ภาพวาดพุทธประวัติ 25 ช้างกับลิง เป็นพุทธอุปัฏฐาก
ภาพที่เห็นนี้เป็นภาพเหตุการณ์ตอนหนึ่งในพระประวัติของพระพุทธเจ้า เป็นตอนที่พระพุทธเจ้าเสด็จไปจำพรรษาในป่าโดยลำพังพระองค์ ไม่มีพระภิกษุหรือใครอื่นตามเสด็จไปจำพรรษาอยู่ด้วยเลย. ป่าที่พระพุทธเจ้าเสด็จไปจำพรรษาครั้งนี้เป็นป่าใหญ่ เป็นที่อยู่อาศัยของช้างโทนเชือกหนึ่ง ชื่อว่า 'ปาลิไลยกะ' หรือ 'ปาลิไลยก์' ป่าแห่งนี้จึงได้นามตามช้างนี้ว่า 'ป่าปาลิไลยก์' คนไทยเราเรียกว่า 'ป่าปาเลไล' อันเดียวกันนั่นเอง. มูลเหตุที่พระพุทธเจ้าเสด็จไปจำพรรษาที่ป่าแห่งนี้ เพราะทรงรำคาญพระภิกษุชาวเมืองโกสัมพีสองคณะพิพาทและแตกสามัคคีกัน ถึงกับไม่ยอมลงโบสถ์ร่วมกัน พระพุทธเจ้าทรงทราบเข้า ได้เสด็จมา ทรงระงับให้ปรองดองกัน แต่พระภิษุทั้งสองคณะก็ไม่เชื่อฟัง พระพุทธเจ้าจึงเสด็จหลีกไปจำพรรษาอยู่ในดังกล่าว. ด้วยอำนาจพุทธบารมีและพระเมตตาของพระพุทธเจ้า ช้างชื่อปาลิไลยก์ได้เข้ามาอุปัฏฐากพระพุทธเจ้า เช้าขึ้นหาผลไม้ในป่ามาถวาย ตอนเย็นต้มน้ำร้อนถวายพระพุทธเจ้าด้วยวิธีกลิ้งก้อนหินที่เผาไฟให้ร้อนลงในแอ่งน้ำ
ลิงตัวหนึ่งเห็นช้างปรนนิบัติถวายพระพุทธเจ้า ก็ได้นำรวงผึ้งมาถวายพระพุทธเจ้าบ้าง พระพุทธเจ้าทรงรับแต่ไม่ทรงฉัน ลิงจึงเข้าไปนำรวงผึ้งกลับมาพิจารณาดู เมื่อเห็นตัวอ่อนของผึ้ง จึงนำตัวอ่อนออกหมดแล้วนำแต่ผึ้งหวานเข้าไปถวายใหม่ คราวนี้พระพุทธเจ้าทรงรับแล้วฉัน ลิงแอบดูอยู่บนต้นไม้ เห็นพระพุทธเจ้าทรงฉันรวงผึ้งของตน ก็ดีใจ กระโดดโลดเต้นบนกิ่งไม้ จนพลัดตกลงมาถูกตอไม้แหลมเสียบท้องทะลุตาย. เมื่อออกพรรษา พระภิกษุที่แตกกันเป็นสองฝ่ายยอมสามัคคีกัน เพราะชาวบ้านไม่ยอมทำบุญใส่บาตรให้ ได้ส่งผู้แทนไปกราบทูลพระพุทธเจ้าเสด็จกลับเข้าเมือง ช้างปาลิไลยก์อาลัยพระพุทธเจ้านักหนา
เดินตามพระพุทธเจ้าออกจากป่า ทำท่าจะตามเข้าไปในเมืองด้วย พระพุทธเจ้าจึงทรงหันไปตรัสบอกช้างว่า "ปาลิไลยก์! ถิ่นของเธอหมดแค่นี้ แต่นี้ไปเป็นถิ่นที่อยู่ของมนุษย์ ซึ่งเป็นภัยต่อสัตว์เดรัจฉานเช่นเธอ เธอไปด้วยไม่ได้หรอก" ช้างปาลิไลยก์ยืนร้องไห้เสียใจไม่กล้าเดินตามพระพุทธเจ้า พอพระพุทธเจ้าลับสายตาก็เลยอกแตกตายอยู่ ณ ที่นั้น คัมภีร์บอกว่าทั้งลิงและช้างตายแล้วไปเกิดเป็นเทพบุตร
ภาพวาดพุทธประวัติ 26 พระพิมพาพิลาปรำพันถึงพระพุทธองค์ เสด็จพุทธดำเนินไปโปรดถึงในปราสาท
ภาพที่เห็นอยู่นั้น เป็นตอนที่พระพุทธเจ้าเสด็จไปโปรดพระนางพิมพายโสธรา ผู้เคยเป็นพระชายา เมื่อสมัยพระพุทธเจ้ายังทรงเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ คือเมื่อยังไม่ได้เสด็จออกบวช. วันที่พระพุทธเจ้าเสด็จไปโปรดพระนางพิมพานี้ เป็นวันเดียวกับที่เสด็จไปทรงภัตตาหารในพระราชนิเวศน์ของพระเจ้าสุทโธทนะพุทธบิดา ดังได้บรรยายไว้แล้ว สถานที่เสด็จไปโปรดพระนางพิมพา คือ ปราสาทที่ประทับของพระนางนั่งเอง ผู้ที่ตามเสด็จพระพุทธเจ้ามาในการนี้ มีพระสารีบุตร พระโมคคัลลานะ ผู้สองอัครสาวก และพระเจ้าสุทโธทนะ. พระนางพิมพาทรงเศร้าโศกเสียพระทัย ตั้งแต่สมัยพระพุทธเจ้าเสด็จออกบวชเป็นต้นมา ด้วยเข้าพระทัยว่า พระนางถูกพระพุทธเจ้าทรงทอดทิ้ง ยิ่งเมื่อทราบว่าพระพุทธเจ้าเสด็จมาเมืองกบิลพัสดุ์ ครั้งนี้ ความเสียพระทัยยิ่งมีมากขึ้น ขนาดพระเจ้าสุทโธทนะรับสั่งให้มาเฝ้าพระพุทธเจ้า พระนางยังเสด็จ มาไม่ได้ แม้พระพุทธเจ้าจะเสด็จมาถึงปราสาทที่ประทับของพระนางแล้ว พระนางยังเสด็จดำเนินมาเอง ไม่ได้ พระนางก็ล้มฟุบลง กลิ้งเกลือกพระเศียรลงเหนือพระบาทพระพุทธเจ้า แล้วพิลาปรำพันกันแสงแทบ สิ้นสมปฤดี
พระเจ้าสุทโธทนะทูลพระพุทธเจ้าถึงความดีของพระนางพิมพาว่า เป็นสตรีที่จงรักภักดีต่อพระพุทธเจ้า ไม่เคยแปรพระทัยเป็นอื่นเลยตลอดเวลาที่พระพุทธเจ้าเสด็จจากไป พระพุทธเจ้าตรัสสนอง พระดำรัสของพุทธบิดาว่า พระนางพิมพาจะได้ทรงซื่อสัตย์จงรักภักดีต่อพระองค์แต่เฉพาะในชาตินี้ก็หาไม่ แม้ในอดีตชาติหนหลังอีกหลายชาติ พระนางก็เป็นคู่ทุกข์คู่ยากผู้ซื่อสัตย์ของพระองค์ตลอดมา แล้วพระพุทธเจ้าตรัสชาดกอีกเป็นอันมากให้พระพุทธบิดา และพระนางพิมพาฟัง. พระนางฟังแล้ว ทรงสร่างโศกและคลายความเสียพระทัย ทรงเกิดปีติโสมนัสในพระธรรม. เทศนาของพระพุทธเจ้าเป็นอย่างยิ่ง เมื่อพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมจบลง พระนางพิมพายโสธรา ก็ได้ทรงบรรลุพระโสดาบัน หรือโสดาปัตติผล
* เมื่อสมเด็จพระบรมศาสดาจารย์และพระอริยสงฆ์เสร็จภัตกิจแล้ว จึงหมู่นางพระสนมทั้งปวงมีพระมหาปชาบดีเป็นประธาน ก็พากันมาถวายนมัสการด้วยความเลื่อมใสศรัทธา เว้นแต่สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงพิมพาราชเทวี มิได้เข้ามาเฝ้ากับเขาทั้งหลายในขณะนี้เพียงแต่มีเสาวนีย์สั่งมาว่า "อันตัวพิมพานี้ ถ้ามีความชอบอยู่บ้าง แม้นว่าสมเด็จพระสัพพัญญูเสด็จมาสู่สำนัก จึงจักได้ถวายวันทนาการพระยุคลบาทต่อภายหลัง" ดังนี้.
สมเด็จพระเจ้าสิริสุทโธทนะจอมชนแห่งกบิลพัสดุ์บุรี ทรงเห็นเป็นโอกาสดีเลิศประเสริฐแล้ว จึงกราบทูลแถลงคุณสมบัติแห่งนางกษัตริย์ศรีสุณิสา แด่สมเด็จพระสัพพัญญูเจ้าว่า "ข้าแต่พระบรมครูแห่งนิกรสัตวโลก อันเจ้าพิมพาศรีสุณิสาแห่งบิดานี้ จำเดิมแต่วิปโยคพลัดพรากจากพระองค์ ตั้งแต่วันที่เสด็จออกเพื่อทรงบรรพชากระทำทุกกรกิริยาแสวงหาวิมุตติธรรม เจ้าจะนั่งนอนเดินยืนอยู่ในที่ใดๆก็ไม่มีอารมณ์เป็นสุข มีแต่ทุกข์เศร้าโศกทุก เพลาเช้าเย็นแลราตรีมิได้ขาด ยามเมื่อเข้าห้องสิริไสยาสน์เห็นเศวตฉัตรอันกางกั้นรัตนบัลลังก์ ก็ตั้งหน้าแต่ร้องร่ำกำสรดโศกถึงพระองค์มิเว้นวาย เมื่อได้สดับข่าวว่าทรงนุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ ก็ปฏิบัตินุ่งห่มผ้า ย้อมน้ำฝาดบ้าง ทั้งนี้เมื่อแจ้งว่าทรงเว้นจากสุคันธวิเลปนมาลาก็มิได้ลูบไล้กายาด้วยจุณสุคนธ์ มิได้ประดับตนทัดทรงบุปผชาติ เมื่อขัตติยประยูรญาติส่งข่าวสารมาว่า จะรับไปบำรุงเลี้ยงรักษาปฏิบัติ ก็มิได้เล็งแลดูหมู่กษัตริย์ราชวงศ์องค์ใด ตั้งใจจงรักภักดีมีสัตย์ซื่อเสน่หาเฉพาะพระองค์ดำรงหฤทัยสุจริต จะได้คิดแปรปรวนไปแต่ในสิ่งใดอื่นมิได้มีเป็นแท้ แลพิมพาศรีสุณิสาแห่งบิดานี้ เจ้าเป็นหญิงกอบด้วยคุณอดุลประเสริฐเลิศกว่าอเนกนิกรกัญญา ควรที่จักกล่าวพรรณนาอีกมากมายสุดประมาณ”
เมื่อสมเด็จพระชินสีหเจ้า ได้ทรงเสาวนาการคุณแห่งเจ้าหญิงพิมพาที่พระพุทธบิดาพรรณนามาฉะนี้ จึงทรงมีพระพุทธฎีกาดำรัสว่า “ ดูกรมหาบพิตรพระราชสมภาร การที่ว่าเจ้าพิมพาราชเทวีมีจิตสนิทเสน่หาสวามิภักดิ์ในตถาคต ซึ่งปรากฏมีในกาลบัดนี้นั้น มิสู้จะอัศจรรย์ ในอดีตกาลเมื่อบังเกิดในกำเนิดแห่งสัตว์เดียรฉาน เจ้าพิมพานี้ก็มีจิตสุจริตเสน่หาในตถาคตมั่นคงบ่มิได้กัมปนาท ประหนึ่งสิเนรุราชบรรพตปรากฏในสกลโลกธาตุ บริจาคชีวิตให้เป็นทานแก่ตถาคตเป็นมหัศจรรย์ "
สมเด็จพระบรมศาสดาสัพพัญญูเจ้า ดำรัสดั่งนี้แล้ว ก็ทรงมีพระมหากรุณาเผยพระโอษฐ์โปรดประทานพระสัทธรรมเทศนาจันทกินรีชาดกโดยพิสดาร เพื่อประหารเสียซึ่งโศกาดูรเทวษแห่งพระพิมพาราชเทวี ให้ระงับด้วยสิโตทกวารีคือมธุรธรรมกถา ส่วนว่าสมเด็จพระนางพิมพาราชกัญญาเจ้า เฝ้าทอดทัศนาการพระพักตร์มณฑลแห่งสมเด็จพระทศพลพลางสดับอมฤตรสบทพระธรรมอันวิจิตรไพเราะลึกซึ้งเป็นนิรันดร์ ดุจกระแสสายสินธุ์คงคาที่หลั่งไหลมามิรู้ขาด แล้วพระนางก็ยังประสาทปีติให้บังเกิดในพระกมลสันดาน ด้วยจินตนาการว่าเคยได้สร้างบารมีมากับพระองค์แต่อดีตภพ ก็รำงับเสียซึ่งความโศกให้สงบด้วยปีติปราโมทย์ ในไม่ช้า พระนางก็สามารถยังวิปัสสนาญาณให้บังเกิดขึ้นในขันธสันดานโดยลำดับ จนได้บรรลุพระโสดาปัตติมรรคญาณ ประหารเสียซึ่งกองกิเลสโทษสังโยชน์ทั้ง ๓ คือ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา และสีลัพพตปรามาสให้อันตรธาน ประดิษฐานอยู่ในพระโสดาปัตติผลญาณ อันเป็นปฏิปัสสัทธิวิมุตติที่ ๑ ในพระพุทธศาสนา สำเร็จ เป็นพระโสดาบันอริยบุคคลแต่เวลานั้น สมเด็จพระสรรเพชญภควันตมุนีนาถ ครั้นทรงทราบอย่างแจ่มชัดว่าเจ้าพิมพาราชเทวีได้ดื่มอมตธรรมสำเร็จเป็นพระอริยบุคคล มีจิตไม่จลาจลหวั่นไหวในคุณแห่งพระศรีรัตนตรัยแล้ว องค์พระประทีปแก้วก็เสด็จพระพุทธลีลา พร้อมกับคู่พระอัครสาวกคืนสู่พระนิโครธาราม เพื่อทรงบำเพ็ญพุทธกิจโปรดพระยูรญาติศากยวงศ์ในกรุงกบิลพัสดุ์ต่อไป
ที่มา : http://www.tairomdham.net
ภาพวาดพุทธประวัติ โดย อ.คำนวน ชานันโท สุดยอด พุทธจิตรกร (ตอนที่ 1), (ตอนที่ 2), (ตอนที่ 3), (ตอนที่ 4), (ตอนที่ 5), (ตอนที่ 6), (ตอนที่ 7), (ตอนที่ 8), (ตอนที่ 9)
0 comments: