วันศุกร์ที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2564

ชื่อว่า ‘พราหมณ์’ เพราะศีลและปัญญา หาใช่วรรณะและชาติตระกูล

ชื่อว่า ‘พราหมณ์’ เพราะศีลและปัญญา หาใช่วรรณะและชาติตระกูล

[ณ สระโบกขรณีคัคครา นครจัมปา แคว้นมคธ พราหมณ์โสณทัณฑะพร้อมหมู่พราหมณ์และคฤหบดีในนครจัมปาจำนวนมากได้เข้าไปพบพระพุทธเจ้าแม้จะมีบางเสียงค้านว่าให้พระพุทธเจ้าเป็นฝ่ายมาหาดีกว่าจะได้ไม่เสียเกียรติก็ตาม เมื่อคณะไปถึงแล้ว บ้างก็ไหว้ บ้างก็นิ่งเฉย ขณะนั้นพราหมณ์โสณทัณฑะนั่งคิดว่า ถ้าเราถามปัญหากับพระพุทธเจ้า แล้วท่านตอบกลับว่าคำถามนี้ไม่ควรถาม ควรถามอย่างนั้นอย่างนี้ หรือถ้าท่านถามเรามา แล้วเราตอบไม่ได้ พรรคพวกก็จะดูหมิ่นว่าเราโง่เขลาได้ เมื่อนั้น พระพุทธเจ้าพอจะทราบความกังวลของพราหมณ์โสณทัณฑะอยู่ จึงถามขึ้นก่อนว่า]

พ:  พราหมณ์ บุคคลจะต้องมีคุณลักษณะอย่างไร จึงได้ชื่อว่าเป็นพราหมณ์?

ส:  ท่านพระโคดม บุคคลผู้ได้ชื่อว่าพราหมณ์นั้น

1. เกิดจากพ่อแม่ที่อยู่ในชาติตระกูลดี   2. ท่องจำมนต์และคัมภีร์ได้หมด   3. มีรูปงาม ผิวพรรณคล้ายพรหม  4. มีศีล   5. มีปัญญา

พ:  ใน 5 ข้อนี้ ถ้าขาดข้อใดข้อหนึ่ง จะยังได้ชื่อว่าเป็นพราหมณ์อยู่ไหม?

ส:  ขาดข้อ 3 เรื่องรูปงามคล้ายพรหม ก็ยังได้ชื่อว่าพราหมณ์อยู่ เพราะคนรูปงามอาจมีการกระทำที่ดีหรือไม่ดีก็ได้

พ:  ใน 4 ข้อที่เหลือนี้ ถ้าขาดข้อใดข้อหนึ่ง จะยังได้ชื่อว่าเป็นพราหมณ์อยู่ไหม?

ส:  ขาดข้อ 2 เรื่องท่องมนต์และคัมภีร์ ก็ยังได้ชื่อว่าพราหมณ์อยู่ เพราะผู้ท่องมนต์ได้อาจมีการกระทำที่ดีหรือไม่ดีก็ได้

พ:  ใน 3 ข้อที่เหลือนี้ ถ้าขาดข้อใดข้อหนึ่ง จะยังได้ชื่อว่าเป็นพราหมณ์อยู่ไหม?

ส:  ขาดข้อ 1 เรื่องชาติกำเนิด ก็ยังได้ชื่อว่าพราหมณ์อยู่ เพราะผู้มีชาติกำเนิดดีอาจมีการกระทำที่ดีหรือไม่ดีก็ได้,   บุคคลจะได้ชื่อว่าพราหมณ์ก็ด้วยความเป็นผู้มีศีลและปัญญา.

[พอเหล่าพราหมณ์ที่ไปด้วยได้ยินดังนี้ ก็ทักท้วงว่า]

หมู่พราหมณ์:  ท่านโสณทัณฑะอย่าพูดอย่างนี้เลย ท่านลบหลู่วรรณะ ลบหลู่มนต์ ลบหลู่ชาติกำเนิด เอาแต่คล้อยตามคำของพระสมณโคดมอย่างเดียว

พ:  ถ้าพวกท่านคิดว่า พราหมณ์โสณทัณฑะพูดไม่ถูก ไม่มีปัญญาโต้ตอบกับเรา พวกท่านก็จงมาพูดกับเราแทน แต่ถ้าคิดว่าพราหมณ์โสณทัณฑะมีปัญญา พวกท่านก็จงหยุดเสีย ปล่อยให้พราหมณ์โสณทัณฑะได้พูดคุยกับเรา

ส:  ท่านพระโคดม ขอให้ข้าพระองค์ได้ตอบโต้พวกเขาเองเถิด,  ท่านทั้งหลาย ท่านอย่ากล่าวหาข้าอย่างนั้นเลย ข้าไม่ได้ลบหลู่วรรณะ ชาติกำเนิด หรือมนต์คัมภีร์เลย,  พวกท่านเห็นอังคกมาณพ หลานของข้าหรือไม่

อังคกมาณพเป็นคนรูปงาม ผิวพรรณคล้ายพรหม ในหมู่พวกเราที่นี้ นอกจากพระสมณโคดมแล้ว ไม่มีใครมีวรรณะเสมออังคกมาณพเลย นอกจากนี้ ยังท่องจำมนต์และคัมภีร์ได้หมด มีชาติกำเนิดที่ดีทั้งในส่วนของพ่อและแม่

แต่อังคกมาณพยังฆ่าสัตว์ ขโมยของ คบหาภรรยาผู้อื่น พูดเท็จ และดื่มน้ำเมา แม้จะท่องมนต์ได้ และมีวรรณะชาติกำเนิดที่ดีก็ตาม

พ:  ใน 2 ข้อคือศีลและปัญญานี้ ถ้าขาดข้อใดข้อหนึ่ง จะยังได้ชื่อว่าเป็นพราหมณ์อยู่ไหม?

ส:  ไม่ได้ท่าน เพราะศีลจะทำให้เกิดปัญญา ปัญญาจะทำให้ศีลบริสุทธิ์ ใครมีศีลก็จะมีปัญญา ใครมีปัญญาก็จะมีศีล ศีลและปัญญาเป็นยอดในโลก

พ:  เป็นเช่นนั้น,  พราหมณ์ ศีลนั้นเป็นอย่างไร? ปัญญานั้นเป็นอย่างไร?

ส:  ข้าฯมีความรู้เรื่องนี้เพียงเท่านี้ ขอท่านได้อธิบายให้กระจ่างด้วยเถิด

พ:  ถ้าอย่างนั้น ท่านจงตั้งใจฟังให้ดี เราจะพูดให้ฟัง  (...เนื้อหาสาระจะสอดคล้องกับในสามัญญผลสูตร* ว่าด้วยศีล ฌาณ 4 และวิชชา 8...)

ส:  คำสอนของท่านแจ่มแจ้งมาก เหมือนหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง หรือส่องแสงในที่มืด ข้าฯขอถือท่าน คำสอนของท่าน และพระสงฆ์ที่ปฏิบัติตามคำสอนของท่านเป็นที่พึ่ง (สรณะ) ขอท่านโปรดจำข้าฯว่า เป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตราบจนลมหายใจสุดท้าย

[รุ่งเช้า พระพุทธเจ้าได้มาที่บ้านของพราหมณ์โสณทัณฑะเพื่อรับบิณฑบาตตามที่ได้รับนิมนต์ไว้ โดยเมื่อฉันเสร็จ พราหมณ์โสณทัณฑะได้พูดกับพระพุทธเจ้าว่า]

ส: ท่านพระโคดม ถ้าข้าฯกำลังอยู่ท่ามกลางหมู่คนเช่นนี้ ข้าฯจะลุกขึ้นกราบไหว้ท่านไม่ได้ เพราะจะถูกคนดูหมิ่นได้ ซึ่งถ้าคนดูหมิ่นข้าฯแล้ว ยศลาภสมบัติที่ข้าฯได้ก็อาจจะเสื่อมลงไปได้

ต่อหน้าคน ข้าฯจะทำแค่พนมมือ แทนการลุกขึ้นกราบไหว้ ขอให้ท่านได้เข้าใจว่านี่คือการแทนการลุกขึ้นกราบไหว้ของข้าฯ

เช่นเดียวกัน ถ้าข้าฯกำลังเดินทางอยู่บนรถแล้วได้พบกับท่าน ข้าฯไม่สามารถลงจากรถแล้วมากราบไหว้ท่านได้ แต่ข้าฯจะหุบร่มลงแทน ขอให้ท่านเข้าใจว่านี่คือการก้มศีรษะแสดงความเคารพแก่ท่าน เพื่อไม่ให้ข้าฯโดนคนอื่นดูหมิ่นเอา

[จากนั้น พระพุทธเจ้าได้สนทนาธรรมกับพราหมณ์โสณทัณฑะอีกเล็กน้อย และลุกกลับไป]

_______

ที่มา:  เรียบเรียงจากพระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย เล่มที่ 12 (พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค ภาค 1 เล่ม 2 โสณทัณฑสูตร), 2559, น.1-16

*ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 👉 ผลดีของการบวชเป็นสมณะ (ตอน 1) , (ตอน 2) ,  (ตอน 3)  

อาหารมื้อสุดท้ายของพระพุทธเจ้า,  คืนสุดท้ายของพระพุทธเจ้า , บิณฑบาตที่มีอานิสงส์ใหญ่ 2 คราว , ใครที่ได้มาสังเวชนียสถานด้วยจิตเลื่อมใส เมื่อตายไปจะเข้าถึงสุคติ , วิธีปฏิบัติต่อสตรีและพระพุทธสรีระ , สอนพระอานนท์เป็นครั้งสุดท้าย , ชื่นชมพระอานนท์ , ควรเปิดใจรับฟังคำว่ากล่าวตักเตือนได้ , ยังไม่มีผู้ที่สงบจากบาปกิเลสได้ด้วยหลักคำสอนอื่นนอกพุทธศาสนานี้ , ธรรมสังเวช , คำพูดสุดท้ายของพระพุทธเจ้า , ลมหายใจเข้าออกของพระพุทธเจ้าผู้สงบตั้งมั่น ไม่มีแล้ว , ช่วงเวลาถวายพระเพลิงพระสรีระของพระพุทธเจ้า , การแบ่งพระสารีริกธาตุ (อัฐิของพระพุทธเจ้า)  ,  ทำไมพระพุทธเจ้าจึงเลือกปรินิพพานที่กุสินารา , 62 ความเห็นที่เปรียบดังตาข่ายคลุมให้ติดอยู่กับการเวียนว่าย ,  สิ่งอัศจรรย์เดียวที่พระพุทธเจ้ายกย่องคือ คำสอนที่ปฏิบัติแล้วเห็นผลพ้นทุกข์ได้จริง



"พระพุทธกิติสิริชัย" จ.ประจวบคีรีขันธ์

ที่ วัดทางสาย อ.บางสะพาน เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ พระพักตร์เปี่ยมเมตตา และริ้วจีวรสวยงามแบบศิลปะคันธารราษฎร์ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปปางแรกในโลก ที่สร้างขึ้นบูชาแทนองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
Previous Post
Next Post

0 comments: