วันจันทร์ที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2565

บวชได้ แต่อยู่ยาก เพราะอะไร ?

บวชได้ แต่อยู่ยาก เพราะอะไร ?

เพราะต้องประกอบด้วยธรรม ๕ ประการนี้ คือ

๑. เป็นผู้เชื่อฟัง  ๒. เป็นผู้ฆ่าได้  ๓. เป็นผู้รักษาได้  ๔. เป็นผู้อดทนได้   ๕. เป็นผู้ไปได้

จึงเป็นผู้ควรแก่ของที่เขานำมาถวาย ควรแก่ของต้อนรับ ควรแก่ทักษิณา ควรแก่การทำอัญชลี เป็นนาบุญอันยอดเยี่ยมของโลก

มีอรรถาธิบายในโสตสูตร ปัญจกนิบาต อังคุตตรนิกายว่า

(๑) ภิกษุเป็นผู้เชื่อฟัง เป็นอย่างไร ?

คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ตั้งใจ ใฝ่ใจ สำรวมใจ เงี่ยโสตสดับธรรมในเมื่อผู้อื่นแสดงธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้ว ภิกษุเป็นผู้เชื่อฟัง เป็นอย่างนี้แล 

(๒) ภิกษุเป็นผู้ฆ่าได้ เป็นอย่างไร ?

คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ไม่รับกามวิตก (ความตรึกในทางกาม) ที่เกิดขึ้น ละ บรรเทา ทำให้สิ้นสุด ทำให้ถึงความเกิดขึ้นไม่ได้อีกต่อไป ฯลฯ ไม่รับพยาบาทวิตก (ความตรึกในทางพยาบาท) ที่เกิดขึ้น ฯลฯ ไม่รับ วิหึงสาวิตก (ความตรึกในทางเบียดเบียน) ที่เกิดขึ้น ฯลฯ ไม่รับบาปอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้วเกิดขึ้นอีก ละ บรรเทา ทำให้สิ้นสุด ทำให้ถึงความเกิดขึ้นไม่ได้อีกต่อไป ภิกษุเป็นผู้ฆ่าได้ เป็นอย่างนี้แล

(๓) ภิกษุเป็นผู้รักษาได้ เป็นอย่างไร ?

คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้เห็นรูปทางตาแล้ว ไม่รวบถือ ไม่แยกถือ ปฏิบัติเพื่อความสำรวมในจักขุนทรีย์ ซึ่งเมื่อไม่สำรวมแล้ว ก็จะเป็นเหตุให้ถูกบาปอกุศลธรรม คืออภิชฌาและโทมนัสครอบงำได้ จึงรักษาจักขุนทรีย์ ถึงความสำรวมในจักขุนทรีย์ ฟังเสียงทางหู ฯลฯ ดมกลิ่นทางจมูก ฯลฯ ลิ้มรสทางลิ้น ฯลฯ ถูกต้องโผฏฐัพพะทางกาย ฯลฯ รู้ธรรมารมณ์ทางใจแล้ว ไม่รวบถือ ไม่แยกถือ ปฏิบัติเพื่อสำรวมในมนินทรีย์ ซึ่งเมื่อไม่สำรวมแล้วก็จะเป็นเหตุให้ถูกบาปอกุศลธรรม คืออภิชฌาและโทมนัสครอบงำได้ จึงรักษามนินทรีย์ ถึงความสำรวมในมนินทรีย์ ภิกษุเป็นผู้รักษาได้เป็นอย่างนี้แล

(๔) ภิกษุเป็นผู้อดทนได้ เป็นอย่างไร ?

คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นผู้อดทนต่อความหนาว ความร้อน ความหิวกระหาย อดทนต่อการถูกเหลือบ ยุง ลม แดด และสัตว์เลื้อยคลานทั้งหลายที่รบกวน อดทนต่อถ้อยคำหยาบคายร้ายแรงต่างๆ เป็นผู้อดกลั้นเวทนาทั้งหลายอันมีในร่างกายที่เกิดขึ้นแล้ว เป็นทุกข์ กล้าแข็ง เจ็บปวด เผ็ดร้อน ไม่น่ายินดี ไม่น่าพอใจ อันจะพรากชีวิต  ภิกษุเป็นผู้อดทนได้ เป็นอย่างนี้แล

(๕) ภิกษุเป็นผู้ไปได้ เป็นอย่างไร ?

คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ย่อมไปสู่ทิศที่ไม่เคยไป ตลอดระยะเวลาอันยาวนานนี้ คือ ความระงับสังขารทั้งปวง ความสละคืนอุปธิกิเลสทั้งปวง ความสิ้นไปแห่งตัณหา ความคลายกำหนัด ความดับ นิพพาน  ภิกษุเป็นผู้ไปได้ เป็นอย่างนี้แล

ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๕ ประการนี้แล เป็นผู้ควรแก่ของที่เขานำมาถวาย ควรแก่ของต้อนรับ ควรแก่ทักษิณา ควรแก่การทำอัญชลี เป็นนาบุญอันยอดเยี่ยมของโลก ดังนี้.

ในอรรถกถาท่านอธิบายคำว่า “ทิศ” ไว้ว่า “พระนิพพานพึงทราบว่า ชื่อว่าทิศ ในคำว่า “ยา สา ทิสา” เพราะปรากฏเห็นชัดในธรรม มีธรรมเป็นที่ระงับสังขารทั้งปวงเป็นต้น แต่เพราะเหตุที่สังขารทั้งปวงอาศัยพระนิพพานนั้น จึงถึงความระงับ ฉะนั้น จึงตรัสเรียกพระนิพพานนั้นว่า “ธรรมเป็นที่ระงับสังขารทั้งปวง”

สาระธรรมจากโสตสูตร ในปัญจกนิบาต อังคุตตรนิกาย

พระมหาวัชระ เชยรัมย์ (ติกฺขญาโณ) วัดสามพระยา กรุงเทพฯ




Previous Post
Next Post

0 comments: