การบูชาที่ให้อานิสงส์มากตามลำดับ
[ณ สวนอัมพลัฏฐิกา ใกล้บ้านขานุมัตตะ แคว้นมคธ พราหมณ์กูฏทันตะ (พราหมณ์ฟันเหยิน) พร้อมหมู่พราหมณ์และคฤหบดีจากบ้านขานุมัตตะจำนวนมากได้เข้าไปพบพระพุทธเจ้าแม้จะมีบางเสียงค้านว่าให้พระพุทธเจ้าเป็นฝ่ายมาหาดีกว่าจะได้ไม่เสียเกียรติก็ตาม เมื่อคณะไปถึงแล้ว บ้างก็ไหว้ บ้างก็นิ่งเฉย ขณะนั้นพราหมณ์กูฏทันตะซึ่งกำลังเตรียมบูชามหายัญ (การบูชาเทพเจ้าครั้งใหญ่เพื่อให้ได้สิ่งที่ปรารถนา) ด้วยโค แพะ และแกะหลายพันตัว ได้ถามพระพุทธเจ้าว่า]
ก: ข้าพระองค์ได้ยินว่าท่านทราบวิธีการบูชามหายัญ ซึ่งข้าฯไม่ทราบว่าจะทำอย่างไร ขอได้โปรดอธิบายให้ฟังด้วยเถิด
พ: ถ้าเช่นนั้นท่านจงตั้งใจฟังให้ดี, เรื่องเคยมีมาแล้ว ในอดีต พระเจ้ามหาวิชิตราชเป็นกษัตริย์ผู้มั่งคั่ง มีความคิดว่าเรามีสมบัติมหาศาล ปกครองดินแดนมากมาย เราควรจะทำพิธีบูชามหายัญเพื่อประโยชน์แก่ตัวเราให้ยิ่งขึ้นไป, พระเจ้ามหาวิชิตราชจึงเรียกพราหมณ์ปุโรหิตมาให้แนะนำวิธีบูชามหายัญ
พราหมณ์นั้นตอบว่า บ้านเมืองของท่านยังไม่สงบ มีปล้นจี้ชิงทรัพย์กันอยู่ ท่านควรจะปราบโจรพวกนี้ก่อน แต่วิธีปราบ ไม่ใช่ด้วยการประหาร จองจำ หรือเนรเทศ
ท่านควรใช้วิธีว่า ถ้าใครขยันทำเกษตร ท่านจงเพิ่มเมล็ดพันธุ์ให้เขา ถ้าใครขยันค้าขาย ท่านจงเพิ่มทุนให้เขา ถ้าใครขยันทำราชการ ท่านจงเพิ่มเบี้ยเลี้ยงเงินเดือนให้เขา พลเมืองเหล่านี้จะขยันทำงานของตน ทำให้บ้านเมืองสงบสุข ท่านเองก็จะมีทรัพย์สมบัติเพิ่มขึ้นอีก
หลังจากพระราชาได้ทำตาม บ้านเมืองสงบสุข พระราชาก็เรียกพราหมณ์มาถามวิธีบูชามหายัญอีก, พราหมณ์ก็แนะนำว่า ขอให้ท่านเรียกเจ้าผู้ครองนครต่างๆ อำมาตย์ราชบริพาร พราหมณ์ และคฤหบดีที่อยู่ในเขตของท่านมา แล้วปรึกษาว่าท่านจะทำพิธีบูชามหายัญ ขอให้ทุกคนมาร่วมมือกัน โดยหลังจากที่เรียกมาคุยแล้ว ทุกคนก็เห็นชอบด้วย
สำหรับคุณสมบัติของเจ้าของพิธีบูชาและผู้ทำพิธีนั้น ในส่วนของตัวพระราชาเองซึ่งเป็นเจ้าของพิธีก็เกิดจากพ่อแม่ที่อยู่ในชาติตระกูลดี มีรูปงาม ผิวพรรณคล้ายพรหม มีสมบัติมั่งคั่ง มีกำลังอำนาจ มีศรัทธาในการให้ทาน ใฝ่ศึกษา มีความเข้าใจในเรื่องที่ศึกษา และมีปัญญา
ในขณะที่ตัวพราหมณ์ที่จะเป็นผู้ทำพิธีบูชาเองก็เกิดจากพ่อแม่ที่อยู่ในชาติตระกูลดี ท่องจำมนต์และคัมภีร์ได้หมด มีศีล และมีปัญญา
ต่อจากนั้น พราหมณ์ปุโรหิตได้กล่าวกับพระราชาว่าก่อนการบูชา
1. ไม่ควรคิดร้อนใจว่าสมบัติเราจะหมดเปลืองไป 2. ไม่ควรคิดร้อนใจว่าสมบัติเรากำลังหมดไป 3. ไม่ควรคิดร้อนใจว่าสมบัติเราได้หมดไปแล้ว
ในส่วนของข้อกังวลเรื่องผู้ที่จะมารับทานซึ่งจะมีทั้งคนดีและไม่ดีนั้น ขอให้ทำใจให้ผ่องใส นึกถึงแต่ผู้ที่มีศีล ไม่มีจิตพยาบาท และมีสัมมาทิฏฐิ สำหรับผู้ที่ไม่มีศีล จิตพยาบาท และมีมิจฉาทิฏฐินั้น เขาจะได้รับผลจากกรรมของเขาเอง
ในการบูชานี้ ไม่ต้องฆ่าโค แพะ แกะ ไก่ หมู และสัตว์อื่นๆ ไม่ต้องตัดต้นไม้มาทำหลักยัญ ไม่ต้องทำให้ใครเดือดร้อน แม้แต่ทาส กรรมกร คนรับใช้ ไม่มีการบังคับกะเกณฑ์ ให้เป็นไปตามความสมัครใจ
ลำดับนั้น บรรดาเจ้าผู้ครองนครต่างๆ อำมาตย์ราชบริพาร พราหมณ์ และคฤหบดีที่อยู่ในเขตของพระเจ้ามหาวิชิตราชต่างนำทรัพย์มาให้เพื่อให้ไปบริจาคต่อ แต่พระเจ้ามหาวิชิตราชไม่ได้รับ พร้อมพูดว่า ตนมีทรัพย์มากอยู่แล้วจากภาษีของพวกท่าน ขอให้ท่านเก็บทรัพย์เหล่านี้ไว้เถิด และยังให้เพิ่มไปอีกด้วย ผู้คนเหล่านี้จึงนำทรัพย์เหล่านั้นไปทำทานต่อไป
[หลังจากพระพุทธเจ้าเล่าจบ ก็มีเสียงชื่นชมจากเหล่าพราหมณ์ แต่ตัวพราหมณ์กูฏทันตะกลับนิ่งอยู่ คิดในใจว่าพระสมณโคดมนี้จะต้องเป็นพระเจ้ามหาวิชิตราช หรือไม่ก็พราหมณ์ปุโรหิตแน่นอน จากนั้นพราหมณ์กูฏทันตะได้ถามพระพุทธเจ้าว่า]
ก: ท่านพระโคดมทราบไหมว่า ผู้บูชายัญ (พระเจ้ามหาวิชิตราช) หรือผู้ทำพิธีบูชายัญ (พราหมณ์ปุโรหิต) นั้น หลังจากตายไปแล้ว ได้เข้าสู่สุคติโลกสวรรค์หรือไม่
พ: เราทราบ ทั้งสองนั้น ได้เข้าสู่สุคติโลกสวรรค์, สมัยนั้น เราคือพราหมณ์ปุโรหิตนั่นเอง
ก: ท่านพระโคดม มีการบูชาวิธีอื่นที่ใช้เงินน้อยกว่านี้ ไม่ต้องเตรียมการมาก แต่มีผลและอานิสงส์มากกว่านี้ไหม?
พ: มี นั่นคือการทำทานแก่บรรพชิตผู้มีศีล
[จากนั้น พราหมณ์กูฏทันตะได้ถามว่า ยังมีการบูชาอะไรที่ให้ผลมากกว่านี้อีกหรือไม่ ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ตอบเป็นลำดับขั้นไป]
พ: มี คือ การสร้างวัดแก่พระสงฆ์ , การที่บุคคลมีจิตเลื่อมใสในพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ และยึดถือเป็นที่พึ่ง (สรณะ) , การที่บุคคลถือศีล 5 , การที่ภิกษุบรรลุฌาน 4 และวิชชา 8 (...เนื้อหาสาระจะสอดคล้องกับในสามัญญผลสูตร* ว่าด้วยศีล ฌาณ 4 และวิชชา 8...)
ก: คำสอนของท่านแจ่มแจ้งมาก เหมือนหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง หรือส่องแสงในที่มืด ข้าฯขอถือท่าน คำสอนของท่าน และพระสงฆ์ที่ปฏิบัติตามคำสอนของท่านเป็นที่พึ่ง ขอท่านโปรดจำข้าฯว่า เป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตราบจนลมหายใจสุดท้าย
ข้าฯจะปล่อยโค แพะ แกะ ให้ชีวิตแก่สัตว์เหล่านั้น ขอสัตว์เหล่านั้นจงได้กินหญ้าเขียวสด ได้ดื่มน้ำเย็น ขอลมเย็นจงพัดผ่านสัตว์เหล่านั้นเถิด
________
ที่มา: เรียบเรียงจากพระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย เล่มที่ 12 (พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค ภาค 1 เล่ม 2 กูฏทันตสูตร), 2559, น.37-66
*ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 👉 ผลดีของการบวชเป็นสมณะ (ตอน 1) , (ตอน 2) , (ตอน 3)
อาหารมื้อสุดท้ายของพระพุทธเจ้า, คืนสุดท้ายของพระพุทธเจ้า , บิณฑบาตที่มีอานิสงส์ใหญ่ 2 คราว , ใครที่ได้มาสังเวชนียสถานด้วยจิตเลื่อมใส เมื่อตายไปจะเข้าถึงสุคติ , วิธีปฏิบัติต่อสตรีและพระพุทธสรีระ , สอนพระอานนท์เป็นครั้งสุดท้าย , ชื่นชมพระอานนท์ , ควรเปิดใจรับฟังคำว่ากล่าวตักเตือนได้ , ยังไม่มีผู้ที่สงบจากบาปกิเลสได้ด้วยหลักคำสอนอื่นนอกพุทธศาสนานี้ , ธรรมสังเวช , คำพูดสุดท้ายของพระพุทธเจ้า , ลมหายใจเข้าออกของพระพุทธเจ้าผู้สงบตั้งมั่น ไม่มีแล้ว , ช่วงเวลาถวายพระเพลิงพระสรีระของพระพุทธเจ้า , การแบ่งพระสารีริกธาตุ (อัฐิของพระพุทธเจ้า) , ทำไมพระพุทธเจ้าจึงเลือกปรินิพพานที่กุสินารา , 62 ความเห็นที่เปรียบดังตาข่ายคลุมให้ติดอยู่กับการเวียนว่าย , สิ่งอัศจรรย์เดียวที่พระพุทธเจ้ายกย่องคือ คำสอนที่ปฏิบัติแล้วเห็นผลพ้นทุกข์ได้จริง , ชื่อว่า ‘พราหมณ์’ เพราะศีลและปัญญา หาใช่วรรณะและชาติตระกูล
"วัดใหญ่ชัยมงคล" จ.พระนครศรีอยุธยา
ไหว้พระวัดใหญ่ชัยมงคล มีเจดีย์ที่สูงที่สุดในอยุธยา สมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงทำศึกยุทธหัตถีชนะ ประดิษฐานพระพุทธชัยมงคล พระประธานศักดิ์สิทธิ์ของวัด และพระพุทธไสยาสน์องค์ใหญ่
0 comments: