉยนี้ในทางพระศาสนากล่าวโดยย่อมีสองอย่าง. อย่างหนึ่งคือ เฉยโดยไม่รู้ เฉยโง่ ๆ ท่านเรียกว่า อัญญาณุเบกขา คือเฉยเรื่อยเปื่อย เฉยไม่รู้เรื่อง เฉยไม่เอาเรื่องเอาราว คือไม่รู้ว่ามีเรื่องอะไรเกิดขึ้นก็นิ่งเฉย หรือว่าเฉยโดยไม่เรียนรู้เรื่องราวที่เป็นไป ไม่ได้เกิดจากความรู้ความเข้าใจ อันนี้เป็นความเฉยที่เกิดจากโมหะ หาใช้คุณธรรมไม่ เป็นอุเบกขาขนิดหนึ่ง แต่เป็นอกุศลเรียกว่า อัญญาณุเบกขา.  อย่างที่สอง เป็นการเฉยอย่างถูกต้องตามหลักธรรมเป็นโสภณเจตสิก คือความเฉยที่เกิดจากความรู้ หมายความว่ารู้ว่าอะไรเป็นอย่างไร ควรจะทำอะไร เมื่อไร อย่างไร ก็เลยเฉยไว้ ไม่ตื่นเต้น โวยวาย รอทำไปตามลำดับจังหวะขั้นตอน อันนี้เป็นความเฉยที่ถูกต้องในทางธรรมะ.  ปุถุชนโดยมากมักจะเฉยแบบที่หนึ่ง คือเฉยไม่รู้เรื่อง เฉยด้วยโมหะหรืออัญญาณุเบกขา เฉยด้วยความไม่รู้ก็เกิดโทษ ฉะนั้นต้องทำความเข้าใจ แยกได้ระหว่างเรื่องการปรับสองอย่าง และการเฉยสองอย่างนี้ ซึ่งทั้งหมดนั้นก็เกี่ยวด้วยความประมาทและความไม่ประมาท กล่าวคือเมื่อปรับภายในได้ แต่ว่าไม่ขวนขวายทำสิ่งที่ควรทำต่อไป ก็เฉยโดยไม่รู้หรือไม่หาความรู้ ไม่ใช่เฉยที่เป็นไปด้วยความรู้ความเข้าใจ ก็กลายเป็นความประมาท เรื่องประมาทเช่นนี้ไม่เฉพาะปุถุชนเท่านั้น แม้แต่พระอริยะบุคคลท่านก็กล่าวว่ายังประมาทได้ ตราบใดที่ยังเป็นอริยบุคคลเบื้องต้น คือไม่บรรลุอรหัตตผล พระโสดาบัน พระสกิทาคามี เหล่านี้ล้วนประมาทได้ทั้งสิ้น มีแต่พระอรหันต์เท่านั้นที่ไม่ประมาท ท่านใช้คำว่าพระอรหันต์เป็นผู้ที่ไม่สามารถจะประมาทได้

การเพลิดเพลินในความสุขคือความประมาท

พระโสดาบันนั้น ท่านแสดงตัวอย่างไว้ว่า เมื่อได้บรรลุคุณธรรมเบื้องสูงแล้ว เกิดความพอใจ เคยมีความทุกข์มากมายก็ไม่มีความทุกข์ หรือทุกข์เหลือน้อยเหลือเกินแล้ว มีความสุขสบายเกิดขึ้นมาก ก็มีความพอใจว่าเราได้เพียรพยายามปฏิบัติธรรมมาได้บรรลุผลสำเร็จเพียงนี้ มีคุณธรรมในตนแล้วอย่างนี้ ๆ ได้ละกิเลสแล้วอย่างนี้ ๆ ได้ประกอบด้วยธรรมวิเศษอย่างนี้ ๆ ก็มีความพอใจเป็นเหตุให้หยุดเฉยอยู่สบาย ๆ พระพุทธเจ้าตรัสเรียกว่า นี้เป็นผู้ประมาทแล้ว เพราะไม่ขวนขวายเร่งรัดตนเองในการทำความเพียรเพื่อคุณธรรมเบื้องสูงยิ่งขึ้นไป ส่วนพระอรหันต์เป็นผู้ไม่อาจประมาทเพราะอะไร เพราะมีชีวิตอยู่ด้วยปัญญาและไม่มีกิเลสที่จะเป็นเหตุให้ประมาท ได้กล่าวแล้วว่าคนที่ประมาทนั้นเพราะยังมีกิเลส คือจะด้วยปรับใจตนเองได้ หรือด้วยเหตุการณ์ทั้งหลายยังไม่บีบคั้นก็ตาม ก็มีกิเลสเป็นเหตุให้ติดในความสุข เพลินในความสบาย การที่เพลินติดในความสุขนั่นแหละ เป็นลักษณะของกิเลส คือเกิดจากกิเลส และเป็นตัวที่เรียกว่าความประมาท.  ส่วนพระอรหันต์นั้นเป็นอยู่ด้วยปัญญา รู้เท่าทันธรรมดาและกระทำการด้วยความรู้เท่าทันธรรมดานั้น ขั้นที่หนึ่ง ในใจของท่านเองก็ปรับได้ มีความสุขในทุกสถานการณ์ ขั้นที่สอง การปฏิบัติดำเนินชีวิตของท่านก็คือปฏิบัติไปด้วยความรู้ว่าอะไรเป็นอย่างไร อะไรเกิดขึ้นจากเหตุปัจจัยอะไร อะไรจะก่อให้เกิดปัญหาหรือไม่ ถ้าเป็นปัญหาก็ศึกษาหาเหตุปัจจัยและแก้ไขเสีย ก็ทำให้การปรับภายนอกดำเนินไปได้ หรือรู้จนกระทั่งว่า สิ่งเหล่านี้ดำเนินไปไม่ได้ ก็เป็นไปตามเหตุปัจจัยเช่นเดียวกัน นี้ก็เป็นเครื่องวัดความแตกต่างเป็นขั้น ๆ ตั้งแต่ปุถุชนขึ้นมาถึงอริยบุคคล แล้วกระทั่งเป็นพระอรหันต์.  ที่นี้ กลับมากล่าวถึงด้านปุถุชนต่อไป สำหรับปุถุชนนั้นเป็นอันว่า ต้องอาศัยสิ่งบีบคั้นเร่งเร้ามาช่วยให้ดิ้นรนขวนขวายกระทำการต่าง ๆ แต่เพราะเหตุว่าปุถุชนโดยทั่วไปนั้น คอยอาศัยเครื่องเร่งเร้าบีบคั้นที่เป็นอกุศล โดยอาศัยความทุกข์บ้าง โดยอาศัยกิเลส คือ ความโลภ ความโกรธ ความหลงบ้าง ในทางพระศาสนาเห็นว่าเป็นโทษ จึงได้แนะนำในทางที่จะปรับปรุงตนเองให้ดีขึ้น คือนำเอาคุณธรรมมาเป็นเครื่องเร่งเร้าตนเอง เอาศรัทธามาเป็นเครื่องเร่งเร้าบ้าง เอามรณสติมาเป็นเครื่องเร่งเร้าบ้าง ก็ทำให้มนุษย์อยู่ด้วยความดีงอกงามมากขึ้น กระทำสิ่งที่ดีงาม และกระทำการที่เป็นประโยชน์ต่อกันมากขึ้น

ปรับปรุงตนเองให้เจริญคุณธรรมเสมอ

แต่อย่างไรก็ตาม มีข้อที่ควรจะระลึกไว้ว่า ตราบใดที่มนุษย์ยังต้องใช้วิธีเร่งเร้าบีบคั้นด้วยความทุกข์เป็นต้น แม้ตลอดด้วยคุณธรรมดังที่กล่าวมาเป็นเครื่องมากระตุ้นตนให้ขวนขวายทำการต่าง ๆ ตราบนั้นโลกมนุษย์ก็ยังไม่มีความปลอดภัย หมายความว่า มนุษย์ยังไม่สามารถเป็นผู้อยู่ด้วยปัญญาบริสุทธิ์อย่างแท้จริง การที่ต้องอาศัยสิ่งเร่งเร้ามาเร่งรัดกระตุ้นตนเองให้กระทำการต่าง ๆ นั้น ย่อม  (๑) มีโอกาสที่จะเกิดความประมาทอยู่เสมอ หมายความว่า ขาดเครื่องกระตุ้นเร่งเร้ามาเมื่อไร ก็จะตกอยู่ในความประมาทอีก.  (๒) การประกอบกรรมทำการต่าง ๆ ของมนุษย์ที่อยู่ด้วยเครื่องกระตุ้นเร่งเร้าเช่นนั้น จะมีความไม่พอดีอยู่เสมอ มากเกินไปบ้าง น้อยเกินไปบ้าง ไม่พอดีที่จะแก้ปัญหา เพราะทำด้วยแรงแต่ขาดความรู้ หรือทำตามความแรงไม่ทำตามความรู้ เพราะฉะนั้น ก็จะก่อให้เกิดปัญหาแก่ตนเองบ้าง แก่ผู้อื่นบ้าง อยู่เรื่อยไป.   ทางพระศาสนาจึงต้องให้มนุษย์ฝึกฝนตนเอง ให้เจริญงอกงามขึ้นไป ในคุณธรรมอยู่เสมอ คือ จะต้องให้พยายามเป็นอยู่ มีชีวิตอยู่ด้วยปัญญา คือเป็นอยู่ด้วยรู้เข้าใจธรรมดา ความรู้เท่าทันธรรมดาแล้วประมาทหรือไม่นี้แหละ เป็นเครื่องวัดอย่างหนึ่งว่า บุคคลนั้นได้บรรลุคุณธรรมสูงแค่ไหน กล่าวง่าย ๆ ว่า ตามใดที่แม้จะได้รู้เข้าใจธรรมะ รู้เข้าใจธรรมดาดีแล้ว แต่ยังมีความประมาทอยู่ อันนี้แสดงว่ายังไม่ได้บรรลุคุณธรรมเบื้องสูง อย่างน้อยก็คือยังไม่ได้บรรลุอรหัตตผล อาจได้เป็นอริยบุคคลก็เป็นในชั้นต้น ๆ ย้ำความว่าคนหมดกิเลสแล้ว รู้เท่าทันธรรมดาและทำการด้วยความรู้เท่าทันธรรมดาแล้ว แต่ทำการด้วยเอาตัวสบายเป็นเกณฑ์ ถ้าตัวสบายแล้ว ก็ไม่ขวนขวายไม่คิดทำ ส่วนคนหมดกิเลสรู้เท่าทันธรรมดา สบายใจแล้ว แต่ถ้าปัญหายังมีก็จะกระทำ มีอะไรควรทำก็ทำเรื่อยไป

อยู่ด้วยการรู้เท่าทันธรรมดาของชีวิต

รวมความว่าพระศาสนานั้น สอนมนุษย์ให้ฝึกตนเอง ให้เจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้นไปเสมอ เจริญจากขั้นต้นให้ผ่านพ้นความเป็นปุถุชนที่มีแต่ความสลดหดหู่ท้อแท้ใจ มาสู่ความเร่งเร้าตนเองให้ขวนขวายทำความดีต่าง ๆ ด้วยอาศัยคุณธรรมนำมาเป็นอนุสติเครื่องเตือนใจตนเอง และเจริญถึงขั้นสูงสุดก็คือ ให้อยู่ด้วยความรู้เท่าทันธรรมดา และทำการด้วยปัญญาที่รู้เท่าทันธรรมดานั้นตามเหตุตามปัจจัย ซึ่งในวิธีการทั้งหมดนั้น สำหรับมนุษย์ปุถุชนได้เน้นในประการที่สอง ซึ่งอยู่ในขั้นท่ามกลาง คือ การใช้คุณธรรมมาเป็นเครื่องเร่งเร้า แต่ในกรณีมรณสตินี้ ทำให้เห็นว่า ท่านใช้ทั้งสองประกอบกันคือ ประการหนึ่งก็ให้ใช้ปัญญาพิจารณารู้เท่าทันธรรมดาด้วย ที่ว่าให้รู้ว่าความตายเป็นของธรรมดา เป็นของคู่กับความเกิด เกิดแล้วก็ต้องมีดับ เมื่อเข้าใจแล้วก็ทำใจให้สบาย หายจากทุกข์ได้ แต่พร้อมกันนั้นก็ใช้วิธีเร่งเร้าด้วยคุณธรรมด้วยว่า ให้ระลึกไว้ว่า ความตายนั้นเป็นของแน่นอน แต่จะมาถึงวันใดไม่แน่นอน.  เพราะฉะนั้น เมื่อยังมีชีวิตอยู่นี้ ให้เร่งขวนขวายทำกิจหน้าที่ ความดีต่าง ๆ อันนี้คือหลักที่เราเรียกว่ามรณสติ ซึ่งมรณสติเช่นนี้ ก็มาเข้ากับแนวทางปฏิบัติที่อาตมภาพได้ยกคำสอนในพระไตรปิฎกมาตั้งเป็นนิกเขปบท คือบทหัวข้อสำหรับอธิบายไว้ ที่ท่านเตือนให้ระลึกถึงความตายและของชีวิตและมีความไม่ประมาท ดังพระบาลีว่า :-  

น  เหว  ติฏฺฐํ  นาสีนํ  สยานํ  น  ปตฺถคุํ  แปลความว่า  อายุสังขารจะพลอยประมาทไปกับมนุษย์ทั้งหลายที่ยืน เดิน นั่ง นอนอยู่ก็หาไม่.  หมายความว่า มนุษย์ทั้งหลายนี้อาจจะมีความประมาท ยืน เดิน นั่ง นอน ไม่ขวนขวายทำสิ่งที่ควรทำอยู่ ปล่อยเวลาผ่านไป แต่ในเวลานั้น ให้เข้าใจเถิดว่า อายุสังขารของเราหาได้ประมาทตามเราไปด้วยไม่ คืออายุสังขารของเราเป็นไปตามหลักไตรลักษณ์ มีความไม่เที่ยง มีความทุกข์ทนอยู่ไม่ได้ และมีความเป็นอนัตตา ไม่อยู่ในอำนาจของเรา มันเป็นอยู่ตลอดเวลา ก็เปลี่ยนแปลงของมันไปไม่หยุดยั้ง เมื่ออายุสังขารเปลี่ยนแปลงไปไปอยู่ในคติธรรมดาอย่างนี้ตลอดเวลา เราจึงไม่ควรประมาท ไม่ควรนิ่งเฉย ท่านจึงกล่าวต่อไปอีกว่า :-  

ตสฺมา  อิธ  ชีวิตเสเส   กิจฺจกโร  สิยา  นโร  น  จ  มชฺเชติ  แปลความว่า  เพราะฉะนั้น ในชีวิตที่ยังเหลืออยู่นี้ คนเราควรกระทำกินหน้าที่ของตนและไม่พึงประมาท อันนี้คือการที่จะนำเอาความรู้เท่าทันธรรมดานั้น มาใช้ในทางที่เป็นกุศล เป็นประโยชน์.

ทางพระศาสนานั้น กล่าวถึงคติธรรมในทำนองเช่นนี้ ไม่เฉพาะความตายเท่านั้น ได้กล่าวแล้วว่า ความตายเป็นของคู่กับความเกิด และพระศาสนานั้นไม่กล่าวถึงความเกิดมากนัก ถ้ากล่าวก็มักจะกล่าวในทางที่เตือนสติมนุษย์อีกว่า ความเกิดนั้นนำมาหรือนำไปสู่ความตาย ทั้งนี้ก็เพื่อให้เกิดความขวนขวายไม่ประมาทเช่นเดียวกัน คือถ้าหากพระพุทธศาสนาจะกล่าวถึงความเกิดในทำนองเดียวกับที่สนองความต้องการของมนุษย์ ก็จะเป็นเครื่องยั่วยุมนุษย์ให้มีความมัวเมาประมาทยิ่งขึ้น เพราะฉะนั้น ท่านไม่พยายามที่จะสนองความต้องการนี้ แต่ท่านกล่าวในทางตรงข้าม เพื่อจะเร่งเร้าให้เป็นไปในกระแสที่ไหลไปสู่คุณธรรม และท่านก็จะให้คติเพิ่มต่อไปอีก อย่างพุทธพจน์ในพระธรรมบทคาถาหนึ่ง ที่กล่าวถึงมนุษย์ที่เกิดมา ก็กล่าวถึงในทำนองที่ว่า ให้ขวนขวายในการบำเพ็ญกุศลกรรมอีก ดังบาลีว่า :- 

ยถาปิ  ปุปผราสิมฺหา  กยิรา  มาลาคุเฬ  พหู,   

เอวํ  ชาเตน  มจฺเจน  กตฺตพฺพํ  กุสลํ  พหํ.  

แปลความว่า ดอกไม้ที่สุมกันอยู่เป็นกองนี้ นายช่างที่ฉลาดสามารถนำเอามาร้อยกรองเป็นพวงมาลัยที่สวยงาม มีคุณค่าฉันใด ชีวิตคนเราที่ได้เกิดมานี้ ก็ควรจะใช้ประกอบกุศลกรรมความดีให้มาฉันนั้น.    

เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสถึงความเกิด ก็หมายความว่า พระพุทธองค์ไม่ได้ตรัสในทางที่สองความต้องการให้เกิดความลิงโลดสนุกสนานดีใจ แต่เตือนใจให้มีความไม่ประมาทเช่นเดียวกัน มองความเกิดก็มองในแง่ไม่ประมาท ใช้ชีวิตนี้ทำกุศลทำความดีให้มาก หรือถ้าจะให้มองความตาย ก็มองในแง่ที่จะเร่งเร้าให้ทำความดี ทำประโยชน์เช่นเดียวกัน

นำโอกาสและเหตุการณ์มาใช้ในการทำให้เกิดคุณประโยชน์

วันนี้ คณะท่านเจ้าภาพผู้เป็นญาติมิตรได้มาร่วมการทำบำเพ็ญกุศลอุทิศให้ท่านผู้วายชนม์ ด้วยระลึกคุณและมีจิตใจหวังดี ปรารถนาประโยชน์ต่อท่าน แต่คุณประโยชน์และพิธีกรรมนั้นก็มิได้จำกันด้วยคุณค่าเพียงเท่านั้น มีคุณค่าขยายเพิ่มพูนไปแก่ทุกคนที่ได้มาร่วมพิธี ในทางที่เป็นเครื่องเจริญสติ เจริญปัญญาอีกด้วย อันนี้ก็เท่ากับความหมายที่อาตมภาพได้กล่าวไว้ข้างต้นว่า พุทธศาสนิกชนนั้น เมื่อมีเหตุการณ์อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น จะเป็นเหตุการณ์ที่น่าพึงพอใจก็ตาม ไม่น่าพอใจก็ตาม ก็สามารถและพยายามนำโอกาสและเหตุการณ์นั้นมาใช้ในการทำให้เกิดขึ้น เกิดประโยชน์ เกิดกุศล มากยิ่ง ๆ ขึ้นไป.  ท่านผู้วายชนม์ได้ล่วงลับไปแล้ว แม้ตามวิสัยปุถุชน การตายย่อมเป็นธรรมดาที่ไม่น่าปรารถนา เป็นเหตุก่อความทุกข์ ความโศกเศร้าแก่บุคคลผู้เคารพนับถือ ผู้รักใคร่ แต่ในเมื่อเหตุการณ์ที่ได้เกิดขึ้นแล้ว ได้เป็นไปแล้ว พุทธศาสนิกชนก็นำมาก่อให้เกิดคุณค่า เกิดประโยชน์ด้วยการบำเพ็ญกุศลตามหลักพระศาสนา.  ดังปรากฏในที่เฉพาะหน้านี้ ซึ่งคุณประโยชน์เกิดขึ้นได้ก็ด้วยอนุสติและบุญกิริยาต่าง ๆ หมายความว่า ความตายของผู้ล่วงลับนั้นไม่ได้เป็นความตายที่ผ่านไปเพียงเฉพาะตัวท่าน แต่ยังก่อคุณค่าเป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นที่รู้จักระลึกถึงความตายนั้น ด้วยจิตใจที่ถูกด้วยท่าทีที่ชอบด้วย คือทำให้เกิดความไม่ประมาทเร่งขวนขวายทำความดีงาม ตลอดจนความรู้เท่าทันธรรมดา ที่จะทำให้ระงับหาย คลายจากความทุกข์ จากความโศกเศร้านั้น และเกิดคุณค่าด้วยการประกอบบุญกิริยาต่าง ๆ ที่เป็นเรื่องของทาน ศีล ภาวนา.   ที่เป็นเรื่องของทานนั้น ก็ด้วยการให้การบริจาค การทำบุญถวายภัตตาหารพระ เป็นต้น ที่เป็นเรื่องของศีลก็ด้วยความประพฤติที่ถูกต้องดีงาม ไม่ล่วงละเมิด ไม่ทำผิดชั่วร้าย อย่างน้อยก็ในระยะเวลาที่ประกอบพิธีนี้ ก็ต้องอยู่ในความประพฤติที่ดีงาม ที่ชอบ และเจริญด้วยภาวนา คือการฝึกอบรมจิตใจและปัญญาของตนเอง ทำให้จิตใจมีความสงบ ความเยือกเย็น เป็นจิตภาวนา ฝึกอบรมจิต ทำให้เกิดความรู้ ความเข้าใจในคติธรรมดา รู้เข้าใจเท่าทันความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย อันนี้ก็เป็นปัญญาภาวนา หรือการอบรมปัญญา แม้จะเป็นส่วนเบื้องต้น ก็เป็นคุณค่าที่เป็นประโยชน์อยู่ในแนวทางของพระศาสนา เพราะฉะนั้น อาตมาภาพก็ขออนุโมทนาต่อคณะท่านเจ้าภาพและสาธุชนทั้งหลาย ที่ได้บำเพ็ญกุศลในวันนี้โดยทั่วกัน

ที่มา : http://www.dharma-gateway.com/monk/preach/lp-prayuth/lp-prayuth-29.htm

นตฺถิ โลเก อนามตํ - สถานที่ที่ได้ชื่อว่า ไม่มีคนตาย ไม่มีในโลก



Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: