วันอาทิตย์ที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2564

ผู้เลื่อมใสเช่นไร หลังจากตายแล้วจึงไปเกิดในสุคติอย่างเดียว ไม่เกิดในทุคติ ?

ผู้เลื่อมใสเช่นไร หลังจากตายแล้วจึงไปเกิดในสุคติอย่างเดียว ไม่เกิดในทุคติ ?

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับยู่ ณ พระเวฬุวัน กลันทกนิวาปสถาน เขตกรุงราชคฤห์ ครั้งนั้น จุนทีราชกุมารี (พระราชธิดาของพระเจ้าพิมพิสาร) มีรถ ๕๐๐ คัน และกุมารี ๕๐๐ คนแวดล้อม เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาค ดังนี้ว่า

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ราชกุมารพระนามว่าจุนทะ พระภาดา (พี่ชาย) ของหม่อมฉันกล่าวอย่างนี้ว่า ‘หญิงหรือชายก็ตาม ถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ว่าเป็นสรณะ, เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ เว้นขาดจากการลักทรัพย์ เว้นขาดจากการประพฤติผิดในกาม เว้นขาดจากการพูดเท็จ และเว้นขาดจากการเสพของมึนเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นเหตุแห่งความประมาท, ผู้นั้นหลังจากตายแล้วย่อมไปเกิดในสุคติอย่างเดียว ไม่เกิดในทุคติ’  หม่อมฉันจึงขอทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า ‘ผู้เลื่อมใสในศาสดาเช่นไร หลังจากตายแล้วจึงไปเกิดในสุคติอย่างเดียว ไม่เกิดในทุคติ, ผู้เลื่อมใสในธรรมเช่นไร หลังจากตายแล้วจึงไปเกิดในสุคติอย่างเดียว ไม่เกิดในทุคติ, ผู้เลื่อมใสในสงฆ์เช่นไร หลังจากตายแล้วจึงไปเกิดในสุคติอย่างเดียว ไม่เกิดในทุคติ, ผู้ที่ทำให้ศีลเช่นไรบริบูรณ์ หลังจากตายแล้วจึงไปเกิดในสุคติอย่างเดียว ไม่เกิดในทุคติ’ ดังนี้

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า  

“ดูกรจุนที สัตว์ทั้งหลายที่ไม่มีเท้า มีสองเท้า มีสี่เท้า หรือมีเท้ามากก็ตาม มีรูปหรือไม่มีรูปก็ตาม มีสัญญา ไม่มีสัญญา หรือมีสัญญาก็ไม่ใช่ ไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่ก็ตาม มีประมาณเท่าใด  พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าบัณฑิตกล่าวว่า “เลิศกว่าสัตว์มีประมาณเท่านั้น” ผู้ที่เลื่อมใสในพระพุทธเจ้า ชื่อว่าเลื่อมใสในสิ่งที่เลิศ และวิบากที่เลิศย่อมมีแก่บุคคลผู้เลื่อมใสในสิ่งที่เลิศ

ธรรมที่ปัจจัยปรุงแต่ง หรือธรรมที่ปัจจัยไม่ปรุงแต่ง มีประมาณเท่าใด วิราคะ (ความคลายกำหนัด) คือความสร่างความเมา ความดับความกระหาย ความถอนอาลัย ความตัดวัฏฏะ ความสิ้นตัณหา ความคลายกำหนัด ความดับทุกข์คือนิพพาน บัณฑิตกล่าวว่า “เลิศกว่าธรรมเหล่านั้น”  บุคคลผู้เลื่อมใสในวิราคธรรม ชื่อว่าเลื่อมใสในสิ่งที่เลิศ และวิบากที่เลิศย่อมมีแก่บุคคลผู้เลื่อมใสในสิ่งที่เลิศ

หมู่ก็ดี คณะก็ดี มีประมาณเท่าใด สงฆ์สาวกของตถาคต ได้แก่ อริยบุคคล ๔ คู่คือ ๘ บุคคล สงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคนี้ เป็นผู้ควรแก่ของที่เขานำมาถวาย ควรแก่ของต้อนรับ ควรแก่ทักษิณา ควรแก่การทำอัญชลี เป็นนาบุญอันยอดเยี่ยมของโลก บัณฑิตกล่าวว่า “เลิศกว่าหมู่หรือคณะเหล่านั้น”  บุคคลผู้เลื่อมใสในสงฆ์ ชื่อว่าเลื่อมใสในสิ่งที่เลิศ และวิบากที่เลิศย่อมมีแก่บุคคลผู้เลื่อมใสในสิ่งที่เลิศ

ศีลทั้งหลายมีประมาณเท่าใด ศีลที่พระอริยะใคร่ ไม่ขาด ไม่ทะลุ ไม่ด่าง

ไม่พร้อย เป็นไท ท่านผู้รู้สรรเสริญ ไม่ถูกตัณหาและทิฏฐิครอบงำ เป็นไปเพื่อสมาธิ บัณฑิตกล่าวว่า  “เลิศกว่าศีลเหล่านั้น”  บุคคลผู้ทำศีลที่พระอริยะใคร่ให้บริบูรณ์ ชื่อว่าทำสิ่งที่เลิศให้บริบูรณ์ และวิบากที่เลิศย่อมมีแก่บุคคลผู้ทำสิ่งที่เลิศให้บริบูรณ์

พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ครั้นตรัสเวยยากรณ์ภาษิตนี้แล้ว จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า

“บุญที่เลิศ คืออายุ วรรณะ เกียรติยศ สุข และพละ ย่อมเจริญแก่บุคคลผู้เลื่อมใส ผู้รู้ธรรมที่เลิศโดยความเป็นธรรมที่เลิศ ผู้เลื่อมใสในพระพุทธเจ้าผู้เลิศซึ่งเป็นทักขิไณยบุคคลชั้นเยี่ยม   ผู้เลื่อมใสในพระธรรมที่เลิศอันเป็นที่คลายความกำหนัด เป็นที่สงบระงับ นำสุขมาให้  ผู้เลื่อมใสในพระสงฆ์ผู้เลิศซึ่งเป็นนาบุญอันยอดเยี่ยม ให้ทานในท่านผู้เลิศ นักปราชญ์ผู้ตั้งมั่นในธรรมที่เลิศให้ทานแก่ท่านผู้เลิศ เกิดเป็นเทวดา หรือมนุษย์ก็ตาม ถึงความเป็นผู้เลิศ บันเทิงอยู่” ดังนี้  ฯ

สาระธรรมจากจุนทีสูตร อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต

พระมหาวัชระ เชยรัมย์ (ติกฺขญาโณ) 

5/12/64




"ปราสาทนครหลวง" จ.พระนครศรีอยุธยา

ปราสาทที่ผสมผสานสถาปัตยกรรมไทย-ขอม ได้ใกล้เคียงที่สุดในสมัยอยุธยา ประดิษฐานพระพุทธรูปไว้โดยรอบ ปรางค์บางองค์ยังคงสภาพเกือบสมบูรณ์ มองเห็นการก่ออิฐส่วนยอดปราสาทอย่างชัดเจน
Previous Post
Next Post

0 comments: