วันเสาร์ที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2564

62 ความเห็นที่เปรียบดังตาข่ายคลุมให้ติดอยู่กับการเวียนว่าย (พรหมชาลสูตร - พระสูตรแรกที่สังคายนา)

62 ความเห็นที่เปรียบดังตาข่ายคลุมให้ติดอยู่กับการเวียนว่าย (พรหมชาลสูตร - พระสูตรแรกที่สังคายนา)

[ณ ศาลานั่งพัก ใกล้ตำหนักหลวงในพระราชอุทยานอัมพลัฏฐิกา ซึ่งพระพุทธเจ้าและเหล่าภิกษุ 500 รูป รวมถึงสุปปิยปริพาชก (นักบวชนอกศาสนา) และพรหมทัตตมาณพผู้เป็นศิษย์ ได้แวะพักแรมขณะเดินทางไกลระหว่างกรุงราชคฤห์และเมืองนาลันทา โดยเช้าวันถัดมา พระพุทธเจ้าได้เดินมาคุยกับเหล่าภิกษุ]

พ:  พวกเธอนั่งคุยอะไรกันอยู่ และคุยค้างกันไว้ถึงไหน?

ภ:  พวกข้าพระองค์ตื่นขึ้นในช่วงใกล้รุ่ง นั่งคุยกันว่า เมื่อวานนี้ สุปปิยปริพาชกพูดติเตียนวิพากษ์วิจารณ์พระองค์ คำสอนของท่าน และเหล่าภิกษุสงฆ์ ส่วนพรหมทัตตมาณพซึ่งเป็นลูกศิษย์กลับพูดชม ทั้งสองเถียงกันมาตลอดทางที่เดินตามพวกเราอยู่ข้างหลัง

พ:  คนอื่นเขาจะติเรา ติคำสอนของเรา หรือติพระสงฆ์ก็ตาม เธอก็ไม่ควรไปเสียใจโกรธแค้นเขาเหล่านั้น เรื่องที่เขาติ ถ้าไม่จริง เธอก็ควรแก้ให้เห็นว่าไม่จริงเพราะอะไร,  ส่วนคนที่เขาชมเรา ชมคำสอนของเรา หรือชมพระสงฆ์ก็ตาม เธอก็ไม่ควรเหลิงดีใจหลงเพลิดเพลินไปกับคำชมนั้น เรื่องที่เขาชม ถ้าจริง เธอก็ควรยืนยันให้เห็นว่าจริงอย่างไร

ข้อที่ปุถุชนกล่าวชมตถาคตเรื่องศีลคือ ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ชิงปล้น ไม่เสพเมถุน ไม่พูดเท็จส่อเสียดหยาบคายเพ้อเจ้อ ไม่ทำลายพืชต้นไม้ ฉันมื้อเดียว ไม่ดูฟ้อนรำขับร้องดนตรีการละเล่น ไม่แต่งตัวด้วยดอกไม้ของหอม ไม่นอนที่สูงที่ใหญ่ ไม่รับเงินทอง ไม่รับข้าวเปลือกดิบเนื้อดิบ ไม่รับสตรีเด็กหญิงทาส ไม่รับแพะแกะไก่หมูช้างวัวม้าลา ไม่รับไร่นาที่ดิน ไม่เป็นทูตรับใช้ ไม่ซื้อขาย ไม่โกงตาชั่ง ไม่รับสินบนหลอกลวง ไม่สะสมข้าวของ ไม่เล่นการพนัน ไม่พูดเรื่องที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อการเป็นสมณะ (ผู้สงบจากกิเลส) ไม่กล่าวหาชิงดีชิงเด่นกัน

อีกอย่างหนึ่งที่ปุถุชนกล่าวชมตถาคตคือ พระสมณโคดมไม่เลี้ยงชีพในทางที่ผิดด้วยติรัจฉานวิชา (วิชาที่ขวางทางสงบจากกิเลส) ได้แก่ การทำนายทายทัก ดูฤกษ์ยามโหราศาสตร์ดวงดาว แก้บนรดน้ำมนต์ปรุงยา ปลุกเสกลงยันต์บูชาไฟ,  ทั้งหมดนี้เป็นศีลอันเป็นข้อควรปฏิบัติขั้นต่ำที่ปุถุชนได้กล่าวชมตถาคต

ภิกษุทั้งหลาย ยังมีธรรมอย่างอื่นอีกที่ลึกซึ้ง สงบประณีตละเอียด เห็นและรู้ตามได้ยาก อันตถาคตรู้แจ้งด้วยปัญญาแล้วและได้สอนให้ผู้อื่นได้รู้แจ้งด้วย ซึ่งก็เป็นอีกเหตุหนึ่งที่ทำให้ผู้คนกล่าวชมตถาคตถูกต้องตามความเป็นจริง ธรรมเหล่านั้นคืออะไร,  มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งได้แสดงความเห็นเกี่ยวกับอดีตเริ่มต้นของสรรพสิ่ง (ปุพพันตกัปปิกวาทะ) ว่าเป็นมาอย่างไรไว้ 18 ความเห็น

พวกที่เห็นว่าตัวตน (จิต) และโลกเที่ยง (สัสสตทิฏฐิ) มี 4 ความเห็น

1. เห็นว่าตัวตนและโลกเที่ยง (ตั้งอยู่ ไม่เคยดับไป) ด้วยเพราะสมณะหรือพราหมณ์บางพวกระลึกชาติได้ เห็นการท่องเที่ยวไปของตัวเองในภพต่างๆเป็นนั่นเป็นนี่ไม่จบสิ้น อาจจะตั้งแต่หนึ่งชาติถึงหลายแสนชาติ

2. เห็นว่าตัวตนและโลกเที่ยง ด้วยเพราะระลึกชาติได้...อาจจะตั้งแต่หนึ่งกัปถึงสิบกัป   3. เห็นว่าตัวตนและโลกเที่ยง ด้วยเพราะระลึกชาติได้...อาจจะตั้งแต่สิบกัปถึงสี่สิบกัป   4. เห็นว่าตัวตนและโลกเที่ยง จากการนึกคิดเอาเอง

พวกที่เห็นว่าบางอย่างเที่ยง บางอย่างไม่เที่ยง (เอกัจจสัสสตทิฏฐิ) มี 4 ความเห็น

5. เห็นว่าพระพรหมเที่ยง แต่พวกเราที่พระพรหมสร้างนั้นไม่เที่ยง   ด้วยเพราะช่วงที่โลกกำลังเกิดขึ้น มีเทวดาจากอาภัสสรพรหมมาเกิดในวิมานพรหม และอยู่ในภพนั้นผู้เดียวเป็นเวลานาน จากนั้นคิดอยากให้มีผู้อื่นมาอยู่ด้วย ซึ่งปรากฏว่ามีผู้มาเกิดในวิมานพรหมนี้จริงๆ เลยเข้าใจไปว่าตนนั้นเป็นพระพรหมผู้สร้าง ส่วนผู้ที่พึ่งมาเกิดก็คิดว่าตนถูกพระพรหมที่อยู่มาก่อนแล้วสร้างขึ้น จากนั้นเมื่อลงมาเกิดเป็นมนุษย์แล้วระลึกชาติก่อนๆได้ แต่ระลึกไปเกินกว่านั้นไม่ได้ ก็เลยเข้าใจไปว่าพระพรหมนั้นเที่ยง ไม่ต้องมาเกิดเหมือนเรา

6. เห็นว่าเทวดาที่ไม่หมกมุ่นในความรื่นรมย์ ไม่หลงลืมสตินั้นเที่ยง แต่เทวดาที่หมกมุ่นในความรื่นรมย์ หลงลืมสตินั้นไม่เที่ยง   ด้วยเพราะเทวดาพวกขิฑฑาปโทสิกะ เป็นเทวดาที่ชอบหมกมุ่นในความรื่นรมย์ สรวลเสเฮฮาเกินเวลา จนหลงลืมสติ เมื่อลงมาเกิดเป็นมนุษย์แล้วระลึกชาติก่อนๆได้ แต่ระลึกไปเกินกว่านั้นไม่ได้ ก็เลยเข้าใจไปว่าเทวดาที่ไม่หมกมุ่นในความรื่นรมย์ ไม่หลงลืมสตินั้นเป็นผู้เที่ยง ไม่ต้องมาเกิดเหมือนเรา

7. เห็นว่าเทวดาที่ไม่คิดร้ายกับผู้อื่นนั้นเที่ยง แต่เทวดาที่คิดร้ายต่อกับผู้อื่นนั้นไม่เที่ยง   ด้วยเพราะเทวดาพวกมโนปโทสิกะ เป็นเทวดาที่มักคิดร้ายต่อกัน จนลำบากกายใจ พากันมาเกิดเป็นมนุษย์แล้วระลึกชาติก่อนๆได้ แต่ระลึกไปเกินกว่านั้นไม่ได้ ก็เลยเข้าใจไปว่าเทวดาที่ไม่คิดร้ายกับผู้อื่นนั้นเป็นผู้เที่ยง ไม่ต้องมาเกิดเหมือนเรา

8. เห็นว่ากายไม่เที่ยง แต่จิตวิญญาณนั้นเที่ยง  จากการนึกคิดเอาเองว่า ตา หู จมูก ลิ้น กายนั้นไม่ยั่งยืน เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา แต่จิตวิญญาณนั้นคงทน ไม่เปลี่ยนแปลง

พวกที่เห็นว่ามีที่สิ้นสุดและไม่มีที่สิ้นสุด (อันตานันติกทิฏฐิ) มี 4 ความเห็น

9. เห็นว่าโลกมีที่สิ้นสุด ด้วยเพราะเกิดสมาธิจิตตั้งมั่น ได้เห็นว่าโลกกลมโดยรอบ มีจุดสิ้นสุด   10. เห็นว่าโลกไม่มีที่สิ้นสุด ด้วยเพราะเกิดสมาธิจิตตั้งมั่น ได้เห็นว่าโลกหาที่สุดโดยรอบไม่ได้  11. เห็นว่าโลกมีที่สิ้นสุดเฉพาะด้านบนกับด้านล่าง ส่วนด้านขวางนั้นไม่มีที่สิ้นสุด ด้วยเพราะเกิดสมาธิจิตตั้งมั่น ได้เห็นว่าเป็นเช่นนั้น  12. เห็นว่าโลกมีที่สิ้นสุดก็ไม่ใช่ ไม่มีที่สิ้นสุดก็ไม่ใช่ จากการนึกคิดเอาเอง

พวกที่ความเห็นดิ้นได้ ไม่มีคำตอบตายตัวชัดเจน (อมราวิกเขปิกทิฏฐิ) มี 4 ความเห็น

13. ไม่มีคำตอบตายตัวชัดเจนด้วยความที่ไม่รู้ เลยตอบไปว่าอย่างนี้ก็ไม่ใช่ อย่างนั้นก็ไม่ใช่ จะว่าไม่ใช่ก็ไม่ใช่ ทั้งนี้ เพราะกลัวผิด แล้วจะกลายเป็นตัวเองพูดเท็จไป  14. ไม่มีคำตอบตายตัวชัดเจนด้วยความที่ไม่รู้...ทั้งนี้ เพราะไม่อยากจะมายึดติดกับความรู้สึกดีเวลามีคนมาบอกว่าเราตอบถูก หรือรู้สึกแย่ว่าเราตอบผิด  15. ไม่มีคำตอบตายตัวชัดเจนด้วยความที่ไม่รู้...ทั้งนี้ เพราะกลัวจะถูกซักแล้วตอบไม่ได้  16. ไม่มีคำตอบตายตัวชัดเจนด้วยความที่ไม่รู้...ทั้งนี้ เพราะโง่เขลา

พวกที่เห็นว่าสิ่งต่างๆเกิดขึ้นมาเอง ไม่มีเหตุ (อธิจจสมุปปันนิกทิฏฐิ) มี 2 ความเห็น

17. เห็นว่าตัวตนและโลกเกิดขึ้นมาเองลอยๆ โดยไม่มีเหตุปัจจัยใดๆ ด้วยเพราะเทวดาพวกอสัญญีสัตว์ (มีแต่รูป ไม่มีจิต จะไม่มีการจดจำอะไร) ได้มาเกิดเป็นมนุษย์ด้วยสัญญา จากนั้นก็ระลึกถึงการเกิดของสัญญาได้ แต่ระลึกไปเกินกว่านั้นไม่ได้ ก็เลยเข้าใจไปว่าตัวตนและโลกอยู่ๆก็เกิดขึ้นมาได้เองลอยๆ ไม่ได้มาจากเหตุอะไร

18. เห็นว่าตัวตนและโลกเกิดขึ้นมาเองลอยๆ โดยไม่มีเหตุปัจจัยใดๆ จากการนึกคิดเอาเอง  ภิกษุทั้งหลาย ยังมีสมณพราหมณ์อีกพวกหนึ่งได้แสดงความเห็นไว้ว่าหลังความตายจะเป็นอย่างไร (อปรันตกัปปิกวาทะ) อีก 44 ความเห็น  

พวกที่เห็นว่าตัวตนมีสัญญา (สัญญีทิฏฐิ - ตายไปแล้วจะยังมีความจำความรู้ขั้นละเอียดอยู่) มี 16 ความเห็น

1. ตัวตนที่มีรูป มีสัญญา   2. ตัวตนที่ไม่มีรูป มีสัญญา   3. ตัวตนทั้งที่มีรูปและไม่มีรูป มีสัญญา  4. ตัวตนที่มีรูปก็ไม่ใช่ ไม่มีรูปก็ไม่ใช่ มีสัญญา  5. ตัวตนที่มีที่สุด มีสัญญา  6. ตัวตนที่ไม่มีที่สุด มีสัญญา  7. ตัวตนทั้งที่มีที่สุด และไม่มีที่สุด มีสัญญา  8. ตัวตนที่มีที่สุดก็ไม่ใช่ ไม่มีที่สุดก็ไม่ใช่ มีสัญญา  9. ตัวตนที่มีสัญญาอย่างเดียวกัน มีสัญญา  10. ตัวตนที่มีสัญญาต่างกัน มีสัญญา  11. ตัวตนที่มีสัญญาน้อย มีสัญญา  12. ตัวตนที่มีสัญญามาก มีสัญญา  13. ตัวตนที่มีสุขอย่างเดียว มีสัญญา  14. ตัวตนที่มีทุกข์อย่างเดียว มีสัญญา  15. ตัวตนที่มีทั้งสุขและทุกข์ มีสัญญา  16. ตัวตนที่มีสุขก็ไม่ใช่ ทุกข์ก็ไม่ใช่ มีสัญญา

พวกที่เห็นว่าตัวตนไม่มีสัญญา (อสัญญีทิฏฐิ - ตายไปแล้วไม่มีความจำความรู้เหลืออยู่) มี 8 ความเห็น

17. ตัวตนที่มีรูป ไม่มีสัญญา  18. ตัวตนที่ไม่มีรูป ไม่มีสัญญา  19. ตัวตนทั้งที่มีรูปและไม่มีรูป ไม่มีสัญญา  20. ตัวตนที่มีรูปก็ไม่ใช่ ไม่มีรูปก็ไม่ใช่ ไม่มีสัญญา  21. ตัวตนที่มีที่สุด ไม่มีสัญญา  22. ตัวตนที่ไม่มีที่สุด ไม่มีสัญญา  23. ตัวตนทั้งที่มีที่สุด และไม่มีที่สุด ไม่มีสัญญา  24. ตัวตนที่มีที่สุดก็ไม่ใช่ ไม่มีที่สุดก็ไม่ใช่ ไม่มีสัญญา

พวกที่เห็นว่าตัวตนมีสัญญาก็ไม่ใช่ ไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่ (เนวสัญญีนาสัญญีทิฏฐิ - ตายไปแล้วยังมีความจำความรู้อยู่ก็ไม่ใช่ ไม่มีความจำความรู้แล้วก็ไม่ใช่) มี 8 ความเห็น

25. ตัวตนที่มีรูป มีสัญญาก็ไม่ใช่ ไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่  26. ตัวตนที่ไม่มีรูป มีสัญญาก็ไม่ใช่ ไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่  27. ตัวตนทั้งที่มีรูปและไม่มีรูป มีสัญญาก็ไม่ใช่ ไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่  28. ตัวตนที่มีรูปก็ไม่ใช่ ไม่มีรูปก็ไม่ใช่ มีสัญญาก็ไม่ใช่ ไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่  29. ตัวตนที่มีที่สุด มีสัญญาก็ไม่ใช่ ไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่  30. ตัวตนที่ไม่มีที่สุด มีสัญญาก็ไม่ใช่ ไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่  31. ตัวตนทั้งที่มีที่สุด และไม่มีที่สุด มีสัญญาก็ไม่ใช่ ไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่  32. ตัวตนที่มีที่สุดก็ไม่ใช่ ไม่มีที่สุดก็ไม่ใช่ มีสัญญาก็ไม่ใช่ ไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่

พวกที่เห็นว่าขาดสูญ (อุจเฉททิฏฐิ - ตายไปแล้วก็จะสูญหมด ไม่มีอะไรเหลืออยู่เลย) มี 7 ความเห็น

33. ตัวตนที่เป็นกายธาตุซึ่งประกอบด้วยดิน น้ำ ลม ไฟ เกิดมาจากพ่อแม่ เมื่อตายไปแล้วก็สูญหมด  34. ตัวตนที่เป็นของทิพย์ มีรูปท่องเที่ยวไปในกามภพ กินอาหารหยาบ เมื่อตายไปแล้วก็สูญหมด  35. ตัวตนที่เป็นของทิพย์ มีรูปได้ด้วยใจ มีอวัยวะครบ เมื่อตายไปแล้วก็สูญหมด  36. ตัวตนที่เข้าถึงชั้นอากาสานัญจายตนะ (รู้อากาศอันหาที่สุดไม่ได้) เมื่อตายไปแล้วก็สูญหมด  37. ตัวตนที่เข้าถึงชั้นวิญญาณัญจายตนะ (รู้วิญญาณอันหาที่สุดไม่ได้) เมื่อตายไปแล้วก็สูญหมด  38. ตัวตนที่เข้าถึงชั้นอากิญจัญญายตนะ (รู้ภาวะที่ไม่มีอะไร) เมื่อตายไปแล้วก็สูญหมด  39. ตัวตนที่เข้าถึงชั้นเนวสัญญานาสัญญายตนะ (รู้ว่านั่นละเอียด นั่นประณีต) เมื่อตายไปแล้วก็สูญหมด

พวกที่เห็นว่าสภาพบางอย่างเป็นนิพพาน (ทิฏฐิธัมมนิพพานทิฏฐิ) มี 5 ความเห็น

40. การเอิบอิ่มเพลิดเพลินด้วยกามคุณ คือ การบรรลุนิพพาน ,  41. การเข้าถึงปฐมฌานได้ คือ การบรรลุนิพพาน ,  42. การเข้าถึงทุติยฌานได้ คือ การบรรลุนิพพาน , 43.  การเข้าถึงตติยฌานได้ คือ การบรรลุนิพพาน  44. การเข้าถึงจตุตถฌานได้ คือ การบรรลุนิพพาน

ภิกษุทั้งหลาย สมณพราหมณ์ทุกพวกที่มีความเห็นต่างๆทั้ง 62 ประการนี้ ต่างเกิดจากความไม่รู้ เข้าใจผิด และยังยึดติดกับความเห็นนั้นๆ เกิดความรู้สึก ตัณหา อุปาทาน และภพชาติ สุดท้ายก็เกิดทุกข์และไม่อาจหลุดพ้นได้

ตถาคตได้รู้ที่มาที่ไปของความเห็นทั้งหมดนี้ และยิ่งไปกว่านั้นคือได้รู้แจ้งถึงสิ่งต่างๆแล้ว แต่ก็ไม่ได้ยึดมั่นถือมั่นกับสิ่งที่รู้เหล่านั้น และเพราะไม่ยึดมั่นถือมั่น ตถาคตจึงได้หลุดพ้น

สมณพราหมณ์เหล่านั้นได้ถูกความเห็นทั้ง 62 ประการที่เปรียบดังตาข่ายนี้คลุมไว้ให้เวียนว่ายอยู่ เหมือนชาวประมงที่ใช้แหตาถี่ทอดลงน้ำซึ่งสัตว์ต่างๆก็จะติดอยู่ในแห ดำผุดดำว่ายอยู่ในแหนั้น

ภิกษุทั้งหลาย กายของตถาตตซึ่งหมดตัณหาที่จะทำให้เกิดใหม่แล้ว ยังมีชีวิตดำรงอยู่ เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายจะเห็นตถาคตได้เพียงชั่วเวลาที่กายยังคงอยู่เท่านั้น ต่อเมื่อกายนี้แตกสิ้นชีวิตแล้ว จะไม่มีใครได้เห็นตถาคตอีก

อ:  น่าอัศจรรย์นัก ธรรมบรรยายนี้ชื่ออะไรหรือท่าน?

พ:  เธอจงจำไว้ จะชื่อข่ายแห่งประโยชน์ก็ได้ ข่ายแห่งธรรมก็ได้ ข่ายแห่งสัพพัญญุตญาณอันประเสริฐ (พรหมชาละ - ข่ายปัญญารู้สิ่งทั้งปวงรวมถึงทิฏฐิ 62 ข้อเหล่านี้ของพระพุทธเจ้า) ก็ได้ ข่ายแห่งทิฏฐิก็ได้ หรือพิชัยสงคราม (ชนะตัณหา) ก็ได้

________

ที่มา: เรียบเรียงจากพระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย เล่มที่ 11 (พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค ภาค 1 เล่ม 1 พรหมชาลสูตร ว่าด้วยข่ายอันประเสริฐ), 2559, น.1-58

ปัจฉิมโอวาท  ธรรมที่พระพุทธเจ้าย้ำก่อนปรินิพพาน , เมื่อได้ยินอะไรมาให้ตรวจสอบเทียบเคียงกับพระสูตรและพระวินัย , อาหารมื้อสุดท้ายของพระพุทธเจ้า,  คืนสุดท้ายของพระพุทธเจ้า , บิณฑบาตที่มีอานิสงส์ใหญ่ 2 คราว , ใครที่ได้มาสังเวชนียสถานด้วยจิตเลื่อมใส เมื่อตายไปจะเข้าถึงสุคติ , วิธีปฏิบัติต่อสตรีและพระพุทธสรีระ , สอนพระอานนท์เป็นครั้งสุดท้าย , ชื่นชมพระอานนท์ , ควรเปิดใจรับฟังคำว่ากล่าวตักเตือนได้ , ยังไม่มีผู้ที่สงบจากบาปกิเลสได้ด้วยหลักคำสอนอื่นนอกพุทธศาสนานี้ , ธรรมสังเวช , คำพูดสุดท้ายของพระพุทธเจ้า , ลมหายใจเข้าออกของพระพุทธเจ้าผู้สงบตั้งมั่น ไม่มีแล้ว , ช่วงเวลาถวายพระเพลิงพระสรีระของพระพุทธเจ้า , การแบ่งพระสารีริกธาตุ (อัฐิของพระพุทธเจ้า)  ,  ทำไมพระพุทธเจ้าจึงเลือกปรินิพพานที่กุสินารา



Previous Post
Next Post

0 comments: