วันจันทร์ที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2565

เพราะอาศัยอำนาจประโยชน์ ๕ ประการ คือ

เพราะอาศัยอำนาจประโยชน์ ๕ ประการ คือ

๑. ความกำหนัดอย่าเกิดขึ้นแก่เรา  ๒. ความขัดเคืองอย่าเกิดขึ้นแก่เรา  

๓. ความหลงอย่าเกิดขึ้นแก่เรา  ๔. เป็นผู้มีเมตตากรุณาและมุทิตาต่อผู้อื่น

๕. เป็นผู้มีอุเบกขาคือดำรงตนอยู่ในสภาวะที่เป็นกลางในสัตว์และสังขารทั้งปวง

เพราะนั้น ภิกษุจึงทำสัญญา คือความจำได้หมายรู้ หรือความกำหนดหมายในอารมณ์ ๖ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธรรมารมณ์ ทั้งที่เป็นอิฏฐารมณ์ (อารมณ์ที่น่าปรารถนา) และที่เป็นอนิฏฐารมณ์ (อารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนา) โดยอาการ ๕ ประการเหล่านี้ คือ

๑. ภิกษุพึงมีสัญญาว่า “ปฏิกูล” ในสิ่งไม่ปฏิกูล ตามกาลอันควร 

หมายถึง มีความกำหนดหมายในอารมณ์ ๖ คือรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธรรมารมณ์ ที่น่าปรารถนาว่า “เป็นสิ่งไม่งาม” หรือพิจารณาเห็นว่า “เป็นสิ่งไม่เที่ยง” เพื่อมิให้ราคะคือความกำหนัดเกิดขึ้นแก่ตน

๒. ภิกษุพึงมีสัญญาว่า “ไม่ปฏิกูล” ในสิ่งปฏิกูล ตามกาลอันควร 

หมายถึง มีความกำหนดหมายในอารมณ์ ๖ คือรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธรรมารมณ์ แม้ที่ไม่น่าปรารถนาว่า “เป็นสิ่งที่ควรแผ่เมตตา” หรือพิจารณาเห็นว่า “เป็นเพียงธาตุ ๔” เพื่อมิให้โทสะคือความโกรธเกิดขึ้นแก่ตน

๓. ภิกษุพึงมีสัญญาว่า “ปฏิกูล” ในสิ่งไม่ปฏิกูลและสิ่งปฏิกูล ตามกาลอันควร 

หมายถึง มีความกำหนดหมายในอารมณ์ ๖ คือรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธรรมารมณ์ ที่น่าปรารถนาก็ดี ที่ไม่น่าปรารถนาก็ดีว่า “เป็นสิ่งไม่งาม” หรือพิจารณาเห็นว่า “เป็นสิ่งไม่เที่ยง” เพื่อมิให้ราคะคือความกำหนัดเกิดขึ้นแก่ตน หรือเพื่อมิโทสะะคือความโกรธเกิดขึ้นแก่ตน

๔. ภิกษุพึงมีสัญญาว่า “ไม่ปฏิกูล” ในสิ่งปฏิกูลและสิ่งไม่ปฏิกูล ตามกาลอันควร 

หมายถึง มีความกำหนดหมายในอารมณ์ ๖ คือรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธรรมารมณ์ แม้ที่น่าปรารถนาก็ดี ที่ไม่น่าปรารถนาก็ดีว่า “เป็นสิ่งที่ควรแผ่เมตตา” หรือพิจารณาเห็นว่า “เป็นเพียงธาตุ ๔” เพื่อมิให้โทสะคือความโกรธเกิดขึ้นแก่ตน หรือเพื่อมิให้ราคะคือความกำหนัดเกิดขึ้นแก่ตน

๕. ภิกษุพึงเว้นสิ่งทั้งสองนั้น คือสิ่งไม่ปฏิกูลและสิ่งปฏิกูลแล้ว เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะอยู่ ตามกาลอันควร 

หมายถึง ดำรงอยู่ในสภาวะที่เป็นกลาง กล่าวคือมีปกติภาวะที่บริสุทธิ์ ไม่ดีใจ ไม่เสียใจ ในอารมณ์ทั้ง ๖ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธรรมารมณ์ ทั้งที่เป็นอิฏฐารมณ์ (อารมณ์ที่น่าปรารถนา) และที่เป็นอนิฏฐารมณ์ (อารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนา)  เพื่อมิให้ความกำหนัดในธรรมที่เป็นเหตุให้กำหนัดในอารมณ์ไหนๆ ในส่วนไหนๆ แม้มีประมาณน้อยเกิดขึ้นแก่ตน และเพื่อมิให้ความขัดเคืองในธรรมที่เป็นเหตุให้ขัดเคือง ในอารมณ์ไหนๆ ในส่วนไหนๆ แม้มีประมาณน้อยเกิดขึ้นแก่ตน และเพื่อมิให้ความหลงในธรรมที่เป็นเหตุให้หลง ในอารมณ์ไหนๆ ในส่วนไหนๆ แม้มีประมาณน้อยเกิดขึ้นแก่ตน ดังนี้แล.

สาระธรรมจากติกัณฑกีสูตร ในปัญจกนิบาต อังคุตตรนิกาย

พระมหาวัชระ เชยรัมย์ (ติกฺขญาโณ) วัดสามพระยา กรุงเทพฯ




Previous Post
Next Post

0 comments: