ต้องศึกษาปฏิบัติธรรมอย่างสันทิฎฐิโก
ทุกอย่างมันเป็นสิ่งที่รู้สึกด้วยใจ สนฺทิฎฐิโก, สันทิฏฐิโก คำนี้ไม่ ใช่คำเล็กๆ ไม่ใช่คำน้อยๆ มันเป็นคำที่มีความหมายสูงสุด, ถ้าไม่มีเรื่องสันทิฏฐิโกแล้วล้มเหลวหมด, เรื่องของธรรมะจะขาดสันทิฏฐิโกไม่ได้ดอก. เราอุตส่าห์ท่องเถอะ สวากขาโต ภควตา ธมฺโม สนฺทิฏฐิโก อกาลิโก ฯลฯ ปากว่ากันอยู่เรื่อย, แต่ไม่ได้ใช้ประโยชน์จากสันทิฏฐิโก; นี่คิดดูเถอะ มันไม่มีสันทิฎฐิโกนี่, มันว่าแต่ปากนี่, จิตใจมันไม่ได้เห็น คำใดที่เราว่าออกไป ท่องออกไป ขอให้เป็นสันทิฏฐิโก. ถ้าว่าความทุกข์ คำว่า ทุกฺโข ทุกฺขํ เป็นทุกข์ แล้วก็ให้มันรู้สึกด้วยจิตใจ ว่ามันเป็นทุกข์อย่างไร, กิเสสเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ ก็รู้จักตัวกิเลสแล้วว่ามันเป็นเหตุให้เกิดทุกข์อย่างไร, ให้มันสันทิฏฐิโกเสมอไป.
สิ่งที่จะต้องสันทิฎฐิโกก่อนเรื่องอื่นนั้นก็คือ เรื่องตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ, เรื่องรูป เสียง กลิ่น รส โผฎฐัพพะ ธัมมารมณ์ คู่ปรับของมัน, คู่สร้างของมัน, แล้วเกิดเป็นภาวิตญาณ เป็นผัสสะเป็นเวทนาอย่างไร นี้ต้องเป็นสันทิฎฐิโก. แล้วก็เป็นเรื่องแรก ตามที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ว่า เป็นจุดตั้งต้นของพรหมจรรย์. ในส่วนปริยัติก็ต้องเรียนเรื่องนี้เป็นเบื้องต้น, ในส่วนปฏิบัติก็ต้องปฏิบัติเรื่องนี้เป็นเบื้องต้น, ในส่วนปฏิเวธก็ต้องได้ผลเกี่ยวกับเรื่องนี้เป็นเรื่องแรก; นี่สันทิฎฐิโกที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ. ที่จะมาสันทิฎฐิโก กับ พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ ยากนะ, นี้ว่าแต่ปากทั้งนั้น ยังไม่สันทิฎฐิโก นี้ยากที่สุด. ไปสันทิฎฐิโกที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เสียก่อน มันยังง่ายกว่า เพราะพอจะเห็นได้ว่า มันทำกันอย่างไร; แต่ที่จะมาให้รู้จัก พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ซึ่งยังไม่เข้าใจ เห็นไม่ได้นี้ยาก. แต่ก็ต้องว่ากันไปก่อนเถอะ, ว่าแต่ปากตามพิธีกันไปก่อน, รับๆตามพิธี แม้จะมีลักษณะเป็นไสยศาสตร์ก็ไม่เป็นไร, ยอมรับเอาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ทั้งที่ไม่รู้อะไรกันไปก่อน, แล้วค่อยศึกษาเพิ่มเติม, เพิ่มเติม จนกว่าจะสันทิฎฐิโก.
ดับทุกข์ได้ทีหนึ่ง จะรู้จักพระพุทธเจ้าขึ้นทีหนึ่ง, รู้จักพระธรรมขึ้นทีหนึ่ง, รู้จักพระสงฆ์ขึ้นทีหนึ่ง. #เราต้องดับทุกข์ในหัวใจของเราเองให้ได้เสียก่อน; พอรู้จักดับทุกข์ได้ นั่นน่ะ โอ้! พระพุทธเจ้าเป็นอย่างนั้น, ดับทุกข์คืออย่างนั้น, พระธรรมความดับทุกข์เป็นอย่างนั้น, พระสงฆ์ผู้ดับทุกข์ได้เป็นอย่างนั้น. ฉะนั้นจะเห็นพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ที่เป็นสันทิฎฐิโก ได้ก็ต่อเมื่อเราดับทุกข์ได้ ในจิตของเราเอง; เพียงแต่อ่านหนังสือเรื่องพระพุทธคุณ ธรรมคุณ นี้มันยังไม่ถึง, ยังไม่ถึงสันทิฎฐิโก. สันทิฎฐิโกทางปริยัตินี้เป็นแนวบ้างเท่านั้น; แต่มันไม่ใช่ตัวจริง แต่ก็ยึดไว้ก่อน เพื่อเป็นหลัก เป็นแผนที่, เหมือนกับเป็นแผนที่ ยึดหลักไว้ก่อน : พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ ก่อน อย่าให้เปลี่ยนได้, แล้วค่อยไต่เข้าไปหา, เข้าไปหา คอยจ้องที่จะรู้.
พอจิตดับทุกข์ได้ รู้สึกว่าไม่มีทุกข์ทีหนึ่ง ก็โอ้, พระพุทธเจ้าเป็นอย่างนี้, พระพุทธเจ้าองค์ไหนที่ไหนเมื่อไรก็เป็นอย่างนี้เอง, เป็นอย่างที่จิตของเรากำลังดับทุกข์, กำลังไม่มีทุกข์; พระธรรมก็คืออย่างนี้เอง คือความดับทุกข์. พระสงฆ์ผู้ดับทุกข์ตามก็เป็นอย่างนี้เอง; เมื่อนั้นแหละ มีสันทิฏฐิโกในพระพุทธ ในพระธรรม ในพระสงฆ์ ขึ้นมา.
พุทธทาสภิกขุ
ธรรมโฆษณ์ ธรรมะเล่มน้อย (น.๒๙)
Credit: สโมสรธรรมทาน - co dhamma space
0 comments: