ผลดีของการบวชเป็นสมณะ (ตอน 3)
[ณ สวนอัมพวันของหมอชีวกโกมารภัจจ์ กรุงราชคฤห์ พระเจ้าอชาตศัตรูกำลังสนทนาธรรมกับพระพุทธเจ้าเรื่องผลดีของการบวชเป็นสมณะ]
พ: เมื่อภิกษุมีจิตตั้งมั่น สงบจากกาม จากสิ่งอกุศลต่างๆ บรรลุปฐมฌาน* (ฌานที่ 1 หูได้ยินเสียงทุกอย่างแต่ไม่รำคาญ รู้ชัดถึงลมหายใจ) จะซาบซ่านทั่วร่างกายด้วยปีติและสุขที่เกิดจากความเงียบสงบ
เปรียบเหมือนพนักงานสรงน้ำ ใส่ผงอาบน้ำลงในภาชนะแช่น้ำไว้ ตกเย็นผงอมน้ำจับเป็นก้อน ฉันใด ภิกษุนั้นก็มีกายชุ่มชื่นอิ่มเอิบซาบซ่านด้วยปีติและสุขที่เกิดจากความเงียบสงบ ฉันนั้น
นี่เป็นผลดีของความเป็นสมณะที่ประณีตกว่าผลก่อนหน้า
ภิกษุผู้บรรลุทุติยฌาน (ฌานที่ 2 ลมหายใจเบาลง) จะมีใจผ่องใส ซาบซ่านทั่วร่างกายด้วยปีติและสุขที่เกิดจากสมาธิ
เปรียบเหมือนห้วงน้ำลึกขังอยู่ แต่มีสายน้ำเย็นพุขึ้นจากห้วงน้ำนั้นแล้วทำให้ห้วงน้ำนั้นชุ่มชื่น ฉันใด ภิกษุนั้นก็มีกายชุ่มชื่นอิ่มเอิบซาบซ่านด้วยปีติและสุขที่เกิดจากสมาธิ ฉันนั้น
ภิกษุผู้บรรลุตติยฌาน (ฌานที่ 3 ลมหายใจเบามาก เสียงดังจะได้ยินแค่เบาๆ) จะซาบซ่านทั่วร่างกายด้วยสุขที่ปราศจากปีติ
เปรียบเหมือนดอกบัวที่อยู่ในน้ำ ซึมซาบด้วยน้ำเย็นตลอดยอดถึงราก ฉันใด ภิกษุนั้นก็มีกายชุ่มชื่นอิ่มเอิบซาบซ่านด้วยสุขที่ปราศจากปีติ ฉันนั้น
ภิกษุผู้บรรลุจตุตถฌาน (ฌานที่ 4 ลมหายใจละเอียดจนไม่ปรากฏว่ามีลมหายใจ ไม่รู้การสัมผัสจากภายนอก ไม่ได้ยินเสียงใด มีจิตนิ่งเฉยๆ) จะไม่สุขไม่ทุกข์ มีอุเบกขาให้สติและจิตใจบริสุทธ์ผ่องใส
เปรียบเหมือนชายที่นั่งคลุมด้วยผ้าขาวทั้งตัว ไม่มีส่วนไหนไม่ถูกผ้าขาว ฉันใด ภิกษุนั้นก็มีใจอันบริสุทธิ์ผ่องใสแผ่ไปทั่วกาย ฉันนั้น
เมื่อจิตเป็นสมาธิ ตั้งมั่น บริสุทธิ์ ผ่องใส ไม่มีกิเลส จะพร้อมสำหรับการใช้พิจารณาให้เห็นความจริงของสิ่งต่างๆว่าไม่เที่ยง มีเกิดมีดับ (วิปัสสนาญาณ) รู้ชัดว่ากายเรานี้ประกอบไปด้วยธาตุต่างๆ โตขึ้นได้ด้วยข้าวสุกและขนมสด ไม่เที่ยง ต้องนวดเฟ้น สุดท้ายก็ต้องแตกสลายกระจัดกระจายไปเป็นธรรมดา ซึ่งวิญญาณ (การรับรู้) ของเราก็อาศัยอยู่ในกายนี้ด้วย
เปรียบเหมือนแก้ว 8 เหลี่ยมที่ช่างเจียระไนมาอย่างดี สุกใสแวววาวสมส่วน ฉันใด ภิกษุนั้นก็มีจิตบริสุทธิ์ผ่องใส เห็นความจริงของสิ่งต่างๆ ฉันนั้น
เมื่อจิตเป็นสมาธิ ตั้งมั่น บริสุทธิ์ ผ่องใส ไม่มีกิเลส จะพร้อมสำหรับใช้เนรมิตกายอื่นที่ต่างจากกายนี้ได้ (มโนมยิทธิญาณ)
เปรียบเหมือนชายดึงดาบออกจากฝัก รู้ว่านี่ดาบนี่ฝัก ดึงงูออกจากคราบ รู้ว่านี่งูนี่คราบ ฉันใด ภิกษุนั้นก็มีจิตบริสุทธิ์ผ่องใส ใช้เนรมิตกายอื่นที่ต่างจากกายนี้ได้ ฉันนั้น
เมื่อจิตเป็นสมาธิ ตั้งมั่น บริสุทธิ์ ผ่องใส ไม่มีกิเลส จะพร้อมสำหรับใช้แสดงฤทธิ์ (อิทธิวิธญาณ) แยกร่าง หายตัว ทะลุกำแพงภูเขา ดำดิน เดินบนน้ำ เหาะบนฟ้า ลูบดวงดาว หรือใช้อำนาจกายไปถึงพรหมโลกได้
เปรียบเหมือนช่างหม้อที่นวดดินแล้ว จะปั้นเป็นภาชนะใดก็ได้ เหมือนช่างทองที่จะหล่อเป็นรูปใดก็ได้ ฉันใด ภิกษุนั้นก็มีจิตบริสุทธิ์ผ่องใส ใช้แสดงฤทธิ์ได้ ฉันนั้น
เมื่อจิตเป็นสมาธิ ตั้งมั่น บริสุทธิ์ ผ่องใส ไม่มีกิเลส จะพร้อมสำหรับใช้ฟังเสียงทิพย์ทั้งใกล้ไกลที่มนุษย์ไม่ได้ยินได้ (ทิพพโสตญาณ)
เปรียบเหมือนชายเดินทางไกล ได้ยินเสียงมาไกลๆ แยกแยะได้ว่าเป็นเสียงกลองบ้าง ตะโพนบ้าง สังข์บ้าง ฉันใด ภิกษุนั้นก็มีจิตบริสุทธิ์ผ่องใส ใช้ฟังเสียงทิพย์ทั้งใกล้ไกลที่มนุษย์ไม่ได้ยินได้ ฉันนั้น
เมื่อจิตเป็นสมาธิ ตั้งมั่น บริสุทธิ์ ผ่องใส ไม่มีกิเลส จะพร้อมสำหรับใช้อ่านจิตผู้อื่น รู้ได้ว่าสัตว์หรือมนุษย์นั้นมีสภาวะจิตเป็นอย่างไร (เจโตปริยญาณ) มีราคะ โทสะ โมหะ หดหู่ ฟุ้งซ่าน มีสมาธิ หรือหลุดพ้นแล้วหรือไม่
เปรียบเหมือนหนุ่มสาวส่องกระจก มองเห็นหน้าเห็นไฝตัวเอง ฉันใด ภิกษุนั้นก็มีจิตบริสุทธิ์ผ่องใส ใช้อ่านจิตผู้อื่นได้ ฉันนั้น
เมื่อจิตเป็นสมาธิ ตั้งมั่น บริสุทธิ์ ผ่องใส ไม่มีกิเลส จะพร้อมสำหรับใช้ระลึกชาติได้ (ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ) หนึ่งชาติบ้าง สิบร้อยพันแสนชาติบ้าง หลายสังวัฏฏวิวัฏฏกัปบ้าง (ช่วงเวลาที่โลกเกิดและดับไปหลายครั้ง) ว่าในภพโน้นเราชื่ออะไร เกิดที่ไหน หน้าตาอย่างไร กินอะไร สุขทุกข์แค่ไหน อายุเท่าไหร่ พอตายไปแล้วไปเกิดในภพนั้น อย่างโน้นอย่างนี้
เปรียบเหมือนชายเดินออกจากบ้าน ไปบ้านโน้นบ้านนี้ แล้วก็ระลึกได้ว่าเราไปไหนมาบ้าง ทำอะไรบ้างในแต่ละที่ ฉันใด ภิกษุนั้นก็มีจิตบริสุทธิ์ผ่องใส ใช้ระลึกชาติได้ ฉันนั้น
เมื่อจิตเป็นสมาธิ ตั้งมั่น บริสุทธิ์ ผ่องใส ไม่มีกิเลส จะพร้อมสำหรับใช้มองเห็นการเกิดตายของสัตว์ทั้งหลาย (ทิพพจักขุญาณ) ว่าจะไปเกิดเป็นอะไร ที่ไหน เพราะทำกรรมอะไรไว้ ถ้าทุจริตก็ไปสู่ทุคติ ถ้าสุจริตก็ไปสู่สุคติ
เปรียบเหมือนชายยืนอยู่บนปราสาทที่ตั้งอยู่ตรงทางสามแพร่ง มองเห็นผู้คนว่ากำลังเดินไปทางไหนกันบ้าง ฉันใด ภิกษุนั้นก็มีจิตบริสุทธิ์ผ่องใส ใช้มองเห็นการเกิดตายของสัตว์ทั้งหลายได้ ฉันนั้น
เมื่อจิตเป็นสมาธิ ตั้งมั่น บริสุทธิ์ ผ่องใส ไม่มีกิเลส จะรู้ว่าอะไรคือทุกข์ สาเหตุของทุกข์ การดับทุกข์ และวิธีการดับทุกข์ และจะรู้ได้ว่าตัวเองได้หลุดพ้นแล้วหากจิตหลุดพ้นแล้ว (อาสวักขยญาณ)
เปรียบเหมือนชายยืนอยู่ขอบสระน้ำใสสะอาดบนยอดเขา มองเห็นกรวด หิน ปลา หอย บ้างหยุดนิ่ง บ้างกำลังว่ายอยู่ในสระนั้น โดยคิดอยู่ว่า สระนี้ใสสะอาด มีกรวด หิน ปลา หอย บ้างหยุดนิ่ง บ้างกำลังว่ายอยู่ในสระ ฉันใด ภิกษุนั้นก็มีจิตบริสุทธิ์ผ่องใส ใช้พิจารณารู้ว่าตัวเองได้หลุดพ้นแล้ว ฉันนั้น
นี่เป็นผลดีของความเป็นสมณะที่ดียิ่งกว่า ประณีตยิ่งกว่าผลก่อนหน้า
อ: คำสอนของท่านแจ่มแจ้งมาก เหมือนหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง หรือส่องแสงในที่มืด ข้าฯขอถือท่าน คำสอนของท่าน และพระสงฆ์ที่ปฏิบัติตามคำสอนของท่านเป็นที่พึ่ง (สรณะ) ขอท่านโปรดจำข้าฯว่า เป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตราบจนลมหายใจสุดท้าย
ข้าฯซึ่งเป็นคนโง่เขลาลุ่มหลงนี้ มีบาปติดตัว ข้าฯได้ฆ่าพ่อผู้ทรงธรรม เพราะอยากเป็นใหญ่ ขอท่านได้โปรดรับทราบความผิดของข้าฯด้วย
พ: จริง มหาบพิตร ท่านได้ทำความผิด ฆ่าพ่อด้วยความโง่เขลาลุ่มหลง เพราะอยากเป็นใหญ่ แต่ท่านก็ได้สำนึกผิดและสารภาพตามความเป็นจริง ฉะนั้น ตถาคตขอรับทราบความผิดนี้ เพราะการที่บุคคลสำนึกผิดและรับสารภาพเป็นสิ่งที่ควรทำของพระอริยะ
อ: ถ้าอย่างนั้น ข้าฯยังมีภารกิจอีกมาก ขอลากลับก่อน
พ: เชิญท่านเถิด
[หลังจากที่พระเจ้าอชาตศัตรูกลับไปไม่นาน พระพุทธเจ้าได้กล่าวกับภิกษุทั้งหลายว่า]
พ: หากพระราชาท่านนี้ไม่ได้ฆ่าพ่อผู้ทรงธรรม ท่านจะเกิดดวงตาเห็นธรรมได้ ณ ที่นี้เลยทีเดียว
_______
ที่มา: เรียบเรียงจากพระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย เล่มที่ 11 (พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค ภาค 1 เล่ม 1 สามัญญผลสูตร), 2559, น.276-288
*ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ “อารมณ์ของฌาน” โดยหลวงพ่อฤาษีลิงดำ
อาหารมื้อสุดท้ายของพระพุทธเจ้า, คืนสุดท้ายของพระพุทธเจ้า , บิณฑบาตที่มีอานิสงส์ใหญ่ 2 คราว , ใครที่ได้มาสังเวชนียสถานด้วยจิตเลื่อมใส เมื่อตายไปจะเข้าถึงสุคติ , วิธีปฏิบัติต่อสตรีและพระพุทธสรีระ , สอนพระอานนท์เป็นครั้งสุดท้าย , ชื่นชมพระอานนท์ , ควรเปิดใจรับฟังคำว่ากล่าวตักเตือนได้ , ยังไม่มีผู้ที่สงบจากบาปกิเลสได้ด้วยหลักคำสอนอื่นนอกพุทธศาสนานี้ , ธรรมสังเวช , คำพูดสุดท้ายของพระพุทธเจ้า , ลมหายใจเข้าออกของพระพุทธเจ้าผู้สงบตั้งมั่น ไม่มีแล้ว , ช่วงเวลาถวายพระเพลิงพระสรีระของพระพุทธเจ้า , การแบ่งพระสารีริกธาตุ (อัฐิของพระพุทธเจ้า) , ทำไมพระพุทธเจ้าจึงเลือกปรินิพพานที่กุสินารา , 62 ความเห็นที่เปรียบดังตาข่ายคลุมให้ติดอยู่กับการเวียนว่าย , สิ่งอัศจรรย์เดียวที่พระพุทธเจ้ายกย่องคือ คำสอนที่ปฏิบัติแล้วเห็นผลพ้นทุกข์ได้จริง , ผลดีของการบวชเป็นสมณะ (ตอน 1) , (ตอน 2) , (ตอน 3)
0 comments: