ผลดีของการบวชเป็นสมณะ (ตอน 1)
[ณ มหาปราสาทชั้นบน กรุงราชคฤห์ ในคืนพระจันทร์เต็มดวง พระเจ้าอชาตศัตรูแห่งแคว้นมคธได้กล่าวกับเหล่าราชอำมาตย์ว่า]
อ: ท่านทั้งหลาย คืนนี้พระจันทร์แจ่มกระจ่าง งดงามน่าชมนัก ค่ำคืนแบบนี้เราควรไปหาสมณะหรือพราหมณ์ผู้ใดดีที่จะทำให้เราเกิดความเลื่อมใสได้.
[เหล่าอำมาตย์แต่ละคนก็เสนอต่างกันไปตามที่ตนเห็นว่าเป็นผู้มีชื่อเสียง เป็นเจ้าคณะเก่าแก่ ผู้คนยกย่องว่าดี ซึ่งมีทั้งปูรณกัสสป มักขลิโคสาล อชิตเกสกัมพล ปกุทธกัจจายนะ สัญชัยเวลัฏฐบุตร และนิครนถนาฏบุตร ในขณะที่หมอชีวกโกมารภัจซึ่งนั่งอยู่ไม่ไกลจากพระเจ้าอชาตศัตรูไม่ได้ตอบอะไร]
อ: ชีวก เพื่อน ทำไมเธอนิ่งล่ะ?
ช: ข้าแต่พระองค์ ตอนนี้พระพุทธเจ้าอยู่ที่สวนอัมพวันของข้าฯ พร้อมด้วยเหล่าภิกษุประมาณ 1,250 รูป ด้วยชื่อเสียงที่รู้กันไปทั่วแล้วว่าพระพุทธเจ้านั้นเป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ได้ด้วยตนเอง ขอท่านไปพบพระพุทธเจ้าเถิด
อ: ถ้าอย่างนั้น ท่านจงสั่งให้เตรียมช้างไว้.
[พระเจ้าอชาตศัตรูขี่ช้างออกไป พร้อมกับเหล่าสตรีจำนวนมากซึ่งก็ขี่ช้างไปคนละเชือกๆ แต่เมื่อใกล้ถึง พระเจ้าอชาตศัตรูกลับรู้สึกกลัวขึ้นมา]
อ: ชีวก ท่านไม่ได้หลอกเรามาให้ข้าศึกใช่ไหม ทำไมภิกษุหมู่ใหญ่ถึง 1,250 รูป จึงไม่มีเสียงพูดคุยหรือไอจามเลย?
ช: ท่านไม่ต้องกลัว ข้าฯไม่ได้หลอกท่านหรอก เดินทางต่อเถิด นั่นไฟจากโรงที่พักก็ยังมีอยู่
[เมื่อลงเดินและเข้าประตูโรงที่พักไปแล้ว พระเจ้าอชาตศัตรูก็ถามว่า]
อ: ชีวก ไหนพระพุทธเจ้า ? ช: นั่น พระพุทธเจ้านั่งพิงเสากลาง หันไปทางทิศตะวันออก มีภิกษุสงฆ์ล้อมรอบอยู่
[พระเจ้าอชาตศัตรูได้เข้าใกล้ๆ และชำเลืองเห็นภิกษุสงฆ์ต่างนั่งสงบเหมือนห้วงน้ำใส จึงอุทานขึ้นว่า]
อ: ขอให้อุทัยภัทรกุมารของเรา จงมีความสงบดังเช่นภิกษุเหล่านี้เถิด.
พ: มหาบพิตร ท่านมาด้วยความรัก.
อ: ใช่แล้วท่าน อุทัยภัทรกุมารเป็นที่รักของข้าพระองค์.
[หลังจากพระเจ้าอชาตศัตรูไหว้และทักทายพระพุทธเจ้าแล้ว ก็ได้กล่าวว่า]
อ: ข้าฯอยากจะขอถามปัญหาบางเรื่องกับท่านสักเล็กน้อย.
พ: เชิญเถิด
อ: ผู้คนที่ใช้ชีวิตในสังคม ต่างมีฝีมือประกอบอาชีพ หาเลี้ยงดูแลตัวเอง พ่อแม่ ลูกเมีย และเพื่อนฝูง ซึ่งมีข้อดีคือ มีความสุขอิ่มหนำสำราญ มีโอกาสทำทานกับสมณพราหมณ์ทั้งหลายที่ให้ผลบุญมาก ได้ไปเกิดในสวรรค์ แล้วการออกบวชเป็นสมณะนี่มีข้อดีอะไร (สามัญญผล) ที่คนเห็นผลประจักษ์ในปัจจุบันได้แบบนี้บ้าง ท่านพอจะบอกข้าฯได้ไหม?
พ: ปัญหาข้อนี้ ท่านได้ถามสมณพราหมณ์พวกอื่นแล้วหรือยัง?
อ: ถามแล้วท่าน
พ: แล้วเขาเหล่านั้นตอบว่าอย่างไร? ถ้าท่านไม่หนักใจก็ช่วยเล่าให้ฟังด้วยเถิด.
อ: ครูปูรณกัสสปตอบว่า เมื่อมีการฝึกตัวเอง มีศีล จะทำอะไร หรือใช้ให้ใครทำอะไร ก็เหมือนไม่ได้ทำ บาปบุญมาไม่ถึง
ครูมักขลิโคสาลตอบว่า ไม่มีเหตุ ไม่มีปัจจัย คนดีคนเลวเวียนว่ายไป จะพ้นทุกข์ได้ก็ด้วยความบังเอิญเหมือนกลุ่มด้ายที่คนขว้างออกไปก็จะคลี่คลายของมันเอง
ครูอชิตเกสกัมพลตอบว่า ทานไม่มีผล กรรมไม่มีผล โลกหน้าไม่มี สมณพราหมณ์ที่รู้แจ้งด้วยตัวเองไม่มี คนเรานี้มีแต่กองธาตุ ตายแล้วก็จบกัน ขาดสูญพินาศสิ้น ไม่มีอะไรเหลือ
ครูปกุทธกัจจายนะตอบว่า สภาวะ 7 กองคือ ดิน น้ำ ไฟ ลม สุข ทุกข์ และชีวะนั้นเที่ยง ไม่เปลี่ยนแปลง ไม่มีใครสร้าง ไม่มีใครทำลาย คนจะตัดหัวกันก็ไม่ได้ชื่อว่าฆ่าใครตาย เพราะเป็นแต่อาวุธที่สอดเข้าไปในสภาวะทั้ง 7 กองนั้นเท่านั้น
ครูนิครนถนาฏบุตรตอบว่า นิครนถ์เป็นผู้สำรวมระแวดระวัง (สังวร) 4 ข้อ คือ ห้ามน้ำทั้งปวง ประกอบด้วยน้ำทั้งปวง กำจัดน้ำทั้งปวง และประพรมด้วยน้ำทั้งปวง เรียกได้ว่าเป็นผู้สำรวมตั้งมั่น
ครูสัญชัยเวลัฏฐบุตรตอบว่า ถ้าถามเราว่ามีโลกหน้าไหม ถ้าเราเห็นว่ามี ก็จะตอบว่ามี ถ้าถามเราว่าไม่มีโลกหน้าใช่ไหม ถ้าเราเห็นว่าไม่มี ก็จะตอบว่าไม่มี
แต่ละคนนี้ ข้าฯถามอย่าง กลับตอบอีกอย่าง เหมือนถามถึงมะม่วง ไปตอบขนุน แต่ข้าฯก็คิดว่าเราไม่ควรไปก้าวร้าวสมณะหรือพราหมณ์ผู้อาศัยอยู่ในราชอาณาเขตของเรา จึงไม่ได้โต้แย้งอะไร ได้แต่ลุกจากไป ซึ่งในบรรดาสมณพราหมณ์ทั้งหมดนี้ ข้าฯคิดว่าครูสัญชัยเวลัฏฐบุตรโง่กว่าใครเพื่อน เพราะตอบดิ้นไปดิ้นมา
อ: คราวนี้ข้าฯขอถามท่านบ้าง การออกบวชเป็นสมณะนี่มีข้อดีอะไรที่คนเห็นผลประจักษ์ได้ในปัจจุบัน?
พ: การออกบวชเป็นสมณะ สามารถเห็นผลดีได้ในปัจจุบัน ท่านลองคิดดูเอา
สมมติว่าท่านมีทาสกรรมกรคนหนึ่ง คอยฟังคำสั่งรับใช้ท่าน ตื่นก่อนนอนทีหลัง เขาคิดว่าเราก็คน พระองค์ก็คน แต่พระองค์มีพร้อม มีคนรับรับใช้ดุจเทพเจ้า ส่วนเราสิต้องมาเป็นทาสรับใช้ ถ้างั้น เราควรต้องทำบุญบ้างจะได้เหมือนพระองค์ท่าน ออกบวชเป็นบรรพชิตดีกว่า จากนั้นเขาก็ออกบวช สำรวมกายใจ ถือสันโดษ เมื่อเป็นอย่างนี้ พระองค์จะบอกไหมว่า นี่เป็นคนของพระองค์ ให้กลับมาเป็นทาสพระองค์เหมือนเดิม?
อ: มิได้ท่าน ที่จริงข้าฯควรต้องลุกไหว้เขาเสียอีก ควรจะให้จีวรและบิณฑบาต ดูแลคุ้มครองเขาด้วยความเป็นธรรม
พ: ท่านคิดอย่างไร นี่นับเป็นผลดีที่เห็นประจักษ์ได้ไหม?
อ: ได้แน่นอนท่าน.
พ: นี่เป็นผลดีข้อแรก.
[ถัดไป พระพุทธเจ้าได้ยกตัวอย่างชาวนาคฤหบดีที่ต้องจ่ายภาษีให้พระเจ้าแผ่นดิน ซึ่งพระเจ้าอชาตศัตรูก็เห็นด้วยว่าถ้าบวช ก็ไม่ต้องจ่ายภาษีอีก และควรต้องได้รับการดูแลคุ้มครองด้วย]
อ: มีผลดีอื่นที่ละเอียดประณีตขึ้นกว่านี้ไหมท่าน?
พ: ผู้ออกบวชที่หมั่นศึกษาปฏิบัติ จะเป็นผู้สำรวมสันโดษ มีสติสัมปชัญญะถึงพร้อมด้วยศีล.
อ: อย่างไรถึงเรียกว่า เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีล?
_____
ที่มา: เรียบเรียงจากพระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย เล่มที่ 11 (พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค ภาค 1 เล่ม 1 สามัญญผลสูตร), 2559, น.243-262
เมื่อได้ยินอะไรมาให้ตรวจสอบเทียบเคียงกับพระสูตรและพระวินัย , อาหารมื้อสุดท้ายของพระพุทธเจ้า, คืนสุดท้ายของพระพุทธเจ้า , บิณฑบาตที่มีอานิสงส์ใหญ่ 2 คราว , ใครที่ได้มาสังเวชนียสถานด้วยจิตเลื่อมใส เมื่อตายไปจะเข้าถึงสุคติ , วิธีปฏิบัติต่อสตรีและพระพุทธสรีระ , สอนพระอานนท์เป็นครั้งสุดท้าย , ชื่นชมพระอานนท์ , ควรเปิดใจรับฟังคำว่ากล่าวตักเตือนได้ , ยังไม่มีผู้ที่สงบจากบาปกิเลสได้ด้วยหลักคำสอนอื่นนอกพุทธศาสนานี้ , ธรรมสังเวช , คำพูดสุดท้ายของพระพุทธเจ้า , ลมหายใจเข้าออกของพระพุทธเจ้าผู้สงบตั้งมั่น ไม่มีแล้ว , ช่วงเวลาถวายพระเพลิงพระสรีระของพระพุทธเจ้า , การแบ่งพระสารีริกธาตุ (อัฐิของพระพุทธเจ้า) , ทำไมพระพุทธเจ้าจึงเลือกปรินิพพานที่กุสินารา , 62 ความเห็นที่เปรียบดังตาข่ายคลุมให้ติดอยู่กับการเวียนว่าย , สิ่งอัศจรรย์เดียวที่พระพุทธเจ้ายกย่องคือ คำสอนที่ปฏิบัติแล้วเห็นผลพ้นทุกข์ได้จริง , ผลดีของการบวชเป็นสมณะ (ตอน 1) , (ตอน 2) , (ตอน 3)
0 comments: