วันอาทิตย์ที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2564

กำลัง ๕ ประการสำหรับผู้ที่ยังต้องศึกษาอยู่

กำลัง ๕ ประการสำหรับผู้ที่ยังต้องศึกษาอยู่

บุคคลผู้ที่ยังต้องศึกษาต้องมีกำลัง ๕ ประการ ดังที่พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย กำลังของเสขบุคคลมี ๕ ประการ (และ) ๕ ประการเป็นไฉน ?  คือ กำลังคือศรัทธา ๑ กำลังคือหิริ ๑ กำลังคือโอตตัปปะ ๑ กำลังคือวิริยะ ๑ กำลังคือปัญญา ๑” ดังนี้.

เสขบุคคล คือบุคคลผู้ยังต้องศึกษา ได้แก่พระอริยบุคคลที่ยังไม่บรรลุอรหัตตผล โดยพิสดารมี ๗ คือท่านผู้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติมรรค ในโสดาปัตติผล ในสกทาคามิมรรค ในสกทาคามิผล ในอนาคามิมรรค ในอนาคามิผล และในอรหัตตมรรค

ส่วนปุถุชนเป็นผู้ต้องศึกษาโดยส่วนเดียว เพราะยังมีกิเลสหนาจึงต้องศึกษาให้มาก จำต้องอาศัยกำลังเป็นอย่างมากจึงจะบำเพ็ญบารมีให้เต็มได้

กำลัง ๕ ประการ ได้แก่

๑. ศรัทธา คือความเชื่อ ความเลื่อมใส  ในพระพุทธศาสนาแบ่งศรัทธาออกเป็น ๔ อย่าง คือ ๑.เชื่อกฎแห่งกรรม เชื่อว่ากรรมมีอยู่จริง คือเชื่อว่ากรรมดีกรรมชั่วเป็นเหตุปัจจัยที่จะก่อให้เกิดผลดีผลร้ายสืบเนื่องต่อไป  ๒.เชื่อผลของกรรม เชื่อว่าผลของกรรมมีจริง คือเชื่อว่ากรรมที่ทำแล้วจะต้องมีผลติดตามมา  ๓.เชื่อความที่สัตว์มีกรรมเป็นของของตน คือเชื่อว่าแต่ละคนจะต้องรับผิดชอบเสวยผลของกรรมนั้น ๔.เชื่อความตรัสรู้ของพระพุทธเจ้ามั่นใจในองค์พระตถาคตว่าทรงเป็นพระสัมมาสัมพุทธะ คือทรงเป็นผู้ตรัสรู้สัจธรรมด้วยพระองค์เองโดยชอบ

เพราะฉะนั้น ต้องอาศัยความเชื่อเหล่านี้ บุคคลจึงมีกำลังในการทำความดีให้ถึงพร้อม เพื่อป้องกันความหวั่นไหวด้วยความไม่เชื่อในการทำความดีนั้นเป็นต้น

๒. หิริ คือความละอายใจ ความละอายบาป  หมายถึงความละอายใจตัวเองต่อการทำความชั่วความผิด ต่อการประพฤติทุจริตทั้งหลาย และความละอายใจตัวเองที่จะละเว้นไม่ทำความดีซึ่งควรจะทำให้เกิดมีในตนเป็นต้น

เพราะฉะนั้น ต้องอาศัยความละอายใจละอายบาปนี้ บุคคลจึงมีกำลังในการทำความดีให้ถึงพร้อม เพื่อป้องกันความหวั่นไหวด้วยความไม่มีความละอาย จึงทำให้คนเราอยู่กันอย่างสงบสุข ทำให้ไม่ก่อความเดือดร้อนให้แก่โลกและสรรพสัตว์ทั้งปวง

๓. โอตตัปปะ คือความเกรงกลัวบาป  หมายถึงความสะดุ้งกลัวต่อผลของความชั่วหรือต่อผลของความทุจริตที่ทำไว้ เพราะกลัวความผิดที่จะตามให้ผลในภายหลังจากการประพฤติทุจริตของตน เช่นตัวเองต้องเดือดร้อน เกิดความเสียหาย เสียทรัพย์สินเงินทอง เสียอิสรภาพ หรือถูกคนอื่นตำหนิติเตียน ถูกสังคมรังเกียจเป็นต้น

เพราะฉะนั้น ต้องอาศัยความเกรงกลัวบาปนี้ บุคคลจึงมีกำลังในการทำความดีให้ถึงพร้อม เพื่อป้องกันความหวั่นไหวด้วยความไม่กลัวบาป เพราะคนที่มีโอตตัปปะย่อมกลัวที่จะทำความผิด ทำให้งดเว้นจากการประพฤติชั่วต่างๆ ได้ อันเป็นเหตุให้เกิดความร่มเย็นเป็นสุข เกิดสันติภาพขึ้น

๔. วิริยะ คือความเพียร ความบากบั่น  หมายถึงความกล้าที่จะลงมือทำ ภาวะของผู้กล้า เป็นแนวทางให้ดำเนินไปสู่ความสำเร็จตามประสงค์  หากมีอุปสรรคข้อขัดข้องใดๆ ก็เพียรกำจัดปัดเป่าให้หมดสิ้นไปโดยไม่ย่อท้อ ไม่สิ้นหวัง เดินหน้าเรื่อยไปจนกว่าจะบรรลุเป้าหมายคือความสำเร็จ

เพราะฉะนั้น ต้องอาศัยความเพียรนี้ บุคคลจึงมีกำลังในการทำความดีให้ถึงพร้อม เพื่อป้องกันความหวั่นไหวด้วยความเกียจคร้าน  ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า "คนจะล่วงทุกข์ได้ก็เพราะความเพียร"

๕. ปัญญา คือความรอบรู้ ความรู้ทั่ว ความฉลาดเกิดแต่การเรียนและคิด  หมายถึงรู้ทั่วถึงเหตุถึงผล รู้อย่างชัดเจน รู้เรื่องบาปบุญคุณโทษ รู้สิ่งที่ควรทำควรเว้นเป็นต้น อันได้แก่ปัญญาที่เกิดจากการฟัง การคิด การอบรมในศีลสมาธิปัญญา จนเข้าใจอย่างทะลุปรุโปร่ง ไม่เอนเอียง เห็นอกเห็นใจ ไม่ยึดติด และอยู่เหนืออำนาจแห่งประโยชน์ตน ทำเพื่อผู้อื่นได้

เพราะฉะนั้น ต้องอาศัยปัญญานี้ บุคคลจึงมีกำลังในการทำความดีให้ถึงพร้อม เพื่อป้องกันความหวั่นไหวด้วยอวิชชา และปัญญาช่วยให้เข้าใจความทุกข์และสามารถออกจากความทุกข์ได้

เมื่อเรายังต้องศึกษาอยู่ จำต้องอาศัยกำลังแห่งศรัทธาที่แก่กล้า กำลังแห่งหิริโอตตัปปะคุ้มครองตัวด้วยละอายชั่วกลัวบาป กำลังวิริยะที่จะลงมือทำอย่างเข้มแข็งเด็ดเดี่ยว และกำลังแห่งปัญญาที่สามารถใช้ความคิดและความรู้ในการกระทำความดีนั้นๆ ได้ ดังนี้แล.

สาระธรรมจากสังขิตตสูตร อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต

พระมหาวัชระ เชยรัมย์ (ติกฺขญาโณ), 30/11/64

"วัดสันป่ายางหลวง" จ.ลำพูน 

ติดอันดับ 1 ใน 10 วิหารสวยของประเทศไทย เป็นวิหารพระเขียวโขง สร้างด้วยไม้ตะเคียนทอง ไม้แดง จากประเทศลาว พม่า และไทย ภายในประดิษฐานพระเขียวโขง พระพุทธรูปแกะสลักจากหินแม่น้ำโขง

"Wat San Pa Yang Luang", Lamphun Province.

This Buddhist monastery ranked 1 in 10 beautiful temples in Thailand. It is a Vihara of Phra Khieo Khong which made of Takhianthong wood, red wood from Laos, Burma and Thailand. The Buddha statue carved from Mekong river rocks.

ภาพ : นักรบตะวันออก 












Previous Post
Next Post

0 comments: